- อธิบายเหตุการณ์ที่ไทยรบกับพม่า
- ครั้งที่ ๑ คราวพม่าตีเมืองเชียงกราน ปีจอ พ.ศ. ๒๐๘๑
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวสมเด็จพระสุริโยไทยขาดฅอช้าง ปีวอก พ.ศ. ๒๐๙๑
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวรบกันด้วยเรื่องช้างเผือก ปีกุญ พ.ศ. ๒๑๐๖
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวเสียกรุง ฯ แก่พระเจ้าหงษาวดี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๑๑
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิศระ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗
- สงครามครั้งที่ ๖ ครั้งรบพระยาพสิมที่เมืองสุพรรณ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวรบพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกษ ปีระกา พ.ศ. ๒๑๒๘
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวพระเจ้าหงษาวดีล้อมกรุง ฯ ปีจอ พ.ศ. ๒๑๒๙
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวพระมหาอุปราชายกมาครั้งแรก ปีขาล พ.ศ. ๒๑๓๓
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวสมเด็จพระนเรศวรชนช้าง ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕
- สงครามครั้งที่ ๑๑ คราวไทยตีเมืองทวายเมืองตะนาวศรี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๓๕
- สงครามครั้งที่ ๑๒ คราวสมเด็จพระนเรศวรได้หัวเมืองมอญ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๑๓๗
- สงครามครั้งที่ ๑๓ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดีครั้งแรก ปีมะแม พ.ศ. ๒๑๓๘
- สงครามครั้งที่ ๑๔ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดี ครั้งที่ ๒ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๔๒
- สงครามครั้งที่ ๑๕ สงครามครั้งที่สุดของสมเด็จพระนเรศวร ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๔๗
- สงครามครั้งที่ ๑๖ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีฉลู พ.ศ. ๒๑๕๖
- สงครามครั้งที่ ๑๗ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๑๕๗
- สงครามครั้งที่ ๑๘ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีจอ พ.ศ. ๒๑๖๕
- สงครามครั้งที่ ๑๙ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๒๐๕
- สงครามครั้งที่ ๒๐ คราวรบพม่าที่เมืองไทรโยค ปีเถาะ พ.ศ. ๒๒๐๖
- สงครามครั้งที่ ๒๑ คราวไทยตีเมืองพม่า ปีมโรง พ.ศ. ๒๒๐๗
- สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๑
- สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๒
- สงครามครั้งที่ ๒๓ คราวพม่าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๐๗
- สงครามครั้งที่ ๒๔ คราวเสียกรุง ฯ ครั้งหลัง ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
สงครามครั้งที่ ๑๖ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีฉลู พ.ศ. ๒๑๕๖
สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จขึ้นครองราขสมบัติ เมื่อปีมเสง พ.ศ. ๒๑๔๘ ในเวลานั้นกรุงศรีอยุทธยากำลังมีอำนาจเต็มเปี่ยม อาณาเขตรก็กว้างขวางกว่าครั้งใดใดที่ล่วงแล้วมา แลเปนที่เกรงขามของต่างประเทศที่ใกล้เคียงอยู่โดยรอบ ถึงว่าสมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคต ความยำเกรงของคนทั้งหลายก็ยังมีต่อมาถึงสมเด็จพระเอกาทศรถ ด้วยพระเกียรติยศปรากฎว่าพระองค์ก็เปนนักรบ ได้ทำสงครามเปนคู่พระหฤไทยสมเด็จพระนเรศวรมาแต่ต้นจนปลาย เพราะฉนั้นเมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จขึ้นผ่านพิภพ จึงไม่มีศึกเสี้ยนสัตรูกำเริบทั้งภายนอกภายใน.
ที่จริงในเวลานั้นเมืองพม่ากำลังยับเยิน แลแตกกันเปนหลายก๊กหลายเหล่า ถ้าหากว่าสมเด็จพระเอกาทศรถทรงทำสงครามเจริญรอยพระราชนิยมของสมเด็จพระนเรศวรต่อไป ก็เห็นจะตีเอาเมืองพม่าได้ไม่ยากนัก เพราะหัวเมืองมอญแลหัวเมืองไทยใหญ่ก็ได้มามากแล้ว ยังเหลือแต่พม่าเท่านั้น แต่สมเด็จพระเอกาทศรถทรงพิจารณาเห็นว่า ไทยได้ทำสงครามมาช้านาน ถึงชนะผู้คนก็ล้มตายเปลืองไปทุกที ความมุ่งหมายที่ทำสงครามก็สำเร็จหมดแล้ว ควรจะหยุดการทัพศึกทำนุบำรุงบ้านเมืองเสียสักที อิกประการ ๑ คงจะทรงพระราชดำริห์เห็นว่า พระราชอาณาเขตรก็แผ่ไพศาลมากอยู่แล้ว ถ้ายังจะขยายต่อออกไป การที่จะปกครองเอาไว้ในอำนาจก็จะยิ่งยากขึ้นทุกที เพราะเปนบ้านเมืองของคนต่างชาติต่างภาษา คงจะไม่ราบคาบอยู่ได้เสมอ ก็จะต้องยกกองทัพไปเที่ยวปราบปรามไม่มีที่สุด ที่ไหนจะได้ผ่อนพักทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เปนสันติศุข คงทรงพระราชดำริห์เห็นดังนี้จึงไม่คิดตีเมืองพม่าต่อไป
เรื่องพงษาวดารในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ หนังสือพระราชพงษาวดารฉบับหลวงประเสริฐหมดฉบับมีลงมาไม่ถึง หนังสือพระราชพงษาวดารฉบับอื่นๆ ก็ว่าว่างศึกสงครามตลอดรัชกาล แต่ในสมัยนั้นเปนเวลาพวกฝรั่งเริ่มเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุทธยาหลายชาติด้วยกัน มีจดหมายเหตุของพวกฝรั่งความยุติต้องกับพงษาวดารพม่าแลพงษาวดารรามัญว่า ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถไทยยังต้องรบกับพม่าอิก ข้าพเจ้าจึงได้เก็บเนื้อความในพงษาวดารพม่าสอบกับจดหมายเหตุของฝรั่ง เอามาเรียบเรียงเรื่องการสงคราม ๒ คราวต่อไปนี้.
เหตุที่ไทยจะเกิดรบกับพม่าเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ ฝรั่งเข้ามาเปนปัจจัยแซกแซงอยู่ไม่น้อย จำจะตองอธิบายถึงเหตุที่ฝรั่งเข้ามาเกี่ยวข้องเสียก่อน จึงจะเข้าใจเรื่องสงครามได้ชัดเจน.
เดิมฝรั่งโปตุเกศพยายามแล่นเรือกำปั่นออมทวีปอาฟริกามาถึงประเทศทางตวันออกได้ก่อนฝรั่งชาติอื่น ๆ โปตุเกศมีอำนาจด้วยชำนาญใช้ปืนไฟใหญ่น้อยยิ่งกว่าคนในพื้นเมือง จึงเที่ยวแย่งชิงเอาเมืองท่าค้าขายอันอยู่ตามชายทเลเปนเมืองขึ้นของโปตุเกศเปนระยะมาตั้งแต่แอฟริกาแลอินเดีย จนถึงเมืองมะละกาในแหลมมลายู แล้วที่สุดขยายต่อไปถึงเมืองหมาเก๊าในแดนจีน การปกครองเมืองขึ้นทั้งปวงนี้พระเจ้าแผ่นดินโปตุเกศตั้งอุปราชไว้บัญชาการต่างพระองค์อยู่ที่เมืองโคว์ในอินเดีย ว่ากล่าวหัวเมืองขึ้นของโปตุเกศทั่วไป เมื่อรัฐบาลมีอำนาจทางประเทศตวันออก พวกชาวโปตุเกศก็พากันออกมาเที่ยวแสวงหาผลประโยชน์เปนอันมาก ทำการอยู่ในรัฐบาลของตนบ้าง ไปเที่ยวหากินตามต่างประเทศพึ่งพาอาไศรยอยู่กับผู้ปกครองประเทศนั้นๆ บ้าง จึงมีพวกโปตุเกศเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุทธยา ดังปรากฎครั้งรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช ว่ามาทำความชอบครั้งรบพม่าที่เมืองเชียงกราน จนได้พระราชทานที่ให้ตั้งบ้านที่เหนือคลองตะเคียน แลอนุญาตให้สร้างวัดวาได้ตามอำเภอใจ ดังกล่าวมาในเรื่องสงครามครั้งที่ ๑ นั้น พวกโปตุเกศออกมามีอานาจอยู่ทางประเทศตวันออกเกือบถึงร้อยปี พวกฝรั่งฮอลันดาจึงแล่นเรือมาได้ถึงประเทศตวันออกมาได้เมืองบันตัมในเกาะชวาเปนที่ตั้งค้าขายก่อน แล้วจึงเข้ามาถึงกรุงศรีอยุทธยาเมื่อปลายรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ พวกฮอลันดาก็เข้ามาตั้งค้าขายในกรุงศรีอยุทธยาด้วย.
พวกโปตุเกศกับพวกฮอลันดา เปนปรปักษ์กันด้วยเหตุหลายอย่าง เบื้องต้นเพราะถือลัทธิสาสนาคฤศตังต่างกัน พวกโปตุเกศถือลัทธิโรมันคะโธลิก พวกฮอลันดาถือลัทธิโปรเตสตันต์ ซึ่งแตกไปจากลัทธิโรมันคะโธลิก การที่พวกฝรั่งแตกลัทธิสาสนากันนี้ถึงเกิดรบพุ่งกันในยุโรป พวกฮอลันดาแต่ก่อนเคยเปนเมืองขึ้นของโปตุเกศ (เวลารวมกับประเทศสเปญ) ครั้นรบกันขึ้นพวกฮอลันดาไปเข้ากับอังกฤษ เพราะถือสาสนาลัทธิโปรเตสตันต์ด้วยกัน พวกสเปนแลโปตุเกศปราบปรามไม่ลง พวกฮอลันดาได้เปนอิศระจึงคิดมาค้าขายแข่งพวกโปตุเกศทางประเทศตวันออก มารบพุ่งกันถึงทางตวันออกนี้ก็เนืองๆ พวกฮอลันดาถนัดใช้เรือรบกว่าพวกโปตุเกศ แต่กำลังทางบกยังน้อยกว่า จึงยังไม่กล้าตีหัวเมืองขึ้นของโปตุเกศ เปนแต่เที่ยวค้าขายแข่งตามเมืองที่ยังเปนประเทศมีอิศรภาพเปนกลาง พวกฮอลันดามาสืบสวนถึงวิธีที่โปตุเกศมาค้าขาย ได้ความว่าพวกโปตุเกศมักจะเที่ยวกดขี่ข่มเหงชาวตวันออกให้กลัว ด้วยถือว่ามีกำลังมากกว่า อิกประการ ๑ โปตุเกศรับสัญญาต่อโป๊ปที่กรุงโรม ว่าจะมาช่วยแผ่สาสนาคฤศตัง แล้วมาพยายามจะให้ชาวตวันออกเข้ารีดด้วยอุบายต่าง ๆ จึงเปนเหตุให้พวกชาวตวันออกพากันเกลียดชังโปตุเกศอยู่โดยมาก พวกฮอลันดาทราบความดังนี้จึงเปลี่ยนทางความประพฤติ ท่าโอบอ้อมอารีเอาใจพวกชาวเมือง หวังแต่จะให้ได้ประโยชน์ในการค้าขายแข่งพวกโปตุเกศเปนประมาณ ส่วนพวกอังกฤษนั้นก็ออกมาค้าขายในคราว ๆ เดียวกับพวกฮอลันดา แต่พึ่งเริ่มจะเข้ามาค้าขายในเมืองไทยเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถนั้น ทั้งพวกฮอลันดาแลอังกฤษมารู้เค้าว่า บรรดาประเทศทางตวันออกนี้ การภายในบ้านเมืองสุดแล้วแต่พระราชหฤไทยของพระเจ้าแผ่นดินผู้ปกครองประเทศเปนสำคัญ จึงทูลขอให้พระเจ้าแผ่นดินของตนมีพระราชสาส์นมาทรงฝากฝังพวกพ่อค้าที่มาค้าขาย พวกพ่อค้าเหล่านั้นเชิญพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการมา ฝ่ายเจ้าของประเทศก็รับรองพวกพ่อค้าในฐานเปนทูตเชิญพระราชสาส์น เพราะฉนั้นพวกพ่อค้าฮอลันดาแลอังกฤษจึงได้เข้าเฝ้าแหน แลได้รับความทำนุบำรุงของพระเจ้าแผ่นดินตามประเทศที่มาค้าขายแทบทุกแห่ง.
มีจดหมายเหตุปรากฎว่า เจ้ามอริตซ์ในราชวงศ์ออเรนช์ ซึ่งครองเมืองฮอลแลนด์ มีพระราชสาส์นส่งเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายสมเด็จพระเอกาทศรถเมื่อแรกเสวยราชย์ ครั้นเมื่อมีพระราชประสงค์จะตอบแทนตามราชประเพณี พวกฮอลันดาได้จัดเรือรบรับราชทูตไทยที่เชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการไปถึงยุโรป เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๑๕๐ แลเมื่อทูตไทยกลับมา เจ้ากรุงฮอแลนด์ฝากปืนใหญ่กับเครื่องสาตราวุธแลของดีวิเศษต่างๆ มาถวายสมเด็จพระเอกาทศรถอิกเปนอันมาก ในการที่พวกฮอลันดามาเปนไมตรีกับไทยดังกล่าวมานี้ เปนเหตุให้พวกโปตุเกศรู้สึกร้อนใจ มีจดหมายเหตุโปตุเกศปรากฎฉบับ ๑ ว่า เมื่ออุปราชที่เมืองโคว์ทราบว่าสมเด็จพระเอกาทศรถให้ราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีถึงประเทศฮอแลนด์ ก็คิดปรารภจะมาชิงเมืองเมาะตมะไปเสียจากไทย ด้วยเกรงว่าพวกฮอลันดามาเข้ากับไทย จะมาขอเมืองเมาะตมะไปทำที่ค้าขายแข่งโปตุเกศ แต่ความคิดนั้นระงับไปด้วยเห็นว่าไทยยังมีกำลังมากนัก แลประจวบไปได้ช่องทางเมืองสิเรียมในแดนพม่าซึ่งอยู่ไม่ห่างเมืองเมาะตมะ โปตุเกศจึงหันไปจับเมืองสิเรียม ก็เกิดรบกันขึ้นกับพม่า ๆ ชนะโปตุเกศ พม่าจึงเลยกำเริบมารบกับไทยเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ.
ทีนี้จะกล่าวถึงเรื่องเมืองสิเรียมอันเปนต้นเหตุให้พม่ามารบกับไทยต่อไป เรื่องราวมูลเหตุมีต่อเนื่องมาแต่ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร ครั้งเสด็จไปตีเมืองหงษาวดีหนที่ ๒ ครั้งนั้นพระเจ้ายะไข่ยกกองทัพมายึดเมืองสิเรียมอันอยู่ปากน้ำหงษาวดีไว้ ดังปรากฎอยู่ในเรื่องสงครามครั้งที่ ๑๔ ครั้นเมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับมาแล้ว พระเจ้าตองอูก็อนุญาตให้พระเจ้ายะไข่รักษาเมืองสิเรียมต่อมา แต่ทำนองพระเจ้ายะไข่จะเกรงพวกมอญที่ขึ้นกับไทยจะไปเบียดเบียน เพราะเมืองสิเรียมอยู่ตรงข้ามอ่าวทเลกับเมืองเมาะตมะ พระเจ้ายะไข่จึงให้ฝรั่งโปตุเกศคน ๑ ชื่อ ฟิลิป เดอบริโต ซึ่งได้ไปสวามิภักดิ์อยู่กับพระเจ้ายะไข่ เปนนายทหารคุมเรือกำปั่นรบ ๓ ลำ กับไพร่พล ๓,๐๐๐ มาอยู่รักษาเมืองสิเรียม ด้วยเห็นว่าพวกโปตุเกศชำนาญการใช้ปืนไฟใหญ่น้อย มอญจะได้ครั่นคร้ามไม่กล้าไปรบกวน เดอบริโตมาอยู่ที่เมืองสิเรียมก็ชักชวนพวกโปตุเกศมาอยู่มากขึ้น ให้สร้างป้อมปราการสำหรับป้องกันเมือง แลตั้งด่านเก็บภาษีสินค้าที่ผ่านไปมาทางปากน้ำหงษาวดี ส่งไปถวายพระเจ้ายะไข่มิได้ขาด ส่วนเดอบริโตเองได้โอกาศก็ประกอบการค้าขายหาผลประโยชน์ไปด้วย ไม่ช้าก็ได้กำไรรวย อยู่มามีเหตุเกิดขึ้น ทำนองพระเจ้ายะไข่จะระแวงว่าเดอบริโตจะตั้งตัวเปนใหญ่ แลพยายามจะถอดถอน เดอบริโตจึงคบคิดกับพวกโปตุเกศชิงเอาเมืองสิเรียมได้แล้วก็เลยตั้งแขงเมือง เก็บภาษีอากรเอาเปนประโยชน์ของตนเอง แลเห็นจะเอิบเอื้อมเข้าไปยึดถือเอาหัวเมืองของพระเจ้าตองอูอันอยู่ใกล้เคียงด้วย พระเจ้าตองอูจึงให้ไปฟ้องต่อพระเจ้ายะไข่ ๆ ก็นัดพระเจ้าตองอูให้ยกกองทัพไปปราบปรามเดอบริโตด้วยกัน พระเจ้ายะไข่ให้มังคะมองราชบุตร ซึ่งเปนพระมหาอุปราชาคุมกองทัพเรือมา พระเจ้าตองอูก็ให้นัดจินหน่องราชบุตร ซึ่งเปนพระมหาอุปราชาคุมกองทัพบกยกลงมา กองทัพเรือเมืองยะไข่มาถึงเมืองสิเรียมก่อน เดอบริโตเห็นว่ากองทัพยกมามากนักจะสู้ไม่ไหว ก็เก็บรวบรวมทรัพย์สมบัติพาครอบครัวลงเรือกำปั่นจะแล่นหนีไปทางทเล พระมหาอุปราชาเมืองยะไข่ให้กองทัพเรือเข้าล้อมเรือกำปั่นไว้ เดอบริโตจวนตัวก็ต่อสู้ พวกฝรั่งโปตุเกศยิงปืนใหญ่ถูกเรือรบเมืองยะไข่แตกล่มลงหลายลำ แล้วพเอิญไปถูกเรือลำทรงของพระมหาอุปราชาเมืองยะไข่ล่มลงด้วยอิกลำ ๑ กองทัพเรือเมืองยะไข่ก็แตกหนี เดอบริโตจับพระมหาอุปราชาเมืองยะไข่ได้ เห็นได้ทีก็กลับมาตั้งที่เมืองสิเรียมอิก ฝ่ายกองทัพพระมหาอุปราชาเมืองตองอูลงมากลางทาง ได้ทราบว่ากองทัพเมืองยะไข่แพ้ข้าศึก ก็ให้หยุดทัพรออยู่ยังหายกลงมาไม่ พระเจ้ายะไข่ได้ข่าวว่าพระมหาอุปราชาเสียทีข้าศึกก็ตกพระไทย รีบจัดกองทัพเรือยกมา แล้วให้ไปนัดกองทัพเมืองตองอูยกลงมาสมทบกันล้อมเมืองสิเรียมไว้ แต่เดอบริโตได้พระมหาอุปราชาเมืองยะไข่ไว้เปนตัวจำนำก็ไม่หวาดหวั่น ให้รักษาเมืองมั่นอยู่ แล้วให้ไปทูลแก่พระเจ้ายะไข่ว่า ถ้าพระเจ้ายะไข่เข้าตีเมืองเหลือกำลังจะสู้รบเมื่อใด ก็จะเอาพระมหาอุปราชาเปนเพื่อนตายด้วย พระเจ้ายะไข่ก็มิรู้ที่จะกระทำประการใด กลัวเดอบริโตจะฆ่าพระมหาอุปราชาเสีย จึงให้เข้าไปว่ากล่าว ว่าให้เดอบริโตปล่อยพระมหาอุปราชาเสีย เมื่อจะต้องการอะไรบ้างก็ให้ว่ากันโดยดี เดอบริโตสั่งให้มาทูลว่า ต้องการแต่จะอยู่ที่เมืองสิเรียมให้เปนอิศรแก่ตัวเท่านั้น ถ้าได้อย่างนั้นแน่นอนแล้วก็จะส่งพระมหาอุปราชามาถวาย พระเจ้ายะไข่กับพระเจ้าตองอูก็จำต้องยอมสัญญายกเมืองสิเรียมให้เดอบริโตอยู่เปนอิศระแต่ปีเถาะ พ.ศ. ๒๑๔๖ ก่อนสมเด็จพระนเรศวรสวรรคต ๒ ปี
ในพงษาวดารพม่าว่า เมื่อเดอบริโตจะตั้งแขงเมืองนั้น ได้มาเข้ากับไทยก่อน เพราะไทยอุดหนุนเดอบริโตจึงกล้าตั้งแขงเมืองเอาพระเจ้ายะไข่ ข้อนี้ก็น่าจะเปนความจริง ด้วยพระยาทะละซึ่งเปนข้าหลวงของไทยมีกำลังตั้งอยู่เมืองเมาะตมะ ไม่ห่างเมืองสิเรียมนัก ถ้าเปนสัตรูขึ้นอิกทาง ๑ เดอบริโตจะต้องสู้ศึกรอบข้างก็คงจะลำบากมาก เพราะฉนั้นอาจจะมาทาบทามเปนทางไมตรีกับพระยาทะละ แล้วให้เข้ามาขอสามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระนเรศวรก็เปนได้ ความปรากฎแต่ว่า เมื่อมาถึงในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ เดอบริโตกับพระยาทะละเข้ากันสนิทสนม จนถึงพระยาทะละยกลูกสาวให้แต่งงานกับลูกชายของเดอบริโต ให้วงศ์สกุลเกี่ยวดองกัน เข้าใจว่าเดอบริโตคงได้มาสามิภักดิ์ขึ้นอยู่แก่ไทยในเวลานั้น เพราะเกรงพระเจ้ายะไข่กับพระเจ้าตองอูจะยังผูกพยาบาทหาเหตุมาทำร้ายนั้นประการ ๑ เพราะเดอบริโตหมายจะหาอำนาจขยายอาณาเขตรให้กว้างขวางออกไปด้วยอิกประการ ๑ พอมาเข้ากับไทยได้แล้วเดอบริโตก็ไปยึดเมืองหงษาวดีอันเปนเมืองร้างอยู่ แลหัวเมืองที่อยู่ตามบรรดาปากน้ำเอราวดี ตั้งแต่เมืองพสิมเปนต้นมาจนเมืองสิเรียม เอาไว้ในอำนาจได้ทั้งหมด ครั้งนั้นการค้าขายในเมืองพม่าที่ต้องไปมาทางทเลก็ตกอยู่ในอำนาจของเดอบริโตตลอดในเวลากาลอันหนึ่ง.
ฝ่ายพระเจ้าอังวะผู้เปนราชบุตรของพระเจ้านะยองราม ที่ถึงพิราไลยเมื่อกลับไปจากเมืองแสนหวี ครั้นได้ครองเมืองแทนพระบิดาก็ทำพิธีราชาภิเศก ทรงพระนามว่าพระมหาธรรมราชา แล้วพยายามทำนุบำรุงรี้พลต่อมา พระเจ้าอังวะองค์นี้มีปรีชาสามารถยิ่งกว่าเจ้านายที่ตั้งเปนอิศระในเมืองพม่าแห่งอื่น ๆ ครั้นรวบรวมได้กำลังเห็นพอจะทำสงครามแผ่อาณาเขตรให้กว้างขวางได้ ก็ยกกองทัพลงมาตีเมืองแปรได้เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๑๕๐ แล้วให้น้องยาเธอองค์ ๑ อยู่ครองเมืองแปร ต่อมาไม่ช้าพระเจ้าตองอูประชวรถึงพิราไลย นัดจินหน่องราชบุตรซึ่งเปนพระมหาอุปราชาใต้ครองเมืองตองอู เห็นว่าพระเจ้าอังวะคงจะลงมาตีเมืองตองอูในไม่ช้า เกรงจะต่อสู้ต้านทานไม่ไหว จึงแต่งทูตให้เชิญศุภอักษรกับต้นไม้เงินทองแลเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายสมเด็จพระเอกาทศรถ อ่อนน้อมยอมเปนข้าขอบขัณฑสิมาของกรุงศรีอยุทธยา เมื่อปีระกา๑ พ.ศ. ๒๑๕๒ ต่อนั้นมาไม่ช้าพระเจ้าอังวะก็ยกกองทัพลงมาตีเมืองตองอู พระเจ้าตองอูให้มาขอกองทัพไทยไปช่วย สมเด็จพระเอกาทศรถหาได้โปรดให้กองทัพในกรุงศรีอยุทธยาออกไปไม่ มีรับสั่งให้พระยาทะละกับเดอบริโตเกณฑ์กองทัพมอญยกขึ้นไปช่วยเมืองตองอู แต่จะเปนด้วยกะเกณฑ์กองทัพช้า ฤๅรั้งรออยู่อย่างไรอย่างหนึ่งยกไปหาทันไม่ พระเจ้าตองอูยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าอังวะเสียก่อน พระเจ้าอังวะกวาดต้อนเอาผู้คนพลเมืองไปเสียเปนอันมาก แล้วซ้ำบังคับให้พระเจ้าตองอูแต่งกองทัพลงมาตั้งสกัดทางที่จะไปจากเมืองมอญ พระยาทะละกับเดอบริโตยกกองทัพขึ้นไปต้องรบกับพวกเมืองตองอูบ้างเล็กน้อยจึงขึ้นไปได้ถึงเมืองตองอู พระเจ้าตองอูก็ออกมาอ่อนน้อมโดยดี แต่ทำนองพระยาทะละกับเดอบริโตจะยกโทษว่าพระเจ้าตองอูมาสามิภักดิ์ขึ้นกับกรุงศรีอยุทธยาแล้วกลับเอาใจออกหากไปเข้ากับพระเจ้าอังวะจึงให้เผาเมืองตองอูเสีย เก็บรีบทรัพย์สมบัติแลกวาดต้อนผู้คนพลเมืองที่ยังเหลืออยู่ในเมืองตองอูเอารวบรวมลงมา ตัวพระเจ้าตองอูก็เอาลงมาด้วย๒ แต่ในตอนปลายพระยาทะละกับเดอบริโตเกิดขัดใจกันขึ้น คงเปนด้วยแย่งอำนาจกันในหัวเมืองมอญ ทำนองอย่างคำโบราณว่าเหมือนราชสีห์มีด้วยกัน ๒ ตัว แต่คงมีเหตุด้วยเรื่องชิงทรัพย์สมบัติกันที่เมืองตองอูด้วย ในพงษาวดารพม่าว่าเดอบริโตเปนมิจฉาทิษฐิ แลกอบด้วยความโลภหาประมาณมิได้ พอมีอำนาจขึ้นเต็มที่ก็ให้เที่ยวเก็บสิ่งของเครื่องพุทธบูชา แลที่สุดถึงบังอาจให้รื้อพระพุทธรูปแลพระสถูปเจดีย์ ค้นหาทรัพย์สิ่งของที่ประจุไว้ในนั้นเอามาเปนอาณาประโยชน์ จึงเปนเหตุให้พวกพลเมืองพากันเกลียดชัง เดอบริโตเห็นจะไปทำการอุจาดอย่างนั้นที่เมืองตองอูด้วย จึงเลยแตกกับพระยาทะละ ครั้นพระเจ้าอังวะทราบว่าเดอบริโตแตกกับพระยาทะละ แลผู้คนพลเมืองพากันเกลียดชังโดยมาก เห็นได้ทีจึงยกกองทัพลงมาตีเมืองสิเรียม เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๑๕๕ เดอบริโตไม่ได้กำลังไทยช่วย จึงเอาเมืองหงษาวดีไปยกให้รัฐบาลโปตุเกศแล้วขอกองทัพเรือมาช่วยป้องกัน อุปราชโปตุเกศอยากจะได้เมืองสิเรียมไว้เปนเมืองท่าค้าขาย จึงให้กำปั่นรบมาช่วยรักษาเมืองสิเรียม แต่ประมาณการผิด ให้เรือรบมาถึงหาทันไม่ พระเจ้าอังวะตีเมืองสิเรียมได้เมื่อเดือน ๕ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีฉลู พ.ศ. ๒๑๕๖ จับได้ทั้งเดอบริโตแลพระเจ้าตองอูนัดจินหน่อง ซึ่งเดอบริโตพาเอาไปไว้ที่เมืองสิเรียม พระเจ้าอังวะพิพากษาโทษพระเจ้าตองอูว่ามีความผิดฐานขบถ เพราะได้ยอมอ่อนน้อมแล้วกลับมาเข้ากับไทยอิก ส่วนเดอบริโตนั้นว่ามีความผิดฐานเปนโจรอุกฤษฐโทษปล้นพระสาสนาให้เอาไปประหารชีวิตรเสียทั้ง ๒ คน แล้วให้เก็บริบทรัพย์สมบัติแลจับพวกโปตุเกศรวมทั้งชายหญิงเด็กผู้ใหญ่กว่า ๔๐๐ คน เปนเชลยส่งไปไว้ที่เมืองอังวะ เรือกำปั่นรบที่อุปราชโปตุเกศให้มาช่วยเมืองสิเรียม มาถึงต่อเมื่อพระเจ้าอังวะได้เมืองแล้ว หลงเข้าไปในแม่น้ำ พระเจ้าอังวะก็เลยจับเอาเรือกำปั่นรบของโปตุเกศเสียด้วย.
พระเจ้าอังวะปราบปรามเดอบริโตโปตุเกศได้แล้วก็สิ้นเสี้ยนสัตรูในเมืองพม่า จึงกลับขึ้นไปตั้งเมืองหงษาวดีเปนราชธานีประสงค์จะให้เหมือนเมื่อครั้งพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองผู้เปนพระไอยกาธิราชแต่ก่อนมา แต่เมืองหงษาวดีเปนเมืองร้างมาแต่ครั้งพระเจ้าหงษาวดีนันทบุเรงหนีสมเด็จพระนเรศวร ปราสาทราชมณเฑียรของเดิมถูกพวกยะไข่เผาเสียในครั้งนั้นหมด พระเจ้าอังวะกลับไปอยู่ต้องสร้างวังที่ประทับใหม่ แต่กำลังมีน้อยได้แต่ทำเปนพลับพลาพอพักอยู่ ถึงต่อมาในชั้นหลังก็ไม่สามารถจะสร้างปราสาทราชมณเฑียร แลทำนุบำรุงเมืองหงษาวดีให้เหมือนอย่างเดิมได้ เมืองหงษาวดีจึงสักแต่มีชื่อว่าได้กลับเปนราชธานีอิกชั่วคราว ๑ เท่านั้น.
ในพงษาวดารพม่าว่า เมื่อพระเจ้าอังวะตั้งเมืองหงษาวดีเปนราชธานีแล้ว ให้ลงมาเกลี้ยกล่อมพระยาทะละ ๆ ก็ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าอังวะโดยดี พระเจ้าอังวะจึงตั้งให้พระยาทะละเปน “พระยาธรรมราชา” (ชื่อนี้เข้าใจว่าเห็นจะยกย่องยศขึ้นเปนอย่างประเทศราช) ให้ครองหัวเมืองมอญฝ่ายใต้ แต่นั้นเมืองเมาะตมะแลหัวเมืองมอญโดยมากก็กลับคืนไปเปนของพม่าอย่างเดิม.
ตรงนี้น่าจะวินิจฉัยว่า ทางกรุงศรีอยุทธยาปรารภอย่างไรในตอนนี้ ฤๅว่ามีเหตุอย่างไรจึงยอมให้หัวเมืองมอญกลับไปเปนของพม่าโดยง่าย เมื่อลองคิดดูถึงที่ได้ทางเสียของไทยที่มีเมืองเมาะตมะเปนเมืองขึ้นในครั้งนั้นว่าจะเปนอย่างไร เห็นว่าเมืองเมาะตมะ ฤๅจะว่าที่แท้หัวเมืองมอญทั้งปวงในสมัยนั้น เปนประโยชน์แก่ไทยในการสงครามยิ่งกว่าอย่างอื่น เพราะเปนกำลังกีดกันมิให้พม่ามาทำร้ายเมืองไทย แลเปนกำลังของไทยที่จะไปทำร้ายเมืองพม่าด้วยทั้ง ๒ สถาน เพราะฉนั้นในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร เมื่อไทยทำสงครามติดพันกันอยู่กับพม่า ได้หัวเมืองมอญไว้ จึงเหมือนกับมีทรัพย์อันจะประมาณค่ามิได้ ครั้นถึงปลายรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร เมื่อพม่าหมดกำลังที่จะมาทำร้ายเมืองไทยได้แล้ว แลต่อมาถึงรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ เมื่อไทยไม่มีความประสงค์ที่จะยกกองทัพไปตีเมืองพม่าแล้ว ประโยชน์ของหัวเมืองมอญก็น้อยลงกว่าแต่ก่อน ความลำบากในการปกครองเมืองมอญก็เห็นจะปรากฎขึ้น เพราะอาณาเขตรมอญที่มาขึ้นแก่ไทยครั้งนั้น มีหัวเมืองใหญ่น้อยหลายหัวเมือง ดินแดนกว้างใหญ่กว่าครึ่งรามัญประเทศ ราษฎรพลเมืองเปนมอญ ล้วนมีความนิยมอยากจะให้บ้านเมืองของตนเปนอิศระแก่ตนยิ่งกว่าที่จะขึ้นแก่พม่า ฤๅแม้ขึ้นแก่ไทยนั้นเปนธรรมดา แต่เวลาไทยรบกับพม่ามอญไม่มีกำลังที่จะตั้งอยู่เปนอิศระได้ เกลียดชังพม่าจึงมาเข้ากับไทย สมเด็จพระนเรศวรก็โปรดให้พวกเจ้าเมืองกรมการมอญควบคุมปกครองกันเอง คงเปนเมืองใหญ่น้อยมีอิศระแก่กันอยู่หลายเมือง แต่ในเวลาเมื่อไทยยังกำลังทำสงครามอยู่กับพม่า มีกองทัพไทยไปตั้งอยู่ ฤๅเดินผ่านไปมาในหัวเมืองมอญเสมอ แม้สมเด็จพระนเรศวรเองก็เสด็จไปเกือบทุกปี เสมอไทยได้ตรวจตราว่ากล่าวการงานหัวเมืองมอญอยู่เสมอ การปกครองก็เรียบร้อยราบคาบ ครั้นเมื่อไทยทำลายอำนาจพระเจ้าหงษาวดีได้ จนถึงพระเจ้าหงษาวดีต้องหนีไปอาไศรยเมืองตองอูแล้ว แต่นั้นกองทัพไทยก็ไม่ใคร่จะได้ยกไป ทางเมืองมอญสมเด็จพระนเรศวรตั้งพระยาทะละให้เปนอุปราช บังคับบัญชาการต่างพระเนตรพระกรรณ ในชั้นแรกพระยาทะละคงจะทำการโดยสามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระนเรศวร แต่ครั้นสิ้นรัชกาลนั้นแล้วเห็นว่าไทยห่างเหินไป แลเดอบริโตโปตุเกศเข้ามาตั้งตัวเปนใหญ่อยู่ใกล้ ๆ น่าที่พระยาทะละจะคิดอยากเปนใหญ่ขึ้นในเมืองมอญบ้าง จึงได้คบคิดสนิทสนมกับฝรั่งมัก แต่ฝ่ายเจ้าเมืองมอญเมืองอื่นๆ แต่เดิมมาก็เห็นจะไม่อยากอยู่ในอำนาจพระยาทะละอยู่แล้ว ครั้นอำนาจไทยที่เคยตรวจตราว่ากล่าวอยู่แต่ก่อนจืดจางห่างเหินไป ก็คงจะถือตัวเปนอิศระยิ่งขึ้น มีความยำเกรงพระยาทะละน้อยลงทุกที เห็นจะเกิดการเกี่ยงแย่งแตกสามัคคีกันในพวกเจ้าเมืองมอญก่อนอย่างอื่น คงถึงกล่าวโทษฟ้องร้องกันเข้ามาเนือง ๆ ฝ่ายกรุงศรีอยุทธยาไม่ได้ยกกองทัพออกไปดังแต่ก่อน เปนแต่มีท้องตราว่ากล่าว ก็ไม่สามารถจะระงับวิวาทให้สงบได้ ครั้นพระเจ้าอังวะมาตีได้เมืองสิเรียม พวกพระยามอญที่แตกร้าวกันนั้นจึงแปรไปนิยมพม่าพวก ๑ คงนิยมไทยอยู่พวก ๑ พระยาทะละเปนหัวน่าในพวกที่ไปนิยมพม่า เพราะอยากจะใคร่เปนใหญ่แก่เมืองอื่น แต่ทางฝ่ายกรุง ฯ ป้องกันเมืองอื่นไว้ ไม่สมประสงค์ของพระยาทะละจึงเอาใจออกหากจากไทยไปหาความอุดหนุนของพม่า ที่พระยาทะละไปอ่อนน้อมยอมเข้ากับพระเจ้าอังวะโดยง่าย แลที่พระเจ้าอังวะตั้งพระยาทะละให้เปนพระยาธรรมราชา ว่ากล่าวหัวเมืองมอญทั่วไป เห็นว่าจะเปนด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ส่วนพงษาวดารรามัญกล่าวเปนเนื้อความว่า เพราะกรุงศรีอยุทธยาไม่ยกทัพไปหัวเมืองมอญจึงกลับตกไปเปนของพม่า มีเรื่องราวแปลกปลาดปรากฎอยู่ในจดหมายเหตุของฮอลันดาอิกอย่าง ๑ ว่า เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๑๕๕ (ร่วมปีกับที่พม่าได้เมืองเมาะตมะนั้น) พวกยี่ปุ่นกำเริบขึ้นในเมืองไทย ถึงบังอาจเข้าปล้นเมืองเพ็ชรบุรีแลเมืองธนบุรี๓ ไทยต้องให้กองทัพลงไปปราบปราม แลว่าในครั้งนั้นเจ้าฟ้าฝ่ายน่า๔ (คือเจ้าฟ้าสุทัศน์) เกรงว่าพวกยี่ปุ่นจะพากันเปนขบถขึ้นทั้งหมด จึงลอบให้ไปขอกำลังเมืองล้านช้างลงมาช่วย๕ กองทัพพวกล้านช้างลงมาตั้งอยู่ที่เมืองลพบุรี สมเด็จพระเอกาทศรถทราบความก็ทรงพระพิโรธ๖ ดำรัสสั่งให้เตรียมกองทัพหลวงเสด็จเปนจอมพลยกไปเมืองลพบุรี แล้วให้มีหมายมาเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๖๑๒ เกณฑ์พวกฮอลันดาไปยิงปืนใหญ่ซึ่งเจ้ากรุงฮอแลนด์ถวายมาเปนราชบรรณาการ พวกฮอลันดาได้พากันตามเสด็จขึ้นไปถึงกองทัพหลวง ซึ่งตั้งอยู่ข้างใต้เมืองลพบุรีกำหนดว่าวันที่ ๕ เมษายน จะเข้าระดมตีพวกล้านช้างแต่เช้า แต่ในคืนวันที่ ๔ พวกล้านช้างพากันรีบหลบหนีไปเสียก่อนจึงหาได้รบกันไม่ สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จกลับคืนมายังพระนครเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ได้ความในจดหมายเหตุของฮอลันดาดังนี้ บางทีจะเปนเพราะมีเหตุวุ่นวายอยู่ใกล้กรุง ฯ ในเวลานั้น จึงมิได้ให้กองทัพยกไปปราบปรามพวกพระยามอญที่เอาใจออกหากก็จะเปนได้.
จะบรรยายถึงเรื่องที่ไทยเกิดรบกับพม่าต่อไป ในพงษาวดารพม่าว่า แต่เดิมพระยาทะละให้พระยาพระรามผู้เปนบุตรลงมารักษาเมืองเร๗ อันอยู่ทางชายทเลในระหว่างเมืองเมาะตมะกับเมืองทวาย ครั้นพระยาทะละไปสามิภักดิ์ต่อพระเจ้าอังวะ ๆ ประสงค์จะคุมพระยาทะละไว้ให้มั่น จึงให้พระยาพระรามขึ้นไปมีตำแหน่งรับราชการอยู่ในเมืองหงษาวดีอย่างเปนตัวจำนำ แล้วให้ตะแคงแมงซึ่งเปนน้องยาเธอพระองค์ ๑ ลงมาครองเมืองเร รักษาอาณาเขตรที่ต่อกับแดนทวาย อยู่มาไม่ช้าสมเด็จพระเอกาทศรถมีรับสั่งให้เจ้าเมืองทวายยกกองทัพจู่ไปตีเมืองเร จับได้ตะแคงแมงส่งเข้ามายังกรุงศรีอยุทธยา พระเจ้าอังวะได้ทราบก็ขัดเคือง จึงให้เกณฑ์กองทัพมีจำนวนพล ๔๐,๐๐๐ ยกลงมาตีเมืองทวายเมื่อเดือนยี่ ปีฉลู พ.ศ. ๒๑๔๖ พระยาทวายต่อสู้รักษาเมืองเปนสามารถ พเอิญพระยาทวายต้องอาวุธตายในที่รบ ก็เสียเมืองทวายแก่พระเจ้าอังวะ ๆ เห็นไม่มีกองทัพไทยไปช่วยเมืองทวาย สำคัญว่าคงจะมีเหตุการณ์อย่างใดเกิดขึ้นทางกรุงศรีอยุทธยา ทำให้ไทยอ่อนกำลังลงจึงไม่กล้าไปรบพุ่งเหมือนแต่ก่อน พระเจ้าอังวะเห็นได้ทีก็ยกกองทัพเลยลงมาตีเมืองตะนาวศรี มาพบกองทัพไทยตั้งสกัดอยู่ที่ท่าข้ามลำน้ำตนาว ๒ ทัพ พระเจ้าอังวะจะข้ามมาไม่ได้ก็ต้องหยุดอยู่ ในเวลานั้นกองทัพไทยอิก ๒ ทัพ พระยาสวรรคโลกคุมทัพ ๑ พระยาพิไชยคุมทัพ ๑ ยกอ้อมไปข้างหลังกองทัพพม่า ไปตัดไม้ล้มทับทางที่พม่ายกกองทัพมา พระเจ้าอังวะเห็นว่าไทยจะล้อมจับก็ตกพระไทย ให้รีบยกกองทัพกลับไปพบกองทัพพระยาพิไชย พระยาสวรรคโลกตั้งสกัดอยู่ ได้รบพุ่งกันเปนสามารถ กองทัพพม่าตีหักออกไปได้ พระเจ้าอังวะจึงรอดกลับไปถึงเมืองเมาะตมะ ไทยมีไชยชนะที่เมืองตะนาวศรีแล้วก็ได้เมืองทวายกลับคืนมาเปนของไทยดังแต่ก่อน.
-
๑. ข้อนี้กล่าวตามข้าพเจ้าคิดเห็น ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมืองตองอูมาขอขึ้นต่อกรุงศรีอยุทธยาแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร ข้าพเจ้าเห็นว่าเหตุไม่สมกัน. ↩
-
๒. ในพงษาวดารพม่าว่า พระยาทะละกับเดอบริโตขึ้นไปตีเมืองตองอูโดยพลการ ข้าพเจ้าเห็นว่าการเช่นนั้นทำได้แต่ด้วยกระแสรับสั่ง เพราะหัวเมืองมอญยังขึ้นกรุงศรีอยุทธยาอยู่ในเวลานั้น ↩
-
๓. ยี่ปุ่นแรกมาค้าขายถึงเมืองไทยในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร พวกยี่ปุ่นจะได้เข้าอาสารับราชการในแผ่นดินนั้นฤๅอย่างไรไม่แน่ มาปรากฎต่อในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถว่ามีกองทหารอาสายี่ปุ่นกอง ๑ แต่พวกยี่ปุ่นที่เที่ยววุ่นวายนั้นเปนพวกลูกเรือ ยี่ปุ่นที่มาค้าขาย มิใช่ทหารอาสา เรือยี่ปุ่นไปค้าขายที่กรุงกัมพูชาในสมัยนั้น พวกลูกเรือก็ไปเที่ยววุ่นวายอย่างเดียวกัน. ↩
-
๔. ฮอลันดาเขียนว่า เจ้าฟ้าตนะ. ↩
-
๕. ในพงษาวดารล้านช้างว่า ในสมัยนั้นกรุงศรีสัตนาคนหุตมาอ่อนน้อมยอมขึ้นอยู่กับไทย ↩
-
๖. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เจ้าฟ้าสุทัศน์ทูลขอพิจารณาคนออก สมเด็จพระเอกาทศรถทรงพระพิโรธ ดำรัสถามว่า “จะเปนขบถฤๅ” เจ้าฟ้าสุทัศน์เกรงพระราชอาญาเปนกำลัง ครั้นกลับไปถึงวังก็เสวยยาพิศม์สิ้นพระชนม์ เรื่องที่จริงน่าจะเปนทำนองในจดหมายเหตุฮอลันดา. ↩
-
๗. เมืองนี้อังกฤษเรียกตามสำเนียงพม่าว่า เมืองเย. ↩