สงครามครั้งที่ ๓ คราวรบกันด้วยเรื่องช้างเผือก ปีกุญ พ.ศ. ๒๑๐๖

ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องการสงครามคราวนี้ จะต้องย้อนไปเล่าเรื่องพงษาวดารพม่า ใหผู้อ่านทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางเมืองพม่าในตอนนี้เสียก่อน จำเดิมแต่พระเจ้าหงษาวดีตะเบ็งชเวตี้ไข้ามาตีเมืองไทยไม่สำเร็จในคราวที่กล่าวมาแล้ว ครั้นกองทัพกลับไปถึงเมือง กิติศัพท์ปรากฎว่าพระเจ้าหงษาวดีเข้ามาเสียที่ไทยจนต้องล่าทัพกลับไป พวกมอญก็คลายความกลัวเกรงพม่าหานับถือพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เหมือนแต่ก่อนไม่ ซ้ำพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้นั้นเอง เมื่อกลับไปถึงเมืองหงษาวดีแล้วไม่ช้าเท่าใด ก็ชอบเสวยสุราเมามายเปนนิจ จนสติอารมณ์เลยฟั่นเฟือน ไม่สามารถจะว่าราชการบ้านเมืองได้ บุเรงนองผู้เปนมหาอุปราชต้องสำเร็จราชการแทน พอข่าวเล่าฦๅแพร่หลายว่าพระเจ้าหงษาวดีเสียพระสติ พวกมอญก็พากันกระด้างกระเดื่องขึ้นตามหัวเมือง มีพระราชบุตรของพระยาราญ ซึ่งเปนพระเจ้าหงษาวดีแต่ก่อนองค์ ๑ เรียกว่าสมิงธอราม ออกหน้าตั้งตัวเปนใหญ่ขึ้นที่เมืองเมาะตมะ บุเรงนองต้องยกกองทัพลงไปปราบปราม อยู่ทางนี้พระเจ้าหงษาวดีประพฤติดุร้ายต่าง ๆ ด้วยสัญญาวิปลาส ไม่มีใครว่าได้ ขุนนางเชื้อมอญคน ๑ ชื่อสมิงสอดวุต จึงทูลลวงพระเจ้าหงษาวดีว่ามีช้างเผือกเข้ามาอยู่ในป่าที่ใกล้พระนคร พระเจ้าหงษาวดีสำคัญว่าจริงก็เสด็จออกไปจับช้าง ไปประทับอยู่ที่พลับพลาในป่า พวกขุนนางช่วยกันจับพระเจ้าหงษาวดีตะเบ็งชเวตี้ปลงพระชนม์เสีย พอปรากฎว่าพระเจ้าหงษาวดีสิ้นพระชนม์ หัวเมืองพม่ามอญบรรดาที่เปนเมืองใหญ่ ก็พากันตั้งเปนอิศระขึ้นหมด ฝ่ายบุเรงนองซึ่งยกกองทัพลงไป ยังมิทันจะได้ปราบปรามเมืองเมาะตมะ ทราบว่าหัวเมืองทั้งหลายพากันกำเริบ เห็นเหลือกำลังที่จะปราบปราม ก็พาพวกพ้องไปอาไศรยอยู่ในแขวงเมืองตองอู อันเปนเมืองเดิมของญาติวงษ์

แต่พวกมอญเมื่อชิงบ้านเมืองได้จากจากพม่าแล้ว หาเปนสามัคคีกันไม่ ผู้ที่เปนหัวน่าต่างพวกต่างจะชิงกันเปนพระเจ้าหงษาวดี พวกมอญจึงเกิดรบพุ่งกันขึ้นเอง จนบ้านเมืองเปนจลาจล ครั้งนั้นผู้คนที่นับถือบุเรงนองยังมีมากทั้งในพวกพม่าแลพวกมอญ ด้วยได้เคยเห็นสติปัญญาสามารถแต่ครั้งเปนแม่ทัพของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เมาแต่ก่อน ครั้นบ้านเมืองเกิดเปนจลาจลก็มีผู้ไปเข้าเปนสมัคพรรคพวกของบุเรงนองมากขึ้นทุกที จนบุเรงนองเห็นว่ามีกำลังพอจะทำสงครามได้ ก็ตั้งต้นปราบปรามเจ้าเมืองที่ตั้งตัวเปนอิศระ ดีได้เมืองตองอู เมืองแปร แล้วตีได้เมืองหงษาวดี แลเมืองเมาะตมะเปนลำดับมา ครั้นได้อาณาเขตรรามัญประเทศไว้ในอำนาจหมดแล้ว บุเรงนองจึงทำพิธีราชาภิเศกเปนพระเจ้าหงษาวดี เมื่อปีฉลู จุลศักราช ๙๑๕ พ.ศ. ๒๐๙๖ ตั้งมังไชยสิงห์ราชโอรสองค์ใหญ่เปนพระมหาอุปราชา แลตั้งราชอนุชาเปนเจ้าประเทศราชครองเมืองตองอูองค์ ๑ เมืองแปรองค์ ๑ เมืองเมาะตมะองค์ ๑ เมื่อจัดการปกครองหัวเมืองรามัญเห็นเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองปรารภจะเข้ามาตีกรุงศรีอยุทธยา แต่พวกข้าราชการพากันทูลทัดทานว่ากรุงศรีอยุทธยามีกำลังมาก ที่ตั้งพระนครก็เปนไชยภูมิคับขันมั่นคงมีแม่น้ำล้อมรอบ ครั้งพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้มาตีก็เสียที หากว่าจับราชโอรสแลราชบุตรเขยของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาได้ ไทยจึงยอมหย่าทัพ ขอให้ปราบปรามบ้านเมืองใกล้เคียงให้ราบคาบ ซ่องสุมกำลังให้ได้มากกว่าไทยเสียก่อนจึงค่อยตีเอากรุงศรีอยุทธยา พระเจ้าหงษาวดีเห็นชอบด้วย จึงยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองพม่า ได้เมืองอังวะแล้วให้ราชบุตรเขยเปนพระเจ้าอังวะ แล้วไปตีเมืองไทยใหญ่ (คือเงี้ยว) ต่อขึ้นไป ครั้นได้เมืองไทยใหญ่แล้วจึงเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งนั้นพระเจ้าเมกุติครองเมืองเชียงใหม่เปนอิศระอยู่ เห็นว่าจะสู้ไม่ได้ก็อ่อนน้อมยอมเปนประเทศราช อยู่ในอำนาจพระเจ้าหงษาวดีแต่นั้นมา พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองเที่ยวทำสงครามในตอนนี้กว่า ๑๐ ปี จึงได้อาณาจักรกว้างขวาง ตั้งแต่เมืองเชียงใหม่ เมืองไทยใหญ่ตลอดไปทั้งแดนพม่า รามัญ มีกำลังยิ่งกว่าครั้งพระเจ้าหงษาวดีตะเบ็งชเวตี้ครอบครองอาณาจักรมาแต่ก่อน.

เหตุที่พม่าจะเกิดสงครามขึ้นกับไทยครั้งนี้ เปนด้วยกิติศัพท์ที่สรรเสริญพระเกียรติยศสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ว่ามีบุญญาธิการมาก ได้ช้างเผือกถึง ๗ ช้าง เลื่องฦๅออกไปถึงเมืองหงษาวดี ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีกำลังมีอานุภาพมาก แต่พเอิญไม่มีช้างเผือก ครั้นได้ยินคำสรรเสริญสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เสมอว่ามีบุญญาธิการยิ่งกว่าก็เคืองพระไทย เห็นว่าจะละไว้ให้เปนคู่แข่งไม่ได้ จึงคิดจะเข้ามาตีเมืองไทย แต่ทำนองความจะปรากฎอยู่แก่พระไทยว่า พวกมอญไม่ใคร่เต็มใจจะมาตีเมืองไทย เพราะเคยมาล้มตายได้ความลำบากมากมายเมื่อคราวก่อน พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองมีปรีชาฉลาดในราโชบาย จึงทำเอาดีต่อไทย ให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เปนทำนองเจริญทางพระราชไมตรี ในพระราชสาส์นกล่าวเปนเนื้อความว่า ได้ข่าวเลื่องฦๅไปถึงกรุงหงษาวดีว่า สมเด็จพระเชษฐา (คือพระมหาจักรพรรดิ) มีบุญญาธิการมาก มีช้างเผือกมาสู่พระบารมีถึง ๗ ช้าง กรุงหงษาวดียังหามีช้างเผือกสำหรับพระนครไม่ ขอให้สมเด็จพระเชษฐาเห็นแก่ไมตรี ขอประทานช้างเผือกให้ข้าพเจ้าผู้เปนอนุชาไว้เปนศรีพระนครสัก ๒ ช้าง ทางพระราชไมตรีทั้ง ๒ พระนครจะได้เจริญวัฒนาการสืบไป.

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงทราบพระราชสาส์นของพระเจ้าหงษาวดี ก็เข้าพระไทยความข้อสำคัญของเรื่องพระราชสาส์นที่มีมาในทันที คือถ้าไม่ประทานช้างเผือกให้ตามที่ขอ พระเจ้าหงษาวดีก็คงขัดเคือง ว่าทำให้ได้ความอัปยศอดสู อาจจะยกกองทัพใหญ่เข้ามาตีเมืองไทย แต่ถ้าประทานช้างเผือกให้ตามที่ขอ ก็เหมือนกรุงศรีอยุทธยายอมเปนเมืองน้อยอยู่ในอำนาจพระเจ้าหงษาวดี เพราะช้างเผือกเปนของคู่บุญญาภินิหาร ไม่มีเยี่ยงอย่างประเพณีที่พระราชาธิบดีผู้มีอิศริยยศเสมอกันจะให้แก่กัน มีแต่เจ้าประเทศราชถวายพระเจ้าราชาธิราช ว่าโดยย่อความสำคัญที่เกิดเปนปัญหาขึ้นในครั้งนั้น ไม่ใช่ว่าจะควรประทานช้างเผือก ๒ ช้างแก่พระเจ้าหงษาวดีฤๅไม่ ที่แท้จะต้องเลือกว่าจะรบกับพระเจ้าหงษาวดี ซึ่งมีอานุภาพใหญ่หลวง ฤๅจะยอมให้เมืองไทยอยู่ใต้ฉายาอำนาจของพระเจ้าหงษาวดี การสำคัญเช่นนี้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงมีรับสั่งให้สมเด็จพระราชโอรสทั้ง ๒ พระองค์ แลบรรดาข้าราชการผู้ใหญ่มาประชุมพร้อมกัน ให้ปฤกษาหารือว่าควรจะทำประการใด.

ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า ครั้งนั้นความเห็นในที่ประชุมแตกกันเปน ๒ ฝ่าย ฝ่าย ๑ เห็นว่าควรประทานช้างเผือก ๒ ช้างแก่พระเจ้าหงษาวดีตามประสงค์ อิกฝ่าย ๑ เห็นว่าไม่ควรประทาน พวกที่เห็นควรประทานมีเหตุเปนที่อ้างว่า พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองมีอานุภาพใหญ่หลวงยิ่งกว่าพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ แลซ้ำได้เมืองเชียงใหม่ไว้เปนกำลังด้วย ที่จะต่อสู้เอาไชยชนะเห็นจะเหลือกำลัง เพราะฉนั้นเสียช้างเผือกเสีย ๒ ข้าง อย่าให้เกิดรบพุ่งกับพระเจ้าหงษาวดีเห็นจะดีกว่า ถึงว่าไม่เคยมีเยี่ยงอย่างประเพณีที่พระมหากษัตริย์อันมีอิศระเสมอกัน จะประทานช้างเผือกให้แก่กันก็ดี ที่พระมหากษัตริย์จะมาขอช้างเผือกโดยสุภาพเช่นพระเจ้าหงษาวดีมีราชสาส์นเข้ามาขอก็ไม่เคยมีเหมือนกัน เมื่อเช่นนี้ถึงประทานก็เห็นจะไม่เสียพระเกียรติยศ แลที่สุดช้างเผือกก็มีถึง ๗ ช้าง ประทานไป ๒ ช้างก็ยังเหลืออิกถึง ๕ ช้าง มิใช่จะหมดสิ้นไปเสียทีเดียว อย่าให้เกิดศึกสงครามให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้ความเดือดร้อนจะดีกว่า พวกที่มีความเห็นข้างให้ประทานช้างเผือกด้วยเหตุดังว่ามานี้มีมาก.

ฝ่ายพวกที่เห็นไม่ควรประทาน มีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราเมศวร พระยาจักรี แลพระสุนทรสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรี ทั้ง ๓ นี้เปนสำคัญ มีเหตุเปนที่อ้างว่า ที่พระเจ้าหงษาวดีขอช้างเผือก ที่จริงเปนแต่อุบายจะหาเหตุมาตีเมืองไทย ฤๅจะให้ไทยยอมอยู่ในอำนาจเมืองหงษาวดีโดยไม่ต้องมารบพุ่ง มิใช่ให้ช้างไปแล้วจะเปนแล้วกันไป การที่ยอมให้ช้างเผือกกลับจะเปนเหตุให้พระเจ้าหงษาวดีเห็นว่ากลัวอำนาจ ถึงแม้คนทั้งหลายทั้งในประเทศนี้แลประเทศอื่น ๆ ก็จะเข้าใจว่ากลัวอำนาจพระเจ้าหงษาวดีเหมือนกัน พระเจ้าหงษาวดีเห็นว่ากลัวแล้วที่ไหนจะนิ่งอยู่ คงจะหาเหตุอื่นเอิบเอื้อมเข้ามาเอาเมืองไทยเปนเมืองขึ้นต่อไปในวันน่า การที่จะยอมสละช้างเผือกให้ไม่เปนทางที่จะป้องกันไภยอันตรายได้อย่างใด อย่างดีก็เปนแต่เสมอจะผัดพอให้ช้าวันไป ในที่สุดถ้าไทยไม่ยอมเปนเมืองขึ้นพระเจ้าหงษาวดี ก็คงอยู่ในต้องรบกันนั่นเอง เพราะฉนั้นถ้าจะไม่ยอมเปนเมืองขึ้นพระเจ้าหงษาวดีแล้ว ตั้งหน้าสู้สงครามเสียทีเดียว อย่าให้ไพร่พลพากันเห็นว่ากลัวพระเจ้าหงษาวดีจะดีกว่า ข้อที่พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองมีอานุภาพยิ่งกว่าพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้นั้น ไทยก็ได้ตระเตรียมการป้องกันพระนครมีกำลังแขงแรงขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก เมื่อเคยต่อสู้ชนะกองทัพหงษาวดีมาครั้ง ๑แล้ว ทำไมจะต่อสู้รักษาพระนครเอาไชยชนะอิกสักครั้ง ๑ ไม่ได้

ผู้ที่มีความเห็นฝ่ายข้างไม่ยอมให้ช้างเผือกมีน้อยกว่าพวกก่อน แต่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงพระราชดำริห์เห็นชอบด้วย เพราะเห็นความจริงว่ามีที่เลือกแต่เพียงจะยอมเปนเมืองขึ้นพระเจ้าหงษาวดี ฤๅจะรบกับพระเจ้าหงษาวดี จึงให้มีพระราชสาส์นตอบพระเจ้าหงษาวดี ว่าช้างเผือกย่อมเกิดสำหรับบุญบารมีของพระเจ้าแผ่นดินผู้เปนเจ้าของ เมื่อพระเจ้าหงษาวดีได้ทรงบำเพ็ญราชธรรมให้ไพบูลย์ ก็คงจะได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมีเปนมั่นคง อย่าให้ทรงพระวิตกเลย พระเจ้าหงษาวดีได้ทราบพระราชสาส์นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ก็ได้ทีสมคิด จึงประกาศว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิตัดทางไมตรี แล้วให้ตระเตรียมกองทัพมาตีเมืองไทย

พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองมาตีเมืองไทยคราวนี้ ไทยเสียเปรียบ ผิดกับคราวพระเจ้าตะเบงชเวตี๋ยกมาคราวก่อนเปนหลายประการ ตั้งต้นแต่ที่พระเจ้าบุเรงนองมีกำลังรี้พลมากกว่าพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ แลได้เมืองเชียงใหม่ไว้ในอำนาจ อาจจะอาไศรยเรือแพพาหนะเสบียงอาหารทางเมืองเชียงใหม่ ไม่ต้องขนเสบียงข้ามภูเขามาเหมือนแต่ก่อน อิกประการ ๑ พระเจ้าหงษาวดีชำนิชำนาญการสงคราม ทำศึกชนะมาทุกทิศ รี้พลกำลังร่าเริงแลมั่นใจในอานุภาพของพระเจ้าหงษาวดี แต่ข้อเหล่านี้ไม่สำคัญเท่าที่พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองเคยเปนแม่ทัพของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เข้ามาตีเมืองไทยครั้งก่อน รู้ภูมิลำเนาบ้านเมืองทั้งกำลังวังชาแลวิธียุทธของไทยอยู่แล้ว กองทัพที่ยกเข้ามาตีเมืองไทยคราวนี้ จึงจัดการแก้ไขความขัดข้องข้อสำคัญซึ่งเคยมีแต่ก่อนให้ลุล่วงมาแต่ต้นมือ มีปรากฎอยู่ในหนังสือพระราชพงษาวดารเปนหลายประการ เปนต้นว่า ครั้งก่อนพม่าเคยยกกองทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ตรงมาตีกรุงศรีอยุทธยา ถูกไทยเอากำลังกองทัพหัวเมืองเหนือลงมาตีกระหนาบ ครั้งนี้พระเจ้าหงษาวดีหมายจะยกกองทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมา จะเอากำลังมากเข้าทุ่มเทตีหัวเมืองเหนือ ตัดกำลังที่จะช่วยเสียก่อน แล้วจึงจะยกลงมาตีกรุงศรีอยุทธยา อิกประการ ๑ ครั้งก่อนพม่าเข้ามาตั้งล้อมกรุงฯ ไม่สามารถจะเข้าตั้งประชิดได้ ด้วยกำลังปืนใหญ่ไม่ถึงกำลังปืนใหญ่ของไทย ครั้งนี้พระเจ้าหงษาวดีให้เตรียมปืนใหญ่ที่มีกำลังเอามาด้วยมาก แล้วจ้างฝรั่งโปตุเกศซึ่งเปนพวกชำนาญการปืนใหญ่เข้ามาด้วยกว่า ๔๐๐ คน ให้พอต่อสู้กองทัพเรือของไทยที่รักษาพระนคร อิกประการ ๑ เสบียงอาหารสำหรับกองทัพที่เคยอัตคัดในคราวก่อน คราวนี้ได้เมืองเชียงใหม่ไว้ในอำนาจ ให้เมืองเชียงใหม่ส่งเสบียงอาหารลงมาทางแม่น้ำให้พอใช้ในกองทัพ.

ครั้นกะการเสร็จแล้วพระเจ้าหงษาวดีก็ยกออกจากพระนครเมื่อณวันจันทร์ เดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ ปีกุญ จุลศักราช ๙๒๕ พ.ศ. ๒๑๐๖ ลงมาประชุมพลที่เมืองเมาะตมะ จัดกระบวนทัพเปนทัพกษัตริย์ ๕ ทัพ คือทัพพระมหาอุปราชาราชโอรสทัพ ๑ ทัพพระเจ้าอังวะราชบุตรเขยทัพ ๑ ทัพพระเจ้าแปรราชอนุชาทัพ ๑ ทัพพระเจ้าตองอูราชอนุชาทัพ ๑ ทัพหลวงของพระเจ้าหงษาวดีทัพ ๑ กองทัพพระยาพสิมน้องยาเธออิกทัพ ๑ เห็นจะเปนแต่กองน่าของพระเจ้าหงษาวดี แลเกณฑ์พวกเจ้าฟ้าไทยใหญ่ให้เปนกองพาหนะสมทบทุกทัพ ให้พระเจ้าเชียงใหม่คุมกองเรือลำเลียงเสบียงอาหารลงมาบรรจบทัพหลวงที่เมืองตาก ในหนังสือพงษาวดารพม่าว่าจำนวนพลพระเจ้าหงษาวดียกมาตีเมืองไทยครั้งนั้น รวมเบ็ดเสร็จ ๕๐๐,๐๐๐ (จะประมาณมากเกินไปสักน่อย)

ฝ่ายกรุงศรีอยุทธยาตั้งแต่ตอบพระราชสาส์นไปแล้ว ก็เชื่อแน่ว่าคงมีศึกหงษาวดียกมา พอถึงฤดูแล้งจึงให้รวบรวมคน แลเก็บกวาดเสบียงอาหารเข้าไว้ในพระนคร จัดเตรียมป้อมปราการวางปืนใหญ่น้อยรักษาน่าเชิงเทินให้มั่นคง แล้วให้พระยาจักรีคุมพล ๑๕,๐๐๐ ไปตั้งที่ป้อมลุมพลีรักษาชานพระนครข้างด้านเหนือแห่ง ๑ ให้เจ้าพระยามหาเสนาคุมพล ๑๐,๐๐๐ ไปตั้งที่ป้อมบ้านดอกไม้หันตรารักษาทางด้านตวันออกแห่ง ๑ ให้พระยาพระคลังคุมพล ๑๐,๐๐๐ ไปตั้งที่ป้อมท้ายคูรักษาข้างด้านใต้แห่ง ๑ ให้พระสุนทรสงครามคุมพล ๑๐,๐๐๐ ไปตั้งที่ป้อมจำปา รักษาด้านตวันตกแห่ง ๑ แล้วให้ตระเตรียมเรือรบ เรือสำหรับลาดตระเวนไว้เปนอันมาก แต่ครั้งนั้นสำคัญว่าพระเจ้าหงษาวดีจะยกทัพหลวงมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ตรงมาตีพระนครเหมือนคราวก่อน หาได้เตรียมถึงการที่จะรักษาหัวเมืองเหนือไม่ ครั้นพระเจ้าหงษาวดียกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา พวกเจ้าเมืองเหนือทราบความก็ตกใจ ต่างเมืองต่างรีบรวบรวมรี้พลเข้ารักษาเมือง ไม่ทันวางวิธีการช่วยเหลือแก้ไขกันอย่างไร เพราะฉนั้นกองทัพพระเจ้าหงษาวดียกมาเปนทัพใหญ่ พอถึงเมืองกำแพงเพ็ชรก็ตีได้เมือง แลจับตัวพระยากำแพงเพ็ชรได้โดยง่าย ครั้นได้เมืองกำแพงเพ็ชรแล้ว พระเจ้าหงษาวดีจึงแต่งกองทัพให้แยกกันไปเปน ๒ ทาง ให้พระเจ้าอังวะ พระเจ้าตองอู ยกไปตีเมืองพิศณุโลกทาง ๑ ให้พระมหาอุปราชากับพระเจ้าแปร ยกไปตีเมืองศุโขไทย เมืองสวรรคโลกเมืองพิไชยทาง ๑ แล้วให้ลงมาบรรจบกับกองทัพที่ตีเมืองพิศณุโลก ส่วนพระเจ้าหงษาวดีตั้งกองทัพหลวงอยู่ที่เมืองกำแพงเพ็ชร.

กองทัพพระมหาอุปราชากับพระเจ้าแปรยกไปถึงเมืองศุโขไทย พระยาศุโขไทยต่อสู้ ได้รบพุ่งกันเปนสามารถ กำลังไทยน้อยกว่าพม่ามากนัก ก็เสียเมืองศุโขไทย ตัวพระยาศุโขไทยพม่าก็จับได้ ฝ่ายพระยาสวรรคโลก พระยาพิไชย เมื่อรู้ว่าเสียเมืองศุโขไทยแล้วก็ไม่ต่อสู้ พากันไปยอมอ่อนน้อมต่อพระมหาอุปราชาทั้ง ๒ เมือง กองทัพพม่าจึงยกไปรวมกันล้อมเมืองพิศณุโลกไว้ ฝ่ายพระมหาธรรมราชาต่อสู้ป้องกันเมืองเปนสามารถ ถูกพม่าล้อมไว้จนสิ้นเสบียงอาหาร แล้วเกิดไข้ทรพิศม์ขึ้นที่ในเมือง พระมหาธรรมราชาก็ต้องยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าหงษาวดี เมื่อณวันอาทิตย์ เดือนยี่ แรม ๕ ค่ำ ปีกุญ พ.ศ. ๒๑๐๖.

พระเจ้าหงษาวดีได้หัวเมืองเหนือแล้ว จึงให้พระมหาธรรมราชาแลเจ้าเมืองกรมการที่ยอมอ่อนน้อมถือน้ำกระทำสัตย์ แล้วให้บังคับบัญชาการบ้านเมืองอยู่ตามเดิม ด้วยประสงค์จะเอาไว้เปนกำลังต่อไปข้างน่า แล้วให้จัดกระบวนทัพที่จะยกลงมาตีกรุงศรีอยุทธยา ให้รวบรวมเรือในหัวเมืองฝ่ายเหนือ จัดเปนกองทัพเรือ ให้พระเจ้าแปรเปนนายทัพยกลงมาจากเมืองพิศณุโลกทางแม่น้ำแควใหญ่ทัพ ๑ ส่วนทัพบกนั้นให้พระมหาอุปราชาเปนปีกขวา พระเจ้าอังวะเปนปีกซ้าย พระเจ้าตองอูเปนกองกลางยกลงมาก่อน แล้วพระเจ้าหงษาวดียกทัพหลวงตามลงมา ให้พระมหาธรรมราชา พระยาสวรรคโลก พระยาพิไชย ตามเสด็จมาในกองทัพหลวงด้วย แลครั้งนั้นพระเจ้าเชียงใหม่เมกุติบิดพลิ้วบอกป่วยเสีย ให้แต่พระยาแสนหลวง พระยาสามล้าน คุมเสบียงแลพาหนะลงมาตามเกณฑ์ พระเจ้าหงษาวดีขัดเคืองพระเจ้าเชียงใหม่ แต่ยังหาว่าประการใดไม่ ให้กองทัพเมืองเชียงใหม่คุมลำเลียงเสบียงอาหารตามกองทัพหลวงลงมา.

ฝ่ายกรุงศรีอยุทธยา เมื่อทราบว่าพระเจ้าหงษาวดียกกองทัพหลวงเข้ามาตีหัวเมืองเหนือ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงรับสั่งให้จัดกองทัพ ให้พระยาพิไชยรณฤทธิ พระยาวิชิตณรงค์ คุมทัพน่า พระราเมศวรราชโอรสเปนแม่ทัพหลวง ยกขึ้นไปช่วยเมืองพิศณุโลก กองทัพพระยาพิไชยรณฤทธิ พระยาวิชิตณรงค์ ยกขึ้นไปถึงแขวงเมืองนครสวรรค์ ทราบว่าเสียเมืองพิศณุโลกแก่ข้าศึกแล้วก็ถอยลงมา พระราเมศวรจึงตั้งรับข้าศึกอยู่ณที่มั่นแห่ง ๑ เข้าใจว่าในแขวงเมืองไชยนาท กองทัพพม่ายกลงมาถึงตรงนั้น ได้รบพุ่งกับกองทัพไทยเปนสามารถ กองทัพไทยเอาปืนใหญ่ลงเรือเที่ยวไล่ยิงถูกพม่าล้มตายมาก จนกองทัพต้องหยุดชงักอยู่ พระเจ้าหงษาวดีให้ข้าหลวงขึ้นไปเร่งกองทัพเรือของพระเจ้าแปรให้รีบยกลงมา ครั้นกองทัพพระเจ้าแปรลงมาถึง พม่าจึงเข้าระดมตีกองทัพพระราเมศวรทั้งทางบกทางเรือพร้อมกัน กองทัพไทยกำลังน้อยกว่าต้านทานไม่ไหวก็ถอยลงมายังกรุงศรีอยุทธยา.

เมื่อกองทัพพระเจ้าหงษาวดียกลงมาจวนจะถึงกรุงฯ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิให้กองทัพบกทัพเรือยกออกระดมตีกองทัพพระเจ้าหงษาวดีที่ใกล้ทุ่งลุมพลี ได้รบกันเปนสามารถอิกครั้ง ๑ กองทัพไทยสู้ไม่ได้ก็ต้องถอยกลับเข้าพระนคร เสียเรือรบแก่พม่าข้าศึกเปนอันมาก พระเจ้าหงษาวดีก็เลยตีได้ป้อมพระยาจักรีที่ทุ่งลุมพลี แลป้อมจำปาที่พระสุนทรบุรีรักษา แล้วให้มาตีป้อมเจ้าพระยามหาเสนาที่ทุ่งหันตราได้อิกแห่ง  ๑ ครั้นได้ป้อมค่ายที่กีดกั้นชั้นนอกแล้ว พระเจ้าหงษาวดีจึงให้กองทัพเข้ามาตั้งล้อมพระนครไว้ ๓ ด้าน ด้านตวันออกให้กองทัพพระเจ้าแปรตั้งที่ทุ่งวัดโพธาราม ลงไปจนคลองเกาะแก้ว ด้านเหนือให้กองทัพพระมหาอุปราชาตั้งที่ทุ่งเพนียด กองทัพหลวงของพระเจ้าหงษาวดีตั้งที่ทุ่งวัดโพธิ์เผือกใกล้ขนอนปากคู กองทัพพระยาพสิมตั้งที่ทุ่งลุมพลี ด้านตวันตกให้กองทัพพระเจ้าตองอูตั้งที่ทุ่งประเชด กองทัพพระเจ้าอังวะตั้งต่อลงมาข้างด้านใต้ทางวัดพุทไธสวรรย์.

เมื่อพม่าเข้ามาตั้งล้อมกรุง ฯ อยู่ครั้งนั้น กองทัพไทยหาได้ยกออกไปรบพุ่งอิกไม่ คงเปนด้วยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงพระราชดำริห์ว่า ข้าศึกมีกำลังมากนัก จะเอาไชยชนะในกระบวนรบพุ่งไม่ได้ จึงเปนแต่ให้เรือรบเอาปืนใหญ่คอยเที่ยวยิงมิให้ข้าศึกรุกเข้ามาใกล้พระนคร ประสงค์จะถ่วงเวลาให้ข้าศึกต้องเลิกกลับไปเองด้วยขัดสนเสบียงอาหาร ฤๅมิฉนั้นก็คงต้องล่าไปในเวลาจวนน้ำเหนือหลากลงมา แต่พระเจ้าหงษาวดีได้ตระเตรียมการเข้ามาโดยรู้ภูมิลำเนากรุงศรีอยุทธยา มีกองทัพเรือแลปืนขนาดใหญ่มาด้วยมาก พอตั้งล้อมกรุง ฯ แล้วก็พยายามทำลายเรือรบของไทยได้หมด จนเห็นว่าไทยไม่อาจจะเอาปืนใหญ่ลงเรือไปเที่ยวไล่ยิงได้ดังแต่ก่อนแล้ว ก็ให้เอาปืนใหญ่เข้ามาตั้งจังกายิงเข้าในพระนคร ถูกวัดวาบ้านเรือนราษฎรหักพังลงทุก ๆ วัน จนเห็นว่าชาวพระนครพากันครั่นคร้ามอยู่แล้ว พระเจ้าหงษาวดีจึงมีพระราชสาส์นเข้ามายังสมเด็จพระมหาจักรพรรดิว่าจะรบฤๅจะยอมเปนไมตรีก็ให้เลือกเอาอย่าง ๑ ในพงษาวดารพม่าว่า พวกชาวพระนครทนปืนพม่าไม่ได้ พากันกราบทูลร้องทุกข์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงยอมเปนไมตรีกับพระเจ้าหงษาวดี.

ตรงนี้น่าจะวินิจฉัยสักหน่อย ว่าเหตุใดสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงยอมแพ้ข้าศึกโดยง่าย เพราะเมื่ออ่านไปถึงเรื่องพระเจ้าหงษาวดีตีกรุงศรีอยุทธยาคราวน่า จะแลเห็นได้ว่าถ้าไทยต่อสู้จริง ๆ พระเจ้าหงษาวดีก็ตีไม่ได้ จนต้องแต่งไส้ศึกเข้ามาลวงให้เสียการ จึงได้พระนคร ความข้อนี้ทำให้เห็นว่าเพียงพม่ายิงปืนใหญ่เข้ามาได้ถึงในเมือง เห็นจะไม่พอเปนเหตุให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะยอมแพ้ คงจะมีเหตุอื่นอิกเปนแน่ เมื่อพิจารณาไปเห็นว่าเหตุที่แท้นั้น น่าจะเปนด้วยข้างฝ่ายไทยที่รักษาพระนครไม่เปนน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ด้วยการสงครามครั้งนั้นพวกข้าราชการเห็นว่าไม่ควรจะรบมาแต่แรก มีมากด้วยกันดังกล่าวมาแล้ว ครั้นเกิดศึกจนเสียเมืองเหนือ แลกองทัพกรุงฯ ไปแตกพ่ายถอยกลับมา ข้าศึกเข้ามาล้อมถึงพระนคร พวกที่เห็นไม่ควรรบคงพากันโทษพระราเมศวร พระยาจักรี พระสุนทรสงคราม ว่าทนงองอาจไปเปล่า ๆ ถ้ายอมเสียช้างเผือกเสีย ๒ ช้างแต่แรกแล้ว บ้านเมืองก็จะหาเกิดขุ่นเข็ญอย่างนี้ไม่ ข้างในพระนครคงจะมีเสียงอย่างนี้อยู่โดยมาก ฝ่ายข้างพระเจ้าหงษาวดีก็ทำนองจะคิดเห็นอยู่ ว่าจะตีหักเอากรุงศรีอยุทธยาให้ได้ในคราวนั้นเห็นจะยาก ด้วยไปเสียเวลาตีหัวเมืองเหนือเสียก่อน ยังมีเวลาที่จะตีกรุง ฯ ก่อนน้ำหลากไม่มากนัก เห็นว่าจะต้องคิดผ่อนผันในทางอุบายให้เปนการยืดยาว จึงมีพระราชสาส์นถึงสมเด็จพระมหาจักรพรรดิว่า ถ้ายอมเปนไมตรีเสียโดยดี พอได้แก้ความอัปยศอดสูแล้วก็จะเลิกทัพกลับไป แลสัญญาว่าจะไม่เอากรุงศรีอยุทธยาเปนเมืองเชลย พระเจ้าหงษาวดีมีพระราชสาส์นเข้ามาดังว่านี้ ก็ต้องใจพวกข้าราชการที่ไม่อยากรบอยู่แต่เดิม จึงพากันกราบทูลร้องทุกข์ทำนองที่กล่าวในพงษาวดารพม่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิไม่สามารถจะขัดขืนคนมากได้ ก็ต้องยอมเปนไมตรีกับพระเจ้าหงษาวดี กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า มีรับสั่งให้ปลูกพลับพลาที่วัดหัศดาวาส คือวัดช้าง อยู่ใกล้วัดน่าพระเมรุ ให้เชิญพระพุทธรูปแลพระธรรมพระสงฆ์ไปประดิษฐานเปนประธานแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าหงษาวดีก็เสด็จไปพบกันที่พลับพลานั้น พระเจ้าหงษาวดีทูลขอช้างเผือกเปน ๔ เชือก กับขอพระราเมศวร พระยาจักรี พระสุนทรสงคราม ซึ่งเปนหัวน่าที่คิดให้เกิดศึกเอาตัวไปเมืองหงษาวดี แลในพงษาวดารพม่าว่า พระเจ้าหงษาวดีให้ไทยรับส่งส่วยช้างปีละ ๓๐ ช้าง เงินปีละ ๓๐๐ ชั่ง กับทั้งยอมให้ผลประโยชน์ภาษีอากรที่เก็บได้ในเมืองมฤท เปนของพม่าด้วย เพราะในสมัยนั้นเมืองมฤทเปนเมืองท่าค้าขายกัขต่างประเทศ มีกำปั่นไปมาเสมอ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิยอมตามประสงค์แล้ว พระเจ้าหงษาวดีก็เลิกทัพกลับไป.

มีเนื้อความกล่าวในหนังสือพงษาวดารพม่าว่า ครั้งนั้นพระเจ้าหงษาวดีเอาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปเมืองหงษาวดีด้วย ส่วนกรุงศรีอยุทธยาให้สมเด็จพระมหินทราธิราชครองเปนประเทศราช ขึ้นต่อเมืองหงษาวดีต่อมา แลยังปรากฎในพงษาวดารพม่าต่อมาอิกแห่ง ๑ ว่า เมื่อพระเจ้าหงษาวดีเฉลิมพระราชมณเฑียร ได้ให้ปลูกตำหนักประทานพระเจ้ากรุงสยามด้วย ดังนี้ ความที่กล่าวในพงษาวดารพม่าตรงนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าจะไม่เปนความจริง ด้วยครั้งนั้นเปนแต่การยอมกันโดยปรานีประนอม ถ้าถึงจะเอาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไป ไทยเห็นจะไม่ยอมเปนไมตรี ความจริงคงจะเปนอย่างว่าในหนังสือพระราชพงษาวดาร เช่นข้าพเจ้ากล่าวมา

  1. ๑. ความในพระราชสาส์นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดาร เปนทีท้าว่า รู้อยู่แล้วว่าเมืองใดมีช้างเผือกแลนางงาม ก็มักจะเปนเหตุให้เกิดสงคราม แต่ที่ข้าพเจ้ากล่าวในนี้ เอาตามความในหนังสือพงษาวดารพม่า เห็นว่าจะใกล้ข้างถูกต้อง.

  2. ๒. ป้อมทั้ง ๔ นี้จะสร้างพร้อมกับก่อกำแพงพระนครฤๅสร้างทีหลังมา แลต่อมาจะรื้อเสียเมื่อใดไม่ทราบชัด ตรงตั้งป้อมจำปายังเรียกว่าบ้านป้อมจนตราบเท่าทุกวันนี้

  3. ๓. เรื่องพระเจ้าหงษาวดีตีหัวเมืองเหนือคราวนี้ ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พระมหาธรรมราชาแลผู้รักษาเมืองเหนือทุกเมือง เห็นว่าศึกใหญ่เหลือกำลังก็ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าหงษาวดี มิได้มีเมืองใดต่อสู้ เรื่องที่ไทยต่อสู้ดังกล่าวมานี้ ไปได้ความในพงษาวดารพม่า ยุติกันกับพระราชพงษาวดารฉบับหลวงประเสริฐ.

  4. ๔. ในหนังสือพระราชพงษาวดารมีแต่เรื่องพระยาพิไชยรณฤทธิ พระยาวิชิตณรงค์ยกไปไม่ทัน ความนอกนั้นได้ความจากพงษาวดารพม่า แต่พม่าว่าพระมหินทรเปนแม่ทัพ ที่จริงคงเปนพระราเมศวรเปนแน่.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ