๙
ต่อจากวันนั้นมา กระแสแห่งความเพลิดเพลินในชีวิตและความเป็นอยู่ประจำวัน ได้ทำให้ประจิตรลืมเรื่องราวแห่งลูกสาวหลวงประสริฐฯ เสียสนิท สุนทรีนั้นมิใช่ผู้ที่จะหลงลืมสิ่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของหล่อนเสียโดยง่าย แต่เรื่องครอบครัวหลวงประเสริฐฯ นี้ จะเกี่ยวกับหล่อนก็แต่โดยที่เกี่ยวกับประจิตร เมื่อประจิตรลืมเสียแล้ว สุนทรีเป็นผู้ที่มีงานไม่ขาดมืออยู่เป็นนิจ ก็พลอยตกอยู่ในความลืมเช่นเดียวกับประจิตรเหมือนกัน
วันหนึ่ง เมื่อสุนทรีสอนภาษาฝรั่งเศสให้แก่สงวนผู้เป็นนักเรียนใหม่เป็นพิเศษ สุนทรีนึกถึงเพื่อนร่วมโรงเรียนเก่าของสงวนขึ้นได้ เมื่อได้อธิบายเนื้อความสำคัญในบทเรียน ให้เป็นที่เข้าใจแก่ศิษย์ ดีแล้ว จึงชวนศิษย์ให้พูดถึงเรื่องงามพิศ
สงวนเล่าว่างามพิศเป็นนักเรียนรุ่นใหญ่กว่าตน เมื่อตนเรียนอยู่ในชั้น ๖ นั้น งามพิศเรียนอยู่ในชั้น ๘ ถามถึงนิสัยใจคอ สงวนไม่สามารถตอบได้ แต่หล่อนได้ชี้ช่องให้สุนทรีหาคำตอบเอาเองโดยเล่าต่อไปว่า งามพิศมีฉายาว่า ‘แม่เฒ่า’ และเป็นนักเรียนที่ไม่เคยสอบได้ต่ำกว่าที่ ๔ เลย
“รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร?” สุนทรีซักอีก
สงวนสั่นหน้าแล้วหัวเราะ แล้วจึงตอบว่า
“พูดไม่ถูกค่ะ บางวันก็สวย บางวันก็น่าเกลียด”
“เอ๊ะ ! ทำไมถึงตรงกันข้ามอย่างนั้นล่ะ?” ผู้เป็นครูถามแกมหัวเราะ
“ไม่ทราบค่ะ ดิฉันเห็นยังงั้นนี่คะ บางวันหน้านวลยิ้ม เล่นอะไรต่ออะไรกับเพื่อนๆ ดูน่ารัก วันไหนโกรธใครขึ้นมาก็หน้าบึ้งยังกะอะไร ใครพูดก็ไม่พูดด้วย” แล้วสงวนเสริมต่อไปอย่างจริงจัง “ครูๆ ยังกลัวเลยค่ะ”
สุนทรีตำหนิตัวเองอย่างแรง ในข้อที่ลืมเรื่องงามพิศเสียหลายวัน หล่อนเชื่อโดยไม่สงสัยแม้แต่สักนิดว่า ประจิตรได้ลืมงามพิศอย่างสนิทยิ่งไปกว่าที่หล่อนลืม แต่หล่อนไม่คิดที่จะตำหนิเขา เพราะเหตุว่าเป็นนิสัยของเขาที่เป็นเช่นนั้น ถ้าหากเขาไม่ลืมนั่นสิหล่อนจะพิศวงมาก
วันนั้นเมื่อสุนทรีกลับถึงที่อยู่ ได้ทราบว่าประจิตรมาถึงก่อนแล้ว และได้แต่งตัวออกจากบ้านไปอีก สุนทรีสั่งคนใช้ว่า เมื่อจัดของว่างเสร็จแล้ว ให้ยกไปคอยท่าที่เตียงไม้ด้านข้างตึก
ที่นั้นเป็นที่สงัดด้วยไกลจากเสียงยวดยาน และเป็นที่คล้ายป่าละเมาะหย่อมกระจ้อยร่อย อันบุคคลชะลอมาตั้งไว้ในเขตบ้าน พื้นแผ่นดินมีหญ้าขึ้นหร็อมแหร็ม แต่สะอาดเอี่ยมปราศจากสิ่งที่จะเรียกได้ว่าเป็นเครื่องรก เย็นวันใดสุนทรีว่างจากงาน มีอิสระที่จะหาความสำราญโดยลำพัง หล่อนมักจะมานั่งรับประทานน้ำชาที่นี่ บางคราวรับประทานพลางอ่านหนังสือพลาง บางคราวก็ถือเอาต้นไม้ใบหญ้าปักษาที่มาอาศัยพุ่มไม้ ตลอดจนตัวแมลงต่างๆ เป็นเครื่องเพลิน
เฉพาะวันนี้ เมื่อสุนทรีลดตัวลงบนเสื่ออันลาดอยู่เหนือเตียง แสงแดดสีเหลืองอ่อนกำลังลับล่ออยู่บนยอดไม้ นกตัวน้อยกำลังโลดเต้นอยู่คู่หนึ่ง มิได้มีทีท่าว่าตกใจในเมื่อเห็นสุนทรี ผีเสื้อดำตัวใหญ่ถนัดบินแฉลบมาจากที่ใดที่หนึ่งแล้วก็หายไป ลมกำลังพัดมาเรื่อยๆ ทำใบไม้ให้ไหวตัวเป็นเสียงเบาๆ ....มองดูถาดอาหารที่วางอยู่คอยท่า ขนมฝรั่งชิ้นเล็กๆ มีสีสันชวนอร่อย ชมพู่สาแหรกสุกงอมสีแดงเข้มตัดเป็นเสี้ยวๆ เรียงเรียบอยู่ในจาน แสดงถึงความบรรจงจัดของผู้มีหน้าที่เตรียมอาหารนี้ น้ำชาส่งกลิ่นรวยๆ จากพวยกาอันมีรูปภาพงดงาม....สุนทรีรู้สึกตัวเป็นผู้ที่มีความสุขยิ่งยวดคนหนึ่ง
แล้วหล่อนนึกถึงประวัติของหล่อนเอง
อันเด็กที่กำพร้ามารดาตั้งแต่แรกเกิด คนทั้งหลายย่อมกล่าวว่าเป็นเด็กมีกรรมมาก แต่สุนทรีรู้สึกว่าตัวของหล่อนไม่มีโอกาสเลยแม้แต่น้อยที่จะบ่นว่า หล่อนได้รับทุกข์เพราะเหตุไม่มีมารดา แท้จริงนั้นหล่อนเป็นผู้ที่ไม่เคยประสบความยากเข็ญแม้แต่อย่างหนึ่ง อย่างใด
สุนทรีเกิดแล้วได้สัปดาห์เดียว มารดาของหล่อนก็ถึงแก่กรรม
สามวันหลังจากที่สุนทรีเกิด สุภาพสตรีคนหนึ่งซึ่งคนในสมัยนั้นเรียกว่า ‘นายอรุณ’ เป็นภรรยา ‘คุณเนื่อง’ เนติบัณฑิตทนายความผู้มีชื่อเสียง และเป็นเพื่อนรักอย่างยิ่งแห่งมารดาของสุนทรี ก็ให้กำเนิดเด็กแฝดชายหญิงคู่หนึ่ง
เด็กชายได้แก่ประจิตร เด็กหญิงมีชีวิตอยู่ได้เพียง ๒๔ ชั่วโมง
การเสียไปซึ่งธิดาน้อยคนหนึ่ง รวมกับการเสียเพื่อนรักอย่างยิ่งไปในกรณีให้กำเนิดแก่เด็ก อันเป็นกรณีที่ตนเองก็กำลังประสบอยู่บัดนั้น เกือบจะทำให้นายอรุณเสียขวัญถึงกับเสียชีวิตไปด้วย แต่ความรักบุตรยังมีอำนาจเหนือความอ่อนแอ และความเวทนาแก่เด็กหญิงกำพร้าก็เป็นเครื่องประกอบอำนาจเป็นอย่างดี นายอรุณจึงหักห้ามความกำสรดได้บ้าง รับเอาสุนทรีมาเลี้ยงแทนธิดาที่หาชีวิตไม่แล้ว ให้สุนทรีเป็นที่รับความรักแทนเด็กนั้น และให้ตัวเองเป็นผู้ให้ความรักแก่สุนทรี แทนมารดาของสุนทรีที่ไม่มีวาสนาได้อยู่รักลูก
และนายอรุณนั้น นอกจากจะรักลูกหญิงบุญธรรมเกือบเท่าเทียมกับที่รักลูกชายในอุทรแล้ว ยังรักอย่างรักเป็นเสียด้วย กล่าวคือ ตามใจในที่ควรตามใจ บังคับในที่ควรบังคับ สุนทรีจึงได้เป็นหญิงที่มีวิทยะฐานะประดับตัว
ตั้งแต่น้อยจนใหญ่ สุนทรีเรียกนายอรุณว่า ‘นายแม่’ และเรียกคุณเนื่องว่า ‘คุณพ่อ’ อย่างเดียวกับที่ประจิตรเรียก
ในบรรดามนุษย์ที่เป็นหญิง สุนทรีไม่รักใครมากเท่านายอรุณ แต่ในบรรดามนุษย์ที่เป็นชาย สุนทรีมิอาจข่มใจให้รักคุณเนื่องได้ เท่ากับที่รักบิดาบังเกิดเกล้าของหล่อนเอง
แต่สุนทรีรู้ว่า เมื่อหล่อนยังเป็นเด็กน้อยอยู่นั้น คุณเนื่องพอใจอุ้มชู เล่นหัว ทะนุถนอมหล่อนมากกว่าที่เคยทำต่อประจิตร ตลอดจนเมื่อหล่อนโตเป็นสาวแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าคุณเนื่องพะนอประจิตรยิ่งไปว่าที่พะนอสุนทรี
เพราะเหตุนี้ สุนทรีจึงรู้สึกตัวว่าเป็นลูกหนี้บุญคุณต่อคุณเนื่อง อย่างที่ไม่มีโอกาสจะทดแทนให้คุ้มค่าได้
และด้วยเหตุนี้ สุนทรีจึงเป็นผู้พร้อมที่จะทำทุกๆ สิ่ง เพื่อประโยชน์และความเจริญแห่งบุตรชายของคุณเนื่อง
เมื่อนายอรุณยังมีชีวิตอยู่ และสุนทรีเติบโตเป็นสาวแล้ว นายอรุณได้จ่ายเงินให้แก่สุนทรีเดือนละ ๑๕ บาท แต่สุนทรีมีโอกาสที่จะใช้เงินจำนวนนี้น้อยที่สุด เพราะเหตุว่าหล่อนมิรู้ที่จะใช้ไปในทางใด การบริโภคของหล่อนทุกมื้ออยู่ในรายจ่ายของบ้านแล้ว ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือก็เช่นเดียวกัน ส่วนเครื่องแต่งตัวและเครื่องสำอาง นายอรุณเป็นหญิงช่างแต่งตัว และเมื่อตัวเองแต่งเท่าใด ก็จัดให้สุนทรีได้แต่งไม่น้อยกว่านั้น แม้แต่จะซื้อผ้าตัดเสื้อสักชิ้นน้ำอบสักขวดก็ไม่เว้นที่จะเรียกร้องให้บุตรบุญธรรมเลือกด้วยซื้อด้วยสำหรับตัวของหล่อนเอง
เมื่อสุนทรีอยากได้สิ่งใดเป็นพิเศษนอกไปจากนี้ จะเป็นสิ่งที่ราคาน้อย หรือเป็นสิ่งที่ราคามาก หล่อนก็เอ่ยปากขอเอาง่ายๆ “นายแม่คะ หนูอยากได้นั่น” “นายแม่คะ ซื้อนี่ให้หนูนะคะ” ครั้นขอแล้วนายอรุณพอใจจะให้ก็ให้ ไม่พอใจก็พูดว่า “อย่าเอาเลยลูก ของเรามีแล้ว” หรือ “อย่าเลยลูก มันแพงนัก” สุนทรีก็มิได้คิดที่จะเก็บเอามาน้อยอกน้อยใจ
นายอรุณถึงแก่กรรมเมื่อสุนทรีมีอายุ ๒๒ ปีเศษ และประจิตรกลับจากยุโรปได้ ๓-๔ เดือน แต่นั้นสุนทรีก็ได้เป็นแม่บ้านให้คุณเนื่อง เป็นผู้ถือกุญแจตู้นิรภัย ที่เก็บหนังสือสำคัญและเงินสดเท่าที่คุณเนื่องหามาได้ และยังไม่นำไปส่งธนาคาร หรือที่คุณเนื่องถอนจากธนาคารเพื่อใช้จ่าย และมีอำนาจเต็มบริบูรณ์ในอันที่จะจ่ายเงินของคุณเนื่อง ตามความเห็นชอบของหล่อน โดยที่เจ้าของเงินไม่เคยซักถามหรือแม้แต่จะมองดูบัญชีที่สุนทรีทำไว้ตามแบบที่นายอรุณเคยทำมาแต่ก่อน
ในตอนนั้นสุนทรีใช้เงินตรงกับคำที่ว่า “ใช้อย่างสนุกมือ” ด้วยความลำพองของผู้อ่อนความคิด และฮึกเหิมในสิทธิที่ตนเพิ่งจะได้เคยรับเป็นครั้งแรก
แต่สุนทรีได้เล็งเห็นขีดขั้น แห่งสิทธิอันแท้จริงของหล่อนภายในเวลาอันไม่ช้านัก
หลังจากที่ได้ทำบุญ ๕๐ วันศพนายอรุณเรียบร้อย คุณเนื่องมีความเห็นว่าสุนทรีร่างกายร่วงโรยไป อันเป็นเพราะเหตุที่หล่อนได้ตรากตรำพยาบาลภรรยาของคุณเนื่องนั่นเอง ประจวบกับบิดาของสุนทรีจะไปเยี่ยมบ้านเก่าของภรรยาที่จันทบุรีพร้อมกันทั้งครอบครัว คุณเนื่องจึงฝากสุนทรีให้ไปตากอากาศกับบิดาของหล่อนด้วย การเดินทางคราวนี้ทำให้สุนทรีเกิดความคิดใหม่ๆ แปลกๆ ขึ้นหลายประการ
นางลม้าย วนศาสตร์โกศล มารดาเลี้ยงของสุนทรีนั้น ถ้าจะว่าด้วยนิสัยก็เป็นบุคคลสามัญ คือมีส่วนดีมากกว่าส่วนชั่ว แต่นางวนศาสตร์ฯ เป็นคนมีลูก ก็เป็นธรรมดาที่ค่อนข้างจะรู้คิด นางวนศาสตร์ฯ ซักถามถึงความเป็นอยู่ของสุนทรีในสมัยเมื่ออยู่กับนายอรุณ แล้วถามต่อไปว่า เมื่อก่อนจะถึงแก่กรรม นายอรุณได้สั่งเสียเพื่อให้สุนทรีได้รับสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นมรดกบ้างหรือไม่ ต่อจากนั้นนางวนศาสตร์ฯ ถามถึงการปกครองบ้านหลังจากที่นายอรุณหาตัวไม่แล้ว เมื่อสุนทรีเล่าให้ฟังโดยละเอียดอย่างภาคภูมิใจ นางวนศาสตร์ฯ ก็ออกอุทานชมเชยด้วยใจจริง “อ้อ ! ดี๊ดี โถ แกก็ ให้เป็นแม่บ้านแทนแม่น่ะแหละ” แต่ในชั่วอึดใจนั้นเอง นางวนศาสตร์ฯ ก็เบือนหน้ามาทางสามี และปรารภด้วยเสียงแสดงความวิตก
“แต่น่ากลัวว่าถึงเวลาคุณเนื่องตายเข้าแล้ว ก็จะเหมือนคราวแม่อรุณ โถ ! เลี้ยงเด็กมาแต่อ้อนแต่ออก จะหาว่ายกอะไรให้เป็นสมบัติสักชิ้นหนึ่งก็ไม่มี ลงท้ายอีตาประจิตรแกก็จะกอบเอาเสียคนเดียว”
คำสนทนาดังกล่าวนี้ ทำให้สุนทรีได้ความคิดในข้อที่ว่า ทรัพย์ของนายอรุณก็ดี ของคุณเนื่องก็ดี หล่อนจะถือเสมือนดังทรัพย์ของหล่อนเองหาถูกไม่
และด้วยเหตุนี้ สุนทรีเมื่อกลับจากตากอากาศแล้วก็เปลี่ยนวิธีการใช้เงินเสียใหม่ ทำบัญชีถี่ถ้วนยิ่งขึ้นและเลิกใช้เงินกองใหญ่ของผู้ปกครองไปในกิจส่วนตัวของหล่อน แต่บัดนั้นมา
เมื่อคุณเนื่องถึงแก่กรรมลง การณ์ก็เป็นไปถูกต้องดังที่นางวนศาสตร์ฯ ทำนายไว้ คือคุณเนื่องมิได้ทำพินัยกรรม ประจิตรก็เป็นผู้รับมรดกตามกฎหมายแต่ผู้เดียว
แต่ทั้งนี้มิได้ทำให้ฐานะและความเป็นอยู่ของสุนทรีเปลี่ยนไปแม้แต่น้อย เพราะเหตุว่าคุณเนื่องได้ตั้งข้อผูกมัดระหว่างบุตรและธิดาบุญธรรมไว้แล้ว คุณเนื่องได้สั่งแก่ประจิตรเมื่อรู้สึกตัวว่าเจ็บหนัก “เลี้ยงน้องให้เหมือนกับที่พ่อกับแม่เคยเลี้ยง” และสั่งสุนทรี “พ่ออยู่หนูเคยทำยังไง พ่อตายแล้วก็ทำอย่างนั้นนะ ยังไงๆ อย่าเห็นน้องเป็นคนอื่น”
คำพูดสองประโยคนี้ เมื่อสุนทรีนึกขึ้นคราวใดก็ให้เสียวปลาบในทรวงอก เกิดความรู้สึกตื้นตันคล้ายกับที่รู้สึกในเมื่อได้ฟังจากปากคุณเนื่องเป็นครั้งแรก....
พอแสงแดดลับจากยอดไม้ ถึงเวลาโพล้เพล้ สุนทรีกำลังนึกว่าหล่อนได้นั่งอยู่เปล่ามานานพอควรแล้ว เตรียมตัวจะขึ้นตึกเพื่อหางานทำด้วยมือหรือด้วยสมองอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็พอดีได้ยินเสียงรถแล่นเข้ามาในบ้าน สุนทรีแน่ใจว่าประจิตรกำลังมาถึง ก็บอกกับตัวเองว่า....
“ต้องไม่ลืมเตือนเรื่องลูกสาวหลวงประเสริฐฯ”
สุนทรีมาพบประจิตรอยู่กับนายอนุชาติ และนายแสงที่ในห้องรับแขก กำลังพูดกันอยู่อย่างที่ไม่น่าจะมีผู้หนึ่งจับความได้ทัน อนุชาติเป็นผู้หยุดพูดก่อนเมื่อเห็นสุนทรี แล้วเขาเดินมาหาหล่อนตรงกลางห้อง นายแสงกับประจิตรยังพูดกันต่อไปอีก ๒-๓ คำ ภายหลังประจิตรถอยหลังไปทิ้งตัวลงบนเก้าอี้ในท่าประจำของเขา นายแสงจึงมายืนคู่กับอนุชาติตรงหน้าสุนทรี
“หมู่นี้ไม่ค่อยได้พบคุณเลย” นายแสงกล่าว
“ก็คุณหายไปไม่มาที่นี่ก็ไม่ได้พบน่ะซี” สุนทรีตอบเป็นเชิงพ้อกลายๆ “รับประทานข้าวด้วยกันไหม? นานๆ พบกันทีหนึ่ง คุยกันเสียให้พอ คุณอนุชาติด้วยนะคะ”
“แหม ! เสียใจ” สองสหายตอบพร้อมกัน ทั้งผู้พูดผู้ฟังจึงต่างหัวเราะ แล้วอนุชาติต่อ “จะต้องไปรับประทานกับเพื่อน เขาขึ้นบ้านใหม่”
“อ้าว ! แล้วกัน อยู่ไม่ได้ทั้งสองคนหรือคะ?” เขาก้มศีรษะรับทั้งคู่ หล่อนก็ปรารภสืบไป “ไม่อยากเชียว แหม ! วันนี้ดิฉันว้างว่าง อยากคุยอะไรๆ กับใครๆ ให้สนุก”
“ไปด้วยกันกับผมไหมล่ะครับ?” อนุชาติถาม
“ขอบคุณ” สุนทรีตอบพลางหัวเราะ “อยู่ดีๆ เขาไม่ได้เชิญจะไปยังไง?”
“เป็นไรไป คุณเป็นแขกของผมอีกต่อหนึ่ง มันไม่ได้เชิญเป็นพิธีรีตองอะไร บอกๆ กันไปทั่วๆ ตามเพื่อนฝูง”
“อาจจะมีแขกตั้ง ๓๐๐ หรือมีสัก ๕ คนก็ได้” นายแสงต่อ
“เออ ! เข้าที” หญิงสาวว่า “แหม ! เลี้ยงแบบนั้นเขาทำวิธีไหนนะ? ดิฉันละยอมแพ้เทียว”
“แบบหาเหล้าไว้เยอะเท่านั้นแหละครับ มีเหล้าไว้ให้พอเป็นใช้ได้”
“เหล้าไม่พอก็เอาที่ร้านเจ๊ก เดินสามก้าวถึง” นายแสงต่อตามเคย “ถ้าเหลือคืนได้”
“ใครคะ เจ้าของบ้านน่ะ ถามได้ไหม?”
อนุชาติบอกนามสหาย และเล่าประวัติประกอบด้วยเล็กน้อย แต่ก็ไม่ช่วยให้สุนทรีสว่างขึ้นกว่าเดิม เพราะหล่อนไม่เคยรู้จักหรือได้ยินเรื่องราวของเขาผู้นั้นมาก่อน แต่หล่อนได้ทราบว่าเขาเป็นเพื่อนกับประจิตรด้วย จึงหันไปถามเขาผู้นี้
“แล้วเธอไม่ไปสนุกกับเขามั่งหรอกหรือ?”
“ขี้เกียจ” ประจิตรตอบสั้นๆ พร้อมกับสั่นศีรษะ
อนุชาติกับนายแสงกล่าวคำอำลา สุนทรีก็ร้องอย่างตกใจ
“อะไรจะไปแล้วล่ะ ! ยังไม่ทันได้ดื่มอะไรสักนิด ยังไม่ได้เชิญให้นั่งด้วยซ้ำไป มัวแต่พูดเพลิน”
“ถึงเชิญก็นั่งไม่ได้ครับ จะต้องรีบกลับไปอาบน้ำอาบท่า เขาบอกให้ไปทุ่มหนึ่ง ป่านนี้มิเกือบทุ่มเข้าไปแล้วหรือ”
“ยังงั้นก็ตามใจ” สุนทรีตอบ แล้วเสริมเมื่อทั้งสองทำกิริยาอำลาหล่อน “แล้วอย่าหายเงียบไม่เยี่ยมไม่กรายให้นานเหมือนคราวนี้อีกนะคะ เดี๋ยวจะกลายเป็นคนไม่รู้จักกัน”
“อ๋อ ข้อนั้นรับรองเป็นไปไม่ได้เป็นอันขาด นอกจากผมจะวิกลจริตเสียเท่านั้น” พูดแล้วอนุชาติก็ออกประตูไปพร้อมกับนายแสง
สุนทรีเดินช้าๆ เข้ามาใกล้ประจิตรพลางถามว่า
“เป็นยังไงจ๊ะ?”
ประจิตรไม่ตอบ มีความหมกมุ่นอยู่ในใจและยังคร้านที่จะพูด ฝ่ายสุนทรีก็มีเรื่องใจจ่ออยู่ และไม่อยากจะโอ้เอ้ชักช้า จึงพูดสืบไปทันที
“เรื่องตาประพันธ์ไปถึงไหนแล้ว? ฉันทายว่าต่อจากวันที่พูดกับฉันแล้วเธอก็คงลืมเสียสนิทตามเคย....”
สุนทรีชะงัก ด้วยประจิตรขยับตัวโดยแรงและร้องจุ๊ย ! พร้อมกับเบือนหน้าไปเสียทางหนึ่ง แต่ครั้นแล้วหล่อนมองไม่เห็นเหตุที่เขาควรโกรธ จึงไม่ถือสา พูดเรื่อยต่อไป
“ฉันเองก็วิเศษไม่น้อย ลืมเสียสนิทเหมือนกัน เธอพบหลวงเจนฯ ของเธออีกหรือเปล่า หรือพบแล้วมัวแต่เพลินไปเสียทางหนึ่ง”
เสียงจุ๊ย ! จากประจิตรเป็นครั้งที่สอง ตัวเขาก็ผุดลุกจากที่นั่ง “พอจะนั่งสบายๆ ใจหน่อยก็เกิดจะต้องมาพูดเรื่องบ้าๆ”
สุนทรีรู้สึกโลหิตฉีดปร๊าดขึ้นสมองโดยแรง แต่การรักษากิริยาภายนอกเป็นสิ่งที่หล่อนทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจนชำนาญอย่างยิ่ง ลักษณะความโกรธจึงปรากฏแต่ที่แววตา หล่อนพูดว่า
“ขอโทษ ไม่ต้องลุกไปหรอก เชิญนั่งให้สบายเถอะ ฉันจะไปเอง”
หล่อนหันหลังให้ เดินออกประตูไป ประจิตรก็กลับลงนั่งดังเก่า ที่เขี่ยบุหรี่วางอยู่ใกล้มือ เขายกขึ้นแล้วก็วางแล้วก็ยกขึ้นอีก แล้วก็วางอีก ใจสั่นด้วยความที่อยากขว้างปังลงไปให้แหลกละเอียดอยู่ตรงกลางห้อง ในที่สุดก็ยกขึ้นอีกจนได้ หมายตาดีแล้วก็เหวี่ยงไปตกดังตุ้บอยู่บนเก้าอี้นวมตัวหนึ่ง
“....คนหนึ่งกำลังหัวเสียก็ชอบมาตอแย....”
“....ผู้หญิงที่ไหนๆ เขาก็ต้องรู้....ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ไหนเขาก็ต้อสอน.....ผู้ชายกลับมาเหนื่อยๆ อย่าเพ่อกวน....”
“ธรรมเนียมคนไป....ยุ่งอะไรที่ไหนมา มันก็ต้องหันหน้ามาปรับทุกข์กับคนที่บ้าน นี่กลับต้องมาฟัง....”
แล้วประจิตรก็ตั้งความสงสารแก่ตัวเอง ประดุจว่าตนกำลังได้รับความทุกข์ ควรที่ชนทั้งหลายจะสงสารอย่างที่สุด พร้อมกับคิดน้อยใจสุนทรีเป็นอย่างยิ่ง
ความเหนื่อยของประจิตร เกิดจากที่เล่นเทนนิสประเภทเดี่ยวแข่งขันชิงถ้วยของสโมสร ความ ‘ยุ่งอะไร’ เกิดจากที่เขาได้หวังไว้เป็นอย่างมาก ว่าจะได้เข้าแข่งขันรอบสุดท้าย ซึ่งถึงตนจะไม่ชนะ ก็จะไม่เสียใจ แต่วันนี้ประจิตรได้แพ้แก่ปรปักษ์เสียก่อนแล้ว ก็เป็นอันว่าเขาหมดสิทธิที่จะได้เข้าแข่งขันอีก
บัดนี้ นอกจากโกรธสุนทรีในข้อที่กล่าวความอันเป็นเครื่องรกแก่ใจ ประจิตรเริ่มโกรธตัวเองในข้อที่ได้แสดงความโกรธให้สุนทรีเห็น ความโกรธประการหลังนี้ทำความเดือดร้อนให้แก่ประจิตรมากที่สุดจนเขานั่งนิ่งอยู่ไม่ได้ ก็ลุกจากที่เดินลงส้นขึ้นไปบนตึก เพื่อจะอาบน้ำและแต่งตัวออกไปหาเครื่องแก้รำคาญนอกบ้าน
เมื่อได้ยินเสียงรองเท้าประจิตรกระแทกพื้นกระดาน สุนทรีรู้สึกคล้ายกับว่า รองเท้ากระแทกอยู่ในอกของหล่อน ความโกรธที่เริ่มซาลงก็กลับขึ้นอีกโดยเร็ว
“ไอ้พรรค์นี้ซีที่เกือบทำให้อยู่ด้วยกันไม่ได้เสียหลายหนแล้ว”
สุนทรีย้อนคิดถึงสิทธิ์ อิสรภาพของความเป็นไทแก่ตัวที่หล่อนมีอยู่โดยสมบูรณ์....
“ถ้าไม่มีเจ้าพวกนี้เป็นประกัน....”
“ถ้าลองนึกเชื่อสักนิดว่าดูถูก....”
เสียงฝีเท้าประจิตรลงบันได สุนทรีรู้ว่าเขาแต่งตัวเสร็จ บัดนี้เขาจะขึ้นรถออกไปนอกบ้าน ไปหาความสำราญที่อื่น ทันใดนั้นหล่อนรู้สึกเศร้าและน้อยใจ ดูรึ ! วันนี้เป็นวันที่หล่อนชื่นบานมาก มีความสนุกเตรียมอยู่แล้วในอารมณ์ และอยากได้ผู้ที่จะร่วมพูดร่วมคุย ร่วมเที่ยวหาความสนุกภายนอกให้สมกับความสนุกภายใน เขาผู้นั้นกลับพาลหาเหตุขัดใจกับหล่อน แล้วก็ไปเสีย ทิ้งหล่อนให้อ้างว้างอยู่ในบ้านแต่ผู้เดียว....
คืนนี้ สุนทรีรับประทานอาหารล่าช้ากว่าที่เคยเกือบชั่วโมง ขณะเมื่อลงนั่งที่โต๊ะ หล่อนคิดว่าจะกลืนอาหารไม่ลงเพราะความหงุดหงิดในใจยังไม่ถอย แต่ร่างกายที่สมบูรณ์เช่นร่างกายสุนทรีนั้น ย่อมจะไม่ตกเป็นทาสแก่อารมณ์จนเกินไปนัก สุนทรีจึงยังคงรู้สึกเอร็ดอร่อยในรสอาหาร และรับประทานได้ไม่น้อยกว่าที่เคย
พ้นเวลารับประทานอาหารแล้ว สุนทรีเดินวนเวียนอยู่ในห้อง และคิดวนเวียนอยู่ในเรื่องประจิตรพักใหญ่ จนเบื่อคิดแล้วก็นั่งลงอ่านหนังสือ มิช้าก็เพลินไปในรสแห่งเรื่องที่อ่านอยู่นั้น เมื่อนาฬิกาตีบอกเวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา สุนทรีลุกขึ้นเตรียมตัวจะเข้านอน ใจก็แล่นไปเกาะเกี่ยวที่ประจิตรอีก คะนึงนึกว่าเขาจะกลับบ้านสักกี่ทุ่ม หรือว่าเขาจะไม่กลับเสียเลยตลอดคืนนี้ นึกดังนั้นแล้วก็กังวลและกลุ้ม แต่เมื่อศีรษะถึงหมอน ร่างกายทอดยาวอยู่บนฟูกอันอ่อนนุ่ม ลมพัดเข้ามาทางหน้าต่างเรื่อยๆ ลอดผ้าโปร่งเข้ามาต้องตัวทำให้เกิดความสบาย สุนทรีก็หลับลงอย่างสนิทในไม่ช้า