สุนทรีได้นัดไว้กับหลวงชาญฯ ในตอนกลางคืนว่า รุ่งเช้าจะไป ‘ทำความประหลาดใจ’ ให้แก่นายเทียมและภรรยาของเขาที่บ้านใหม่

สุทัศน์เป็นผู้ที่ไม่รู้จักนายเทียมกับนางอรุณมาก่อน แต่เผอิญหลวงชาญฯ และสุนทรีก็จะต้องอาศัยสุทัศน์นั่นเองเป็นผู้นำทาง เพราะสุทัศน์มีเพื่อนคนหนึ่งมาพักอยู่ในที่ติดกับบ้านที่ปลูกเสร็จใหม่ สุทัศน์เคยไปเยี่ยมเพื่อนของเขาครั้งหนึ่งก็จำบ้านปลูกใหม่นั้นได้

การรับประทานอาหารเช้า มิได้มีอยู่ในโปรแกรมที่กะไว้ในตอนกลางคืน แต่สุนทรีก็เตรียมอาหารเอาไว้พร้อม

หลวงชาญฯ บ่นพึมพำว่าไม่เคยรับประทานอาหารในเวลาเช้าเช่นนี้ แต่ในที่สุดก็รับประทานไส้กรอกหมดไปสองท่อนรวมทั้งขนมปังอีกสองแผ่น กับกาแฟและผลไม้ สุทัศน์ไม่ออดแอดว่ากระไรทั้งสิ้น พอสุนทรีออกปากเชิญก็นั่งลงยังที่ และรับประทานอาหารที่มีอยู่ครบทุกสิ่ง

เมื่อเสร็จแล้ว เขาทั้งสามก็ออกเดิน

เวลานั้นยังเช้ามาก มีแสงแดดเพียงอ่อนๆ อากาศกำลังเย็นสบาย

เขาทั้งสามเดินไปเงียบๆ เป็นพักใหญ่ แล้วหลวงชาญฯ จึงเป็นผู้เริ่มการสนทนา โดยเอ่ยถึงถ้ำพระยานครซึ่งเขาเคยได้ข่าวว่าเป็นถ้ำที่งดงามมาก

“เราคิดอ่านไปเที่ยวกันสักวันหนึ่งเอาไหมคะ?” สุนทรีว่า “ไปเรือใบ ดิฉันชอบนั่งเรือใบเป็นที่หนึ่งสนุกกว่าเรือไฟเรือยนต์เยอะ”

“ไปก็ไป” หลวงชาญฯ ตอบ “แต่ไปเรือใบคุณไม่กลัวหรือ? เคราะห์หามยามร้ายล่มได้ง่ายๆ นะ”

“ถ้าถึงคราว นอนอยู่ในมุ้งก็ตายได้” สุนทรีตอบ “คนนั่งอยู่ในห้องยังถูกรถชน จำได้ไหมคะ หนังสือพิมพ์ลงเมื่อเร็วๆ นี้เอง”

“แต่ถ้าเผื่อเราต้องค้างคืนจะทำยังไง ถ้ำนครอยู่ไกลจากเมืองปราณไปอีก ถ้าไปแล้วไม่มีลมละก็กลับมาไม่ถึงจริงๆ”

“ค้างคืนก็นอนในเรือใบซีคะ”

“เผื่อโดนฝน?”

“ตายจริง !” หญิงสาวอุทาน “คุณหลวงคิดเผื่อแต่ในทางร้ายทั้งนั้น ก็เผื่อเสียว่าพอเรือออกไปได้หน่อยเสาใบก็หักก็แล้วกัน จะได้ไม่ต้องไปกันเลย”

สุทัศน์ปล่อยหัวเราะออกมาด้วยเสียงอันดัง เพราะความที่นึกขันจริงๆ หลวงชาญฯ เป็นแต่ยิ้มแล้วตอบว่า

“ถ้าไปตามลำพังผู้ชายผมไม่กังวลอะไรหรอก แต่อย่างคุณ....โถ !....”

“ถ้าคุณหลวงได้เดินทางไปไหนกับดิฉันสักที จะเห็นว่าดิฉันไม่ใช่คนงอแง”

ทันใดนั้นเอง สุนทรีนึกถึงหญิงสาวที่ชื่อว่างามพิศ มิใช่แต่เพียงนึกถึง นึกคิดถึง อยากจะเห็นงามพิศมาอยู่ตรงหน้า แล้วหล่อนได้ยินสุทัศน์พูดขึ้น

“ถ้ำนครเป็นที่น่าเที่ยวจริงๆ เพราะเป็นที่สบายกว่าถ้ำอื่นๆ”

หล่อนเงยหน้าขึ้นมองดูเขาแล้วถาม

“คุณสุทัศน์เคยไปเห็นแล้วหรือคะ?”

“เห็นแล้ว แต่ผมไปจากปราณ ไปเรือใบหาปลานิดเดียว ขาไปสองชั่วโมงถึง ขามาเล่นเสียสี่ชั่วโมง”

“ที่ว่าสบายกว่าถ้ำอื่นน่ะคือยังไงคะ?”

“เพราะถ้านครเป็นถ้ำใหญ่ โปร่งมาก เมื่อเข้าไปถึงแล้วมีอากาศหายใจพอกับที่เหนื่อย แต่อย่างถ้ำอื่นๆ ที่ผมเห็นมาโดยมาก มักจะแคบ เตี้ย มีกลิ่นเหม็นอับๆ เหม็นขี้ค้างคาว เข้าไปแล้วเราไม่นึกอยากจะนั่งอยู่นานหายใจไม่ออก”

สุนทรีเคยมีความคิด ซึ่งหล่อนเองก็ไม่ทราบแน่ว่าเป็นความคิดอันเกิดจากเหตุใด ว่าสุทัศน์นั้นเป็นบุคคลชนิด ‘เด็กฝรั่ง’ มิใช่ชนิดหนุ่มไทยหรือผู้ใหญ่ไทย หล่อนเชื่อว่าเขาอาจจะมีความประพฤติดี ตั้งอยู่ในศีลธรรมต้องตามแบบแผนของชาวตะวันตก แต่เขาจะ ‘งง’ ต่อชีวิตอันแท้จริงแห่งบรรพบุรุษของเขา หล่อนประมาทเขาว่าเขาคงจะเป็นชายจำพวกที่ ‘ลืมชาติ’ ที่สำคัญว่ากรุงเทพพระมหานครคืออาณาจักรสยาม และอาณาจักรสยามคือกรุงเทพพระมหานคร โดยนัยนี้ก็ไม่สนใจในการที่จะเห็นท้องถิ่นชนบทนอกไปจากนครหลวง อาศัยความคิดข้อนี้เอง สุนทรีจึงถามสุทัศน์ด้วยน้ำเสียงมีกังวานหัวเราะเจืออยู่ด้วยมาก

“เคยเที่ยวถ้ำอะไรมามั่งแล้วคะ?”

“หลายถ้ำ” ฝ่ายเขาตอบโดยซื่อ “ราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี ทางชายฝั่งทะเลตะวันออกก็อีก ยังขาดอยู่แต่ทางเหนือ คิดว่าปีนี้จะพยายามไปเชียงใหม่”

หล่อนเงยหน้าขึ้นมองดูเขาด้วยความประหลาดใจ แต่สุทัศน์มิได้มองมาทางหล่อน สายตาของเขามองไปยังทางเดินตรงหน้า เขาพูดต่อไปอีก

“ทะเลทางตะวันออกมีที่งามๆ หลายแห่ง ตามเกาะอย่างเกาะพร้าว เกาะไม้ซี้ หาดทรายงามกว่าที่นี่หลายเท่า แล้วน้ำใสแจ๋ว เวลาจอดเรือทิ้งสมอลงไป เรามองเห็นสมอเห็นสายสมอว่ามันทำท่ายังไงมั่ง บางแห่งน้ำตื้นหน่อย มองเห็นก้นทะเลได้ถนัด เป็นเงาใต้น้ำสีต่างๆ เห็นปลาว่ายตามซอกหิน” มองข้ามสุนทรีไปที่หลวงชาญฯ “ผมอ่านพระราชนิพนธ์อิเหนา พบตอนชมทะเลซึ่งกล่าวไว้เหมือนมาก มีคำว่าหินปะการังสีเหมือนมรกตเหมือนลงยา พยายามท่องหลายเที่ยวแต่จำไม่ได้”

สุนทรีเห็นสุทัศน์เป็นคนแปลกยิ่งขึ้น หลวงชาญฯ พูดแกมหัวเราะ

“ข้างผมก็ดีแต่จำกลอน ของจริงไม่เคยเห็น”

“จำตรงที่ผมว่าได้ไหมล่ะ?”

“ได้ ชี้ชมศิลาปะการัง ที่เขียวดังมรกตสดสี ที่ลายก็คล้ายราชาวดี แดงเหลืองเลื่อมสีดังโมรา”

“ถูกแล้ว” สุทัศน์กล่าวอย่างพอใจ “ตรงนี้แหละเหมือนกับที่ผมเห็นมาแล้วไม่มีผิด แต่ขาดพระอาทิตย์ขึ้นไป บางทีจะเห็นกันคนละเวลา”

“ตามปกตินักเขียนเก่าๆ ดูเหมือนจะไม่ค่อยบรรยายความงามของพระอาทิตย์ตกหรือพระอาทิตย์ขึ้นหรอกค่ะ มักจะกล่าวแต่เรื่องแดด อย่างพระพุทธเลิศหล้า ทรงเรื่องแสงจันทร์หยดย้อยนัก แต่ไม่เห็นเคยทรงตอนพระอาทิตย์ตกพระอาทิตย์ขึ้นสักที”

ไม่มีใครออกความเห็นว่ากระไรอีก ความเงียบจึงเกิดขึ้นครู่หนึ่ง แล้วภายหลังสุนทรีจึงเอ่ยถามขึ้นว่า

“ทางที่จะไปถ้ำนครคลื่นใหญ่มากไหมคะ?”

“ก็มากอยู่”

“อาจจะถึงเมาไหมคะ?”

“อ๋อ เรื่องเมาวัดกันด้วยลูกคลื่นไม่ได้ แล้วแต่คน ผมเป็นคนเมายาก”

“เคยเมาคนไหม คุณน่ะ?” หลวงชาญฯ ถาม

“เห็นคนมากแล้วเวียนหัวยังงั้นหรือ?”

“ไม่ใช่ เห็นคนเดียวแล้วเมาคนที่เห็นนั่นแหละ”

สุทัศน์นึกรู้ว่าหลวงชาญฯ ตั้งต้นจะ ‘ขับ’ ตนแล้ว พอใจครึ่งๆ กระดากครึ่งๆ เขาย้อนถามว่า

“ก็คุณหลวงล่ะ?”

“ผมก็เมาเมียผมน่ะซี”

“ดิฉันฟังอยู่นานแล้ว ยังไม่เข้าใจว่าเมาคนนี้เป็นอย่างไร”

“ก็เป็นโรคเห็นคนๆ เดียว คิดถึงคนๆ เดียวไม่ว่าจะไปไหน ทำอะไร ใจมันก็วิ่งไปหาเขาคนนั้นแหละ”

สุนทรีปรารภอยู่ในใจว่า ประจิตรอาจจะ ‘เมา’ ภรรยาเก็บของเขา ได้ถึงเพียงนั้นหรือไม่หนอ แล้วหล่อนถามขึ้นว่า

“ผู้ชายอาจจะเมาได้มากถึงเพียงนั้นเทียวหรือคะ?”

“เมาได้ทั้งผู้หญิงผู้ชายแหละครับ” หลวงชาญฯ ตอบแกมหัวเราะ

อาศัยเหตุผลที่ได้จากความรู้สึกของตน สุนทรีจึงพูดว่า

“สำหรับผู้หญิงดิฉันยังสงสัย”

“คุณเห็นจะยังไม่เคยเมาอย่างนั้นเลย?” สุทัศน์ถาม

“ในชีวิตยังไม่เคยเลยค่ะ แม้แต่เพียงมึนก็ยังไม่เคย”

แล้วหล่อนยิ้ม และมองดูเขาด้วยสายตาอันหวานคมของหล่อน พลางพูดว่า

“จะย้อนถามมั่งก็จะว่าละลาบละล้วง”

สุทัศน์รู้สึกว่าเขาไม่เกลียดสิ่งใดในโลก เท่ากับเกลียดสายตาของสุนทรีในขณะที่หล่อนยิ้ม จึงตอบด้วยเสียงค่อนข้างแข็ง

“อย่าถามเลย ป่วยการ ผมไม่เคยเมาใคร”

ในทันทีที่พูดไปแล้ว เขารู้ตัวว่าเขาปดหล่อนและปดตัวเขาเองด้วย และรู้อีกว่าปดโดยเสียประโยชน์ หาใช่ได้ประโยชน์มิได้ จึงกล่าวแก้โดยอาศัยปฏิภาณ

“ผมไม่ยอมเชื่อว่ารักกับเมาเป็นอันเดียวกัน”

หลวงชาญฯ หัวเราะขึ้นทันทีแล้วว่า

“ไม่เชื่อก็พยายามแบ่งมันออกจากกันไปก่อนเถอะ เมื่อไหร่คุณหายหน้าบาง คุณจะต้องรับเองว่า ไอ้รักก็คือไอ้เมา ไอ้เมาก็คือไอ้รักนั่นเอง”

สุนทรีหันไปทางสุทัศน์ มองสบตาเขาอีก ยิ้มกับเขาอีก แล้วว่า

“อย่าไปเถียงท่านเลยค่ะ ท่านเป็นคนเคย เราเป็นพวกไม่เคยเหมือนกัน”

สุทัศน์จ้องดูดวงตาที่จับตาของเขาอยู่ คิ้วขมวดเข้าหากัน ใจคิดว่า ถ้าแม้เขาสามารถที่จะเชื่อได้แม้เพียง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของคำที่หล่อนกล่าว เขาก็จะเป็นสุขอย่างไม่มีที่เปรียบ...แล้วความคิดอีกข้อหนึ่งก็เกิดขึ้นซ้อนความคิดนี้........เจ้าหล่อนจะได้ทำกิริยาเช่นที่กำลังทำอยู่วันละกี่ร้อยครั้ง เพราะตัวเขาเองเพียงแต่ได้เดินมาด้วยกันกับหล่อน ก็ได้ ‘ถูก’ หล่อนทำกิริยาเช่นนี้ด้วยจนนับครั้งไม่ถ้วนแล้ว ! ....

เขามองไปทางขวา ชี้มือไปทางนั้นพร้อมกับพูดห้วนๆ

“ถึงแล้ว หลังคาแดง หลังเล็กนั่นแหละบ้านใหม่”

สุนทรีมองตามมือเขาแล้วอุทานว่า

“แหม ! ไปอีกสัก ๕ นาทีก็ได้ปีนเขานะคะ มาถึงโดยไม่รู้ตัว เห็นจะเป็นที่เราคุยกันเพลินมาก”

ถึงแม้จะได้พูดเช่นนั้น หล่อนก็สาวเท้าเร็วขึ้น เพราะมีความยินดีที่จะได้เข้าที่ร่มและนั่งพัก หลวงชาญฯ เดินเร็วขึ้นตามหล่อน มีข้าสุทัศน์ก็ตกอยู่เบื้องหลัง

แต่ครั้นเมื่อไปถึงริมรั้วแล้ว มีต้นไม้พอบังแดดได้ หลวงชาญฯ กับสุนทรีก็หยุดเดิน หันกลับมาคอยสุทัศน์ หลวงชาญฯ มองดูแดดแล้วปรารภว่า

“ยังไม่ตื่นกันก็ไม่รู้”

“ถึงคุณเทียมยังไม่ตื่น อรุณก็ตื่นค่ะ แม่ลูกอ่อนตื่นสายไม่ได้หรอก”

แล้วหล่อนหันไปกวักมือเรียกสุทัศน์แล้วว่า

“มาเร็วคุณหมอขา ดิฉันอยากรับประทานน้ำเต็มที”

หันกลับไปทางตัวเรือน ก็เห็นชายคนหนึ่งยื่นมือป้องหน้ามองมาทางหล่อน หล่อนจำเขาได้ในทันที เขาจำหล่อนได้ต่อภายหลัง เพราะแสงแดดทำให้ตาเขาพร่า เมื่อสุนทรีเข้าประตูรั้วไปแล้ว หล่อนเห็นชายที่เป็นเจ้าของบ้านเดินกลับเข้าไปกลางเรือน และตะโกนพูดเข้าภายใน

“คุณสุนทรีกับคุณประจิตรมาแน่ะ หลวงชาญฯ ก็มาด้วย”

สุนทรีหันกลับมามองดูสุทัศน์ เห็นเขาทำหน้าพิกลก็หัวเราะแล้วว่า

“คุณเทียมเดาส่งไปยังงั้นเอง” แล้วหล่อนเสริม “แต่ที่จริง คุณสุทัศน์กับคุณประจิตรรูปร่างขนาดเดียวกันเปี๊ยบเทียวนะคะ ถ้ามีอุปาทานช่วยด้วยละก็เห็นผิดได้ง่ายๆ”

หล่อนวิ่งขึ้นบันไดไปก่อน แล้วกล่าวแก่นายเทียมในทันที

“คุณประจิตรยังอยู่กรุงเทพฯ ค่ะ นั่นคุณสุทัศน์เพื่อนคุณหลวงชาญฯ”

นางอรุณอุ้มลูกหญิงคนสุดท้องออกมาจากห้อง สุนทรีตรงเข้าจับต้องเด็กและปราศรัยกับเพื่อนหญิงไปพลาง ส่วนนายเทียมปราศรัยกับอยู่กับหลวงชาญฯ และสุทัศน์

เมื่อเจ้าของบ้านเรียกน้ำแข็งมาเลี้ยงแขกแล้ว สุนทรีสังเกตเห็นอาหารเช้าตั้งอยู่ตรงที่ริมห้องใกล้เฉลียง จึงว่าแก่เจ้าของบ้านว่า

“รับประทานกันเสียเถอะ ไม่ต้องรับแขกจนเหลือเกินนักหรอก พวกเรารับประทานกันมาแล้ว”

“กินแล้วก็กินอีกเถอะน่ะ” นายเทียมกล่าว “รออีกประเดี๋ยวเดียวก็ได้กิน ให้เขาทอดไข่มาอีก ๓-๔ ใบ”

“อย่าๆ” หลวงชาญฯ ค้าน “เราอิ่มกันมาจากบ้านคุณสุนทรีแล้ว”

นายเทียมลงนั่งที่ แล้วชวนแขกให้นั่งด้วย “หรือจะนั่งบนเก้าอี้ก็ตามใจ” แล้วเขากล่าวคำภาษาอังกฤษเป็นใจความว่า “ทำเหมือนบ้านก็แล้วกัน”

นางอรุณเรียกถ้วยกาแฟมาได้พอกับจำนวนคนแล้ว ก็จัดแจงจะรินกาแฟ แต่ลูกน้อยที่อยู่บนตักเป็นเครื่องกีดขวางทำไม่ได้ถนัด สุนทรีจึงอาสาเป็นผู้ทำแทน

หล่อนถามถึงส่วนแห่งน้ำตาลและนม เมื่อหล่อนปรุงถ้วยของนายเทียม แต่ส่วนถ้วยของหลวงชาญฯ และสุทัศน์นั้น หล่อนใช้ความจำของหล่อนเอง เป็นเครื่องประกอบการปรุง

แล้วหล่อนลุกจากที่นั่ง ยกถ้วยกาแฟสองถ้วยไปข้างชายหนุ่มทั้งสอง ส่งถ้วยที่ถือมือขวาให้นายแพทย์ เขารับแล้วส่งต่อไปให้หลวงชาญฯ หล่อนก็ค้านว่า

“อ้าว ! ผิดถ้วยค่ะ ถ้วยนั้นน้ำตาล ๔ ก้อน สำหรับคุณสุทัศน์ ถ้วยนี้ก้อนเดียว สำหรับคุณหลวงชาญฯ”

“แหม ขอบพระคุณมาก” หลวงชาญฯ กล่าวโดยจริงใจ

สุทัศน์ตอบแต่เพียงว่า

“ขอบคุณ”

นายเทียมรับประทานอาหารเร็วมาก เพราะต้องการจะคุยเรื่องการปลูกบ้านซึ่งเขายังติดใจ มิช้าก็ลุกจากที่ไปเข้าหมู่บุรุษด้วยกัน แล้วก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันถึงเรื่องราคาไม้ แรงงาน คุณภาพของไม้ ฯลฯ จนดูเหมือนจะลืมสตรีสองนาง ที่นั่งอยู่ห่างจากเขาเพียงเล็กน้อย

ข้างฝ่ายสตรี ก็ตัดพ้อกันในข้อที่มีค่อยจะมีโอกาสพบปะกันเสียเลย แล้วอรุณถามถึงเรื่องที่เกี่ยวแก่ตัวสุทัศน์ เป็นต้นว่าเขาเป็นใคร อาชีพอะไร สุนทรีตอบตามที่หล่อนรู้ แล้วถามถึงลูกอีกสามคนของเพื่อน

“ฝากไว้กับคุณอา” นางอรุณตอบ “บ้านช่องยังไม่เรียบร้อย ขี้เกียจเอาแกมา จะต้องเอาคนใช้มาอีกตั้งสองคน ไม่ยังงั้นก็ไม่พอกับแก เสียดายค่ารถ หมู่นี้กำลังเขียมจะเก็บเอาไว้ให้ค่าบ้านเขา”

“โธ่ ! แล้วแกไม่คิดถึงเธอแย่หรือ?”

“ไม่มีวันละ แกติดอาแก ติดพี่น้องแก ก็เอาฝากไว้ที่บ้านคุณชวดนี่”

“อ๋อ อยู่ที่บ้านเจ้าคุณวิจิตรสารการหรือ?”

“นั่นแหละ....อ้อ พูดถึงเรื่องนี้ ! พ่อประจิตรของเธอทำไมถึงไปคว้าเอานางใหญ่เมียหลวงประเสริฐฯ เข้าได้ ทำอีตาผัวตายแล้วยังไปเอาเมียเขาอีก พิเรนทร์จริง !”

“เมียหลวงประเสริฐฯ เมื่อไหร่ น้องแม่คนเมียเขาต่างหาก เขาชื่อลำเจียก”

“ไหน !” อรุณขึ้นเสียงดัง “นังคนที่คุณประจิตรเอาไปโชว์เสมอน่ะหรือ? พิโธ่ ! ยังกับใครเขาไม่รู้จัก ตาข้างซ้ายฉีกไปหน่อยใช่ไหมล่ะ ก็เทียมเขารู้จักมันดีนี่นา อีเด็กนั่นมันเกิดอยู่กับข้างบ้านเขา เมื่อเขากลับจากนอกใหม่ๆ เขายังเคยไปตุกติกกับมันเลย”

“เธอจำผิดไปน่า” สุนทรีค้านอย่างมั่นคง “แม่เขาพามาให้คุณจิตรเอง ตัวเขาชื่อลำเจียก เป็นน้องเมียหลวงประเสริฐฯ คุณจิตรสงสารเพราะตัวทำที่พึ่งของเขาตาย ถึงได้รับเอาไว้”

“เอ๊ย ! ถ้ายังงั้นไม่เธอถูกต้มก็พ่อประจิตรถูกต้มเอง มิน่าล่ะเทียมเขาว่ามันหลบเขา นางลำไยน่ะแกมีลูกสาวสองคนจริง แต่คนที่ชื่อเล็กตายเสียตั้งแต่อายุ ๑๒ นังใหญ่จะเอาน้องผู้หญิงที่ไหนมาอีกล่ะ เธออยากรู้เรื่องละเอียดก็ถามเทียมเขาดูซี พวกนี้เขารู้ประวัติยายลำไยดีทั้งนั้น เมื่อหลวงประเสริฐฯ ได้นังใหญ่แล้ว เช่าบ้านเจ้าคุณตาให้เมียอยู่ ทีหลังพอหลวงประเสริฐฯ ตาย ยายลำไยก็จะอยู่โดยไม่ให้ค่าเช่า เจ้าคุณท่านก็แสนดี ท่านว่าผัวเขาตายใหม่ๆ ผันผ่อนให้อยู่ฟรีไปก่อนสัก ๓ เดือน แต่ทีนี้ได้ ๓ เดือนหมดไปแล้ว แม่ลำไยก็อยู่ไปอีกนาน ค่าเช่าก็ไม่ได้ให้ด้วย ออกจากบ้านก็ไม่ออกด้วย มิหนำซ้ำยังด่าคนเก็บเงินขึ้นพ่อขึ้นแม่เขา แล้วเลยด่าไปถึงเจ้าคุณตา”

สุนทรีนิ่งอึ้งไปด้วยความพิศวง หล่อนเชื่อแน่ว่าประจิตรมิได้กล่าวเท็จต่อหล่อน เขาเป็นคนที่จะไม่กล่าวเท็จแม้เพื่อเหตุใดๆ ถ้ากระนั้นเขาเองเป็นผู้ที่ได้ถูกต้มอย่างซึ่งๆ หน้า !

ตลอดเช้าวันนั้น สุนทรีได้ปล่อยใจให้คิดถึงเรื่องราวของประจิตรมากกว่าวันใดๆ นับตั้งแต่หล่อนได้มาพักอยู่ที่หัวหิน คิดเคืองเขามากที่สุดในข้อที่ว่า มิเสียแรงที่เป็นผู้ชายอิสระ ได้เรียนรู้ทางโลกตามความต้องการทุกทาง ช่างปล่อยให้หญิงแก่คนหนึ่งต้มเล่นจนสุกได้ง่ายๆ

หล่อนปรารภว่า หล่อนควรจะบอกให้ประจิตรทราบความจริง หรือจะทำไม่รู้ไม่เห็น ปล่อยให้เรื่องเลยไปตามเลย สุนทรีเกลียดการทำลายความสุขของเพื่อนมนุษย์ แต่เมื่อคิดถึงว่าประจิตรจะอยู่ร่วมกับหญิงลวงโลกไปอีกมิรู้ว่านานเท่าใด ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เหลือความทนทานของหล่อน

ในตอนบ่ายสุนทรีได้รับจดหมายฉบับหนึ่ง จ่าหน้าซองด้วยลายมือของผู้ที่หล่อนรำพึงถึงมาตลอดวัน สุนทรีดีใจและสนเท่ หล่อนรู้ว่าประจิตรเป็นผู้เกลียดการเขียนจดหมายเป็นอย่างที่สุด การที่เขาเขียนจดหมายถึงหล่อนนี้ ต้องนับว่าเป็นเหตุการที่ใหม่และแปลกเป็นอย่างยิ่ง

แต่เมื่อสุนทรีฉีกซองแล้ว ก็เห็นซองชั้นที่สองปรากฏอยู่ภายใน ลายมือบนหลังซองนี้เป็นลายมือที่แปลกตาหล่อน

ฉีกซองชั้นที่สองอีก จึงพบจดหมายอันมีข้อความดังต่อไปนี้

เรียนคุณที่รักและเคารพอย่างสูง ตั้งแต่วันที่ดิฉันต้องแยกทางกับคุณแล้ว ดิฉันก็คิดถึงคุณทุกวันระลึกถึงพระเดชพระคุณของคุณมิได้ขาด นึกจะเขียนจดหมายถึงคุณไม่ทราบว่ากี่ร้อยหน แต่ก็ไม่กล้าเขียน กลัวคุณจะว่าดิฉันอาจเอื้อม ดิฉันจำได้ว่า คุณสั่งดิฉันไว้เมื่อวันที่นั่งคอยดูจระเข้ที่บนเขา ว่าถ้าดิฉันมีความขัดข้องเกี่ยวแก่การเรียน ก็อนุญาตให้ดิฉันเขียนจดหมายถึงคุณได้ แต่คุณมิได้อนุญาตไว้ด้วยว่าให้ดิฉันเขียนจดหมายถึงคุณได้ เมื่อดิฉันระลึกถึงพระเดชพระคุณของคุณ แต่วันนี้ดิฉันก็บังอาจเขียนมาจนได้ ไม่ทราบว่าอะไรมาบังคับดิฉัน ดิฉันบังคับใจของดิฉันไว้ไม่อยู่แล้ว บางทีจะเป็นเพราะดิฉันรู้สึกว่าจะต้องตายในวันสองวันนี้ ดิฉันจำเป็นต้องเขียนจดหมายมาให้คุณทราบว่าดิฉันขอกราบลา

สุนทรียกมือซ้ายขึ้นกุมอก รู้สึกคล้ายกับว่าลมหายใจจะขาดไปบัดนั้น

ดิฉันเจ็บเป็นไข้รากสาด จวนจะตายเสียหลายหน น่าน้อยใจที่ไม่ตายเสียให้แล้วไป ดิฉันไม่ได้นึกอยากจะหาย แต่หมอเขาแก้ดิฉันไว้รอด ดิฉันหายไข้มาหลายอาทิตย์แล้วแต่ไม่มีแรงเลย ทำงานเข้าหน่อยก็เป็นลม เปลืองข้าวสุกของคุณป้าเข้าไปทุกวัน ดิฉันไม่ทราบจะทำอะไร หมอตรวจก็ว่าไม่มีโรคอะไรทั้งนั้น เป็นแต่เลือดลมไม่ดี คุณป้าท่านว่าดิฉันนอนมากจึงไม่มีแรง ดิฉันพยายามลุกขึ้นทำงานได้ แต่เวลาที่ทำรู้สึกเหมือนใจจะขาด ดิฉันเชื่อว่าดิฉันจะตายในไม่ช้า ไม่มีโอกาสที่จะได้พบเห็นความกรุณาของคุณอีกแล้ว

ดิฉันต้องหยุดเขียนแล้วค่ะ มือสั่นไปหมดขอประทานโทษที่ดิฉันเขียนจดหมายถึงคุณด้วยลายมือหยุกหยิกเช่นนี้ ทั้งสำนวนก็คงบ้าๆ บอๆ

ในท้ายจดหมายมีปัจฉิมลิขิต เป็นใจความว่า

“โปรดกรุณาอย่าให้ใครทราบเป็นอันขาด ว่าดิฉันเขียนจดหมายถึงคุณ เป็นความเป็นความตายของดิฉันเทียวค่ะ”

สุนทรีทอดมือที่ถือจดหมายลงบนตัก นั่งนิ่งอยู่เป็นครู่แล้วก็ลุกขึ้นเดินวนไปมาอยู่ข้างเตียงผ้าใบที่หล่อนเพิ่งลุกขึ้นนั้น ในใจก็คิดอยู่ว่า “ใจดำ ใจดำ เรานี่ใจดำอย่างน่าเกลียด”

ยกจดหมายขึ้นอ่านอีกโดยไม่หยุดเดิน พยายามจะค้นความจริงว่า ผู้เขียนจดหมายมีอาการป่วยด้วยโรคชนิดใดแน่ “แล้วทำยังไงแกถึงจะหายป่วย” หล่อนปรารภในที่สุด “หมอหัวเมืองจะรักษาบ้าๆ บอๆ ยังไงมั่งก็ไม่รู้”

สุนทรีกลับลงนั่งบนเตียงผ้าใบ พยายามรวบรวมความจำเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของงามพิศ เท่าที่หล่อนสังเกตเห็นวันที่หล่อนแวะเยี่ยมงามพิศที่ๆ อยู่ในคราวเที่ยวไทรโยค

คุณป้าปากหวานแต่ไม่น่าไว้ใจ ดูเหมือนช่างตื่นหลายอย่าง เป็นต้นว่าตื่นยศ ตื่นทรัพย์ ตื่นศักดิ์ ทั้งนี้สุนทรีอ่านจากกิริยาที่เห็นนางเชย ‘ลง’ ข้าหลวงเสียราบคาบ และ ‘แป้น’ ต่อหล่อน จนกระทั่งหล่อนไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึง ‘มาก’ ถึงเพียงนั้น แต่ส่วนหลานของคุณนายเชยเอง.....สุนทรีไม่เข้าใจตัวของหล่อนเองว่า เหตุใดจึงเพิกเฉยต่อเด็กที่หล่อนสมเพชเวทนาเป็นหนักหนาได้นานถึงเพียงนี้

สุนทรีผุดลุกจากที่นั่ง ก็ประจัญหน้ากับท่านบิดาผู้ซึ่งกำลังเดินเลี้ยวมาทางมุมห้อง

“อะไรสุนทรีลุกพรวดพราดจะไปไหน?”

สุนทรีเงยหน้าขึ้นมองสบตาท่าน ด้วยเหตุที่ความอัดใจกำลังท่วมอก หล่อนตอบออกไปว่า

“มีเรื่องร้อนใจขึ้นแล้วค่ะ”

พระวนศาสตร์ฯ ชะงักไปอึดใจหนึ่ง แล้วถามขึ้นด้วยเสียงอ้นค่อย

“เจ้าประจิตรอีกหรือ?”

“อุ๊ยไม่ใช่ค่ะ” สุนทรีตอบเร็ว “คนอื่น”

ครั้นแล้ว หล่อนไม่รอให้ท่านถามต่อ รีบพูดสืบไปว่า

“งามพิศค่ะ ลูกของคนที่คุณจิตรขับรถชน แกเขียนจดหมายมาลาตาย”

สีหน้าพระวนศาสตร์ฯ มีอาการยิ้มเกิดขึ้น ท่านตอบว่า

“ถ้าลงเขียนจดหมายมาลาตาย ก็แปลว่าจะไม่ตาย คนที่ตั้งใจจะตายจริงๆ ไม่บอกใครล่วงหน้าหรอก”

“ไม่ใช่ยังงั้นค่ะ” สุนทรีค้านเสียงแหลม “งามพิศเป็นคนไม่มีมารยาเลย ลูกรู้จักแกดี ไม่เชื่อคุณพ่อลองอ่านจดหมายของแกดูซีคะ”

เมื่อเห็นธิดามีอาการตื่นเต้นเป็นที่แปลกตาท่านดังนั้น คุณพระจึงตอบเพื่อเอาใจ

“แกอ่านไปซี พ่อจะฟัง”

แล้วคุณพระก็นั่งลงบนเตียงผ้าใบ

สุนทรีนั่งลงบนพื้นเรือน อ่านจดหมายงามพิศเป็นคำรบสาม เมื่ออ่านจบแล้ว หล่อนเสริมเรื่องความเป็นอยู่ของงามพิศเท่าที่หล่อนเห็นประจักษ์ แล้วก็เงยหน้าขึ้นจ้องดูผู้ฟังเป็นเชิงขอความเห็น

คุณพระวนศาสตร์ฯ พูดว่า

“ไม่ใช่อะไรหรอก หายจากไข้รากสาดแล้วไม่ได้รับการบำรุง อาการไม่ดีอยู่หน่อยจริงๆ จิตใจแกเสียหมดเพราะร่างกายมันอ่อนแอ แบบนี้ถ้าโรคอื่นมาจับนิดเดียวก็ตายกันเท่านั้น”

สีหน้าสุนทรีแสดงความเดือดร้อนยิ่งขึ้น หล่อนร้องว่า

“ตายแล้วยังงั้นทำยังไงล่ะเดี๋ยวแกตายไปจริงๆ”

พระวนศาสตร์ฯ ตอบด้วยเจตนาจะล้อแกมประชด

“ก็แกไปรับมาจัดการบำรุงเสียเองก็แล้วกัน”

ท่านประหลาดใจมาก เมื่อเห็นธิดาตบมือลงกับตัก และกล่าวว่า

“จริงแหละ” แล้วพูดต่อไปเป็นเชิงขออนุญาต “ดิฉันไปรับมาอยู่ที่นี่นะคะ จะไม่เกะกะเลย เพราะแกเป็นเด็กเรียบร้อยที่สุด น่าสงสารจริงๆ”

“ก็ตามใจแกน่ะซี” คุณพระตอบแกมหัวเราะ

ครั้นถึงเวลากลางคืน หลังจากที่ได้รับประทานอาหารได้ฟังนางวนศาสตร์ฯ ปรารภถึงภาระของแม่บ้าน ภาระแห่งการเป็นมารดาของเด็กที่ไม่ยอมนอนกลางวัน รวมทั้งเรื่องโรคภัยไข้เจ็บอีก ๒-๓ ชนิดแล้ว สุนทรีกับสุทัศน์และหลวงชาญฯ ก็ปลีกตัวไปเดินเล่นกันที่ชายหาดตามเคย

ตอนหนึ่ง เมื่อการสนทนาขาดระยะลง โดยที่ชายหนุ่มทั้งสองหยุดพูดเพื่อจะใช้ความคิดไปตามทางแห่งอารมณ์ของเขา สุนทรีผู้ซึ่งยังมีเรื่องงามพิศเต็มอยู่ในสมอง ได้เอ่ยพูดถึงเรื่องนี้ขึ้น

และอาศัยการซักถามแสดงความทึ่งของชายหนุ่มทั้งสองเป็นปัจจัย สุนทรีได้เล่าเรื่องของงามพิศโดยตลอดรวมทั้งความเห็นของพระวนศาสตร์ฯ ในข้อที่เกี่ยวแก่ร่างกายและจิตใจของงามพิศด้วย

“ถูกของคุณพระท่านครับ” สุทัศน์กล่าวเมื่อสุนทรีหยุดพูดแล้ว “ไข้รากสาดถ้าเมื่อหายแล้วไม่บำรุงร่างกายให้ดี อาจจะทิ้งรอยไว้นาน บางทีถึงชั่วชีวิต แล้วผมเชื่อว่ามีคนน้อยคนมองเห็นความสำคัญของการบำรุง ยิ่งหัวโบราณละก็ยิ่งเสร็จเลย”

“คุณพ่อท่านแนะนำให้ดิฉันไปรับแกมารักษาตัวที่นี่” สุนทรีบอก

“ก็ดีนี่ครับ” หลวงชาญฯ ว่า “ได้กุศลดี”

“แต่ดิฉันหนักใจกลัวยายคุณป้าแกจะไม่ให้มา”

“ทำไมล่ะครับ?” หลวงชาญฯ ถามอย่างสนเท่

“ก็ไม่ทราบค่ะ รู้สึกว่าแกเป็นคนๆ ละสมัยกับเรา จะพูดให้แกเข้าใจอะไรไม่ได้สักอย่างเดียว คุณพ่อท่านสอนให้หาของกำนัลไปประจบแกเยอะๆ แต่ดิฉันก็ยังไม่แน่ใจอยู่นั่นเอง อย่างนี้รู้สึกว่าจะต้องขู่ให้แกตื่นว่าหลานแกจะตายจริงๆ แต่แกจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ไม่รู้ เดี๋ยวจะหาว่าดิฉันไม่ใช่มดใช่หมอสักหน่อยไปหลอกลวงจะล่อเอาเด็กของแกมา”

“ถ้าคุณไม่รังเกียจ” สุทัศน์เอ่ยขึ้น “ผมจะอาสาไปเป็นหมอ ขู่ยายแก่ให้คุณ”

“จริงๆ หรือคะ?” สุนทรีถาม ความปิติอย่างจริงใจปรากฏอยู่ในน้ำเสียง

สุทัศน์เห็นว่าเขาไม่จำเป็นจะต้องตอบ ชะโงกหน้าไปดูหลวงชาญฯ แล้วพูดว่า

“คุณหลวงไปด้วยกันไหม? ไปเที่ยวกัน”

สุนทรีอยากจะฉวยข้อมือนายแพทย์มาบีบและสั่นให้สมกับที่หล่อนขอบใจเขา หล่อนพูดด้วยน้ำเสียงแสดงความชื่นบานอย่าง

“แหม ดิฉันดีใจจริง” หันไปทางหลวงชาญฯ “ไปนะคะคุณหลวง วันพุธเราไปกัน รถที่จะมาจากปราณถึงนี่ ๘ นาฬิกาเศษ แล้วจับรถด่วนจากทางโน้น ๑๗ นาฬิกา ๕๐ นาที เราสามเกลอไปช่วยกันขู่คนแก่ด้วยกัน”

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ