๒๕
สุนทรีพักอยู่ที่แหลมหินสามสัปดาห์กว่า ในสัปดาห์แรกหล่อนรู้สึกว่า สถานที่ๆ เคยให้ทั้งความเพลินใจและความสบายกายแก่หล่อนหลายคราวแล้วนั้น บัดนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นสถานที่ๆ หาคุณค่ามิได้ ท้องทะเลทำให้หล่อนอ้างว้าง เสียงคลื่นเป็นเสียงรกหู หาดทรายเป็นที่เปล่าเปลี่ยว แดดเป็นเครื่องรำคาญด้วยประการทั้งปวง หมู่คนที่เดินผ่านไปมาหน้าที่พักของหล่อนก็เป็นเครื่องระคายตา สุนทรีบ่นกับตัวเองว่าอยากกลับบ้าน แต่ครั้นแล้วก็บอกกับตัวเองว่า บ้านของตัวนั้นไม่มี จำเป็นที่จะต้องพักอยู่ที่หัวหินต่อไปอีก ! ! !
ในปีก่อนๆ เมื่อโรงเรียนปิดเทอมปลายปี สุนทรีก็มาเปิดบ้านที่หัวหิน คือบ้านของคุณเนื่อง ซึ่งตกเป็นมรดกแก่ประจิตร เพื่อนครูและนักเรียนก็มาพักอยู่กับหล่อนด้วย ประจิตรมาพักเหมือนกัน แต่มักจะพักเป็นเวลาอันสั้นระหว่างหนึ่งถึงสองสัปดาห์ แล้วก็มักจะเวียนขึ้นเวียนล่องระหว่างกรุงเทพฯ กับแหลมหิน เกือบจะทุกวันเสาร์วันอาทิตย์ แต่ปีนี้สุนทรีอ้างเหตุว่าหล่อนมาหัวหินล่ามาก ไม่จำเป็นที่จะเปิดบ้านให้ความลำบากต่างๆ ประการเกิดขึ้น หล่อนจึงพักอยู่ที่บ้านนางสาวอรุณเพื่อนครูได้เช่าไว้ และอยู่รวมกับเด็กสาวหลายคนที่ครูอรุณพามาด้วย
วันหนึ่งในปลายสัปดาห์แรก ได้มีการนัดเที่ยวเขาตะเกียบกันขึ้น รุ่งเช้าเมื่อสุนทรีตื่นนอน หล่อนไม่เห็นเพื่อนผู้อยู่ร่วมบ้านแม้แต่สักคน ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่หายไปสิ้น เห็นแต่อาหารมีรอยรับประทานแล้วเหลืออยู่ ถามคนใช้ ได้รับคำตอบสั้นๆ ว่า “ไปแล้ว” เท่านั้น สุนทรีก็ฉุนโกรธดังใครเอาไฟฟ้ามาจุดใจ กลับเข้าห้องปิดประตูใส่กลอนเสียทันที
ประมาณ ๑๕ นาที ภายหลัง หล่อนได้ยินเสียงนางสาวอรุณพูด และมีเสียงคนพยายามเปิดประตู แล้วได้ยินเสียงคนบ่นว่า
“นั่นทำอะไรอยู่นะ ประตูประต่างปิดหมด”
แล้วเสียงนั้นเรียกชื่อสุนทรี เจ้าหล่อนขานอย่างห้วนที่สุด ครูอรุณก็พูดว่า
“วันนี้เป็นยังไงถึงเกิดตื่นสาย เราไปซื้อของจนเกือบหมดตลาดแล้วยังไม่เสร็จอีกหรือ แต่งตัวแล้วหรือยังนั่นน่ะ”
สุนทรีคิดได้ในบัดนั้นว่าตนหุนหันพลันแล่นมาก แต่ไม่ยอมสารภาพความผิดแก่ตนเอง จึงตอบออกไปว่า
“ฉันไม่ไปแล้ว ปวดหัว”
“อ้าว !” ครูอรุณอุทานเสียงดัง “ปวดถึงไปไม่ไหวเทียวหรือ ขึ้นรถไปก็ได้นี่นา”
“ไม่เอาละ” สุนทรีตอบอย่างรำคาญ ภายหลังจึงได้ยินเสียงรองเท้ากระทบขั้นบันได แล้วก็เงียบหายไป
สุนทรีนอนลืมตาดูเพดานมุ้งอยู่นาน ภายหลังก็รำพึงว่า “เรานี่บ้าเสียแล้ว”
หล่อนลุกจากที่ เร่งมือทำกิจที่จำเป็น เสร็จแล้วรับประทานอาหารอย่างเสียไม่ได้ แล้วจึงลงจากเรือน
เดินไปตามชายหาด โดยไม่มีความมุ่งหมายว่าจะไปแห่งใด เพียงครู่หนึ่ง ก็หยุดยืนมองดูคลื่นที่แล่นไล่กันอยู่ตรงหน้า สมองคิดเพลิน โดยที่เจ้าของสมองไม่รู้ว่าคิดอะไรบ้าง ครั้นแล้วก็หยุดกึก....สุนทรีก็ถอนใจยาว
หล่อนนึกขึ้นได้ว่า หล่อนรำพึงถึงประจิตรในข้อที่เขาริเริ่มมีภรรยานอกกฎหมายไว้ในบ้าน และเขาได้เริ่มทำการเช่นนั้น ในเวลาที่หล่อนไม่อยู่เสียเพียง ๑๒ วัน
หล่อนนึกขึ้นได้อีกว่า ตนได้รำพึงถึงเรื่องนี้มาหลายวันแล้ว รำพึงอยู่เสมอทุกวัน ตั้งแต่ออกจากกรุงเทพฯ จนถึงวันนี้ ยิ่งกว่านั้น รำพึงเกือบทุกขณะที่สมองมีช่องที่จะรำพึง
ด้วยเหตุนี้ หล่อนได้หุนหันโกรธเพื่อนและเพิกถอนสัญญาที่จะไปเที่ยวกับเขาเสียโดยไม่มีเหตุผล
แล้วสุนทรีก็นึกละอายตัวเองเป็นอย่างยิ่ง !
วันต่อๆ มา สุนทรีเฝ้าตรวจอารมณ์ตนเองบ่อยขึ้นก็จับได้ว่าความฉุนเฉียวได้เข้าเป็นเจ้าเรือนแห่งอารมณ์อย่างน่าพิศวง บันดาลให้หล่อน พูด ทำ คิดผิดจากที่หล่อนเห็นดีเห็นชอบ แต่ถ้าหากผู้อื่นเขาทำผิดใจตนแม้แต่สักนิด โทสะของตนก็พลุ่งขึ้นโดยเร็ว และเมื่อพลุ่งขึ้นเสียแล้ว กว่าจะดับให้หายได้ก็ต้องเสียเวลานาน
โดยประการฉะนี้ สุนทรีก็รู้ว่า ประสาทในสมองและในจิตใจของหล่อนนั้นป่วยเป็นโรคอย่างหนึ่งเสียแล้ว และรู้ด้วยว่า สมุฏฐานแห่งโรคนั้นคือสิ่งใด หล่อนแน่ใจว่าถ้าหล่อนเรียกนามแห่งสมุฏฐานนั้นให้ตรงกับลักษณะอันแท้จริงของมันก็จะปรากฏว่า มันคือกิเลสอย่างหยาบ อย่างมีอิทธิฤทธิ์สามารถบันดาลคนผู้อยู่ในอำนาจของมันให้มีอันเป็นไปในทางเสื่อมได้หลายสถาน
และสุนทรียังรู้ต่อไปอีกด้วยว่า การที่จะตัดรากแห่งสมุฏฐานแห่งโรคทิ้งเสียนั้น หล่อนจะทำเสร็จไม่ได้ในเวลาอันสั้น แต่หล่อนอาจจะสามารถระงับอาการของโรคให้ลดน้อยลงได้ ถ้าแม้ว่าหล่อนตั้งความพยายามให้มากกว่าที่เป็นอยู่บัดนี้สักหน่อย
สุนทรีจึงพยายามหาเครื่องล่อจากสิ่งนอกกาย ให้จิตใจและสมองไปเกาะเกี่ยวจนไม่มีเวลาว่างที่จะคำนึงถึงเรื่องส่วนตัว เครื่องล่อเหล่านั้นได้แก่บุคคลทั้งหลายทั้งชายและหญิงทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ที่สุนทรีได้พบปะวิสาสะด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่อยู่ใกล้สุนทรี
หล่อนพยายามเอาใจในเขาเหล่านี้มากที่สุด เขาพูดเรื่องใด หล่อนตั้งใจฟังและโต้ตอบกับเขา เขาเที่ยวหล่อนเที่ยวด้วย เขาสนุก หล่อนสนุกด้วย บางคราวเขาเงียบเหงาไปบ้าง หล่อนก็หาเรื่องชักชวนทำให้ความครึกครื้นเกิดขึ้น
เมื่อผู้ที่อยู่ใกล้กับหล่อนมีการต้อนรับเพื่อนฝูง หล่อนก็ช่วยเขาต้อนรับด้วย ทางฝ่ายหล่อนก็ชักชวนเขาให้ต้อนรับเพื่อนของหล่อนบ้าง และเพื่อนของสุนทรีนั้นมีมากเมื่อหล่อนทำใจของหล่อนให้เอาใจใส่ในเขาทุกคน ใจดวงนี้ก็มีเวลาที่จะคำนึงถึงสิ่งที่มีและเป็นอยู่ภายในแต่เพียงส่วนน้อย
อนึ่งสุนทรีนั้นมีความช่างพูด ช่างเล่น และความมีกิริยางาม เป็นเสน่ห์ประจำตัวก็ย่อมจะเป็นผู้ที่บุคคลเป็นส่วนมากมีความยินดีที่จะพบปะด้วยเป็นนิจ โดยนัยนี้หล่อนก็เป็นหญิงที่มีผู้เอาใจใส่และพยายามเอาใจอยู่ไม่ขาด การเอาใจผู้อื่น ตอบแทนการเอาใจของผู้อื่นที่มีต่อตัวนี้ผู้ที่ไม่มีความเห็นแก่ตัวฝ่ายเดียวหนาแน่นนักย่อมจะทำได้โดยไม่ยาก ความพยายามของสุนทรีที่จะเอาใจเพื่อนฝูง จึงไม่เป็นงานที่ลำบากจนเหลือเกิน
เมื่อสุนทรีรู้สึกว่าอาการป่วยแห่งประสาททุเลาลงแล้ว แน่ใจว่าตนเข้มแข็งพอที่จะประจัญหน้ากับประจิตรพร้อมทั้ง ‘หญิงเก็บ’ ของเขาด้วย หล่อนก็เขียนจดหมายกำหนดวันที่หล่อนจะกลับกรุงเทพฯ ไปยังประจิตร
สุนทรีพร้อมแล้วที่จะกลับไปร่วมความเป็นอยู่กับประจิตร ดังเช่นสมัยที่แล้วมา....โดย....มีข้อขีดคั่นใหม่บ้างบางประการ หล่อนจะเป็นมิตรของประจิตรเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาแต่ก่อน....ยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาแต่ก่อนด้วยทั้งนี้หมายถึงการเสียสละทางใจ ซึ่งหล่อนจะต้องใช้มากกว่าในเวลาที่ล่วงพ้นไปแล้ว
หล่อนพบเขาคอยรับหล่อนอยู่ที่สถานี มีสีหน้าผ่องใสแช่มชื่น ตรงกันข้ามกับหล่อนผู้ซึ่งฝืนยิ้มได้โดยยาก หล่อนไม่ได้ยื่นมือให้เขาจับเหมือนอย่างเมื่อคราวก่อน แต่ในทันทีที่หล่อนก้าวลงจากรถ ประจิตรจับข้อมือหล่อนทำท่าคล้ายช่วยพยุงแล้วก็ไม่ปล่อยมือหล่อนเลย กระทั่งเขาและหล่อนเดินมาถึงที่รถจอดแล้ว
“คิดถึงเหลือเกิน” เขากล่าวแก่หล่อนในระหว่างทาง “เวลาสามอาทิตย์ดูนานราวกับสามเดือน”
ความจริงใจหลุดจากปากสุนทรีออกมาว่า
“ฉันนึกว่าเธอจะไปหัวหินมั่ง....”
“ฉันก็จะคอยให้เธอชวน แต่เห็นเงียบหาย หนังสือสักตัวก็ไม่เขียนมา ก็เลยไม่ไป”
สุนทรีก็โกรธและนึกอยากจะว่าให้เจ็บ แต่ระงับใจไว้ได้ จึงตอบเรียบๆ
“ทำไมถึงจะต้องให้มีการชวน หัวหินใครนึกอยากจะไปเมื่อไหร่ก็ไปได้สะดวก”
เขาไม่ตอบคำนั้น ปรารภสืบไปว่า
“หมู่นี้มีหนังดีๆ แต่ไม่มีเพื่อนดูเลยชักจะเบื่อ”
สุนทรีอยากจะถามประชด แต่ก็ไม่ทำตามใจตัวเองพูดว่า
“เพื่อนๆ ของเธอไปอยู่หัวหินหมดน่ะซี ฉันพบเกือบทุกคน นอกจากหลวงชาญฯ กับคุณสุทัศน์”
“เพื่อนดูน่ะฉันหมายถึงเธอ” ประจิตรตอบ “คนอื่นๆ ไม่สำคัญ ไอ้พวกนั้นมันเพื่อนเที่ยวดึก”
สุนทรีไม่ตอบ สายตาจับดูแต่ทางที่รถแล่นผ่านราวกับสนใจในสิ่งเหล่านั้นเสียเต็มที
“กลับมาเที่ยวนี้ดำไปอีกเยอะ” ประจิตรเอ่ยขึ้นอีก “ดำจนแดง แต่ก็อ้วนจนแปลกตา ดูแก้มยังกะจะย้อยอยู่แล้ว”
หล่อนเบือนหน้ามาทางเขา เห็นเขากำลังจ้องดูหล่อนอยู่ จึงว่า “มัวแต่มองดูในรถ เดี๋ยวก็ได้ไปชนอะไรเข้าหรอก”
เขาหันหน้ากลับไปดูทางดังเก่าแล้วก็นิ่งอยู่
เมื่อใกล้จะถึงบ้าน เขาถามหล่อนด้วยน้ำเสียงแสดงความภูมิใจ
“คืนนี้เรากินข้าวที่บ้านคุณอาใช่ไหม? ฉันจำมติของเธอได้ ว่ามาถึงวันไหนต้องหาคุณพ่อวันนั้นถึงจะถูก”
หล่อนควรจะชื่นชม แต่ใจของหล่อนมิได้เป็นดังนั้นก็ตอบเรียบๆ
“ไปหัวหินไม่สำคัญเหมือนไปไทรโยค ฉันอยากนอนหัวค่ำมากกว่า พอถึงบ้านแล้วก็นอนทีเดียว”
ประจิตรเริ่มรู้สึกว่าตั้งแต่แรกพบกันจนบัดนี้ สุนทรียังมิได้แสดงความพอใจในคำพูดและความตั้งใจดีของตนเลยแม้แต่สักครั้งเดียว ความยินดีของเขาที่ได้พบหล่อนก็เริ่มถอยลงบ้าง น้ำเสียงของเขาจึงเย็นชาไปเมื่อเขาตอบแก่หล่อนว่า “ข้าวที่บ้านไม่มีกินหรอก เพราะฉันเลิกเสียแล้ว ถ้าเธออยากนอนแต่หัวค่ำ ก็ไปหาอะไรกินตามร้านเจ๊กแล้วก็กลับบ้านก็แล้วกัน”
สุนทรีตอบอย่างไม่เอาใจใส่
“ก็ได้”
หล่อนแต่งตัวอย่างขี้เกียจ สวมเสื้อผ้าตามสบายมากกว่าที่จะให้ดูงาม เพราะในเวลาที่เลือกเครื่องนุ่งห่มนั้นหล่อนคิดขึ้นว่า “แต่งไปทำไมกัน”
เมื่อถึงร้านอาหารจีน เผอิญพบหลวงชาญฯ กับสุทัศน์ เขาพากันแสดงความยินดีที่ได้เห็นหล่อน และเชิญให้หล่อนกับประจิตรเป็นแขกของเขา
สุนทรีรับเชิญโดยเต็มใจ มีความยินดีที่จะไม่ต้องรับประทานอาหารร่วมกับประจิตรเพียงสองต่อสอง เพราะเกรงว่าจะไม่มีเรื่องพูดกัน ! ! !
การบริโภค ซึ่งน่าจะเงียบเหงาจึงกลายเป็นครึกครื้นอย่างผิดพลาด
“ผมไปที่บ้านคุณ ๒-๓ หน มีคนบอกว่าคุณยังไม่กลับทุกที” หลวงชาญฯ กล่าว “ออกนึกแปลก เอ๊ะ ไปไทรโยคยังไงนานนัก จนเมื่ออาทิตย์ก่อน พบประจิตรที่สโมสรถึงได้รู้ว่าคุณไปหัวหิน”
สุนทรีถามด้วยความประหลาดใจเล็กน้อย
“ก่อนนั้นไม่ได้พบกันหรือคะ?”
“ไม่ได้ครับ เป็นอย่างไรไม่ทราบ”
“แล้วคุณหลวงไม่ได้กรายไปหัวหินเลยเทียวหรือคะ?”
“ผมไม่เคยไปหัวหิน ในฤดูที่ใครๆ เขาไปกันเลย ไปหนเดียวแล้วเข็ดเลย ไม่ไปอีก เวลาร้อนๆ เป็นบ้าแล้วก็สีต่างๆ บาดตามากนัก โดยมากผมไประหว่างกรกฎา-สิงหา เวลานั้นที่หัวหินสบาย อากาศดี”
“แต่ฝนตกนี่คะ แล้วเราก็เล่นน้ำทะเลก็ไม่ได้”
“ฝนตกก็ตกทุกวันเมื่อไหร่ บางปีดีกว่ากรุงเทพฯ อีก ไม่มีฝนเลย แล้วอาบน้ำทำไมจะอาบไม่ได้ ผมอาบทุกวัน คอยระวังๆ ตัวหน่อย อย่าให้เพลินนักก็แล้วกัน แล้วในฤดูนี้ไม่ใช่ว่าจะไม่มีแมงกะพรุนเมื่อไหร่”
“ดิฉันก็เคยไปเหมือนกัน เวลาโรงเรียนหยุดเทอมต้น แล้วก็อาบน้ำได้เกือบทุกวันเหมือนกัน” สุนทรีสารภาพแกมหัวเราะ “ที่อาบน้ำไม่ได้น่ะเป็นส่วนน้อยหรอก”
แล้วหลวงชาญฯ ถามถึงไทรโยคว่าเป็นอย่างไรและซักถามถึงน้ำตก แก่งสำคัญ และน้ำเชี่ยวอย่างที่สุดตามที่เขาจำได้จากหนังสือพระราชนิพนธ์ สุนทรีก็ตอบตามที่หล่อนเห็นมา ครั้นแล้วมิช้า สุนทรีก็เพลิดเพลินไปในการสนทนานั้น เกิดความสนุกชื่นบานดังได้เห็นไทรโยคมาปรากฏที่หน้าเป็นครั้งที่สอง
ตอนหนึ่งหล่อนหยุดตอบคำถามของหลวงชาญฯ หันไปกล่าวกับประจิตรพร้อมกับหัวเราะ
“รายนี้ฟังเป็นครั้งที่สองแล้วเบื่อไหม?”
ประจิตรพอใจราวกับว่า หล่อนได้แสดงความปรานีต่อเขาเป็นพิเศษอย่างเอก รีบตอบในเสียงหัวเราะอย่างแช่มชื่น
“ไม่เบื่อหรอก ระวังอย่าเล่าให้ผิดกับหนที่หนึ่งก็แล้วกัน ฉันกำลังคอยจ้องจะขัดคอ”
เจ้าหล่อนหัวเราะอย่างสดใส หลวงชาญฯ เสนอปัญหาขึ้นอีกว่า
“พอคุณออกเดินทางไปทางโน้น ผมไปนึกถึงบทร้องเขมรไทรโยคขึ้นได้ คุณเห็นจะร้องเป็นกระมัง?” แล้วหลวงชาญฯ ก็กล่าวถึงพระนามท่านผู้ทรงนิพนธ์บทนั้น
“อ๋อ ร้องได้ค่ะ” สุนทรีตอบ “เราร้องกันไปตลอดทาง แต่ไม่จบสักเที่ยวเดียว เพราะเรามัวแต่ตื่นเต้นกันมากเกินไป ภูมิประเทศตามทางมันเปลี่ยนเรื่อยนี่คะกำลังร้องๆ เห็นนั่นเห็นนี่ อ้าว หยุดร้องไปทักสิ่งที่เห็นเสียแล้วพอร้องใหม่ อ้าวเห็นของใหม่ อย่างคนอ่านหนังสือยังไงบางคนอ่านฟังเพลิน บางคนอ่านฟังไม่เป็นรส”
สุนทรีวางตะเกียบพาดไว้บนปากชาม ตามองไปดูสุทัศน์ผู้ซึ่งนั่งตรงกับหล่อน เห็นเขาจ้องดูหล่อนอย่างจริงจังก็นึกกระดาก จึงพูดตามตรงพร้อมกับหัวเราะ
“แหม อายแล้วละ ให้คุณหลวงชาญฯ ว่าเถอะ”
“ผมว่าก็ได้” หลวงชาญฯ รับอย่างอารมณ์ดี แล้วเขาก็ตั้งต้น
“บรรยายความตามไท้เสด็จยาตร ยังไทรโยคประพาสพนาสนฑ์ ไม้ไล่หลายพันธุ์คละขึ้นปะปน ที่ชายชลเขาชะโงกเป็นโตรกธาร น้ำพุฟุ้งซ่าน เสียงฉาดฉาดฉานเห็นตระการ มันไหลจ็อกโครมจ็อกโครม
น้ำใสไหลจนดูหมู่มัสยา เป็นเหล่าหลายว่ายมาก็เห็นโฉม ยินปักษาซ้องเสียงเพียงประโคม ยามเย็นพยับโพยมร้องเรียกรัง เสียงนกยูงทอง มันร้องโด่งดังหูเราฟัง มันดังก็อกๆ กระโต้งโห่ง”
หลวงชาญฯ หยุดว่าแล้ว สุนทรีเห็นสุทัศน์ยังก้มหน้าดูผ้าปูโต๊ะนิ่งอยู่ นึกเชื่อเอาเองว่าเขาคงจะไม่รู้รสแห่งความไพเราะในบทนั้นเลย จึงถามครึ่งเล่นครึ่งจริง
“รู้สึกว่าเพราะไหมคะ?”
เขาเงยหน้าขึ้นดูหล่อน แล้วตอบช้าๆ อย่างตรึกตรอง
“ยังต่อความไม่ค่อยติด”
“ท่านผู้นี้ เป็นโรคไม่เข้าใจภาษาที่เป็นบทกลอน” หลวงชาญฯ ว่า
“ผมก็ยอมแพ้” ประจิตรกล่าว “แต่ผมคุยได้ว่าผมเคยอ่านหนังสือมหาชาติจบ”
“มหาชาติอะไร?” หลวงชาญฯ ถาม
“เอ๊ะ เวสสันดรน่ะซี คุณหลวงจะแพ้ผมหรือนี่?”
สุนทรีหัวเราะแล้วชี้แจง
“คุณหลวงหมายถึงมหาชาติสำนวนไหน มหาชาติมีหลายสำนวน มหาชาติคำหลวง มหาชาติกลอนเทศน์ มหาชาติร่ายยาว แล้วยังมีอีกหลายอย่าง ที่เธออ่านน่ะแบบไหน?”
“โอ้โฮ ยังงั้นก็จนด้วยเกล้า ใครจะไปตอบถูก”
“ผมเชื่อว่ามีคนที่จะตอบถูก” สุทัศน์เสริม
“เห็นจะจริง” หลวงชาญฯ รับอย่างตรึกตรอง “พวกที่ไปเมืองฝรั่งแต่เด็กๆ มักจะไม่ค่อยรู้เรื่องหนังสือไทย”
“เอ๊ะ ผมรู้หลายเรื่องนะ” สุทัศน์อวดเพื่อนสนุก “พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน รามเกียรติ์ ผมเคยอ่านทั้งนั้นแหละ”
“จบไหม?” หลวงชาญฯ ถามและหัวเราะ “ผมกลัวว่าจะอ่านแต่ที่หน้าปก”
“จบบางเรื่อง” อีกฝ่ายหนึ่งตอบและหัวเราะด้วย
“แล้วชอบไหมคะ?” สุนทรีถามด้วยความสนใจจริงๆ
“ชอบมั่งไม่ชอบมั่งครับ บางเรื่องอ่านเป็นเดือนๆ กว่าจะจบ คือว่าอ่านๆ แล้วก็ทิ้ง อีกนานถึงจะจับอ่านใหม่”
“ว่างๆ ขอแรงอ่านอิเหนาอีกสักเรื่องหนึ่งได้ไหมคะ?”
“โอแหมเวลานี้กำลังอ่านอยู่แล้วครับ น้องแกเอามาทิ้งไว้ให้” เบือนหน้าไปทางหลวงชาญฯ “น้องผมเป็นพวกคุณหลวง เจ้าบทเจ้ากลอนเป็นที่หนึ่ง แล้วถ้าแกพูดอะไรผมไม่รู้เรื่องละก็ แกโกรธเอาด้วย หาว่าหูป่าตาเถื่อน”
“หูป่าตาเทดน่ะ ไม่ใช่เถื่อนหรอก” หลวงชาญฯ แก้
“‘เทด’ ของคุณหลวงสะกดยังไงคะ?”
“ไม่ทราบครับ ผมเห็นเขาสะกดกันด้วยตัว ศ. แต่ถ้าให้ผมสะกดจะสะกดด้วยตัว ด. เพราะหลักของผมมีอยู่ว่ายังไงๆ ก็ยึด กน กก กด กบ กม เกยไว้ก่อน”
“แล้วมันผิดกันยังไง ‘เทด’ กับ ‘เทศ’ น่ะ?” ประจิตรถาม
“ความหมายอันเดียวกันแหละ แปลว่าไม่ใช่ไทย”
“ขอบใจคุณสุนทรี ที่ถามถึงตัวสะกดขึ้น” สุทัศน์ว่า “เมื่อตะกี้ผมไม่เข้าใจว่าหลวงชาญฯ ว่าอะไรผม”
“แต่ถึงเข้าใจแล้วก็ไม่โกรธไม่ใช่หรือคะ?”
“ก็มันจริงของเขา จะโกรธยังไง”
“อีกประการหนึ่ง มันถูก ‘ปมเขื่อง’ มันไม่ถูก ‘ปมด้อย’” ประจิตรว่า
“ไม่จริงเลย” สุทัศน์คัดค้าน “ผมถือว่าการไม่รู้ภาษาไทยนี่เป็นจุดอ่อนแอของผม เป็น ‘ปมด้อย’ ไม่ใช่ ‘ปมเขื่อง’ เป็นอันขาด”
“ก็ใครเขาว่าการไม่รู้ภาษาไทยเป็นปมเขื่องล่ะ” หลวงชาญฯ แย้ง “ความเขื่องมันอยู่ที่ว่าไม่รู้ เพราะเหตุว่าได้ไปเมืองฝรั่งเสียต่างหาก”
“ไม่จริง ไม่จริง” สุทัศน์ยืนยัน หน้าแดงขึ้นเมื่อเกิดความต้องการอย่างจริงจังที่จะพิสูจน์ตัวให้พ้นจากข้อหา “ผมไม่ได้ถือยังงั้น”
“ผมก็เชื่อ” หลวงชาญฯ ว่าพลางหัวเราะ “ประจิตรหาความคุณต่างหาก”
“แหม ! หลวงชาญฯ คนนี้ตลบแตลงจัง” ประจิตรเอ่ยขึ้นพร้อมกับหัวเราะดัง คนอื่นๆ ก็พลอยหัวเราะเพราะเห็นขึ้นไปกับเขาด้วย รวมทั้งตัวหลวงชาญฯ เอง
พอเสร็จการรับประทานสักครู่ สุนทรีก็พยักหน้ากับประจิตรเป็นความหมายว่า หล่อนต้องการจะกลับบ้านแล้ว หล่อนกล่าวขอบคุณหลวงชาญฯ กับสุทัศน์ และชวนให้เขาทั้งสองไปหาหล่อนยังที่อยู่ในเวลาหลัง
เมื่อกลับมาถึงบ้าน ประจิตรส่งสุนทรีที่หน้าห้องของหล่อน กล่าวคำอวยพรสำหรับเวลากลางคืนแก่หล่อนที่ตรงนั้น แล้วก็ไปยังห้องของเขา
ต่อมาอีกสักครู่ สุนทรีได้ยินเสียงสองเสียงโต้ตอบกันเบาๆ เสียงหนึ่งเป็นเสียงหญิงผู้ใหญ่ อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงประจิตรเอง เสียงหญิงดังอยู่เรื่อยๆ เป็นระยะนานๆ จึงมีเสียงชายสลับขึ้นครั้งหนึ่ง แต่ภายหลังได้ยินเสียงชายหัวเราะดังกั้กๆ อยู่ในลำคอ สุนทรีทิ้งหวีลงบนโต๊ะเครื่องแป้ง และกล่าวในใจว่า
“คุยกับแม่ยาย !”
หล่อนเข้ามุ้ง สวดมนต์ด้วยจิตใจอันว่อกแว่กเกือบจะไม่รู้ตัวว่าทำสิ่งใดอยู่ เพราะเสียงพูดที่ยังได้ยินอยู่เรื่อยนั้นกวนหูหล่อนอย่างประหลาด ตอนหนึ่งหล่อนหยุดสวดคิดว่า “นังคนสาวหายไปไหนเสียล่ะ” ครั้นได้สติก็สวดพระคาถาต่อไปโดยเร็ว
เมื่อล้มตัวลงนอน สุนทรีบอกแก่ตัวเองว่าหล่อนถือเอาเสียงที่ได้ยินมาเป็นกังวล ก็เพราะว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่หล่อนไม่รู้เหตุการณ์ในบ้านที่หล่อนอยู่โดยประจักษ์ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่หล่อนไม่อาจไปยังห้องประจิตรเพื่อดูว่าเขาสนทนากับใคร หรือแม้แต่จะถามเขาหล่อนก็หาอาจถามไม่ เพราะฉะนั้นจึงเป็นธรรมดาที่หล่อนต้องนึกรำคาญ
เสียงที่ทำให้สุนทรีสวดมนต์วกวนในคืนวันหนึ่งนั้น ยังคงมีอยู่เรื่อยๆ เป็นระยะติดต่อกันหลายวันบ้างหรือเว้นวันสองวันสามวันบ้าง ในเวลาต่อมา
ตลอดเวลานี้ สุนทรีสังเกตเห็นว่าประจิตร ‘รู้อยู่’ ขึ้นกว่าแต่ก่อน
เขายังคงติดสโมสร ติดเพื่อน และลืมเวลาอาหารบ่อยๆ แต่เวลาที่เขากลับมาถึงบ้านในตอนกลางคืนนั้นหัวค่ำขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก
บางหมู่เขารับประทานอาหารค่ำที่บ้านเป็นระยะติดๆ กันหลายวัน และเมื่อรับประทานแล้ว ดูเขาไม่มีความเดือดร้อนในการหาที่ไป หรือเดือดร้อนในการหาเรื่องฆ่าเวลาในทันทีที่สุนทรีออกปากว่าจะ ‘ทำงาน’ ดูเขาช่างเคารพต่อวาจาของหล่อนเสียเหลือเกิน เขามักจะเอออวย เดินตามมาส่งหล่อนเพียงแค่หน้าห้อง แทนที่จะเข้าข้างใน และนั่งลงออดอ้อนต่อหล่อนเหมือนเช่นเคย แล้วเขาก็เข้าในห้องของเขา และเสียงสนทนาและเสียงหัวเราะดังขึ้น
คืนใดที่โปรแกรมภาพยนตร์แสดงว่า จะฉายภาพยนตร์ชั้นดี ประจิตรยังคงชวนสุนทรีให้ไปดูด้วยกันกับเขาดังแต่ก่อน ซึ่งสุนทรีก็รับชวน แต่มีบางคืนที่เขาออกจากบ้านไปโดยไม่บอกกล่าวหล่อน ในคืนเช่นนั้นสุนทรีย่อมระวังเป็นอย่างยิ่งที่จะไม่พาตัวไปยืนเยี่ยมหน้าต่าง ด้วยกลัวตัวเองจะเห็นว่าประจิตรนั่งรถไปกับใคร
แต่ถ้าแม้ว่าสุนทรีจะระวังตัวเป็นอย่างดี มิให้ตัวต้อง ‘ได้เห็น’ หล่อนก็จำเป็นที่จะต้อง ‘ได้รู้’ เพราะหล่อนมีเพื่อนผู้หญิงมาก และเพื่อนของหล่อนย่อมจะรู้จักประจิตรเกือบทุกคน เขามักจะรายงานแก่หล่อนว่า เขาเห็นประจิตรกับหญิงแปลกหน้า รูปร่างท้วมๆ ขาวๆ ที่นั่นบ้าง ที่นี่บ้าง หลายแห่ง และมากที่สุดเขาเห็นในโรงภาพยนตร์
สุนทรีไม่เคยประจัญหน้ากับประจิตรพร้อมกับนางลำเจียกแม้แต่สักครั้งเดียว ถ้าหล่อนจะได้เห็นนางลำเจียกบ้างก็เป็นเวลาที่ประจิตรไม่อยู่ในที่นั้นด้วย และส่วนนางลำเจียกเมื่อเห็นสุนทรีก็พยายามจะหลบ บางคราวอาการหลบของนางเปิดเผยเกินไป ทำให้สุนทรีเกิดโมโห
แต่นางลำใยมารดานางลำเจียกนั้นตรงกันข้าม เมื่อเห็นสุนทรีอยู่ที่ใด ก็พยายามจะเข้าหา แต่เข้าไม่ติด ด้วยคุณผู้หญิงแห่งบ้านนี้เป็นที่ยำเกรงแก่คนในบ้านมาก นางลำใยเป็นคนใหม่มาก็พลอยเกรงไปด้วย บางคราวสุนทรีสังเกตเห็นทั้งสีหน้าและแววตาของนางเต็มไปด้วยความใคร่ที่จะประจบ ใจของหล่อนอ่อนลงด้วยความเมตตา ก็ยิ้มให้นางหรือปราศรัยด้วยสักคำหนึ่ง นางก็ยิ้ม ตรงกับคำที่ว่า ‘แก้มแทบปริ’ และเก็บคำที่สุนทรีพูดด้วยไป ‘คุย’ กับคนใช้ในบ้านอีกหลายวัน
ฝ่ายประจิตรเอง ในตอนต้นก็ไม่เคยเอ่ยนามลำเจียกแก่สุนทรี สุนทรีได้จัดห้องให้นางลำเจียกและมารดาอยู่บนตึก ทั้งจัดเครื่องเรือนให้ตามที่เห็นสมควรด้วย ประจิตรได้ทราบแล้วก็หาเอ่ยปากถึงเรื่องนี้แก่สุนทรีแม้แต่สักคำหนึ่งไม่ แต่ภายหลังเมื่อเขาสังเกตเห็นสุนทรีแสดงกิริยาอาการต่อเขาเหมือนดังในกาลก่อนไม่ผิดเพี้ยน เขาได้ใจก็เริ่มกล่าวขวัญถึงนางลำเจียกและมารดาของนาง ต่อหน้าสุนทรีบ้าง
ครั้งหนึ่งเขาเล่าให้สุนทรีฟังว่า นางลำเจียกชอบเครื่องอาภรณ์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นอาภรณ์ที่ทำด้วยทองคำหรือนาก หรือเพชร หรือพลอย “เห็นเข้าละตัวสั่น อยากได้”
แล้วเขาก็หัวเราะ สุนทรีนึกถามตัวเองว่า ข้อขำของเรื่องนี้มีอยู่ที่ตอนใด?
อีกครั้งหนึ่งเขาเล่าว่า เขาได้แนะนำนางลำเจียกให้ดัดผมของนางเป็นแบบเดียวกับผมสุนทรี แต่นางไม่เชื่อเขา แล้วเขาจึงเสริมด้วยเจตนาจะยอผู้ฟัง “โง่เหลือเกินตัวอย่างดีๆ มีไม่ดู ไปเอาอย่างไอ้บ้าๆ อะไรก็ไม่รู้”
บางคราวเขาเล่าว่านางลำเจียกนั้นเปรียบเหมือนตุ๊กตา จับวางที่ไหนก็อยู่ที่นั่น “บอกให้นั่งก็นั่ง บอกให้นอนก็นอน ร้อยวันไม่พูดสักคำหนึ่ง สู้แม่ไม่ได้ แม่เก่งรอบตัว นวดก็ที่หนึ่ง จนเดี๋ยวนี้ฉันชักจะติดมือแก”
สุนทรีฟังแล้วก็คิดอยู่ในใจว่า “กำลังรักก็อยากพูดถึง ถ้าไม่พูดก็เห็นจะอกแตก” แล้วหล่อนก็ยิ้มเพราะไม่รู้ที่จะทำสิ่งใดดีไปกว่านั้น
แล้วภายหลังประจิตรก็พูดเรื่องบุคคลสองคนนี้บ่อยขึ้น เช่นเดียวกับที่เขาเคยพูดเรื่องต่างๆ ทั่วไปแก่สุนทรี
ครั้งหนึ่ง คำพูดของประจิตรเกือบจะทำให้สุนทรีระงับถ้อยคำ อันใกล้ไปในทางหมิ่นประมาทไว้ไม่อยู่
เรื่องมีอยู่ว่า สุนทรีกับประจิตรกลับจากดูภาพยนตร์ด้วยกัน ภาพยนตร์ที่เขาดูมาแล้วนั้น เป็นเรื่องหนักไปในทางความลำบากของหญิงหม้าย ที่จะต้องเลือกความรักระหว่างลูกชายและคู่รักของนาง มีคำพูดที่ซาบซึ้ง จับใจผู้ดู สุนทรีปรารภว่า
“แหม ! หนังยังงี้ไม่ไหว ดูแล้วปวดหัว จะปล่อยให้น้ำตาไหลออกมาก็อายเขา”
ประจิตรก็เอ่ยขึ้นว่า
“อะไรถึงกับยังงั้น ลำเจียกไม่เห็นแกเป็นอย่างนี้เลย ยิ่งกว่าเรื่องนี้แกก็ไม่เคยร้องไห้”
สุนทรีรู้สึกว่าใบหน้าของหล่อนร้อนผ่าว คำพูดอันรุนแรงแล่นขึ้นสู่ริมฝีปาก แต่พร้อมกันนั้นความนึกทุเรศในใจก็เกิดขึ้นด้วย “ผู้ชาย ! เขาไม่เคยลืมตาขึ้นประมาณคนรักของเขาเลยว่าแค่ไหน” คิดได้ดังนี้แล้วสุนทรีก็หัวเราะขึ้นด้วยเสียงอันดัง