๑๕

วันนี้ได้ฤกษ์ คุณป้าจะพางามพิศไปเที่ยวจวนข้าหลวง ข่าวนี้คุณป้าแจ้งแก่งามพิศตั้งแต่เช้า และต่อจากนั้นมาไม่ว่างามพิศจะจับทำสิ่งใด คุณป้าก็จะเฝ้าเตือนว่า “เร่งมือเข้าหน่อยซียะ” “ให้มันไวๆ เข้าหน่อยเถอะย่ะ” “อย่าให้มันอืดนักซียะ”

งามพิศตั้งต้นทำงาน ด้วยการกวาดถูห้องที่หล่อนนอนแล้วตั้งที่รับประทาน แล้วเก็บที่รับประทาน แล้วจัดกวาดในห้องคุณลุง ห้องรับแขก และยกพื้นหน้าห้องทุกห้อง การที่เหล่านี้เป็นหน้าที่ของเด็กผู้ชาย-แล้วซักผ้า และทำความสะอาดในกรงนก และจีบพลู แล้วรีดผ้า แล้วเข้าครัวกับคุณป้า ประกอบอาหารที่จะนำไปบรรณาการแก่ข้าหลวงด้วยในตอนเย็น แล้วก็พอดีถึงเวลาคุณป้าสั่งให้อาบน้ำแต่งตัว แล้วคุณป้าก็นำสร้อยเหลียวหลังสองสายมาผูกข้อมือให้หล่อน

ข้าหลวงกำลังรับประทานอาหารว่างอยู่กับธิดา เมื่อนางจำนงฯ ไปถึง เพราะเหตุที่ฝ่ายเจ้าของบ้านนั่งอยู่บนเก้าอี้ก็คะยั้นคะยอ ‘คุณนายนายอำเภอ’ ให้นั่งเสียบนเก้าอี้ด้วย แต่นางจำนงฯ เป็น หญิงในแบบ ‘ทีใครทีใคร’ เมื่อเขาเป็นนายก็ยอมให้เต็มที่ด้วยใจศรัทธา เมื่อถึงทีที่ตนเป็นนาย ใครไม่ ‘ลง’ ก็ต้อง ‘กด’ ให้ ‘ลง’ จนได้

ดังนั้นนางจำนงฯ จึงยังคงนั่งอยู่บนพื้นกระดาน ห่างจากโต๊ะเล็ก อันเป็นที่ตั้งอาหารเล็กน้อย ข้าหลวงเรียกคนใช้ สั่งให้นำเสื่อมาปู แล้วเชิญคุณนายรับประทานอาหารว่างด้วยกัน เมื่อคุณนายปฏิเสธ ข้าหลวงไม่ว่ากระไร แต่เมื่อหันมาชวนงามพิศนั้น ข้าหลวงกล่าวเป็นเชิงบังคับอยู่ในที

“งามพิศต้องกิน เป็นธรรมเนียม ผู้ใหญ่เขาเรียกต้องกินเสียหน่อย มานี่ มานั่งที่นี่....” หันไปทางคนใช้

“ยกเก้าอี้ตัวนั้นมา”

งามพิศตกใจเป็นอย่างยิ่ง มิรู้จะปฏิบัติอย่างไรถูก ก็ค่อยๆ เหลือบมองคุณป้า นางจำนงฯ ทำตาเขียวบุ้ยใบ้และกระซิบกระซาบตอบโดยเร็ว

“ไปซี ท่านเรียกไม่ไปได้หรือ”

ส่งศรีพยักพเยิดอยู่ทางหนึ่ง เมื่อเพื่อนนั่งลงบนเก้าอี้ก็แอบหยิกเอาเป็นการแสดงความดีใจ

“ยังมีกับข้าวมาส่งตามเคยด้วยรึ?” ข้าหลวงถามตาจับอยู่ที่ภาชนะอันตั้งอยู่ข้างนางจำนงฯ แล้วพูดสืบไป “เดชะบุญผมมาได้คุณนายเป็นอุปถาก ถ้าไม่ยังงั้นก็แย่ แต่ทีหลังเห็นจะหยุดส่งกับข้าวได้แล้ว เพราะแม่ครัวที่คุณนายหามาน่ะไม่เลวเลย ฝีมือไม่แพ้แม่ครัวที่กรุงเทพฯ”

“เขาเคยเป็นข้าหลวงในวังเจ้าค่ะ แล้วได้สามี ก็เลยติดตามกันมาอยู่ที่นี่ แล้วสามีเขาเสียเขาก็เลยค้าขายอยู่ที่ตลาดนั่นเอง”

“อ้อ ! มิน่าล่ะ ท่าทางกระฉับกระเฉงพอใช้”

นิ่งเงียบกันไปครู่หนึ่ง ข้าหลวงทำธุระกับอาหาร ภายหลังจึงถามขึ้นอีก

“ขุนจำนงฯ กลับจากพระแท่นแล้วเป็นยังไงมั่ง ยังไม่ได้ถามข่าวเลย พบกันก็พูดแต่เรื่องงาน”

“เมื่อยเจ้าค่ะ ปวดไปหมดทั้งตัว ต้องนวดกันพักใหญ่”

ข้าหลวงหัวเราะแล้วว่า

“ผมรอดตัว นั่งข้างหน้ากับคนขับ ชวนหนูนั่งด้วยแกไม่ยอม แกจะนั่งกับเพื่อนของแก จะชวนงามพิศนั่งข้างหน้าด้วยก็ไม่ไหว เบียดกัน แต่งามพิศแกเก่ง ไม่ได้ยินเสียงร้องสักทีเดียว” มองดูธิดา “แม่นี่ละไม่ไหว เสียงว้ายๆ ไม่หยุดเลย ถึงนวดเหมือนกันนี่”

“คุณหนูเห็นจะไม่ค่อยได้ออกหัวเมืองซีเจ้าคะ?”

“ออกทุกปี ก็เวลาโรงเรียนหยุด ผมอยู่ที่จังหวัดไหน แกก็ไปจังหวัดนั้น แต่ไม่ค่อยจะได้เดินทางกันดาร อันที่จริงผมคิดว่าทางไปพระแท่นนี่ไปได้สะดวกแล้วนะ ไม่ยังงั้นก็ไม่กล้าเอาลูกหนูไปด้วย”

“นายอำเภอบอกว่าเป็นที่ฝนตกน่ะเจ้าค่ะ....”

“ถูกแล้ว แล้วหน้านี้ป่าก็รกกว่าหน้าแล้ง คุณนายเห็นจะไปมาหลายหนแล้วกระมัง?”

“สองหนเท่านั้นแหละเจ้าค่ะ”

“อ้อ ! แล้วเป็นยังไงเลื่อมใสไหมเวลาไปถึงแล้ว?”

“อุ้ย ! ใจมันโปร่งเจ้าค่ะ คิดถึงพระพุทธองค์ โถ ! ชื่นใจ ถึงไม่ได้เห็นพระองค์ก็ยังได้ชมพระแท่นที่ท่านเข้านิพพาน”

ข้าหลวงยิ้มในหน้า แล้วถามต่อไปอีก

“ขึ้นบนเขาถวายพระเพลิงหรือเปล่า?”

“ขึ้นเจ้าค่ะ” คุณนายลงเสียงตอบ “เขาว่ากันว่าสูงนัก ขึ้นกันไม่ค่อยไหว บางคนถึงกับไปหมดแรงกลางทาง ยิ่งขึ้นไปๆ ขั้นกระไดก็ยิ่งหนี ดิฉันไม่เห็นเป็นอะไรเลยเจ้าค่ะ พักเดียวก็ถึงพระมณฑป”

“นับกระไดได้กี่ขั้น”

“๙๖ ขั้นเจ้าค่ะ”

“อ้อ ! คุณนายจะอายุยืนใหญ่ ! แล้วเวลากลับลงมาแล้วเมื่อยไหม หรือไม่เมื่อยเลย?”

“ไม่มีเลยเจ้าค่ะ พิโธ่ ! ได้ขึ้นไปนมัสการที่ถวายพระเพลิงทั้งทีจะเมื่อยอะไรเจ้าคะ”

ข้าหลวงคิดอยู่ในใจว่า “ขุนจำนงฯ ไม่ใจบุญเหมือนเมีย ถึงได้เมื่อยจนถึงปวด” แล้วถามสืบไปว่า

“พระวิหารที่มีพระแท่นน่ะเป็นยังไง?”

“งามเจ้าค่ะ ทำไว้ดี เตี้ยๆ ไม่ใหญ่โต ท่านผู้ที่สร้างเห็นจะได้บุญแรงจริงนะเจ้าคะ ไม่ยังงั้นพระแท่นก็ตากแดดตากฝน แล้วนกกาก็จะมาทำสกปรก”

“เอ ! ผมนึกว่านกกาแถวนั้นจะไม่ทำนะ แต่ต้นไม้ยังรู้ หญ้าก็ร้องไห้ ต้นรังก็โค้งเป็นพุ่ม นกกาทำไมจะไม่รู้ !”

ตอนนี้นางจำนงฯ มิรู้ที่จะตอบว่ากระไรจึงนิ่งอยู่

ข้าหลวงเลื่อนถ้วยกาแฟไปให้พ้นมือ พลางมองดูงามพิศ เห็นหล่อนนั่งก้มหน้าเฉยอยู่ก็ทักว่า

“ยังไม่ยอมกินอะไรจริงๆ แหละหรือ ขนมปังหน้าหมูเขาอร่อยดีนะ”

“รับประทานแล้วชิ้นหนึ่งค่ะ” ส่งศรีตอบแทน “เขาว่าเขาไม่หิว”

“ไม่กินของเค็มก็ลูกไม้ยังไงล่ะ ไอ้ลูกไม้น่ะถึงไม่หิวก็กินได้ไม่ใช่หรือ?”

ส่งศรีเอื้อมมือไปที่จานผลไม้ โดยไม่เงยหน้า งามพิศสะกิดขาเพื่อน พลางขยิบตาพร้อมกับสั่นศีรษะเชิงห้าม ส่งศรีก็ค้อนให้ แล้วหยิบเงาะสองผลยัดใส่ในมือเพื่อนที่ซ่อนอยู่ใต้โต๊ะ

กิริยาเหล่านี้ข้าหลวงเห็นโดยตลอด เข้าใจไม่ได้ว่าเหตุใดงามพิศจึงขลาดหรืออายถึงเพียงนั้น รู้สึกรำคาญเล็กน้อย จึงเบือนหน้าไปเสียทางหนึ่ง แล้วก็ลุกจากที่เดิมไปยังที่ๆ หีบบุหรี่วางอยู่ ฝ่ายส่งศรีก็ว่าแก่เพื่อนว่า

“เสียแรงท่านอ้อนวอน ถึงไม่หิวก็กินเสียหน่อยไม่ได้หรือ ทำอายไปได้ บ้าจริง”

“ท่านลุกไปแล้วน่ะ” งามพิศตอบ วางผลเงาะที่อยู่ในมือลงในจานตามเดิม แล้วยกถ้วยน้ำขึ้นจิบ

ข้าหลวงได้นั่งลงบนเสื่อใกล้กับนางจำนงฯ ส่งศรีจึงชวนเพื่อนลุกจากโต๊ะ จูงมือไปนั่งบนพื้นห้องทางฝาด้านหนึ่ง ซึ่งไกลจากท่านผู้ใหญ่ทั้งสองเล็กน้อย

“หนังสือเรียนของฉันมาแล้วเธอ” ส่งศรีกล่าวเมื่อได้นั่งลงแล้ว “แหม ! ตะละเล่มเบ้อเร่อๆ ขี้เกียจอ่านจัง ยังไม่รู้เลยว่าจะเลือกสอบอะไรก่อน”

“อะไรยากก็เลือกเอานั่นก่อนซี” งามพิศแนะด้วยเสียงเบาอย่างที่สุด และในน้ำเสียงนั้นมีความสนใจอย่างแรงกล้า ระคนอยู่กับความระมัดระวังตัว

“ยากที่หนึ่งก็ภาษาไทย”

งามพิศนิ่วหน้านิดหนึ่งพลางค้าน

“อะไรภาษาไทยยาก?”

“หือ ! ก็อย่างเธอก็เห็นว่าไม่ยากน่ะซี เธอคนเก่งนี่”

ที่จริงคำพูดของส่งศรีก็เป็นโวหารตื้นๆ อย่างที่บุคคลรุ่นนักเรียนย่อมใช้ปากคำกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ถ้างามพิศยังอยู่กับบิดาเหมือนในกาลก่อน ได้ฟังคำเถียงนั้นก็จะไม่มีความรู้สึกแปลกอย่างใดเลย แต่ในเวลานี้....งามพิศไม่ทราบว่าจะตอบเพื่อนว่ากระไร

ระหว่างนั้น คนใช้กำลังเก็บภาชนะไปจากโต๊ะอาหาร ข้าหลวงพูดขึ้นว่า

“เจ้านายป้านของคุณนายก็ใช้คล่องดีเหมือนกัน ดูเหมือนเคยอยู่กับข้าหลวงเก่าไม่ใช่หรือ เห็นขุนจำนงฯ ว่ายังงั้น”

“เจ้าค่ะ ท่านข้าหลวงเก่าก็ชอบมาก ท่านชวนเขาไปอยู่สมุทรสงครามด้วย แต่เขาไม่ไป เขาเป็นห่วงมารดาเขา”

“ลูกหนูชอบมาก ค่าที่เขาหัดรถถีบให้ เมื่อวานนี้หัดกันเท่าไรไม่ทราบ เจ้าป้านขาเว่อไปเป็นกอง”

คุณนายหัวเราะแทนคำตอบ ข้าหลวงพูดต่อไปเพื่อหาเรื่องสนทนากับแขกของตนมากกว่าอย่างอื่น

“เมื่อลูกหนูแกอยู่กับน้าที่กรุงเทพฯ แกมีเพื่อนเล่นมาก พี่น้องรุ่นๆ เดียวกันทั้งนั้นตั้ง ๔-๕ คน แล้วยังมีเพื่อนบ้านเพื่อนนักเรียนของแกอีกล่ะ แหม ! พอมาอยู่ที่นี่บ่นว่าเหงาทุกวัน ผมก็เห็นใจว่ามันเป็นอยู่หน่อยจริง ก็เลยตามใจให้แกหาเครื่องเล่นเครื่องเพลินต่างๆ ตามแต่แกจะชอบ ไอ้รถถีบๆ เป็นแล้วจะไปไหนๆ ได้สะดวก เช่นไปเล่นเทนนิสหรือแบดมินตันที่สโมสร นี่กำลังสั่งไปทางกรุงเทพฯ ให้เขาส่งไม้เทนนิสมาให้”

คุณนายนึกในใจว่า ข้าหลวงเลี้ยงลูกแบบนี้ถ้าตนมีลูกชายก็ไม่ขอปรารถนาจะเป็นทองแผ่นเดียวด้วย แล้วคุณนายก็มองไปทางหลานสาวพร้อมกับนึก “อย่างของเราไม่ให้ผัวหรือแม่ผัวติได้สักคำ”

ข้าหลวงมองไปทางที่บุตรีนั่งอยู่เหมือนกัน และถามเพื่อนของบุตรีว่า

“งามพิศ เมื่อแรกมาอยู่กับคุณป้ารู้สึกเป็นอย่างไรบ้าง?” เห็นหญิงสาวมีสีหน้าตื่น และงงจึงทำคำถามให้ชัดขึ้น “เหงาไหม?”

“เปล่าค่ะ”

ข้าหลวงหัวเราะ “อะไรเปล่า ! เหงาหรือไม่เหงาก็ว่ามาซี”

เหงา ! คำว่าเหงานั้นห่างไกลกับความรู้สึกของงามพิศมากเหลือเกิน จนหล่อนจะรับว่าเหงา หรือตอบว่าไม่เหงาก็ไม่ถูกทั้งนั้น งามพิศจึงก้มหน้าลงเสีย ไม่ตอบว่ากระไรทั้งสิ้น

ข้าหลวงมองดูหล่อน คิดในใจว่า “เด็กคนนี้พิลึก” เกิดความรู้สึกอย่างที่เรียกว่าขวาง แล้วนึกขึ้นได้ว่างามพิศเมื่อวันไปพระแท่นไม่มีอาการน่าเกลียดเช่นนี้ สงสัยว่าหล่อนจะเกรงขามคุณป้าเสียจนงกงัน ก็กลับสมเพชหันกลับมามองดูนางจำนงฯ พยายามจะ ‘อ่าน’ ให้ออกว่า หญิงกลางคนๆ นี้มีนิสัยอย่างใดแน่ ครั้น ‘อ่าน’ ไม่ออกดังใจ ก็หันไปทางงามพิศอีก

“อยู่บ้านทำอะไรมั่ง งามพิศ?”

“ทำงานค่ะ”

“งานอะไร?”

หญิงสาวแกะกระดาน หล่อนไม่ทราบจะยกงานตอนไหนขึ้นบรรยายก่อน คุณป้าจึงตอบแทนว่า

“ช่วยดิฉันเจ้าค่ะ งานบ้าน นั่นมั่งนี่มั่ง นิดๆ หน่อยๆ”

“ยังงั้นทำไมไม่ค่อยจะมาเที่ยวที่นี่มั่ง” ข้าหลวงว่า “ทีหลังหมั่นมาหน่อยนะ มาเองก็ได้นี่ ไม่ต้องกวนคุณป้าแล้วเวลาส่งศรีเขาถีบรถเป็นแล้ว เขาก็ถีบไปหามั่ง ผลัดกันต้องเอื้อเฟื้อกันหน่อยซี ดูแต่คุณป้ายังเอื้อเฟื้อฉันดีเบาหรือเป็นอุปถากแท้ๆ” แล้วข้าหลวงก็หันมาหัวเราะกับภรรยานายอำเภอ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ