สงครามครั้งที่ ๑๒ คราวสมเด็จพระนเรศวรได้หัวเมืองมอญ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๑๓๗

เมื่อกองทัพไทยไปตีเมืองทวายเมืองตะนาวศรี ในคราวที่กล่าวมาแล้ว กองทัพที่หงษาวดีให้ลงมาช่วยรักษาเมือง เกณฑ์มอญเข้ากองทัพมาโดยมาก เพราะเมืองมอญอยู่ใกล้เมืองทวายเรียกผู้คนได้เร็วกว่าเกณฑ์คนทางอื่น แต่พวกมอญไม่ชอบพม่า คิดหาโอกาศที่จะพ้นจากอำนาจพม่าอยู่เสมอ เมื่อยังไม่พ้นได้ก็ต้องยอมให้พม่าใช้มารบพุ่งกับไทย พากันมาล้มตายได้ความลำบากมากเข้า ก็ยิ่งอยากพ้นจากอำนาจพม่ามากขึ้นทุกที ครั้นพวกมอญเห็นกองทัพของพระเจ้าหงษาวดีมาแพ้ไทยไปติดๆ กันหลายคราว แลที่สุดถึงไทยบุกรุกเข้าไปตีเอาเมืองทวายเมืองตะนาวศรีได้ทั้ง ๒ เมือง ก็พากันกระด้างกระเดื่องไม่เกรงกลัวพม่าเหมือนแต่ก่อน ทำนองความจะปรากฎแก่พระเจ้าหงษาวดีว่ากองทัพบกทัพเรือที่ให้ลงมารักษาเมืองทวายเมืองตะนาวศรี มาเสียทีไทยแตกยับเยินไปเพราะพวกมอญไม่เปนใจรบพุ่ง ฤๅมิฉนั้นเมื่อเสียทีทัพกลับไปแล้วพวกมอญจะกำเริบขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ความปรากฎในพงษาวดารพม่าว่า พระเจ้าหงษาวดีทรงขัดเคืองพวกมอญว่าเอาใจมาเผื่อแผ่กับไทยจะก่อการขบถ จึงให้กองทัพยกลงมาจากเมืองหงษาวดี ให้ลงมาปราบปรามพวกมอญ จะได้รบพุ่งกันอย่างไรหาปรากฎไม่ มีในพงษาวดารแต่ว่าพวกมอญพากันอพยพครอบครัวหนีกองทัพพม่าไปอยู่เมืองยะไข่บ้าง ไปอยู่เมืองเชียงใหม่บ้าง แต่โดยมากนั้นเข้ามาอยู่กับสมเด็จพระนเรศวรที่กรุงศรีอยุทธยา ต่อมาพระเจ้าหงษาวดีทรงตั้งขุนนางผู้ใหญ่ซึ่งเปนที่วางพระพระราชหฤไทยคน ๑ ในหนังสือพระราชพงษาวดารเรียกชื่อว่า “พระยาลาว” ลงมาเปนเจ้าเมืองเมาะตมะ ตำแหน่งเทศาภิบาลมณฑลหัวเมืองมอญข้างฝ่ายใต้.

ในเวลานั้นพวกมอญที่อพยบไปอยู่ต่างประเทศกับพวกญาติพี่น้องซึ่งยังอยู่ในเมืองมอญ ลอบไปมาสื่อสารถึงกันอยู่เนือง ๆ พวกพระยามอญเข้ามาสามิภักดิ์อยู่ในกรุงศรีอยุทธยา คงเกลี้ยกล่อมชักชวนเจ้าเมืองมอญจะให้มาเข้ากับไทย ที่เห็นชอบด้วยก็มี ที่ยังกลัวพม่าพากันเฉยๆ อยู่ก็คงจะมี ครั้งนั้นเห็นจะมีผู้ร้องฟ้องต่อพระยาลาวเจ้าเมืองเมาะตมะ ว่าพระยาพะโรเจ้าเมืองเมาะลำเลิง (ที่เรียกภายหลังว่าเมืองมรแมน) มาเข้ากับไทย พระยาลาวจะเอาตัวพระยาเมาะลำเลิงไปชำระลงโทษ แต่พระยาเมาะลำเลิงรู้ตัวก่อน ด้วยเมืองเมาะลำเลิงตั้งอยู่ฝั่งใต้ลำแม่น้ำสลวินข้ามฟากใกล้กันกับเมืองเมาะตมะ จึงรวบรวมกำลังตั้งแขงเมืองแล้วให้ทูตเข้ามายังกรุงศรีอยุทธยา ขอสามิภักดิ์เปนข้าขอบขัณฑสิมา ขอพระราชทานกองทัพออกไปช่วยรักษาเมืองเมาะลำเลิงไว้ สมเด็จพระนเรศวรจึงมีรับสั่งให้พระยาศรีไศลคุมกองทัพจำนวนพล ๓,๐๐๐ ยกไปช่วยเมืองเมาะลำเลิง พอกองทัพไทยยกไปถึง ข่าวทราบถึงพวกมอญตามหัวเมืองก็พากันมาเข้ากับไทยเปนอันมาก จนพม่าที่รักษาเมืองเมาะตมะต้องทิ้งเมืองหนีไป พระเจ้าหงษาวดีได้ทรงทราบความว่า หัวเมืองมอญเข้ากับไทยกำเริบขึ้นหลายเมือง จึงดำรัสสั่งให้พระเจ้าตองอูยกกองทัพลงมาปราบปรามเสียให้ราบคาบ ทำนองพระเจ้าตองอูจะเข้าพระไทยว่า เปนแต่พวกเจ้าเมืองกรมการคิดขบถ ราษฎรโดยมากหาได้เปนใจด้วยไม่ ยกกองทัพลงมาโดยประมาท กองทัพไทยกับมอญช่วยกันรบพุ่ง ตีกองทัพพระเจ้าตองอูแตกยับเยิน จนพระเจ้าตองอูต้องหนีกลับไปเมือง กองทัพไทยมอญไล่ติดตามขึ้นไปจนถึงเมืองสะโตง แต่กำลังไม่พอจะตีต่อขึ้นไปก็ต้องยกกลับมาเมืองเมาะตมะ

ตั้งแต่รบกันคราวนี้แล้ว หัวเมืองมอญข้างฝ่ายใต้ ตั้งแต่เมืองเมาะตมะตลอดมาจนต่อกับแดนไทย ก็มาเปนเมืองขึ้นกรุงศรีอยุทธยาหมดทุกเมือง

  1. ๑. ข้าพเจ้าเข้าใจว่าจะเปนคนเดียวกับที่เรียกในพงษาวดารพม่าว่า “พระยาลอ” ซึ่งปรากฎชื่อในเรื่องสงครามคราวที่ ๑๐.

  2. ๒. พิเคราะห์ตามเรื่องเห็นว่า ที่ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า กองทัพไทยยกไปคราวนี้ ๓,๐๐๐ น้อยนัก จำนวนพลเห็นจะมากกว่านั้น.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ