บทนำเรื่อง

เรื่องนารีศรีสวัสดิ์ “ธนญไชยเศรษฐีสอนนางวิสาขา” แต่งเป็นกลอนสุภาพ ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง ตอนต้นของเรื่องมีคำโคลงนำเรื่อง ๒ บท หนังสือนารีศรีสวัสดิ์เก็บรักษาอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ ฉบับที่นำมาตรวจสอบชำระนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๓ เนื้อหาเป็นคำสอนให้สตรีรู้หลักการประพฤติปฏิบัติตน มีทั้งข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติ ผู้แต่งได้นำเรื่องราวจากพุทธประวัติที่เกี่ยวข้องกับนางวิสาขา สตรีผู้มีความเป็นเลิศในการถวายทานแก่พระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ในครั้งพุทธกาล ผู้แต่งได้นำเรื่องเป็นคำโคลงว่า

๏ นารีศรีสวัสดิ์สร้อย สมญา สารเอย
สอนยอดยุพาพะงา เลิศแล้ว
วรนุชวนิดา ดูด่วน เทอญแม่
สารพี่สอนท่อนแก้ว ก่ำฟ้าเฟือนศรี
๏ เศรษฐีมีชื่อแจ้ง ธนญไชย
สอนธิดาดวงใจ จากห้อง
ลูกรักพ่อจักไป เคียงคู่ ฤาแม่
ยามวิโยคพ่อพ้อง เพื่อนผู้พิสมัย

เนื้อหาของเรื่องนารีศรีสวัสดิ์ “ธนญไชยเศรษฐีสอนนางวิสาขา” มีที่มาจากเรื่องราวในพุทธประวัติ กล่าวถึงเศรษฐีนามว่า ธนญไชย เกิดในตระกูลเศรษฐีในเมืองภัททิยนคร มีภรรยานามว่าสุมนาเทวี มีธิดานามว่านางวิสาขา มีปู่ชื่อเมณฑกเศรษฐี นางวิสาขาเป็นที่รักดุจแก้วตาดวงใจของบิดามารดาและปู่ ด้วยเป็นหญิงที่ชาญฉลาด รู้จักในเหตุอันควรและไม่ควร เมื่อนางมีอายุได้ ๗ ขวบ เมณฑกเศรษฐีผู้เป็นปู่ได้ให้นางวิสาขาพร้อมบริวารทั้ง ๕๐๐ คน ขึ้นรถ ๕๐๐ คัน และแวดล้อมไปด้วยทาสีอีก ๕๐๐ คน ไปต้อนรับพระบรมศาสนา เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมจบลง นางวิสาขาพร้อมบริวารก็ได้บรรลุโสดาบัน นางวิสาขาจึงได้ชื่อว่าเป็นอริยบุคคลตั้งแต่เป็นเด็กหญิงอายุเพียง ๗ ขวบ

ครั้งนั้นในกรุงสาวัตถี มีเศรษฐีตระกูลหนึ่งชื่อว่า มิคารเศรษฐีมีบุตรชายชื่อว่า ปุณณวัฒนกุมาร เมื่อเจริญวัยสมควรที่จะมีคู่ครอง บิดามารดาจึงขอให้ปุณณวัฒนกุมารแต่งงานเพื่อสืบทอดวงศ์ตระกูล แต่ปุณณวัฒนกุมารไม่ประสงค์จะแต่งงาน เมื่อถูกบิดามารดารบเร้ามากขึ้น เขาจึงกล่าวว่าหากเมื่อใดพบหญิงสาวที่ประกอบพร้อมด้วยความงาม ๕ ประการ ซึ่งเรียกว่าเบญจกัลยานีแล้วจะทำตามคำขอของบิดามารดา มิคารเศรษฐีจึงเชิญพวกพราหมณ์ผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านอิตถีลักษณะ ไปแสวงหาหญิงผู้มีความงามทั้ง ๕ ประการ พร้อมมอบมาลัยทองคำและเครื่องของหมั้นไปด้วย พวกพราหมณ์ได้แสวงหาไปตามเมืองต่างๆ จนมาถึงเมืองสาเกตได้พบกับนางวิสาขา ขณะนั้นนางวิสาขาอายุย่างเข้า ๑๕ – ๑๖ ปี และมีลักษณะเบญจกัลยาณีครบถ้วน คือ ผมงาม เนื้องาม กระดูกงาม ผิวงาม และวัยงาม พวกพราหมณ์จึงถามถึงชาติตระกูล เมื่อทราบว่าชาติตระกูลเสมอกัน พราหมณ์จึงสวมพวงมาลัยทองให้นางวิสาขาเป็นการหมั้นหมายและกำหนดวันวิวาหมงคล

ธนญไชยเศรษฐีผู้เป็นบิดาของนางวิสาขาจึงสั่งให้ช่างทองทำเครื่องประดับชื่อ มหาลดาปสาธน์เพื่อมอบให้ธิดา ซึ่งเป็นเครื่องประดับพิเศษที่มีคุณค่ามหาศาลถึง ๙ โกฏิ พร้อมมอบทรัพย์สินเงินทองของใช้ต่างๆ รวมทั้งข้าทาสบริวารและฝูงโคอีกจำนวนมากมายให้แก่นางวิสาขา และก่อนที่นางวิสาขาจะไปสู่ตระกูลของสามี ธนญไชยเศรษฐีได้สั่งสอนอบรมมารยาทสมบัติของตระกูลสตรีที่จะไปสู่ตระกูลของสามี ดังนี้

สอนให้รู้จักระมัดระวังในอิริยาบถต่าง ๆ ทั้งการเดิน การนั่งการพูดจา และการแสดงกิริยาอาการ

ธนญไชยเศรษฐีผู้มีศักดิ์ สอนลูกรักโฉมศรีวิสาขา
เชิญมานี่ร่วมจิตของบิดา จำวาจาพ่อสอนสมรเมือง
เจ้าจะไปมีคู่แม่หนูจ๋า จงฟังคำพ่อว่าเถิดเนื้อเหลือง
เป็นนารีนี้ยากวิบากเคือง จะยาตรเยื้องเดินนั่งระวังกาย
จำนรรจาพาทีมีจังหวะ อย่าเอะอะอึกกระทึกตรองตรึกหมาย
สามีสอนร้อยชั่งฟังภิปราย อย่าวุ่นวายเง้างอดยอดยุพิน

สอนให้รู้จักจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย

ทั้งเรือนเหย้าข้าวน้ำจะทำกิน ค่อยประคินคิดดูอย่าวู่วาม
ควรจะหมดฤาจะยังจงสังเกต ทั้งเครื่องเทศจุกจิกพริกมะขาม
กะปิเกลือเนื้อปลาอย่าซาทราม อีกถ้วยชามเก็บกวาดสะอาดตา
ทั้งเครื่องใช้ไม้สอยน้อยแลใหญ่ จงจัดไว้ตามทำเลในเคหา

และ

ผ้านุ่งห่มร่มเสื้อหมวกสานซับ จงเก็บพับแขวนเรียงเคียงไสว
การในเรือนอย่าต้องเตือนกันร่ำไป เห็นสิ่งใดรกชัฏพึงจัดแจง

การรู้จักปรนนิบัติเอาใจใส่ดูแลสามี หากทราบว่าสามีไม่ชอบสิ่งใดก็ไม่ควรกระทำ และสอนว่าชีวิตการครองคู่นั้นผู้ชายไม่ได้เลือกสรรหญิงที่มีความงามเป็นเลิศ เพียงแต่หญิงนั้นมีมารยาทงาม วาจางามก็เป็นคุณสมบัติให้ชายรักได้

เมื่อจากไปไกลตาบิดาแล้ว ถนอมใจผัวแก้วอย่าดูหมิ่น
สามีแม้นเหมือนบิดาอย่าราคิน ทั้งการกินการอยู่ดูให้ดี
นางจะงามก็เพราะความปรนนิบัติ สารพัดทุกกระบวนให้ถ้วนถี่
ถ้าสิ่งใดไม่ชอบใจของสามี แม่โฉมศรีอย่าได้ทำให้ช้ำใจ
อันรักรูปรักสมบัติเขาตัดขาด มารยาทผูกมัดตัดไม่ไหว
เหมือนพระราชนิพนธ์พจน์กำหนดไว้ สำเนาในความดำริวชิรญาณ

สอนให้มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อสามี โดยยกตัวอย่างให้เห็นถึงความจงรักภักดีของพระนางมัทรีที่ต่อพระเวสสันดรเมื่อครั้งถูกเนรเทศออกจากบ้านเมือง

นางกษัตริย์มัทรีนารีแก้ว อันเลิศแล้วสุดสำอางเหมือนนางหงส์
บังคมทูลทรงฤทธิ์บิตุรงค์ ขอตามองค์ภัสดาสวามี
จะอยู่ในเวียงไชยไฉนเล่า โอ้ร่มเกล้าเหลือล้นพ้นเกศี
ลูกกลัวอายขายหน้าชาวธานี จะเสียดสีแสร้งว่าสาระวอน
จะนินทาว่าได้ว่าใจชั่ว ช่างทิ้งผัวเสียได้ใจสมร
เวลาสุขชื่นใจในนคร เวลาร้อนแรมร้างคิดหมางเมิน
ถึงยากเย็นเข็ญใจขอไปด้วย จะสู้ม้วยตามเจ้าในเขาเขิน
ไม่ขออยู่สู้กรรมที่ก้ำเกิน จะด้นเดินแดนป่าพนาวัน

ธนญไชยเศรษฐียังสอนให้นางวิสาขามีความเมตตาและยุติธรรมต่อข้าทาสบริวาร หากบริวารกระทำผิดก็ให้สอบสวนโดยรับฟังข้อเท็จจริง เมื่อนายมีความยุติธรรมและมีน้ำใจต่อบริวารเขาก็จะมีใจจงรักภักดีต่อเจ้านายโดยแท้จริง

มีผู้คนข้าไทเคยใช้สอย จะพลั้งนิดผิดหน่อยอย่าหุนหวน
เพ่งพินิจพิศดูให้คู่ควร ค่อยสอบสวนเสียให้แน่กระแสความ
จะเฆี่ยนด่าข้าไทอย่าให้เถียง บรรทัดเที่ยงวางกระทู้อย่าผลูผลาม
ถ้าจะอยู่หรือจะไปให้งดงาม คนผิดตามผิดทำให้หนำใจ
อย่าก้าวก่ายร้ายดีตีขนาบ จะเป็นบาปเป็นกรรมฟังคำไข
มันจะแกล้งกล่าวประจานทั่วบ้านไป เพราะนายไม่รู้บังคับจะอับอาย

เรื่องธนญไชยเศรษฐีสอนนางวิสาขานี้ นอกจากโอวาทคำสั่งสอนของธนญไชยเศรษฐีที่มีต่อนางวิสาขาแล้ว ในเรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมและวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้นได้อย่างชัดเจนในเรื่องของ “วัฒนธรรมการกินหมาก” ด้วยสังคมไทยในสมัยโบราณนิยมการกินหมาก บ้านเรือนในสมัยก่อนจะมีเชี่ยนหมากไว้รับแขก ในงานแต่งงานก็จะมีพิธีแห่ขันหมาก และเป็นค่านิยมของคนสมัยโบราณว่าการเจียนหมากเป็นงานศิลปะที่ต้องใช้ฝีมือ สตรีที่เจียนหมากได้สวยจึงเป็นกุลสตรีที่ได้รับการยกย่อง มีความเป็นผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบ ดังคำสอนที่ธนญไชยเศรษฐีสอนนางวิสาขาว่า

หมากดิบเจียนเสี้ยนอ่อนผ่อนซื้อมา จัดไว้ท่าผัวขวัญทุกวันไป
จะบ้ายปูนจีบพลูดูประหยัด อย่าใช้หวัดเลยแม่หนูดูไม่ได้
ถ้าปูนมากกัดปากลำบากใจ ผัวจะได้ความแค้นแสนทวี
เมื่อเวลาเจียนจีบจงรีบจำ พลูจุ่มน้ำล้างชำระประสะศรี
แล้วปูผ้ารองรับพับให้ดี เจียนไว้ทีแล้วจึ่งจีบอย่ารีบรน
อย่าเอาพลูเช็ดผ้านุ่งให้ยุ่งหยาบ คนจะจาบจ้วงได้ไม่เป็นผล
อย่ากินหมากซีกใหญ่แพ้ภัยตน อย่าเอาก้นพลูทัดขัดนัยน์ตา
หนึ่งเชี่ยนหมากอย่าให้รกพึงตกแต่ง อันเต้าปูนอย่าให้แห้งนะลูกหนา
การบูรกานพลูคู่กับยา จงจัดหาไว้ให้พร้อมเถิดจอมใจ

นอกจากธนญไชยเศรษฐีจะอบรมสั่งสอนในการปฏิบัติตนเป็นกุลสตรีที่ดีงามพร้อมสมบูรณ์แบบแล้วยังให้โอวาทที่เป็นแนวทางปฏิบัติตนในการครองเรือน ดังนี้

โอวาทข้อที่ ๑ สอนว่า ไฟในอย่านำออก หมายความว่า อย่านำความไม่ดีไม่ถูกต้องของพ่อแม่สามีและสามีไปพูดให้คนภายนอกฟัง ดังคำสอนว่า

ไฟฝ่ายในงามขำอย่านำออก พ่อจะบอกแม่จงจำคำพ่อว่า
ไฟข้างในใช่อื่นนะลูกยา อันวาจาผัวขวัญนั้นคือไฟ

โอวาทข้อที่ ๒ กล่าวว่า ไฟนอกอย่านำเข้า หมายความว่า เมื่อมีบุคคลภายนอกตำหนิพ่อแม่สามีและสามีว่าอย่างไร อย่านำมาเล่าให้คนในบ้านฟัง

อย่าได้เล่ากล่าวขวัญครหา จงอุตส่าห์อดออมถนอมศรี
ถึงหนักหน่อยเบาหน่อยค่อยพาที อย่าจู้จี้สาระวอนจะร้อนใจ

โอวาทข้อที่ ๓ สอนให้นางวิสาขาควรพิจารณาให้ของแก่คนที่ยืมของไปใช้แล้วนำมาส่งคืน

หนึ่งเพื่อนบ้านร้านถิ่นสิ้นทั้งหลาย เขาแจกจ่ายข้าวของมากองให้
แม่งามสรรพรับรองให้ต้องใจ แล้วพึงให้ตอบบ้างเหมือนอย่างเคย

โอวาทข้อที่ ๔ ไม่ควรให้แก่คนที่ยืมของไปใช้แล้วไม่นำมาส่งคืน

หนึ่งเราให้เขาไม่ตอบประกอบก่อ งามลอออย่าให้ซ้ำเร่งทำเฉย
ถ้าหมูไปไก่มาอย่าละเลย ควรจะเต๊ยตอบตามให้งามตา

โอวาทข้อที่ ๕ ควรให้ทั้งแก่คนที่ให้และไม่ให้ คือ เมื่อมีญาติมิตรหรือผู้ยากจนมาขอความช่วยเหลือหรือพึ่งพาอาศัย เมื่อให้ไปแล้วแม้จะได้คืนหรือไม่ได้คืนก็ควรจะให้

หนึ่งเราให้เขาไม่ตอบพึงชอบให้ มิหาไม่ข้อนี้นี่ดีแสน
งามละอองตรองให้เห็นเป็นคะแนน คือคนแค้นขัดข้องต้องขอทาน
กับภิกษุสมณะผู้ละโทษ จงปราโมทย์ตั้งจิตคิดสมาน
พึงคิดหวังตั้งใจให้เป็นทาน อย่าให้ท่านตอบแทนเลยแสนงอน

โอวาทข้อที่ ๖ พึงนั่งให้เป็นสุข หมายความว่า ไม่นั่งในที่ที่กีดขวางของพ่อแม่สามีและสามี

หนึ่งร้อยชั่งพึงนั่งให้เป็นสุข คอยปลื้มปลูกใจจำคำเฉลย
อันพ่อผัวแม่ผัวของตัวเคย จะอ้างเอ่ยสนทนาอย่าให้เกิน
จะลุกนั่งระวังระไวให้บังควร อย่าลอยนวลตีเสมอให้เก้อเขิน
เสียจริตนางงามทรามเจริญ จะนั่งเดินดูระบอบค่อยยอบกาย

โอวาทข้อที่ ๗ พึงบริโภคให้เป็นสุข หมายความว่า ควรจัดเตรียมข้าวปลาอาหารให้พ่อแม่สามีและสามีบริโภคก่อน แล้วตนจึงบริโภคภายหลัง

หนึ่งยามกินให้เป็นสุขนะลูกรัก แม่งามพักตร์แม้นเหมือนดั่งเดือนหงาย
อย่าเสพโภชน์ก่อนผัวเร่งกลัวอาย ถึงเย็นสายอดออมถนอมใจ

โอวาทข้อที่ ๘ พึงนอนให้เป็นสุข หมายความว่า ควรจัดเตรียมเครื่องนอนทั้งฟูกหมอนให้สะอาดเรียบร้อยและหากสามีเข้านอนก่อน จงตรวจตราความเรียบร้อยของบ้าน

หนึ่งพึงนอนให้เป็นสุขอย่าทุกข์ร้อน พ่อจะสอนร่วมจิตพิสมัย
พึงปูปัดฟูกหมอนที่นอนใน ให้ชื่นใจผัวขวัญนั้นนิทรา
ถ้าผัวนอนก่อนนาฏจงคลาดเคลื่อน ประตูเรือนน้อยใหญ่ในเคหา
จงใส่จีมลิ่มกลอนทวารา แล้วตรวจตราโคมไฟจะไหม้ลาม

โอวาทข้อที่ ๙ พึงบำเรอไฟ หมายความว่า ภรรยาต้องมีความสำนึกอยู่เสมอว่า พ่อแม่สามี และสามีเปรียบเสมือนดวงไฟที่จะต้องหมั่นดูแลรักษา

บำเรอไฟได้แก่บำเรอผัว เป็นเรียวรั้วกั้นกายสายสมร
พ่อสอนแล้วแก้วตาพะงางอน จงจำสอนพ่อสั่งระวังตน

และโอวาทข้อที่ ๑๐ พึงนอบน้อมเทวาดาภายใน หมายถึง ให้มีความสำนึกอยู่เสมอว่า พ่อแม่ของสามีและสามีเปรียบเสมือนเทวดาที่จะต้องให้ความเคารพนอบน้อม

อีกข้อหนึ่งพึงไหว้เทพเจ้า โฉมเฉลาจำวาจาอย่าฉงน
ไหว้ชนกชนนีสามีตน จะเกิดผลพูนพัฒน์สวัสดี
อย่าให้ขาดทุกวันหมั่นเคารพ จะเลิศลบแหล่งหล้าทั่วราศี
พ่อสอนแม่รูปหล่อย่อวาที เสาวนีลูกน้อยกลอยฤทัย

ธนญไชยเศรษฐีได้สอนความเป็นกุลสตรีที่เพียบพร้อมไปด้วยความรู้ ความสามารถด้านการเรือนและการรู้จักครองตน อีกทั้งกิริยามารยาท และการรู้จักปรนนิบัติสามี เช่น การจัดเตรียมเสื้อผ้า เครื่องนอนให้สะอาดสะอ้าน ให้ตื่นก่อนและนอนทีหลังสามี หมั่นคอยจัดเตรียมน้ำล้างหน้า และห้ามมิให้รับประทานอาหารก่อนสามี หากมีแขกไปใครมาให้เตรียมการต้อนรับดูแลข้าวปลาอาหารให้บริบูรณ์ หน้าที่เหล่านี้เป็นค่านิยมที่สังคมไทยโบราณมุ่งหวังให้สตรีประพฤติปฏิบัติตาม หากแต่ค่านิยมบางประการในสมัยนั้น เช่น สตรีต้องตื่นก่อนนอนทีหลัง หรือการกราบเท้าสามีก่อนนอน จะไม่เป็นที่นิยมแล้วก็ตาม แต่หากสตรีเลือกข้อควรปฏิบัติตนเพื่อนำไปปรับใช้กับชีวิตการครองเรือนในปัจจุบัน ชีวิตครอบครัวก็จะพบกับความสุขได้เช่นเดียวกัน

เอกสารอ้างอิง

สุรีย์ มีผลกิจ. พระพุทธประวัติ. จัดพิมพ์โดยบริษัทคอมฟอร์ม จำกัด, ๒๕๔๑.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ