๒๐
“ไทรโยค ไทรโยค !” หลวงชาญยนตรกิจทวนคำสองครั้ง แล้วลดเสียงเบาลง “แหม ! ผมอิจฉาจริง”
“ก็ดิฉันชวนอยู่เดี๋ยวนี้ไงล่ะคะ” สุนทรีตอบ “คุณหลวงก็มีวันหยุดเหมือนกันนี่”
นายแพทย์สุทัศน์มองดูหลวงชาญฯ พลางนึกในใจว่า พูดนั้นง่าย แต่จะให้เป็นดังพูดนั้นยาก หลวงชาญฯ ตอบเรียบๆ
“ปีนี้ท่าผมจะไม่ได้ลา งานท่วมหัว นายกันท่าไว้ตั้งแต่ต้นปีว่า ปีนี้ให้ทนเอาหน่อย”
“๑๐ วันเท่านั้นแหละค่ะ อย่างช้าที่สุด ๑๕ วัน”
“ไทรโยค ! มีท่อธารน้ำพุดุดั่น ตลอดลั่นไหลลงแต่ยอดผา เป็นโปล่งปล่องช่องชั้นบรรพตา เซ็นซ่าดังสายสุหร่ายริน”
“แหม ! คุณหลวงนี่เจ้าบทเจ้ากลอนจริง” สุทัศน์กล่าวมองดูผู้พูดอย่างทึ่งแกมนิยม “พูดกันห้าคำต้องมีบทกลอนเสียคำหนึ่งเสมอ”
หลวงชาญฯ หัวเราะ “ไม่ใช่นักแต่งบทกลอนหรอก” เขาตอบ “แต่ว่าชอบอ่าน แล้วมันเข้าไปติดอยู่ในหัวก็เลยพูดออกมา”
“อ่านแล้วจำได้ นี่ซีคะวิเศษนัก” สุนทรีว่า “แล้วยังไงอีกคะดิฉันอยากฟังไว้ เผื่อไปถึงจะได้ดูว่างามเหมือนกับที่ท่านกล่าวไว้หรือไม่เหมือน”
“บ้างเป็นท่อแถวทางหว่างบรรพต เลี้ยวลดไหลมาไม่รู้สิ้น น้ำใสไหลซอกศีขริน หวังถวิลถึงสวาสดิ์ไม่คลาดคลา”
“พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕ ใช่ไหมคะ?”
“รัชกาลที่ ๑ ทรงเมื่อคราวเสด็จไปรับทัพพม่า”
สุนทรีทำท่าฉงน ภายหลังจึงตอบ
“เอ ! ทำไมดิฉันถึงฝันว่าพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕ ?”
“เพราะรัชกาลที่ ๕ ทรงเชิญพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ มาไว้ใน ‘ไดอรี่ซึมซาบ’ คุณคงได้อ่านเรื่องนี้แล้วก็เลยเอาไปปนกัน” แล้วหลวงชาญฯ ถามต่อไป “คุณจะไปกับใครมั่ง”
“ยังไม่ทราบแน่เลยค่ะ ทราบแต่ว่าขบวนจะใหญ่แล้วออกจะวิตถาร คือว่าไปกับผู้นำคนหนึ่งที่ไม่เคยรู้จักกันมาแต่ก่อนเลย แต่เราก็ต้องพึ่งบารมีเขานั่นแหละถึงจะไปได้”
“ใครครับ?” สุทัศน์ถามน้ำเสียงแสดงความสนใจมาก
สุนทรีออกนามและตำแหน่งในราชการของหลวงเอนกประชากร สุทัศน์ก็ซักอีก
“ไม่รู้จักทำไมไปติดต่อกับเขาได้” นักแสด
“ก็คือว่าดิฉันไม่ได้ติดต่อหรือทำอะไรกับใครเลย เพื่อนคนหนึ่งเขาเป็นครูที่รักอย่างยิ่งของศิษย์คนหนึ่ง ศิษย์คนนั้นมีลุงเขยเป็นหลวงเอนกฯ คนนี้แหละ เขาตั้งต้นคิดกันมาอย่างไรก็ไม่ทราบ ในที่สุดก็มาชวนดิฉันด้วยดิฉันก็ชอบอยู่แล้วนี้ การเที่ยวน่ะ พอเขาชวนก็ไม่รั้งรอเลย นอกจากนั้นยังเจ้าหน้า เที่ยวชวนคนอื่นอีก”
“เป็นต้นว่าใครบ้าง” สุทัศน์ถาม
“คุณประจิตรคนหนึ่ง คุณหลวงชาญฯ เป็นคนที่สอง แล้วก็กำลังจะชวนคุณเป็นคนที่สาม”
“ผมฝันมานานแล้ว ไทรโยคนี่” หลวงชาญฯ กล่าว “เพราะคุณพ่อท่านเอาใส่หัวผมไว้ตั้งแต่ผมตัวเล็กๆ ว่างามนักงามหนา แต่ว่ากันดารด้วยประการทั้งปวง ตัวท่านเองน่ะ ท่านเคยตามเสด็จรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ ก่อนผมเกิด ๒๗ ปี”
สุทัศน์มองดูหลวงชาญฯ อีกครั้งหนึ่ง ด้วยสายตาแสดงความทึ่งอย่างคราวก่อน แล้วออกปาก
“ช่างจดช่างจำอะไรต่างๆ”
“เพราะยังงั้นถึงคุยสนุก” สุนทรีเสริม แล้วพูดสืบไป “ดิฉันก็เคยได้ยินว่าไทรโยคนี่ไปลำบากมาก อันตรายก็มากด้วย แต่เมื่อเขาไปกันได้เราก็ไปได้เหมือนกัน แหม ! อยากให้คุณหลวงไปด้วยจริง คงสนุกอีกเยอะ”
หลวงชาญฯ ยิ้มน้อยๆ และตอบเรียบๆ
“หมู่นี้ผมกระดิกตัวไม่ได้จริงๆ” เบือนหน้าไปทางชายหนุ่มอีกนายหนึ่ง “คุณสุทัศน์ว่ายังไง ถ้าผมเป็นคุณละก็ผมไม่ละโอกาสเป็นแน่”
“โอกาสที่จะได้ร่วมทางไปกับคุณสุนทรี ผมก็ไม่อยากจะละเหมือนกัน แต่ว่า....ยังไม่เหมาะ ถ้าคุณหลวงไปด้วยบางทีผมก็จะ....จะ....พยายามไป”
หล่อนนึกขำคำของเขา จึงยิ้มและพูดเป็นเชิงงอน
“แปลว่าดิฉันเจียมตัวน้อยไปหน่อย ที่อาจหาญชวนคุณสุทัศน์”
สุทัศน์เห็นว่ายิ้มของหล่อนบาดตาเขา ทำให้นึกโกรธ จึงตอบด้วยสีหน้าอันส่อให้เห็นความตั้งใจที่จะ ‘กระแทก’ โดยแรง
“ผู้ชายโดยมากชอบผู้หญิงที่ไม่ค่อยเจียมตัว เพราะฉะนั้นไม่ใช่ความผิดของคุณ”
ด้วยความที่ไม่เคยคาดว่าเขาจะ ‘มาไม้นี้’ ต่อตนและมองไม่เห็นจนนิดเดียวว่าตนผิดสถานใด สุนทรีมิรู้ที่จะตอบว่ากระไรถูก และโลหิตในตัวก็ฉีดแรงจนหล่อนรู้สึกร้อนถึงใบหู
สุทัศน์พูดสืบไปทันที ด้วยสีหน้าและน้ำเสียงผิดจากประโยคก่อนอย่างตรงกันข้าม
“ผู้หญิงที่เจียมตัวเกินไปทำให้ผู้ชายลำบากมาก แล้วทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันบ่อยๆ คือผู้ชายไม่รู้ว่าหล่อนเจียมตัว หรืออาย หรือเป็นเพราะเกลียดหน้าไม่อยากพูดด้วยนั่นเอง ที่จริงอะไรๆ ก็สู้ตรงไปตรงมาไม่ได้ ขอบคุณคุณมากที่กรุณาชวนด้วยความหวังดี แต่ว่าผู้ชายกับผู้หญิงถึงจะถูกคอกันอย่างไรก็ต้องมีขีดคั่น ไม่เหมือนผู้ชายด้วยกัน”
สุนทรีมองดูเขาอย่างสนเท่ เดาความคิดเขาไม่ถูกก็นึกในใจว่า “พิก๊ล”
“คุณจะออกเดินทางเมื่อไหร่?” หลวงชาญฯ ถาม
“ยังไม่มีกำหนดแน่เลยค่ะ ทราบแต่ว่าในระหว่างเดือนมีนา อย่างช้าก็ต้นเดือนเมษา ทางเจ้าของถิ่นเขาต้องกะเวลาให้ เพราะเขาต้องถือน้ำเป็นเกณฑ์ น้ำน้อยนักก็ไปไม่ได้ไกล น้ำมากนักก็จะไม่ได้เห็นของดีๆ ต้องเลือกตรงพอเหมาะ”
ประจิตรเดินเข้ามาในห้อง แต่งตัวเสร็จเรียบร้อย สุนทรีจึงถามหลวงชาญฯ
“เราจะไปกันแต่เดี๋ยวนี้เทียวหรือคะ?”
“แล้วแต่เลดี้” หลวงชาญฯ ตอบ แล้วหันไปทางสุทัศน์ “ยังงั้นไม่ใช่หรือ?”
อีกฝ่ายหนึ่งตอบแกมหัวเราะ
“ก็ควรจะเป็นอย่างนั้น” แล้วหันไปถามประจิตร “ยังงั้นไม่ใช่หรือ?”
“ก็ต้องยังงั้นเป็นธรรมดา” ประจิตรตอบและ ‘โค้ง’ ให้สุนทรีนิดหนึ่ง แล้วก็นั่งลงบนเก้าอี้ข้างตัวหล่อน
สุนทรียิ้มละไม “รับประทานเบียร์อีกคนละถ้วยก่อนแล้วถึงค่อยไป” หล่อนเชิญ มองไปทางขวดเบียร์ที่ตั้งอยู่กลางโต๊ะเห็นพร่องมากเหลืออยู่ไม่ถึงครึ่ง หล่อนก็ลุกขึ้นจากที่ ประจิตรชิงลุกขึ้นด้วยพร้อมกับพูด
“ฉันไปเอง”
“ไปไหน?” เจ้าหล่อนถาม
“ไปเรียกเบียร์น่ะซี”
“นั่งลงเถอะ ฉันมีธุระอื่นด้วย” หันไปทางแขกของหล่อน “ขอโทษนะคะ ขอเวลาประเดี๋ยว”
“ไปผัดหน้า !” ประจิตรทายพร้อมหัวเราะ
“ฮื้อ!” สุนทรีอุทาน ไม่ปฏิเสธ แต่แก้ว่า “ยังไม่ได้ใส่รองเท้า” แล้วหล่อนก็ออกจากห้องรับแขกไป
ราว ๑๕ นาทีภายหลัง หนุ่มสาวทั้งสี่ก็ออกจากที่เดิม ไปโดยรถซึ่งมีประจิตรเป็นคนขับ และสุทัศน์นั่งคู่คันหนึ่ง กับรถซึ่งหลวงชาญฯ เป็นผู้ขับ สุนทรีนั่งไปด้วยอีกคันหนึ่ง
เมื่อถึงร้านอาหารจีน ซึ่งเขาทั้งสี่ได้พร้อมใจกันเลือกแล้ว ขณะที่จะขึ้นบันไดไปยังชั้นบนอันเป็นชั้นที่สอง หลวงชาญฯ มองเห็น นายสิงห์ มุสิกกุล ยืนอยู่ในห้องใหญ่อันมิใช่เป็นห้องเฉพาะ จึงบอกแก่คณะของตนและชวนกันเพื่อเข้าไปปราศัย ประจิตรเดินอยู่หลังที่สุดทักขึ้นก่อนว่า
“แมวมาหรือเปล่าโว้ย ไอ้หนู”
นายสิงห์ทำหน้าอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นเครื่องหมายแจ้งให้สหายทราบแทนคำตอบ พร้อมกับหลวงชาญฯ หันมาบอกประจิตรว่า
“แมวนั่งอยู่นั่น”
ประจิตรแลบลิ้นยาวแล้วก็หัวเราะ สุนทรีตรงเข้าทักทายสหายหญิง ครั้นแล้ว เมื่อต่างฝ่ายต่างทราบว่าอีกฝ่ายหนึ่งมารับประทานโดยไม่มีเหตุการณ์อย่างใดพิเศษ นอกจากเพื่อเปลี่ยนรสอาหารและสนุกกันระหว่างเพื่อนฝูง กระแสและสามีของหล่อนก็ต้องย้ายจากที่เดิม เพราะผู้ที่มาใหม่ชวนให้ขึ้นไปรับประทานอาหารกับเขาในห้องชั้นบน
สุทัศน์และหญิงทั้งสองช่วยกันสั่งอาหาร ชายหนุ่มอีกสามนายจึงจับกลุ่มกันอยู่อีกทางหนึ่ง หลวงชาญฯ กล่าวแก่สิงห์ว่า
“กินแล้วไปดูหนังกันนะ” แล้วเขาบอกชื่อเรื่องภาพยนตร์แก่สหายด้วย
“ต้องถามหนู บางทีแกจะไปไม่ได้” สิงห์ตอบ
“ทำไม?” หลวงชาญฯ ถาม “กลัวดึกรึ?”
“ไม่ใช่ แต่ว่าแกลูกอ่อนนี่”
“ก็เวลานี้อยู่ได้ยังไง?” ประจิตรถาม
“ก็ลูกมันกินนม....”
“อ๋อ !” หลวงชาญฯ ว่าแล้วหัวเราะ “แม่ต้องกลับไปเปิดร้าน”
นายสิงห์มีกิริยาแสดงว่าปรารถนาจะร่วมสนุกกับเพื่อนให้นานเหมือนกัน รีบตรงเข้าไปหารือภรรยา
“ไปได้” กระแสตอบ “ตอนสี่ทุ่มนี่แกกินนมกระป๋องต่างหาก แต่เราไม่มีรถมานี่คะ กลับบ้านดึก รถ ๓ ล้อไปลำบาก”
“เรามีรถมาถึงสองคันนี่ครับ” สุทัศน์ตอบ
“ยังกะใครเขาจะดูดาย ให้กลับ ๓ ล้อกันสองคนผัวเมีย” ประจิตรกล่าว แต่หลวงชาญฯ ค้านว่า
“ว่าไม่ได้ บางทีเราอาจนึกว่าหนูจะขี่สิงห์ไปได้สบาย”
“ตกลงดิฉันนี่เป็นหนูหรือเป็นแมวแน่?” กระแสถาม
“โดยนิตินัยเป็นหนู” หลวงชาญฯ ตอบ
“หนูหรือแมวก็เป็นเบี้ยบนนายสิงห์วันยังค่ำ” ประจิตรต่อ
มีเสียงหัวเราะอย่างเห็นด้วยประสานกันหลายเสียง กระแสหน้าแดง พยายามค้านด้วยเสียงอันดัง แต่ไม่เป็นประโยชน์อันใด เพราะสามีของหล่อนมิได้ช่วยหล่อนค้านด้วย
การรับประทาน ซึ่งดำเนินไปพร้อมกับการพูดคุยกันอย่างสนุกนั้น ถึงที่สุดลงแต่ยังไม่ถึง ๒๑ นาฬิกา จึงมีการปรึกษากันว่าจะใช้เวลาที่เหลืออยู่เกือบชั่วโมงให้หมดไปโดยสถานใด หลวงชาญฯ ว่าให้ทำลืมเสียประเดี๋ยว ก็จะถึงเวลาเข้าโรงภาพยนตร์ ประจิตรว่าเมื่ออิ่มแล้วเช่นนี้รู้สึกว่าสถานที่ๆ เขานั่งอยู่ร้อนและจอแจเป็นที่น่ารำคาญ เพราะฉะนั้นให้ไปคอยที่ในโรงภาพยนตร์ดีกว่า แม้ที่สุดภาพยนตร์ยังไม่หมดรอบ ต้องนั่งคอยอยู่ในรถ ก็ยังจะได้ชมโฉมนักดู สุนทรีแนะให้ไปนั่งรถตากอากาศ จนกว่าจะถึงเวลาควรเข้าโรงภาพยนตร์
“ผมเห็นด้วย” สุทัศน์กล่าว “สิงห์กับคุณกระแสว่ายังไง?”
“ดิฉันว่ายังงั้นดี” กระแสตอบ -
“ผมอย่างไหนก็ได้” สิงห์ตอบ
“สำคัญที่หนู” ประจิตรกล่าวว่า “สิงห์ของเรามันสิงห์เท้าหลังนี่”
กระแสฉวยผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นปนน้ำหอม ซึ่งหล่อนใช้เช็ดมือแล้ว ปาลงไปที่ตักเขาพร้อมกันค้อนให้แล้วก็ลุกขึ้นจากที่
เมื่อออกจากร้านอาหาร ประจิตรจับแขนสิงห์และกระแสไขว้ไว้กับแขนของเขาข้างละคน พาไปยังรถที่เขาเป็นผู้ขับ หลวงชาญฯ พาสุนทรีไปยังรถอีกคันหนึ่ง สุทัศน์เป็นผู้ชำระค่าอาหาร จึงออก จากร้านทีหลังที่สุด เมื่อเขายืนรอรถที่แล่นผ่านไปมา เพื่อหาช่องข้ามฟากถนน สิงห์ก็เรียกเขาอยู่ทางหนึ่ง หลวงชาญฯ ก็เรียกอยู่อีกทางหนึ่ง ใจสุทัศน์อยากไปทางหลวงชาญฯ แต่แล้วเขาก็เดินไปในทางตรงกันข้าม
รถประจิตรออกก่อนและแล่นนำหน้า ตัดถนนที่ขวักไขว่ด้วยยวดยาน จะไปสู่ทางที่ปลอดโปร่งตามที่สุนทรีได้ขอร้องไว้ รถหลวงชาญฯ ตามไปเบื้องหลังในระยะห่างหน่อย เพื่อมิต้องรับละอองฝุ่นจากรถคันหน้ามากนัก
มาตามทางถนนแรกๆ จากร้านขายอาหารนั้น พบรถจักรยาน ๓ ล้อมากมายตรงกับคำว่า ‘ยุ่บยั่บ’ และมักจะมีคันที่แล่นแซงเพื่อนรถประเภทเดียวกัน เป็นเหตุให้เฉียดหรือตัดหน้ารถยนต์ไปในระยะอย่างน่ากลัวอันตราย ทำให้สุนทรีใจหายหลายครั้ง แต่ครั้นแล้วหล่อนก็นอนใจได้ เมื่อสังเกตเห็นว่าหลวงชาญฯ ขับรถเรียบและมีความระมัดระวังดีกว่าประจิตรหลายเท่า
อย่างไรก็ตาม ไม่ช้านักหล่อนได้เอ่ยขึ้นว่า
“รถ ๓ ล้อนี่งอกเร็วจริงนะคะ”
“เร็วมาก แล้วก็นิวแซนมากที่สุด” ผู้ที่นั่งข้างหล่อนเสริม “แล้วก็เกินต้องการด้วย ผมเคยนั่งนับรถว่างคิดเฉลี่ยแล้ว ๑๒ คันถึงจะมีคนนั่งคันหนึ่ง”
“ก็ยังงั้นเขาทำไมถึงปล่อยให้งอกมากนักล่ะคะ? รกถนนโดยไม่มีประโยชน์”
“เพราะเป็นรายได้ส่วนหนึ่ง แล้วก็เฉลี่ยการหากินแล้ว ก็คนนั่งได้นั่งโดยราคาถูก”
“แล้วมันคุ้มกันไหมคะ กับค่าเครื่องอุปกรณ์รถที่เราต้องซื้อจากต่างประเทศ เพราะว่ารถว่างหรือรถที่มีคนนั่งก็สึกหรอเท่านั้น เพราะมันแล่นอยู่เรื่อย ต้องซ่อมมันเรื่อย ต้องซื้อของที่มาจากต่างประเทศเรื่อยๆ”
หลวงชาญฯ นึกชมความรู้ความคิดของคู่สนทนาอยู่ในใจ แล้วตอบว่า
“ผมเองก็ยังไม่เคยคิดถึงข้อนี้ ว่างๆ จะต้องถามคนที่เขามีความรู้ มีการติดต่อกับเรื่องนี้ดูสักทีเขาคิดยังไงกัน ผมเคยคิดแต่ว่าการที่มีมากนัก ทำให้คนที่ขยันหมั่นมาหากินต้องทำงานหนักมากเพราะถูกแย่งงาน แต่เจ้าพวกที่สุกเอาเผากินน่ะสบายดี เพราะวันหนึ่งถีบสัก ๓-๔ เที่ยวพอให้ได้ค่าเช่ารถ แล้วก็เหลือกินสัก ๑๕-๒๐ สตางค์ก็พอใจแล้ว นอนกอดรถหลับได้ บางทีหาได้เอาซื้อกินเสียก่อน แถมเล่นล้อต๊อกเสียด้วยซ้ำ ค่าเช่ารถไม่ต้องหามันแล้ว อุบเลย เจ้าของรถก็ไม่มีปัญญาจะทำอะไร”
สุนทรีใคร่ครวญอยู่ครู่หนึ่ง ในที่สุดก็พูดว่า
“ยาก ! พูดไปพูดมาก็มาถึงปัญหายุ่งยากตามเคย”
หลวงชาญฯ ยิ้มแทนคำตอบ
ทั้งสองฝ่ายนิ่งเงียบไปด้วยกัน สุนทรีรู้สึกความสำราญซึ่งเกิดจากการได้รับลมแรง และได้อากาศบริสุทธิ์ดวงจิตของหล่อนกำลังรื่นรมย์ อยู่ในความสงบใจสบายกาย ส่วนหลวงชาญฯ ก็มีความรู้สึกไม่ต่างกับหล่อนมากนัก
เป็นครู่ สุนทรีนึกเกรงเพื่อนร่วมทางจะเหงา จึงเอ่ยขึ้นว่า
“เสียดายจริงคุณหลวงไม่ได้ไปไทรโยคด้วย ได้เพื่อนเดินทางอย่างคุณหลวงจะสนุกดีเหลือเกิน”
“ผมก็เสียใจจริงๆ ที่ไปไม่ได้”
“ดิฉันรู้สึกว่า ไปกับใครก็คงไม่เหมาะเหมือนคุณหลวง” สุนทรีกล่าวสืบไปตามใจจริง “ไปในเรือหลายๆ วันหลายๆ คืนอย่างที่ดิฉันจะไปนี่ หนึ่งทีเดียวต้องถูกชุดกัน แล้วต้องมีคนที่คุยสนุก รู้จักของขัน รู้จักสิ่งที่สวยงาม” หัวเราะๆ พอเป็นเสียง “มีบทมีกลอนประกอบนิดหน่อย ทำให้สิ่งที่เราเห็นว่างามอยู่แล้วน่ะงามขึ้นอีก”
หลวงชาญฯ ไม่ตอบ ทั้งที่ความคิดติดแน่วอยู่กับคำที่สุนทรีกล่าวแล้วนั้น
แล้วเขานึกประหลาดใจในคำที่สุนทรีกล่าวขวัญถึงตัวเขา เขาเคยรู้สึกว่าเพื่อนชายทั้งหลายมักพอใจเที่ยวเตร่กับเขา ไม่ว่าจะเป็นการเที่ยวในทางสูงหรือในทางทราม แต่สำหรับผู้หญิงเขาเชื่อแน่ว่า ตัวเขาไม่เคยเป็นผู้ที่ช่างพูดถูกใจผู้หญิงคนใดเลย
แม้แต่ภรรยาของเขาเอง เมื่อเขาพูดเรื่องธุระส่วนตัวระหว่างเขากับหล่อน เช่นแสดงความประสงค์อย่างนั้นอย่างนี้ ให้อย่างนั้นเป็นนั่นให้อย่างนี้เป็นนี่ ฯลฯ หล่อนก็โต้ตอบหรือฟังตั้งใจดีอยู่ แต่ถ้าเมื่อใดเขาตั้งต้นคุยกับหล่อน เมื่อนั้นเขาก็เห็นหล่อนมีอาการนิ่งเหม่อลอยหาว แล้วก็เริ่มเปลี่ยนเรื่องใหม่ทันทีที่หล่อนมีโอกาส
ในบรรดาหญิงที่เป็นเพื่อนของภรรยาของเขาก็เหมือนกัน เมื่อหล่อนคุยกันอยู่ในหมู่ของหล่อน เขาเข้าไปร่วมวงด้วย เขาเป็นผู้ฟัง หล่อนก็คุยได้ ถ้าเมื่อใดเขาเริ่มคุยบ้าง เมื่อนั้นหล่อนก็พากันนิ่งเงียบ หรือเลี่ยงจากเขา มิโดยตรงก็โดยปริยาย....สุนทรีเป็นหญิงคนแรกที่แสดงตัวว่าหล่อนชอบฟังเขาพูด
รถคันหน้าซึ่งแล่นอยู่ในถนนใหญ่ เลี้ยวเข้าในถนนซอยเล็ก สุนทรีจึงทักด้วยความสงสัย
“เอ๊ะ ! นั่นเขาเลี้ยวไปไหนกัน?”
“ถ้าจะแวะเข้าบ้านหมอสุทัศน์ละกระมัง” หลวงชาญฯ ตอบโดยเดา พร้อมกับมองดูนาฬิกา “ยังเหลือเวลาอีก ๒๐ นาที”
การเป็นจริงดังหลวงชาญฯ ว่า พอรถหลังหยุดต่อจากรถหน้า ประจิตรก็มายืนข้างสุนทรีและพูดแกมหัวเราะ พร้อมกับเปิดประตูรถให้หล่อน
“เลดี้ในรถเราบอกว่าใกล้เวลาลูกเคยหิว เพราะฉะนั้นถ้าขืนไปต่ออีก ๕ นาที แม่จะต้องแย่งเครื่องแต่งตัวนายสิงห์ เวลานี้เป็นแต่แย่งผ้าเช็ดหน้า”
สุนทรีอมยิ้มลงจากรถหลีกเขาไป พอดีกับกระแสเดินมารับอีกคนหนึ่ง จับข้อมือเพื่อนหญิงไว้ แล้วกระซิบกระซาบพลางหัวเราะคิกคัก
เจ้าของบ้านพาหญิงสาวทั้งสองขึ้นไปชั้นบน เปิดไฟฟ้าให้เสร็จแล้วก็กลับไปเบื้องล่าง
กระแสเข้าในห้องหนึ่ง สุนทรีพบตัวเองอยู่ในห้องนอน เป็นห้องเล็กแต่ไม่คับแคบ มีเครื่องแต่งครบชุดงามและเป็นระเบียบ ความสะอาดเรียบร้อยปรากฏอยู่ทั่วไปในต่อม
สุนทรีผัดหน้าด้วยฝุ่นที่หล่อนมีประจำอยู่ในกระเป๋าถือ พร้อมกับพิจารณาดูห้องนี้โดยละเอียด แล้วรู้สึกพอใจที่ได้มาถึงบ้านที่หล่อนได้เคยมาเป็นครั้งแรกนี้
สุนทรีเป็นหญิงที่รู้จักชายหนุ่มๆ เป็นจำนวนมากที่สุด เพราะประจิตรผู้ซึ่งมีเพื่อนมากหน้าหลายตา เป็นผู้ที่ชอบให้ผู้ที่อยู่ร่วมเคหะกับเขา ได้รู้จักกับเพื่อนทุกคนของเขาด้วย แต่สุนทรีรู้เรื่องราวส่วนตัวของชายที่หล่อนรู้จักน้อยที่สุด เพราะนิสัยของหล่อนไม่มากไปด้วยความสอดรู้สอดเห็นก็อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งนั้นเป็นเพราะประจิตรเป็นผู้ที่ไม่เล่าเรื่องของใครโดยละเอียด เมื่อเขากล่าวขวัญถึงเพื่อนๆ ของเขา เขากล่าวแต่เพียงสั้นๆ ตามอารมณ์ที่อยากพูดอยากปรารภ เมื่อสุนทรีนึกทึ่งซักถามต่อไป เขารู้สึกคร้านที่จะพูดเสียแล้ว ก็ตอบให้ฟังได้เค้าแต่เพียงเลือนๆ สุนทรี ไม่มีความพยายามที่จะซักก็ละความเอาใจใส่เสีย ไม่จดจำเรื่องที่ประจิตรเล่าแต่เพียงย่อๆ ไว้
สุนทรีรู้เรื่องของสุทัศน์ แต่เพียงว่าเขาได้ปริญญาแพทย์จากประเทศอังกฤษ เป็นผู้ที่มีพี่น้องหลายคน เป็นผู้ที่ท่านบิดาของหล่อนยกย่องว่าเป็นแพทย์ที่ดี และในระยะเวลาหลังๆ นี้ เป็นผู้ที่ร่วมทางกับหลวงชาญฯ เป็นนิจ ดังที่หล่อนได้พบเขาบ่อยๆ ในที่ต่างๆ เช่นในโรงมหรสพ สนามม้า ร้านขายอาหาร ตลอดจนกระทั่งในที่อยู่ของหล่อนเอง
สุนทรีปิดฝาตลับแป้ง.....ประตูห้องอันมิใช่ประตูเดียวกับที่สุทัศน์พาหล่อนเข้ามา เปิดอยู่บ้านหนึ่ง มีแสงสว่างลอดออกมาด้วย แต่ในห้องเงียบสนิทปราศจากเสียงแว่วแม้แต่อย่างหนึ่งอย่างใด ความสอดรู้สอดเห็นเกิดขึ้นแก่สุนทรี หล่อนก็เดินไปประตูนั้น ชะโงกหน้าเข้าไปภายใน เห็นที่บูชาขนาดเล็กเหมาะกับขนาดของห้อง ประกอบด้วยพระพุทธรูปทององค์น้อยในครอบแก้ว แจกันมีดอกไม้ปักเต็มทั้งสองคู่ เชิงเทียนมีเทียนตั้ง กระถางธูปมีธูปเสียบอยู่
กลางฝาผนังทั้งสองด้านมีตู้หนังสือ บรรจุหนังสือที่มีปกงามเต็มอยู่ทั้งสองตู้ ตรงกลางห้องมีเก้าอี้นอนบุหนังตั้งไว้ บนเก้าอี้มีหนังสือปกแข็งเล่มใหญ่ถนัดวางอยู่ สุนทรีอยากเห็นหนังสือนั้นเป็นกำลัง หล่อนไม่อาจที่จะกระทำตามความสอดรู้สอดเห็น ให้มากกว่าที่ได้กระทำลงไปแล้ว
เมื่อสุนทรีกลับลงมาชั้นล่างพร้อมกับกระแส สุทัศน์กำลังรินน้ำเย็นแช่น้ำแข็งลงถ้วยแก้ว เพื่อให้แก่แขกของเขา สุนทรีกำลังมีความพิศวง ในสิ่งที่หล่อนเห็นเมื่อครู่ก่อนเปี่ยมอยู่ในใจ เกิดความพอใจและวิ่งในตัวเจ้าของบ้านเป็นอย่างมากขึ้นในครั้งแรก จึงมองดูเขาด้วยสายตาอันมีประกายผิดกับธรรมดา สุทัศน์เหลือบตาขึ้นมองดูหล่อนแว่บหนึ่ง แล้วก็ก้มลงทำงานต่อไป หลวงชาญฯ ยืนอยู่ข้างสุทัศน์ มองเห็นแววตาสุนทรีได้ถนัดที่สุด จิบน้ำในถ้วยแก้วพลางท่องนิพนธ์ของพระมหาราชครูอยู่ในใจว่า
“ตาสมรคือศรยิงยัน ทรวงสองโหยหรรษ์ และกามะเกิดในกมล”