สงครามครั้งที่ ๙ คราวพระมหาอุปราชายกมาครั้งแรก ปีขาล พ.ศ. ๒๑๓๓

ตั้งแต่พระเจ้าหงษาวดีนันทบุเรงเลิกทัพกลับไปจากกรุงศรีอยุทธยาแล้ว ไทยว่างการสงครามกับพม่าอยู่ ๓ ปี ในระหว่างนั้นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชประชวรเสด็จสวรรคต เมื่อณวันอาทิตย์ เดือน ๘ แรม ๑๓ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๙๕๒ พ.ศ. ๒๑๓๓ สมเด็จพระนเรศวรพระชนมายุได้ ๓๕ ปี เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราชพระเอกาทศรถ ให้เปนพระมหาอุปราช แต่ให้มีพระเกียรติยศสูงเสมออย่างเปนพระเจ้าแผ่นดินอิกพระองค์ ๑ สมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ได้ ๘ เดือนก็เกิดศึกหงษาวดีอิก.

เหตุที่จะเกิดสงครามคราวนี้ ปรากฎในพงษาวดารพม่าว่า เจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองคังตั้งแขงเมืองขึ้นอิก พระเจ้าหงษาวดีปฤกษาเสนาบดีถึงการที่จะปราบปราม มีเสนาบดีคน ๑ ชื่อศิริไชยนรธาทูลว่า ที่เมืองคังกำเริบขึ้นก็เพราะเห็นว่าปราบไทยไม่ลง จึงตั้งแขงเมืองเอาอย่างไทยบ้าง ถ้ายังปราบไทยไม่ลงอยู่ตราบใด ถึงปราบเมืองคังได้แล้วก็คงมีเมืองอื่นเอาอย่างไทยต่อไปอิก ต้องปราบเมืองไทยอันเปนต้นเหตุให้ราบคาบเสียให้ได้ด้วย จึงจะเรียบร้อยเปนปรกติได้ทั่วทั้งพระราชอาณาจักร พระเจ้าหงษาวดีเห็นชอบด้วย แลทำนองจะได้ข่าวออกไปว่ากรุงศรีอยุทธยาเปลี่ยนรัชกาลใหม่ ประมาณว่าการภายในบ้านเมืองกำลังเปลี่ยนแปลงไม่เปนปรกติจะเห็นเปนโอกาศด้วยอิกอย่าง ๑ พระเจ้าหงษาวดีจึงให้จัดกองทัพ ๒ ทัพ ให้ราชบุตรองค์ ๑ ซึ่งได้เปนพระเจ้าแปรขึ้นใหม่คุมกองทัพจำนวนพล ๑๐๐,๐๐๐ ยกไปตีเมืองคังทาง ๑ ให้พระยาพสิม พระยาภุกามเปนกองน่า พระมหาอุปราชาเปนกองหลวง คุมกองทัพรวมจำนวนพล ๒๐๐,๐๐๐ ยกมาตีเมืองไทยอิกทาง ๑.

พระมหาอุปราชายกออกจากเมืองหงษาวดีเมื่อเดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ ปีขาล พ.ศ. ๒๑๓๓ เดินกองทัพมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ หาเดินทางด่านแม่ละเมาดังคราวก่อนไม่ ความข้อนี้ทำให้เห็นว่ากองทัพหงษาวดียกมาครั้งนี้ หมายจะจู่เข้ามาตีกรุงศรีอยุทธยาไม่ให้ทันตระเตรียมป้องกันได้พรักพร้อม เพราะยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา ตั้งแต่เข้าแดนไทยต้องเดินทางกว่าเดือนกองทัพจึงจะลงมาถึงกรุง ฯ แลยังต้องสั่งให้เตรียมเสบียงอาหารล่วงน่าให้ไทยรู้ตัวมีเวลาตระเตรียมนาน ถ้ายกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ข้ามแดนมาเพียง ๑๕ วันก็ถึงกรุงฯ ทางใกล้กว่า เข้าใจว่าเพราะเหตุนี้พระมหาอุปราชาจึงยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์.

ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยาครั้งนี้ เพราะรู้ตัวเร็ววันก็เห็นจะมีความลำบากอยู่ ด้วยการที่จะต้อนผู้คนเข้าพระนครดังคราวก่อนๆ ไม่ใคร่ทัน แต่วิไสยสมเด็จพระนเรศวรว่องไวในเชิงศึก เมื่อเห็นว่าจะตั้งคอยต่อสู้อยู่ที่กรุง ฯ จะไม่ได้เปรียบข้าศึกเหมือนหนหลัง ก็ทรงพระราชดำริห์กระบวนรบเปนอย่างอื่น รีบเสด็จยกกองทัพหลวงออกไปในเดือนยี่ ครั้นเสด็จไปถึงเมืองสุพรรณบุรี ได้ทรงทราบว่าข้าศึกยกล่วงเมืองกาญจนบุรีเข้ามาแล้ว จึงให้ซุ่มทัพหลวงไว้ (เข้าใจว่าที่ลำน้ำบ้านคอย) แต่งกองทัพน้อยทำนองเหมือนกับที่จะให้ไปรักษาเมืองกาญจนบุรียกไปล่อข้าศึก ฝ่ายกองทัพพระมหาอุปราชาเข้ามาถึงเมืองกาญจนบุรีเห็นไม่มีผู้ใดต่อสู้ สำคัญว่าไทยจะตั้งมั่นคอยต่อสู้อยู่ที่กรุงศรีอยุทธยาอย่างคราวก่อน ก็ยกเข้ามาด้วยความประมาท ครั้นมาพบพวกกองทัพล่อของสมเด็จพระนเรศวร เห็นเปนกองทัพเล็กน้อย ทัพน่าของพระมหาอุปราชาเข้ารบพุ่ง กองทัพล่อต่อสู้อยู่หน่อยหนึ่งแล้วแกล้งถอยหนี พวกกองทัพหงษาวดีเห็นได้ทีก็ไล่ติดตามมา เข้าในที่ซุ่มทัพของสมเด็จพระนเรศวร ๆ ใหกองทัพออกระดมตีได้รบพุ่งกันถึงตลุมบอน กองทัพหงษาวดีเสียทีก็แตกพ่าย ถูกไทยฆ่าฟันตายเสียเปนอันมาก พระยาภุกามนายทัพน่าก็ตายในที่รบ รี้พลที่เหลือพากันแตกหนี กองทัพไทยไล่ติดตามไป จับพระยาพสิมนายทัพน่าได้ที่บ้านจรเข้สามพันอิกคน ๑ กองทัพน่าของพระมหาอุปราชากำลังแตกหนีอลหม่าน ไทยไล่ติดตามไปประทะทัพหลวงทัพหลวงก็เลยแตกด้วย ในพงษาวดารพม่าว่า ครั้งนั้นไทยเกือบจะจับพระมหาอุปราชาได้ ด้วยกองทัพพม่าแตกยับเยิน แลเสียผู้คนช้างม้าเครื่องสาตราวุธแก่ไทยเปนอันมาก พระมหาอุปราชาหนีไปพ้นแล้วก็ให้รวบรวมรี้พลที่เหลืออยู่กลับไปถึงเมืองหงษาวดีเมื่อเดือน ๕ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๑๓๔ พระเจ้าหงษาวดีทรงขัดเคือง ให้ลงพระราชอาญาแก่นายทัพนายกอง แต่พระมหาอุปราชานั้นให้ภาคทัณฑ์ไว้จะให้ทำการแก้ตัวใหม่ ดังจะปรากฎต่อไปข้างน่า.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ