- อธิบายเหตุการณ์ที่ไทยรบกับพม่า
- ครั้งที่ ๑ คราวพม่าตีเมืองเชียงกราน ปีจอ พ.ศ. ๒๐๘๑
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวสมเด็จพระสุริโยไทยขาดฅอช้าง ปีวอก พ.ศ. ๒๐๙๑
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวรบกันด้วยเรื่องช้างเผือก ปีกุญ พ.ศ. ๒๑๐๖
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวเสียกรุง ฯ แก่พระเจ้าหงษาวดี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๑๑
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิศระ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗
- สงครามครั้งที่ ๖ ครั้งรบพระยาพสิมที่เมืองสุพรรณ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวรบพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกษ ปีระกา พ.ศ. ๒๑๒๘
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวพระเจ้าหงษาวดีล้อมกรุง ฯ ปีจอ พ.ศ. ๒๑๒๙
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวพระมหาอุปราชายกมาครั้งแรก ปีขาล พ.ศ. ๒๑๓๓
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวสมเด็จพระนเรศวรชนช้าง ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕
- สงครามครั้งที่ ๑๑ คราวไทยตีเมืองทวายเมืองตะนาวศรี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๓๕
- สงครามครั้งที่ ๑๒ คราวสมเด็จพระนเรศวรได้หัวเมืองมอญ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๑๓๗
- สงครามครั้งที่ ๑๓ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดีครั้งแรก ปีมะแม พ.ศ. ๒๑๓๘
- สงครามครั้งที่ ๑๔ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดี ครั้งที่ ๒ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๔๒
- สงครามครั้งที่ ๑๕ สงครามครั้งที่สุดของสมเด็จพระนเรศวร ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๔๗
- สงครามครั้งที่ ๑๖ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีฉลู พ.ศ. ๒๑๕๖
- สงครามครั้งที่ ๑๗ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๑๕๗
- สงครามครั้งที่ ๑๘ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีจอ พ.ศ. ๒๑๖๕
- สงครามครั้งที่ ๑๙ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๒๐๕
- สงครามครั้งที่ ๒๐ คราวรบพม่าที่เมืองไทรโยค ปีเถาะ พ.ศ. ๒๒๐๖
- สงครามครั้งที่ ๒๑ คราวไทยตีเมืองพม่า ปีมโรง พ.ศ. ๒๒๐๗
- สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๑
- สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๒
- สงครามครั้งที่ ๒๓ คราวพม่าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๐๗
- สงครามครั้งที่ ๒๔ คราวเสียกรุง ฯ ครั้งหลัง ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
สงครามครั้งที่ ๑๗ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๑๕๗
พระเจ้าอังวะมาตีเมืองทวายเมืองตะนาวศรีไม่สมคิด ต้องหนีไทยกลับไปก็มีความลอาย ครั้นกลับไปถึงเมืองเมาะตมะได้ข่าวว่าเมืองเชียงใหม่เกิดวุ่นวายกันในบ้านเมืองไม่เรียบร้อย เห็นเปนโอกาศที่จะทำสงครามแก้อายได้ ด้วยเมืองเชียงใหม่เวลานั้นขึ้นอยู่กับไทย พระเจ้าอังวะพักรี้พลพอหายเหนื่อยแล้วก็ยกกองทัพมาจากเมืองเมาะตมะ เมื่อเดือน ๑๑ ปีขาล๑ พ.ศ. ๒๑๕๗.
ตรงนี้จะต้องอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางเมืองเชียงใหม่แซกลงสักหน่อยหนึ่งก่อน ได้ความตามพงษาวดารพม่าว่าพระเจ้าเชียงใหม่มังนรธาช่อ ราชบุตรของพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองที่ยอมอ่อนน้อมต่อไทย ดังกล่าวมาในเรื่องสงครามครั้งที่ ๑๔ นั้น มีบุตรธิดา ๔ องค์ ธิดาองค์ใหญ่ถวายในสมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา บุตรองค์ใหญ่ชื่อพระทุลองก็ถวายลงมาทำราชการอยู่กรุงศรีอยุทธยา ครั้งเมื่อยอมอ่อนน้อมต่อไทย พระเจ้าเชียงใหม่ยังมีบุตรอิก ๒ คน ชื่อพระไชยทีปองค์ ๑ พม่าเรียกว่าสะโดะกยออิกองค์ ๑ พระเจ้าเชียงใหม่มังนรธาช่อครองเมืองเชียงใหม่มา ๒๘ ปี ถึงพิราลัยในปลายรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร เมื่อปีมโรง พ.ศ. ๒๑๕๑ ท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่บอกลงมาทูลขอพระทุลองขึ้นไปครองเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงตั้งพระทุลองเปนพระเจ้าเชียงใหม่ แล้วให้กองทัพไทยพาพระทุลองขึ้นไปส่ง พระทุลองพเอิญไปป่วยถึงพิราลัยเสียยังไม่ทันได้นั่งเมือง จึงทรงตั้งพระไชยทีปน้องรองลงมาเปนพระเจ้าเชียงใหม่ให้ครองเมืองต่อมา อยู่มาพระยาแสนหลวงกับพระยาสามล้านเสนาบดีเมืองเชียงใหม่ปลงพระเจ้าเชียงใหม่ไชยทีปเสียจากราชสมบัติ บังคับให้ออกบวชเปนพระภิกษุ แล้วเชิญเจ้าสะโดะกยอน้ององค์เล็กขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าอังวะได้ทราบข่าวว่าเกิดวุ่นวายกันดังนี้จึงยกกองทัพเข้ามา ด้วยคาดว่าชาวเมืองเชียงใหม่คงจะแตกกันเปน ๒ พวกไม่เปนใจต่อสู้พร้อมเพรียงกัน คงจะตีเมืองเชียงใหม่ได้โดยง่าย.
ครั้นพระเจ้าอังวะยกกองทัพมาถึงเมืองลำพูน ได้ความว่าพระเจ้าเชียงใหม่สะโดะกยอกับท้าวพระยาพากันทิ้งเมืองเชียงใหม่เสีย กวาดผู้คนพลเมืองลงมาตั้งมั่นอยู่ณเมืองนครลำปาง จึงยกกองทัพตามมาล้อมเมืองนครลำปางไว้ แล้วให้เข้าตีเมืองเปนหลายครั้งก็ไม่ได้เมืองนครลำปางด้วยพวกชาวเชียงใหม่สู้รบแขงแรง ไม่เกี่ยงแย่งกันในกลางศึกเหมือนอย่างพระเจ้าอังวะคาดไว้ พม่าล้อมเมืองอยู่จนกองทัพขัดสนเสบียงอาหาร พระเจ้าอังวะปฤกษาทับนายทัพนายกองทั้งปวงว่า จะเลิกทัพกลับไปดีฤๅจะพยายามตีเมืองนครลำปางต่อไปดี ท้าวพระยานายทัพนายกองบางคนเห็นว่าไพร่พลอดอยากอิดโรยนัก ควรจะเลิกทัพกลับไปเสียสักที แต่อิกพวก ๑ ว่าได้ตั้งล้อมเมืองจนชิดแล้ว ข้างในเมืองก็ขัดเสบียงอาหารอดอยากอยู่เหมือนกัน ถ้าเลิกทัพกลับไปเสียจะหาโอกาศอย่างนี้อิกยากนัก ขอให้พยายามตีเมืองนครลำปางต่อไป แลในเวลาที่ปฤกษาโต้แย้งกันอยู่ดังนี้ พอพระยาน่านคุมเสบียงอาหารมาส่งพระเจ้าอังวะก็ให้ตั้งล้อมเมืองนครลำปางต่อมา ขณะนั้นพเอิญพระเจ้าเชียงใหม่สะโดะกยอประชวรถึงพิราลัยที่ในเมืองนครลำปาง พวกท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่พากันท้อใจ ก็ออกมายอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าอังวะ๒ พระเจ้าอังวะได้เมืองเชียงใหม่แลเมืองนครลำปางแล้ว จึงตั้งให้พระยาน่านผู้มีความชอบเปนพระเจ้าเชียงใหม่ แล้วก็เลิกกองทัพไปเมืองหงษาวดี พระเจ้าอังวะยกกองทัพกลับไปแล้วไม่ช้า กองทัพไทยก็ยกขึ้นไปถึง พวกชาวเชียงใหม่ก็พากันกลับมาเข้ากับไทย ช่วยกันขับไล่พม่าที่เข้ามากำกับบ้านเมืองหนีกลับไปหมด เมืองเชียงใหม่แลหัวเมืองในอาณาเขตรลานนาก็กลับมาเปนของไทยอย่างเดิม.
เรื่องที่ไทยยกกองทัพขึ้นไปขับไล่พม่าไปจากเมืองเชียงใหม่คราวนี้ ไม่มีในหนังสือพงษาวดาร มีแต่ในจดหมายเหตุของพวกฮอลันดาแลอังกฤษที่เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุทธยาในสมัยนั้น ว่าพวกฝรั่งไม่ได้ขึ้นไปค้าขายทางเมืองเชียงใหม่อยู่เกือบ ๒ ปี เพราะไทยรบกับพม่าอยู่ทางเมืองเชียงใหม่ จนคฤศตศก ๑๖๑๘ (ตรงกับปีมเมีย พ.ศ. ๒๑๖๑) ไทยกับพม่าจึงได้ทำสัญญาเลิกสงครามกัน ไทยยอมยกเมืองเมาะตมะให้พม่า พม่ายอมยกเมืองเชียงใหม่ให้แก่ไทย แต่นั้นมาพวกฝรั่งจึงขึ้นไปค้าขายถึงเมืองเชียงใหม่ได้ดังแต่ก่อน.
เรื่องเมืองเมาะตมะยังมีข้อความพิศดารอยู่ในจดหมายเหตุของโปตุเกศอิกทาง ๑ ว่า เมื่อปีมโรง พ.ศ. ๒๑๕๙ (ตรงกับปีที่พระเจ้าอังวะยกมาเมืองเชียงใหม่) มีทูตไทยออกไปถึงเมืองโคว์บอกแก่อุปราชโปตุเกศว่า ถ้าหากโปตุเกศรับให้กองทัพเรือมาลาดตระเวนทางชายทเลตวันตก คอยป้องกันอย่าให้พม่ามาตีเมืองทวายเมืองตะนาวศรี ไทยจะยอมยกเมืองเมาะตมะให้โปตุเกศสร้างป้อม (แทนเมืองสิเรียมที่พม่าตีเอาไปเสีย) อุปราชโปตุเกศให้บาดหลวงคน ๑ ชื่อฟรานซิสโค เข้ามากรุงศรีอยุทธยากับทูตไทย มาพูดจาปฤกษาข้อสัญญาที่จะทำต่อกัน ฝ่ายโปตุเกศต้องการเปนเนื้อความ ๓ ข้อ ข้อ ๑ ว่าโปตุเกศกับไทยจะรวมกำลังกันรบพุ่งพม่า ปราบปรามพระเจ้าอังวะลงให้จงได้ ข้อ ๒ ขอให้ไทยกับโปตุเกศไปมาค้าขายถึงเขตรแดนกันแลกันได้โดยสดวก (อย่าต้องเสียภาษีอากร) ข้อ ๓ ให้ไทยขับไล่พวกฮอลันดาออกไปเสียจากประเทศสยามให้หมด ฝ่ายไทยจะยอมตกลงในข้อ ๑ ข้อ ๒ แต่ข้อ ๓ ที่โปตุเกศต้องการจะให้ขับไล่พวกฮอลันดาไปเสียนั้น สมเด็จพระเอกาทศรถมีรับสั่งว่า พวกฮอลันดากับอังกฤษได้เข้ามาขอค้าขายโดยสุภาพ ก็โปรดอนุญาตให้มาค้าขายเหมือนกับแขกฝรั่งแลชาวต่างประเทศชาติอื่น ๆ การที่ให้เข้ามาค้าขายก็เปนประโยชน์แก่เมืองไทย ทั้งพวกฮอลันดาแลอังกฤษก็อ่อนน้อมนับถือเปนปรกติอยู่ ไม่มีความผิดอย่างไร ที่จะให้ขับไล่เสียนั้นหาควรไม่ บาดหลวงฟรานซิสโคไม่ได้สมปราถนาก็กลับไป ต่อมาไม่ช้าพระเจ้าอังวะได้ข่าว (เห็นจะเมื่อกลับไปจากเมืองเชียงใหม่) ว่าไทยไปพูดจาจะเอาโปตุเกศเข้าเปนสัมพันธมิตรก็เกิดวิตก จึงให้ทูตพม่าไปเมืองโคว์บ้าง ไปชี้แจงถึงการที่พม่าตีเมืองสิเรียม (ดังได้แสดงมาในเรื่องสงครามครั้งที่ ๑๖) ว่าเพราะเดอบริโตคิดร้ายก่อน แลพระเจ้าอังวะจะยอมคืนครัวโปตุเกศที่กวาดเอาไปจากเมืองสิเรียมให้แก่อุปราช ขอให้โปตุเกศไปเข้าเปนพวกข้างพม่า ถ้าหากว่าโปตุเกศจะต้องการเมืองยะไข่ พระเจ้าอังวะก็จะยอมยกให้ อุปราชจึงแต่งให้โปตุเกศคน ๑ ชื่อมาตอง เดอ คอสตาไปเมืองหงษาวดีกับทูตพม่า ประสงค์จะให้ไปทำหนังสือสัญญากับพระเจ้าอังวะ แต่การหาตกลงกันไม่ คงเปนเพราะไทยกับพม่าตกลงกันเสียทางนี้ก่อนแล้ว พม่าจึงเห็นว่าไม่ควรเสียอะไรให้แก่โปตุเกศอิก ข้างฝ่ายโปตุเกศในครั้งนั้นก็คิดแต่จะเอาเปรียบฝ่ายเดียว หาได้คิดจะช่วยเหลือข้างไหนจริงจังอย่างใดไม่ ข้อนี้มีปรากฎในรายงานอุปราชทูลชี้แจงไปยังพระเจ้าแผ่นดินโปตุเกสว่า ที่พม่าจะยกเมืองยะไข่ให้นั้น ที่จริงเมืองยะไข่หาใช่เมืองของพม่าไม่ เปนเมืองของชนชาติอื่นอันอยู่เปนอิศระประเทศหนึ่งต่างหาก ต่อบางยุคบางคราว เวลาพม่ามีอานุภาพมากจึงต้องขึ้นต่อพม่า เวลานั้นก็หาได้ขึ้นต่อพม่าไม่ เหมือนพม่าจะเอาของ ๆ คนอื่นมายกให้ ถึงที่ไทยว่าจะยกเมืองเมาะตมะให้ เมืองเมาะตมะก็ไม่ได้อยู่ในแผ่นดินสยาม เปนเมืองของมอญไทยได้ไว้เปนเมืองขึ้น แต่ในเวลานั้นไทยก็บังคับบัญชาไม่ได้ดังแต่ก่อน ถ้ายอมรับเมืองเมาะตมะตามความประสงค์ของไทย โปตุเกศก็จะต้องรบกับพม่า ถึงแม้จะก่อสร้างป้อมปราการรักษาเมืองเมาะตมะไว้ได้ โปตุเกศเข้าไปตั้งอยู่กลางระหว่างแผ่นดินไทยกับแผ่นดินพม่า ก็คงจะต้องเปนสัตรูกับไทยฤๅพม่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสมอไปไม่มีที่สุด แต่ที่พม่าจะชวนให้เข้าเปนพวกรบพุ่งกับไทยนั้น อุปราชชี้แจงว่าพระเจ้าแผ่นดินสยาม คือสมเด็จพระเอกาทศรถพระองค์นี้อานุภาพมีมาก จะรบพุ่งเอาไชยชนะเห็นจะยากนัก จึงเห็นว่าเปนกลางอยู่อย่างเดิมดีกว่า แต่โปตุเกศมีข้อที่ควรจะประสงค์จากพม่าอยู่อย่าง ๑ ด้วยเรื่องพวกโปตุเกศที่พม่ากวาดเอาไปจากเมืองสิเรียม อุปราชจึงได้ให้ไปว่าแก่พระเจ้าอังวะว่า ถ้าจะยกเมืองยะไข่ให้จริง ขอให้ปล่อยพวกโปตุเกศที่พม่าจับไปไว้ ให้ลงมาอยู่ที่เมืองเมาะตมะก่อน อุปราชจะได้จัดเปนที่ประชุมพลช่วยพม่าต่อไป ฝ่ายพระเจ้าอังวะจะรู้เท่าโปตุเกศฤๅอย่างไร จึงไม่ยอมทำสัญญากับโปตุเกศ แล้วมาตกลงเปนไมตรีกับไทยดังกล่าวมาแล้ว.
-
๑. ในพงษาวดารพม่าว่ายกมาเดือน ๖ เห็นจะผิดด้วยเปนระดูฝน ที่จริงเห็นจะยกมาต่อราวเดือน ๑๑ ฤๅเดือน ๑๒. ↩
-
๒. ในพงษาวดารพม่าว่า พระเจ้าเชียงใหม่อยู่ที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อกองทัพพม่ายกไปถึงเมืองลำพูน ให้มาทูลพระเจ้าอังวะว่าที่เมืองเชียงใหม่นั้นไม่มีผู้ใดจะต่อสู้ พวกที่ต่อสู้นั้นตั้งอยู่ที่เมืองนครลำปาง พระเจ้าอังวะจึงยกลงมาตีเมืองนครลำปาง พระยานครลำปางต่อสู้จนทราบว่าพระเจ้าเชียงใหม่ถึงพิราลัยจึงยอมอ่อนน้อมต่อพม่า ข้าพเจ้าเห็นไม่สมต้นสมปลาย. ↩