๑๖
สุนทรีกำลังแต่งตัวเสร็จพอดี เมื่อคนใช้เข้ามาในห้อง แจ้งว่ามีผู้มาหา และเขาผู้นั้นชื่อประพันธ์ ได้ยินชื่อนี้ สีหน้าสุนทรีแสดงความสนใจมากขึ้นทันใดย้อนถาม
“ประพันธ์หรือ เวลานี้อยู่ที่ไหน?”
“อยู่ที่หน้าตึกเจ้าค่ะ เชิญเข้าห้องรับแขกก็ไม่เข้า”
หน้าหญิงสาวยิ้ม ถ้าเขาผู้นั้นคือบุตรชายหลวงประเสริฐฯ การที่เขาไม่รับเชิญเข้าในห้องรับแขก ก็ไม่เป็นสิ่งแปลกประหลาดอย่างใดเลย และถ้าผิดจากเขาคนใช้ของหล่อนก็จะไม่สนใจในการที่เขาไม่ยอมเข้าในห้องรับแขก จนถึงกับต้องนำมารายงานแก่ผู้เป็นนาย
มองดูกระจกอยู่เป็นครั้งสุดท้าย สุนทรีก็ออกจากห้อง
ประพันธ์ยืนอยู่หน้าบันไดตึก ถือหมวกไว้ในมือทั้งหมุนและบีบหมวกไปมา จนน่ากลัวว่าทรงหมวกจะหมดไปในขณะนั้น เมื่อมองเห็นสุนทรี เขาฟาดหมวกลงกับขาและหัวเราะจืดๆ
“เชิญขึ้นมาข้างบน” หญิงสาวกล่าว ยิ้มอย่างอ่อนหวาน เพื่อจะช่วยให้เขาคลายประหม่า
ประพันธ์หัวเราะแหะๆ ถอดรองเท้าไว้บนถนนแล้วจึงขึ้นบันได สุนทรีนำเขาตรงไปยังห้องรับแขกและชี้ที่นั่งให้ด้วย
“ดีใจที่เธอมา” สุนทรีพูด “สูบบุหรี่ไหม” พร้อมกันนั้นหล่อนยกหีบบุหรี่วางให้เขาตรงหน้า เปิดฝาหีบให้ด้วย แล้วจึงถอยไปนั่งยังเก้าอี้ยาวตัวหนึ่ง
“เป็นยังไงมั่ง” สุนทรีพูดอีก ใจคิดว่าถ้าตนไม่พูดอยู่เรื่อยๆ ไป ความเงียบก็จะเกิดเป็นเครื่องทำให้ผู้เป็นแขกเคอะเขินยิ่งขึ้น “ได้รับข่าวจากน้องสาวบ้างหรือเปล่า?”
“ได้เหมือนกัน”
“ตั้งแต่ฉันไปหาเธอที่บ้านหนนั้นน่ะ แล้วต่อมาเธอได้ข่าวจากน้องอีกหรือ?”
เขาหัวเราะ แล้วตอบพร้อมกับพยักหน้า
“ได้ครับ”
“อ้อ เขียนมาว่ายังไงบ้าง”
“เขียนมาขอหนังสือ”
“หนังสืออะไร?”
ประพันธ์บอกชื่อหนังสือเป็นจำนวน ๕ เล่ม สุนทรีฟังแล้วอุทานอย่างตื่นเต้นเล็กน้อย
“แหมหนังสือตำราทั้งนั้น เธอส่งไปให้แล้วหรือ?”
“เปล่า”
“อ้าว ! พุทโธ่ แล้วยังไง ! เธอได้รับจดหมายตั้งแต่เมื่อไหร่”
“เมื่อวันเสาร์ก่อน”
“ตาย ! ได้รับมาตั้งอาทิตย์แล้วยังไม่จัดการให้น้อง คุณพี่นี่ใจดำจัง” แล้วสุนทรีก็หัวเราะ
ประพันธ์จับกระดุมเสื้อชั้นนอกหมุน ส่วนตาก็จับอยู่ที่มือ สุนทรีมองเห็นความกระวนกระวายปรากฏชัดอยู่บนหน้าและกิริยาของเขา จึงช่วย
“เธอมาวันนี้เพราะมีธุระใช่ไหม บอกธุระของเธอมาเถอะ ไม่ต้องเกรงใจ ฉันเคยรับไว้แล้วว่าฉันจะช่วยถ้าช่วยได้”
พร้อมกับที่พูด สุนทรีก็นึกสงสัยอยู่ในใจว่าธุระของประพันธ์อาจจะเป็นธุระเรื่องใดได้บ้าง แล้วหล่อนเห็นสีหน้าเด็กหนุ่มแดงขึ้นทันที พร้อมกันนั้นเขาพูดอย่างอ้อมแอ้มแต่เร็วปรื๋อ
“ผมไม่มีทรัพย์เลย”
“อือ !” หญิงสาวอุทานในใจแล้วถาม “เธอต้องการจะให้ฉันช่วยสักเท่าไหร่”
ชายหนุ่มอึกอัก มัวแต่สนเท่ว่าเงินนั้นเป็นสิ่งที่ตนอาจหาได้ง่ายถึงเพียงนี้เจียวหนอ ! แล้วเขาตอบว่า
“เท่าไหร่ๆ ก็ได้”
ฝ่ายสุนทรีเป็นผู้ที่มีความตั้งใจจริง จึงแย้ง
“ถ้าอย่างนั้นเธอก็ต้องบอกให้ทราบด้วยว่า เธอต้องการทรัพย์ไปทำอะไร?”
“ผมไม่ได้ให้ค่าเช่าบ้านเขามา ๓ เดือนแล้ว”
“เธอต้องให้เขาเดือนละเท่าไหร่?”
“๔ คนเฉลี่ยกันให้คนละ ๕ บาท”
“ก็แปลว่าส่วนของเธอที่จะต้องให้รวมเป็น ๑๕ บาทใช่ไหมล่ะ?”
ประพันธ์รีบตอบ
“แล้วก็หนังสือที่งามพิศจะเอา เล่มหนึ่งตั้ง....๓-๔ บาท”
“ถูกของเธอ ฉันรู้ราคาหนังสือพวกนี้ดี ไม่เป็นไรฉันจะช่วยเธอทั้งหมด”
นิ่งเงียบไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย ประพันธ์หยิบหมวกที่วางอยู่ข้างตัวขึ้นหมุน สุนทรีเห็นว่าเสื้อเชิ้ตสีแดงที่เขาใส่อยู่ ซึ่งหล่อนเห็นได้จากช่องระหว่างอกเสื้อตอนบน เพราะเขามิได้ขัดกระดุมเสื้อนั้น เป็นสีเข้ากับกางเกงแพรที่เขานั่ง และผ้าเช็ดหน้าที่แลบขึ้นมาจากกระเป๋าบนก็เข้าสีกับเสื้อเชิ้ตและกางเกง แต่ด้ามปากกาที่ติดอยู่กับขอบกระเป๋าเสื้อตอนล่างเป็นสีเขียว ทำให้ผิดชุดไปเสียนิดหนึ่ง เห็นเช่นนั้นแล้วสุนทรีก็อมยิ้มมองต่อไป พบศีรษะที่ก้มลงต่ำทำให้เห็นผมเป็นลอน รับกับรูปศีรษะ ดูดังจัดวาง ทันใดนั้นสุนทรีถามขึ้นว่า
“น้องสาวเธอ เหมือนเธอไหม?”
“เมื่อเล็กๆ ใครๆ ว่าเหมือน แต่เดี๋ยวนี้แกใส่แว่นตา”
“อ้อ ! ตาสั้นหรือ?”
“ครับ ตั้งแต่ ๗ ขวบ แกต้องใส่แว่นตาเรื่อย”
“เธอมีรูปน้องไว้มั่งหรือเปล่า ฉันอยากเห็นสักหน่อย”
“มีแต่รูปที่ถ่ายกับคุณพ่อคุณแม่ตั้ง ๕-๖ ปีมาแล้ว รูปผมซีมีเยอะ”
สุนทรีสังเกตเห็นว่าน้ำเสียงและท่าทางของประพันธ์ค่อนข้างจะไม่ผิดจากปกติของคนธรรมดา แล้วชะรอยจะกล้าขึ้น ตัวหล่อนก็พลอยกล้าไปตามเขาจึงพูดว่า
“ฉันเคยได้ยินว่า น้องสาวเธอเป็นคนเรียนเก่งมาก ทำไมเธอหรือคุณป้าถึงไม่พยายามให้แกได้เรียนต่อไป ถึงจะไม่เรียนถึงชั้นบัณฑิต ได้เพียงแต่วิชาครูมัธยมก็ยังดี ที่เธอว่าทางกรุงเทพฯ ไม่มีใครน่ะ ฟังไม่ขึ้นเป็นอันขาด เธอควรจะปกครองน้องได้ หรือจะฝากไว้กับผู้ใหญ่ที่ไหนสักคนก็ได้ บ้านของเธอก็มี”
“บ้านผมให้เขาเช่า เอาทรัพย์มาใช้ทางอื่น”
“นอกจากบ้านเธอ....ไม่มีอะไร....ไม่มีรายได้อะไรอีกหรือ มรดกของคุณพ่อล่ะ อย่างน้อยก็มีเงินสดเป็นก้อน....”
“คุณป้าเอาไปหมด” ประพันธ์สวนขึ้นก่อนที่สุนทรีจะพูดจบ
หญิงสาวออกอุทานอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงครึ่งคำ แล้วก็ชะงัก หล่อนนึกขึ้นได้ว่าเรื่องชนิดนี้เป็นเรื่องสามัญ มีและเป็นอยู่ดาษดื่น ฝ่ายเด็กเติบโตแต่โดยวัย ความรู้สึกในสิทธิและหน้าที่ของตนยังอ่อนอยู่ ฝ่ายผู้ใหญ่ไร้การศึกษาเป็นพื้นอยู่แล้ว ไม่รู้ถึงเขตจำกัดแห่งสิทธิและอำนาจของคนสองฝ่ายมาประสบกันเข้า หากผู้ใหญ่ไม่มีศีลขันธ์ไว้เป็นทุนเดิม ก็เป็นธรรมดาที่ว่าความอยุติธรรมจะต้องเกิดขึ้น
สุนทรีจึงเว้นเสียซึ่งการออกความเห็น ถามถึงคุณป้าของประพันธ์ ในส่วนที่เกี่ยวกับอายุและความเป็นอยู่ เมื่อได้ความรู้เป็นที่พอใจแล้วก็ย้อนกลับมาพูดเรื่องงามพิศอีก
“ตามจดหมายที่แกเขียนมาน่ะ เธอสังเกตหรือไม่ว่า แกเป็นสุขดีหรืออึดอัดอย่างไรบ้าง”
“จดหมายไม่เห็นว่าอะไรนอกจากขอหนังสือ”
“ก็ฉบับก่อนขอหนังสือล่ะ?” น้ำเสียงสุนทรีแสดงความรำคาญเล็กน้อย
“แต่ก่อนไม่เคยเขียนมาเลย”
“อ้าว ! ก็ไหนเธอบอกว่าเคยได้รับข่าวเหมือนกัน?”
ประพันธ์ทำหน้าพิกล เขาเพิ่งนึกขึ้นได้ว่าเมื่อวันก่อนนั้น เขาได้กล่าวเท็จต่อสุนทรี ซึ่งเขาเองก็เข้าใจไม่ได้จนบัดนี้ว่า สิ่งใดชักนำตัวไปให้ทำเช่นนั้น อึกอักอยู่เป็นครู่จึงหาช่องแก้ตัวได้
“ผมได้จากทางอื่น”
สุนทรีนิ่งไป รู้สึกทั้งสนเท่และสมเพช จนมิรู้จะพูดว่ากระไรถูก อีกครู่หนึ่งหล่อนจึงทำลายความเงียบขึ้น
“น้องสาวเธอเคยสอบวิชา ป.ป. ได้ไว้หรือเปล่า?”
ประพันธ์ทำท่างง ภายหลังจึงตอบว่า
“ไม่ทราบ”
“ตามชื่อหนังสือที่แกขอมาน่ะ เป็นหนังสือสำหรับวิชา ป.ม. ทั้งนั้น แกบอกหรือเปล่าว่าแกจะต้องการเอาไปทำไม?”
“แกจะเอาไปเรียน”
“อ้อ นึกแล้ว ! หวังใจว่าแกคงจะสอบถามคนที่เขารู้เรื่องการเรียนทางนี้เสียให้ดี เมื่อเรียนก็ควรจะเรียนให้เข้าหลัก เธอควรจะเตือนแกไปนะ ถ้าแกจะเรียนเอาประกาศนียบัตรครู ป.ม. แกต้องเรียน ป.ป. สอบได้เสียก่อน ถ้าไม่ยังงั้นก็เสียเวลา โถ ! แล้วแกจะต้องเรียนด้วยตัวเอง มันยากกว่าเรียนกับครูหลายเท่านัก เธอต้องช่วยหนุนให้แกมีมานะมากๆ”
พูดแล้วหล่อนมองดูประพันธ์ ไม่เห็นสีหน้าเขาแสดงความสนใจแม้แต่น้อย ก็เกิดความท้อใจ แล้วเศร้าใจแทนหญิงที่หล่อนปรารภถึง ในที่สุดก็ลุกขึ้นยืนพร้อมกับพูดว่า
“ขอโทษนะต้องทิ้งเธอไว้คนเดียวประเดี๋ยว” แล้วก็ออกจากห้องรับแขก ขึ้นไปยังห้องนอน
เมื่อกลับมายังห้องรับแขก และส่งธนบัตรให้ประพันธ์แล้ว สุนทรีมิได้นั่ง ยืนเกาะเก้าอี้พูดว่า
“วันหลังเธอต้องมาอีกนะ มีธุระหรือไม่มีธุระก็ขอให้มา แล้วถ้าได้ข่าวอะไรจากน้องสาวอีกละก็เล่าให้ฉันฟังมั่ง ที่จริงถ้าฉันเป็นเธอ ฉันจะหมั่นเขียนจดหมายถึงน้องบ่อยๆ ฉันจะเป็นห่วงน้องมากที่สุด เพราะเธอก็มีอยู่ด้วยกันสองคนพี่น้องเท่านั้น”
สุนทรีหยุดพูดและยังคงยืนอยู่ ประพันธ์ขยับขา ๓-๔ ครั้ง ในที่สุดก็ลุกขึ้นยืนพูดว่า
“ยังงั้นผมลา” แล้วก็ยกมือไหว้
ฝ่ายเจ้าของบ้านเดินตามไปส่งถึงหน้าตึก แล้วเลยเข้าในห้องรับประทานอาหาร ออกทางหลังห้องนี้เลยไปที่ครัว
“เข้าครัวเองเทียวรึวันนี้” ประจิตรกล่าวแก่สุนทรี และโดยไม่รอฟังคำตอบ “ใครมาหานะ แต่งแดงเช็ดทั้งตัว?”
“ใครที่ไหน?” สุนทรีถามอย่างงง “ไม่เห็นใครมาบอกฉันนี่”
“ยังงั้นรึ? ฉันสวนกับเขาที่ประตู เขากำลังจะออก ฉันกำลังจะเข้า กางเกงแดงเสื้อแดงผ้าเช็ดหน้าแดงเกือกแดง....”
“อ๋อ !” สุนทรีหัวเราะคิก “เอ๊ะ ! นี่เธอมาถึงตั้งแต่เมื่อไหร่ นานแล้วรึ?”
“นาน เที่ยวหาเธอทั่วบ้านไม่พบ”
“อื๋อ !” หล่อนค้อนให้เพราะรู้ว่าเขาพูดเกินความจริง “แล้วเที่ยวหาฉันทำไม?”
“อยากรู้ว่าใครมาหาเธอ?”
“เพื่อนเขาน่ะซี ทำไมจะต้องอยากรู้ของเขาด้วย?”
ประจิตรทำท่าเหมือนขนลุกขณะที่พูดว่า
“น่ากลัว !”
แล้วเขาพูดสืบไป
“เข้ามาทำอะไรอยู่ที่นี่น่ะ? ไปคุยกับหลวงชาญฯ หน่อยเถอะ ฉันทิ้งเขาไว้ในห้องรับแขกคนเดียว”
“เอ๊ะ ! มาทำไมป่านนี้ ไหนว่าทุ่มหนึ่งยังไง?”
“ทุ่มหนึ่งน่ะอีกพวกหนึ่ง หลวงชาญฯ นี่ฉันลากมาจากสโมสร ที่จริงเมื่อวันก่อนฉันไม่ได้นัดเขาไว้หรอก ไม่เห็นตัวก็เลยไม่ทันนึกถึง วันนี้พบเข้าก็เลยชวนมาด้วย”
“ฉันยังไม่รู้จนเดี๋ยวนี้ว่า แขกของเธอหมดด้วยกันกี่คน” สุนทรีว่า
ประจิตรขยับไหล่ “รู้เอาเมื่อถึงเวลากินก็แล้วกัน” เขาตอบ
สุนทรีค้อนให้อีกพร้อมกับหัวเราะน้อยๆ แล้วก็หลีกเขาจากประตูครัว เดินไปที่ห้องรับแขก
หล่อนเห็นหลวงชาญฯ นั่งอยู่บนเก้าอี้นวมใหญ่ศีรษะหงายพิงแขน ซึ่งเขาทำเป็นพนักซ้อนพนักเก้าอี้อีกชั้นหนึ่ง ท่าทางเต็มไปด้วยความครุ่นคิด หรือใฝ่ฝันถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามเคยของเขา เมื่อเขาเห็นหล่อนก็เปลี่ยนอิริยาบถ ลุกขึ้นยืนในทันทีพร้อมกับพูดว่า
“ประจิตรฉุดผมมา ต้องใช้คำว่าฉุดจริงๆ ให้มารับประทานข้าวที่นี่ บอกว่ามีใครๆ หลายคน ถามว่ามีงานอะไรกันก็ไม่บอก”
“ก็เพราะไม่มีอะไรจะบอกน่ะซีคะ” สุนทรีตอบ “ไม่มีงานอะไรนอกจากพวกผู้ชายเขานัดกันจะมากินเหล้าที่นี่ ดิฉันก็เลยขอโอกาสให้เขารับประทานข้าวเสียด้วย ก็อย่างที่เคยๆ กันบ่อยๆ นั่นแหละค่ะ”
“นายประจิตรไม่ให้คำอธิบายอะไรเลย”
สุนทรีหัวเราะ กล่าวชวนแขกให้นั่งพร้อมกับที่หล่อนเองนั่งลงบนเก้าอี้ตัวหนึ่ง แล้วถามว่า
“คุณหลวงพบกับคุณประจิตรที่ไหนคะ ถึงได้มาด้วยกัน?”
“ที่สโมสร วันนี้ผมอยากเล่นการพนันเป็นกำลัง”
“อ้าว ! ตายจริง แล้วทำยังไงล่ะคะ เวลานี้หาขาก็ยังไม่ได้เสียด้วย ทุ่มหนึ่งเขาถึงจะมากัน”
หลวงชาญฯ หัวเราะ แล้วพูดเรื่อยๆ เหมือนไม่มีความหมายอันใดเลย
“มาถึงนี่แล้วความอยากในทางเสื่อมก็หายหมด”
“แหม !” สุนทรีหัวเราะเสียงใส “ที่นี่เป็นอย่างไรคะ เป็นที่ชำระกิเลส หรือเป็นที่ๆ ไม่มีใครรู้จักความสนุกสนาน? ขอผลัดอีกสักครึ่งชั่วโมงเถิด”
“แขกของคุณมีหลายคนหรือ?”
“ระหว่างครึ่งโหลถึงโหลหนึ่ง ดิฉันเองก็ยังไม่ทราบว่ากี่คนแน่”
“เป็นแขกจริงๆ จังๆ หรือว่าอย่าง....ผมยังงี้แหละ?”
“ไม่มีใครนอกจากชุดที่คุณหลวงเคยมาพบที่นี่”
นิ่งเงียบไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย หลวงชาญฯ ลูบคลำหนังสือเล่มใหญ่ที่วางอยู่บนโต๊ะตรงหน้า สุนทรีผู้มีนิสัยไม่ชอบปล่อยให้แขกของหล่อนเงียบเหงา กำลังคิดหาเรื่องที่จะพูดอีก พอตามองไปเห็นหีบบุหรี่ จึงฉวยโอกาสเลื่อนให้หลวงชาญฯ พร้อมกับพูดว่า
“สูบบุหรี่ซิคะ”
หลวงชาญฯ รับเชิญ ด้วยกิริยาที่เปิดฝาหีบบุหรี่ทันที พอจุดบุหรี่แล้วก็ยกหนังสือมาวางบนตัก พลิกหน้าหนังสือไปมาพร้อมกับพูดว่า
“ในนี้มีรูปอีริค เรอมาร์ค ผมจำได้ว่าคุณเคยทิ้งกับตาคนนี้”
“มีประวัติด้วยไหมคะ?”
“ยังไม่ทราบเลย เพราะยังไม่ได้อ่าน เพิ่งซื้อเมื่อก่อนไปสโมสรนี่เอง”
เมื่อพลิกได้หน้าที่ต้องการแล้ว หลวงชาญฯ ก็ส่งหนังสือให้สุนทรี
เจ้าหล่อนรับมาดู อ่านข้อความในกระดาษนั้นแต่พอเลาๆ แล้ว
“หน้าตาเก๋จัง สมกับที่เป็นคนเขียนหนังสือได้รางวัลโนเบล ต๊าย ! หน้าตาเป็นพระเอกแท้ๆ”
“พระเอกของโลกทีเดียวนี่นา”
“อ้อ ! นี่ไอสไตน์ แหม ! แก่มากแล้วนะคะ ตายแล้วดูหน้าตาใจดี๊ใจดี แต่ก็สมเป็นนักปราชญ์อีกน่ะแหละ นี่เขาพูดถึงอะไรคะ ถึงมีรูปท่านพวกนี้?”
“พูดถึงนักปราชญ์เยอรมันที่โลกบูชา แต่ซึ่งชาติเยอรมันเองไม่ต้องการให้อยู่ในประเทศ เลยเนรเทศเสียดื้อๆ ไอสไตน์น่ะถูกริบด้วย เรอมาร์คโดนอะไรมั่งผมก็ลืมเสียแล้ว แต่หนังสือที่เรอมาร์คแต่งน่ะถูกเนรเทศเหมือนเจ้าของเหมือนกัน”
“ตาย ทำไมเป็นเอามากยังงั้น”
“โอ๊ย ! เป็นยิ่งกว่ามากอีก ในเยอรมันเดี๋ยวนี้น่ะมีการเผาหนังสือเก่าๆ ที่ฝ่ายตรงกันข้ามแต่งไว้แล้วนานตั้งหลายปี มันน่าเชื่อหรือว่า ไอ้ของพรรค์นี้จะเป็นไปได้ ในสมัยศตวรรษที่ ๒๐ นี่นะ คุณอ่านตอนที่ตัวหนังสือเป็นตัวเอนซี นักประพันธ์เยอรมันสองคนเขาเขียนตอบกัน คนหนึ่งเขียนว่าเหลือวิสัยที่จะทนอยู่ในชาติที่กำลังเป็นอยู่เวลานี้ ขอยอมเป็นคนไม่มีชาติ อีกคนหนึ่งตอบอย่างเห็นอกเห็นใจ แต่ชี้ความจริงไว้ว่าผลที่สุด คนแรกจะกลายเป็นคนไม่มีชาติเอาจริงๆ เพราะไปอยู่ในต่างประเทศ ไม่ว่าประเทศไหน เขาก็จะถือว่าตัวเป็นคนต่างชาติอยู่ร่ำไป แล้วก็จะหาความสุขไม่ได้เพราะสัญชาติเป็นสิ่งที่ตัดไม่ขาด ส่วนพวกที่ก้มหน้าอยู่กับชาติน่ะ ถึงรู้ว่าชาติเดินทางผิด ก็ต้องกระเสือกกระสนตามไป แล้วจะเอาตัวรอดได้หรือฉิบหายไปเสียก็ตามเขาก็ยังมีพวก แต่คนที่ทิ้งชาติน่ะจะเป็นคนตัวคนเดียวตลอดชีวิต ผมอ่านแล้วละจุกคอหอย”
เมื่อหลวงชาญฯ บรรยายความเสียเองเช่นนี้ สุนทรีก็เป็นอันว่าไม่ต้องอ่านหนังสือ ตาจับอยู่ที่หน้าผู้พูด หูฟังด้วยความเอาใจใส่ เมื่อเขากล่าวประโยคหลังสุนทรีก็ถอนใจยาว
“แหม ! เห็นใจตาคนที่หนึ่งแกจริง” หล่อนกล่าวในที่สุด “โธ่ ! ความเห็นของคนนี่มันแรงนะคะ ลองไปมีความเห็นอะไรเข้าจริงๆ จังๆ แล้วละก็ พอต้องไปผจญกับสิ่งที่ตรงกันข้ามเข้า....มันน่าอกแตกจริงๆ แต่ตาคนที่สองแกเตือนสติก็ถูกอีกน่ะแหละ แหม! ยาก ยากแท้ๆ”
หลวงชาญฯ มองดูบุหรี่นิ่งอยู่ แต่การนิ่งของเขานั้นเป็นคำตอบอยู่ในตัว สุนทรีเข้าใจได้ว่าเขาครุ่นคิดถึงปัญหาที่กำลังปรารภกันอยู่นั่นเอง และบางทีจะคิดมากจนไม่อาจกล่าวออกเป็นคำพูดให้เข้าหูหล่อนได้ ดังนั้นหล่อนจึงปล่อยให้เขาคิดต่อไปตามสบาย
เป็นครู่ใหญ่ หลวงชาญฯ จึงเอ่ยขึ้น
“คนยิ่งมีความรู้ความคิดมากเท่าใด ยิ่งถือว่าเสรีภาพเป็นของจำเป็นสำหรับชีวิตยิ่งขึ้นเท่านั้น ทำไม? เพราะคนมีความรู้มากแล้วอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องทำอะไรก็ตามที่ตัวมีความเห็นว่ามีประโยชน์แก่หมู่แก่คณะ แก่โลก นี่ผมพูดถึงคนที่มีความรู้อย่างบัณฑิตนะ ไม่ใช่รู้อย่างอันธพาล บางทีก็ทำผิดเห็นผิด แต่ต้องได้เห็นความผิดพิสูจน์ตัวของมันเองเสียก่อนถึงจะเชื่อว่าผิด ทีนี้ถ้าถูกตัดเสรีภาพมากนัก.....ชาติก็ชาติเถอะไปตายเอาดาบหน้า”
“ได้แก่นักประพันธ์เยอรมันที่ลาออกจากชาติ”
หลวงชาญฯ พยักหน้านิดหนึ่งแล้วก็นิ่งไปอีก
“ทำไม หนังสือของเธอมาร์คถึงถูกห้ามไม่ให้มีในเยอรมนีล่ะคะ?”
“เพราะมันไม่ตรงกับความเห็นของคนที่มีอำนาจอยู่ในประเทศน่ะซี”
“เอ ! ก็จะเกณฑ์ให้ทุกคนมีความเห็นเหมือนกันอย่างไรได้ ความเห็นแปลกๆ ที่ควรจะได้รับฟัง”
“แต่ความเห็นของคนเปรียบเหมือนเงินเหรียญนี่ครับ มีหัวมีก้อย ใครจะว่าทางไหนเป็นหัว ทางไหนเป็นก้อยล่ะ ต่างคนก็ต่างว่าเอาตามใจ สมมติว่าผมถือว่าทางช้าง ๓ หัวเป็นก้อย คุณว่าเป็นหัว ที่จริงก็ไม่รู้แน่ว่าใครผิดใครถูก แต่ทีนี้หากว่ามีคนเกิดเชื่อคุณขึ้นมาล่ะพากันเฮโลว่าทางช้าง ๓ หัวเป็นหัวกันหมด อีตอนนี้ซีผมมีอำนาจผมก็อัปเปหิคุณเสียเท่านั้น”
“ก็แปลว่าคุณหลวงไม่มีนิสัยสปอร์ตเสียเลย แล้วไม่มีอารมณ์ขันด้วย”
“เวลานี้ผมมีทั้งสองอย่าง” หลวงชาญฯ ตอบแกมหัวเราะ “แต่ถ้าเมื่อไหร่ผมได้อำนาจ อำนาจผมมากขึ้นเท่าไร ไอ้สองอย่างนั้นก็น้อยลงเท่านั้น”
มีการนิ่งเงียบกันไปอีก โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่รู้สึกตัว เพราะต่างฝ่ายต่างก็มัวคิดเพลินอยู่ด้วยกัน จนประจิตรเข้ามาในห้องแล้วทำลายความเงียบขึ้น
“แหม ! เงี้ยบเงียบ” เขาว่า “จนนึกว่าไม่มีใครอยู่”
หลวงชาญฯ เงยหน้าขึ้นดูโดยไม่พูดว่ากระไร สุนทรีตอบว่า
“เพิ่งเงียบนะ เมื่อตะกี้แย่งกันพูดเสียอีก” แล้วหล่อนก็หัวเราะ และพูดสืบไป “เธอไปหาอะไรมาเลี้ยงคุณหลวงหน่อยซี”
“สั่งแล้ว วิสกี้” ประจิตรตอบพลางนั่งลง
ในเวลานั้นเองก็ได้ยินเสียงรถแล่นมาข้างตึก ประจิตรชะเง้อตัวขึ้นดูไปทางช่องหน้าต่าง เห็นหลังคารถพูดว่า
“ไอ้หมอมาแล้ว เรียกมากินมันไม่ลืมมา แล้วมาก่อนเวลาด้วย”
หลวงชาญฯ ชักนาฬิกาพกออกดู
“ก่อน ๕ นาทีเท่านั้นเอง” แล้วมองไปยังสุนทรี “สู้ผมไม่ได้ ผมมาก่อนครึ่งชั่วโมง”
เสียงปิดประตูดังสนั่น แล้วรถผ่านหน้าต่างเป็นคันที่สอง ประจิตรผู้ซึ่งยืนขึ้นดูหัวเราะและว่า “ไอ้สามเกลอมาแล้ว” แล้วเขาก็เดินออกไปที่หน้ามุข
หล่อ เมื่อประจิตรพาเพื่อนๆ ของเขามาถึงประตูห้องรับแขก ก็พบคนใช้ผู้ยกถาดเครื่องดื่มมาถึงที่นั่นเหมือนกัน คนหนึ่งในหมู่สหายของประจิตรชี้ให้เพื่อนกันดูพลางว่า “นั่นๆ ดูนั่นของดี” แล้วเขากางแขนกันคนอื่นๆ ไว้ เพื่อปล่อยให้ ‘ถาด’ ผ่านเข้าไปก่อน
หลวงชาญฯ พูดแก่สุนทรีด้วยน้ำเสียงแกมหัวเราะ
“ท่าทางดูเหมือนจะตั้งต้นเมากันแล้ว”
ฝ่ายผู้ที่มาถึงใหม่ เมื่อเห็นหลวงชาญฯ ก็ทักด้วยคำพูดบ้าง ด้วยกิริยาบ้าง ด้วยสีหน้าบ้าง อย่างง่ายๆ ตามวิสัยผู้ชายด้วยกัน แต่เมื่อเข้ามาใกล้ที่ๆ สุนทรีนั่งอยู่และทักทายกับหล่อนนั้น ต่างคนก็ทำท่าเรียบร้อยขึ้น ต่อจากนั้นห้องรับแขกก็ก้องไปด้วยเสียงพูดเสียงหัวเราะของบุคคลทั้งเจ็ด
อีกครู่หนึ่งต่อมา ในท่ามกลางเสียงพูดของคนอื่นๆ อนุชาติเอ่ยขึ้นว่า
“แหม ! นี่ วันนี้มีแต่พวกเราผู้ชายทั้งนั้นรึ?”
สุนทรีได้ยินก็ตอบแกมหัวเราะ
“ประทานโทษ มีผู้หญิงอยู่ที่นี่คนหนึ่งค่ะ” พร้อมกันนั้นหล่อนชูมือขึ้น
หลวงชาญยนตรกิจกับนายแพทย์สุทัศน์ ผู้ซึ่งกำลังสนทนากันอยู่สองคน หยุดพูดหันไปดูทางหมู่นั้น
อนุชาติพึมพำ “อ้อ !...อื้อ.... ประทานโทษ” แล้วจึงพูดดัง “ผมเหมาว่าคุณเป็นผู้ชายร่ำไป....คือว่า คุณช่างสนุกเหมือนพวกผู้ชายเราเหมือนกัน”
“กินเหล้าแข็งกว่าแกอีก เชื่อไหม?” ประจิตรว่า
“อ๋อ ! ไอ้กันน่ะมันเมาเสียก่อนกิน” อนุชาติตอบ
“คือไม่กินก็เมาได้หรือกินไม่เมาก็ได้” สุนทรีอธิบาย
“ไม่ช่าย ไม่ใช่แน่ๆ” นายแมนขัด “ไม่กินก็เมา กินแล้วยิ่งเมาใหญ่”
“เอ๊ะ ! อั๊วนี่เห็นจะเสียคนเสียวันนี้เอง เพื่อนเรามันเผาเรือน”
“อย่ากลัวค่ะ ดิฉันไม่ใช่คนหูเบา”
“นั่นแหละยิ่งต้องระวังทางตาให้มาก” นายแมนพูด
“ว่าไงนะ?” อนุชาติถาม ไล่ความคิดของสหายไม่ทัน
“ไม่ใช่ตาลื้อ ตาคุณสุนทรี”
“แปลว่าแกต้องระวังกิริยาให้มาก” นายแสงอธิบาย “อย่าให้คุณสุนทรีเห็นว่าแกเมา”
“พิโธ่ !” หญิงสาวอุทาน “ดิฉันยิ่งได้รับเกียรติยศ คุณอนุชาตินับว่าดิฉันเป็นผู้ชายคนหนึ่งแล้ว ยังจะมาเกณฑ์ให้ดิฉันเป็นเครื่องกีดขวางอีกหรือคะ”
“นั่นซี ยังไงๆ ให้อภัยผมด้วยนะครับ” อนุชาติว่าน้ำเสียงวิงวอน
สุนทรีจึงตอบอย่างหนักแน่นเพื่อให้เหมาะกับเสียงของเขา
“อ๋อ ! แน่นอน อย่าเกรงใจดิฉันเลยค่ะ” แล้วหล่อนต่อแกมหัวเราะ “เผื่อยังไงห้องคุณประจิตรก็ใหญ่พอที่จะบรรจุคุณได้”
แล้วเจ้าหล่อนขยับตัวเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ จึงแลไปเห็นหลวงชาญฯ กับสุทัศน์ผู้ซึ่งนั่งเคียงกัน และเห็นว่าเขาทั้งสองกำลังจ้องดูหล่อนอยู่
และเนื่องจากที่สุทัศน์ขยับตัว และสีหน้าเปลี่ยนไปในทันทีที่หล่อนมองไปทางเขา สุนทรีจึงทายได้ว่าเขากำลังคิดถึงสิ่งที่เกี่ยวกับตัวหล่อนไกลไปจากเรื่องที่หล่อนพูดมากทีเดียว ด้วยนิสัยเป็นผู้ชอบสู้ไม่ชอบหนี สุนทรีก็ลุกจากที่เก่าเดินเข้าไปที่เขา
หลวงชาญฯ กับสุทัศน์ลุกขึ้นพร้อมกัน เพื่อจะยกที่นั่งของตนให้สุภาพสตรี สุนทรียังไม่นั่ง ยืนอยู่จนสุทัศน์ยกเก้าอี้มาตั้งอีกตัวหนึ่ง เจ้าหล่อนจึงเลือกนั่งตรงกลางระหว่างเขาทั้งสอง
“ดิฉันมาขัดคอหรือเปล่าคะ?” หล่อนถาม
“เปล่า ว่าแต่ทางโน้นจะขาดความเบิกบานไปมาก” สุทัศน์ตอบ
“อุ๊ย ! ไม่มีวันละ ดิฉันเชื่อว่าเวลาผู้ชายมีเหล้ากับเพื่อนอยู่แล้ว คงไม่ต้องการผู้หญิง”
“ไม่แน่นัก แต่ตามเหลาเขายังใช้ผู้หญิงปรนนิบัติ”
หลวงชาญฯ มองข้ามสุนทรีไปยังผู้พูด สีหน้าแสดงความฉงนและไม่พอใจ สุทัศน์พูดขึ้นอีกเสมือนต่อประโยคก่อน
“ถ้าไปในที่ๆ ต้องรักษาความเรียบร้อย เช่นบ้านเพื่อนฝูง ผู้หญิงเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้ผู้ชายเผลอตัวจนเหลวแหลกเกินไป ยังไงๆ ผู้ชายก็ยังต้องการผู้หญิงอยู่เสมอ”
แต่ความระแวงได้เกิดแก่สุนทรีเสียแล้ว หล่อนจึงนิ่งเสียไม่ตอบว่ากระไร
เสียงประจิตรปรารภอยู่ในหมู่สหายสามคน
“นายสิงห์ทำไมยังไม่มา”
“ไปติดตาข่ายอยู่เสียที่ไหนแล้วก็ไม่รู้” นายแมนว่า
“อี๊ ! ติดก็ไม่นาน วันนี้ ‘หนู’ จะมาด้วย”
“ก็เผื่อไปติดเสียก่อนถึงบ้าน อีตอนกลับจากทำงานล่ะ?”
“โอ๊ย ! นายสิงห์ไม่เป็นหร็อกอย่างนั้น หนูปราบเสียอยู่”
“ถ้าอั๊วเป็นสิงห์อั๊วจะไม่เรียกเมียอั๊วว่าหนูเป็นอันขาด” นายแสงเอ่ยขึ้น
นายแมนหัวเราะสนับสนุน
“นั่นซี มันทำให้เสียศักดิ์ของสิงห์อื่นๆ ไปด้วย”
“อั๊วละเกลียดเหลือเกินไอ้เรื่องหนูนั้น หนูงี้ เมียของอั้วๆ จะไม่ยอมให้เรียกตัวเองว่าหนูเป็นอันขาด” อนุชาติกล่าว
เพื่อนๆ ของเขาทำหน้าพิกล เพราะเขาทุกๆ คนรู้อยู่ว่าภรรยาคนหนึ่งในจำนวนสามคนที่เขามีอยู่ในเวลานี้ ได้เคยเป็นพี่เลี้ยงของเขาเอง นายแมนจึงพูดไปเสียทางหนึ่งโดยเร็ว
“นายสิงห์มาวันนี้ก็ไม่กล้าสนุกเท่าไหร่หร็อก เพราะหนูมาด้วย”
สุทัศน์เอนตัวเข้าหาสุนทรี และพูดราวกับรายงานเรื่องสำคัญ
“คุณกระแสอาจจะไม่มาก็ได้ เพราะไม่สบาย”
“อ้าว ! เป็นอะไรไป?”
“เป็นหวัดอย่างแรง ติดลูก ลูกคนเล็กเป็นไข้หวัด เมื่อวานนี้ผมไปเยี่ยมลูกเลยไปพบแม่ บ่นว่าปวดศีรษะคัดจมูกใหญ่โต”
“แล้วยายหนูแกเป็นยังไงมั่งคะ?”
“จวนหายแล้ว ผมนัดไว้ว่าพรุ่งนี้จะไปเยี่ยมอีก เด็กแกน่าเอ็นดูมาก ตัวเบ้อเร่อ หน้าตาเป็นเด็กรู้ภาษา”
“ได้ยินว่าออกมาหนักตั้งเกือบ ๑๐ ปอนด์หรือคะ?”
“ไม่ถึง ๙ ปอนด์พอดีๆ ไม่สมกับร่างกายแม่เลย คุณกระแสผอมบาง”
“รูปร่างยังกะจะปลิวตามลม” หลวงชาญฯ เสริมพลางหัวเราะ “เมื่อก่อนแต่งงานเป็นคนท้วม นายสิงห์ยังเคยติว่าเจ้าเนื้อ พอแต่งงานแล้วยังไงถึงกลายเป็นเพรียวลมไปได้”
“ก็ดีแล้วยังไงคะ ถูกใจคุณสิงห์”
“ก็ไม่ถูกอีกน่ะแหละ” สุทัศน์ตอบ “สิงห์กลัวเมียจะเป็นวัณโรค แต่ผมตรวจแล้ว ไม่มีโรคอะไรเลยแล้วก็เห็นแกแข็งแรงดี เดินก็เก่ง”
ระหว่างนี้เอง นายสิงห์ มุสิกกุล ก็มาถึงพร้อมด้วยภรรยา
ก่อนที่จะลุกขึ้นไปรับเพื่อนหญิง สุนทรีถามผู้ที่อยู่ข้างหล่อนว่า
“รับประทานโทษ กี่ทุ่มแล้วคะ?”
หลวงชาญฯ ชักนาฬิกาจากกระเป๋าเสื้อ แต่สุทัศน์มีนาฬิกาอยู่ที่ข้อมือ จึงตอบได้ก่อน
“๑๙.๕๖”
“ได้เวลารับประทานแล้ว” สุนทรีกล่าว “ขอบคุณค่ะ” แล้วหล่อนก็เดินห่างไป
สุทัศน์มองตามหญิงสาว แล้วหันกลับมาทางหลวงชาญฯ พูดว่า
“ผมประหลาดใจว่า ทำไมเขาถึงไม่แต่งงานกันให้เป็นเรื่องเป็นราวเสียที?”
หลวงชาญฯ ขยับไหล่ แล้วพูดอย่างไม่สนใจนัก
“เขาคงมีเหตุผล บางทีผู้หญิงจะฉลาดพอจะปล่อยให้ผู้ชายเที่ยวเสียให้สมอยากก่อน”
“ผมสงสัย”
“สงสัยว่ายังไง?” อีกฝ่ายหนึ่งถาม เลิกคิ้วขึ้นเล็กน้อย
“ว่าจะแต่งหรือไม่แต่ง...?”
หลวงชาญฯ ขยับไหล่เป็นครั้งที่สองแล้วก็นิ่งอยู่