- อธิบายเหตุการณ์ที่ไทยรบกับพม่า
- ครั้งที่ ๑ คราวพม่าตีเมืองเชียงกราน ปีจอ พ.ศ. ๒๐๘๑
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวสมเด็จพระสุริโยไทยขาดฅอช้าง ปีวอก พ.ศ. ๒๐๙๑
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวรบกันด้วยเรื่องช้างเผือก ปีกุญ พ.ศ. ๒๑๐๖
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวเสียกรุง ฯ แก่พระเจ้าหงษาวดี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๑๑
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิศระ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗
- สงครามครั้งที่ ๖ ครั้งรบพระยาพสิมที่เมืองสุพรรณ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวรบพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกษ ปีระกา พ.ศ. ๒๑๒๘
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวพระเจ้าหงษาวดีล้อมกรุง ฯ ปีจอ พ.ศ. ๒๑๒๙
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวพระมหาอุปราชายกมาครั้งแรก ปีขาล พ.ศ. ๒๑๓๓
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวสมเด็จพระนเรศวรชนช้าง ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕
- สงครามครั้งที่ ๑๑ คราวไทยตีเมืองทวายเมืองตะนาวศรี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๓๕
- สงครามครั้งที่ ๑๒ คราวสมเด็จพระนเรศวรได้หัวเมืองมอญ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๑๓๗
- สงครามครั้งที่ ๑๓ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดีครั้งแรก ปีมะแม พ.ศ. ๒๑๓๘
- สงครามครั้งที่ ๑๔ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดี ครั้งที่ ๒ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๔๒
- สงครามครั้งที่ ๑๕ สงครามครั้งที่สุดของสมเด็จพระนเรศวร ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๔๗
- สงครามครั้งที่ ๑๖ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีฉลู พ.ศ. ๒๑๕๖
- สงครามครั้งที่ ๑๗ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๑๕๗
- สงครามครั้งที่ ๑๘ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีจอ พ.ศ. ๒๑๖๕
- สงครามครั้งที่ ๑๙ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๒๐๕
- สงครามครั้งที่ ๒๐ คราวรบพม่าที่เมืองไทรโยค ปีเถาะ พ.ศ. ๒๒๐๖
- สงครามครั้งที่ ๒๑ คราวไทยตีเมืองพม่า ปีมโรง พ.ศ. ๒๒๐๗
- สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๑
- สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๒
- สงครามครั้งที่ ๒๓ คราวพม่าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๐๗
- สงครามครั้งที่ ๒๔ คราวเสียกรุง ฯ ครั้งหลัง ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
สงครามครั้งที่ ๑๙ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๒๐๕
พม่าตีเมืองเชียงใหม่ได้เมื่อครั้งพระเจ้าสุทโธธรรมราชา ดังกล่าวมาในเรื่องสงครามครั้งที่ ๑๘ เมืองเชียงใหม่จึงขึ้นแก่พม่ามาแต่นั้น แต่พระเจ้าอังวะตั้งให้เชื้อวงศ์เจ้านายเมืองเชียงใหม่ครองเมืองเปนอย่างประเทศราชขึ้นแก่พม่าสืบกันมา ครั้นเมื่อพวกเม่งจูซึ่งได้เปนใหญ่ในแผ่นดินจีนปราบปรามพวกจีนที่ยังไม่อ่อนน้อม เจ้าเมืองจีนหนีพวกเม่งจูมาจากเมืองฮุนหนำ มาอาไศรยเมืองพม่า พระเจ้าอังวะรับทำนุบำรุงไว้ พวกฮ่อ (คือพวกเม่งจู) จึงยกกองทัพตามมาตีเมืองพม่าเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๒๐๓.
ขณะเมื่อพวกฮ่อเตรียมกองทัพจะยกมาตีเมืองพม่านั้น มีข่าวมาถึงเมืองเชียงใหม่ว่า ฮ่อจะยกลงตีเมืองเชียงใหม่ด้วยอิกทางหนึ่ง พระแสนเมืองซึ่งเปนพระยาเชียงใหม่มีใบบอกไปทูลพระเจ้าอังวะ ขอกองทัพพม่ามาช่วยรักษาเมือง พระเจ้าอังวะศิรินันทสุธรรมราชาให้กองทัพมาช่วยเมืองเชียงใหม่เมื่อเดือน ๙ ปีชวด พ.ศ. ๒๒๐๓ ครั้นฮ่อยกไปตีเมืองพม่า พระเจ้าอังวะเห็นว่าเปนศึกใหญ่หลวง เกรงกำลังที่กะเกณฑ์ได้ในเมืองพม่าจะไม่พอต่อสู้ข้าศึก จึงให้เรียกกองทัพพม่าที่ให้มาเมืองเชียงใหม่กลับไปช่วยรักษาพระนคร ฝ่ายกองทัพฮ่อยกล่วงแดนพม่าตีหัวเมืองใหญ่น้อยได้โดยลำดับมาจนถึงเมืองอังวะ เข้าปล้นเมืองหลายครั้ง พม่าต่อสู้รักษาเมืองแขงแรง กองทัพฮ่อก็ล้อมเมืองอังวะไว้.
ผ่ายพระยาเชียงใหม่ตั้งแต่พระเจ้าอังวะเรียกกองทัพกลับไป คอยฟังข่าวได้ความว่ากองทัพฮ่อเข้าไปล้อมเมืองอังวะไว้ได้แล้วก็ยิ่งหวั่นหวาด คาดว่าเมืองอังวะคงเสียแก่ฮ่อ จะหมายเอาพม่าเปนที่พึ่งต่อไปไม่ได้ จึงแต่งให้แสนสุรินทรไมตรีเปนทูตเชิญศุภอักษรกับเครื่องราชบรรณาการลงมายังกรุงศรีอยุทธยา ขออ่อนน้อมยอมเปนข้าขอบขัณฑสิมา แลขอพระราชทานกองทัพขึ้นไปช่วยต่อสู้พวกฮ่อรักษาเมืองเชียงใหม่ไว้ด้วย ขณะนั้นสมเด็จพระนารายน์เสวยราชย์มาได้ ๔ ปี ทรงพระราชดำริห์เห็นเปนโอกาศที่จะได้เมืองเชียงใหม่กลับมาเปนของไทยดังแต่ก่อน จึงมีรับสั่งให้จัดกองทัพ ให้พระยารามเดโชถือพล ๑,๐๐๐ เปนกองน่า พระยาสีหราชเดโชไชยถือพล ๔,๐๐๐ เปนกองหลวง แลเกณฑ์กองมอญเข้าสมทบ ให้สมิงพระรามคุมกอง ๑ สมิงพระตบะคุมกอง ๑ ยกล่วงน่าไปจากกรุง ฯ เมื่อเดือน ๑๒ ปีชวด ให้แสนสุรินทรไมตรีนำกองทัพขึ้นไป ครั้นถึงเดือนอ้ายสมเด็จพระนารายน์ก็เสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปประทับอยู่ณเมืองพิศณุโลก เพื่อจะได้ทรงทราบเหตุการณ์กองทัพให้ทันท่วงที.
ขณะเมื่อพระยาเชียงใหม่ให้ลงมาขอกองทัพไทยนั้น ฝ่ายเมืองพม่าฮ่อตั้งล้อมเมืองอังวะอยู่จนเสบียงอาหารในกองทัพเบาบาง เห็นว่าจะทำการต่อไปไม่สำเร็จ ฮ่อก็เลิกกองทัพกลับไป ข่าวทราบมาถึงพระยาเชียงใหม่ว่าพม่ามีไชยชนะฮ่อก็ตกใจกลัวพม่าเปนกำลัง ทราบว่าแสนสุรินทรไมตรีนำกองทัพไทยขึ้นไปถึงกลางทาง จึงให้คนเร็วลอบลงมาบอกแสนสุรินทรไมตรีให้หลบหนีไปเสีย พระยาสีหราชเดโชไชยยกกองทัพขึ้นไปทางเมืองกำแพงเพ็ชรยังไม่ทันถึงเมืองเถิน เห็นพวกทูตเชียงใหม่ที่นำทัพหลบหนีไปเปนการผิดสังเกตจึงหยุดกองทัพอยู่ แล้วบอกความมากราบทูล ขณะนั้นสมเด็จพระนารายน์เสด็จประทับอยู่ที่เมืองพิศณุโลก ได้ทรงทราบว่าพระยาเชียงใหม่กลับใจไม่สามิภักดิ์โดยสุจริตก็ทรงขัดเคือง จึงดำรัสสั่งให้เจ้าพระยากลาโหมถืออาญาสิทธิ์คุมกองทัพยกหนุนขึ้นไปอิก ๕ กอง รวมจำนวนพล ๑๐,๐๐๐ ให้ไปตีเมืองเชียงใหม่ กองทัพไทยยกขึ้นไปคราวนั้นพวกหัวเมืองขึ้นเชียงใหม่ไม่รู้ตัว ไปถึงเมืองไหนก็หาผู้ต่อสู้ไม่ จึงได้เมืองด้ง๑ เมืองลอง เมืองเถิน เมืองนครลำปาง กับทั้งเมืองกะเหรี่ยงลว้าที่ขึ้นเมืองเชียงใหม่อิกหลายเมือง คือเมืองอินทคิรี เมืองรามตี แลเมืองด่านอุมลุกเปนต้น แต่กำลังที่ยกไปยังน้อยนัก จึงหาได้เมืองเชียงใหม่ไม่ ครั้นสมเด็จพระนารายน์เสด็จคืนมาพระนครแล้วจึงให้หากองทัพกลับมาเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๒๐๔.
ในปีฉลู พ.ศ. ๒๒๐๔ นั้น ที่เมืองอังวะเกิดเหตุขึ้น ด้วยเมื่อกองทัพฮ่อมาล้อมเมืองอังวะอยู่นั้น พวกนักสนมของพระเจ้าอังวะเห็นว่าสิ่งของเครื่องบริโภคข้างในเมืองอัตคัด ก็ชิงซื้อหาสิ่งของเครื่องบริโภคต่าง ๆ เอาไปกักไว้ขายขึ้นราคาหากำไร พวกพลเมืองที่ถูกเกณฑ์ไปรักษาเมืองอังวะก็พากันโกรธแค้นพระเจ้าอังวะ ว่าเกณฑ์มาให้ลำบากแล้วซ้ำให้นักสนมเบียดเบียนอิกเล่า แต่เวลาศึกติดเมืองก็นิ่งอยู่ ครั้นฮ่อเลิกทัพกลับไปแล้วจึงมั่วสุมกันคิดขบถ ยกพระเจ้าแปรซึ่งเปนราชอนุชาของพระเจ้าอังวะขึ้นเปนหัวน่า แล้วเข้าปล้นพระราชวังจับพระเจ้าอังวะได้ให้ปลงพระชนม์เสีย พระเจ้าแปรก็ขึ้นครองราชสมบัติ ราชาภิเศกทรงพระนามว่าพระเจ้ามหาสีหสุรสุธรรมราชา เปนใหญ่ในเมืองพม่าต่อมา ข่าวที่เกิดวุ่นวายในเมืองพม่านั้นทราบเข้ามาถึงกรุงศรีอยุทธยาเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๒๐๕ สมเด็จพระนารายน์ทรงพระราชดำริห์ว่า เปนโอกาศควรจะตีเมืองเชียงใหม่ให้จงได้ จึงมีรับสั่งให้เกณฑ์กองทัพมีจำนวนพล ๔๐,๐๐๐ จะให้ยกไปตีเมืองเชียงใหม่ในปีขาลนั้น.
ในเวลาเตรียมทัพนั้น ทรงปรารภหาผู้ซึ่งจะเปนแม่ทัพใหญ่ให้ได้ดังพระราชหฤไทย ด้วยแม่ทัพนายกองที่ไปคราวก่อนมีเจ้าพระยามหาเสนาบดีที่สมุหกลาโหมเปนต้น ทำการไม่สำเร็จ ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าเจ้าพระยาโกษาธิบดีขุนเหล็ก ข้าหลวงเดิมซึ่งเปนบุตรเจ้าแม่วัดดุสิต แลได้ร่วมพระนมมาแต่ยังทรงพระเยาว์นั้น เปนผู้มีสติปัญญาสามารถ จะใคร่ทรงตั้งให้เปนแม่ทัพไปตีเมืองเชียงใหม่คราวนี้๒ แต่เจ้าพระยาโกษาธิบดีกราบทูลขอตัวว่า พึ่งเข้ามารับราชการไม่ช้านานเท่าใดนัก ข้าราชการที่เปนใหญ่กว่า แลคุ้นเคยราชการยิ่งกว่ายังมีมาก เกรงจะถือเปรียบเกี่ยงแย่ง จะบังคับบัญชาการศึกไม่ได้สิทธิขาด ฝ่ายข้างสมเด็จพระนารายน์จะให้เจ้าพระยาโกษาฯ รับเปนแม่ทัพให้จงได้ เจ้าพระยาโกษา ฯ จึงทูลขอทดลองถืออาญาสิทธิ์จัดทัพดูก่อน๓ สมเด็จพระนารายน์จึงพระราชทานพระแสงอาญาสิทธิ์ให้ตามประสงค์ เจ้าพระยาโกษาฯ ก็ออกมาสั่งกลาโหมมหาดไทยให้เกณฑ์คน ๓,๐๐๐ ให้เจ้าหมู่นายกองคุมไปตั้งค่ายที่ทุ่งพเนียดค่าย ๑ ค่ายนั้นให้ตัดไม้ไผ่มาปักเอาปลายลงเอาโคนขึ้นทำเปนรั้วระเนียด แล้วขุดดินทำเชิงเทินแลสนามเพลาะปักขวากหนามตามแบบแผนให้บริบูรณ์ กำหนดให้พร้อมเสร็จในวันรุ่งขึ้น เจ้าพระยาโกษาฯ จะออกไปตรวจในเวลา ๓ นาฬิกา (๙ ก.ท.) ถ้าแลผู้ใดไม่ทำตามสั่งจะเอาโทษถึงสิ้นชีวิตรตามพระอัยการศึก ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยากลาโหม แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเห็นเจ้าพระยาโกษา ฯ ถืออาญาสิทธิ์สั่งการดังนั้นต่างก็นึกเห็นขัน แต่ไม่กล้าโต้แย้งก็เร่งรีบกะเกณฑ์ผู้คนไปทำการตามคำสั่งแต่ในเพลากลางคืน พอรุ่งขึ้นก็ตั้งค่ายสำเร็จ ขณะนั้นมีขุนหมื่นเจ้าน่าที่คน ๑ แลเห็นรั้วค่ายข้างเชิงเสาระเนียดห่างโปร่งนัก เพราะเหตุปักลำไม้ไผ่เอาปลายลงดินเอาโคนขึ้นข้างบน จึงว่าแก่พวกเจ้าน่าที่ด้วยกันว่า เขาตั้งค่ายกันมาแต่ก่อนไม่เห็นเขาทำอย่างนี้ เขาปักไม้เอาโคนลงเอาปลายขึ้น นี่มาทำผิดแบบแผนค่ายจึงได้โปร่งโป ว่าแล้วก็ให้ถอนไม้ไผ่ปักเสียใหม่กลับเอาโคนลงตลอดน่าที่ของตน ครั้นถึงเพลา ๓ นาฬิกา เจ้าพระยาโกษา ฯ ออกไปตรวจค่ายโดยกระบวนเต็มยศอย่างแม่ทัพอาญาสิทธิ์๔ ขึ้นขี่ช้างตรวจค่ายมา เห็นตรงที่ปักไม้ระเนียดค่ายกลับเสียใหม่นั้น จึงเรียกตัวเจ้าน่าที่มาถาม ได้ความว่าเจ้าน่าที่ขัดขืนคำสั่งก็ให้เอาตัวไปประหารชีวิตรเสียในขณะนั้น แล้วให้เอาศีศะมาเสียบไว้ที่ปลายไม้ไผ่รั้วค่ายให้คนทั้งหลายเห็น ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยแลไพร่พลทั้งปวงเห็นเจ้าพระยาโกษาฯ บังคับบัญชาสิทธิ์ขาดดังนั้นก็พากันยำเกรงทั่วหน้า สมเด็จพระนารายน์จึงทรงตั้งเจ้าพระยาโกษา ฯ เปนแม่ทัพใหญ่ พระยาวิชิตภักดีเปนยกรบัตร พระยาสุรินทรภักดีเปนเกียกกาย พระยาสีหราชเดโชไชยเปนทัพน่า พระยาสุรสงครามเปนทัพหลัง แล้วให้ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่เมื่อเดือน ๑๒ ปีขาลนั้น ครั้นถึงเดือนอ้ายสมเด็จพระนารายน์ก็เสด็จยกกองทัพหลวง มีจำนวนพล ๖๐,๐๐๐ ตามขึ้นไปอิกทัพ ๑
ฝ่ายพระยาเชียงใหม่คาดการอยู่ว่า ไทยคงจะไปตีเชียงใหม่อิก ครั้นได้ข่าวว่ากองทัพไทยยกขึ้นไปก็บอกไปยังเมืองอังวะขอกองทัพพม่าให้มาช่วย แล้วให้จัดการเตรียมต่อสู้ตั้งแต่เมืองนครลำปางขึ้นไปทุกเมือง กองทัพเจ้าพระยาโกษาฯ ยกขึ้นไปตั้งประชุมพลที่เมืองเถิน แล้วยกขึ้นไปตีเมืองนครลำปาง ไปรบกันเล็กน้อย พวกที่รักษาเมืองนครลำปางก็ทิ้งเมืองหนีไป ครั้นได้เมืองนครลำปางแล้วจึงยกตามขึ้นไปตีเมืองลำพูน พวกเมืองเชียงใหม่มาตั้งรักษาเมืองต่อสู้แขงแรง รบกันอยู่ ๗ วันจึงตีได้เมืองลำพูน แล้วเจ้าพระยาโกษา ฯ ก็ยกตามขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่ ฝ่ายพระยาเชียงใหม่ตระเตรียมป้องกันเมืองเปนสามารถ กองทัพไทยเข้าตั้งล้อมเมืองไว้ พวกเชียงใหม่ยกมาตีกองทัพไทยเปนหลายครั้งก็ล้มตายพ่ายแพ้ต้องหนีกลับเข้าเมืองไปทุกที พระยาเชียงใหม่ก็ท้อใจ จึงเปนแต่ให้รักษาน่าที่เชิงเทินเมืองมั่นไว้ ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมื่อเจ้าพระยาโกษา ฯ เห็นพวกชาวเชียงใหม่ครั่นคร้ามไม่อาจออกมารบพุ่งแล้ว จึงให้ถมดินทำเชิงเทินโอบกำแพงเมืองข้างด้านใต้๕ สำหรับจะเอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งจังกายิงเข้าไปในเมือง ขณะนั้นกองทัพหลวงเสด็จขึ้นไปถึงเมืองนครลำปาง เจ้าพระยาโกษา ฯ มีใบบอกลงมากราบบังคมทูลรายงานการที่ล้อมเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระนารายน์ทรงทราบก็รีบเสด็จยกกองทัพหลวงหนุนขึ้นไป ถึงเมืองเชียงใหม่ เมื่อณวันอังคาร เดือน ๓ แรม ๑๒ ค่ำ มีรับสั่งให้เตรียมการที่จะเข้าปล้นเมืองให้พร้อมกันทุกด้าน ครั้นกองทัพหลวงเสด็จไปถึงได้ ๗ วัน กองทัพไทยก็เข้าปล้นเมืองเชียงใหม่ในเพลาสามยาม (๓ ก.ท.) พอณวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๔ ค่ำ เพลาเช้า๖ก็ได้เมืองเชียงใหม่ จับได้พระแสนเมืองเจ้าเมืองเชียงใหม่กับท้าวพระยามาถวายเปนอันมาก
ได้ความตามพงษาวดารพม่าว่า พอไทยตีได้เมืองเชียงใหม่แล้วไม่ช้า กองทัพพม่าที่พระเจ้าอังวะให้มาช่วยรักษาเมืองเชียงใหม่ก็ยกเข้ามาถึง นายทัพพม่าหมายจะเข้าตีเอาเมืองเชียงใหม่คืน ฝ่ายไทยแต่งกองทัพไปซุ่มอยู่ข้างนอกเมืองทัพ ๑ พอกองทัพพม่ายกเข้ามา พวกกองทัพไทยที่อยู่ในเมืองยกออกรบทาง ๑ กองทัพที่ซุ่มอยู่นอกเมืองก็ตีกระหนาบกองทัพพม่าเข้าไปอิกทาง ๑ ได้รบพุ่งกันถึงตลุมบอน กองทัพพม่าสู้ไทยไม่ได้ก็แตกหนีกลับไปเมืองอังวะ.
สมเด็จพระนารายน์เสด็จประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ๑๕ วัน ทรงจัดวางการปกครองบ้านเมือง ตั้งท้าวพระยาผู้ใหญ่ที่มีความสามิภักดิ์เปนพระยาเชียงใหม่ แลให้กองทัพพระยาสีหราชเดโชไชยตั้งอยู่รักษาการ แล้วโปรดให้กวาดครอบครัวแลทรัพย์สิ่งของซึ่งได้ในการสงคราม มีช้างม้าแลเครื่องสาตราวุธเปนต้นลงมากรุงศรีอยุทธยา แลเมื่อเสด็จกลับจากเมืองเชียงใหม่ ให้เชิญพระพุทธรูปอันทรงพระนามว่า พระพุทธสิหิงค์ อันเปนของสมเด็จพระร่วงศุโขไทย ซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ เคยได้มาไว้กรุงศรีอยุทธยาแต่ก่อนนั้น กลับคืนลงมากรุงศรีอยุทธยาด้วย๗ ครั้นเสด็จกลับมาถึงพระนครจึงพระราชทานบำเหน็จรางวัลเจ้าพระยาโกษา ฯ ขุนเหล็ก๘ แลข้าราชการที่มีบำเหน็จความชอบในการสงครามครั้งนั้นทั่วกัน
มีเรื่องเนื่องในการปูนบำเหน็จครั้งนี้ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารเรื่อง ๑ ว่าเมื่อสมเด็จพระนารายน์เสด็จประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ครั้งนั้น ได้นางกุลธิดาชาวเชียงใหม่เปนบาทบริจาคน ๑ นางนั้นมีครรภ์ขึ้น จะทรงเลี้ยงดูก็ลอายพระไทย เมื่อปูนบำเหน็จข้าราชการจึงพระราชทานนางนั้นแก่พระเพทราชา (ข้าหลวงเดิม ซึ่งเปนลูกพระนมอิกคน ๑) ด้วยได้รบพุ่งมีความชอบในคราวนั้น นางคลอดบุตรเปนชาย พระเพทราชาให้ชื่อว่านายเดื่อ แล้วถวายเปนมหาดเล็ก สมเด็จพระนารายน์ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงทำนุบำรุง ด้วยทรงทราบว่าเปนพระราชบุตร แลกุมารนั้นก็ถือว่าตัวเปนพระราชบุตร จึงทนงองอาจต่าง ๆ จนที่สุคคิดอ่านให้พระเพทราชาชิงราชสมบัติเมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายน์ ความข้อหลังนี้จะกล่าวต่อไปในเรื่องสงครามครั้งที่ ๒๒
-
๑. ในหนังสือพระราชพงษาวดาร เรียกว่าเมืองตัง ข้าพเจ้าเห็นว่าจะเปนเมืองด้ง. ↩
-
๒. หนังสือพระราชพงษาวดารกับพงษาวดารพม่ายุติต้องกันว่า ตีเมืองเชียงใหม่คราวนี้เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๒๐๕ ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เจ้าพระยาโกษา ฯ ขุนเหล็กถึงอสัญกรรม ทรงตั้งนายปานน้องชายที่ได้เปนทูตไปเมืองฝรั่งเศสเปนเจ้าพระยาโกษา ฯ แทน แล้วให้เปนแม่ทัพคราวนี้ แต่ได้ความตามจดหมายเหตุของฝรั่งว่า เจ้าพระยาโกษา ฯ ขุนเหล็กถึงอสัญกรรมต่อเมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๒๒๖ ก่อนสมเด็จพระนารายน์สวรรคตเพียง ๕ ปี ส่วนนายปานนั้นเปนพระวิสูตรสุนทรราชทูต กลับมาจากเมืองฝรั่งเศสเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๒๓๐ ก่อนสมเด็จพระนารายน์สวรรคตเพียง ๘ เดือน ได้เปนพระยาโกษาธิบดีอยู่สัก ๕ เดือนก็สิ้นรัชกาล เพราะฉนั้นเจ้าพระยาโกษา ฯ ขุนเหล็กเปนแม่ทัพคราวนี้เปนแน่ไม่มีที่สงไสย. ↩
-
๓. ข้าพเจ้าสันนิฐานว่า เวลาเมื่อจะโปรดให้เปนแม่ทัพไปคราวนี้ เจ้าพระยาโกษา ฯ ขุนเหล็กเห็นจะยังไม่ได้เปนจตุสดมภ์ ทำนองจะเปนอย่างจางวางมหาดเล็กอยู่ จึงยังเกรงว่าจะบังคับบัญชาการไม่ได้สิทธิ์ขาด เห็นจะได้เปนเจ้าพระยาโกษาธิบดีเมื่อเปนแม่ทัพไปในคราวนี้. ↩
-
๔. ในหนังสือพระราชพงษาวดาร พรรณาว่าแห่เจ้าพระยาโกษา ฯ ไปอย่างกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน เห็นว่าเกินการไป. ↩
-
๕. เชิงเทินนี้ยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้. ↩
-
๖. วันที่ไทยตีได้เมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ มีในพงษาวดารพม่า. ↩
-
๗. พระพุทธสิหิงค์ลงมาคราวนี้ ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ในกรุงศรีอยุทธยาจนเสียกรุง ฯ พวกเชียงใหม่เชิญกลับไป ครั้นในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงเชิญกลับมากรุงเทพ ฯ เดี๋ยวนี้ประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ที่พิพิธภัณฑ์สถาน. ↩
-
๘. ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า เมื่อยกไปตีเมืองเชียงใหม่ เจ้าพระยาโกษา ฯ ขุนเหล็ก เห็นจะเปนแต่เพียงพระยาโกษาธิบดี ด้วยแต่ก่อนจตุสดมภ์เปนแต่พระยา จนชนะศึกกลับมาจึงทรงเลื่อนเปนเจ้าพระยา. ↩