๑๙

พื้นที่ตรงเงาไม้นี้ เป็นที่ดอน ดินปนทรายจึงเป็นสีแดง และร่วน เรียบงาม ไม่มีปุ่มปมขรุขระ เมื่อส่งศรีกับงามพิศช่วยกันคลี่กระดาษหนังสือพิมพ์ปูซ้อนกันดีแล้ว ก็ดูเป็นที่เรียบดังพื้นเรือน

นายป้านยกปิ่นโตอาหาร ตะกร้ามีฝาใส่เครื่องอุปกรณ์ในการบริโภค และหม้อน้ำแข็งส่งมาให้หญิงสาวทั้งสองช่วยกันจัดวางบนแผ่นกระดาษที่หล่อนปูไว้ ในระหว่างนั้นการสนทนาระหว่างหญิงทั้งสองก็ดำเนินเรื่อยไปไม่ขาดเสียง

“น้ำพริกส้มมะขาม” ส่งศรีกล่าว เอียงภาชนะที่ใส่น้ำพริกให้เพื่อนดูพร้อมกับทำท่ากลืนน้ำลาย “ฉันตำเอง เธอเชื่อไหม พริกสัก ๕๐ เม็ดเห็นจะได้ กำลังอยากเผ็ดๆ เปรี้ยวๆ”

“เรอะ ฉันก็เหมือนกัน” งามพิศตอบ แล้วเจ้าหล่อนก็ปรารภกันต่อไปอีกครู่ใหญ่ ถึงเหตุที่ทำให้ร่างกายต้องการอาหารเผ็ดร้อนนั้น

“ปลัดจะกินได้หรือไม่ได้ก็ไม่รู้” ส่งศรีกล่าวย้อนมาหาเรื่องน้ำพริกอีก

“ท่าไม่ไหวหรอกเธอ ผู้ชายดูเหมือนจะกินเผ็ดไม่เก่งเหมือนเรา”

“อะไรได้ คุณพ่อฉันยังไงล่ะ ยิ่งกว่าฉันอีก ไอ้เรายังอยากเป็นพักๆ เท่านั้น คุณพ่อละเผ็ดอยู่ประจำเชียว”

“ไอ้นั่นก้อนอะไรของเธอ?”

“เขาเรียกว่าไอ้โม่ง ไม่ใช่ของฉันหรอก แม่ครัวเขาทำ นี่น้ำปลาแมงดา คุณน้าส่งมาจากกรุงเทพฯ คุณพ่อโปรดเหลือเกิน เธอกินเป็นไหม? เออ ! ปลัดอีกคนหนึ่งกินได้หรือไม่ได้ก็ไม่รู้”

ปลัดที่ส่งศรีกล่าวถึงนี้ คือปลัดอำเภอเมือง ธรรมศาสตร์บัณฑิต อายุ ๒๕ ปี ได้เป็นปลัดอำเภอมาปีครึ่งเป็นผู้ที่ข้าหลวง ‘มองดู’ ด้วยความสนใจในตอนแรก และบัดนี้มีความพอใจและหวังดีด้วยเป็นอันมาก

ในระหว่างนี้ ข้าหลวงกับปลัดอำเภอกำลังไปชมพระอารามที่อยู่ห่างจากที่ๆ หญิงสาวทั้งสองนั่งอยู่ราว ๒-๓ เส้น

จังหวัดที่หลวงเอนกฯ เป็นผู้ว่าราชการอยู่นี้ เกี่ยวเนื่องกับพงศาวดารอย่างสำคัญ แต่โดยเหตุที่เป็นเมืองชายแดน อีกนัยหนึ่งเป็นเมืองหน้าศึก จึงไม่มีโบราณวัตถุที่แท้จริงอันใด อารามที่ข้าหลวงและปลัดอำเภอพากันไปดูก็มิใช่ที่ๆ มีลักษณะแห่งฝีมือการก่อสร้างวิจิตรบรรจงนัก เป็นแต่เพียงอารามที่เก่าแล้วยังงามเพราะความไม่ดูเก่า ทั้งอยู่ในภูมิประเทศที่สงบสงัดโล่งเตียนรื่นตาพอดู จึงได้เป็นที่หมายให้ข้าหลวงพาธิดามาสู่ เพื่อทดลองความเข้มแข็งในการขับขี่จักรยาน และเพื่อข้าหลวงเองได้แปลกที่รับประทานอาหารมื้อหนึ่งด้วย

“หมา ! ว้าย หมาขี้เรื้อน” ส่งศรีร้อง “ไป๊ ! ตายจริง หมาบ้าด้วยซี”

งามพิศมองดูสัตว์อันน่าสมเพช ด้วยสีหน้าแสดงความสงสารมากกว่าตื่นเต้น “ไป” หล่อนช่วยไล่ “ไปเสียก่อนประเดี๋ยวถึงค่อยกลับมากินเหลือคน”

แทนที่จะวิ่งหนี เจ้าสุนัขเป็นแต่เพียงหยุดชะงัก ส่งศรีว่าแก่เพื่อน

“แหม ! ช่างอุตส่าห์ผลัดผ่อน ราวกะมันจะรู้ภาษา”

“ผัด” งามพิศแก้ “ลืมเสียแล้วหรือ ผัดเจ้าหนี้ ผลัดผ้า”

“ผลัดหรือผัด หมามันก็ไม่รู้จักภาษา นอกจากจะตวาดมัน ว้าย ! ตาย ดูซี มาอีกแล้ว นายป้าน”

งามพิศหัวเราะ ฉวยหนังสือพิมพ์ทั้งฉบับเสื้อทำที่จะขว้าง เจ้าสุนัขสะดุ้ง หลบ แต่หาถอยไม่ งามพิศก็ผุดลุกจากที่พร้อมด้วยอาวุธกระดาษ เข้าไปกระโชกเจ้าสุนัขจนมันวิ่งหนีไป

งามพิศกลับมายังที่เดิม ส่งศรีบ่นพึมพำเรื่องสัตว์ที่ทำให้หล่อนกลัว เรื่องท่านบิดากับปลัดอำเภอยังไม่กลับมา เรื่องเวลาเย็นแล้ว น่ากลัวจะมืดก่อนรับประทานอาหารเสร็จ งามพิศได้ยินข้อความเหล่านี้แต่เพียงเลือนๆ อำนาจความสงบชื่นบานแห่งธรรมชาติรอบข้างกำลังครอบงำจิตใจของหล่อนให้เกิดความสงบชื่นบานไปตาม.......ไม่มีสุนัข ไม่มีส่งศรี ไม่มีอาหาร ไม่มีข้าหลวง ไม่มีคุณป้า มีแต่แผ่นดินโล่งเตียน ต้นไม้ นก ฟ้า แดดอ่อนๆ ลมอ่อนๆ กับตัวงามพิศเอง....

งามพิศหลับตาลง อุทานแก่ตัวเองในใจ “แหม ! สบายจรี๊ง อยากอยู่อย่างนี้ตลอดชีวิต”

เมื่อหล่อนลืมตาขึ้น ก็แลไปเห็นรถจักรยาน ๔ คันตั้งรวมเป็นหมู่อยู่ห่างจากที่นั่นประมาณ ๑๐ วา เป็นจักรยานสำหรับสตรีสองคัน นอกจากนั้นเป็นจักรยานสำหรับบุรุษ กับจักรยาน ๓ ล้อ

หลังจากที่ต้องกระวนกระวายเพราะความทะยานอยากแล้ว และได้ประสบความสมหวังเพราะข้าหลวงกับธิดาเปิดช่องให้ แล้วต้องกลับกระวนกระวายอีกแล้วก็สมหวังอีก วกไปวนมาประมาณสัก ๑๐ ครั้ง วันหนึ่งงามพิศก็ได้ชื่อว่า ‘ถีบรถเป็น’ ได้รับการแสดงความยินดีจากข้าหลวงโดยจริงใจ และในขณะนี้ เมื่องามพิศหวนระลึกถึงความรู้สึกที่เกิดแก่ตัวระหว่างทางจากจวนข้าหลวง มาถึงที่หมายนี้ หล่อนรู้สึกว่าไม่มีถ้อยคำใดๆ ที่จะบรรยายความรู้สึกนั้นให้ถูกถ้วน นอกจากจะอิงประพันธ์ที่เป็นของเก่าเป็นความว่า ‘ยินดีดังได้โสฬศ’

งามพิศเกือบสะดุ้งเมื่อส่งศรีพูดว่า

“เออ ! มากันเสียที มัวแต่ทำอะไรกันไม่รู้ตั้งนาน”

พร้อมกันนั้น เสียงสุนัขเห่ากระโชกพร้อมกันหลายเสียง และเสียงคนตวาดเสียงสองชนิดนี้ดังมาจากที่ไกลคือ สุนัขเห่าข้าหลวง และปลัดอำเภอผู้เป็นคนแปลกหน้า และศิษย์วัดช่วยกันตวาดสุนัข

ส่งศรีเริ่มจับนั่นทำนี่ เพื่อทำสิ่งที่พร้อมอยู่แล้วให้พร้อมยิ่งแล้วลงมือตักข้าวใส่จาน งามพิศก็ช่วยด้วย นายป้านย้ายจากที่ๆ ไปเดินเกร่อยู่เมื่อครู่ก่อนเพื่อมารับใช้ อีก ๓-๔ นาทีภายหลัง ข้าหลวงกับปลัดอำเภอจึงมาถึง

“เปิดเบียร์เลี้ยงหน่อย” หลวงเอนกฯ กล่าว “อยากกินน้ำจัง”

“ตาป้าน เปิดเบียร์เร็ว ที่เปิดอยู่ในตะกร้า” ส่งศรีสั่งต่อ แล้วหันกลับมาทางบิดา “คุณพ่อนั่งตรงนี้ค่ะ คุณปลัดตรงนั้น”

“เดี๋ยวก่อน ขอผลัดประเดี๋ยว กินเบียร์ให้หายคอแห้งเสียก่อนถึงจะกินข้าวลง” พูดแล้วข้าหลวงมองดูรอบตัวเพื่อจะหาที่นั่ง ให้สบายสักหน่อย งามพิศเห็นดังนั้นก็หยิบหนังสือพิมพ์เดินเข้าไปใกล้และจัดแจงคลี่ปูให้ด้วย

“ขอบใจ” ข้าหลวงกล่าวเมื่อหญิงสาวทำที่ให้เรียบร้อยแล้ว “มีอีกไหม? ขอให้คุณสวงสักสองแผ่นซี”

“ไม่ต้องก็ได้ครับ” ปลัดอำเภอค้าน

แต่งามพิศก็มองหาสิ่งที่หลวงเอนกฯ ต้องการ ครั้นหาไม่ได้ หล่อนจึงหยิบแผ่นที่รองที่นั่งของหล่อนนั่งเองไปให้แก่ชายหนุ่ม

“หิวข้าวไหม?” ข้าหลวงถามมองดูหน้าหญิงสาวด้วยสายตาแสดงความกรุณา พลางปลดดุมเสื้อชั้นนอกตลอดทั้ง ๕ ดุม แล้วลงนั่ง

“ไม่หิวค่ะ” หญิงสาวตอบพร้อมกับย่อตัวลง

“ไม่หิว” ข้าหลวงคำพร้อมกับหัวเราะ “ไม่หิว ไม่อยาก ไม่ง่วง ไม่เหนื่อย ไม่เสมอ ไปไหนด้วยก็สบายใจไม่ต้องเป็นห่วง สมเป็นคนหัวเมือง มาเป็นลูกฉันอีกคนหนึ่งเอาไหม?”

“เอาค่ะ” งามพิศตอบโดยไม่ได้ตั้งรอแม้แต่นิดเดียว

“เอาจริงๆ หรือ ขอผลัดให้ถูกลอตเตอรี่เสียก่อนเถอะ จะขอมาเลี้ยงเป็นลูกจริงๆ”

ส่งศรีเป็นผู้ที่ถูกท่านบิดามักตำหนิเป็นเชิงล้อ ในทำนองว่าหล่อนค่อนข้างมีความอดทนน้อยอยู่บ่อยๆ เมื่อได้ฟังคำโต้ตอบระหว่างบิดากับเพื่อนก็หงุดหงิดในใจ ครั้นหลวงเอนกฯ กล่าวประโยคหลังนี้ หล่อนก็เอ่ยขึ้นเพื่อประโยชน์ที่จะได้ ‘ขัดคอ’ งามพิศ หรือไม่ก็ท่านบิดาของหล่อนเอง

“คุณพ่อก็พูด ‘ผลัด’”

“ว่าไงนะ?” หลวงเอนกฯ ถาม ชะงักถ้วยเบียร์ที่กำลังจะยกขึ้นดื่มไว้กลางคัน

“คุณพ่อพูดขอ ‘ผลัด’ ค่ะ เมื่อตะกี้ลูกพูด งามพิศเขาว่าลูกพูดผิด”

“แล้วคนอื่นเขาพูดยังไงล่ะ?” ข้าหลวงหันมาถามผู้ที่ธิดากล่าวนาม

“เขาพูดเหมือนท่านค่ะ แต่มันผิด” งามพิศตอบหน้าตาเฉย “ที่ถูกต้องพูดผัด ผัดเวลา ผลัดเสื้อผ้าค่ะ”

หลวงเอนกฯ ดื่มเบียร์แล้วทวนคำ ‘ผลัด ผัด’ โดยใช้ประโยคต่างๆ กันหลายประโยค ในที่สุดจึงว่า

“ถูกแฮะ ถูกของงามพิศ” แล้วหันไปทางปลัดอำเภอ “ผัดแปลว่าเลื่อน ผลัดแปลว่าเปลี่ยน ถูกไหมล่ะ?”

“ผมไม่ค่อยสันทัดทางภาษาครับ” นายสวงตอบพร้อมกับยิ้มน้อยๆ

“ถูกแล้ว” ข้าหลวงว่า “แต่เดี๋ยวนี้เรามันเผลอ แปลว่าใครๆ ก็พูดผิด จนคนที่เคยรู้ก็พลอยผิดไปกับพวกที่ไม่รู้ด้วย”

ลุกจากที่เก่ามานั่งใกล้ที่รับประทานอาหาร ถือถ้วยเบียร์มาด้วย ระหว่างนั้นพูดว่า

“ยังมีคำว่า ‘ถูก’ อยู่อีกคำหนึ่ง ที่สมัยนี้คนใช้กันเสียจนเลอะ ‘ถูก’ แต่ก่อนนี้เราใช้กับสำหรับถูกเตะ ถูกด่า แต่เดี๋ยวนี้ข้าวก็ถูกกิน รถก็ถูกนั่งถูกต้อนรับฟังแล้วอยากถามต่อว่า ‘ด้วยกำปั้นหรือด้วยเกือก’”

งามพิศผู้ซึ่งได้ถุงกระดาษกว้างยาวไม่ถึงสองฝ่ามือ เป็นเครื่องรองนั่งอยู่นั้น ลุกขึ้นไปหยิบกระดาษที่ปูอยู่เปล่ามาปูแทนถุง แล้วนั่งลงใกล้วงอาหาร นายสวงก็ลุกจากที่เก่ามานั่งที่ใหม่ และเมื่อนั่งลงแล้วก็ตอบคำปรารภของข้าหลวงว่า

“แต่มันเป็นความงอกเงยของภาษาไม่ใช่หรือครับ”

“มันไม่งอกน่ะซี มันหด แต่ก่อนคำว่า ‘ถูก’ เคยใช้ไปในทางเสีย เช่นเจ้าเมืองถูกย้าย ก็ต้องแปลว่ามีอะไรบูดๆ อย่างน้อยก็ต้องเหม็นสะไอ แต่เดี๋ยวนี้ นายอำเภอเลื่อนเป็นเจ้าเมือง ก็ใช้คำว่า ‘ถูก’ ก็ไม่มีความหมายอะไรเลย นอกจากจะวิ่งเข้าหาไวยากรณ์ฝรั่ง หรือคุณเห็นว่ายังไง?”

นายสวงมองดูผู้พูดอย่างตรึกตรอง ในที่สุดก็ตอบอย่างไม่แน่ใจนัก

“ผมไม่เคยสังเกต”

เมื่อได้พูดถึงเรื่องภาษาแล้ว ก็พูดเลยต่อไปถึงอุปนิสัยแห่งเจ้าของภาษา รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวชนบทแต่ละภาคๆ นายสวงตั้งใจฟังด้วยถือเป็นบทเรียนส่วนหนึ่ง งามพิศฟังด้วยรู้สึกสนุกและทิ้งอย่างจริงจัง เป็นเหตุให้ข้าหลวงสังเกตเห็นแววตาของหล่อนวาวออกมานอกกระจกแว่นบ่อยครั้ง

ส่งศรีเริ่มเบื่อเรื่องที่ท่านบิดาพูด และกำลังนึกเสียใจในข้อที่ตนเองได้เป็นเหตุแห่งการสนทนาแนวนี้ ก็พอดีหลวงเอนกฯ คลี่หาผ้าเช็ดหน้าในกระเป๋าเสื้อพร้อมกับพูดว่า

“แหม ! น้ำพริกเผ็ดร้ายกาจ แต่อร่อยจริง”

“หนูตำเองค่ะ” ส่งศรีบอกอย่างภาคภูมิใจ

“แหม ! ลงมือเองเที่ยวหรือ?” ท่านบิดาย้อนถามน้ำเสียงแสดงความชื่นชม “แล้วทำอะไรเองอีกล่ะ? บอกมาอีกซี พ่อจะได้กินสิ่งนั้นมากๆ”

ส่งศรีหัวเราะ “หนูทำเองอย่างเดียวแหละค่ะ แต่อย่างอื่นหนูก็เป็นคนสั่งให้เขาทำ กับข้าวของหวานหมดนี่หนูเลือกทั้งนั้น”

“ไม่เลวอร่อยทุกอย่าง แต่น้ำพริกเป็นที่หนึ่ง”

ส่งศรีมองสบตานายสวงและถาม มีอาการสะทกสะเทิ้นเล็กน้อย

“รับประทานแมงดาได้ไหมคะ?”

“ยังไม่เคยลองครับ” นายสวงตอบ

“กล้าลองไหมล่ะคะ? นี่ ถ้วยนี้”

งามพิศทำหน้าอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้หลวงเอนกฯ เห็นขัน และว่า

“ดูยายพิศทำหน้า ตัวเองท่าจะเกลียดแมงดาละซี”

“เปล่าค่ะ” แล้วงามพิศก็หัวเราะเพื่อกลบความอาย ที่ได้แสดงความรู้สึกให้ปรากฏแก่ตาข้าหลวง

“กลิ่นพิกล” นายสวงพูดภายหลังที่ได้ลิ้มรสน้ำปลาแมงดาแล้วนิดหนึ่ง

“เหม็นหรือหอม?” ข้าหลวงถาม “เจ้าอาหารพวกนี้มันมีลักษณะสองอย่างเสมอ ถ้าหอมก็แปลว่าชอบละยิ่งกินจะยิ่งติดใจ แต่ถ้าเหม็นละก็อย่าต่อไปเลย เดี๋ยวจะทำพิษ”

ชายหนุ่มหันไปจิบเบียร์ แล้วก็ตักน้ำปลาแมงดาใส่ลงกับข้าวในจานอีก เดี๋ยวอยู่ครู่หนึ่งแล้วจึงเงยหน้าขึ้นพูดว่า

“ผมคิดว่าผมหอมครับ ถึงคำที่สองนี่รู้สึกไม่เหมือนคำแรก”

“ถ้าติดใจละก็ นึกอยากกินเมื่อไหร่ไปกินที่บ้านผมมีเสมอไม่ค่อยขาด เพราะผมชอบเสียจนใครๆ เขารู้กันหมด เขาก็คอยส่งมาให้เสมอ”

ต่อจากนั้นมา นายสวงไม่ได้แตะต้องกับข้าวอย่างอื่นเลย นอกไปจากน้ำปลาแมงดากับแกงจืด แล้วรับประทานข้าวได้อย่างที่ส่งศรีต้องมองดูเขาอย่างสงสัยระคนกับความรู้สึกพอใจ เมื่อถึงตอนของหวานเจ้าหล่อนเกือบจะลืมปฏิบัติบิดาด้วยความกังวลที่จะปฏิบัตินายสวง

ครั้นเสร็จการบริโภคแล้ว ข้าหลวงลุกจากที่นั่งไปทางหนึ่ง แล้วจุดบุหรี่สูบพลางเดินช้าๆ ห่างจากที่รับประทานออกไปทุกที ส่งศรีปรารภว่าจะหาที่นั่งใหม่แล้วก็แยกไปอีกทางหนึ่ง นายสวงรั้งรออยู่ก่อน แต่ภายหลังก็เดินตามไปห่างๆ มิช้าส่งศรีก็กลับมาเผชิญหน้ากับเขา ทั้งสองหยุดพูดกัน แล้วในที่สุดก็ออกเดินช้าๆ เคียงกันไป คงเหลือแต่งามพิศช่วยนายป้านรวบรวมสิ่งของต่างๆ

เมื่อทุกสิ่งได้เข้าอยู่ในที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากเศษอาหารเมล็ดข้าวตกอยู่ในที่นั้น รวมทั้งกระดาษที่เป็นรอยยับและเปื้อน ทำให้เห็นเป็นที่รำคาญตางามพิศจึงต้องคิดหาที่นั่งใหม่เหมือนกัน แลไปทางขวาเห็นเพื่อนของตนนั่งอยู่บนขอนไม้ มีคู่สนทนายืนอยู่ตรงหน้า เพียงแต่มองดูท่าทางของเขาทั้งสองก็จะเกิดความคิดว่า หากมีบุคคลที่สามเข้าไปใกล้เขาจะรู้สึกว่าเขาถูกรบกวน แลไปทางซ้ายข้าหลวงยืนบ้างเดินบ้าง มีท่าทางเห็นได้ชัดว่ากำลังใช้ความคิดอย่างเพลิดเพลิน มองข้างหน้าเห็นนายป้านกำลังจัดของวางในจักรยาน ๓ ล้อ จำเป็นอยู่เองที่งามพิศจะต้องเลือกที่สบายจากแผ่นดินทางเบื้องหลัง งามพิศลุกขึ้นยืน หยิบกระดาษหนังสือพิมพ์ติดมือไว้ เพื่อจะได้รองนั่งในที่ใหม่ ถอนใจโดยไม่รู้สึกตัว เมื่อความเหงาและความเปล่าเปลี่ยวเกิดขึ้นภายใน ถุงกระดาษที่หล่อนใช้นั่ง เมื่อได้สละหนังสือพิมพ์ให้นายสวงเสียยังทิ้งอยู่ข้างตัว เป็นถุงที่ทำด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ฝรั่งมีภาพสีในยามไม่มีอะไรดีกว่า ภาพนั้นก็เป็นเครื่องชวนให้ตาดูได้ งามพิศหยิบถุงขึ้นมองดูทั้งสองด้าน เดินพลางพยายามลอกรอยผนึกให้หลุดจากกัน เพื่อจะดูภาพและอ่านข้อความประกอบให้ได้ชัด แล้วนำตัวไปเอกเขนกสำราญอยู่ทางหนึ่ง

เนื่องจากตัวอักษรที่ประกอบภาพเป็นภาษาฝรั่งเศสซึ่งงามพิศไม่มีความสันทัด หล่อนต้องใช้ความเพ่งเล็งมากในอันที่จะหาความเข้าใจ จึงไม่ได้ยินฝีเท้าที่ดังเข้ามาใกล้ จนกระทั่งข้าหลวงมายืนอยู่ข้างตัวและทักว่า

“ท่าทางน่าสบายจริง ดูรูปอะไร?”

งามพิศเงยหน้าขึ้น หดขาเข้าหาตัว ยิ้มพลางตอบเสียงใสด้วยความที่กำลังพอใจในตัวเอง

“สวนหมาจิ้งจอกค่ะ เขาผสมในสวิตเซอร์แลนด์เอาขนมาสำหรับพันคอ”

“อ๊ะ ! ผิดเมืองละกระมัง อะไรผสมหมาจิ้งจอกในยุโรป.... ดูชื่อเมืองให้ดีๆ ถี....”

“ไม่ผิดค่ะ” งามพิศยืนยันอย่างมั่นคง ลุกขึ้นยื่นแผ่นภาพให้ข้าหลวงดูพร้อมกับชี้ชื่อประเทศให้ด้วย “นี่ไงคะ ในนี้เขาบอกว่าต้องเลี้ยงในที่ๆ เป็นภูเขาสูง ตั้งแต่พันเมตรขึ้นไป แรกทีเดียวเขาเอามาจากอาลาสกา ๑๐ คู่ ผสมอยู่ราว ๑๐ ปี เดี๋ยวนี้เป็นหมา ๒๐๐ ตัว”

ข้าหลวงมองดูด้วยความสนใจ และหันมาดูหน้าผู้แปลความอย่างยิ่ง “นี่อะไร?” ข้าหลวงถาม ชี้มือลงยังภาพแสดงกรงที่อยู่ของสุนัขจิ้งจอก ภาพชายฝรั่งถือเครื่องมือคล้ายซ่อมขนาดยักษ์กดคอสุนัขจิ้งจอกเพื่อจะทำความสะอาดที่ตัวเจ้าสุนัขนั้น และภาพชายฝรั่งสองนายช่วยกันยึดจับตัวสุนัขและถอนขนสำหรับฤดูร้อนออกเสีย เพื่อจะให้ขนสำหรับฤดูหนาวตกงามดี งามพิศก็อธิบายความเรื่อยไปโดยตลอด

เมื่อจบแล้ว ข้าหลวงมองดูงามพิศอีก สีหน้าแสดงความพิศวงแกมสงสัย ถามแกมหัวเราะเป็นเชิงล้อ

“ที่แปลนี่น่ะถูกหมดไหม?”

“ที่แปลนะถูกหมดค่ะ” เด็กสาวตอบโดยซื่อ “แต่ที่ไม่เข้าใจก็เยอะ”

“พอใช้” ข้าหลวงกล่าว อาการล้อไม่มีเหลืออยู่แล้ว “รู้ภาษาฝรั่งเศสดีพอใช้ ภาษาอังกฤษรู้ถึงเท่านี้ไหม?”

“รู้มากกว่าซีคะ” งามพิศตอบหนักแน่น “ดิฉันเรียนอังกฤษเอก ฝรั่งเศสโท”

ข้าหลวงยิ่งสนใจยิ่งขึ้น “ไม่เลว !” ชมอย่างจริงใจ “ทุกวันนี้อ่านหนังสือฝรั่งเศสมั่งหรือเปล่า ควรจะหมั่นอ่านไว้นะ ไม่ยังงั้นอีก ๒-๓ ปีจะลืมหมด”

อาการที่งามพิศทิ้งมือลงข้างตัว พร้อมกับก้มหน้าไม่ตอบว่ากระไรนั้น แสดงถึงความเดือดร้อนภายในที่พลุ่งขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน

“แล้ววิชาครู ป.ป. นะไปถึงไหนแล้วล่ะ?”

“ไม่ค่อยมีเวลาได้เรียนค่ะ”

“คุณป้าใช้มากนักหรือ?” น้ำเสียงหลวงเอนกฯ คล้ายพูดเล่น

“มีงานมากค่ะ” งามพิศตอบอย่างระวัง แต่ครั้นแล้วความคับแค้นที่สิงอยู่ในใจก็เกิดกำลังกล้า งามพิศเผลอตัวเสริมต่อไปอีก “ทั้งวันๆ ไม่มีเวลาได้เปิดหนังสือเลย พอจะเปิดท่านก็เรียกใช้”

“กลางคืนล่ะ คืนหนึ่งสัก ๒-๓ ชั่วโมงไม่พอหรือ?”

“กลางคืนก็....ไม่มีไฟค่ะ....เผื่อเปิดไฟไว้นานหน่อยก็....เปลืองไฟค่ะ”

“ปัญหายุ่งยาก !” หลวงเอนกฯ ปรารภอยู่ในใจ มองดูคู่สนทนาด้วยความเมตตายิ่ง ภายหลังจึงว่า

“ทำใจดีๆ ไว้ ถึงยังไงอย่าทิ้งความพยายาม ทีหลังจะได้พึ่งตัวเองได้ ฉันจะพูดกับคุณนายเอง.....”

หญิงสาวเงยหน้าขึ้นทันที ละล่ำละลักพูดว่า

“อย่าบอกคุณป้าว่าดิฉัน....”

หลวงเอนกฯ หัวเราะกล่าวว่า

“เขาเป็นผู้ใหญ่ เขารู้ดีอะไรควรพูดอะไรไม่ควร ว่าแต่ตัวเองถ้ามีเวลาว่างอย่าเถลไถล เดี๋ยวงานก็ไม่ทำเรียนก็ไม่เรียน” พูดแล้วหลวงเอนกฯ ก็ออกเดินบ่ายหน้าไปทางที่ส่งศรีนั่งอยู่

ในระหว่างเดินทางกลับ ข้าหลวงนั่งจักรยาน ๓ ล้อ มีนายป้านเป็นผู้ขับนำไปข้างหน้า หนุ่มสาวสามคนตามมาเบื้องหลัง ภายหลังส่งศรีมีความปรารถนาที่จะแสดงกำลังเร็วแห่งขาของหล่อน จึงเร่งรถหนักขึ้นจนขึ้นหน้ารถบิดา งามพิศเร่งตามไปด้วยเหมือนกัน อาศัยความคะนองรวมกับความรักในตัวข้าหลวง ผู้ซึ่งได้ทำให้หล่อนได้รับความเบิกบานและความหวังอย่างใหม่ เมื่องามพิศผ่านรถข้าหลวง หล่อนมีความกล้าพอที่จะเบือนหน้าไปยิ้มกับท่านผู้นี้ในอาการคล้ายคลึงกับที่หล่อนเคยยิ้มกับบิดาของหล่อนเอง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ