๑๔
คณะเดินทางไปนมัสการพระแท่นกลับถึงจังหวัดเมื่อใกล้จะเย็น และขุนจำนงฯ กับหลานสาวถึงที่อยู่เมื่อเย็นมากแล้ว คุณลุงหน้าดำคล้ำด้วยความที่เมื่อยและเหนื่อย ส่วนหลานสาวถึงแม้จะมอมไปด้วยฝุ่นทั้งตัว สีหน้าก็สดอยู่ด้วยสายโลหิตอันเกิดจากความสนุก และความตื่นเต้นที่ได้รับตลอดทางที่ไป นอกจากนี้งามพิศได้ทราบรายละเอียดแห่งข่าวอันหนึ่ง ซึ่งทำให้หล่อนแช่มชื่นขึ้นอย่างประหลาด
นางจำนงฯ ซักถามสามีถึงเรื่องการเดินทาง ขุนจำนงฯ เล่าไปตามที่นึกได้ มีอุปสรรคเล็กน้อยเช่นรถ เรื่องติดหล่มตามทาง ต้องใช้แรงคนเป็น ๒-๓ ครั้ง เด็กๆ ลูกชาวบ้านพยายามที่จะปิดทางมิให้รถผ่าน เพราะถือว่าทางนั้นอยู่ในนาของเขา นายอำเภอต้องแสดงตัวพร้อมกับแสดงตำแหน่งหน้าที่ราชการ และในท้ายที่สุด ท่านขุนเล่าว่าตอนหนึ่งเมื่อรถสะดุดรากไม้โดยแรง ตัวธิดาข้าหลวงได้กระดอนไปหมอบอยู่บนตักปลัดอำเภอ
ระหว่างนี้งามพิศอยู่ในห้อง เตรียมตัวจะไปอาบน้ำ หล่อนอดที่จะหยุดฟังลุงเขยพูดมิได้ สีหน้าของหล่อนเต็มไปด้วยความพลอยนึกสนุกในเรื่องที่ลุงเขยเล่านั้น และเป็นครั้งแรก-ครั้งแรกแท้ๆ นับแต่หล่อนมาอยู่กับคุณป้าคุณลุง-ที่งามพิศนึกอยากร่วมวงการสนทนากับท่านทั้งสอง
งามพิศออกจากห้อง เดินผ่านคุณป้าคุณลุงจะไปห้องน้ำ พอหล่อนคล้อยหลังก็ได้ยินเสียงคุณป้าพูดว่า
“แล้วแม่หลานสาวของเราเป็นยังไง? ไปทำเร่อร่าอะไรมั่งหรือเปล่า?”
งามพิศไม่มีโอกาสได้ฟังคำที่คุณลุงตอบ เพราะหล่อนไม่หาญพอที่จะหยุดฟัง
ขุนจำนงฯ ตอบว่า
“ก็ยังงั้นแหละ มีตื่นหน่อย ข้าหลวงชมว่าแข็งแรงค่าที่แกไม่มีเลย ดูเหมือนหัวกระแทกหลังคารถเข้าหลายที แต่แกไม่วี้ดว้ายเหมือน....อีกคนหนึ่ง”
“ใคร? ลูกสาวข้าหลวงน่ะรึ?”
ขุนจำนงฯ พยักหน้า แล้วพูดสืบไป
“ข้าหลวงสั่งแม่พิศว่า ให้หมั่นไปเยี่ยมเพื่อนบ่อยๆ หน่อย ต่อว่าฉันกับแม่เชย ไม่พาหลานไปหาลูกท่านมั่ง ว่าลูกสาวท่านมาถึงใหม่ๆ ไม่รู้จักใครเลยบ่นว่าเหงา รู้จักอยู่ก็แต่แม่พิศคนเดียว ท่านว่าเขารักกันมากเมื่อเรียนหนังสืออยู่ด้วยกัน”
“แล้วคุณว่ายังไง?”
“ฉันจะว่ายังไง ท่านไม่เคยสั่งฉันนี่ ท่านสั่งแต่แม่เชยไม่ใช่หรือ?”
“ก็คุณไม่รู้จักแก้แทนฉันมั่งหรอกหรือ?”
“ก็ไม่รู้จะแก้ว่ายังไงนี่ ก็เราไม่เคยพาเด็กไปจริงๆ ของท่าน หรือจะว่าไปอีกทีหนึ่ง ก็หลานของเรา เด็กอยู่กับเรา เราไม่พาไปมันมีงานมีการเสียมั่ง อะไรเสียมั่ง ใครจะมาเป็นเจ้า เว้นแต่ว่า....ดูมันก็ใจจืดไปหน่อย”
คุณนายเชยมองดูสามีอย่างใช้ความคิด อันที่จริงข้าหลวงก็เคยถามถึงงามพิศต่อคุณนายมากกว่าสองครั้ง คุณนายก็ไม่เคยตอบให้เป็นกิจลักษณะ ครั้นข้าหลวงถามทางสามี คุณนายก็เกิดมีความคิดประหลาดใจที่สามีมิได้ให้คำอธิบายอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ข้าหลวงเป็นการแก้แทนตน ทั้งนี้เป็นเพราะคุณนายเองก็อธิบายไม่ถูกเหมือนกันว่า การที่ตนทำเฉยเสียไม่พาหลานสาวไปหาส่งศรีนั้นเป็นด้วยเหตุใด และก็เพราะว่าคุณนายอธิบายไม่ถูกนี่แหละ จึงต้องการจะฟังคำอธิบายของสามี เพื่อจะได้ยึดถือไว้สำหรับเวลาข้างหน้า
ขุนจำนงฯ เหยียดขาออกเต็มที่ แล้วก็เหยียดแขนทั้งสองข้างออกจนตึง เป็นการแก้เมื่อย ครั้นแล้วก็ลุกขึ้นไปยืนที่กรงนกเขาอันแขวนอยู่ในที่ใกล้ มิช้าก็ปรารภขึ้นว่า
“เออ ! ไม่มีใครให้น้ำนก น้ำในโถเกือบเกลี้ยง”
คุณนายมีอาการ ‘พื้นไม่ดี’ อยู่แล้วได้โอกาสจึงขึ้นเสียงว่า
“ก็แม่พนักงานมัวแต่ไปเที่ยวเสียนี่ อ้ายคนอื่นหรือมันก็งานท่วมหัวกันทุกคน”
ขุนจำนงฯ หยิบโถน้อยออกจากกรงนก นำไปใส่น้ำโดยไม่พูดว่ากระไร
พอดีกับงามพิศออกจากห้องน้ำ คุณป้าเห็นก็พูดว่า
“แหม ! แม่พิศ น้ำสักกี่โอ่ง ขมิ้นสักกี่โถ จนเราลืม ! แล้วแต่งตัวไวๆ เข้านะยะ งานการอะไรไม่ได้แตะต้องเลยเชียววันนี้”
งามพิศสาวเท้าเร็วขึ้นอีก เห็นด้วยกับคุณป้าในข้อที่ตนยังไม่ได้ทำงานสิ่งใดเลย แต่รู้สึกว่าความชื่นบานที่ได้จากการเที่ยวนั้นละลายไปทันใด แล้วนึกถามตนเองในใจว่า เมื่อเสร็จจากการผลัดผ้าจะจับงานส่วนใดก่อน
ในที่สุด เมื่อแต่งตัวเสร็จงามพิศก็กวาดห้องคุณป้า คือห้องที่หล่อนนอนนั่นเอง เสร็จแล้วก็เตรียมตั้งที่รับประทานอาหารไว้ ก็พอดีขุนจำนงฯ อาบน้ำเสร็จ และบ่นว่าหิว
งามพิศไปที่ครัว จับนั่นทำนี่ให้อาหารพร้อมเร็วเข้าแล้วก็ยกถาดอาหารมาตั้งที่
ระหว่างการบริโภค มีการสนทนากันน้อยที่สุดตามธรรมดาของสามีภรรยาคู่นี้ เพราะขุนจำนงฯ มีนิสัยไม่ชอบพูดเลยในเวลารับประทาน และนางจำนงก็อยู่กับขุนจำนงฯ มา ๒๐ กว่าปีแล้ว เป็นเวลานานพอที่จะติดนิสัยจากสามีบางประการ
งามพิศมีนิสัยรับประทานเร็วมาแต่ไหนแต่ไร เฉพาะวันนี้หล่อนยิ่งเร็วเป็นพิเศษ ด้วยกลัวคุณป้าจะตำหนิว่ามัวแต่ละเลียด แม้กระนั้น เมื่อหล่อนล้างมือพร้อมกับล้างจานข้าวของหล่อน ยังไม่ทันเสร็จดี คุณป้าก็เตือนว่า
“แล้วไปเอาพลูมาจีบเสียนะยะ เที่ยวกันเสียหมากพลูไม่มีติดก้นเชี่ยน”
เป็นอันว่าฝอยทองของหวานสำหรับมื้อนี้ จะไม่ได้เป็นของหวานสำหรับงามพิศด้วย แต่งามพิศชินเสียแล้วต่อการไม่ได้รับประทานของหวานหลังของคาว ตลอดเวลาที่งามพิศอยู่กับป้า หล่อนยังไม่เคยบังอาจที่จะแตะต้องขนมของคุณป้า โดยที่ท่านไม่ได้บอกให้ก่อนเลยแม้แต่สักครั้งเดียว จึงเป็นธรรมดาที่ว่าวันใดที่คุณป้าลืมหรือแสร้งทำลืมที่จะสั่งอนุญาต วันนั้นงามพิศก็ไม่ได้ลิ้มรสขนมหรือ ‘ของกินเล่น’ อันเป็นของชอบของเด็กสาวๆ ทั่วไปแม้แต่สักนิดเดียว
ก่อนที่งามพิศจะจีบพลูเสร็จ ขุนจำนงฯ ก็เข้าห้องนอน คุณป้าคอยให้งามพิศปลดสร้อยข้อมือสองสายที่ท่านให้หล่อน ‘แต่ง’ ไปเที่ยวพระแท่น ได้สายสร้อยแล้วก็ตามสามีเข้าในห้อง เพื่อทำการนวดให้แก่สามี เป็นการปรนนิบัติอันควรแก่เวลา ต่อนั้นงามพิศก็ได้ทำงานพลางปล่อยใจให้คิดถึงสิ่งต่างๆ ตามอารมณ์โดยสะดวก
พอแรกเริ่มงามพิศก็นึกถึงข้าหลวงบิดาของสหายก่อน ดูท่านช่างกรุณา น่าชมเสียนี่กระไร ท่านปราศรัยกับงามพิศหลายครั้ง ด้วยน้ำเสียงแสดงความเมตตาบ้าง ล้อเลียนบ้าง ห่วงใยบ้าง งามพิศนึกพิศวงในใจ....ผู้ที่มีตำแหน่งสูงที่สุดในถิ่นที่หล่อนอยู่นี้ ได้เป็นคนแรกที่เคยแสดงความเอาใจใส่ต่อหล่อน !
แล้วนึกถึงส่งศรี ผู้เป็นเนื้อแท้ของข่าวที่ทำให้งามพิศแช่มชื่น....เป็นความจริงแท้แล้ว ส่งศรีจะไม่กลับกรุงเทพฯ จะอยู่ในจังหวัดนี้ต่อไป !
ส่งศรีลาออกจากมหาวิทยาลัย ด้วยพ่ายแพ้ต่อเหตุผลของบิดา รวมทั้งการรบเร้าของท่านด้วย นางเอนกประชากร มารดาส่งศรีได้ถึงแก่กรรมในระยะใกล้เคียงกับเวลาที่งามพิศเป็นกำพร้ามารดา และหลวงเอนกฯ ก็ยังครองตัวเป็นหม้าย ด้วยเหตุผลอันเดียวกับที่หลวงประเสริฐฯ เคยพะวงถึง คือเกรงว่าบุตรธิดาจะได้รับความเดือดร้อนจากแม่เลี้ยง
แต่ในฐานะแห่งการเป็นหม้ายของหลวงประเสริฐฯ กับหลวงเอนกฯ นั้นต่างกันโดยการครองชีพของแต่ละฝ่าย หลวงประเสริฐฯ เป็นแพทย์ การติดต่อกับบุคคลทั่วไปย่อมคล้ายคลึงกับการติดต่อระหว่างพ่อค้ากับลูกค้า ตราบเท่าที่หลวงประเสริฐฯ รักษาไข้ดี คนไข้ทั้งหลายย่อมมาสู่เพื่อประโยชน์แก่เขาเอง ส่วนหลวงเอนกฯ เป็นข้าราชการประจำจังหวัด ความเจริญในหน้าที่ของคุณหลวงขึ้นอยู่แก่การต้องติดต่อกับบุคคลทุกจำพวกเป็นนิจศีล ทั้งในทางราชการโดยตรงและทางกึ่งราชการ ทั้งในทางกึ่งราชการและกึ่งส่วนตัว เมื่อคุณหลวงมีแต่ตัวผู้เดียว ไม่มีผู้ต่างหูต่างตา ไม่มีผู้เป็นแรงคอยช่วย ก็นับว่าคุณหลวงต้องรับภาระหนักเกินสมควรอยู่
เมื่อส่งศรีเรียนจบหลักการสูตรสามัญศึกษา หล่อนแสดงความปรารถนาจะศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย คุณหลวงก็อิดออด แต่ด้วยเหตุที่ส่งศรีอยู่ห่างจากบิดา อาศัยแต่จดหมายเป็นเครื่องติดต่อแสดงความคิดเห็นต่อกัน ส่งศรีไม่เล็งเห็นน้ำหนักแห่งการอิดออดที่เป็นแต่เพียงตัวอักษร ถือความ ‘อยากจะทำตามอย่างเพื่อน’ เป็นที่ตั้ง ประกอบกับมี ‘คุณน้า’ ผู้อยู่ใกล้เป็นผู้สนับสนุน จึงได้เข้าสอบแข่งขันเพื่อเป็นนิสิตหญิงในมหาวิทยาลัย แล้วและได้รับเลือกโดยคะแนนที่สอบแข่งขันนั้น
เมื่อได้ทราบข่าวความสำเร็จในขั้นนี้ หลวงเอนกฯ อดที่จะภูมิใจในความสามารถของธิดาเสียมิได้ จึงมิได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก แต่เมื่อเวลาล่วงไปนานวันเข้า หลวงเอนกฯ มีความรู้สึกในความลำบากและความขัดข้องบางประการทวีขึ้น จึงเริ่มเจรจากับธิดาอีกครั้งหนึ่ง
หลวงเอนกฯ ชี้แจงว่า คุณหลวงก็พอใจที่จะให้ธิดาเป็นผู้มีวิทยฐานะชั้นสูง เพื่อเป็นที่ชื่นใจแก่คุณหลวงด้วย และเพื่อเป็นเครื่องมือแก่ธิดาสำหรับหาเลี้ยงชีพในภายหน้าด้วย แต่คุณหลวงต้องอยู่โดยไม่มีแม่บ้าน ได้รับความเหน็ดเหนื่อยและลำบากใจหลายประการ ทั้งน้องเล็กสองคนของส่งศรี ก็มีอายุมากเกินสมควรที่จะปล่อยให้ได้รับการอบรมจากนางพี่เลี้ยงแต่ฝ่ายเดียวแล้ว คุณหลวงไม่มีเวลาที่จะได้คอยเฝ้าอบรมเด็กเล็กๆ สองคนนั้น ซึ่งคุณหลวงสังเกตเห็นว่า ความเจริญในทางจรรยามิได้คู่มากับความเจริญทางกาย หากส่งศรีรักที่จะได้ปริญญามากกว่าห่วงความสุขของบิดาและของน้อง คุณหลวงก็จะแต่งงานใหม่ หากส่งศรีจะสละการศึกษาทางมหาวิทยาลัยเสีย มาอยู่กับบิดา ส่งศรีก็ยังมีทางที่จะเล่าเรียนให้ถึงขั้นประกาศนียบัตรวิชาครูมัธยม เพราะวิชาขั้นนี้บุคคลผู้มีความพยายามมากหน่อยอาจสามารถจะเรียนเองได้ดี และตราบเท่าที่ส่งศรียังอยู่เป็นแม่บ้านต่างหูต่างตาบิดา และลูกน้อยทั้งสองยังไม่โตพอที่จะรักษาตัวเองให้พ้นจากการกดขี่ หลวงเอนกฯ จะยังไม่แต่งงาน