“ฉันจะแต่งตัวเธอไปอวดหมอ” สุนทรีกล่าวแก่งามพิศ ในขณะที่เปิดหีบเครื่องเย็บและซื้อม้วนริบบิ้นกลุ่มไหมออกมาวางไว้เป็นกองๆ “หมอจะได้ดีใจว่าคนไข้สดใสขึ้นมากแล้ว”

สุนทรีเลือกได้ริบบิ้นกำมะหยี่สีฟ้าอ่อนอันเป็นสีที่เข้ากับเสื้อที่งามพิศสวมอยู่แล้ว เก็บของที่รื้อออกจากหีบเข้าไว้ยังที่ปิดฝาหีบเสร็จ ก็หันมาทางงามพิศ ปลดคลิบออกเสียจากผมเจ้าหล่อนผู้นี้ ทาบริบบิ้นลงบนศีรษะ ตอนหน้าผูกริบบิ้นเป็นเงื่อนเล็กไว้ใต้ผมตรงท้ายทอย จับผมให้เป็นรูปเหมาะ ดูงาม แล้วสุนทรีถอยห่างออกไปเล็กน้อยพิศดูงานที่ตนทำไว้

“จะแกล้งทำให้หมอตกใจ” สุนทรีพูดอีก หันไปหยิบลิปสติคที่โต๊ะเครื่องแป้งนำมาเขียนปากให้งามพิศ

“เม้มริมฝีปากเข้า” หล่อนบอกพร้อมกับที่ซักมือออกจากปากงามพิศ “ทำยังงี้” เม้มริมฝีปากของหล่อนเอง “อีกหน่อย....เอาละ” หล่อนหัวเราะ “ไปดูกระจกถีเป็นยังไง”

งามพิศเดินไปหน้ากระจกเงา เห็นหน้าของตนเองแล้วก็หันมาพึมพำแก่สุนทรี

“แหม มันแดงนี่คะ”

“ก็จะให้แดงน่ะซี ถึงได้ทา”

“มันแดงมากนี่คะ”

“ไม่มากเลย ฉันจำริมฝีปากของเธอได้ว่าเคยเป็นยังไงริมฝีปากแท้ๆ ของเธอเป็นสีอย่างนี้แหละ แต่เดี๋ยวนี้ไข้มันกินเลือดของเธอเสียหมดต่างหาก”

งามพิศทำหน้าไม่วางใจ สุนทรีก็หัวเราะแล้วว่า

“เธอเสร็จแล้วออกไปนั่งคอยข้างนอกก่อน แล้วอย่าไปทำอะไรกับหน้าอีก อย่างนี้กำลังสวย หมอเห็นแล้วจะดีใจ”

งามพิศออกจากห้องไปที่เฉลียง พบถวิลกับจำนงนั่งเล่นหมากเก็บกันอยู่ งามพิศนึกอายหน้าของตัวเองกลัวเด็กจะเห็นผิดสังเกต แต่เด็กทั้งสองนึกถึงการเล่นมากกว่า ช่วยกันเรียกร้องให้งามพิศเล่นด้วย ถวิลลงแรงถึงกับฉุดมืองามพิศเพื่อจะให้เขาวง

จำนงมีนิสัยเย็นและช่างสนุกคล้ายเด็กผู้ชายที่ใจดี เมื่อเล่นอะไรจะผิดบ้างถูกบ้าง แพ้บ้างชนะบ้างก็คอยแต่หัวเราะอยู่เสมอ แต่ถวิลนั้นใจเป็นเด็กไปกว่าอายุแก่กว่าน้องถึงสองปี ก็ยังหารู้ที่จะ ‘ยอม’ ให้น้องไม่ ถ้าคราวใดเล่นแพ้น้องก็ทำกิริยาตุปัดตุป่อง ขึ้งโกรธ เผอิญฝีมือของถวิลทางหมากเก็บก็อ่อนกว่าฝีมือน้อง ถวิลจึงชอบให้งามพิศเล่นด้วย เพราะงามพิศมักจะหย่อนฝีมือให้ และทำตัวของหล่อนให้แพ้อยู่เสมอ

สุนทรีออกมาจากห้อง เด็กทั้งสองเห็นพี่สาวแต่งตัวก็เกิดความอยากรู้ ครั้นแล้วก็เกิดความอยากตามไปในที่ๆ จะไปด้วย

สุนทรีมองดูเครื่องนุ่งห่มที่น้องแต่งอยู่ เห็นสะอาดเรียบร้อยพอดูได้ ก็ออกปากอนุญาต สั่งให้น้องไปสวมรองเท้า และสั่งให้คนใช้ไปตามจักรยานสามล้อมาเป็นคันที่สอง

แล้วสุนทรีนึกถึงรองเท้าสำหรับงามพิศขึ้นได้ งามพิศไม่มีรองเท้าหุ้มส้นมาด้วยแม้แต่สักคู่ หล่อนบอกสุนทรีตามตรงว่าหล่อนไม่มี เพราะรองเท้าที่เคยใช้เมื่อแต่ก่อนนั้นคับเสียหมดแล้ว

โดยปกติสุนทรีไม่นิยมใช้รองเท้าเตี้ยหรือรองเท้า ‘ครึ่ง’ เว้นแต่ในคราวที่ต้องการความสบาย เหตุฉะนั้น บัดนี้หล่อนจึงมีอยู่แต่เพียงคู่เดียว คือคู่ที่หล่อนสวมอยู่

“ลองใส่รองเท้าส้นสูงมั่งเอาไหม?” หล่อนถามงามพิศ

“ที่จริงใส่รองเท้าแตะก็ได้ แต่มันไม่เหมาะกับเครื่องแต่งตัวของเธอเวลานี้ แต่เท้าเธอกับเท้าฉันจะใส่กันได้หรือไม่ได้ก็ไม่รู้”

หล่อนกลับเข้าในห้อง และเลือกรองเท้าที่ส้นเตี้ยมากที่สุดที่จะเลือกได้ มาให้งามพิศลอง

สุนทรีสูงกว่างามพิศเกือบสามนิ้ว เสื้อของสุนทรีนั้นเหมาะแก่ตัวงามพิศในส่วนใหญ่ ส่วนยาวยาวเกินงามพิศไปทุกตัว แต่รองเท้าของสุนทรี งามพิศใส่ได้พอเหมาะ

“เธอยังจะสูงอีกมาก” สุนทรีกล่าว “เพราะเท้าเธอยาว ไหนลองลุกขึ้นเดินถี”

“เคยใส่รองเท้าส้นสูงมั่งหรือเปล่า?” หล่อนถามเมื่อเห็นท่าทีงามพิศเดิน

“เคยค่ะ” เป็นคำตอบอย่างแน่นแฟ้น “แต่สูงไม่ถึงเท่านี้”

สุนทรียิ้ม “ใส่รองเท้าส้นสูงต้องเดินดันเอว” หล่อนว่า “แล้วต้องเดินทั้งขา อย่าเดินแต่เพียงหัวเข่า ตั้งอกขึ้นให้ตรง”

งามพิศพยายามทำตามคำสั่งสอนนั้น แต่ยังจับวิธีไม่ได้ สุนทรีจึงทำท่าให้ดูประกอบคำอธิบาย

“พยายามยกขาขึ้นทั้งขา แล้ววางทางปลายเท้าลงก่อน ถ้าตัวตั้งตรงไม่ได้ต้องให้หนักไปทางหน้า ใส่เกือกส้นสูงแล้วเดินหนักหลังเป็นน่าเกลียดที่สุด....บีบขาเข้าหน่อย เท้าซ้ายเท้าขวาอย่าห่างกันนัก ตั้งปลายเท้าทั้งสองข้างให้ตรงหน้า”

เสียงของเด็กผู้ชายเล็กๆ ดังขึ้นในที่ใกล้

“แหม วันนี้พี่พิศสวยจัง เสียแต่เดินยังกะการ์ตูน”

สุนทรีนึกขันคำของน้อง แต่เกรงอีกฝ่ายหนึ่งจะอาย จึงหันไปขึงตา

แต่งามพิศหันไปจับแขนเด็กชายเบาๆ และพูดแกมหัวเราะ

“พี่พิศกำลังหัดเดินเกือกส้นสูง”

เสียงกระดิ่งรถจักรยานดังขึ้น เด็กชายเล็กผู้ซึ่งแต่งตัวเสร็จแล้ว อยากจะออกจากบ้านเต็มที ก็ลงมือเร่งพี่สาว

สุนทรีลงจากเรือนแล้วก็สั่งคนใช้ที่นั่งอยู่ตรงหน้าครัวว่า “คุณพระกับคุณผู้หญิงกลับมาละก็เรียนท่านนะว่า ฉันกับน้องๆ ไปรับคุณสุทัศน์ที่สถานี”

ขบวนรถวันนี้สั้นมาก แม้กระนั้นก็ยังยาวไปสำหรับจำนวนผู้โดยสาร

สุทัศน์นั่งมาคนเดียวในรถคันหนึ่ง รถคันนี้เทียบตรงหน้าสถานี เมื่อเขาชะโงกหน้าออกมานอกรถ งามพิศสังเกตเห็นหน้าเขาแดงจัด เห็นจะเป็นที่เขานั่งรถไฟกระทบความร้อนมาตลอดทาง !

“คนไข้ที่กรุงเทพฯ เป็นอย่างไรมั่งคะ?” สุนทรีถามทันทีที่เขาลงจากรถมาใกล้หล่อนแล้ว

“ไม่เป็นไรครับ ขอบคุณ” เขาตอบ “หมอที่ผมฝากไว้ตกใจมากไปหน่อย เขากลัวว่าถ้าพลาดพลั้งไปเขาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ”

“ยังงั้นดูคนไข้ทางนี้มั่งคะ เป็นยังไง?” แล้วสุนทรีเบือนหน้าไปทางงามพิศผู้ซึ่งยืนเยื้องไปทางเบื้องหลังหล่อนเล็กน้อย

งามพิศก้มหน้าลงทันที ด้วยเกิดความกระดากและอยากเม้มริมฝีปาก ซึ่งหล่อนรู้สึกตลอดเวลาว่ามีสีทาอยู่

สุทัศน์เอียงคอลงเล็กน้อย เพื่อจะมองดูหน้าหล่อนให้ถนัด แล้วเขาพูดว่า “ดีขึ้นแต่ยังซีดอยู่มาก”

สุนทรีรู้สึกผิดหวัง หล่อนอยากให้สุทัศน์แสดงความตื่นเต้นสักหน่อย อย่างไรก็ตามหล่อนพูดว่า

“แหม ใจหัวใจแขวน กลัวว่าคุณหมอจะไม่มาเสียก็ไม่รู้ เห็นไหมคะ ต้องมาคอยรับทั้งที่ไม่ทราบแน่ว่าจะมา เพราะจะคอยจนกว่าคุณหลวงชาญฯ จะไปส่งข่าวน่ะไม่ไหวอัดใจเต็มที”

“คุณสุนทรีบ่นสักกระบุงหนึ่ง” หลวงชาญฯ กล่าว “จนคุณพระขัดคอ”

“บ่นอะไร?” สุทัศน์ถาม เลิกคิ้วขึ้นในท่าพิศวง

“บ่นถึงคุณสุทัศน์น่ะซีคะ” สุนทรีตอบ “พิโธ่ ! เคยอยู่ๆ ด้วยกัน แล้วก็หายไปเสียเฉยๆ แล้วไม่รู้แน่ว่าจะกลับเมื่อไหร่ เป็นหมอนี่เหลือเกินไม่มีเวลาเป็นอิสระเสียเลย”

สุทัศน์รำคาญตัวเอง ในข้อที่หน้าของเขาชวนจะแดงขึ้นร่ำไป เขายิ้มเยาะตัวเอง เมื่อนึกถึงว่าตัวเป็นคนที่มีราคาสำหรับสุนทรี ก็เพราะสุนทรีถือว่าเขาเป็นแพทย์รักษา ผู้ที่อยู่ในความอุปถัมภ์ของหล่อนดอก เหตุฉะนั้นเขาจึงตอบอย่างเคร่งขรึม

“ทำยังไงได้ หน้าที่ต้องเป็นหน้าที่”

แล้วเขาหันหน้าไปปราศรัยกับเด็กสามคน แล้วรีบหาเรื่องพูดกับหลวงชาญฯ เสียทันใด

ระหว่างนั้นงามพิศก็แอบกระซิบกับสุนทรี ขอให้ถามหมอว่าจะอนุญาตให้หล่อนลงอาบน้ำทะเลได้หรือยัง

“ก็ทำไมไม่ถามเอง” สุนทรีว่าแล้วหัวเราะ

“ไม่เอาค่ะ เดี๋ยวท่านว่า”

“อะไร้ !” เสียงสุนทรีดังขึ้นเล็กน้อย “ไม่ว่าหรอก ท่านใจดีจะตาย คุณหมอคนนี้น่ะ”

สุทัศน์หันมาดู เมื่อได้ยินคำพูดสุดท้าย สุนทรีจึงพูดว่า

“คนไข้อยากจะถามอะไรหน่อยค่ะ”

“อะไร?” สุทัศน์ถามและจ้องดูงามพิศ เจ้าหล่อนประหม่าด้วยนัยน์ตาของเขา ก็ก้มหน้าลงแล้วตอบว่า

“เปล่าค่ะ”

“อ้าว แล้วกัน” สุนทรีอุทาน “เกิดเปล่าเสียแล้ว ไม่ถามเองไม่ได้อาบ ฉันไม่รู้ด้วยนะ พิโธ่ ! หมอใจดีๆ ยังงี้ยังกลัวได้”

หลวงชาญฯ หัวเราะแล้วชวนให้ออกจากสถานี สุนทรีเห็นชอบด้วย แล้วหล่อนกำชับชายหนุ่มทั้งสองว่า

“วันนี้อาหารค่ำที่บ้านดิฉันตามเคยนะคะ” หัวเราะพร้อมกับพูดต่อไป “วันนี้หมอเห็นจะต้องอธิบายเรื่องเส้น เพราะเมื่อวานนี้คุณละม้ายขาแพลง”

ชายหนุ่มทั้งสองก็พากันหัวเราะกับหล่อนด้วย เพราะนึกขันโดยใจจริง

เมื่อมาถึงที่พักแล้ว สุนทรีปล่อยให้เด็กๆ ไปส่งข่าวเรื่องสุทัศน์แก่บิดามารดา ตัวหล่อนเองจับข้อมืองามพิศจูงไปตามใต้ร่มไม้ช้าๆ แล้วพูดขึ้นด้วยเสียงอันอ่อนโยน

“ขอสอนอะไรเธอสักอย่างหนึ่งนะ....” สบตางามพิศมองดูด้วยความกังวล ก็รีบพูดต่อไปพร้อมกับหัวเราะ “อย่าตกใจซิ ไม่มีอะไรสำคัญหรอก ฉันอยากให้เธอเป็นคนสวยเท่านั้นเอง เวลาที่เธอรู้สึกอายหรือกลัวขึ้นมาละก็อย่าก้มหน้างุบลงจน...อย่างที่เธอเคยทำ ที่จริงมันไม่ผิดร้ายหรอก แต่ว่าไม่เหมาะสำหรับคนที่เป็นสาวแล้ว ทำให้หายสวยไปหน่อย ก้มก็ได้แต่ก้มแต่น้อย แล้วก้มเบาๆ ช้าๆ ละก็จะดูงาม”

ประมาณสัก ๑๕ นาทีต่อจากนั้น มีคนขับจักรยานสามล้อคนหนึ่งมาถามหาสุนทรี แล้วส่งขวดยาให้หล่อนหนึ่งขวด พร้อมกับนามบัตรซึ่งมีลายมือสุทัศน์ เขียนเป็นคำสั่งสั้นๆ ประกอบมาด้วยว่า “ให้งามพิศรับประทาน ๑ ช้อนหวาน หลังอาหารวันละ ๓ ครั้ง”

ยานั้นในยาตำรับปรุงเสร็จมาจากประเทศออสเตรเลีย สีดำแดง เหลวและข้น ไม่มีขมไม่มีขื่น แต่หวานจัดและเอียน เมื่องามพิศรับประทานแล้ว หล่อนนึกอยากนินทาหมอ แต่เมื่อนึกถึงความเอื้อเฟื้อของเขา หล่อนก็ต้องสรรเสริญเขาอยู่ในใจ

ตกเย็น เมื่อสุนทรีขึ้นจากอาบน้ำทะเล และรับประทานของว่างเสร็จ เตรียมตัวจะพางามพิศไปเดินออกกำลังตามเคย สุทัศน์กับหลวงชาญฯ ก็มาถึง

สุนทรีแสดงความยินดีมาก แต่งามพิศรู้สึกผิดหวังเล็กน้อย ชั่วโมงแห่งการเดินเล่นกับสุนทรี เป็นชั่วโมงที่งามพิศหวงแหน ไม่เต็มใจจะแบ่งให้ใคร หล่อนชอบการที่ได้เดินอยู่กับสุนทรี ริมๆ ลูกคลื่นที่วิ่งไล่กันขึ้นบนชายหาด เพลิดเพลินด้วยวาจาของสุนทรี ซึ่งงามสำนวน ‘คุย’ อย่างปกติสามัญ แต่ซึ่งมักจะมีบทเรียนบทใดบทหนึ่งแฝงอยู่ด้วยเสมอ

แต่เพราะเหตุที่สุทัศน์ ได้ออกปากอนุญาตให้งามพิศลองลงอาบน้ำทะเลได้ ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป โดยที่มิได้มีผู้ใดผู้หนึ่งออกปากถามเขาขึ้นก่อนเลย งามพิศก็กลับนึกปิติในการที่หล่อนได้พบกับเขา

ระหว่างทางที่เดินไปด้วยกันทั้ง ๔ คน สุทัศน์เอ่ยขึ้นว่า

“นายแมนจะแต่งงานเดือนหน้า”

“ยังงั้นรึ?” หลวงชาญฯ ถามอย่างไม่สู้เชื่อนัก “แต่งกับใคร?”

สุทัศน์ออกนามคู่หมั้นของนายแมน ซึ่งเป็นธิดาของผู้มีเกียรติและมั่งคั่งผู้หนึ่ง และซึ่งหลวงชาญฯ และสุนทรีรู้จัก

“เก่งมาก” หลวงชาญฯ กล่าวอีก “เก่งมากทีเดียว เคราะห์มันดี”

“โชคมาวาสนาเกื้อ” สุนทรีกล่าว “ทีนี้คุณแมนเห็นจะรอด” หล่อนชะงัก หันไปถามสุทัศน์ “คุณรู้จัก....คุ้นเคยกับคุณแมนมากหรือคะ?”

เขาอ่านความคิดของหล่อนออก จึงตอบพร้อมกับยิ้ม

“ไม่คุ้นเคย แต่รู้จักพอที่จะทราบว่าเขาเคราะห์ดีมาก”

“ผมว่าฝ่ายผู้หญิงเขาเก่งพอใช้ ที่จะกล้าแต่งงานกับนายแมน” หลวงชาญฯ พูด “บางทีมันอาจจะกลับตัวใหม่ได้กระมัง แต่ว่าพอแต่งงานแล้ว ผู้หญิงคงต้องตั้งหน้าใช้หนี้ไปอีกหลายปี”

“ก็ไม่เป็นไรนี่คะ ถ้ารักกันแล้ว ถึงจะลำบากหน่อยก็ทนได้ ชั่วแต่คุณแมนอย่าทำซ้ำหรือทำใหม่ก็แล้วกัน”

นิ่งเงียบไปด้วยกันทั้งสามคน เพราะต่างคนต่างคิดจนเพลิน งามพิศมองดูหน้าเขาทีละคนด้วยความทึ่ง ภายหลังหลวงชาญฯ เอ่ยขึ้นใหม่ว่า

“เขาว่าการแต่งงานนี้จัดกันมาแต่พรหมโลก ผมว่าถ้ายังงั้นพระพรหมก็ตาถั่ว เพราะเราจะเห็นว่าผัวเมียแต่ละคู่ไม่เหมาะกันเลย”

“นั่นแหละแปลว่าพระพรหมตาดี” สุทัศน์แย้ง “เพราะคนดีมีไม่พอให้เลือกได้ คู่ๆ เสมอกันก็ต้องเอาชั่วไปปนกับดี เอาดีไปปนกับชั่ว พอคละๆ ไว้จะได้ถ่วงน้ำหนักกันอยู่”

หลวงชาญฯ ไม่ค้านแสดงความเห็นต่อไปว่า

“ผมว่าการแต่งงานก็เหมือนแทงหวย เคราะห์ดีก็ได้ เคราะห์ร้ายก็เสีย”

“สำหรับผู้หญิงกระมังคะ” สุนทรีว่า “เพราะผู้ชายมีโอกาสเลือกได้ก่อน”

“เหมือนกันแหละครับคุณ” หลวงชาญฯ ตอบ “ชายเลือกได้ก่อนก็จริง แต่ไปเลือกเขาถึงก้นครัวเมื่อไหร่ ผู้หญิงน่ะเวลาออกแขกกับเวลาอยู่บ้านไม่เหมือนกันเลย”

สุนทรีนึกสงสัยว่าหลวงชาญฯ จะได้รับความผิดหวังการเลือกคู่ของเขาหรือไรหนอ?

สุทัศน์พูดขึ้นว่า

“ผู้ชายที่เคราะห์ดีก็ดีอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างนายแมนใครจะนึกจะฝันว่าจะได้ผู้หญิงอย่างนั้น บางคนที่ซวยก็ซวยเหลือสติกำลัง พอรักผู้หญิงกับเขาทีหนึ่งก็รักผิด ลืมตาขึ้นพบว่าเขามีเจ้าของเสียแล้ว”

สุนทรีเงยหน้าขึ้นมองดูเขาโดยเร็ว แววตาเต็มไปด้วยความหวังดี หล่อนพูดว่า

“ดิฉันเลิกเชื่อเรื่องที่ว่า ผู้ชายอกหักเพราะผู้หญิงมาเสียนานเต็มที ถึงอย่างนั้นก็หวังว่าคุณจะไม่ไปโดนเข้าอย่างที่พูดนี้”

สุทัศน์มีความชินต่อสายตาของสุนทรีขึ้นมากแล้ว เขาลืมที่จะนึกเกลียด ก็มองตอบหล่อนและยิ้มขรึมๆ พร้อมกับพูดว่า

“ผมไม่ได้พูดถึงตัวผมเอง”

แล้วเขานึกภาวนา ขอว่าอย่าให้หล่อนเชื่อคำพูดของเขาเลย

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ