คำฉันท์สอนหญิง
อินทรวิเชียร ๑๑
[๑]๏ ข้าขอเผด็จแสดง | ผจงแต่งซึ่งคำสอน |
ไว้เป็นสุนทรกลอน | คดีโลกลำดับความ |
๏ ไว้ให้แก่นาเรศ | เฉลิมเกศอนงค์งาม |
รุ่นสาวเจริญทราม | พิศวาสแสวงชาย |
๏ นารีอันมีศักดิ์ | วรพักตร์ดั่งเดือนฉาย |
สงวนตัวไม่มัวระคาย | จะระคนด้วยมลทิน |
๏ เสมือนดังวิเชียรรัต | นะลือระบือระบิล |
เป็นอรรคนาริน | รจนาวราโฉม |
๏ ควรเป็นมงคลขวัญ | นัยเนตรวิเศษโสม |
นัสนาฎสวาทโลม | ฤดีชายให้ถวิล |
๏ อย่าหยิ่งเผยอผยอง | ลำพองตนกระมลทิน |
ปากร้ายผูกไพริน | แก่เพื่อนมิตรสนิทนาง |
๏ จงเจียมเสงี่ยมจิต | แต่งจริตให้สำอาง |
พูดจาอย่ารานทาง | แก่เพื่อนรักสมัครตน |
๏ เดินเหินอย่าเมินพักตร์ | แลชำลักชำเลืองยล |
เห็นชายทำอายฉงน | ระริกร่านัยน์ตามัน |
๏ แต่งกายให้สมศักดิ์ | วรพักตร์วิไลวรรณ |
คนดำห่มแดงฉัน | ไม่ฉายเฉิดประเสริฐศรี |
๏ คนขาวจะนุ่งห่ม | อันใดใดก็งามดี |
คนดำต้องห่มสี | แต่หม่นหมองแลเขียวคราม |
๏ ห่มแดงแลสีนวล | บมิควรจะเห็นงาม |
ชายเห็นจะเย้ยหยาม | บริภาษให้บาดใจ |
๏ ลุกนั่งระวังตน | อย่าลุกลนทะลึ่งไป |
ภูษาแลผ้าสไบ | จงปกปิดให้มิดกาย |
๏ อย่าทำกระดางลาง | ตลกโลนเหมือนผู้ชาย |
สตรีให้มีอาย | เป็นที่ฟังจะบังควร |
๏ ยามเดินอย่าเมินประมาท | ให้พลั้งพลาดล้มเซซวน |
ยามยืนอย่ายืนยวน | กมลขึงตะลึงแล |
๏ ยามนอนอย่านอนหงาย | เอากรก่ายวิลาศแปร |
กอดอกอดูรแด | ฤดีดิ้นถวิลชาย |
๏ ยามกินอย่ากินเติบ | ค่อยป้อนเปิบให้สบาย |
ข้าวตกลงเรี่ยราย | ไม่สู้ดีอัปรีย์ตน |
๏ เคี้ยวข้าวดังจับจับ | จะอาภัพวิบัติคน |
ซดแกงเหมือนเสียงกรน | ดังโฮกโฮกกระโชกลม |
๏ นอนหลับละเมอฝัน | บ้างเคี้ยวฟันสยายผม |
ครางครวญรัญจวนตรม | กลสะอื้นไม่ฟื้นตัว |
๏ บ้างนอนน้ำลายไหล | บ้างถอนใจดูน่ากลัว |
เสียงกรนเหมือนเสียงวัว | ดูอนาถประหลาดใจ |
๏ บ้างนอนเป็นท่ายักษ์ | ย่อมชั่วนักคนจัญไร |
มือสอดเข้าไว้ใน | ระหว่างขาท่าอัปรีย์ |
๏ ระมัดระวังตัว | อย่านอนชั่วมักไม่ดี |
โรคาจักยายี | อายุน้อยจักถอยแรง |
๏ นอนดีจะมีทรัพย์ | กิติศัพท์เป็นศักดิ์แสง |
คำสอนให้นอนตะแคง | เอาแขนพาดไปตามสกนธ์ |
๏ เหยียดเท้าลำดับบาท | เอากรพาดหนุนเศียรตน |
เป็นสวัสดิมงคล | ชื่อสีหไสยา |
๏ ยามเดินอย่าเดินเหย่า | ระเหยาะย่างเหมือนอย่างกา |
อย่าเดินเอาศิรา | ชะโงกเงื้อมไปก่อนกาย |
๏ ให้เดินผจงบาท | ด้วยลีลาศชำเลืองชาย |
แอ่นอกให้ผึ่งผาย | เหมือนดังเป็ดวิเศษดี |
๏ เดินเหมือนคชาทรง | มงคลราชหัสดี |
จะเป็นเฉลิมศรี | ศุภสุนทรานาน |
๏ ยามกินอย่าผินพักตร์ | บริโภคกระยาหาร |
แสนทรัพย์ศฤงคาร | จะเนืองนองดั่งน้ำไหล |
๏ ประจิมจักมียศ | เป็นยอดอย่างสุรางค์ใน |
อุดรจักมีภัย | อย่าผินพักตร์รับอาหาร |
๏ เป็นหญิงอย่าใจบาป | วาจาหยาบพูดสามานย์ |
กล่าวโลนตลกพาล | เหมือนเช่นชายบ่อายใจ |
๏ นารีอันมียศ | มธุรสย่อมแจ่มใส |
เยื้อนยิ้มพริ้มละไม | พจนารถสวาทหวาน |
๏ อย่ากล่าวยุบลบ่อน | สบถล่อนให้เกินการ |
อวดโอ้พูดโวหาร | ยกตัวตั้งอวดมั่งมี |
๏ อย่าค่อนนินทาท่าน | มิใช่การกระสัตรี |
ความชั่วแลความดี | ย่อมมีทั่วทุกตัวคน |
๏ เขาชั่วก็ชั่งเขา | อย่าเก็บเอามาใส่ตน |
ใครประเสริฐบังเกิดผล | จงเอาอย่างในทางดี |
๏ อย่าทำเป็นแม่สื่อ | ให้เขาลือว่าอัปรีย์ |
ชักชายให้สมศรี | ชักสตรีให้สมชาย |
๏ เป็นหญิงอย่าง่วงเหงา | นอนขี้เซาอยู่จนสาย |
การเรือนเร่งขวนขวาย | เอาใจใส่ในเคหา |
๏ ข้าวปลาอย่าคาหม้อ | ไว้เหลือหลอให้บูดรา |
ถ้วยชามอย่าให้คา | หมั่นล้างคว่ำทำให้ดี |
๏ ครัวไฟอย่าให้รก | สกปรกมักอัปรีย์ |
หม้อข้าวฝาละมี | อย่าเปลี่ยนผลัดพลัดกันไป |
๏ หุงข้าวอย่าผินหลัง | หมั่นระวังทั้งฟืนไฟ |
เสร็จสรรพดับให้ได้ | อย่าทิ้งไว้จักไหม้เรือน |
๏ กินแล้วอย่าฉุยแฉ่ | ให้พ่อแม่ต้องตักเตือน |
อย่าทิ้งไว้ให้กลาดเกลื่อน | เปื้อนครัวไฟนั้นไม่ดี |
๏ แดดออกดูตากของ | ฝนตกรองเอาวารี |
เย็นย่ำค่ำราตรี | อย่าจรลีจากเคหา |
๏ หญิงสาวจักไปไหน | มีเพื่อนไปจงไคลคลา |
คนเดียวอย่าลีลา | เขานินทาว่าสามานย์ |
๏ ผู้ชายเขาล้อเลียน | เป็นหนามเสี้ยนให้รำคาญ |
เมินหน้าอย่าว่าขาน | ตอบคนพาลแพ้ภัยตัว |
๏ พูดจาว่าโดยดี | อย่าข่มขี่ให้เขากลัว |
รักนวลสงวนตัว | สิ่งใดชั่วจงหลีกหนี |
๏ นุ่งห่มพอสมศักดิ์ | โสมมนักมักไม่ดี |
แต่งตัวนักก็จักมี | คนนินทาว่าล่อชาย |
๏ พี่น้องไปมาหา | นั่งพูดจาอย่าทำอาย |
พบปะเข้าทักทาย | ปากเราะรายพูดให้ดี |
๏ ลุงอาแลตาปู่ | ไปมาสู่ด้วยไมตรี |
ข้าวปลาหาหุงจี่ | ตามยากมีให้ท่านกิน |
๏ แม้นว่ามีข้าไทย | จงปลอบใช้อย่าใจทมิฬ |
ร้ายนักมักติฉิน | นินทาว่าส่งค่าตัว |
๏ มีข้าว่าปั้นเจ๋อ | ทำหยิ่งเย่อให้เขากลัว |
รักมันมันรักตัว | ทำใจชั่วบ่าวมันชัง |
๏ มีข้าเหมือนศัตรู | พึงให้รู้น้ำใจหวัง |
ความลับที่ควรบัง | อย่าได้เล่าแก่บ่าวตน |
๏ มันมักชักชู้ให้ | อย่าเชื่อใจอีสัปดน |
วิสัยอีคนจน | ได้สินบนไม่รักนาย |
๏ ตัวดีมีคนรัก | ทำทรลักษณ์จักได้อาย |
หัวแหวนแสนเสียดาย | ตกแตกทะลายหายราคา |
๏ เปรียบเหมือนกับหญิงสาว | ทำรานร้าวใส่กายา |
ชายดีมีปรีชา | ไม่ปรารถนาจักเชยชม |
๏ เปรียบเหมือนกับดอกไม้ | ม้วนแทรกใส่ในอาจม |
ผู้ใดใครจักชม | ดอกโสมมไม่นำพา |
๏ ถ้าว่าสุมาลี | เกสรมีงามรจนา |
เป็นที่เสน่หา | จิตเมตตาทุกตัวคน |
๏ โบราณท่านย่อมว่า | ตัวเป็นข้ารักษาตน |
นานไปเป็นกุศล | คงจะพ้นเป็นทาสี |
๏ เป็นข้าผ้าเหม็นสาบ | ใจยุ่งหยาบหญิงอัปรีย์ |
ทำชั่วตัวไม่ดี | เป็นทาสีอยู่จนตาย |
กาพย์ ฉบัง ๑๖
๏ เป็นหญิงยศยิ่งเพราพราย | อย่าจงจิตหมาย |
เชยชู้เป็นคู่เคียงนาง | |
๏ บุพเพสันนิวาสแต่ปาง | ก่อนสมชมนาง |
เสน่ห์สนิทพิสมัย | |
๏ ถึงอยู่นัคเรศแรมไพร | ทางไกลเท่าไกล |
คงประสบพบสมร | |
๏ ตามบุญวาสนาแต่ก่อน | อย่ามีอาวรณ์ |
กังวลแสวงสวามี | |
๏ ปรนนิบัติไว้องค์อินทรีย์ | เสมือนดังดวงมณี |
มีสีประเสริฐเฉิดโฉม | |
๏ ร้อนใจอะไรชายจักประโลม | ใครเห็นแล้วโสม |
นัสเสน่ห์น่าถนอม | |
๏ กิริยาวาจาอดออม | จัดไว้เป็นจอม |
มงกุฎสุดานาริน | |
๏ ความสัตย์กตัญญูยุพิน | เป็นสายเกาบิล |
สังวาลแลสร้อยสวมทรง | |
๏ อัธยาอาศัยในอนงค์ | จัดเป็นธำมรงค์ |
สุวรรณวลัยใส่กร | |
๏ สติปัญญาถาวร | จัดเป็นอาภรณ์ |
ภูษิตวิเศษเจษฎา | |
๏ หนึ่งจิตเมตตากรุณา | มุทิตาอุเบกขา |
เป็นผ้าสไบใส่สี | |
๏ สำหรับประดับกระสัตรี | ให้เอี่ยมองค์ฉวี |
สมศักดิ์ตระกูลกัลยางค์ | |
๏ หญิงใดได้ทรงสำอาง | จักงามกว่านาง |
ที่แต่งเครื่องเครื่องอาภรณ์ | |
๏ แม้ผู้เสาวภาคย์สุนทร | ฟังวัจนาคำสอน |
ที่พี่ร่ำพรรณนา | |
๏ จักมียศเลื่องเดชา | กฎทั่วชาวชวา |
ว่ากำภุญชัยสยาม | |
๏ ดีกว่านารีรูปงาม | ใครไม่มีความ |
ประทุษฐ์โทษนินทา | |
๏ จักมีชายมุ่งหมายเมตตา | รับขวัญหรรษา |
สรรเสริญเจริญอวยพร | |
๏ เทวาอารักษ์ฤทธิรอน | จักให้นามกร |
ชื่อแม่มงคลกัลยา | |
๏ เงินทองสมบัติวัตถา | ไหลหลั่งลอยมา |
ดังว่านทีศรีใส | |
๏ นารีมีศรีประไพ | แม้อยู่ที่ใด |
ที่นั้นเป็นสุขถาวร | |
๏ ดับโศกโรคภัยราญรอน | กำจัดดัสกร |
ศัตรูและหมู่โจรา | |
๏ เสมือนดวงเนาวรัตนา | ควรคู่ราคา |
ร้อยชั่งมาตั้งใส่พาน | |
๏ ชายใดได้ชมสมสมาน | จักมีศฤงคาร |
สมบัติสมบูรณ์พูนผล | |
๏ อนึ่งให้นอบน้อมจอมสกนธ์ | ปรนนิบัติผัวตน |
โดยสุจริตพิสมัย | |
๏ ถึงมีทาสาข้าไทย | อย่าได้ไว้ใจ |
ให้หุงให้หาอาหาร | |
๏ ตาดูหูใส่ในการ | กลัวคนสามานย์ |
ใส่ยาจักฆ่าสามี | |
๏ วัตถาอาภรณ์อันดี | สำหรับสามี |
จงจีบประดับพับวาง | |
๏ อย่าปนภูษาผ้านาง | มลทินจักหมาง |
จักหมองจักมัวผัวตน | |
๏ เย็นค่ำย่ำแสงสุริยน | นั่งนอบมอบสกนธ์ |
เข้าปรนนิบัติพัดวี | |
๏ เจรจาสำรวลสรวลศรี | อย่าได้พาที |
คำเท็จเผด็จกล่าวกลอน | |
๏ ผจงปัดปูที่นอน | เรือดไรในหมอน |
จงหาอย่าได้คายคัน | |
๏ คำใดผัวร่ำรำพรรณ | สอนสั่งฟังกัน |
จำไว้อย่าให้ใหลหลง | |
๏ จวนใกล้ไขแสงสุริยง | ตื่นจัดบรรจง |
น้ำสรงชำระพักตรา | |
๏ เสร็จสรรพแล้วกลับออกมา | หุงหาโภชนา |
บรรจงอย่าให้ใครทำ | |
๏ แต่งให้ผัวกินอิ่มหนำ | ยกมาล้างคว่ำ |
แล้วตัวจึงค่อยหากิน | |
๏ บิดรมารดาสวามิน | อย่าให้ติฉิน |
รังเกียจรังกนหม่นหมาง | |
๏ ไปลามาไหว้ให้สำอาง | คิดเหมือนพ่อนาง |
แม่บังเกิดเกล้าเกศี | |
๏ พี่น้องญาติกาสามี | เจรจาพาที |
โอบอ้อมถนอมใจกัน | |
๏ ไปมาหาของกำนัล | ใส่โตกเชี่ยนขัน |
คำนับให้สมพักตรา | |
๏ ความลับผัวแจ้งกิจจา | ไว้ในอุรา |
อย่าได้แถลงแพร่งพราย | |
๏ ปากบอนข้อนกล่าวบรรยาย | ผัวจักได้อาย |
ให้ควรสงวนภัสดา | |
๏ แม้ว่าสามีโกรธา | อย่าตอบวัจนา |
อดออมถนอมน้ำใจ | |
๏ หายโกรธจึงค่อยเฉลยไข | เล่าความตามนัย |
ยุบลแต่ต้นเหตุมี | |
๏ ผัวเห็นจริงดังพาที | จิตมีปรานี |
ความรักนั้นมากขึ้นไป | |
๏ อนึ่งสามีมีใจ | รักร่วมพิสมัย |
สังวาสสวาทหฤหรรษ์ | |
๏ จงมีปรีดาเสมอกัน | อย่าทำเดียดฉันท์ |
ให้ขัดให้ข้องขุ่นเคือง | |
๏ ไฟลุกฝอยลุกรุ่งเรือง | ไฟดับฝอยประเทือง |
ให้ดับระงับตามกัน | |
๏ หญิงใดสามีผูกพันธ์ | มีจิตคิดกระสัน |
ประสงค์จำนงในนาง | |
๏ แม้รู้อย่าทำรานทาง | กล่าวคำให้ระคาง |
ระบัดระเบียดเสียดสี | |
๏ อดออมถนอมใจดี | ค่อยพูดพาที |
ประเล้าประโลมภายหลัง | |
๏ ไฟลุกอย่าเอาเผาอัง | จักไหม้พองพัง |
ให้ดับด้วยสายชลธี | |
๏ หวงหึงริษยาราวี | จักเกิดด่าตี |
วิวาทบาดใจในกัน | |
๏ ประเวณีเป็นที่สำคัญ | ดุจดังเพลิงกัลป์ |
จักเผาซึ่งโลกโลกา | |
๏ รักใดไป่รักเท่ากาม์ | มืดมิดโมหา |
ไป่คิดชีวิตวางวาย | |
๏ ลางนางบ้างผูกคอตาย | กินยาพิษวาย |
ชีวิตบ่คิดอินทรีย์ | |
๏ ลางนางด่าว่าราวี | ราวกับทาสี |
ตะกุยตะกายกัดกัน | |
๏ ตบต่อยแย่งยื้อยืนยัน | ราวีตีรัน |
ประเจิดประจานตัวเอง | |
๏ ใช่ผัวเขาจักกลัวเกรง | เขายิ่งข่มเหง |
ให้เจ็บให้ช้ำร่ำไป | |
๏ หญิงดีมีอัธยาศัย | ตั้งจิตตนไว้ |
ให้เป็นท่ามกลางอุเบกขา | |
๏ ตามใจสามีปรีดา | พลอยมีเสน่หา |
เมียน้อยมันเหมือนน้องนาง | |
๏ พูดจาอย่าให้เคืองระคาย | เอาใจไว้พลาง |
กันคนติฉินนินทา | |
๏ เมื่อมันมีจิตอหังการ์ | ล่วงเกินอิจฉา |
ไม่เจียมเสงี่ยมใจตน | |
๏ บอกให้ผัวรู้ยุบล | สองหนสามหน |
ทีหลังอย่าไว้แม่มัน | |
๏ ถ้าผัวมัวเมาเข้ากัน | จิตคิดบิดผัน |
ไปอยู่กับหมู่ญาติกา | |
๏ นานนานจึงเวียนไปมา | อย่าทิ้งภัสดา |
ระวังระไวไปพลาง | |
๏ สามีมีจิตจืดจาง | จักเห็นคุณนาง |
กลับรักภิรมย์สมสมัย | |
๏ ชั่วดีนี้สุดแต่ใจ | อาฌาอาศัย |
ไว้เป็นที่ตั้งบังควร | |
๏ อย่าให้ผัวร้างแรมสงวน | จักเสียศรีนวล |
อนงค์เป็นพงศ์ผู้ดี | |
๏ หญิงใดแรมร้างสามี | เปรียบเหมือนมาลี |
ไม่มีเจ้าของหวงแหน | |
๏ สำหรับผึ้งต่อตัวแตน | เบียนบ่อนซ้อนแกน |
ก็โรยไป่รื่นรสสุคนธ์ | |
๏ ทาแป้งแต่งเกินสกนธ์ | สำหรับคำคน |
จักเคาะจักข้อนนินทา | |
๏ แหวนดีจักมีราคา | เพราะหัวจินดา |
ประดับสำหรับธำมรงค์ | |
๏ ราชรถย่อมงามเพราะธง | กวัดไกวงามยง |
ก็เรืองประยศทศไตร | |
๏ สระบัวเปี่ยมน้ำเย็นใส | เป็นที่ชื่นใจ |
แก่ฝูงมัจฉาวารี | |
๏ เพลิงพลุ่งมีเปลวอัคคี | จักรุ่งเรืองศรี |
สว่างกระจ่างแจ่มแสง | |
๏ นารีมีคู่สู่แสวง | คนย่อมยำแยง |
บห่อนจักเย้ยไยไพ | |
๏ ผัวร้างแรมจิตพิสมัย | จักตรมตรอมใจ |
เทวษบ่เว้นวายวัน | |
๏ ผัวรักร่วมเรียงเคียงขวัญ | พักตร์ผ่องเพียงจันทร์ |
จรัสจรูญเรืองฉาย |
กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘
๏ แม้ผู้มีปรีชา | ฟังคำวัจนา | เสกสรรบรรยาย | |
จักมีศรีสวัสดิ์ | จำรัสเพริศพราย | ฝูงชนทั้งหลาย | จักซ้องสาธุการ |
๏ ถ้าว่าตัวดี | แม้มีบุตรี | เอี่ยมองค์นงคราญ | |
จักได้สั่งสอน | ให้อ่อนพจมาน | กิริยาอาการ | เหมือนดังมารดา |
๏ แม้แม่เสเพล | ลูกเก่งเกเร | สอนยากนักหนา | |
จักว่ามันนัก | มันจักโกรธา | ย้อนเอามารดา | ให้ได้อัประมาณ |
๏ ลูกร้ายใจชั่ว | มันไม่รักตัว | คบชู้สาธารณ์ | |
เขาตินินทา | ว่าทุกประการ | ว่าอีหน้าด้าน | เหมือนดังแม่มัน |
๏ ไม่ชั่วแต่ลูก | เขาด่ามาถูก | ถึงแม่ทุกวัน | |
เพราะแม่ไม่ดี | บุตรีใจฉกรรจ์ | สืบพืชสืบพันธุ์ | พากันยุ่งไป |
๏ เขาจักขอสู่ | เขาย่อมแลดู | พงศ์พันธุ์ผู้ใหญ่ | |
ดูช้างดูหาง | เยี่ยงอย่างกวัดไกว | ดูนางเล่าไซ้ | ให้ดูมารดา |
๏ หญิงไม่มีพ่อ | ถึงงามลออ | ดังเทพธิดา | |
ชายสูงตระกูล | จำรูญพักตรา | เขาไม่ปรารถนา | สู่สมชมนาง |
๏ แม้ผู้มีปรีชา | ฟังคำวัจนา | เสกสรรบรรยาย | |
จักมีศรีสวัสดิ์ | จำรัสเพริศพราย | ฝูงชนทั้งหลาย | จักซ้องสาธุการ |
๏ คติอันนี้ | สำหรับสตรี | มีแต่ก่อนปาง | |
รุ่นสาวสุริย์วงศ์ | เอวองค์สำอาง | จัดเป็นสามอย่าง | ชั่วดีมีมา |
๏ ที่เขาสู่ขอ | พ่อแม่ยกยอ | แต่งการวิวาห์ | |
ทุนสินหอห้าง | ตามอย่างมารดา | ไม่อายพักตรา | จัดเป็นอย่างดี |
๏ ที่รักกันเอง | มิได้ครื้นเครง | ลอบชมสมศรี | |
ติดตามชายไป | ถือใจว่าดี | ใจหญิงอย่างนี้ | จัดเป็นอย่างกลาง |
๏ ที่ชั่วกว่านั้น | โลโภโมหัน | ใจมันกระดางลาง | |
ศาลาอาศัย | ปลูกไว้ริมทาง | มิให้ชายหมาง | รักทั่วทุกคน |
๏ มีครรภ์อ้อต้อ | ไม่รู้จักพ่อ | เป็นลูกกลางถนน | |
ผู้หญิงอย่างนี้ | อัปรีย์ยิ่งคน | เขาเรียกอีป่น | ชั่วจนมรณา |
๏ สามอย่างนี้ไซ้ | ใครรักอย่างไหน | ตามใจเถิดหนา | |
รักดีได้ดี | ไม่มีคระหา | รักชั่วมัวหน้า | เขาด่าจนตาย |
๏ ลางคนแม่หม้าย | ได้ลูกเขยไว้ | เป็นผัวแม่ยาย | |
พี่เมียน้องเมีย | ไกล่เกลี่ยเรี่ยราย | หึงกันวุ่นวาย | ไม่อายพักตรา |
๏ ผู้หญิงอย่างนี้ | อาภัพอัปรีย์ | ชั่วนักชั่วหนา | |
ไม่ใช่จักแกล้ง | แต่งคำนินทา | เห็นอยู่แก่ตา | ฟ้าผ่าจริงจริง |
๏ แม้ผู้มีศักดิ์ | อย่าทำทรลักษณ์ | เหมือนน้ำใจหญิง | |
รักนวลสงวนหน้า | วงศาอย่าประวิง | จักงามเพริศพริ้ง | เป็นภูมิผู้ดี |
๏ ถึงผัวตกไร้ | ยากเย็นเข็ญใจ | อย่าเอาตัวหนี | |
ผัวยากเมียยาก | ลำบากแสนทวี | ผัวมีเมียมี | ภักดีต่อกัน |
๏ จงมีศรัทธา | ได้ของอะไรมา | เปรี้ยวเค็มหวานมัน | |
จงแบ่งทำบุญ | เพิ่มพูนสมสรรค์ | กรวดน้ำรำพัน | ให้แก่ญาติกา |
๏ อุตส่าห์ถือศีล | ให้เป็นอาจิณ | หมั่นฟังเทศนา | |
เห็นคนยากไร้ | มีใจศรัทธา | ข้าวน้ำผักปลา | กรุณาให้ทาน |
๏ อย่าเข้าบ่อนใหญ่ | เล่นโปชนไก่ | ทำใจสามานย์ | |
เป็นหญิงนักเลง | เล่นเพลงเสงการ | ปากกล้าหน้าด้าน | ประจานกายตน |
๏ อย่าเป็นละคร | เที่ยวเล่นเที่ยวฟ้อน | ทุกแห่งทุกหน | |
เป็นหญิงไม่อาย | ผู้ชายเข้าปน | จับจูบลูบสกนธ์ | ให้หม่นหมองศรี |
๏ อย่าร้องสักวา | ดอกสร้อยมาลา | ทับโทนมโหรี | |
หากินกับบ้าน | งานการจงดี | รักษาอินทรีย์ | อย่าได้ไปไกล |
๏ อย่าลงคงคา | ช้อนกุ้งช้อนปลา | น่าอายสุดใจ | |
เก็บผักมาขาย | ได้เฟื้องได้ไพ | หากินเป็นไร | ไม่บาปไม่กรรม |
๏ ด้วยตัวเป็นหญิง | กับข้าวทุกสิ่ง | ให้รู้จักทำ | |
รู้ต้มรู้แกง | ของแห้งของน้ำ | ผักพล่าปลายำ | ทำให้ดีดี |
๏ รู้เย็บผ้าสงฆ์ | จีวรสบง | กระทงใบศรี | |
รู้ปักรู้พวง | สร้อยสรวงมาลี | จีบพลูบุหรี่ | ฟั่นธูปฟั่นเทียน |
๏ ให้รู้ทอผ้า | บัวดอกเมล็ดงา | ม่วงไหมให้เนียน | |
แกะประจำกัน | สารพรรณวาดเขียน | ให้นางมีเพียร | เรียนรู้วิชา |
๏ รู้หนังสือไทย | ขัดเข้าจักได้ | อ่านตำรายา | |
ได้อ่านสวดมนต์ | เล่าบ่นคาถา | ตามแต่ปัญญา | เป็นทางนิพพาน |
120 | |||
๏ เป็นลูกผู้ดี | รู้ไว้ถ้วนถี่ | คดีการงาน | |
ดีกว่าร่ำเร่อ | พร่ำเพ้อป่วยการ | แก่จนนมยาน | ไม่รู้แกงกิน |
๏ ไม่จำคำสอน | ทำแสนแง่แสนงอน | ผัดหน้าทาขมิ้น | |
พ่อแม่เรียกใช้ | ทำไม่ได้ยิน | ดัดจริตดีดดิ้น | ยกคอล่อชาย |
๏ ห่มผ้าพลัดไพล่ | เต้นมาเต้นไป | ทำได้ไม่อาย | |
ส่งเสียงจะแจ้ว | ลอยหน้าจนหงาย | ห่มสีนุ่งลาย | กรีดกรายเที่ยวไป |
๏ ลางคนใจชั่ว | ไม่อยากมีผัว | เป็นห่วงเป็นใย | |
เที่ยวเล่นตามสนุก | เป็นทุกข์เมื่อไร | หาเฟื้องหาไพ | กินเล่นตามสบาย |
๏ พอออกจากเรือน | ผู้ชายเป็นเพื่อน | เที่ยวเดือนหงายหงาย | |
แรมร้อนนอนค้าง | โรงห้างผู้ชาย | ประเดี๋ยวคว่ำประเดี๋ยวหงาย | ไม่อายพักตรา |
๏ ผู้หญิงอย่างนี้ | เชื้อชาติกาลี | ไม่ดีเลยนา | |
จักขึ้นเรือนไหน | เขาไม่เจตนา | พี่น้องวงศา | ขายหน้าอัประมาณ |
๏ ลูกมีตระกูล | อย่าทำทารุณ | ดูเยี่ยงหญิงพาล | |
ค่อยมาค่อยไป | อยู่ให้นานนาน | ทำบุญให้ทาน | จงตั้งศรัทธา |
๏ เดชะบารมี | ขอให้ข้านี้ | ได้คู่เสน่หา | |
ผู้ชายเฉลียวฉลาด | เปรื่องปราชญ์ปรีชา | ที่มีกิริยา | เป็นภูมิผู้ดี |
๏ แม้คนสกปรก | ชาติเปรตเศษนรก | ใจร้ายราวี | |
อย่าได้กล้ำกราย | จงหน่ายแหนงหนี | ขอคนที่ดี | เป็นที่รักเอย |
[๑] คัดและตรวจสอบชำระจากเอกสารสมุดไทย เลขที่ ๑๓ หมวดวรรณคดี หมู่กลอนสุภาษิตและคำสอน สำนักหอสมุดแห่งชาติ