- อธิบายเหตุการณ์ที่ไทยรบกับพม่า
- ครั้งที่ ๑ คราวพม่าตีเมืองเชียงกราน ปีจอ พ.ศ. ๒๐๘๑
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวสมเด็จพระสุริโยไทยขาดฅอช้าง ปีวอก พ.ศ. ๒๐๙๑
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวรบกันด้วยเรื่องช้างเผือก ปีกุญ พ.ศ. ๒๑๐๖
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวเสียกรุง ฯ แก่พระเจ้าหงษาวดี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๑๑
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิศระ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗
- สงครามครั้งที่ ๖ ครั้งรบพระยาพสิมที่เมืองสุพรรณ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวรบพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกษ ปีระกา พ.ศ. ๒๑๒๘
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวพระเจ้าหงษาวดีล้อมกรุง ฯ ปีจอ พ.ศ. ๒๑๒๙
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวพระมหาอุปราชายกมาครั้งแรก ปีขาล พ.ศ. ๒๑๓๓
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวสมเด็จพระนเรศวรชนช้าง ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕
- สงครามครั้งที่ ๑๑ คราวไทยตีเมืองทวายเมืองตะนาวศรี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๓๕
- สงครามครั้งที่ ๑๒ คราวสมเด็จพระนเรศวรได้หัวเมืองมอญ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๑๓๗
- สงครามครั้งที่ ๑๓ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดีครั้งแรก ปีมะแม พ.ศ. ๒๑๓๘
- สงครามครั้งที่ ๑๔ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดี ครั้งที่ ๒ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๔๒
- สงครามครั้งที่ ๑๕ สงครามครั้งที่สุดของสมเด็จพระนเรศวร ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๔๗
- สงครามครั้งที่ ๑๖ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีฉลู พ.ศ. ๒๑๕๖
- สงครามครั้งที่ ๑๗ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๑๕๗
- สงครามครั้งที่ ๑๘ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีจอ พ.ศ. ๒๑๖๕
- สงครามครั้งที่ ๑๙ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๒๐๕
- สงครามครั้งที่ ๒๐ คราวรบพม่าที่เมืองไทรโยค ปีเถาะ พ.ศ. ๒๒๐๖
- สงครามครั้งที่ ๒๑ คราวไทยตีเมืองพม่า ปีมโรง พ.ศ. ๒๒๐๗
- สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๑
- สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๒
- สงครามครั้งที่ ๒๓ คราวพม่าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๐๗
- สงครามครั้งที่ ๒๔ คราวเสียกรุง ฯ ครั้งหลัง ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
สงครามครั้งที่ ๖ ครั้งรบพระยาพสิมที่เมืองสุพรรณ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗
สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิศรภาพของเมืองไทย เมื่อเดือน ๖ ปีวอก จุลศักราช ๙๔๖ พ.ศ. ๒๑๒๗ ดังได้บรรยายมาแล้ว ในปีนั้นเองต่อมาอิก ๗ เดือนกองทัพหงษาวดีก็ยกเข้ามาตีเมืองไทย เรื่องราวการสงครามคราวนี้มีปรากฎว่า เมื่อพระเจ้าหงษาวดีนันทบุเรงยกกองทัพกลับจากเมืองอังวะมาถึงกรุงหงษาวดี ได้ทรงทราบว่าสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพออกไปกวาดต้อนเอาครัวไทยกลับมา แล้วมารบพุ่งขับไล่นันทสูราชสังครำออกไปจากเมืองไทย เห็นว่าไทยตั้งแขงเมืองเปนแน่แล้ว ก็ให้เกณฑ์กองทัพจะให้มาตีกรุงศรีอยุทธยา
เวลานั้นพระเจ้าหงษาวดีทรงพระดำริห์ว่า ไทยเสียบ้านเมืองมาไม่ช้านัก ผู้คนพลเมืองที่จะเปนกำลังต่อสู้มีน้อยกว่าแต่ก่อน ไม่จำจะต้องยกกองทัพใหญ่เข้ามามากมายหลายทัพเหมือนอย่างครั้งพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนอง ก็คงพอจะตีกรุงศรีอยุทธยาได้ จึงคิดจัดกระบวนทัพให้ยกเข้ามาเปน ๒ ทางพร้อมกัน ประสงค์จะให้ไทยละล้าละลังในการที่จะต่อสู้ในครั้งนั้น ให้พระยาพสิมผู้เปนพระเจ้าอาว์ของพระเจ้าหงษาวดีคุมกองทัพ มีจำนวนพล ๓๐,๐๐๐ ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ทาง ๑ ให้พระเจ้าเชียงใหม่มังนรธาช่อราชอนุชายกกองทัพบกทัพเรือเมืองเชียงใหม่จำนวนพล ๑๐๐,๐๐๐ ลงมาทางข้างเหนืออิกทาง ๑ ให้มาสมทบกันตีกรุงศรีอยุทธยาให้จงได้.
ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยา ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรทรงเตรียมการคอยท่าศึกอยู่แล้ว ให้กองสอดแนมออกไปคอยสืบสวนอยู่ทุกทางที่ข้าศึกจะยกมา ครั้นทรงทราบว่าข้าศึกจะยกมาเปน ๒ ทาง จึงให้ตระเตรียมการต่อสู้ ให้จัดพลอาสาหัวเมืองฝ่ายเหนือเปนทัพบกทัพ ๑ มีจำนวนพล ๑๐,๐๐๐ ให้เจ้าพระยาศุโขไทยเปนนายทัพ แล้วจัดพลอาสาในกรุง ฯ เปนกองทัพเรืออิกทัพ ๑ ให้พระยาจักรีเปนนายทัพ พระยาพระคลังเปนยกรบัตร ทั้ง ๒ ทัพนี้เตรียมไว้สำหรับจะให้ไปรบพุ่งข้าศึกถึงที่อื่นได้โดยเร็ว แลสั่งให้ขนย้ายทำลายเสบียงอาหารในหนทางที่ข้าศึกจะยกมาเสียทั้ง ๒ ทาง แล้วให้ต้อนคนเข้าพระนคร เตรียมรักษาป้อมปราการเปนสามารถ.
กองทัพหงษาวดียกเข้ามาครั้งนี้ จะเปนด้วยคิดประมาทไทยฤๅเปนด้วยพระยาพสิมกับพระเจ้าเชียงใหม่ฝ่ายใดทำผิดนัดหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงยกเข้ามาหาพร้อมกันไม่ ในเดือนอ้ายกองทัพพระยาพสิมยกเข้ามาในแดนไทยทางเมืองกาญจนบุรีแต่ทัพเดียว สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทราบก็เห็นได้ที แต่เวลานั้นน้ำลดยังไม่ถึงที่ น้ำในแม่น้ำลำคลองมีมาก แต่ทางบกแผ่นดินยังเปียก จะเดินกองทัพยังไม่สดวก จึงมีรับสั่งให้พระยาจักรียกกองทัพเรือออกไปรักษาเมืองสุพรรณบุรีต้านทานข้าศึกไว้พลาง กองทัพพระยาพสิมยกเข้ามาหมายจะเอาเมืองสุพรรณบุรีเปนที่มั่น ถูกกองทัพเรือพระยาจักรีเอาปืนใหญ่ยิง ทนอยู่ไม่ไหวก็ถอยกลับไปตั้งอยู่บนดอนที่เขาพระยาแมน คอยฟังข่าวกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่อยู่ที่นั้น ครั้นถึงเดือนยี่ ขึ้น ๒ ค่ำ สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถก็เสด็จโดยกระบวนเรือจากกรุงศรีอยุทธยา ไปทำพิธีเหยียบชิงไชยภูมิฟันไม้ข่มนามที่ตำบลลุมพลี แล้วเสด็จไปประทับที่ (ป่าโมก) แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ
กองทัพพระยาพสิมหนีไปได้สัก ๑๕ วัน กองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ก็ยกลงมาถึงเมืองไชยนาทในแรมเดือนยี่นั้น ด้วยหัวเมืองเหนือร้างอยู่ทุกเมืองดังกล่าวมาแล้ว ไม่มีผู้ใดต่อสู้ กองทัพเมืองเชียงใหม่ก็ยกลงมาโดยสดวกทั้งทัพบกทัพเรือ พระเจ้าเชียงใหม่ตั้งอยู่ที่เมืองไชยนาท ไม่ทราบว่ากองทัพพระยาพสิมถอยหนีไปเสียแล้ว จึงให้ไชยะกยอสูแลนันทกยอทางยกกองทัพน่าจำนวนพล ๑๕,๐๐๐ ลงมาตั้งที่ปากน้ำบางพุทราแขวงเมืองพรม ให้มาสืบสวนคิดอ่านนัดกำหนดกับพระยาพสิมที่จะยกเข้าตีกรุง ฯ ให้พร้อมกัน.
สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่ากองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ยกลงมา ก็เสด็จยกกองทัพหลวงไปกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ตั้งทัพหลวงที่บ้านชะไวแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ แล้วให้พระราชมนูเปนนายทัพ ขุนราชเดชะ เปนยุกรบัตร คุมกองทัพน่ามีจำนวนทหารม้า ๒๐๐ พลราบ ๓,๐๐๐ ยกขึ้นไปตีกองทัพน่าของข้าศึกที่ปากน้ำบางพุทรา พระราชมนูกับขุนรามเดชะยกขึ้นไปถึง เห็นว่าจำนวนพลในกองทัพของตนน้อยกว่าข้าศึกมากนัก จึงคิดเปนกลอุบายซุ่มกองทัพไว้ในป่า แล้วแต่งกองโจรเที่ยวคอยฆ่าฟันข้าศึกที่เที่ยวลาดหาเสบียงอาหาร แลคอยแย่งช้างม้าพาหนะมิให้เอาไปเลี้ยงห่างค่ายใหญ่ได้ ถ้าข้าศึกมาตามจับเห็นมากก็หลบเลี่ยงไปเสียด้วยชำนาญท้องที่กว่าข้าศึก ครั้นเห็นข้าศึกเผลอก็ยกเข้าปล้นทัพมิให้ข้าศึกอยู่เปนปรกติได้ นายทัพน่าข้าศึกตั้งอยู่ไม่ได้ก็ต้องถอยทัพกลับไปเมืองไชยนาท พอพระเจ้าเชียงใหม่ได้ข่าวว่ากองทัพพระยาพสิมซึ่งยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เสียทีไทยถอยหนีกลับไปแล้ว พระเจ้าเชียงใหม่เห็นจะทำการต่อไปไม่สำเร็จก็เลิกทัพกลับไป.
-
๑. เมืองวิเศษไชยชาญ คือเมืองอ่างทองเก่า ตั้งอยู่ลำแม่น้ำน้อย เข้าใจว่าเวลานั้นยังเปนแขวงกรุงฯ พึ่งตั้งเปนเมืองเมื่อสมเด็จพระนเรศวรชนะศึกหงษาวดี จึงเรียกว่าเมืองวิเศษไชยชาญ เพราะเปนที่ประชุมทัพแต่คราวนี้เปนต้นไป. ↩