- อธิบายเหตุการณ์ที่ไทยรบกับพม่า
- ครั้งที่ ๑ คราวพม่าตีเมืองเชียงกราน ปีจอ พ.ศ. ๒๐๘๑
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวสมเด็จพระสุริโยไทยขาดฅอช้าง ปีวอก พ.ศ. ๒๐๙๑
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวรบกันด้วยเรื่องช้างเผือก ปีกุญ พ.ศ. ๒๑๐๖
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวเสียกรุง ฯ แก่พระเจ้าหงษาวดี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๑๑
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิศระ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗
- สงครามครั้งที่ ๖ ครั้งรบพระยาพสิมที่เมืองสุพรรณ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวรบพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกษ ปีระกา พ.ศ. ๒๑๒๘
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวพระเจ้าหงษาวดีล้อมกรุง ฯ ปีจอ พ.ศ. ๒๑๒๙
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวพระมหาอุปราชายกมาครั้งแรก ปีขาล พ.ศ. ๒๑๓๓
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวสมเด็จพระนเรศวรชนช้าง ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕
- สงครามครั้งที่ ๑๑ คราวไทยตีเมืองทวายเมืองตะนาวศรี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๓๕
- สงครามครั้งที่ ๑๒ คราวสมเด็จพระนเรศวรได้หัวเมืองมอญ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๑๓๗
- สงครามครั้งที่ ๑๓ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดีครั้งแรก ปีมะแม พ.ศ. ๒๑๓๘
- สงครามครั้งที่ ๑๔ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดี ครั้งที่ ๒ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๔๒
- สงครามครั้งที่ ๑๕ สงครามครั้งที่สุดของสมเด็จพระนเรศวร ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๔๗
- สงครามครั้งที่ ๑๖ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีฉลู พ.ศ. ๒๑๕๖
- สงครามครั้งที่ ๑๗ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๑๕๗
- สงครามครั้งที่ ๑๘ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีจอ พ.ศ. ๒๑๖๕
- สงครามครั้งที่ ๑๙ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๒๐๕
- สงครามครั้งที่ ๒๐ คราวรบพม่าที่เมืองไทรโยค ปีเถาะ พ.ศ. ๒๒๐๖
- สงครามครั้งที่ ๒๑ คราวไทยตีเมืองพม่า ปีมโรง พ.ศ. ๒๒๐๗
- สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๑
- สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๒
- สงครามครั้งที่ ๒๓ คราวพม่าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๐๗
- สงครามครั้งที่ ๒๔ คราวเสียกรุง ฯ ครั้งหลัง ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
สงครามครั้งที่ ๒ คราวสมเด็จพระสุริโยไทยขาดฅอช้าง ปีวอก พ.ศ. ๒๐๙๑
ตั้งแต่ไทยกับพม่ารบกันที่เมืองเชียงกรานแล้ว ต่อมาอิก ๑๐ ปี จึงปรากฎว่ารบกันอิกครั้ง ๑ ในระหว่างนั้นทางเมืองพม่า พร่ะเจ้าตะเบ็งชเวตี้เอาเมืองหงษาวดีเปนที่มั่น เที่ยวปราบปรามได้เมืองอังวะแลหัวเมืองพม่า เมืองไทยใหญ่ไว้ในอำนาจทั้งสิ้น แล้วทำพิธีอภิเศกเปนพระเจ้าราชาธิราชที่เมืองหงษาวดี จึงได้ปรากฎพระนามว่า พระเจ้าหงษาวดีแต่นั้นมา.
ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยา สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสวยราชสมบัติมาจนถึงปีมเมีย จุลศักราช ๙๐๘ พ.ศ. ๒๐๘๙ สวรรคต พระแก้วฟ้า
ข่าวที่เกิดการจลาจลในกรุงศรีอยุทธยา ทราบไปถึงพระเจ้าหงษาวดีตะเบ็งชเวตี้ ก็เห็นเปนโอกาศที่จะแผ่ราชอาณาจักรต่อมาทางตวันออก ด้วยมีรี้พลมากกว่าไทยหลายเท่า แลได้เมืองมอญอันติดต่อกับแดนไทยไว้เปนที่มั่น จึงสั่งให้กะเกณฑ์กองทัพมาตั้งประชุมพลที่เมืองเมาะตมะ แล้วพระเจ้าหงษาวดีก็เสด็จเปนจอมพลยกเข้ามาเมืองไทย หมายจะตีเอากรุงศรีอยุทธยาซึ่งเปนราชธษนีให้จงได้.
ตรงนี้จะว่าด้วยทางที่พม่าเดินทัพก่อน อันหนทางไปมาในระหว่างเมืองมอญกับเมืองไทย มีทางหลวงมาแต่โบราณ ๒ ทาง ร่วมกันที่เมืองเมาะตมะ ทางสายเหนือออกจากเมืองเมาะตมะ ขึ้นทางแม่น้ำจนถึงบ้านตะพู (เมืองเชียงกราน) แล้วเดินบกมาข้ามแม่น้ำกลีบ (เกาะกริต) น้ำแม่เม้ย (คือเม้ยวดีที่เปนแดนทุกวันนี้) น้ำแม่สอด มาทางด่านแม่ละเมา มาลงท่าแม่น้ำปิง ตรงบ้านระแหงที่ตั้งเมืองตากทุกวันนี้ ทางสายนี้เปนทางไปมากับหัวเมืองไทยฝ่ายเหนือ ในหนังสือพระราชพงษาวดารเรียกว่า “ทางด่านแม่ละเมา” ทางสายใต้อิกสาย ๑ นั้น ออกจากเมืองเมาะตมะมาทางแม่น้ำอัตรัน (เมืองเตริน) จนถึงเมืองสมิ แล้วเดินบกมาข้ามน้ำแม่สะกลิกแม่กระษัตริย ข้ามภูเขาเข้าแดนไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์
กองทัพพระเจ้าหงษาวดียกมาครั้งนั้น เปนทัพกษัตริย์มีกำลังมากมายใหญ่หลวง พวกหัวเมืองไทยที่รักษาด่านทางชายแดนเหลือกำลังจะต่อสู้ก็ได้แต่บอกข่าวศึกเข้ามายังกรุงศรีอยุทธยา แล้วอพยบครอบครัวหนีเอาตัวรอด ฝ่ายทางกรุงศรีอยุทธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชย์ได้ ๖ เดือน ก็ได้ข่าวว่าพระเจ้าหงษาวดียกกองทัพเข้ามา แต่เวลานั้นกำลังบ้านเมืองยังบริบูรณ์ เพราะเรื่องจลาจลที่เกิดขึ้นแต่ก่อน เปนแต่ปราบปรามผู้ที่ตั้งตัวเปนใหญ่ ไม่ถึงเกิดรบพุ่งกันเปนศึกกลางเมือง พอสมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชสมบัติ บ้านเมืองก็ราบคาบเปนปรกติดังแต่เดิม ครั้นได้ข่าวว่าพม่ายกกองทัพเข้ามา จึงแต่งกองทัพออกไปตั้งขัดตาทัพ คอยต่อสู้อยู่ที่เมืองสุพรรณบุรีแห่งหนึ่ง ด้วยเมืองสุพรรณบุรีในสมัยนั้นมีป้อมปราการ เปนเมืองด่านป้องกันพระนครอยู่ทางทิศตวันตก แล้วให้ตระเตรียมพระนครศรีอยุทธยาเปนที่มั่นสำหรับจะรบพุ่งขับเคี่ยวกับข้าศึกในที่สุด.
การที่ไทยเอาพระนครเปนที่มั่นตั้งต่อสู้ข้าศึกครั้งนั้น พิเคราะห์ตามเหตุการณ์ที่ปรากฎในเรื่องพระราชพงษาวดาร เพราะได้เปรียบข้าศึกในทางพิไชยสงครามหลายสถาน คือ
สถานที่ ๑ พระนครศรีอยุทธยามีลำแม่น้ำล้อมรอบ คือ ลำแม่น้ำลพบุรีอยู่ข้างด้านเหนือ ลำแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ข้างด้านตวันตกแลด้านใต้ ลำแม่น้ำสักอยู่ข้างด้านตวันออก ถึงข้าศึกมีรี้พลมากยกเข้ามาก็ติดแม่น้ำ เพราะไทยรวบรวมเอาเรือไว้เสียหมด แล้วเอาปืนใหญ่ลงในเรือรบเที่ยวไล่ยิงข้าศึกที่เข้ามาใกล้ได้ทุกด้าน ส่วนข้าศึกจะเอาปืนใหญ่ยิงพระนครบ้าง ยิงไม่ถึงด้วยต้องยกกองทัพข้ามภูเขาเข้ามา เอามาได้แต่ปืนขนาดแรงน้อย เพราะฉนั้นถึงข้าศึกจะยกเข้ามาได้ถึงชานพระนคร ก็ได้แต่ตั้งล้อมอยู่ห่าง ๆ
สถานที่ ๒ เมืองไทยมีเสบียงอาหารบริบูรณ์ รวบรวมผู้คนแลเสบียงอาหารเข้าไว้ในพระนคร ถึงข้าศึกจะเข้ามาตั้งล้อมอยู่ภายนอก ทางข้างใต้พระนครเปนลำแม่น้ำใหญ่ ไทยใช้เรือกำปั่นไปมาหาเครื่องสาตราวุธแลเสบียงอาหารเพิ่มเติมได้ไม่อัตคัด แต่ฝ่ายข้างข้าศึกจะหาเสบียงอาหารแลเครื่องสาตราวุธมาเพิ่มเติมยาก
สถานที่ ๓ ทำเลท้องที่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้ มีข้อสำคัญในทางพิไชยสงครามฝ่ายข้างต่อสู้รักษาเมืองอยู่อิกอย่าง ๑ ด้วยเปนที่มีระดูน้ำท่วมทุกปี ข้าศึกที่ยกมาเช่นกองทัพพระเจ้าหงษาวดีมีเวลาที่จะรบพุ่งตีกรุงศรีอยุทธยาได้เสมอ ๘ เดือน คือตั้งแต่เดือนยี่ไปจนถึงเดือน ๙ ถ้าตีไม่ได้ในเดือน ๙ ก็ต้องเลิกทัพกลับไป เพราะน้ำจะขึ้นท่วมแผ่นดินที่อาไศรยตั้งกองทัพตั้งแต่เดือน ๑๐ ไป การที่ไทยเอาพระนครศรีอยุทธยาเปนที่มั่นต่อสู้ได้เปรียบข้าศึกหลายสถานดังกล่าวมานี้ ลักษณการที่ไทยต่อสู้ข้าศึกในกรุงศรีอยุทธยาเปนราชธานีจึงเอาพระนครเปนที่มั่นต่อสู้ ตั้งแต่คราวสมเด็จพระมหาจักรพรรติต่อสู้พระเจ้าหงษาวดีตะเบ็งชเวตี้ ในครั้งที่กล่าวนี้เปนทีแรก แลในคราวหลัง ๆ ต่อมาอิกหลายคราว.
พระเจ้าหงษาวดีตะเบ็งชเวตี้ยกกองทัพเข้ามาถึงเมืองกาญจนบุรี ไม่เห็นมีผู้ใดต่อสู้ ก็ยกล่วงเลยเข้ามาทางปากแพรก หนองขาว เข้าเขตรเมืองสุพรรณบุรีทางบ้านทวน กะพังตรุ จรเข้สามพัน เมืองอู่ทอง บ้านโค่ง ดอนระฆัง หนองสาหร่าย
ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อทรงทราบว่ากองทัพพระเจ้าหงษาวดียกเข้ามาใกล้จะถึงกรุงฯ จึงเสด็จยกกองทัพหลวงออกไป หวังจะลองกำลังข้าศึกดูว่าจะหนักเบาสักเพียงใด สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จไปคราวนั้นทรงพระคชาธาร แลสมเด็จพระสุริโยไทยพระอรรคมเหษีก็แต่งพระองค์เปนชายอย่างพระมหาอุปราชทรงพระคชาธารตามเสด็จไป พร้อมด้วยพระราเมศวรแลพระมหินทรราชโอรสทั้ง ๒ พระองค์ กองทัพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิยกออกไปประทะกองทัพพระเจ้าแปร ซึ่งเปนทัพน่าของพระเจ้าหงษาวดี ไพร่พลทั้ง ๒ ฝ่ายรบพุ่งกัน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าแปร ต่างทรงช้างขับพลหนุนมาพบกันเข้า ก็ชนช้างกันตามแบบการยุทธในสมัยนั้น ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียที แล่นหนีช้างข้าศึกเอาไว้ไม่อยู่ พระเจ้าแปรขับช้างไล่มา สมเด็จพระสุริโยไทยเกรงพระราชสามีจะเปนอันตราย จึงขับช้างทรงเข้าขวางช้างข้าศึกไว้ พระเจ้าแปรได้ทีฟันสมเด็จพระสุริโยไทยสิ้นพระชนม์ซบลงกับฅอช้าง พอพระราเมศวรกับพระมหินทรทั้ง ๒ พระองค์ขับช้างทรงเข้าต่อสู้ พระเจ้าแปรก็ถอยไป จึงกันเอาพระศพสมเด็จพระชนนีกลับมาได้ ในการที่รบกันวันนั้นเห็นจะสิ้นเวลาลงเพียงนั้น ไม่ถึงแพ้ชนะกัน กองทัพไทยก็ถอยกลับเข้าพระนคร.
พระศพสมเด็จพระสุริโยไทยนั้น เชิญไปประดิษฐานไว้ที่สวนหลวง ตรงที่สร้างวังหลังต่อมา เดี๋ยวนี้อยู่ในบริเวณโรงทหารข้างตอนใต้) ครั้นเสร็จการสงครามคราวนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงให้ทำพระเมรุ พระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสุริโยไทยที่ในสวนหลวง ตรงต่อเขตรวัดสบสวรรค์ แล้วสร้างพระอารามขึ้นตรงพระเมรุ มีพระเจดีย์ใหญ่เปนสำคัญ ยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ เรียกกันว่า “วัดสวนหลวง สบสวรรค์
กองทัพหงษาวดียกเข้ามาถึงกรุงศรีอยุทธยา มาตั้งค่ายรายกันอยู่ข้างด้านเหนือด้านเดียว พระเจ้าหงษาวดีตั้งอยู่ที่บนที่บ้านถุ่มดอง บุเรงนองตั้งอยู่เพนียด พระเจ้าแปรตั้งอยู่บ้านใหม่มะขามหย่อง พระยาพสิมตั้งที่ทุ่งประเชด พระเจ้าหงษาวดีจะเข้าตีหักเอาพระนครไม่ได้ ด้วยไทยได้เปรียบในทางพิไชยสงครามดังกล่าวแล้ว แลในเวลานั้นหัวเมืองไทยฝ่ายเหนืออันเปนมณฑลราชธานีครั้งสมเด็จพระร่วงยังมีกำลังมาก พระมหาธรรมราชาราชบุตรเขยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เปนอุปราชครองหัวเมืองเหนือทั้งปวงอยู่ที่เมืองพิศณุโลก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงมีรับสั่งขึ้นไปให้พระมหาธรรมราชายกกองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือลงมาตีกระหนาบทัพพระเจ้าหงษาวดี ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีมาตั้งล้อมกรุงศรีอยุทธยาอยู่ ไม่สามารถจะตีเอาพระนครได้ เสบียงอาหารสำหรับกองทัพก็หมดลงทุกที ครั้นได้ข่าวว่ามีกองทัพไทยลงมาจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ จะมาตีกระหนาบก็ตกพระไทย จะเลิกทัพกลับไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์ที่ยกมา เสบียงอาหารตามหัวเมืองรายทางก็ยับเยินเสียหมดแล้ว จึงให้ยกทัพกลับขึ้นไปทางข้างเหนือ ด้วยเห็นว่ากำลังไพร่พลมีมากกว่าไทย จะเดินทัพออกไปด่านแม่ละเมาแขวงเมืองตาก ความปรากฎในหนังสือพงษาวดารพม่าว่า พระเจ้าหงษาวดีถอยทัพกลับไปครั้งนั้น พอไทยได้ทีสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ให้พระราเมศวรราชโอรสคุมกองทัพกรุงศรีอยุทธยาติดตามตีพม่าขึ้นไปทาง ๑ พระมหาธรรมราชาคุมกองทัพทัวเมืองเหนือติดตามตีไปอิกทาง ๑ ฆ่าฟันรี้พลกองทัพพม่าล้มตายเปนอันมาก ไทยติดตามตีทัพหลังขึ้นไปจนทางอิก ๓ วันจะทันกองทัพของพระเจ้าหงษาวดีที่เมืองกำแพงเพ็ชร พระเจ้าหงษาวดีเห็นจวนตัวจึงทำกลอุบายให้กองทัพมาซุ่มอยู่ ๒ ข้างทาง แล้วให้รบล่อไทยให้ไล่ถลำเข้าไปในที่ล้อม ฝ่ายกองทัพไทยกำลังละเลิงไล่หลงเข้าไป พม่าล้อมจับได้ทั้งพระมหาธรรมราชาแลพระราเมศวร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงต้องยอมหย่าทัพ เอาช้างพลายศรีมงคล พลายมงคลทวีป อันเปนช้างชนะงาถวายตอบแทนพระเจ้าหงษาวดี แลกเอาพระมหาธรรมราชาแลพระราเมศวรกลับมา กองทัพพระเจ้าหงษาวดีจึงยกกลับไปบ้านเมืองได้โดยสดวก.
เรื่องสงครามคราวนี้ ในหนังสือพระราชพงษาวดารบางฉบับว่าเปนสงคราม ๒ คราว ว่าพระเจ้าหงษาวดีได้ข่าวว่า กรุงศรีอยุทธยาเปนจลาจล ยกกองทัพเข้ามา ครั้นมาได้ข่าวว่าการจลาจลสงบแล้วก็กลับไปโดยมิได้รบพุ่งคราว ๑ แล้วยกเข้ามาอิกคราว ๑ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงได้ชนช้างกับพระเจ้าแปรดังกล่าวมา แต่ในพงษาวดารฉบับหลวงประเสริฐกับพงษาวดารพม่า ว่ายกเข้ามาแต่คราวเดียว ข้าพเจ้าสอบสวนได้ความว่า หนังสือพระราชพงษาวดารที่ว่าการสงคราม ๒ ครั้งนั้น เปนด้วยผู้แต่งสำคัญศักราชแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิผิดไปถึง ๑๙ ปี จึงหลงเข้าใจว่าเรื่องสงครามเปน ๒ คราว.
ตั้งแต่พระเจ้าหงษาวดีตะเบ็งชเวตี้เลิกทัพกลับไป การสงครามในระหว่างไทยกับพม่าว่างมาอิกคราว ๑ ถึง ๑๕ ปี ด้วยเมืองหงษาวดีเกิดเปนจลาจล ดังจะปรากฎเรื่องราวต่อไปข้างน่า ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยา พึ่งมีศึกมาเหยียบถึงชานพระนครครั้งนั้นเปนทีแรก ครั้นได้ความคุ้นเคยในการต่อสู้รักษากรุง ฯ พอเสร็จศึกสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ทรงจัดการป้องกันพระนครให้แขงแรงยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ปรากฎการต่างๆ ที่ได้จัดในครั้งนั้นอยู่ในหนังสือพระราชพงษาวดารหลายอย่าง คือ.
๑. มีในพระราชพงษาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ว่าแรกให้ก่อกำแพงพระนครในคราวนี้ ความข้อนี้อธิบายว่า กำแพงกรุงศรีอยุทธยาแต่ก่อนมา เปนแต่ถมดินเปนเชิงเทิน แล้วปักเสาไม้ระเนียดข้างบน ครั้งนั้นการสงครามเริ่มใช้ปืนใหญ่เปนอาวธสำคัญ เห็นว่ากำแพงอย่างเก่าจะทนกำลังปืนใหญ่ไม่ไหว จึงต้องทำอย่างใหม่ให้มั่นคง กำแพงเมืองซึ่งสร้างใหม่ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดินั้น คงก่ออิฐถือปูน แต่แบบอย่างจะเปนอย่างไรจะตรวจตราให้ทราบแน่ในเวลานี้ไม่ได้ เพราะคงแก้ไขต่อมาในชั้นหลัง ๆ อิก แลในที่สุดก็รื้อเอาอิฐมาสร้างกำแพงกรุงรัตนโกสินทรเสียหมดแล้ว แต่สันนิษฐานว่าคงมีทั้งป้อมแลเชิงเทินกันทางปืนตามแบบฝรั่ง เพราะในสมัยนั้นโปตุเกศที่ชำนาญการปืนไฟก็มีเข้ามาอยู่ในกรุง ฯ แล้ว
๒ ในการป้องกันพระนคร มีปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารอิกอย่าง ๑ ว่าเมื่อกำลังพระเจ้าหงษาวดีตั้งล้อมพระนครอยู่นั้น พระมหานาควัดภูเขาทองสึกออกมาช่วยราชการชวนญาติโยมศิษย์หาเปนกำลัง ขุดคลองข้างด้านเหนือพระนครสำหรับป้องกันข้าศึกสาย ๑ จึงเรียกว่าคลองมหานาคอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้ อันคลองมหานาคนี้ พิเคราะห์ตามแผนที่ ขุดเปนคูเมืองชั้นนอกตามแนวแม่น้ำที่เปนคูพระนครด้านเหนือนั้นต่อออกไปอิกชั้น ๑ สันนิษฐานว่า เพราะพระราชวังหลวงในกรุงเก่าตั้งริมแม่น้ำข้างด้านเหนือ ใกล้ทางปืนข้าศึกกว่าด้านอื่น จึงขุดคูเมืองอิกชั้น ๑ ประสงค์จะให้แนวคูเมืองที่รักษาต่อสู้ข้าศึกห่างพระราชวังออกไป แต่คูเมืองที่เรียกว่าคลองมหานาคนี้ น่าสงไสยว่าจะขุดต่อเมื่อเสด็จศึกในคราวเดียวกับเมื่อสร้างป้อมปราการ.
๓ ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารอิกข้อ ๑ ว่าในครั้งนั้นปฤกษาเห็นพร้อมกัน ให้รื้อกำแพงเมืองสุพรรณบุรี เมืองลพบุรี เมืองนครนายก เสียทั้ง ๓ เมือง อธิบายความข้อนี้ว่า เมืองทั้ง ๓ นั้นเปนเมืองด่านป้องกันชั้นนอกพระนครชั่วระยะทางวัน ๑ เมืองสุพรรณบุรีอยู่ด้านตวันตก เมืองลพบุรีอยู่ด้านเหนือ เมืองนครนายกอยู่ด้านตวันออก จึงสร้างกำแพงเครื่องป้องกันเมืองไว้ เมื่อกองทัพพระเจ้าหงษาวดียกเข้ามา ข้าศึกตีเมืองสุพรรณบุรีได้โดยง่าย ไม่เปนประโยชน์ในการป้องกันพระนครดังเข้าใจกันมาแต่ก่อน จึงเกิดปัญหาว่าจะควรคงมีเมืองด่านอยู่อย่างแต่เดิมฤๅอย่างไร ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พระราเมศวร พระมหินทรราชโอรสทั้ง ๒ พระองค์ กับเสนาบดีทั้งปวงเห็นพร้อมกันว่า ถ้าข้าศึกได้เมืองด่านเหล่านั้นไป จะกลับไปเปนประโยชน์แก่ข้าศึก เพราะจะเอาเปนที่มั่นตั้งรบพุ่งตีพระนครเปนการแรมปีได้ จึงให้รื้อกำแพงเสียทั้ง ๓ เมือง
๔ การที่จัดในครั้งนั้นมีอิกอย่าง ๑ กล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า “ให้ตั้งพิจารณาเลขสังกัดสมพรรค์ ได้สกรรจ์ลำเครื่องแสนเศษ” ดังนี้ ความข้อนี้อธิบายว่า คือให้สำรวจราษฎรทำบัญชีสัมโนครัวใหม่ ให้รู้ว่ามีชายฉกรรจ์สำหรับจะรบพุ่งข้าศึกได้สักเท่าใด ที่ว่าได้จำนวนฉกรรจ์แสนเศษนั้น สันนิษฐานว่าเฉภาะแต่ในมณฑลราชธานี คือตั้งแต่เมืองไชยนาทลงมาจนถึงเมืองชลบุรีแลเมืองเพ็ชรบุรี ด้วยลักษณการปกครองบ้านเมืองในสมัยนั้นหัวเมืองเหนือที่เปนมณฑลราชธานีครั้งสมเด็จพระร่วง (คือมณฑลนครสวรรค์แลมณฑลพิศณุโลกทุกวันนี้) ยังปกครองอยู่เปนส่วน ๑ หัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตวันตก (คือมณฑลสุราษฎร์ มณฑลภูเก็จ แลมณฑลนครศรีธรรมราชทุกวันนี้) ขึ้นเมืองนครศรีธรรมราชปกครองเปนส่วน ๑ แลยังมีมณฑลน้อยที่การปกครองเปนต่างหากอิก ๓ ส่วน คือ เมืองนครราชสิมาส่วน ๑ เมืองจันทบุรีส่วน ๑ เมืองตะนาวศรีอิกส่วน ๑ ผู้คนพลเมืองในส่วนใดสังกัดอยู่ในส่วนนั้น ไม่ได้นับรวมในมณฑลราชธานี.
๕ เนื่องต่อการทำสัมโนครัวที่กล่าวมาในข้อก่อน ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เพื่อจะให้สดวกแก่การเรียกหาผู้คนเวลาเกิดศึกสงคราม จึงให้ตั้งเมืองขึ้นใหม่อิก ๓ เมือง คือยกบ้านตลาดขวัญขึ้นเปนเมืองนนทบุรีเมือง ๑ ยกบ้านท่าจีนขึ้นเปนเมืองสาครบุรีเมือง ๑ แบ่งเอาเขตรเมืองราชบุรีกับเมืองสุพรรณบุรีมารวมกันตั้งเมืองนครไชยศรีขึ้นอิกเมือง ๑ การที่ตั้งเมืองเหล่านี้ ถ้าสังเกตในแผนที่จะเห็นได้ ว่าประสงค์จะให้มีหัวเมืองเปนที่รวมพลอยู่รายรอบพระนคร ห่างกันพอระยะทางไปมาถึงกันได้ในวัน ๑ ทุกระยะ.
๖ มีปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารอิกอย่าง ๑ กล่าวในหนังสือเพียงว่า “ครั้งนั้นพระเจ้าอยู่หัวแปลเรือแซเปนเรือไชยแลเรือศีศะสัตว์ต่าง ๆ” เท่านี้ ขวนให้เข้าใจว่าเปนแต่เรื่องคิดแบบอย่างรูปเรือสำหรับแห่แหนให้งามขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ความที่จริงสำคัญกว่านั้นมาก ด้วยเรือเหล่านั้นเปนเรือรบ เพราะฉนั้นควรเข้าใจว่าครั้งนั้นสร้างเรือรบสำหรับป้องกันพระนครเพิ่มเติมขึ้นให้บริบูรณ์ด้วย.
๗. อิกข้อ ๑ ซึ่งปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงทำการพระราชพิธีต่าง ๆ หลายอย่าง แลมักเสด็จไปทำพิธีเหล่านั้นตามหัวเมือง ความข้อนี้ควรเข้าใจได้ว่า เนื่องในการซักซ้อมกระบวนพยุหยาตรา คงทำในเวลาเสด็จยกพยุหพลไปจับช้างโดยมาก
๘. แลการที่เสด็จไปจับช้างนั้น ก็เพื่อจะหาพาหนะเพิ่มเติมมาไว้ใช้ในการศึกสงครามนั้นเองมิใช่อื่น ถ้าพิจารณาดูในหนังสือพระราชพงษาวดาร ตรงว่าด้วยช้างเผือกที่ได้ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จะแลเห็นได้ว่า ในระยะเวลาชั่ว ๓ ปี ได้ช้างเผือกได้ถึง ๖ ช้าง เสด็จไปคล้องได้ที่ตำบลไทรย้อยแขวงเมืองไหนยังไม่ทราบช้าง ๑ เสด็จไปคล้องได้ที่เมืองเพ็ชรบุรีช้าง ๑ เสด็จไปคล้องได้ที่ดงศรีมหาโพธิแขวงเมืองปราจิณบุรี ๒ ช้าง เสด็จไปคล้องได้ที่ป่าทเลชุบศรแขวงเมืองลพบุรีช้าง ๑ เสด็จไปคล้องได้ที่น้ำทรงแขวงเมืองอินทบุรีช้าง ๑ ล้วนได้ใกล้ ๆ พระนครทั้งนั้น เพราะสมัยนั้นช้างป่ายังมีอยู่ใกล้ ๆ เปนอันมาก หากแต่ก่อนไม่ได้ขวนขวายหาช้างมาใช้มากเหมือนครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จึงไม่ได้พบช้างเผือกเหล่านั้น
ที่ได้ช้างเผือกมากในครั้งนั้น เปนเหตุสำคัญอิกอย่าง ๑ ด้วยชาวประเทศทางนี้ ทั้งไทย แลพม่ารามัญ ถือคติอย่างเดียวกันว่า ต่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองคใดมีบุญญาธิการมากจึงจะได้ช้างเผือก ถ้าเปนแต่ท้าวพระยาประเทศราช ถึงจะมีช้างเผือกเกิดขึ้นในเขตรแดน ก็จำต้องส่งไปถวายสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินผู้เปนราชาธิราชของตน ถ้าไม่ถวายก็มีโทษฐานเปนขบถ เพราะฉนั้นถ้าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินประเทศใดได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมี ก็เปนเหตุให้บังเกิดความนิยมยินดีแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินประเทศนั้น ด้วยเห็นว่าเจ้านายของตนมีพระราชอำนาจบุญญาภินิหารมาก จึงพากันถวายพระนามว่า “พระเจ้าช้างเผือก” ตามภาษาของประเทศนั้น ๆ เหมือนกันทั้งไทยแลพม่ามอญ ครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ช้างเผือก ๗ ช้าง มากกว่าที่เคยปรากฎว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดในประเทศเหล่านี้ได้เคยมีมาแต่ก่อน ก็เลื่องฦๅพระเกียรดิยศแพร่หลายไปในนานาประเทศ จนเปนเหตุให้เกิดสงครามกับพม่า ดังจะกล่าวต่อไปข้างน่า.
-
๑. บางฉบับเรียก “พระยอดฟ้า” ก็มี ↩
-
๒. ด่านนี้เรียกว่าด่านพระเจดีย์สามองค์มาแต่ก่อนแล้ว ฤๅพึ่งมาเรียกเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวร ดังกล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดาร ข้อนี้สงไสยอยู่ ↩
-
๓. ทางเดินกองทัพแต่เมืองกาญจนบุรีทางนี้ พระบาทสมเด็จพระรามธิบดีที่ ๖ ได้เสด็จไปทอดพระเนตร. ↩
-
๔. กองทัพพม่ายกมาตีกรุงศรีอยุทธยา ถ้าเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เดินทางที่กล่าวมานี้แทบทุกคราว. ↩
-
๕. ที่พระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสุริโยไทยนั้น แต่ก่อนมักเข้าใจกันว่าอยู่ตรงวัดสบสวรรค์ ถึงเขียนชื่อว่า “วัดศพสวรรค์” ก็มี ที่จริงวัดสบสวรรค์เปนวัดเล็ก มีมาก่อนแล้ว มีตำนานในพงษาวดารเหนือ ที่พระเมรุพระศพสมเด็จพระสุริโยไทยอยู่ต่อวัดสบสวรรค์ทางด้านใต้ จึงสร้างวัดสวนหลวงขึ้นตรงนั้นอิกวัด ๑. ↩