|
๏ ขอแสดงแจ้งลิขิตประดิษฐ์สอน |
เป็นแบบฉบับบังคับไว้เป็นกลอน |
ไม่แคะค่อนว่าไว้ที่ใจจริง |
ชื่อว่าโอวาทกระสัตรี |
ไว้เป็นที่หลักชัยอันใหญ่ยิ่ง |
เหมือนอาภรณ์ซ้อนใส่ให้เพริศพริ้ง |
สำหรับหญิงอันดีมีปัญญา |
จะปรนนิบัติสามีเป็นที่รัก |
สามิภักดิ์โดยเที่ยงไม่เดียงสา |
มิให้เคืองขืนขัดเรื่องอัชฌา |
ถึงเพลายามนอนผ่อนเอาใจ |
กราบบาทสามีเป็นที่ยิ่ง |
สรรสิ่งที่ชอบประกอบให้ |
ตื่นก่อนนอนหลังระวังระไว |
ตักน้ำไว้คอยท่าซึ่งสามี |
จะได้ชำระพักตราเพลาเช้า |
นวลเจ้าจำไว้เป็นศักดิ์ศรี |
หาหมากพันพลูบุหรี่ดี |
มาตั้งที่ตามตำแหน่งที่แห่งเคย |
การกินการนอนนั้นเป็นใหญ่ |
ระวังระไวอย่าได้ทำเมินเฉย |
ของคาวหวานเป็นการของทรามเชย |
อย่าละเลยไว้ใจให้ใครทำ |
สตรีดีย่อมมีมารยาท |
จะทำการก็สะอาดไม่ผลีผลำ |
สิ่งใดดีที่ไหนสนใจจำ |
ปากคำไม่กระเดื่องให้เคืองใจ |
จัดแจงการเรือนดูรอบคอบ |
ถึงทำชอบผัวว่าชั่วก็นิ่งได้ |
รักษาตัวกลัวผิดระวังระไว |
ตั้งจิตคิดไว้ให้คนชม |
จะหยิบยกข้อคำพระเทศนา |
โปรดประชาหญิงดีก็มีถม |
พึงใส่ใจจำไว้เป็นอารมณ์ |
อย่านิยมการบาปไม่ต้องการ |
บาลีว่าหญิงดีมีสี่อย่าง |
ไม่อำพรางย่อมตรัสบริหาร |
สำแดงไว้ให้เห็นเป็นประธาน |
พึงพิจารณ์ตามพระพุทธาธิบาย ๚ |
๏ หญิงเหล่าหนึ่งเรียกมาตาภิริยา |
เสน่หาในสามีไม่เหือดหาย |
ปรนนิบัติเช้าเย็นไม่เว้นวาย |
มิได้หน่ายในการบำรุงบำเรอ |
มารดารักบุตรนั้นฉันใด |
เอาใจใส่มิได้แกล้งแต่งเสนอ |
รักสนิทจิตสมัครสามีเธอ |
เทียบเสมอเทียมบุตรในอุทร ๚ |
๏ ภคินีภิริยานั้นพวกหนึ่ง |
เร่งรำพึงคิดร่ำที่คำสอน |
รักสามีเหมือนพี่ร่วมมารดร |
โอนอ่อนคำนับน้อมย่อมยำเกรง ๚ |
๏ ทาสีภิริยาพวกหนึ่งเล่า |
ท่านชักเอามาเปรียบเทียบเหมาะเหมง |
รักสามีเหมือนนายเงินของตนเอง |
ต้องยำเยงเช้าเย็นเป็นนิรันดร์ ๚ |
๏ สหายิกาภิริยาคำรบสี่ |
รักสามีดังสหายผ่อนผายผัน |
สงวนอารมณ์มิได้ข่มขี่กัน |
สู้อดกลั้นทุกสิ่งจริงจริงเจียว |
หญิงดีสี่ตระกูลที่กล่าวมา |
สิ้นชีวาสู่สวรรค์อย่าเฉลียว |
บุญอื่นมิได้สร้างสักอย่างเดียว |
กุศลเหนี่ยวส่งแน่วไม่แคล้วเลย |
จะประเสริฐเลิศยิ่งกว่านางฟ้า |
เพราะปรนนิบัติภัสดาไม่เพิกเฉย |
จะได้เทพสามีเหมือนก่อนเคย |
นางอื่นมิได้เชยเข้าเกียดกัน |
จะเป็นที่เสน่หาแห่งเทพบุตร |
แสนสุดปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
จะเชยชิดสมสนิทเป็นนิจนิรันดร์ |
เพราะกุศลเท่านั้นได้ความดี |
สตรีใดทำได้เหมือนดังว่า |
จะลือชาปรากฏยศศักดิ์ศรี |
ทรัพย์สินจะไหลมาดังวารี |
จะเปรมปรีดิ์เกษมสุขทุกคืนวัน |
คงเป็นเอกอิศรากัลยาหญิง |
อันใหญ่ยิ่งล้ำเลิศเฉิดฉัน |
ทั้งศฤงคารบริวารอเนกนันต์ |
ดังดาราล้อมจันทร์เมื่อวันเพ็ง |
แม้นทำดีผัวรักไม่หักหาย |
ไม่เบื่อหน่ายแหนงจิตคิดโฉงเฉง |
ประพฤติดีจะเป็นศรีกับตัวเอง |
คนทั้งปวงจะยำเยงเกรงกลัว |
ใช่จะแกล้งแต่งไว้ให้ปรนนิบัติ |
พระบัญญัติสอนไว้เรื่องเมียผัว |
อันสามีเป็นราศีของตัว |
เหมือนแหวนหัวจะงามเพราะทองรอง |
ถึงรูปดีมีทรัพย์ศฤงคาร |
ยศศักดิ์บริวารไม่บกพร่อง |
แม้นสามีหน่ายหนีไม่ครอบครอง |
ก็มัวหมองเหมือนไม่มีความดีเลย |
คำคนเขาจะค่อนครหา |
จะแคะไค้ไล่ว่าเล่นเฉยเฉย |
ถ้าตัวดีสามีไม่ห่างเชย |
จะปรายเปรยเคาะว่าสารพัน |
หญิงดีจงมีจิตคิดอดสู |
พิเคราะห์ดูคำสอนไม่เสกสรร |
ถ้าทำดีดีจะมีขึ้นทุกวัน |
ทำชั่วชั่วนั้นจะพูนมา |
งามอื่นหมื่นแสนสักเท่าใด |
ไม่งามเหมือนงามใจไม่แกล้งว่า |
หญิงดีย่อมมีซึ่งอัชฌา |
กิริยานั้นเป็นใหญ่ตั้งใจจำ |
ถึงผัวเคียดอย่าได้สุมคุมตอบ |
ผิดชอบจงมีจิตคิดกลืนกล้ำ |
อดเสียได้ไม่อดสูมีผู้ยำ |
อย่าขืนคำทุ่มเถียงขึ้นเสียงดัง |
ถึงผัวรักอย่าได้เหลิงละเลิงจิต |
ระวังผิดจะมาพานเมื่อภายหลัง |
รักกายสงวนกายระไวระวัง |
คนอื่นชังไม่ชั่วเหมือนผัวตน |
อันความลับผัวแถลงอย่าแจ้งอื่น |
จงกลั้นกลืนอื้อไปไม่เป็นผล |
แม้นปากชั่วจะหมองมัวซึ่งคำคน |
จะพาตนย่อยยับอัประมาณ |
ของสิ่งใดใจรู้ว่าผัวรัก |
อย่าหาญหักตั้งจิตคิดล้างผลาญ |
ผัวรักรักประกอบจึงชอบการ |
ประพฤติได้ไม่รำคาญเคืองอารมณ์ |
หนึ่งคาวหวานเป็นการของกิน |
หมดสิ้นหาไว้ให้สะสม |
ผัวชอบพึงประกอบตามนิยม |
จะทำให้ผัวชมนั้นยากครัน |
ถ้าทำได้เหมือนว่าไว้ดังนี้ |
ความดีก็จะมีทุกสิ่งสรรพ์ |
ผัวจะรักหนักขึ้นทุกคืนวัน |
จงอดกลั้นอย่าได้ทำใจเบา |
ถ้ามีแขกแปลกหน้ามาหาสู่ |
ต้อนรับขับสู้เอาใจเขา |
ถึงขึ้งเคียดข้าไทที่ในเรา |
ด่าทอเล่าดูเหมือนเทียบเปรียบปราย |
จะพูดจาว่าไรให้พิจารณ์ |
ว่าขานอย่าให้ช้ำระส่ำระสาย |
เขาจะค่อนนินทาเป็นท่าอาย |
ว่าหญิงร้ายวาจาไม่น่าฟัง |
จะด่าทอล่อเรียกลูกหญิงชาย |
จงดูซ้ายดูขวาข้างหน้าหลัง |
อย่าแปร๋แปร้นแล่นไล่ขึ้นเสียงดัง |
ดูน่าชังสามานย์ประจานตัว |
วาจานั้นเป็นใหญ่จงได้คิด |
จะชอบผิดจงไตรตราปรึกษาผัว |
วาจาดีย่อมจะมีคนเกรงกลัว |
วาจาชั่วก็จะมีแต่คนชัง |
แคะค่อนสอนว่าไว้ทุกสิ่ง |
พื้นความจริงกล่าวมาแต่หนหลัง |
สตรีดีก็จะมีสติฟัง |
ถ้าคนร้ายก็จะชังไม่ชอบใจ |
หญิงชั่วมิได้กลัวซึ่งความผิด |
ทำแต่การทุจริตไม่ผ่องใส |
ควรจะกลัวก็เกรงชะล่าใจ |
ประพฤติการสิ่งไรแต่ใจตน ๚ |
๏ ขออภัยจะรำพันเรื่องหญิงพาล |
ใช่โวหารแกล้งว่าอย่าฉงน |
พุทธบรรหารประทานแจ้งยุบล |
ให้ปราชญ์ดลรู้เชิงกระษัตรี |
ภิริยาที่ชั่วนั้นมีสาม |
พวกหนึ่งนามวัฒกาน่าบัดสี |
ใจร้ายหมายจะฆ่าซึ่งสามี |
โดยวิธีแยบยลเป็นกลใน |
แต่งแต่โฉมแกล้งประโลมให้ผัวหลง |
แต่จิตปลงหมายจะฆ่าให้ตักษัย |
เหมือนพรานเบ็ดล่อปลาระอาใจ |
เอาเหยื่อหุ้มเบ็ดไว้ให้ปลากิน |
ถ้าผัวเขลาเมามัวในกาเมศ |
ก็สมเหตุเหมือนมัจฉาอย่าถวิล |
จะต้องตายตายเพราะหลงปลงชีวิน |
เพราะประมาทดูหมิ่นแก่กามา |
เบญจกามความที่ว่าถึงห้าสิ่ง |
เป็นที่ยิ่งคนหลงปรารถนา |
ทั้งรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสพา |
ใครหลงเล่ห์เสน่หาพาตัวตาย |
เหมือนโพธิสัตว์พลัดนครจรนิราศ |
กับอำมาตย์ทั้งห้าพาผันผาย |
ถึงด่านยักษ์ยักขินีมันแปลงกาย |
เป็นสตรีมีรายมรคา |
เป็นหมู่หมู่คอยอยู่ที่จะกิน |
ทำให้สิ้นเห็นประจักษ์ยิ่งนักหนา |
ที่รูปงามแล้วก็งามเต็มประดา |
ที่เสียงเพราะก็เพราะน่าวังเวงใจ |
นิมิตเป็นหญิงยิ่งด้วยกลิ่นอันหอม |
ก็มีพร้อมยวนจิตให้พิสมัย |
นิมิตรสโอชารสเป็นพ้นไป |
เหลือนิสัยที่จะอดงดอารมณ์ |
บ้างนิมิตประดิษฐ์เครื่องสัมผัส |
สารพัดจะจัดแจงแต่งสะสม |
ล้วนของดีควรที่จะนิยม |
ถ้าใครงมหลงรักยักษ์ฆ่ากิน |
อำมาตย์ทั้งห้าหารู้ไม่ว่ากลยักษ์ |
ให้หลงรักหลงใคร่ใจถวิล |
โพธิสัตว์แจ้งกลไม่ยลยิน |
รู้สิ้นยักษ์จำแลงแกล้งแปลงกาย |
จึงดำรัสตรัสว่าอำมาตย์เอ๋ย |
ใครละเลยคำเราจะฉิบหาย |
ป่าเช่นนี้ใช่ที่ถิ่นสบาย |
ยักษ์แกล้งแปลงกายบันดาลทำ |
ห้านายฝ่ายฝ่าว่ามนุษย์ |
ดีที่สุดอยากหาอุปถัมภ์ |
ต่างคนต่างไม่เชื่อบ่นเพ้อพำ |
จะตายเป็นก็ตามกรรมเหลืออดทน |
ห้ามอื่นอื่นก็พอจะห้ามได้ |
ห้ามรักใคร่จนจิตคิดฉงน |
ขอลาพักสักครู่จะดูกล |
แล้วจะด้นรีบรัดตัดทางตาม |
โพธิสัตว์สอนเท่าไรก็ไม่ฟัง |
ก็พากันดันทุรังไม่เกรงขาม |
ที่หลงรูปก็ชมรูปว่ารูปงาม |
ที่หลงเสียงก็ไม่คร้ามตามชอบใจ |
ที่หลงกลิ่นก็หยุดชมนิยมหอม |
ที่หลงรสก็น้อมจิตคิดรักใคร่ |
ที่หลงสัมผัสก็กำหนัดสัมผัสไป |
พากันเข้าอาศัยยักขินี |
นางยักษ์ทำกระบวนให้ชวนชม |
อำมาตย์งมรักใคร่ไม่หน่ายหนี |
โพธิสัตว์รอคลอคอยเห็นสิ้นที |
ก็จรลีลีลาศครรไลมา |
ยักษ์ประโลมล่อลวงจนง่วงหลับ |
ก็จับอำมาตย์กินเล่นเป็นภักษา |
ห้านายตายตามมรคา |
เพราะหลงเล่ห์เสน่หาเบญจกาม |
แต่โพธิสัตว์องค์เดียวเลี้ยวหลีกลัด |
ข้ามพนัสพนาเวศสิ้นเขตขาม |
ถึงขอบเขตพระนิเวศน์ที่มีนาม |
พาราณสีเรียกตามแต่ก่อนมา |
ครั้นถึงสวนหวนพระทัยใคร่ผ่อนพัก |
เข้าสำนักร่มพระไทรใบหนา |
มีทั้งที่แท่นแผ่นศิลา |
พระเหนื่อยมาก็บรรทมร่มไทรทอง ๚ |
๏ พอพาราณสีเกิดวิบัติ |
จอมกษัตริย์สิ้นพระชนม์ก็หม่นหมอง |
มิได้มีผู้ใดใครครอบครอง |
สิ้นพวกพ้องสุริย์วงศ์พงศ์ประยูร |
เสนาประชาราษฎร์อำมาตย์หมด |
เสี่ยงราชรถจากในมไหศูรย์ |
มาถึงที่พระบรรทมร่มรุกขมูล |
จึงทูลเชิญโพธิสัตว์ครองศฤงคาร |
อาศัยด้วยพระทัยนั้นแน่นเหนียว |
สู้อดเปรี้ยวจึงได้เลยเสวยหวาน |
ใครหลงรสรูปเสียงสัมผัสพาน |
อีกทั้งการกลิ่นอายก็วายชนม์ |
เหมือนอำมาตย์ทั้งห้าพากันม้วย |
เพราะหลงด้วยกลยักษ์สิ้นมรรคผล |
เหมือนหนึ่งชายทั้งหลายที่หลงกล |
ด้วยเมียตนแลหญิงอื่นไม่ฟื้นตัว |
รู้แล้วเร่งระมัดประหยัดยั้ง |
อุตส่าห์ตั้งสติตริให้ทั่ว |
จงไกล่เกลี่ยเมียไว้ให้เกรงกลัว |
อย่าหลงมัวกลัวเมียจะเสียชาย |
เบญจกามความที่ว่ามาหนหลัง |
จงรอรั้งถ้าลุ่มหลงคงฉิบหาย |
พึงประคิ่นอย่าได้หมิ่นประมาทกาย |
ที่เมียร้ายย่อมทำลายเข้าย่ำยี ๚ |
๏ เหมือนเรื่องจันทโครพพบโจรป่า |
เมียฆ่าด้วยอุบายตายแล้วหนี |
รักโจรป่าแกล้งให้ฆ่าซึ่งสามี |
เรื่องนี้ควรนำจำใส่ใจ ๚ |
๏ หนึ่งภิริยาชื่อว่าอาชญานั้น |
ดีดันยกตนเป็นคนใหญ่ |
กำราบผัวตัวเองไม่เกรงภัย |
จะปราศรัยฟังไม่ได้ขึ้นกูเอ็ง |
ว่าเล่นเช่นทาสที่ตัวชัง |
ไม่อินังตั้งหน้าด่าข่มเหง |
ที่จริงผัวควรตัวจะกลัวเกรง |
ไม่ยำเยงหยาบคายให้อายคน ๚ |
๏ หนึ่งภิริยาชื่อว่าโจรี |
เป็นสตรีมารยาเที่ยวหาผล |
ชายมั่งมีทำชอบเข้ามอบตน |
ซ้อนกลล่อลวงให้ง่วงงวย |
เห็นสมรักยักยอกแล้วปอกทรัพย์ |
พอผัวลับแล้วก็รีบเข้าหยิบฉวย |
แต่งแต่เล่ห์สมคะเนได้ทรัพย์รวย |
แล้วก็พวยออกตัวไม่กลัวเกรง |
หย่ากันก็หย่ากันเป็นไรมี |
อย่าถือดีตีขลุมทำคุมเหง |
แล้วส่งเสียงเปรี้ยงแปร้นด้วยแสนเพลง |
อลเวงคิดอ่านพาลทะเลาะ |
ถึงยามกินยามนอนไม่ผ่อนผัน |
แกล้งดื้อดันดิ่งไปทำใจเสาะ |
ที่เคยชอบมอบแต่ช้ำให้จำเพาะ |
ทำโขกเคาะประชดเหลืออดทน |
ไม่หาให้อยู่กินจนสิ้นรัก |
ทำยอกยักไขว้เขวระเหระหน |
เที่ยวร่ายรักยักยอกเชิงชอบกล |
แล้วก็ก่นขนของย่องจากเรือน |
ไปคบชู้อยู่ที่แขงแกล้งหลีกหลบ |
หาไม่พบเจ็บใจใครจะเหมือน |
ทำให้ผัวมัวเมาเฝ้าฟั่นเฟือน |
เที่ยวหลบเลื่อนหลีกหน้าระอาใจ ๚ |
๏ ใครได้เมียเสียเช่นเป็นดังว่า |
ดังภูผาทับอกยกไม่ไหว |
เวียนระกำช้ำจิตเป็นนิจไป |
ท่านว่าไว้ก็จริงทุกสิ่งอัน |
อันโจรอื่นหมื่นแสนแม้นหมายรัก |
พอยอกยักทุนรอนได้ผ่อนผัน |
อันโจรีภิริยาชั่วช้าครัน |
ทำเชิงชั้นเล่ห์กลเป็นพ้นตัว |
มิวันหนึ่งก็วันหนึ่งอย่าพึงนึก |
กลศึกกลความพอยังชั่ว |
ไม่ยากเหมือนเมียปอกคิดนอกรั้ว |
คิดไม่ทั่วแล้วก็ทำระยำมัง ๚ |
๏ อันใจความสามภิริยานี้ |
เห็นสุดที่พันผูกจะปลูกฝัง |
หน้าชื่นอกกรมทำอำปลัง |
เหลือกำลังที่จะเลี้ยงทำเกี่ยงงอน |
แม้นว่าหญิงผู้ใดชายผู้หนึ่ง |
เร่งรำพึงนึกคำที่ร่ำสอน |
ไปข้างหน้าจะหาสู่ที่คู่คอน |
จงผันผ่อนเลือกฟั้นให้มั่นคง |
ได้ชั่วช้าก็จะพาให้ตัวชั่ว |
จะมัวซัวหมองจิตเป็นพิษสง |
ได้ที่ดีจะเป็นศรีจำเริญทรง |
จะสืบวงศ์พ้นจากที่ยากใจ |
เรื่องบาลีมีเหลือในกามราค |
มากกว่ามากเราทำเพียงจำได้ |
สังเขปคำผู้เฒ่าท่านกล่าวไว้ |
เลือกนางให้ดูแม่เป็นแน่นอน |
ที่ปึกแผ่นแน่นหนามารยาท |
ที่เสงี่ยมเอี่ยมสะอาดชะอ้อนอ่อน |
จึงควรชมสมสู่เป็นคู่คอน |
เลือกกุญชรดูหางสำอางตา |
ทั้งอกผายท้ายย่อคอเชิด |
เดินระเหิดระหงขี่มีสง่า |
ก็เหมือนหนึ่งนารีภิริยา |
ดีก็พาผัวเหมาะขึ้นเพราะเมีย |
ไปไหนก็เป็นที่ศรีสวัสดิ์ |
ถ้าฉวยพลัดได้ที่ชั่วพาผัวเสีย |
ผัดแต่แป้งแต่งแต่ตัวเข้าคลัวเคลีย |
ไม่เก็บเขี่ยข้าวของตรึกตรองการ |
ดัดจริตกรีดแต่เล็บไม่เย็บเซี่ยว |
เวียนแต่เที่ยวลอดรั้วไปทั่วบ้าน |
สนุกไหนไปนั่นเป็นสันดาน |
ทั้งเพลงการโขนละครแคะค่อนดู |
เที่ยวแทรกเสียดเบียดผู้ชายไม่อายเหนียม |
ทำและเลียมเข้าใกล้ไม่อดสู |
ให้ชายพิงอิงอังอยู่พรั่งพรู |
ทั้งนมจู้บู้บี้ระยี่ระยำ |
จนเก็บกรับแล้วก็กลับมาสับผัว |
ไม่ทำครัวไว้ท่าชักหน้าคว่ำ |
ข้าวไม่มีจะกรอกหม้อก็ไม่ตำ |
เวลาค่ำผัวเข้านอนพูดค่อนแคะ |
สนัดข้างอย่างเดียวแต่เคี่ยวเข็ญ |
หมอนมุ้งเหม็นไม่ซักน้ำทำฉำแฉะ |
ครั้นผัวว่าด่าลูกให้ข้องแวะ |
ทำเสาะแสะเสียดเหน็บให้เจ็บใจ |
นอนก็สายครันตะวันโด่ง |
น้ำขอดโอ่งล้างหน้าไม่หาใส่ |
ข้าวปลาหาใส่บาตรก็ขาดไป |
คัดแต่ไรจับเขม่าทุกเช้าเย็น |
ผัวไปราชการข้างบ้านอยู่ |
เอาไพ่คู่ปักกะลิดมาติดเล่น |
มีแต่จะคิดออกนอกประเด็น |
ไมว่างเว้นเลยที่เจ้าหนี้ทวง |
เห็นผัวได้เงินมาทำหน้าสด |
มาปลิดปลดเอาไปมิได้หวง |
ซื้อกินบ้างเล่นบ้างตั้งหลอกลวง |
จะเติมตวงสักเท่าไรก็ไม่พอ |
เที่ยวซื้อเชื่อร้านชำออกซ้ำซาก |
เขาทวงยากเหลือเบื่อไม่เชื่อต่อ |
ค่อนนินทาว่าเขาหน้าเง้างอ |
ยกแต่ข้อเขาชั่วให้ผัวฟัง |
อย่าริเป็นเช่นนี้ไม่มีสุข |
ขนแต่ทุกข์ทับตัวให้ผัวคลั่ง |
ผัวเหนื่อยมาปรารถนาจะหยุดยั้ง |
ไม่ทันนั่งหย่อนก้นก่นบอกความ |
ผัวดีมีปัญญาก็รารั้ง |
ผัวโง่งั่งฟังบอกก็ออกหยาม |
โกรธเพื่อนบ้านร้านตลาดด้วยมาตุคาม |
ออกลามปามเพราะเมียจนเสียการ |
ที่เมียดีมีกิริยาผัวมาถึง |
ไม่เบือนบึ้งบอกกล่าวจัดคาวหวาน |
ทั้งข้าวน้ำกล้ำกลืนให้ชื่นบาน |
ต่อสำราญ (รื่นเริงเชิงสบาย |
จึงค่อยพูดค่อยจากับสามี |
แต่โดยดีมิให้ช้ำระส่ำระสาย |
ถ่องแถลงแจงแจกบรรยาย |
ตั้งแต่ต้นจนปลายไม่ปิดงำ) |
หญิงอย่างนี้ท่านเรียกว่าแม่เรือน |
เหมือนมารดารักษาบุตรอุปถัมภ์ |
ไม่เหนื่อยหน่ายการลำบากสู้ตรากตรำ |
สิ่งใดรกก็ต้องจำใจจัดแจง |
ดูแลรอบคอบจึงชอบเชิง |
อย่าละเลิงละให้รกต้องตกแต่ง |
เห็นไม่ดีควรที่จะดัดแปลง |
ระวังระแวงไปทุกสิ่งอย่านิ่งเนา |
เป็นการไพร่สมใช้ด้วยลมปาก |
ไม่ควรทำทำลำบากยากเหนื่อยเปล่า |
จะทำการให้รู้จักการหนักเบา |
ใช้ข้าเล่าให้ดูสันดานคน |
ของใช้ภายในกับภายนอก |
อย่าเอาออกใช้สลับกันสับสน |
จะไว้วางตั้งอะไรให้ชอบกล |
ดูให้พ้นตกแตกแหลกระยำ |
การตนจงประคิ่นค่อยผันผ่อน |
จะนั่งนอนก็ให้รู้ดูสูงต่ำ |
ปรนนิบัติผัวตนกุศลทำ |
อุปถัมภ์ญาติกาอย่าเมิดเมิน |
ดีความคิดดีจริตกิริยา |
เป็นทีท่าชายหวังสังรเสริญ |
อย่าเอาอย่างหญิงกาลีไม่มีจำเริญ |
ออกแร่ร่าจ้าเจิ้นอยู่เกินตัว |
จะทอหูกปั่นฝ้ายก็ไม่เป็น |
ทุกเช้าเย็นพึ่งกินน้ำมือผัว |
ไม่ระวังเคหากาเข้าครัว |
ผ้านุ่งจะปิดตัวก็เตอะตัง |
ทั้งเชี่ยนขันโต๊ะพานไม่ขัดสี |
สนิมมีมัวหมองเหมือนของฝัง |
ที่หลับนอนหมอนมุ้งพะรุงพะรัง |
เหย้าเรือนรกดังโรงรองงาน |
จะดูไหนก็เลอะออกเปรอะเปื้อน |
ในห้องเรือนรุงรังดังว่าถาน |
ของชั่วเป็นของดีเป็นที่รำคาญ |
สันดานไม่รู้จักการผู้ดีเลย |
ไม่เสแสร้งแกล้งว่าใส่หน้าหญิง |
เป็นความจริงทั้งนั้นดอกท่านเอ๋ย |
ย่อมเจนใจในทำเนียบที่เปรียบเปรย |
อย่าเพิกเฉยฟังคำจำเถิดคะ |
แม้นหญิงดีก็จะมีน้ำใจเจ็บ |
จำเก็บจำคำว่าวิสาสะ |
จะสอนใจในสัมมาคารวะ |
ที่ไหนจะชั่วไปเห็นไม่เป็น |
ถ้าหญิงร้ายก็จะหมายว่าแกล้งว่า |
จะนินทาสาระวอนค่อนเคืองเข็ญ |
ว่ากลับกลอกนอกรีตแกล้งนีดเน้น |
ยกแต่เช่นชู้ชายนั้นฝ่ายเดียว |
จะให้หญิงยิงยอมลงถ่อมถด |
แกล้งแต่งบทปรามาสให้พาดเกี่ยว |
รักมิรักก็แล้วไปจนใจเจียว |
มาแกล้งเคี่ยวเข็ญเล่นให้เป็นรอง |
ทุกข์อะไรกับผัวมีทั่วแห่ง |
เป็นหญิงแต่งแต่ตัวไม่มัวหมอง |
จะมารักเราเองนักเลงคะนอง |
มีของต้องใจอยู่ในตัว |
การอะไรจะให้เรางอนง้อ |
เมื่อไม่พอก็แล้วไปทำไมกับผัว |
นึกเมื่อไรนึกได้ไม่รักกลัว |
ยกแต่ตัวแต่งแต่กลอนไว้สอนใคร |
ด้วยของดีเรามีอยู่สิ่งหนึ่ง |
หมายจะพึ่งที่ไหนก็พึ่งได้ |
นี่แลหญิงใจแข็งแกล้งพิไร |
ว่าไม่ได้ดึงดื้อไม่ถือคำ |
บุญไม่หาบบาปไม่หามกรรมเข้าสิง |
จึงพูดหยิ่งไปเช่นนี้ไม่มีส่ำ |
พระบาลีชี้แจงแจ้งไม่จำ |
สมเหมือนคำบาลีที่มีมา |
ว่าแรงบุญแรงกรรมนั้นล่ำสัน |
ทั้งสองแรงแข่งกันนั้นหนักหนา |
ถ้าบุญมากหากบุญจะหนุนพา |
ถ้ากรรมมากหากจะคร่าไปตามกรรม ๚ |
๏ หนึ่งหงส์ประสงค์แต่มุจลินท์ |
ลงอาบกินไม่เบื่อจิตคิดอิ่มหนำ |
ชาติสุกรฟอนหาภักษาระยำ |
จิตประจำตีแปลงแหล่งอาจม ๚ |
๏ หญิงสามานย์สันดานชั่วไม่กลัวผิด |
รักแต่ทุจริตคิดหมักหมม |
ฝ่าแต่ชั่วทำตัวออกสมมม |
ไม่นิยม (ยลอย่างในทางดี |
เช่นสุวานพรานพาไปป่ากว้าง |
ก็หลงทางไปอยู่กับฤาษี |
ท่านเลี้ยงดูอยู่นั้นเป็นอันดี |
วันหนึ่งหนีไปเที่ยวแต่ลำพัง |
พอจวบจบพบพานสิงหราช |
ตกใจหวาดวิ่งหนีไม่เหลียวหลัง |
กำลังกลัวตัวสั่นไม่ทันยั้ง |
ถึงกระทั่งที่สถิตย์พระสิทธา |
เข้ากลิ้งเกลือกเสือกตะกายตะกุยกอด |
เหมือนจะออดอ้อนออกบอกภาษา |
พระนักธรรม์พลันแจ้งในวิญญาณ์ |
ก็เมตตาตั้งกองกูณฑ์พิธี |
สำรวมฌานผลาญร่างสุนัขชาติ |
แปรเป็นรูปสิงหราชไกรสรสีห์ |
ก็เหิมฮึกนึกกำเริบเติบทวี |
มิได้มีที่สัมมาคารวะ |
ทะยานยศหยิ่งเยี่ยมไม่เจียมสงวน |
สูงเกินส่วนใช่วิสัยวิสาสะ |
ลำพองจิตติดพาลเที่ยวรานระ) |
ไม่ลดละสิงหนาทอาจอง |
วันหนึ่งเที่ยวไปในไพรป่า |
พบนางสิงหราจิตประสงค์ |
ลดเลี้ยวเกี้ยวนางในกลางดง |
หมายปลงเป็นคู่อยู่ครอบครอง |
นางจึงว่ามารดาบิตุเรศ |
ถ้ารู้เหตุจะชั่วพามัวหมอง |
จะประสงค์จงใจในทำนอง |
ฟังคำน้องเชิญไปหามารดาเรา |
จะโลเลลำพังใจนั้นไม่ชอบ |
ผิดระบอบประเพณีเป็นที่เขลา |
จะรักใคร่เอาแต่ได้ทำใจเบา |
ใครใครเขาจะรู้ดูไม่ดี |
ถ้ารักจริงอย่านิ่งให้เนิ่นนาน |
ไปว่าขานท่านให้ไม่หน่ายหนี |
จะปรนนิบัติมิได้ขัดซึ่งไมตรี |
แต่เดี๋ยวนี้จะให้ยอมไม่พร้อมใจ ๚ |
๏ เบื้องว่าสิงหราพระฤาษี |
จึงโต้ตอบวาทีตามรักใคร่ |
มิให้ขัดอัชฌาพากันไป |
ถึงถ้ำที่อาศัยใจปรีดา |
จึงคำนับบิตุเรศมารดร |
แล้วจึงวอนขอนางเหมือนอย่างว่า |
เขาถามเรื่องเบื้องตระกูลประยูรมา |
ก็พาซื่อบอกว่าไม่รู้เลย |
พระดาบสเอามาเลี้ยงแต่ยังเยาว์ |
ตัวฉันเล่ามิได้ถามความเฉลย |
ครั้นออกปากคิดกระดากไม่สเบย |
ด้วยตนเคยเป็นสุนัขแต่ก่อนมา |
นึกเฉลียวฉวยเขาเลี้ยวไปไต่ถาม |
พระฤาษีจะแจ้งความไม่กังขา |
จะมิได้ชมดังอารมณ์ที่เจตนา |
จำจะฆ่าฤาษีเสียให้สูญความ |
นึกไม่ควรด่วนลารีบคลาไคล |
มายังที่อาศัยไม่เกรงขาม |
หวังแผดเสียงสำเนียงเพียงคำราม |
ให้ฤาษีสูญนามล่วงบรรลัย ๚ |
๏ พระดาบสอยู่ในฌานประมาณรู้ |
มีศัตรูปองจะฆ่าให้ตักษัย |
ทำคุณมันมันกลับคิดให้มีภัย |
ออกมาได้ร้องว่าอ้ายหมาโซ |
เพศก็กลับฉับเฉียวประเดี๋ยวนั้น |
สาสมกันกับที่จิตคิดโง่โง่ |
สัญชาติหมาคงเป็นหมาอย่าพุทโธ |
ใจมันโอหังฮึกนึกเคอะเคอะ ๚ |
๏ เหมือนหญิงชั่วผัวรักแล้วยกย่อง |
ได้สมปองเป็นใหญ่ทำใจเปรอะ |
ไม่ตั้งตัวกลัวกรรมทำเจ๋อเจ๊อะ |
เที่ยวสะเออะลอยหน้าว่าไม่ฟัง |
ทำดีไว้ให้ดีเป็นไหนไหน |
ดีแล้วเหลิงละเลิงไปไม่เหลียวหลัง |
ผัวผดุงบำรุงให้ตามกำลัง |
กลับชิงชังประทุษจิตไม่คิดอาย |
นึกให้โทษโทษนั้นจะถึงตัว |
รำพึงให้ทั่วคำสอนมีมากหลาย |
เหมือนสุนัขที่ชักมาบรรยาย |
ใช่จะปรายเปรียบให้เจ็บที่เก็บมา |
ก็สมคำบุราณท่านกล่าวไว้ |
จงเกรงภัยใจตรองให้หนักหนา |
ให้สุขท่านสุขนั้นจะถึงนา |
ให้ทุกข์ท่านเหมือนพาทุกข์ใส่ตัวเอง ๚ |
๏ หญิงดีจงมีจิตคิดรัก |
อย่าตั้งพักตร์ฝ่าฝืนขืนข่มเหง |
ที่ควรกลัวถึงดีชั่วก็ต้องเกรง |
จงยำเยงผู้เฒ่าอย่าเบาความ |
ถึงต่ำชาติวาสนาจะหาไม่ |
อย่ามีใจข่มเหงจงเกรงขาม |
ถ้าหยาบช้าครหาจะลามปาม |
สงวนงามใส่ตัวให้ผัวชม |
หนึ่งหูไวใจเบาเอาแต่โกรธ |
คุมแต่โทษเก็บแต่ผิดคิดสะสม |
ความที่ดีมีมากไม่อยากนิยม |
ถ้าใครชมป้อยอแล้วพอใจ |
ฝ่าแต่หวานไม่พานขมจะซมเซอะ |
จะเลอะเทอะมัวหมองไม่ผ่องใส |
ชอบผิดมิได้คิดดื้อดึงไป |
พูดจาสิ่งไรไม่ตรึกตรอง |
ใครจะรักใครจะชังก็ไม่รู้ |
แม้นชอบหูขออะไรก็ให้คล่อง |
ใจไม่นึกปรึกษาปรองดอง |
ลำพองแต่ลำพังใจตน |
หญิงดีจงมีมโนนำ |
ถ้าขืนทำเช่นนี้จะปี้ป่น |
รักษาจริตจิตจำนงเป็นมงคล |
จะเป็นผลสืบตระกูลประยูร เอย ๚ |
๏ เรื่องที่ทำคำที่ว่ามาทั้งนี้ |
ชั่วดีมีแจ้งแห่งเฉลย |
ใช่เสแสร้งแกล้งว่ามาเปรียบเปรย |
เราย่อมเคยรู้เห็นเช่นนี้มา |
ที่ไม่ชอบก็จะตอบว่าแนมเหน็บ |
แคะไค้เก็บมาฝ่ายหญิงค่อนขิ่งว่า |
ที่ชายชั่วสูบฝิ่นกินกัญชา |
เสพย์สุราเล่นเบี้ยขายเมียกิน |
ชายที่ชั่วผัวเช่นนี้มีถมไป |
นั่นเป็นไรจึงไม่ว่ามาให้สิ้น |
จะแถลงแจ้งยุบลกลัวมลทิน |
ฤาไม่ได้ยินได้ฟังจึงรั้งรอ |
ที่ปากจัดจะขวางขัดว่าอย่างนี้ |
จะเป็นที่ครหาว่าต่อต่อ |
หวังใจจะสอนไว้ให้พอพอ |
จำยกข้อต่อเติมไปตามมี |
จะแถลงแจ้งความไปตามได้ |
บุราณท่านว่าไว้ไม่หน่ายหนี |
ทั้งสองฝ่ายชายหญิงสิ่งชั่วดี |
ว่าไว้ในที่นี้มีต่อไป ๚ |
๏ ยังมีสหายชายทั้งสอง |
หนุ่มคะนองลำพองจิตข้างพิสมัย |
อยากจะใคร่ได้คู่ที่ชูใจ |
ก็เที่ยวไปสบเล่ห์ประเวณี |
คนหนึ่งไปได้คู่รู้ปรนนิบัติ |
สารพัดรู้จักที่ศักดิ์ศรี |
จะกินนอนผ่อนหาซึ่งสามี |
ให้ถูกที่น้ำใจมิให้เคือง ๚ |
๏ แต่ข้างฝ่ายชายผัวนั้นชั่วช้า |
การทำมาหากินไม่ได้เรื่อง |
กินแล้วออกเที่ยวเล่นเป็นนิจเนือง |
คิดจะเปลื้องเครื่องเรือนสู่เพื่อนกิน |
ภรรยาหาได้เอาไปเสีย |
เล่นแต่เบี้ยโปถั่วตัวปลอกปลิ้น |
ละเลิงลามตามปัญญาเป็นอาจิณ |
สูบแต่ฝิ่นกินแต่เหล้าทุกเช้าเย็น |
เวียนร่ำรื้อถือกระสุนเที่ยวมุ่นหมก |
หมายยิงนกยิงไก่ก็ไม่เห็น |
ยิงแต่ต้นไม้ใหญ่มิได้เว้น |
หัดยิงเล่นลำพองคะนองมือ ๚ |
๏ ฝ่ายเทวารักษาต้นไม้ใหญ่ |
ที่อาศัยคนทั้งปวงบวงสรวงถือ |
เห็นชายนั้นมั่นหมายมาหลายมื้อ |
คิดฮึดฮือฮึกฮักจะหักคอ |
แล้วถอยหลังยั้งใจว่าไอ้นี่ |
เมียมันดีฤาไม่อย่างไรหนอ |
ส่วนอ้ายผัวชั่วช้าผ่าเหล่ากอ |
จำรั้งรอดูก่อนผ่อนดูเมีย |
ถ้าเมียดีมีเช่นจะเว้นไว้ |
ถ้าชั่วไปเหมือนกันฆ่ามันเสีย |
คราวนี้อดงดไว้ให้ทำเยีย |
ไปบ้านเมียมันเมื่อไรจะไปตาม |
ครั้นเย็นบ่ายชายนั้นก็กลับหลัง |
ตรงไปยังเมียรักร้องทักถาม |
หาอะไรให้กินบ้างตั้งคุกคาม |
ให้เมียคร้ามขามตัวกลัววาจา |
เมียพริ้มยิ้มรับด้วยนับถือ |
ประสานมือสารพัดฉันจัดหา |
นี่แน่พ่อสำรับกับข้าวปลา |
ฉันคอยท่าอยู่จนบ่ายตั้งใจคอย |
ยกมาตั้งนั่งอยู่คอยดูแล |
ไม่ห่างแหตั้งใจให้ใช้สอย |
แล้วปรับทุกข์ถึงจนบ่นสำออย |
ทรัพย์ก็น้อยขัดสนจนเหลือใจ |
ขอผีสางเจ้านายเอาใจช่วย |
ให้รวยขึ้นสักครั้งแล้วนั่งไหว้ |
ว่าผัวข้าคนเดียวมักเที่ยวไป |
โปรดให้ได้เงินสักหม้อจะยอคุณ ๚ |
๏ ผัวฟังแย้มยิ้มกระหยิ่มจิต |
ถ้าสมคิดแล้วมิให้เจ้าวายวุ่น |
จะช่วยข้ามาให้ใช้ได้เจือจุน |
เดชะบุญไม่เคยจนแล้วไม่จน ๚ |
๏ ฝ่ายเทวาที่มาแอบแฝงอยู่ |
พิเคราะห์ดูคิดเห็นล้วนเป็นผล |
นึกว่าเมียมันดีมีมงคล |
จะผ่อนปรนให้มันสำราญรมย์ |
ถึงผัวชั่วเมียดีเป็นที่นับ |
จะให้ทรัพย์สักหม้อก็พอสม |
จะห้ามมิให้ไปไพรพนม |
ที่นิยมมิให้ยิงทิ้งพยศ |
ดำริพลางทางเหาะระเห็จกลับ |
มาประทับพฤกษาอันปรากฏ |
พอรุ่งสายชายเที่ยวเลี้ยวลด |
กำหนดถึงพฤกษาตั้งท่ายิง |
เสียงขวับเขวียวเหนี่ยวสายแล้วใส่ลูก |
ปะทะถูกพฤกษาเทวาสิง |
เทพเจ้าทำกึกก้องร้องท้วงติง |
มึงชังชิงกูอย่างไรมาไล่ราน |
นี่ต้นไม้ของกูเคยสู่สิง |
ทั้งชายหญิงเขาก็กลัวทั่วสถาน |
ชะมึงช่างทำได้น้ำใจพาล |
จะล้างผลาญมึงก็ได้อ้ายบาปกรรม |
กูขี้คร้านจู้จี้อ้ายขี้ทึ้ง |
จะให้เงินมึงสักหม้อเป็นข้อขำ |
ยิงต้นไม้ไปข้างหน้ามึงอย่าทำ |
แล้วจึงนำหม้อทรัพย์ให้ฉับพลัน ๚ |
๏ ชายนั้นได้ทรัพย์ก็กลับมา |
สู่เคหาปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ |
เทเงินออกบอกเมียเคล้าเคลียกัน |
ตั้งแต่นั้นมิได้ยากพ้นจากทุกข์ |
นี่แลเมียดีมิใช่ชั่ว |
พาให้ผัวได้ดีมีความสุข |
เทวาจึงอุปถัมภ์ช่วยทำนุก |
ที่ยากยุคเข็ญใจมิได้มี ๚ |
๏ ยังชายคนหนึ่งซึ่งเป็นมิตร |
ได้เมียติดจะมั่งคั่งดังเศรษฐี |
อุดมด้วยสินทรัพย์แต่อัปรีย์ |
ลูกผู้ดีแต่ไม่เอาซึ่งเหล่าปราณ |
จะกินนอนสารพัดก็ขัดข้อง |
ไม่ปรองดองว่ากล่าวให้ร้าวฉาน |
ผัวนั้นดีมีแต่ชอบไม่ตอบทาน |
ข้างเมียพานจะกำราบด้วยหยาบคาย |
พาผัวยับไปด้วยอัปมงคล |
ไม่ตั้งตนตามคติสิริหาย |
ก็พากันย่อยยับทรัพย์ละลาย |
ได้ระคายข่าวเพื่อนที่คู่กัน |
แต่เดิมทีมีเมียอนาถา |
เดี๋ยวนี้มามั่งมีดีขยัน |
ข้างฝ่ายเราเดิมทีมีกว่ามัน |
ว่ามันจนเรากลับจนกว่ามันไป |
จำจะต้องไปหาปรึกษาดู |
อยากใคร่รู้ว่ามันหาวิชาไหน |
ไปถึงจึงถามความในใจ |
ว่าเพื่อนเอ๋ยทำอะไรจึงได้ดี |
เงินทองข้าวของก็บริบูรณ์ |
ใครมาเจือเกื้อหนุนให้ฤานี่ |
ฝ่ายข้างข้าหากินทั้งตาปี |
มาเดี๋ยวนี้กลับจนพ้นกำลัง |
ใคร่รู้เหตุจึงมาหาออเจ้า |
สงเคราะห์เราสักทีให้มีมั่ง ๚ |
๏ ฝ่ายชายที่ได้ทรัพย์สดับฟัง |
เราไม่บังบิดเบือนดอกเพื่อนรัก |
อันขายค้าหากินสิ้นทุกสิ่ง |
เป็นความจริงในใจไม่รู้จัก |
เที่ยวเล่นลอยชายสะบายนัก |
จะฉกลักของใครก็ไม่เคย |
เราได้ลากขากดีมีเพราะบุญ |
ด้วยกระสุนห้าข้ออ้ายพ่อเอ๋ย |
ต้นไม้ใหญ่ยิงเล่นไม่เว้นเลย |
ใบดอกจนงอกเงยออกไม่ทัน |
เทวาที่รักษารุกขาอยู่ |
กลัวมือกูเต็มทีไม่มีขวัญ |
เอาทรัพย์ให้เราซ้ำเป็นกำนัล |
เพื่อจะกันมิให้เราไปกวน ๚ |
๏ ฝ่ายเพื่อนผู้ถามได้ความเสร็จ |
กัลเม็ดแจ้งไขเข้าใจถ้วน |
ไม่เห็นยากโดยจะทำก็น้ำนวล |
นึกสำรวลกูคงรวยด้วยเหมือนกัน |
แล้วกลับมายังบ้านสำราญจิต |
มิได้คิดค้าขายใจใฝ่ฝัน |
หากระสุนวุ่นวายอยู่หลายวัน |
พอได้คันหนึ่งก็ถือติดมือไป |
ถึงไม้ใหญ่ไล่ยิงกิ่งพฤกษา |
ที่เทวาสิงสู่อยู่อาศัย |
เทพดาโกรธาเป็นพ้นใจ |
อ้ายจัญไรข่มเหงไม่เกรงกู |
นึกจะใคร่ฆ่าฟันให้บรรลัย |
ก็เกรงภัยครหาท่าอดสู |
เกลือกกุศลความดีมีค้ำชู |
จะจู่ลู่ใจเบาไม่เข้าการ |
ควรจะไปพิเคราะห์ให้เหมาะหมด |
สะกดตามมันไปถึงสถาน |
ถ้าชาติชั่วทรพลเป็นคนพาล |
จะล้างผลาญก็ไม่มีใครไยไพ |
ครั้นสายัณห์ชายนั้นมาเคหา |
เทพดาตามมาหาช้าไม่ |
พอถึงบ้านยังมิทันขึ้นบันได |
เมียว่าด่าไปให้ได้ยิน |
มึงนี้อ้ายชาติข้าหน้าไพร่ |
การงานสิ่งไรไม่ได้สิ้น |
เช้าไปค่ำมาเป็นอาจิณ |
ดีแต่กินเอาอะไรมาให้กู |
ถือแต่กระสุนไปไล่ยิงเล่น |
แต่แกล้งดูกูไม่เห็นได้นกหนู |
กลับมาแทะข้าวตังหนังปลาทู |
มึงอย่าอยู่ไปให้พ้นอายคนเคอะ ๚ |
๏ ฝ่ายเทพยดาที่มาตาม |
ฟังความไม่ดีอัปรีย์เปรอะ |
สิ้นสิริในมนุษย์เห็นสุดเซอะ |
เท่านั้นเถอะได้ยินสิ้นแล้ววะ |
แล้วเล็งดูชันษาชะตาชาย |
เคราะห์ร้ายเต็มประดาติปาถะ |
ชะตาขาดควรข้อมรณะ |
จำจะประหารให้บรรลัยลง |
เทพเจ้าก็สำแดงแผลงฤทธิเดช |
เข้าจิกเกศหักคอยอเข่าส่ง |
ล้มตึงทะลึ่งหายกายไม่ตรง |
ก็ปลดปลงชีวันในทันใด ๚ |
๏ อันเรื่องราวอันนี้มีมานาน |
เป็นข้อเค้าเล่านิทานตำนานไข |
หวังแสดงแจ้งคำสอนน้ำใจ |
ทั้งชายหญิงสิ่งไรเป็นมงคล |
จงประพฤติทำตามเนื้อความหลัง |
แม้นเชื่อฟังคงเห็นจะเป็นผล |
อันสิรินี้สำหรับบำรุงตน |
ถึงยากจนเข็ญใจอย่าได้กลัว |
สิริกำเนิดเกิดผลด้วยปรนนิบัติ |
ท่านแจงจัดว่าไว้ตรองให้ทั่ว |
ชายหญิงมีปัญญารักษาตัว |
หนีชั่วหาความดีให้มีมา |
สิรินี้เป็นที่จะเกิดทรัพย์ |
จงคำนับอย่าเบื่อหน่ายใฝ่ฝันหา |
ถึงยากจนทรพลเต็มประดา |
สิริมีก็จะพาทรัพย์มาเอง |
ทั้งยศศักดิ์บริวารศฤงคารพร้อม |
ไม่มัวมอมล้วนดีที่เหมาะเหมง |
เป็นที่รักทักถามย่อมยำเกรง |
เพราะถือเคร่งครองชอบประกอบเป็น |
นี่แลท่านทั้งหลายชายแลหญิง |
หมั่นตรึกกริ่งตรองลึกจึงนึกเห็น |
ที่บ้องตื้นก็ขืนออกนอกประเด็น |
เหมือนหนึ่งเช่นบ้าหลังมาฟังธรรม |
ฟังบาลีตีเนื้อความอันล้ำลึก |
ก็ไม่นึกชอบพอที่ข้อขำ |
ที่ปะหระสามหาวเขากล่าวคำ |
อุตส่าห์จำเอามาถือว่าดี |
มิดังนั้นเหมือนแมงวันที่มักเหม็น |
ไปพบเช่นของหอมแล้วย่อมหนี |
ไปปลักแต่ที่ชั่วกลั้วราคี |
เหมือนคนที่เป็นพาลสันดานพล |
ไม่ฟังคำร่ำสอนค่อนติฉิน |
ว่าแต่งลิ้นว่าเล่นไม่เป็นผล |
ถึงรูปงามนามเพราะเหยาะทั้งตน |
ถือมืดมนเช่นนี้ก็ดีคลาย |
เหมือนหนึ่งดอกทองกวาววาวแสงสี |
มิได้มีกลิ่นหอมก็ย่อมหาย |
ใครใครเขาไม่นับเพราะอับอาย |
เหมือนหญิงชายรูปดีที่ใจพาล |
ที่รูปชั่วมัวหมองหมั่นตรองตรึก |
ปัญญาลึกเล็งเห็นเป็นแก่นสาร |
อุตส่าห์จำคำสอนผ่อนสันดาน |
ให้อ่อนหวานราบคาบไม่หยาบคาย |
จะเป็นที่สรรเสริญเจริญยศ |
จะปรากฏโลกอยู่ไม่รู้หาย |
เหมือนอบเชยเผยกลิ่นจากดินทราย |
คนทั้งหลายชมว่าหอมย่อมว่าดี |
ชักทำเนียบเปรียบปรายมาให้เห็น |
แม้นเชื้อเช่นแหลมหลักมีศักดิ์ศรี |
จงจำคำร่ำว่าที่พาที |
ไว้เป็นที่ห้ามใจแลสอนใจ |
อาจเห็นคุณแลโทษที่โหดร้าย |
ระมัดกายตามสอนผ่อนจิตได้ |
เหมือนหนึ่งได้แว่นแก้วอันแววไว |
มาสอดใส่นัยน์เนตรสังเกตทาง |
จะเห็นทั่วชั่วดีที่ในโลก |
จะดับโศกได้สุขให้ทุกข์ส่าง |
ด้วยมั่นคงจงใจไม่ละวาง |
ผัวไม่ห่างแหพ้องไม่ต้องเตือน |
ถึงจะมีเมียน้อยสักร้อยหญิง |
ก็ไม่ทิ้งขว้างได้ใครจะเหมือน |
ถึงมีเสน่ห์เล่ห์ลมได้สมเรือน |
นานก็เคลื่อนคลายรักจะชักแช |
ไม่เหมือนผลปรนนิบัติสัจเคารพ |
ถ้าเจนจบผัวไม่จางไปห่างแห |
จะสู้ม้วยด้วยรักลงทักแท้ |
ดีกว่าสาระแนเสน่ห์แนม |
ไม่จางจืดยืดยาวตราบเท่าม้วย |
ก็เพราะด้วยรู้จักที่หลักแหลม |
เพราะแม่นยำคำสอนไม่ซ้อนแกม |
กระจ่างแจ่มมรรคผลที่สนใจ |
อาจจะให้ได้ผลล้นเหลือนัก |
ผัวคงรักมั่นคงอย่าสงสัย |
คงจะปลอดรอดตนไปพ้นภัย |
จงจำไว้ล้วนจริงทุกสิ่งอัน |
ขอเคารพจบจำที่คำแต่ง |
บอกให้แจ้งความจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
กาฬปักษ์ดิถีเป็นตรีจันทร์ |
ที่สำคัญมาฆมาสไม่คลาดคลา |
จุลศักราชพันสองร้อยหก |
ปีมะโรงฉศกสังขยา |
พอสำเร็จเสร็จคำที่ร่ำมา |
ขอให้ถาพรคำที่ร่ำ เอย ๚ |