๑๐

บ่ายวันจันทร์ ระหว่างทางที่สุนทรีนั่งรถจากโรงเรียนจะกลับที่อยู่ จิตใจของหล่อนวับๆ หวำๆ นึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดเมื่อวันวาน

เรื่องไม่เป็นสาระนั้นอาจจะยืดเยื้อไปหลายวันก็ได้ หรืออาจจะจบลงด้วยดีในวันนี้ก็ได้ แต่สุนทรีหวาดเกรงว่าจะยืดเยื้อไปมากกว่าที่จะจบลงโดยง่าย

ความจริงครั้งนี้มิใช่ครั้งแรก ที่ประจิตรกับสุนทรีมีข้อขุ่นเคืองใจต่อกัน ตรงกันข้าม สุนทรีกำหนดไม่ถูกว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่เท่าใด แต่หล่อนรู้แน่ว่าเป็นครั้งที่มีมูลเหตุอันไม่ควรที่จะเกิดผลเป็นเรื่องราว เช่นเดียวกับครั้งที่แล้วๆ มาเหมือนกัน

ถ้าประจิตรกับสุนทรีจะขัดใจกันในเรื่องที่มีมูลเหตุ เรื่องนั้นมักจะเป็นเรื่อง ‘เงิน’ กล่าวคือ ประจิตรเป็น ‘โรคขัดเพื่อนไม่ได้’ ในกรณีที่เกี่ยวกับ ‘เงิน’ นี้ ทั้งเมื่อ ‘ขัด’ ไม่ได้แล้ว เขาไม่มีแม้แต่สติปัญญาที่จะจดจำจำนวนเงินที่เขา ‘ควัก’ ไป หากเมื่อใดสุนทรีซักถามหรือตักเตือนเขาเรื่อง ‘เงิน’ เมื่อนั้น เขากับหล่อนก็เกิดเป็นปากเสียงกัน

ทุกครั้งที่แล้วมา ไม่ว่าจะเป็นครั้ง ‘เหลว’ หรือครั้งมีมูลเหตุ ประจิตรเป็นฝ่ายง้อสุนทรีก่อนเสมอ เพราะเหตุนั้นครั้งนี้สุนทรีจึงประหวั่นใจ หล่อนเกรงไปว่าประจิตรอาจทำเฉยเพื่อให้สุนทรีเป็น ฝ่ายง้อเขาบ้าง ซึ่งสุนทรีรู้สึกว่าเป็นการยากยิ่งที่จะทำให้สมใจเขา

แต่ครั้นเมื่อมาถึงที่อยู่ แต่พอรถเลี้ยวเข้าประตูบ้านสุนทรีก็ยิ้มออกได้ และนึกเย้ยความกลัวของตัวเองเป็นอันมาก ทางมุมตึกเยื้องไปข้างหลัง มีเด็กวิ่งเล่นอยู่เป็นหมู่มองเห็นหลังพวกเขาได้ไวๆ เขาคือลูกชายหญิงของพระวนศาสตร์โกศล

นี่คือวิธีเก่าของประจิตรซึ่งสุนทรีรู้จักดี

สิ่งหนึ่งที่สุนทรีชอบทำเป็นครั้งคราว เมื่อหล่อนมีใจปลอดโปร่ง คือการส่งรถไปรับน้องมายังที่อยู่ ดูแลให้เล่น ให้บริโภค พาไปเที่ยว และให้สิ่งของเล็กๆ น้อยๆ เป็นกำนัล แล้วก็พาตัวกลับไปส่งให้แก่บิดามารดา ถ้าคราวใดสุนทรีกับประจิตรโกรธขึ้งกันโดยที่ประจิตรเป็นฝ่ายก่อ ครั้นเขารู้สึกผิด ก็มักจะใช้วิธีไปรับน้องของสุนทรีมาที่บ้าน ทั้งนี้เพื่อประจบสุนทรีทางอ้อมนั่นเอง

สุนทรีลงจากรถแล้วก็ก้าวขึ้นตึก นำวัตถุที่นำมาด้วยจากโรงเรียนไว้บนโต๊ะเขียนหนังสือ แล้วก็ออกจากห้องนอนไปยังอีกห้องหนึ่งซึ่งมีหน้าต่างเปิดสู่มุมตึกด้านหลัง ประจิตรยืนหันหลังตรงมาทางช่องหน้าต่างพอดี สุนทรีรู้ว่าเขาคอยหล่อนอยู่ ด้วยเป็นธรรมดาของผู้ที่ทำการอย่างหนึ่งเพื่อเอาใจบุคคลหนึ่งก็ย่อมใจร้อนอยากเห็นว่าบุคคลนั้นจะต้อนรับการกระทำของตนสถานใด สุนทรีพาดแขนลงบนขอบหน้าต่าง ยิ้มกับเขาแล้วทักว่า

“ฮัลโหล !”

“ฮัลโหล” เขาทักตอบ ยิ้มยังคงมีลักษณะกระดากเจืออยู่เล็กน้อย แล้วถาม “กลับมาแล้ว?”

“เธอไปทำอะไรอยู่ที่นั่น?”

“ดูเด็กเขาเล่นกัน” เขาตอบพร้อมกับชี้มือไปข้างหน้า “ชะโงกตัวออกมาอีกหน่อยซี”

หล่อนทำตามเขา แล้วถามอย่างซื่อที่สุด

“เอ๊ะ ! นั่นดอดไปรับเอากันมาตั้งแต่เมื่อไหร่?”

“ออกจากทำงานก็เลยไปรับ กำลังสั่งให้เขาหาขนมมาเลี้ยง เธอจะกินน้ำชาที่ไหน?”

“กินกะเธอ” สุนทรีตอบสั้นๆ พร้อมกับยิ้ม แล้วก็ทำตัวให้หายจากหน้าต่าง

แวะเข้าในห้องนอนอีกครั้งหนึ่ง ล้างมือ เพิ่มนวลที่ผิวหน้ากับแต่งผมอีกเล็กน้อย.....ประจิตรทำตัวของเขาให้เป็นที่รักนักหนา ก็ชอบที่หล่อนจะทำตัวของหล่อนให้งามเพื่อตอบแทนเขาบ้าง แล้วสุนทรีก็ลงจากตึกไปรวมกับประจิตรและน้องเล็กๆ

เด็กหญิงสองคน คนหนึ่งอายุ ๑๔ อีกคนหนึ่งอายุ ๑๒ ขวบ เด็กชายอายุ ๘ ขวบ วิ่งมาล้อมสุนทรีอวดช้อคเคล็ตตุ๊กตาเรือบินซึ่งเป็นของกำนัลจากประจิตร เด็กอื่นๆ ที่เป็นเด็กในบ้านซึ่งประจิตร เรียกมาให้เล่นกับ ‘คุณๆ’ พากันแอบไปทางหนึ่ง สุนทรีปราศรัยน้องถามถึงบิดามารดาของเด็ก แล้วแสดงความประหลาดใจต่อประจิตร ซักถามว่าเขาเจียดเวลาไปหาของกำนัลให้เด็กได้อย่างไร?

ต่อจากนั้นไม่ช้า คนใช้ก็ยกถาดอาหารมาตั้ง เขาทั้งห้าคนรับประทานร่วมกัน

น้องของสุนทรีทั้งสามคน มีนิสัยค่อนไปทางนิสัยมารดาอยู่อย่างหนึ่งคือช่างพูด เมื่อพี่สาวถามนั่นถามนี่เด็กก็ตอบคล่องแคล่วปราศจากกระดากอาย และตอบเกินกว่าที่ถามก็มาก เพราะเหตุที่คุ้นกับพี่สาวเป็นอย่างดี ภายหลังเมื่อตอบโต้กันอยู่เช่นนั้นสักครู่ เด็กก็คุยกันเองบ้างตามประสาของเด็ก ซึ่งจะพูดลงรอยกันนานหาได้ไม่

ประจิตรก็พูดคุยกับเด็กด้วย และดูเหมือนจะสนุกสนานร่าเริงยิ่งไปกว่าเด็กเสียอีก แต่ความร่าเริงของเขาค่อนข้างจะมีความฟั่นเฝือแฝงอยู่เบื้องหลัง สายตาของเขาสอดส่ายตามจับตาสุนทรีอยู่ตลอดเวลา มิช้าสุนทรีก็ได้ความคิดว่าเขากำลังกระหาย จะให้หล่อนแสดงความรู้สึกปิติยินดี ยกย่องความเอื้ออารีของเขาให้ปรากฏแก่เขาอย่างเด่นชัด คิดต่อไปว่าลักษณะจิตใจเช่นนี้มิได้ผิดกับจิตใจของเด็ก คิดดังนี้แล้วความแช่มชื่นในใจสุนทรีก็ถอยลง

ครั้นใกล้ค่ำ สุนทรีกับประจิตรก็ละเด็กไว้ตามลำพังเด็กด้วยกัน เขาทั้งสองพากันไปแต่งตัว แล้วพาเด็กสามคนไปส่งยังบ้านพระวนศาสตร์ฯ รับประทานอาหารกับคุณพระและนั่งคุยอยู่ราวชั่วโมงเศษจึงลากลับ

ระหว่างเวลาที่นั่งรถมาด้วยกัน สุนทรีกับประจิตรต่างพูดคุยกันถึงเรื่องต่างๆ เกือบทุกเรื่อง นอกจากเรื่องที่เขาขัดใจกันเมื่อวันวาน สุนทรีปรารภอยู่ในใจว่า แม้ประจิตรจะได้ยอมแพ้หล่อนเช่นนี้แล้ว ก็ยังเป็นการที่จะเป็นไปได้ในข้อที่จะเพิกเฉยต่อเรื่องบุตรีหลวงประเสริฐฯ ต่อไปอีกหลายวัน ซึ่งทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นอีกว่า หล่อนควรจะเตือนเขาอีกหรือจะละเลยเสียชั่วคราว

ครั้นมาถึงบ้าน สุนทรีลงจากรถแล้วก็ตรงไปห้อง หล่อนมีงานที่ไม่ด่วนนัก แต่หล่อนต้องการจะทำให้เสร็จเพื่อความสบายใจในตอนหลัง แต่เมื่อหล่อนลงนั่งที่โต๊ะเขียนหนังสือ ประจิตรก็ถือหนังสือเล่มหนึ่งเข้ามาในห้องหล่อนด้วยเหมือนกัน และพาตัวไปนอนบนเก้าอี้นวมแล้วก็เปิดหนังสือออกอ่าน

เขานอนอ่านหนังสืออยู่เงียบๆ ดูเหมือนจะเพลิดเพลินในการอ่านมากด้วย แต่การที่เขานอนอยู่ในห้องนี่แหละ ทำให้สุนทรีขาดสมาธิที่จะประกอบความตั้งใจทำงาน สมองของหล่อนเริ่มปฏิเสธการรับรู้ข้อความที่จักษุประสาททำการถ่ายทอดส่งให้

สุนทรีเริ่มนึกเห็นภาพประจิตรกับหล่อนอยู่ด้วยกัน ในลักษณะเช่นนี้ เดือนหนึ่งประมาณ ๒๕ คืน ส่วนที่นอกไปจากนี้ เขากับหล่อนก็ยังคงอยู่ด้วยกันนั่นเอง เว้นแต่อยู่ในสถานอันมิใช่ที่อยู่ประจำ เช้าขึ้นเขาไปทำงานกระทรวง หล่อนอยู่ทำงานบ้าน ตอนบ่ายออกจากกระทรวงเขาตรงมาบ้าน หล่อนก็คอยรับเขาอยู่ ต่อจากนั้นเขาไปเล่นกีฬา ถ้าเป็นการสมควร คือเขาต้องการให้หล่อนไปก็ไปด้วย หากเขาชอบจะไปแต่ผู้เดียว ก็ตามใจเขา เขากลับมาถึงจะพบหล่อนแต่งตัวสะสวยคอยอยู่เช่นเวลาบ่าย ถึงเวลารับประทานอาหารหล่อนจะบอกชื่ออาหารที่หล่อนเป็นผู้สั่งเอง ถ้าเขาพอใจจะรับประทานก็รับประทานด้วยกัน ถ้าเขาไม่พอใจ จะรับประทานที่อื่น หล่อนก็เตรียมพร้อมที่จะไปกับเขา

ตอนกลางคืน หลังจากอาหารมื้อค่ำ ถ้าจะมีการไปเที่ยวเตร่บางครั้งบางคราวก็ไปด้วยกัน ถ้าไม่ไป หนังสือคนละเล่ม อ่านบ้าง คุยกันบ้าง มีวิทยุหรือหีบเสียงเป็นเพื่อนด้วย ดังนี้ก็ดูน่าที่เขาและหล่อนจะเป็นสุขดีเช่นเดียวกับมนุษย์สามัญทั้งหลาย

แต่.... สุนทรีเงยหน้าขึ้นจากสมุดเตรียมการสอนมองไปที่ประจิตร....แต่ประจิตรเคยอยู่บ้านโดยสงบเช่นนี้เดือนละกี่คืน? หรือจะเป็นที่เขายังไม่มีสิทธิหรือหน้าที่ๆ ควรจะปฏิบัติต่อหล่อนดังที่หล่อนใฝ่ฝันอยู่บัดนี้ ถ้าเมื่อไหร่เขามีสิทธิและหน้าที่ เขาย่อมจะปฏิบัติได้โดยครบถ้วน?....สุนทรีถอนใจ....เป็นความจริงหรือที่ว่าความรักอันแท้จริงย่อมจะมีอิทธิพลที่จะทำนิสัยส่วนสำคัญของบุคคลให้เปลี่ยนไปได้?...

“คิดถึงอะไร?”

สุนทรีสะดุ้ง ประจิตรพูดต่อแกมหัวเราะ

“แหม ! มองดูเราเสียจนเรารู้สึกว่าถูกมอง ทั้งๆ ที่กำลังอ่านหนังสือเพลิน”

“พ่อคนมีความรู้สึกไว ! เขาคิดถึงงานของเขาหรอก”

“ขอบใจ ทำไมไม่เอาตาไปไว้ที่อื่น เอามาไว้ที่ฉันทำไม”

“ฉันรู้ตัวเมื่อไรว่าฉันมองดูเธอ”

“ขอบใจ” เขาซ้ำ พร้อมกับลุกขึ้นนั่ง “ไอ้ตัวของฉัน หรือเก้าอี้ หรือหน้าต่าง ราคามันก็เท่ากัน” พูดเขาลุกขึ้นยืน

สุนทรีหัวเราะขึ้นทันที “ทำใจน้อยไปน่า !” หล่อนว่า “ก็เธออ่านหนังสือ ฉันก็ทำงานของฉัน ต่างคนต่างมีความพอใจกันไปคนละทาง จะเอาอะไรอีกล่ะ?”

“เมื่อฉันเข้ามาฉันไม่ได้ตั้งใจจะอ่านหนังสือเลย....”

“แต่เธอถือหนังสือเข้ามาด้วย ฉันจะรู้ได้ยังไงว่าเธอต้องการจะทำอะไร นอกไปจากอ่านหนังสือ”

“เดี๋ยวนี้รู้แล้วจะว่ายังไง?”

“ฉันก็เลิกทำงาน” พูดแล้วสุนทรีก็ปิดสมุดเสียทันใด

ประจิตรหัวเราะ แล้วถอยหลังกลับไปนั่งที่เดิม พูดว่า

“ฉันเกลียดผู้หญิงทุกคนที่ทำงาน ยิ่งพวกครูด้วยละยิ่งแล้ว”

“ขอบใจ ! ฉันรู้มานานแล้ว และรู้ยิ่งไปกว่านั้นด้วย”

เขาทำหน้าพิศวงและถาม

“รู้ยังไง?”

“รู้ว่าผู้ชายทุกคนเกลียดผู้หญิงที่มีความรู้”

“เพราะอะไร? เพราะอะไรถึงเกลียด?”

“เพราะผู้ชายชอบพูดข้างเดียว”

คำตอบของหล่อน ผิดจากใจจริงของเขาในขณะนั้นเป็นอันมาก ทำให้เขาออกฉิว แต่คืนนี้เขามีความตั้งใจที่จะเอาใจหล่อนมากกว่าที่จะชวนวิวาท จึงตอบว่า

“เธอดูถูกผู้ชายมากเกินไป ที่จริงฉันเกลียดผู้หญิงที่ทำงาน ก็เพราะว่าอ้ายงานนั่นมันนิวแซน อย่างเธอเวลาฉันอยากจะมานั่งพูดนั่งคุยด้วย ก็เห็นแต่นั่งทำงานร่ำไป ครั้นจะพูดขึ้นมาทั้งๆ ที่เห็นว่าทำงาน ก็จะกลายเป็นคนไม่มีกิริยา”

สุนทรียิ้มในหน้า “ราวกับพ่อจะมานั่งอยู่ด้วยบ่อยๆ” หล่อนนึก แล้วตอบว่า

“งานของฉันไม่ใช่ว่างานเร่งจะต้องทำให้เสร็จทุกคืนๆ เมื่อไหร่ ถ้าฉันรู้ว่าเธออยากจะพูดอะไรด้วย ฉันก็ไม่ทำมันเสียเท่านั้น แต่ถ้า....ไม่รู้จะพูดจะคุยกับใคร เจ้างานนั่นแหละเป็นเพื่อนดีที่สุด”

เขามิได้ไหวในคำพ้อซึ่งแฝงอยู่ในประโยคหลัง หรือถ้าหากจะไหวก็แสร้งทำไปเสียอีกอย่างหนึ่ง ถามว่า

“ถ้าไม่ทำแล้วละก็.... ลุกมาเสียจากโต๊ะนั้นได้ไหม?”

“ได้ แต่อยากรู้ว่าทำไมถึงต้องให้ลุก”

“ไม่สำคัญอะไรหรอก ชั่วแต่ฉันขี้เกียจตะโกน”

เจ้าหล่อนลุกขึ้นจากที่ ประจิตรมองดูหล่อนอยู่ตลอดเวลาที่เปลี่ยนอิริยาบถนั้น เมื่อหล่อนนั่งลงร่วมเก้าอี้ตัวเดียวกับเขาแล้ว เขาก็หัวเราะขึ้นเบาๆ

“หัวเราะอะไร?” สุนทรีถาม

“ผู้หญิงน่ะชอบโกหก”

“แน่ะ มาท่าไหนนั่น”

“ท่าจิตวิทยาอย่างเธอพูดเรื่องผู้ชายเมื่อตะกี้น่ะแหละ”

“ต๊าย !” สุนทรีอุทานพร้อมกับหัวเราะอย่างขบขัน “ยังอาฆาตไม่หาย ! จิตวิทยาตำราไหนกันที่ว่าผู้หญิงชอบพูดปด”

“ฉันไม่ได้ว่าผู้หญิงชอบพูดปดสักที ว่าชอบให้ใครๆ เขาปดให้ต่างหาก อย่างเธอ ถ้าฉันบอกว่าอยากให้มาจากโต๊ะเพราะอยากให้มานั่งใกล้ฉัน เธอก็หาลุกมานั่งยังงี้ไม่ ต้องพูดไปเสียอีกอย่างหนึ่งถึงได้มา”

“นั่นฉันตกหลุมพรางต่างหากล่ะ ฉันบอกหรือว่าฉันชอบให้เธอหลอกฉัน”

“ฉันพูดถึงผู้หญิงทั่วไป ไม่เฉพาะเธอ เมื่อกี้เธอพูดถึงผู้ชายทั่วไปฉันยังยอมแพ้ ทีนี้เธอยอมแพ้ฉันมั่งซี”

สุนทรีเอนศีรษะลงชิดพนักเก้าอี้ อมยิ้มมองดูเขานิ่งอยู่

ประจิตรเอ่ยขึ้นว่า

“ฉันไปหาบ้านอีตาประพันธ์พบแล้ว”

“แหม ! เร็วจริง” สุนทรีกล่าว น้ำเสียงแสดงความพอใจและพิศวงระคนกัน “ตั้งแต่เมื่อไหร่?”

“เมื่อกลางวันนี้เอง เมื่อแรกไปหาที่มหาวิทยาลัยไม่พบตัวแต่พบเพื่อนที่เขาอยู่ด้วยกัน เผอิญไปถามโดนตัวอีตาคนนั้นเข้าด้วย เคราะห์ดีพิลึก ทีนี้เราก็เอาตานั่นใส่รถให้แกนำเราไปที่ๆ แกอยู่”

“แต่ทำไมเธอถึงเดาไปหาแกที่มหาวิทยาลัยถูกล่ะ?”

“ก็รู้ว่าแกเรียนวิศวกรรม ตาหลวงเจนฯ แกบอกเมื่อสัก ๔-๕ วันมานี่เอง”

“แล้วเมื่อวานไม่บอกให้รู้สักคำ” สุนทรีนึก

ประจิตรเล่าต่อไป

“ตาประพันธ์เป็นนักเรียนวิศวะปีที่สอง เจ้าเพื่อนเพิ่งอยู่ปีที่หนึ่ง แล้วยังมีเพื่อนนักเรียนแผนกอื่นอยู่ด้วยอีกสองคนรวมเป็นสี่คน ฉันเขียนหนังสือฝากเพื่อนไว้ว่าพรุ่งนี้ ๕ โมงเย็นจะไปหา พรุ่งนี้เธอว่างไหมล่ะ?”

“ทำไม? จะให้ไปเป็นเพื่อน? เห็นตาประพันธ์เป็นผีไปอีกแล้ว?”

ประจิตรหัวเราะเบาๆ “ไม่ใช่ยังงั้นหรอก แต่เธอไปด้วยละก็ทำให้อุ่นใจ” เว้นระยะนิดหนึ่งจึงเสริม “ไม่ว่าที่ไหนถ้าเธออยู่ด้วยแล้วเป็นอุ่นใจฉันทั้งนั้น”

สุนทรีมองดูเขาอย่างใช้ความคิด แล้วพูดแกมหัวเราะ

“รู้สึกเหมือนตัวจะลอยขึ้นไปติดหลังคา ด้วยความที่ปลื้ม ทีนี้สงสัยว่าจะไม่อุ่นไปทุกทีอย่างว่าหรอก ถ้าฉันไปด้วยในที่บางแห่ง เช่นตามที่ๆ เธอไปพบหลวงเจนฯ ก็จะเกินอุ่นไปเท่านั้น”

“อ้าว ! ก็นั่นมันคนละเรื่องนี่น้า กลัวเธอจะเสียราศี ถึงจะอยากให้ไปด้วยแทบใจขาดก็ไม่พาไป หรือเธอกล้าพอที่จะไปล่ะ?”

หล่อนสั่นศีรษะ ดวงตามีแววหวานดังจะหยดแล้วว่า

“ไม่กล้า ถูกแล้ว ถูกของเธอ น้องชายฉันพูดถูก ทำถูกคิดถูกเสมอ”

เขาทำหน้านิ่วพลางว่า

“ทำไมนะ ถ้าเกิดความพอใจจะชม หรือจะเอื้อเฟื้อขึ้นมาสักหน่อยละก็เป็นต้องงัดอ้ายคำว่า น้องชายขึ้นมาทันที ดูช่างเป็นพี่เสียเหลือเกิน”

“เอ๊ะ ! ก็ไม่ให้ใช้คำว่าน้องจะให้ใช้ว่ากระไรล่ะ?”

“จะว่าเพื่อน หรือสหาย หรืออะไรๆ ก็ได้ หรือไม่ยังงั้นก็ประจิตรสั้นๆ ก็พอถมไป”

“ฮึ ! ไม่เคยนี่ เวลาพอใจก็พอใจน้อง เวลาคิดถึงก็คิดถึงน้อง เวลาเป็นห่วงก็เป็นห่วงน้อง”

“แต่เธอไม่ควรลืม ว่าเธอก็เป็นน้องฉันเหมือนกัน จำไม่ได้หรือ เมื่อคุณพ่อจวนจะเสีย ท่านสั่งฉันว่าให้เลี้ยงน้องเหมือนที่พ่อกับแม่เคยเลี้ยง”

“ท่านพูดไปตามที่ท่านฝันต่างหาก” สุนทรีตอบเป็นนัย

“ฉันไม่เชื่อว่าท่านฝัน” ประจิตรตอบ “ตัวฉันเองเวลานึกชมเธอก็ชมอย่างพี่ เวลาเป็นห่วงก็ห่วงอย่างพี่ แต่เวลาคิดถึงไม่คิดถึงอย่างพี่ รักก็ไม่รักอย่างพี่” พูดพลางเขามองหล่อนด้วยดวงตาอันมีแววเป็นประกาย

สุนทรีรู้สึกความไม่ปกติเกิดขึ้นแก่จิตใจอย่างแรงกล้า จนมิสามารถจะใช้โวหารตอบเขาให้เข้าเรื่องได้ อึดอัดใจเต็มที จึงแสร้งหาวและยกมือขึ้นปิดปาก แล้วพูดไปทางหนึ่ง

“ตกลงพรุ่งนี้ ๕ โมงเย็น ไปหานายประพันธ์ด้วยกัน”

ประจิตรรู้ดีว่าหล่อน ‘หลบ’ เขา นึกขำอยู่ในใจแต่ไม่คาดคั้น ยิ้มพลางมองดูหล่อนนิ่งอยู่

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ