บทนำเรื่อง
สุภาษิตสอนหญิงสำนวนนี้ยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่มาก่อน แต่งเป็นคำประพันธ์ ๓ ชนิด คือ โคลงสี่สุภาพ ๑ บท โคลงสอง ๒ บทและร่ายสุภาพ จำนวน ๙๖ วรรค สุภาษิตสอนหญิงปรากฏอยู่ตอนปลาย สมุดไทยเรื่องโคลงกำสรวลศรีปราชญ์ จากเอกสารเลขที่ ๓ และเลขที่ ๕ ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ บทเริ่มต้นของสุภาษิตสอนหญิงบอกจุดมุ่งหมายของการแต่งว่า เป็นคำสอนสำหรับสตรีนำไปปฏิบัติ หากหญิงใดปฏิบัติตามเสมือนมีอาภรณ์ล้ำค่าไว้ประดับตนชีวิตจะประสบแต่ความเจริญรุ่งเรือง
๏ คัมภีร์สุภาพแก้ว | กรองกรรณ |
คือทิพกุกกุภัณฑ์ | เทพแท้ |
หญิงใดทรงเทริดสรรพ์ | ศรีรุ่ง เรืองแม่ |
คมกว่าอัปสรแล้ | เลิศน้องนางสวรรค์ ฯ |
เนื้อหาของสุภาษิตสอนหญิงประกอบด้วยคำสอน ๗๗ ข้อ เป็นหลักการประพฤติปฏิบัติสำหรับสตรีนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน มีคำสอนทั้งที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตนต่อครอบครัวและสังคม คำสอนนี้เป็นแบบแผนให้สตรีรู้จักหน้าที่ของการเป็นกุลสตรีและการประพฤติตนเป็นคนดี ดังตัวอย่างคำสอนในเรื่องการดูแลปรนนิบัติเอาใจใส่สามี สร้างความดีงามเพื่อให้สามีรัก อย่าเถียงทะเลาะหรือแข็งขืนกับสามีอย่ารับประทานอาหารก่อนสามี ให้รักเคารพและเชื่อฟังสามี หากสามีโกรธภรรยาต้องระงับอารมณ์ไว้ เช่น อย่าต่อสู้สวามี เอาน้ำใจผูกผัว แต่งตนให้ผัวรัก อย่ามักกินก่อนผัว
ให้เร่งตามใจผัว | รักสวามียิ่งตน | ผัวโกรธชวนผัวดี |
สอนเรื่องความประพฤติและกิริยามารยาท เช่น ไม่หัวเราะเสียงดัง รู้จักใช้คำพูดที่เหมาะสม อย่าพูดจากลับกลอก อย่าคิดว่าตนเองดีกว่าผู้อื่น ระงับความโกรธ ละเว้นสิ่งมัวเมา เมื่อกระทำผิดให้รับผิดอย่าแก้ตัว เช่น สรวลอย่าดังสุดเสียง แต่งวาจาให้คม อย่าเอาตัวเป็นใหญ่ อย่าอวดดีกลางชน
และ | พรากโทโสจากตน | ขนทุจริตจากตัว | ดับเมามัวให้หาย |
กล่าววาจาอย่ากลับ | ทำผิดรับอย่าแก้ |
สอนให้รู้จักวางตนในสิ่งที่ควรทำ และไม่ควรกระทำ เช่น
ท่านไม่ถามอย่าพร้อง | ท่านไม่ร้องอย่าขาน | ท่านไม่วานอย่าไป |
สอนให้ทำความดี หมั่นสร้างบุญกุศลทั้งตนเองและครอบครัว เช่น ชักพ่อแม่ทำทาน รักกุศลยิ่งชีพ สร้างกุศลอย่ารู้โรย
สอนให้รู้จักประมาณตน อย่าปรารถนาในสิ่งที่ไม่ใช่ของตน อย่าหลงในอำนาจวาสนา เช่น
อย่าด่วนมีก่อนวาสนา | อย่าได้ตื่นยศศักดิ์ | ให้รู้เจียมอาตมา |
ไม่ให้นำเรื่องในครอบครัวไปเล่าให้ผู้อื่นฟัง และไม่นำเรื่องไม่ดีนอกบ้านมาเล่าให้คนในครอบครัวฟัง
อย่าเอาไฟในออก | ไฟนอกอย่านำเข้า |
ให้มีความซื่อสัตย์สุจริตทั้งความประพฤติและการประกอบอาชีพ เช่น “ตรงให้ตรงสัตยา” “ตายด้วยสัตย์สุดงาม” “คิดหาลาภโดยชอบ” “ประกอบการโดยธรรม์”
ให้ละอายต่อการทำบาป เช่น อายแก่บาปจงมาก อย่ากอบโกยการบาป
สอนให้มีน้ำใจไมตรีต่อผู้อื่น และรู้จักใช้คำพูดที่สุภาพ อ่อนหวาน เช่น เอาไมตรีล้อมรั้ว ยารสหวานดับโกรธ สอนให้ห่างไกลจากคนไม่ดี เช่น อยู่ให้ไกลคนพาล
คำสอนจากเรื่องสุภาษิตสอนหญิงสามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตครอบครัวเพื่อให้สตรีรู้จักดูแลปรนนิบัติสามีในเรื่องต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน นอกจากหน้าที่ของการเป็นแม่บ้านที่ดีแล้วนั้น ผู้แต่งยังได้สอนการปฏิบัติตนให้เป็นคนดีทั้งความประพฤติ การใช้กิริยาวาจา มีข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติหลายประการสามารถนำมาใช้ได้กับการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน