สงครามครั้งที่ ๑๕ สงครามครั้งที่สุดของสมเด็จพระนเรศวร ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๔๗

สงครามของสมเด็จพระนเรศวรคราวนี้ ไม่ได้เปนการวิวาทกับพระเจ้าหงษาวดีเหมือนอย่างคราวก่อน ๆ เปนสงครามเกิดขึ้นเพราะเหตุการณ์ในเมืองพม่ากระทบกระเทือนมาถึงเมืองไทย เพราะฉนั้นจะต้องเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองพม่าก่อน แล้วอธิบายเรื่องการสงครามจึงจะได้ความชัดเจน.

ความคิดของพระเจ้าตองอูที่พาเอาพระเจ้าหงษาวดีไปไว้เมืองตองอู ดังกล่าวมาในเรื่องสงครามครั้งที่ ๑๔ นั้น ประสงค์จะให้ปรากฎแก่คนทั้งหลายว่าเปนผู้อุปถัมภ์บำรุงพระเจ้าหงษาวดี แล้วจะอ้างรับสั่งบังคับบัญชาให้ทั่วทั้งพระราชอาณาเขตร หมายว่าถ้าคุมพระเจ้าหงษาวดีไว้ได้ตลอดไปก็คงได้เปนผู้รับรัชทายาท ครั้นสมเด็จพระนเรศวรเลิกทัพกลับมาแล้ว พระเจ้าตองอูจึงทำหนังสือรับสั่งพระเจ้าหงษาวดีประกาศไปตามหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งปวงว่า ซึ่งเกิดศึกสงครามไปประชิดติดถึงพระนคร เปนเพราะชตาเมืองหงษาวดีถึงเวลาเสื่อมทราม ก็พเอิญให้เกิดเหตุเภทไภยต่าง ๆ พระเจ้าหงษาวดีจึงได้เสด็จแปรสถานไปอยู่ที่เมืองตองอู จะเอาเมืองตองอูเปนราชธานีที่ประทับไปสัก ๗ ปี พอให้สิ้นเคราะห์เมืองหงษาวดีแล้วก็จะเสด็จกลับไปอยู่อย่างเดิม อย่าให้หัวเมืองใหญ่น้อยทั้งปวงหวาดหวั่นวิตกอย่างใดเลย เจ้าเมืองทั้งปวงได้รับหมายประกาศที่เชื่อถือก็มีบ้าง แต่ที่สงไสยว่าพระเจ้าตองอูคิดกลอุบายจะชิงราชสมบัตินั้นมีมาก มีเจ้าเมืองที่ยังสามิภักดิ์ต่อพระเจ้าหงษาวดีหลายคนชวนกันยกกองทัพไปยังเมืองตองอู หวังจะไปชิงเอาพระเจ้าหงษาวดีมา พระเจ้าตองอูทราบความจึงเข้าไปทูลยุยงพระเจ้าหงษาวดีว่า พวกเจ้าเมืองเหล่านั้นเห็นจะไปเข้าเปนพวกพระนเรศวรเสียแล้ว อุบายยกกองทัพมาประสงค์จะล่อลวงเอาพระองค์ไปส่งให้พระนเรศวร ขอให้มีพระราชโองการเปนกระทู้ถามทดลองดู ตอบมาว่ากระไรก็จะรู้น้ำใจได้ จะเปนด้วยพระเจ้าหงษาวดีเชื่อถือฤๅกลัวพระเจ้าตองอูอย่างใดอย่างหนึ่งนี้ จึงยอมทำหนังสือรับสั่งประทับพระราชลัญจกรเปนสำคัญ มอบให้พระเจ้าตองอูส่งไปยังพวกเจ้าเมืองที่ยกกองทัพมา เนื้อความในหนังสือรับสั่งนั้นว่า ตามราชประเพณีแต่ปางก่อน ย่อมต้องมีท้องตราสั่งไป หัวเมืองจึงจะยกกองทัพเข้ามายังราชธานีได้ ถ้ายกเข้ามาโดยอำเภอใจก็มีความผิดโทษฐานเปนขบถ ครั้งนี้ก็หาได้มีท้องตราให้หาไม่ ที่พวกเจ้าเมืองบังอาจยกกองทัพเข้ามาอย่างนี้ จะคิดเปนขบถฤๅอย่างไรให้ว่ามา พวกเจ้าเมืองได้เห็นหนังสือรับสั่งก็จนใจมิรู้ที่จะทำประการใด ต้องพากันเลิกทัพกลับไปบ้านเมือง แล้วแต่งให้คนลอบไปสืบสวนก็ได้ความว่า ราชการงานเมืองสิทธิขาดอยู่กับพระเจ้าตองอูทั้งสิ้น พระเจ้าหงษาวดีหามีอำนาจบังคับบัญชาอย่างใดไม่ พวกเจ้าเมืองทั้งปวงก็พากันท้อใจ ที่เปนเมืองใหญ่อยู่โดยลำพังได้ ก็ตั้งแขงเมืองไม่ยอมขึ้นต่อพระเจ้าตองอู เหล่าหัวเมืองมอญในมณฑลราชธานีที่ยังมิได้มาเปนเมืองขึ้นไทยแต่ก่อน ก็พากันมาอ่อนน้อมต่อพระยาทะละขอเปนข้าขอบขัณฑสิมาของสมเด็จพระนเรศวร ในพงษาวดารพม่าว่า ครั้งนั้นบรรดาหัวเมืองมอญที่อยู่ใต้เมืองหงษาวดีลงมา มาเปนเมืองขึ้นของไทยทั้งสิ้น ใช่แต่เท่านั้น เมื่อกิติศัพท์เลื่องฦๅแพร่หลายไปถึงเหล่าเมืองไทยใหญ่ว่า พระเจ้าหงษาวดีสิ้นอำนาจ ถึงต้องหนีสมเด็จพระนเรศวรไปจากเมืองหงษาวดี พวกประเทศราชไทยใหญ่ก็ตั้งแขงเมืองไม่ยอมขึ้นพม่าเหมือนแต่ก่อน ในเวลานั้นที่เมืองแสนหวีอันเปนประเทศราชไทยใหญ่อยู่ข้างเหนือใกล้กับดินแดนจีน เกิดขบถขึ้นในเมือง เจ้าคำไข่น้อยเจ้านครแสนหวีสู้พวกขบถไม่ได้ ทราบว่าไทยได้เมืองเชียงใหม่ก็ลงมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารอาไศรยอยู่ในกรุงศรีอยุทธยา ครั้นพวกญาติวงศ์เจ้าคำไข่น้อยช่วยกันปราบปรามพวกขบถลงได้แล้ว ก็ให้ท้าวพระยาคุมต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการมาถวายสมเด็จพระนเรศวร ขอพระราชทานเจ้าคำไข่น้อยกลับไปครองบ้านเมือง สมเด็จพระนเรศวรจึงโปรดให้กองทัพไทยพาเจ้าคำไข่น้อยขึ้นไปส่งถึงเมืองแสนหวี แต่นั้นเมืองแสนหวีก็มาขึ้นกรุงศรีอยุทธยา ฝ่ายพวกเมืองประเทศราชไทยใหญ่ที่อยู่ริมน้ำสลวิน มีเมืองหาง แลเมืองหน่ายเปนต้น อันเขตรแดนต่อกับเมืองเชียงใหม่ เห็นพระเดชานุภาพของสมเด็จพระนเรศวรปกแผ่ขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่แลเมืองแสนหวีก็พากันเกรงกลัว ต่างแต่งทูตให้คุมต้นไม้เงินทองเครื่องราชบรรณาการมาถวายขอเปนข้าขอบขัณฑสิมาอิกเป็นหลายเมือง ครั้งนั้นอาณาเขตรไทยข้างทิศเหนือจึงแผ่เข้าไปจนต่อกับแดนจีน.

จะกลับกล่าวถึงเรื่องเมืองตองอูต่อไป พระเจ้าหงษาวดีไปอยู่เมืองตองอูได้ ๘ เดือน เมื่อกองทัพพวกท้าวพระยาหัวเมืองพากันกลับไปแล้ว นัดจินหน่องราชบุตรของพระเจ้าตองอูคิดเห็นว่า ตั้งแต่พระเจ้าตองอูรับเอาพระเจ้าหงษาวดีไปไว้ บ้านเมืองก็วุ่นวายไม่มีความศุข ต้องสู้ศึกพระนเรศวรเกือบจะเสียบ้านเมืองครั้ง ๑ แล้ว แต่พเอิญไทยสิ้นเสบียงอาหารจึงรอดมาได้ พอสิ้นศึกพระนเรศวรก็มีกองทัพพวกหัวเมืองยกมาจะทำร้ายอิก หากคิดอุบายแก้ไขพอรอดมาได้อิกครั้ง ๑ ต่อไปถ้าใครยุยงพระเจ้าหงษาวดีให้ประกาศกล่าวโทษพระเจ้าตองอูไปตามหัวเมืองว่าเอามากดขี่กักขังไว้ก็ดี ฤๅมิฉนั้นถ้าพระนเรศวรยังมุ่งหมายจะเอาตัวพระเจ้าหงษาวดีให้จงได้ ก็คงมีสัตรูมาทำร้ายเมืองตองอูอิก วิตกว่าพระเจ้าหงษาวดียังอยู่เมืองตองอูตราบใด เมืองตองอูก็จะไม่มีเวลาที่จะพ้นไภยอันตรายอยู่ตราบนั้น นัดจินหน่องคิดเห็นดังนี้ จึงลอบวางยาพิษปลงพระชนม์พระเจ้าหงษาวดีนันทบุเรงเสียเมื่อเดือน ๑๒ แรม ๑๐ ค่ำ ปีชวด พ.ศ. ๒๑๔๓ พระเจ้าตองอูทราบความก็ตกพระไทย ปฤกษากับพระมหาเถรเสียมเพรียมเห็นว่า ที่หวังจะเปนใหญ่ให้ได้โดยเรียบร้อยนั้นไม่สำเร็จเสียแล้ว แต่จำต้องเลยไปตามเลย จึงให้มีหมายประกาศว่าพระเจ้าหงษาวดีประชวรสิ้นพระชนม์ แลเมื่อประชวรหนักอยู่นั้นได้ทรงมอบเวนราชสมบัติแก่พระเจ้าตองอูผู้เปนพระอนุชาธิราช ให้เปนรัชทายาทครองกรุงหงษาวดีต่อไป ประกาศนั้นก็หามีเมืองใดเชื่อถือไม่.

ขณะเมื่อพระเจ้าหงษาวดีหนีไปจากราชธานีนั้น น้องยาเธอพระองค์ ๑ คนทั้งปวงเรียกนามตามเมืองส่วยที่ได้ว่ากล่าวว่า เจ้านะยองราม หนีไปอาไศรยในเมืองภุกาม ครั้นทราบว่าพระเจ้าหงษาวดีนันทบุเรงสิ้นพระชนม์ ก็คุมสมัคพรรคพวกขึ้นไปตั้งอยู่ที่เมืองอังวะ ด้วยเวลานั้นเมืองอังวะมีแต่ขุนนางว่าราชการเมืองมาแต่ครั้งพระเจ้าหงษาวดีเลื่อนพระเจ้าอังวะไปเปนพระมหาอุปราชา พวกชาวเมืองเห็นว่าเปนราชบุตรของพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองก็พากันนิยมยินดี ยกเจ้านะยองรามขึ้นเปนพระเจ้าอังวะ ตั้งเปนอิศระอยู่ส่วน ๑ หายอมขึ้นแก่ผู้ใดไม่ เวลานั้นในเมืองพม่าจึงแยกกันเปน ๓ ก๊ก คือพระเจ้าตองอู ซึ่งตั้งตัวเปนพระเจ้าหงษาวดีก๊ก ๑ พระเจ้าแปร ซึ่งตั้งแขงเมืองมาแต่ครั้งพระเจ้าหงษาวดีนันทบุเรงก๊ก ๑ พระเจ้าอังวะก๊ก ๑ ทำนองพวกพม่าจะเห็นกันโดยมากว่าพระเจ้าตองอูพระเจ้าแปรไม่ซื่อตรงต่อพระเจ้าหงษาวดีจึงพากันนับถือพระเจ้าอังวะมาก ครั้นพระเจ้าตองอูกับพระเจ้าแปรเห็นผู้คนพากันนิยมพระเจ้าอังวะมากขึ้นก็วิตก ด้วยเข้าพระไทยอยู่ด้วยกันว่า ถ้าพระเจ้าอังวะมีกำลังมากเมื่อใด ก็คงจะยกกองทัพลงมาตีทั้งเมืองแปรแลเมืองตองอู เพื่อจะรวบรวมอาณาเขตรของพระเจ้าหงษาวดีไว้ในอำนาจให้เหมือนแต่ก่อน พระเจ้าตองอูกับพระเจ้าแปรนั้นที่จริงก็ไม่ชอบกัน แต่หากเกรงอันตรายจึงปฤกษาตกลงกันว่าจะชิงยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองอังวะเสียก่อน อย่าให้ทันพระเจ้าอังวะมีกำลังตั้งมั่นได้ กำหนดนัดกันให้พระเจ้าแปรเปนทัพเรือ พระเจ้าตองอูเปนทัพบก ยกขึ้นไปตีเมืองอังวะให้พร้อมกัน ครั้นถึงวันกำหนดยกกองทัพ พระเจ้าแปรไปลงเรือมีคนลอบจะทำร้าย พระเจ้าแปรโดดหนีผู้ร้ายเลยตกน้ำถึงแก่พิราไลย ฝ่ายพระเจ้าตองอูยกกองทัพไปได้ทราบความในกลางทางว่าพระเจ้าแปรถึงพิราไลย กลับเห็นท่วงทีที่จะเอาเมืองแปรไว้ในอำนาจได้ก่อน ด้วยเมืองแปรอยู่ใกล้ จึงให้แปรกระบวนทัพยกไปตีเมืองแปร แต่พวกท้าวพระยาข้าราชการเมืองแปรช่วยกันต่อสู้รักษาเมืองเปนสามารถ พระเจ้าตองอูจะตีเอาเมืองแปรไม่ได้ก็ต้องเลิกทัพกลับไปเมืองตองอู แต่นั้นก็หามีใครไปย่ำยีพระเจ้าอังวะไม่ ส่วนเมืองแปรตัวหัวน่าพวกที่คิดร้ายต่อพระเจ้าแปรก็ขึ้นครอบครองเมืองต่อมา ทั้ง ๓ ก๊กจึงเปนอิศระแก่กันต่อมาอย่างเดิม เหตุการณ์ที่กล่าวมานี้เกิดขึ้นในระหว่างตั้งแต่ปีชวด พ.ศ. ๒๑๔๓ จนปีเถาะ พ.ศ. ๒๑๔๖ กรุงศรีอยุทธยาก็ว่างการศึกสงครามตลอดมาทั้ง ๔ ปี

ฝ่ายพระเจ้าอังวะเมื่อเกลี้ยกล่อมรี้พลได้มาก เห็นว่ามีกำลังมั่นคงแล้ว ก็ทำพิธีราชาภิเศกเปนพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่าพระเจ้าสีหสุธรรมราชา แล้วคิดขยายอาณาเขตรให้กว้างขวางต่อออกไป แต่เมืองอังวะนั้นอยู่ข้างเหนือใกล้กับแดนไทยใหญ่ ต่อได้เมืองไทยใหญ่จึงมีอำนาจแต่ไร ๆ มา พระเจ้าอังวะจึงตั้งหน้าแผ่อำนาจออกไปทางแว่นแคว้นไทยใหญ่ก่อน ในเวลานั้นประเทศราชไทยใหญ่ที่เรียกว่า ๑๙ เจ้าฟ้า แต่เดิมเคยขึ้นอยู่กับพระเจ้าหงษาวดี ครั้นเห็นพระเจ้าหงษาวดีหมดอำนาจก็พากันตั้งแขงเมืองยังเปนอิศระอยู่บ้าง ที่อยู่ใกล้แดนไทยพากันมายอมขึ้นแก่ไทยบ้าง ครั้นพระเจ้าอังวะมีอำนาจขึ้น เหล่าเมืองไทยใหญ่ที่อยู่ใกล้แดนพม่ากลัวเกรงกลับยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าอังวะก็มี เมืองที่อยู่ห่างออกไปไม่ยอมอ่อนน้อมโดยดี พระเจ้าอังวะก็ยกกองทัพปราบปรามตีได้เมืองไทยใหญ่ที่ตั้งตัวเปนอิศระโดยลำดับมาจนถึงเมืองหน่ายที่มาขึ้นอยู่แก่ไทย พระเจ้าอังวะตีได้เมืองหน่ายแล้วจะมาตีเมืองแสนหวี สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบก็ขัดเคือง จึงดำรัสสั่งให้กะเกณฑ์รี้พลจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ เข้ากองทัพจะเสด็จไปตีเมืองอังวะ

กองทัพที่ยกไปคราวนี้ จะเดินทางเมืองเชียงใหม่ไปข้ามน้ำสลวินที่เมืองหาง แล้วผ่านแว่นแคว้นไทยใหญ่ไปเข้าแดนพม่าที่ใกล้เมืองอังวะ ทางที่กะนี้สดวกกว่าจะยกไปทางเมืองมอญ เพราะไปทางเมืองมอญจะต้องรบพุ่งกับเมืองตองอูแลเมืองแปรก่อนจึงจะผ่านขึ้นไปถึงเมืองอังวะได้ ไปทางเมืองเชียงใหม่เดินทางในพระราชอาณาจักรไปจนในแดนไทยใหญ่ พวกไทยใหญ่ที่เข้ากับไทยก็มีมาก โดยจะมีบางเมืองที่จะต่อสู้ก็จะไม่แขงแรงเท่าไรนัก เพราะพระเจ้าอังวะก็พึ่งได้เมืองเหล่านั้นไว้ในอำนาจ ที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จทางเมืองเชียงใหม่คงเปนด้วยเหตุเหล่านี้ เห็นจะเอาเมืองเชียงใหม่เปนที่ประชุมพล แลเกณฑ์กองทัพมอญทัพชาวลานนาเข้าสมทบกองทัพไทย จำนวนพลเบ็ดเสร็จคงจะราวสัก ๒๐๐,๐๐๐ แต่รายการที่มีในหนังสือพระราชพงษาวดารน้อยนัก ปรากฎแต่ว่า สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จออกจากพระนครเมื่อณวันพฤหัศบดี เดือนยี่ แรม ๖ ค่ำ ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๔๗ เสด็จโดยกระบวนเรือไปตั้งทัพไชยณตำบลพระหล่อ แล้วยกกองทัพบกไปทางเมืองกำแพงเพ็ชร ครั้นเสด็จไปถึงเมืองเชียงใหม่หยุดพักจัดกระบวนทัพอยู่เดือน ๑ แล้วให้กองทัพสมเด็จพระเอกาทศรถยกไปทางเมืองฝาง ส่วนกองทัพหลวงยกไปทางเมืองหาง ครั้นเสด็จถึงเมืองหางตั้งค่ายหลวงประทับอยู่ที่ทุ่งแก้ว สมเด็จพระนเรศวรประชวรเปนระลอกขึ้นที่พระภักตร์ แล้วกลายเปนบาดพิศม์พระอาการหนัก จึงโปรดให้ข้าหลวงรีบไปเชิญเสด็จสมเด็จพระเอกาทศรถมาเฝ้า สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จมาถึงได้ ๓ วัน สมเด็จพระนเรศวรก็สวรรคตที่เมืองหางเมื่อณวันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีมะเสง พ.ศ. ๒๑๔๘ พระชัณษา ๕๐ ปี เสวยราชสมบัติได้ ๑๕ ปี.

สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทำสงครามกับพม่ามาแต่พระชัณษาได้ ๒๐ ปี การสงครามในชั้นต้นเปนการกู้สยามประเทศให้พ้นจากอำนาจพม่า พยายามรบพุ่งมา ๙ ปีเมืองไทยจึงได้เปนอิศรภาพสมดังพระราชประสงค์เมื่อคราวชนช้างชนะพระมหาอุปราชา การสงครามต่อมาในตอนกลางเปนการรวบรวมเขตรแดนของสยามประเทศที่ได้เสียไป คือเมืองทวาย เมืองตะนาวศรี ซึ่งเสียไปแก่พม่า กับทั้งกรุงกัมพูชาซึ่งกลับเปนสัตรูเองโดยลำพัง ได้กลับมาเปนของไทยหมดภายในระยะเวลา ๒ ปี การสงครามข้างตอนหลังในระยะเวลา ๔ ปีเปนการแผ่พระราชอาณาจักรให้กว้างขวางออกไป ทางทิศตวันตกได้หัวเมืองมอญภายใต้เมืองหงษาวดีมาเปนเมืองขึ้นของไทยทั้งหมด ทางทิศเหนือได้แว่นแคว้นลานนาเชียงใหม่ (คือ มณฑลพายัพทุกวันนี้) แลหัวเมืองไทยใหญ่ตลอดขึ้นไปจนเมืองแสนหวีมาเปนเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุทธยา รวมเวลาซึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงทำสงครามมา ๖ ปี ด้วยสามารถพระปรีชากล้าหาญอันพึงเห็นได้ในเรื่องสงครามทุกคราวมา สยามราชอาณาจักรจึงรุ่งเรืองเดชานุภาพ มีอาณาเขตรแผ่ไพศาลเปนอย่างยิ่งในกาลครั้ง ๑ เพราะเหตุนี้คนทั้งหลายจึงยกย่องพระเกียรติยศสมเด็จพระนเรศวรว่าวิเศษทั้งที่เปนนักรบแลที่เปนพระเจ้าแผ่นดิน นับเปนมหาราชพระองค์ ๑ ซึ่งปรากฎมาในโลกนี้ การที่ยกย่องนี้จะได้เปนแต่ในหมู่ไทยเท่านั้นหามิได้ ถึงในหนังสือพงษาวดารของชาติอื่น เช่นพม่า มอญ เขมร ล้านช้างแลเชียงใหม่ แม้ที่สุดจนในจดหมายเหตุของจีนแลฝรั่ง บรรดาที่กล่าวถึงเรื่องพงษาวดารประเทศทางตวันออกในสมัยนั้น ก็ยอมยกย่องสมเด็จพระนเรศวรว่าเปนวีรมหาราชอย่างเดียวกัน พระเกียรติยศจึงยังปรากฎอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้.

ขณะเมื่อสมเด็จพระนเรศวรประชวรหนักอยู่ที่เมืองหางนั้น สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จมาถึงทันได้รักษาพยาบาลอยู่ ๓ วัน สมเด็จพระนเรศวรจะได้ทรงสั่งเสียประการใดไม่มีเค้าเงื่อนในหนังสือพงษาวดารที่จะทราบได้ ปรากฎแต่ว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตแล้ว สมเด็จพระเอกาทศรถก็ดำรัสสั่งให้เลิกกองทัพทั้งปวง เชิญพระบรมศพกลับมายังพระนครศรีอยุทธยา ฝ่ายพระเจ้าอังวะทราบว่าสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตแลไทยเลิกทัพกลับมาหมด เห็นได้ทีก็ยกกองทัพไปตีเมืองแสนหวี เจ้าคำไข่น้อยสู้ไม่ได้ก็ต้องยอมขึ้นแก่พม่าดังแต่ก่อน แต่เมื่อพระเจ้าอังวะได้เมืองแสนหวีแล้วเลิกทัพกลับไปเมืองอังวะก็ไปป่วยเจ็บถึงพิราไลยลงกลางทาง ราชบุตรองค์ใหญ่ได้ครองเมืองอังวะ เพราะฉนั้นเมืองตองอู เมืองแปรแลเมืองอังวะ จึงยังเปนอิศรแก่กันต่อมา ๚

  1. ๑. ในหนังสือพระราชพงษาวดารเรียกว่า เมืองห้างหลวง เพราะเปนราชธานีเดิมของไทยใหญ่.

  2. ๒. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมื่อพระมหาเถรเสียมเพรียมเห็นว่าการไม่สำเร็จดังความคิด จึงแนะนำให้พระเจ้าตองอูมาขอขึ้นต่อกรุงศรีอยุทธยา แต่ตามความในพงษาวดารพม่าเมืองตองอูมาขึ้นไทยต่อแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ ดังจะปรากฎต่อไปข้างน่า.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ