- อธิบายเหตุการณ์ที่ไทยรบกับพม่า
- ครั้งที่ ๑ คราวพม่าตีเมืองเชียงกราน ปีจอ พ.ศ. ๒๐๘๑
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวสมเด็จพระสุริโยไทยขาดฅอช้าง ปีวอก พ.ศ. ๒๐๙๑
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวรบกันด้วยเรื่องช้างเผือก ปีกุญ พ.ศ. ๒๑๐๖
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวเสียกรุง ฯ แก่พระเจ้าหงษาวดี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๑๑
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิศระ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗
- สงครามครั้งที่ ๖ ครั้งรบพระยาพสิมที่เมืองสุพรรณ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวรบพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกษ ปีระกา พ.ศ. ๒๑๒๘
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวพระเจ้าหงษาวดีล้อมกรุง ฯ ปีจอ พ.ศ. ๒๑๒๙
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวพระมหาอุปราชายกมาครั้งแรก ปีขาล พ.ศ. ๒๑๓๓
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวสมเด็จพระนเรศวรชนช้าง ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕
- สงครามครั้งที่ ๑๑ คราวไทยตีเมืองทวายเมืองตะนาวศรี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๓๕
- สงครามครั้งที่ ๑๒ คราวสมเด็จพระนเรศวรได้หัวเมืองมอญ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๑๓๗
- สงครามครั้งที่ ๑๓ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดีครั้งแรก ปีมะแม พ.ศ. ๒๑๓๘
- สงครามครั้งที่ ๑๔ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดี ครั้งที่ ๒ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๔๒
- สงครามครั้งที่ ๑๕ สงครามครั้งที่สุดของสมเด็จพระนเรศวร ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๔๗
- สงครามครั้งที่ ๑๖ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีฉลู พ.ศ. ๒๑๕๖
- สงครามครั้งที่ ๑๗ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๑๕๗
- สงครามครั้งที่ ๑๘ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีจอ พ.ศ. ๒๑๖๕
- สงครามครั้งที่ ๑๙ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๒๐๕
- สงครามครั้งที่ ๒๐ คราวรบพม่าที่เมืองไทรโยค ปีเถาะ พ.ศ. ๒๒๐๖
- สงครามครั้งที่ ๒๑ คราวไทยตีเมืองพม่า ปีมโรง พ.ศ. ๒๒๐๗
- สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๑
- สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๒
- สงครามครั้งที่ ๒๓ คราวพม่าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๐๗
- สงครามครั้งที่ ๒๔ คราวเสียกรุง ฯ ครั้งหลัง ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
สงครามครั้งที่ ๒๔ คราวเสียกรุง ฯ ครั้งหลัง ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
ที่จะเกิดสงครามคราวนี้ไม่ปรากฎเหตุอย่างอื่น นอกจากพม่าเห็นว่าไทยกำลังอ่อนแอปลกเปลี้ย เปนช่องที่จะมาปล้นเอาทรัพย์สมบัติได้ง่าย ๆ ก็ยกมาตีเมืองไทยเท่านั้นเอง เริ่มเรื่องสงครามคราวนี้ ในพงษาวดารพม่ากล่าวว่าพระเจ้ามังระประสงค์จะตีกรุงศรีอยุทธยา จึงให้เนเมียวสีหบดียกกองทัพเข้ามาทางเมืองเชียงใหม่ ลงมาตีกรุงศรีอยุทธยาทางด้านเหนือทาง ๑ ให้มังมหานรธายกกองทัพลงมาทางเมืองทวาย เข้ามาตีกรุงศรีอยุทธยาทางด้านตวันตก ให้พร้อมกับกองทัพเนเมียวสีหบดีอิกทาง ๑ ความที่กล่าวในพงษาวดารพม่าดังนี้ไม่ยุติต้องกับรายการที่ปรากฎ เห็นว่าจะเปนความคิดของผู้แต่งพงษาวดารอ้างต่อภายหลัง เพราะกองทัพพม่าที่ยกมาตีเมืองไทยครั้งนี้พระเจ้ามังระให้ไปรบพุ่งที่อื่นก่อนทั้ง ๒ ทาง กองทัพพม่าที่ยกมาทางเมืองเชียงใหม่จะต้องปราบปรามหัวเมือง ที่เปนขบถในแว่นแคว้นลานนาทั่วไป แล้วยังจะต้องยกขึ้นไปตีเมืองหลวงพระบางก่อน ต่อสำเร็จแล้วจึงจะได้มาตีเมืองไทย ฝ่ายกองทัพพม่าที่ยกลงมาเมืองทวาย การที่จะต้องทำก่อนมีแต่ตีเมืองทวายเมืองเดียว ธุระกองทัพทั้ง ๒ ผิดกันเช่นนี้ ที่จะกะกำหนดมาแต่แรกให้มาตีกรุงศรีอยุทธยาให้พร้อมกันนั้นเห็นจะไม่ได้ จึงเห็นว่าการที่พระเจ้ามังระให้กองทัพเนเมียวสีหบดีกับกองทัพมังมหานรธามาตีเมืองไทยนั้นเปนการคิดขึ้นต่อภายหลัง เพราะเหตุที่กองทัพทั้ง ๒ นั้นไปทำการสำเร็จได้เร็วกว่าคาดไว้แต่แรกทั้ง ๒ ทาง ข้อนี้เห็นได้ที่ทัพมังมหานรธามาตีเมืองทวายแล้วมีเวลาว่างจนเลยมาตีหัวเมืองปักษใต้แต่ในปีวอก พ.ศ. ๒๓๐๗ ดังกล่าวมาในเรื่องสงครามครั้งที่ ๒๓ นั้น แท้จริงเรื่องที่จะเริ่มสงครามคงเปนดังกล่าวต่อไปนี้ คือ
เมื่อต้นปีระกา พ.ศ. ๒๓๐๘ กองทัพพม่าเสร็จการสงครามตั้งอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ทัพ ๑ ตั้งอยู่ที่เมืองทวายทัพ ๑ พระเจ้ามังระเห็นเปนช่องที่จะหาทรัพย์แลเชลยเปนกำไรในการทัพได้มากขึ้นไปอิก บางทีจะเปนเพราะมังมหานรธาบอกขึ้นไปยังเมืองอังวะ ว่ามาตีหัวเมืองไทยได้ง่าย ๆ พระเจ้ามังระเห็นว่าไทยยังอ่อนแออยู่เหมือนอย่างที่ได้เคยเห็นมาแต่ก่อน จึงสั่งให้กองทัพยกเลยเข้ามาตีเมืองไทยทั้ง ๒ ทาง แลการที่พม่ายกกองทัพมาคราวนี้พิเคราะห์ดูตามลักษณการ เห็นว่าในชั้นแรกพม่าตั้งใจเพียงจะมาตีปล้นตามหัวเมืองไทย อย่างที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า “เรด” แล้วแต่จะเข้ามาได้เพียงไหนก็จะเข้ามาเพียงนั้น ถ้าเห็นว่าไทยมีกำลังมากนักก็จะถอยกลับไป เหมือนอย่างเมื่อตีหัวเมืองปักษ์ใต้ที่กล่าวมาแล้ว พม่ามิได้ตั้งใจว่าจะมาตีกรุงศรีอยุทธยา เพราะฉนั้นพระเจ้ามังระจึงมิได้เสด็จมาเองให้เปนพระเกียรติยศเหมือนอย่างพระเจ้าหงษาวดีแลพระเจ้าอลองพญา แลกองทัพพม่าที่ยกมาทางข้างเหนือกับข้างใต้จึงเปนอิศรแก่กันมิได้มีใครเปนแม่ทัพใหญ่ ความที่กล่าวข้อนี้เปนวินิจฉัยของท่านผู้ศึกษาโบราณคดีแต่ก่อนได้กล่าวมาแล้ว แม้ผู้อ่านสังเกตดูไปในลักษณการที่พม่ายกมาตีเมืองไทยในครั้งนี้ ก็น่าจะเห็นเปนอย่างเดียวกัน
ลักษณะการที่กองทัพพม่ายกมาตีเมืองไทยครั้งนี้ ไม่ได้รบพุ่งตรงเข้ามาอย่างศึกสามัญ ทำการมาโดยลำดับเปนชั้นๆ ถึง ๔ ชั้น คือ ชั้นแรกเมื่อเดือน ๗ ปีระกา พ.ศ. ๒๓๐๘ เนเมียวสีหบดีให้ฉับกุงโบนายทัพน่าคุมกองทัพมีจำนวนพล ๕,๐๐๐ ยกลงมาจากเมืองเชียงใหม่กอง ๑ มังมหานรธาให้เมขะระโบนายทัพน่าคุมกองทัพจำนวนพล ๕,๐๐๐ ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์อิกทาง ๑ ในพงษาวดารพม่าว่า กองทัพที่ยกมาครั้งนี้มีข้ออาณัติอย่าง ๑ คือถ้าที่ไหนต่อสู้พม่าตีได้ก็เก็บริบทรัพย์สมบัติ แลจับผู้คนทั้งเด็กผู้ใหญ่ชายหญิงเอาไปเปนเชลยส่งไปเมืองพม่า บ้านเรือนทรัพย์สมบัติพม่าไม่ต้องการก็ให้เผาทำลายเสียทั้งสิ้น ถ้าที่ไหนผู้คนอ่อนน้อมยอมเข้าเปนพวกพม่า ๆ ให้ทำสัตย์แล้วก็ไม่ทำร้าย เปนแต่กะเกณฑ์เอาแต่สิ่งของที่พม่าต้องการ เช่นเสบียงอาหารแลพาหนะเปนต้น แลเรียกเอาคนมาใช้การงานต่าง ๆ เหมือนอย่างเปนบ่าวของพม่า ด้วยเหตุนี้ราษฎรตามห้องที่รายทางที่พม่ายกกองทัพผ่านมา บางแห่งก็สู้รบ บางแห่งก็เข้าหาพม่าแต่โดยดี แต่ที่หลบหนีเข้าป่าไปนั้นมากกว่าอย่างอื่น กองทัพพม่าที่ยกลงมาจากเมืองเชียงใหม่ต้องรบพุ่งแต่ที่เมืองตากแห่งเดียว พอตีเมืองตากได้แล้ว ที่เมืองกำแพงเพ็ชรเมืองนครสวรรค์ก็ไม่มีใครต่อสู้ ด้วยเวลานั้นเจ้าเมืองถูกเกณฑ์เข้ามารักษากรุง ฯ เหลือแต่กรมการผู้น้อยก็พากันอพยพหลบหนีไปโดยมาก คนที่หนีไม่ทันก็ต้องอ่อนน้อมต่อพม่า ๆ จึงลงมาตั้งค่ายอยู่ที่เมืองกำแพงเพ็ชรแห่ง ๑ ที่เมืองนครสวรรค์แห่ง ๑ ฝ่ายกองทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ มาถึงเมืองกาญจนบุรีพบกองทัพพระพิเรนทรเทพเจ้ากรมตำรวจ มีจำนวนพล ๓,๐๐๐ ตั้งรักษาเมืองอยู่ พม่ามากกว่าก็ตีกองทัพพระพิเรนทรเทพแตกยับเยิน พม่าจึงยกตามเข้ามาถึงลำน้ำราชบุรี มาตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลลูกแกแห่ง ๑ ตำบลตอกละออมแห่ง ๑ ข้ามฟากมาตั้งค่ายที่ดงรังหนองขาวอิกแห่ง ๑
มีเนื้อความปรากฎในจดหมายเหตุของฝรั่งว่า ครั้งพม่ามาตีหัวเมืองปักษ์ใต้เมื่อปีวอกที่กล่าวมาในเรื่องสงครามครั่งที่ ๒๓ นั้น ที่ในกรุงศรีอยุทธยาเกรงพม่าจะเข้ามาตีกรุง ฯ ดังคราวก่อน จึงให้เกณฑ์คนหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือเข้ามารักษาพระนครเปนอันมาก ครั้นรู้ว่าพม่าเลิกทัพกลับไปทางด่านสิงขรแล้ว ทางในกรุง ฯ ก็สั่งให้ปล่อยคนกลับไปบ้านเมือง พอได้ข่าวว่าพม่ายกมาใหม่ก็ให้เกณฑ์คนหัวเมืองกลับเข้ามาอิก ความที่ปรากฎในจดหมายเหตุดังนี้พอเปนเค้าเงื่อนให้คิดเห็นได้ว่า ครั้งนั้นที่กรุงศรีอยุทธยาน่าจะจับยุ่งมาเสียแต่เกณฑ์คนรักษาพระนครแล้ว ด้วยเมื่อพม่ายกมาตีตัวเมืองปักษ์ใต้ในปีวอก เกณฑ์คนเข้ามารักษาพระนครคราวแรกเมื่อราวเดือน ๓ เดือน ๔ พม่าเลิกทัพกลับไปทางด่านสิงขรเมื่อราวเดือน ๕ ปีระกา ก็ปล่อยคนกลับไป พอถึงเดือน ๗ พม่ายกมาใหม่ก็ต้องเกณฑ์คนกลับมาอิก ผู้คนคงสับสนอลหม่านทั้งที่ในกรุง ฯ แลหัวเมือง คงจะเปนด้วยเหตุนี้เองจึงไม่มีกำลังรักษาเมืองกำแพงเพ็ชรแลเมืองนครสวรรค์ แลกองทัพพระพิเรนทรเทพที่ให้เร่งรีบไปรักษาเมืองกาญจนบุรี จึงไม่พรักพร้อมพอจะต่อสู้ข้าศึกได้.
อนึ่งสังเกตดูโดยรายการที่ปรากฎ ดูเหมือนตั้งแต่รัฐบาลไทยได้ข่าวว่าพม่ายกกองทัพมา ๒ ทางคราวนี้ ก็เข้าใจว่าพม่าจะมาตีกรุงศรีอยุทธยา จึงตระเตรียมรวมกำลังไว้ต่อสู้ที่พระนครเปนข้อสำคัญมาแต่แรก แต่กองทัพพม่าที่ยกมาตอนนี้ยังเปนแต่กองทัพโจร พอหาที่มั่นได้แล้วก็แต่งกันออกเที่ยวค้นหาทรัพย์จับผู้คนตามท้องที่ๆ ใกล้เคียง พวกพม่าที่ตั้งอยู่ข้างเหนือเที่ยวปล้นทรัพย์จับเชลยตั้งแต่แขวงเมืองนครสวรรค์ลงมาจนถึงเมืองอินทร์ เมืองพรหม ฝ่ายพวกพม่าที่ตั้งอยู่ทางตวันตกก็เที่ยวปล้นทรัพย์จับเชลยไปจนเมืองราชบุรี เมืองเพ็ชรบุรี แลเมืองสุพรรณบุรีไม่ได้คิดจะเข้ามารบพุ่งถึงพระนครทั้ง ๒ กอง ครั้นที่ในกรุง ฯ ไม่เห็นกองทัพพม่ายกเข้ามา ได้ยินแต่ว่าไปเที่ยวปล้นสดมตามหัวเมือง แลหัวเมืองเหนือ (ทางมณฑลพิศณุโลก) ก็ยังมิได้เสียแก่ข้าศึก สมเด็จพระเจ้าเอกทัศจึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาพิศณุโลกกลับขึ้นไปเกณฑ์กองทัพหัวเมืองเหนือมาตีพม่า๑ทาง ๑ แล้วให้จัดกองทัพในกรุง ฯ ยกออกไปตีพม่าด้วยทั้ง ๒ ทาง กองทัพไทยที่ยกขึ้นไปทางข้างเหนือปรากฎแต่ว่าพระยาธิเบศร์บริวัตรเปนแม่ทัพ๒ แต่จะได้รับพุ่งอย่างไรบ้างหาได้ความไม่ ส่วนกองทัพที่ยกไปรบพม่าเมืองราชบุรีนั้น ให้จัดคนที่เกณฑ์มาจากหัวเมืองปักษ์ใต้เปนกองทัพบกทัพ ๑ ทัพเรือทัพ ๑ ผู้ใดจะเปนแม่ทัพหาปรากฎไม่ กองทัพบกยกไปถึงตำบลตำหรุ กองทัพเรือไปถึงบางกุ้งข้างใต้เมืองราชบุรี พม่ายกลงมาตีก็แตกพ่ายกลับมาทั้ง ๒ ทัพ พม่าไล่ตามเข้ามาจนในแขวงเมืองธนบุรี แต่ว่ามาเที่ยวปล้นสดมพอได้ทรัพย์แล้วก็พากันกลับไปเมืองราชบุรี หาได้ตีเมืองธนบุรีไม่ ครั้นกิติศัพท์ทราบถึงกรุง ฯ ก็ตกใจ เกรงพม่าจะยกจู่เข้ามาถึงพระนคร เพราะพม่าได้เรือทางลำน้ำราชบุรีแลเรือกองทัพไว้มาก จึงให้พระยารัตนาธิเบศร์คุมกองทัพซึ่งเกณฑ์มาจากเมืองนครราชสิมาลงมารักษาเมืองธนบุรีกอง ๑ แลให้พระยายมราชคุมกองทัพอิกกอง ๑ ลงมารักษาเมืองนนทบุรี๓คอยต่อสู้พม่าที่จะยกเข้ามาทางแม่น้ำ.
การที่รบกับพม่าในตอนนี้ ประมาณเวลาราวสัก ๖ เดือน คือตั้งแต่เดือน ๗ จนถึงเดือน ๑๒ ปีระกา มีข้าศึกตั้งอยู่ทางเมืองราชบุรีสัก ๕,๐๐๐ อยู่ทางเมืองนครสวรรค์อิกสัก ๕,๐๐๐ รวมข้าศึกที่เข้ามาอยู่ในแดนไทยทั้งสิ้นประมาณ ๑๐,๐๐๐ แลข้าศึกก็ยังมิได้ตั้งหน้าจะเข้ามาตีถึงราชธานี แต่คงเปนในระหว่าง ๖ เดือนนี้เอง ที่พม่ามีความคิดตกลงเปนยุติว่าจะตีให้ถึงกรุงศรีอยุทธยา เพราะเห็นว่าเพียงทัพน่าของพม่าไทยก็เอาชนะไม่ได้ พม่าจึงเกิดกำเริบ.
คราวนี้เรื่องการสงครามถึงชั้นที่ ๒ พอถึงเดือน ๑๒ สิ้นระดูฝน เนเมียวสีหบดีก็ยกกองทัพลงมาจากเมืองเชียงใหม่ มีรี้พลทั้งพม่าแลชาวลานนาล้านช้างรวมกันเปนคนประมาณ ๒๐,๐๐๐ แบ่งกองทัพให้เดินลงมาจากเมืองตาก๔กอง ๑ ตัวเนเมียวสีหบดีแม่ทัพคุมลงมาทางเมืองสวรรคโลกกอง ๑ ฝ่ายเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองรายทางเห็นข้าศึกเหลือกำลังก็พากันหนีเข้าป่า ไม่มีเมืองใดต่อสู้ พม่าก็ได้เมืองพิไชย เมืองสวรรคโลก เมืองศุโขไทยเปนลำดับมา แลเมื่อพม่าตั้งอยู่ที่เมืองศุโขไทยนั้น เจ้าพระยาพิศณุโลกกับเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองเหนือช่วยกันรวบรวมคนเข้าเปนกองทัพยกไปตีพม่าที่เมืองศุโขไทย กำลังรบพุ่งกันอยู่ ขณะนั้นเจ้าฟ้าจีด๕เปนโทษอยู่ที่ในกรุง ฯ หลบหนีจากที่ขังได้ ทำนองเจ้าฟ้าจีดจะเกี่ยวดองเปนญาติกับเจ้าพระยาพิศณุโลกอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงพาสมัคพรรคพวกหนีขึ้นไปยังเมืองพิศณุโลก ไปถึงเมื่อเวลาเจ้าพระยาพิศณุโลกกับกรมการผู้ใหญ่ไปรบพม่าอยู่ที่เมืองศุโขไทย เจ้าฟ้าจีดเห็นเจ้าพระยาพิศณุโลกทิ้งเมืองไว้ คิดว่าเปนโอกาศที่จะตั้งตัวเปนใหญ่ได้ ก็ทำสีหนาทเข้าเก็บริบทรัพย์สมบัติแลเผาจวนเจ้าพระยาพิศณุโลกเสีย แล้วขึ้นนั่งเมืองพิศณุโลก พวกชาวเมืองเห็นว่าเปนเจ้าก็ไม่มีผู้ใดกล้าต่อสู้ เจ้าพระยาพิศณุโลกทราบความจึงเลิกทัพกลับมา มาจับเจ้าฟ้าจีดได้ให้เอาถ่วงน้ำเสีย ฝ่ายพม่าเมื่อเจ้าพระยาพิศณุโลกเลิกทัพกลับแล้วก็ยกเลยลงมาเมืองนครสวรรค์ทางเมืองกำแพงเพ็ชร หาตามไปตีเมืองพิศณุโลกไม่ เมืองพิศณุโลกจึงมิได้เสียแก่พม่าข้าศึกในครั้งนั้น.
ในเดือน ๑๒ ปีระกานั้น มังมหานรธาก็ยกกองทัพมีจำนวนพลประมาณ ๓๐,๐๐๐ ตามเข้ามาจากเมืองทวายอิกทาง ๑ มาตั้งรวบรวมพลอยู่แขวงเมืองราชบุรี มังมหานรธาคิดจะเข้ามาตีกรุงศรีอยุทธยาทางด้านใต้ สกัดทางมิให้ไทยหาเครื่องสาตราวุธแลเสบียงอาหารมาทางทเลได้ จึงจัดกองทัพเปน ๒ กองให้เมขะระโบคุมกองทัพเรือยกมาทางแม่กลองท่าจีน ตีเมืองธนบุรี เมืองนนทบุรีขึ้นไปจนถึงกรุง ฯ ทาง ๑ ตัวมังมหานรธาคุมกองทัพบกยกมาทางเมืองสุพรรณบุรีทาง ๑ ยกเข้ามาในเดือนยี่ปีระกาพร้อมกัน ฝ่ายพระยารัตนาธิเบศร์ซึ่งคุมพวกพลเมืองนครราชสิมารักษาเมืองธนบุรีอยู่นั้น ครั้นเห็นกองทัพพม่ายกมามากก็ไม่ต่อสู้ ทิ้งเมืองธนบุรีหนีกลับขึ้นไปกรุง ฯ พวกไพร่พลชาวเมืองนครราชสิมาก็พากันหนีกลับไปบ้านเมืองหมด๖ ขณะนั้นนายเรือกำปั่นอังกฤษลำ ๑ ซึ่งเข้ามาค้าขายอยู่ในกรุง ฯ รับอาสาช่วยรบพม่าเลื่อนเรือกำปั่นลงมาทอดที่เมืองธนบุรี แล้วเอาปืนใหญ่รายแคมเรือยิงข้าศึก ครั้นกองทัพที่รักษาเมืองธนบุรีหนีไปหมด พม่าก็ขึ้นบนป้อมวิไชยประสิทธิ์ เอาปืนใหญ่ที่บนป้อมยิงเรือกำปั่นอังกฤษต้องถอยหนีกลับขึ้นไปด้วย.
พม่าได้เมืองธนบุรีแล้วจึงยกกองทัพขึ้นไปตั้งค่ายที่บางกรวย ตรงวัดเขมาทั้ง ๒ ฟากแม่น้ำ หมายจะตีเมืองนนทบุรีต่อขึ้นไป ฝ่ายเรือกำปั่นอังกฤษซึ่งถอยหนีพม่าไปจากเมืองธนบุรี ครั้นขึ้นไปถึงกรุงฯ ไปขอปืนใหญ่ที่มีกำลังกว่าปืนรายแคมเรือ เอาลงตั้งในเรือสลุบ๗ แล้วกลับลงมาสู้พม่าที่เมืองนนทบุรีอิก ขอเรือยาวบรรทุกพลทหารในกองทัพพระยายมราชที่รักษาเมืองนนทบุรีจูงเรือสลุบเลื่อนลงมาในเวลากลางคืน พอถึงที่ได้ทางปืนก็จุดปืนใหญ่ยิงค่ายพม่าร่ำไป จนเวลาจวนสว่างจึงถอยเรือสลุบกลับขึ้นไปเสีย ยิงพม่าอยู่อย่างนี้หลายคืน ถูกพม่าล้มตายจนกองทัพพม่าต้องยั้งหยุดอยู่เพียงวัดเขมา ไม่อาจจะขึ้นไปตีเมืองนนทบุรีได้ ต่อมาพม่าคิดกลอุบาย พอเรือปืนลงไปยิง พม่าทำเปนแตกหนีไปจากค่าย อังกฤษกับพวกกองทัพไทยที่ไปด้วยสำคัญว่าพม่าหนีจริง ก็จอดเรือขึ้นที่ค่ายพม่า พากันบุกรุกเข้าค่ายเที่ยวค้นคว้าหวังจะจับเชลย ฝ่ายพม่าให้กองทัพซุ่มอยู่ในสวนข้างหลังค่าย เห็นไทยหลงละเลิงก็ยกกรูกันออกมาล้อมไล่ฆ่าฟันไทยตายลงเปนอันมาก ล้าต้าอังกฤษก็ตายคน ๑ กองทัพไทยก็แตกหนี นายเรืออังกฤษเห็นว่าจะต่อสู้พม่าไม่ไหวก็ล่องเรือกำปั่นเลยออกทเลไป ฝ่ายพระยายมราชเห็นเรือกำปั่นอังกฤษหนีไป ก็ทิ้งเมืองนนทบุรีพาไพร่พลถอยกลับขึ้นไปยังกรุงศรีอยุทธยาทั้งสิ้น๘ เมืองนนทบุรีก็เสียแก่พม่าข้าศึก กองทัพเมขะระโบได้เมืองธนบุรี เมืองนนท์แล้ว ยกต่อขึ้นไปก็ไม่มีผู้ใดต่อสู้ ขณะนั้นมังมหานรธาซึ่งยกมาทางบก มาตั้งอยู่ที่บ้านสีกุก กองทัพเรือเมขะระโบ จึงขึ้นไปตั้งอยู่ที่สามแยกบางไทร ฝ่ายกองทัพเนเมียวสีหบดีซึ่งลงมาทางข้างเหนือ ให้กองทัพยกจากเมืองนครสวรรค์ลงมาทางเมืองไชยนาททาง ๑ ทางเมืองอุไทยธานีเมืองสรรค์ทาง ๑ ก็ลงถึงเขตรกรุงฯ ในเดือน ๓ ปีระกาคราว ๆ เดียวกับกองทัพมังมหานรธา จึงมาตั้งอยู่ที่วัดป่าฝ้ายปากน้ำพระประสบข้างด้านเหนืออิกฝ่าย ๑.
เมื่อกองทัพมังมหานรธากับกองทัพเนเมียวสีหบดียกเข้ามาถึงเขตรกรุงศรีอยุทธยาทั้ง ๒ ทาง ก็เปนแต่มาตั้งอยู่ห่าง ๆ ยังไม่เข้าประชิดติดพระนคร ทำนองจะเห็นว่ากำลังยังน้อยอยู่ จึงรอกองทัพที่พระเจ้ามังระจะส่งเพิ่มเติมมาทีหลัง ในตอนนี้พม่าเปนแต่งกองโจรออกเที่ยวเก็บรวบรวมทรัพย์จับเชลยตามเขตรแขวงน้อยใหญ่รอบจังหวัดพระนคร หาปรากฎว่ากองทัพข้างในกรุง ฯ ยกออกไปรบพุ่งอย่างใดไม่.
แต่มีเรื่องอัศจรรย์เกิดขึ้นทางหัวเมืองในตอนนี้เรื่อง ๑ คือ เมื่อเดือน ๓ ปีระกา เนเมียวสีหบดีให้พวกพม่ากอง ๑ ไปเที่ยวค้นทรัพย์จับผู้คนทางเมืองวิเศษไชยชาญ พม่าบังคับราษฎรที่ยอมอยู่ในอำนาจให้นำไปเที่ยวค้นหาทรัพย์ ภายหลังพม่ารู้ว่าใครมีลูกสาวจะบังคับเรียกเอาลูกสาวด้วย พวกราษฎรก็พากันโกรธ จึงคิดจะแก้แค้นพม่า เข้ากันทั้งพวกที่ไปยอมอยู่กับพม่าแลพวกที่ยังหลบหลีกซุ่มซ่อนอยู่ มีตัวหัวน่า ๖ คน ชื่อนายแท่นคน ๑ นายโชติ๙คน ๑ นายอินคน ๑ นายเมืองคน ๑ ทั้ง ๔ คนนี้เปนชาวบ้านศรีบัวทองแขวงเมืองสิงห์ นายดอกบ้านกรับคน ๑ นายทองแก้วบ้านโพธิ์ทเลคน ๑ ทั้ง ๒ คนนี้เปนชาวเมืองวิเศษไชยชาญ นัดแนะกันลวงพม่าให้ไปค้นลูกสาวชาวบ้านที่บ้านป่าแห่ง ๑ แล้วกลุ้มรุมกันฆ่าฟันพม่าที่ไปตายหมดทั้ง ๒๐ คน แล้วจึงพากันหนีไปยังบ้านบางระจัน ด้วยเวลานั้นราษฎรชาวเมืองวิเศษไชยชาญแลเมืองสิงห์เมืองสรรค์หลบหนีพม่าไปอาไศรยอยู่ที่บ้านบางระจันมากด้วยกัน เพราะบ้านบางระจันมีเสบียงอาหารบริบูรณ์ แต่เปนบ้านดอนอยู่ที่พรมแดนเมืองวิเศษไชยชาญกับเมืองสุพรรณแลเมืองสิงห์ต่อกัน ข้าศึกจะไปถึงได้ยาก พวกที่หนีไปทีหลังไปนิมนต์พระอาจารย์ธรรมโชติวัดเขานางบวชแขวงเมืองสุพรรณ ซึ่งพวกชาวบ้านนับถือกันว่าเปนผู้รู้วิทยาคม ให้มาอยู่คุ้มครองที่วัดโพธิ์เก้าตนในบ้านบางระจันด้วย แล้วชักชวนกันตั้งซ่องต่อสู้พม่า พวกราษฎรก็เห็นชอบพร่อมกัน จึงรวบรวมกำลังได้ชายฉกรรจ์กว่า ๔๐๐ คน มีตัวหัวน่าอิก ๕ คน คือขุนสรรค์คน ๑ พันเรืองกำนันคน ๑ นายทองเหม็นคน ๑ นายจันทร์หนวดเขี้ยวคน ๑ นายทองแสงใหญ่คน ๑ ช่วยกันตั้งค่ายขึ้นวงรอบบ้านบางระจันเปน ๒ ค่าย แล้วจัดกันเปนหมวดหมู่เตรียมรักษาน่าที่พร้อมด้วยเครื่องสาตราวุธที่หาได้ในตำบลนั้น แล้ววางกองสอดแนมคอยสืบสวนพม่าที่จะติดตามไปมิได้ประมาท.
ฝ่ายพม่าที่เมืองวิเศษไชยชาญรู้ว่าพวกไทยที่ฆ่าพม่าหนีไปอยู่ที่บ้านบางระจัน ก็ยกกันไปประมาณ ๑๐๐ คน หมายว่าจะไปจับพวกที่หนีนั้น พวกชาวบ้านบางระจันรู้ความก็เตรียมรักษาค่าย แล้วจัดกันเปนกองรบขึ้นกอง ๑ ให้นายแท่นเปนนายใหญ่ พอพม่ายกไปถึงคลองบางระจัน ยังหยุดพักอยู่ข้างฝั่งใต้ นายแท่นก็คุมพวกกองรบ ๒๐๐ คนข้ามคลองมา พอถึงก็ตรูกันเข้าไล่ฟันแทงพม่า ๆ ไม่ทันรู้ตัว พม่ายิงปืนได้นัดเดียว ไทยก็เข้ากลุ้มรุมแทงฟันกระชั้นถึงตัว ฆ่าพม่าตายเกือบหมด เหลือแต่ตัวนายควบม้าหนีกลับมาได้สักสองสามคนเท่านั้น พวกชาวบ้านบางระจันเอาไชยชนะพม่าได้ก็มีใจ.
ครั้นกิติศัพท์รู้กันแพร่หลายว่า พวกชาวบ้านบางระจันรบชนะพม่า พวกราษฎรที่แตกฉานซุ่มซ่อนอยู่ตามแขวงหัวเมืองที่ใกล้เคียงก็พากันมาเข้าซ่องบ้านบางระจันมากขึ้นทุกที จนรวมได้กำลังตั้งพัน พวกหัวน่าก็จัดเปนหมวดกองควบคุมกันอย่างกองทัพยังขาดอยู่แต่ปืนมีน้อย จำต้องรบพุ่งข้าศึกแต่ด้วยอาวุธสั้นเปนพื้น ถึงกระนั้นพวกราษฎรนับถือวิทยาคมของพระอาจารย์ธรรมโชติ ๆ ลงผ้าประเจียดแลกะตุดพิศมรแจกจ่ายให้ทั่วกัน ต่างก็มีใจกล้าหาญ จึงเกิดกำลังตั้งต่อสู้พม่าขึ้นทางหัวเมืองด้วยประการฉนี้.
ฝ่ายนายกองพม่าที่ตั้งอยู่ที่เมืองวิเศษไชยชาญ เมื่อรู้ว่าพวกชาวบ้านบางระจันควบคุมกันต่อสู้ เห็นจะปราบปรามโดยมีกำลังที่มีอยู่ณเมืองวิเศษไชยชาญไม่ไหว จึงบอกเข้ามายังเนเมียวสีหบดีแม่ทัพใหญ่ข้างฝ่ายเหนือ ซึ่งตั้งอยู่ณปากน้ำพระประสบ แต่แรกเนเมียวสีหบดีสำคัญว่าเปนแต่อย่างซ่องโจร จึงให้งาจุนหวุ่นคุมกำลัง ๕๐๐ ยกไปปราบปรามพวกชาวบ้านบางระจัน ๆ รบพุ่งพวกพม่ากองงาจุนหวุ่นแตกกลับมา เนเมียวสีหบดีเกณฑ์กำลังเพิ่มเติมให้มากขึ้น ให้เยกินหวุ่นยกไปเปนครั้งที่ ๒ พวกชาวบ้านบางระจันก็ตีแตกพ่ายกลับมาอิก เนเมียวสีหบดีจึงให้ติงจาโบซึ่งเปนนายทหารมีฝีมือคุมพลยกไปเปนครั้งที่ ๓ ก็ไปแพ้พวกชาวบ้านบางระจันกลับมาอิกเหมือนหนหลัง.
เนเมียวสีหบดีเห็นว่าพวกชาวบ้านบางระจันมีกำลังเกินกว่าซ่องสามัญ จึงให้จัดเปนกองทัพมีจำนวนพล ๑,๐๐๐ เศษ สุรินทรจอข้องรับอาสาเปนนายทัพยกไปปราบปรามพวกชาวบ้านบางระจันเปนครั้งที่ ๔ สุรินทรจอข้องยกไปถึงทุ่งห้วยไผ่ใกล้บ้านบางระจันให้ตั้งค่ายลงณที่นั้น ฝ่ายพวกชาวบ้านบางระจันเห็นพม่ายกไปเปนกองทัพ จึงปฤกษากันให้นายแท่นเปนนายทัพใหญ่ ถือพล ๒๐๐ เปนกองกลาง ให้นายทองเหม็นถือพล ๒๐๐ เปนปีกขวา ให้พันเรืองกำนันถือพล ๒๐๐ เปนปีกซ้าย รวมพล ๖๐๐ ถือปืนคาบชุดคาบศิลาของชาวบ้านบ้าง ปืนของพวกพม่าที่ล้มตายแตกหนีเก็บได้ไว้บ้าง แต่ที่ถืออาวุธสั้นนั้นเปนพื้น นายทัพทั้ง ๓ คนนำพลทหารยกออกไปพร้อมกันทั้ง ๓ กอง ครั้นไปถึงที่สะตือสี่ต้นริมคลองบางระจันเห็นพม่าตั้งอยู่ข้างฝั่งใต้ พวกไทยก็ตั้งรายรับพม่าอยู่ทางฝั่งเหนือ ต่างยิงปืนตอบโต้กัน พม่าเห็นว่าไทยน้อยกว่าก็พากันระดมยิง หมายว่าจะให้ไทยล้มตายจนต้องแตกหนี แต่ไทยรู้ภูมิแผนที่ดีกว่าพม่า จึงคิดอ่านให้แยกกันไปทำทางข้ามคลองให้หลายทาง ส่วนพวกกองกลางบังตัวยิงพม่าไปพลาง ครั้นทำทางแล้วพวกไทยก็แยกกันข้ามคลองเข้าระดมตีพม่าพร้อมกันทั้ง ๓ กอง ขณะนั้นสุรินทรจอข้องนายทัพพม่าขี่ม้ากั้นร่มระย้าเครื่องยศอยู่ในหมู่พล กำลังให้ตีกลองเร่งพลรบ พวกไทยแลเห็นร่มระย้า รู้ว่าตัวนายทัพพม่าอยู่ตรงนั้นก็ตีทลวงเข้าไปจนถึงตัว ฟันสุรินทรจอข้องนายทัพพม่าตกม้าตาย แต่นายแท่นที่เปนผู้นำฝ่ายไทยก็ถูกปืนที่เข่าล้มลงในเวลาที่เข้าตีพม่านั้น พวกพลทหารต้องหามพาเอาตัวกลับมา ไทยกับพม่ารบกันตั้งแต่เช้าจนตวันเที่ยง ต่างเหนื่อยอ่อนลงด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย พวกพม่ามากกว่าไทย ๆ ตีไม่แตก พวกไทยก็ถอยกลับข้ามฟากคลองไปพักทางข้างฝั่งเหนือ ฝ่ายพวกผู้หญิงชาวบ้านบางระจันก็พากันหาอาหารตามออกมาเลี้ยงพวกทหาร แลขณะเมื่อกำลังเลี้ยงกันอยู่นั้น พวกกองสอดแนมไปบอกว่า เห็นพม่ากำลังพากันตั้งเตาหุงเข้าแลจัดการทำศพนายวุ่นอยู่ไม่ได้ระวังตัว นายทัพไทยให้พวกทหารกินอาหารอิ่มหนำ แล้วก็รีบยกกลับไปในทันใดนั้นทั้ง ๓ กอง ตรากตรงเข้าไล่ฟันแทงพวกพม่าข้าศึก ฝ่ายพม่ากำลังเตรียมหาอาหารสำหรับเวลาเย็น ที่เปนตัวนายก็กำลังสาลวนจัดการศพสุรินทรจอข้องอยู่ หาได้คาดว่าไทยจะกลับไปรบโดยเร็วเช่นนั้นไม่ ไม่ทันเตรียมตัวก็เสียทีแตกพ่ายมิได้เปนอันจะต่อสู้ พวกชาวบ้านบางระจันไล่ติดตามฆ่าฟันพม่าตั้งแต่เวลาบ่ายจนกระทั่งค่ำมืด จึงเลิกทัพกลับไป กองทัพพม่าที่ยกไปครั้งที่ ๔ ผู้คนนายไพร่ล้มตายเสียมากกว่าที่กลับมาได้ เสียทั้งเครื่องสาตราวุธยุทธภัณฑ์แลเสบียงอาหารพาหนะด้วยเกือบหมด ต่อมาเนเมียวสีหบดีแต่งกองทัพเพิ่มรี้พลให้แยจออากายกไปเปนครั้งที่ ๕ ให้จิกแกปลัดเมืองทวายยกไปเปนครั้งที่ ๖ พวกชาวบ้านบางระจันก็ตีแตกกลับมาอิกทั้ง ๒ ครั้ง แต่หาปรากฎรายการที่รบพุ่งกันไม่.
เนเมียวสีหบดีจึงให้นายทัพนายกองหาทหารสมัค เลือกสรรแต่ที่กล้าหาญประมาณ ๑,๐๐๐ เศษ จัดเปนกองทัพมีทั้งทหารม้าแลทหารราบ ให้อากาปันคยีเปนนายทัพยกไปเปนครั้งที่ ๗ ขณะนั้นพวกชาวบ้านบางระจันมีรี้พลมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่นายแท่นตัวนายทัพเดิมยังป่วยอยู่ตั้งแต่ถูกปืนพม่าเมื่อรบครั้งที่ ๔ ครั้นรู้ว่ากองทัพพม่ายกไปอิก แลมีทหารม้าไปด้วย จึงปฤกษากันให้จัดกองทัพจำนวนพล ๑,๐๐๐ เศษ ให้นายจันทร์หนวดเขี้ยวเปนนายใหญ่ แลให้ขุนสรรค์ซึ่งมีฝีมือยิงปืนแม่นเปนนายทหารปืน เลือกคัดเอาแต่คนที่มีฝีมือยิงปืนเข้าในกองนั้นประมาณ ๑๐๐ เศษไว้สำหรับสู้ทหารม้า ครั้นกองทัพพม่ายกไปถึงบ้านขุนโลก นายจันทร์หนวดเขี้ยวสืบรู้ว่ากำลังพม่าที่ยกไปพอไล่เลี่ยกับกองทัพไทย ไม่เสียเปรียบพม่า ก็ยกเข้าตีพม่าเวลากำลังตั้งค่ายยังไม่ทันแล้ว พม่าต่อสู้เปนสามารถ นายจันทร์หนวดเขี้ยวแบ่งกองทัพให้วกมาตีข้างด้านหลังค่ายพม่าอิกด้าน ๑ กองทัพพม่าถูกตีกระหนาบก็แตกพ่าย ไทยฆ่าฟันเสียเปนอันมาก ตัวอากาปันคยีนายใหญ่ก็ตายในที่รบ.
แต่พม่าพยายามปราบปรามพวกชาวบ้านบางระจันมาตั้งแต่เดือน ๔ ปีระกา จนถึงเดือน ๗ ปีจอ พ.ศ. ๒๓๐๙ ให้กองทัพยกไปถึง ๗ ครั้งก็แพ้ไทยมาทุกที เนเมียวสีหบดีก็ร้อนใจ ด้วยสังเกตเห็นพวกชาวบ้านบางระจันมีกำลังมากขึ้นทุกที เกรงจะยกเปนทัพใหญ่ลงมาตีกระหนาบ จะหาใครอาสาคุมพลไปปราบปรามพวกชาวบ้านบางระจันอิก พวกนายทัพนายกองพม่าก็พากันครั่นคร้ามเสียโดยมาก ขณะนั้นมีมอญคน ๑ เปนผู้ที่ได้เข้ามาอยู่ในเมืองไทยช้านานแล้ว ไปฝากตัวอยู่กับพม่า ได้ช่วยพม่ารบพุ่งแขงแรง จนเนเมียวสีหบดีตั้งให้เปนตำแหน่งสุกี้๑๐ เข้าไปรับอาสาจะตีซ่องไทยที่บ้านบางระจันให้แตกจงได้ เนเมียวสีหบดีจึงเกณฑ์กองทัพรวมทั้งพม่ามอญให้สุกี้คุมไปรบชาวบ้านบางระจันเปนครั้งที่ ๘ ฝ่ายสุกี้ได้คุ้นเคยกับไทยไม่ประมาทเหมือนพวกพม่า รู้ว่าไทยใจกล้า ถ้ารบพุ่งในที่แจ้งสู้ไทยไม่ได้ อิกประการ ๑ หนทางที่จะยกไปบ้านบางระจันเปนป่าเปลี่ยว ฝ่ายไทยชำนาญทาง จึงอาจจะซุ่มซ่อนถ่ายเทในกระบวนรบเอาไชยชนะพม่ามาได้หลายคราว สุกี้ระมัดระวังตั้งแต่แรกยกไป ไปถึงไหนก็ตั้งค่ายที่พักเปนค่ายมั่นทุกแห่ง ค่อยๆ ยกไปช้าๆ ไม่เร่งร้อน ครึ่งเดือนจึงยกไปถึงเขตรบ้านบางระจัน ครั้นพวกไทยยกออกมารบ สุกี้ก็รบสู้อยู่แต่ในค่าย พวกชาวบ้านบางระจันตีค่ายสุกี้หลายครั้งก็ตีไม่ได้ ด้วยค่ายที่พม่าตั้งนั้นมั่นคง ไม่มีปืนใหญ่ที่จะยิงทำลายค่าย ไปตีทีไรก็ถูกพม่ายิงเจ็บป่วยล้มตายเปลืองลงไปทุกที จนมิรู้ที่จะทำอย่างไร วันหนึ่งนายทองเหม็นกำลังเมาสุรานึกรำคาญขึ้นมาก็ขึ้นขี่กระบือพาพวกทหารกอง ๑ ตรงตรากเข้าไปรื้อแย่งค่ายพม่า ๆ เห็นไทยไปน้อยก็ออกต่อรบ นายทองเหม็นขับกระบือนำพลไล่ถลำเข้าไปกลางพวกข้าศึก ถูกพม่าทุบตีตาย พวกไพร่พลก็แตกหนีกลับมาเปนครั้งแรกที่แพ้พม่า พวกชาวบ้านบางระจันจึงปฤกษากันมีใบบอกเข้ามายังเสนาดีที่ในกรุง ฯ ขอปืนใหญ่กับกระสุนดินดำไปยิงค่ายพม่า แต่ข้างในกรุงฯ ไม่ยอมให้ไป เพราะเกรงข้าศึกจะชิงเอาไปเสียกลางทาง แต่เปนพระยารัตนาธิเบศร์ออกไปที่บ้านบางระจัน ไปเรี่ยรายเครื่องภาชนะทองเหลืองทองขาวของชาวบ้านหล่อปืนใหญ่ขึ้นที่บ้านบางระจัน ๒ กระบอก แต่ก็หล่อร้าวรานเสียใช้ไม่ได้ พวกชาวบ้านบางระจันก็หมดทางที่จะต่อสู้เอาไชยชนะข้าศึกได้ ด้วยรี้พลมีแต่ตายเปลืองไปทุกที ทั้งนายแท่นผู้นำทัพที่ถูกปืนป่วยมานั้นก็ตายลง ขุนสรรค์กับนายจันทร์หนวดเขี้ยวซึ่งเปนผู้นำทัพในชั้นหลัง ออกไปตีค่ายพม่าก็ถูกอาวุธข้าศึกตายทั้ง ๒ คน ยังเหลือแต่พันเรืองกำนันกับนายทองแสงใหญ่เปนหัวน่าควบคุมคนอยู่ต่างก็พากันท้อใจ การที่ต่อสู้พม่าก็อ่อนแอลง ฝ่ายสุกี้เห็นว่าพวกชาวบ้านบางระจันจวนจะสิ้นกำลังอยู่แล้วก็ให้ขุดอุโมงค์เข้าไปตั้งค่ายประชิดบ้านบางระจัน แล้วปลูกหอรบเอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งจังกายิงเข้าไปในค่ายไทย จนเห็นว่าผู้คนพากันระส่ำระสายแล้วก็ให้ยกกรูกันเข้าปล้นค่าย ฝ่ายพวกชาวบ้านบางระจันต่อสู้จนสิ้นกำลังก็เสียค่ายแก่ข้าศึกเมื่อณวันจันทร์ เดือน ๘ แรม ๒ ค่ำ ปีจอ พ.ศ. ๒๓๐๙ รวมเวลาแต่ตั้งต่อสู้พม่ามาได้ ๕ เดือน พวกชาวบ้านบางระจันตายเสียเปนอันมาก ที่เหลือตายหนีพม่าไปได้บ้าง พม่าจับเอาไปเปนเชลยบ้าง แต่พระอาจารยธรรมโชตินั้นเลยหายสูญไป จะถึงมรณภาพในเวลาเสียค่ายแก่พม่าฤๅหนีรอดไปได้หาปรากฎไม่ เรื่องราวของพวกนักรบบ้านบางระจันมีมาดังนี้ คนทั้งปวงจึงยกย่องเกียรติยศมาจนตราบเท่าทุกวันนี้.
ทีนี้จะกลับกล่าวถึงข้างในกรุงศรีอยุทธยาต่อไป ในตอนเมื่อพม่าเข้ามาตั้งอยู่ที่บ้านสีกุกแลที่ปากน้ำพระประสบนี้ ปรากฎแต่ว่าให้กวาดต้อนราษฎรแลขนเสบียงอาหารเข้าไปไว้ในพระนครทั้งสิ้น สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดประดู่โรงธรรม ก็เสด็จเข้าไปอยู่ที่วัดราชประดิษฐาน ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่ามีข้าราชการไปทูลวิงวอนให้ลาผนวชออกทรงบัญชาการรักษาพระนครไม่ขาด เวลาเสด็จบิณฑบาตก็มีราษฎรเขียนหนังสือเชิญลาผนวชใส่ถวายไปกับเข้าบาตรทุก ๆ วัน แต่ทำนองจะเห็นสมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงเฉยอยู่ก็มิได้ลาผนวชจนตลอดเวลาสงคราม ทั้งในหนังสือพระราชพงษาวดารแลพงษาวดารพม่าไม่ปรากฎว่า ในระหว่าง ๓ เดือน ตั้งแต่เดือน ๓ ปีระกา จนราวเดือน ๖ ปีจอนั้น กองทัพไทยได้ยกออกไปรบพุ่งพม่าเลยสักครั้งเดียว คิดดูก็น่าสงไสยว่าเหตุใดจะนิ่งเสียทีเดียว แต่เมื่อไม่มีหลักฐานที่จะเห็นว่าได้ไปรบ ก็จำต้องสันนิฐานแต่ตามเรื่องที่ปรากฎ ทำนองจะเปนเพราะกองทัพไทยไปแพ้พม่ามาติดๆ กันหลายครั้ง ตั้งแต่ไปรบที่เมืองกาญจนบุรีเปนต้น มาจนรบกันที่เมืองนนทบุรีเมื่อก่อนพม่าจะขึ้นไปถึงแขวงกรุงฯ รัฐบาลเห็นว่าไพร่พลครั่นคร้ามพม่านัก จึงคิดเพียงจะรักษาพระนครไว้ให้มั่นคงเสียชั้น ๑ ให้มีเวลาฝึกฝนปรนปรือผู้คนพลทหารให้เข้มแขงในการศึก อิกสถาน ๑ คิดจะถ่วงเวลาไปให้ถึงระดูฝน พอน้ำเหนือหลากมา ถ้าพม่าไม่เลิกทัพกลับไปเอง ถึงจะรบพุ่งเอาไชยชนะก็จะไม่ยากเท่าใดนัก ทำนองจะคิดเห็นเปนยุติดังกล่าวมานี้ จึงมิได้แต่งกองทัพไปรบพม่า ความที่สันนิฐานดังนี้มีเค้าเงื่อนประกอบ ด้วยมีเนื้อความในจดหมายเหตุของพวกบาดหลวงซึ่งอยู่ที่กรุงศรีอยุทธยาในเวลานั้น (กล่าวเปนการติเตียนไว้อย่าง ๑) ว่าเมื่อศึกพม่ามาตั้งอยู่ในเขตรพระนครครั้งนั้น ฝ่ายไทยไม่ได้คิดอ่านที่จะออกไปรบพุ่งข้าศึกตามวิธียุทธ (อย่างที่ฝรั่งเข้าใจกัน) มัวแต่คิดจะออกไปรบไม่ให้ข้าศึกเห็นตัวบ้าง คิดจะมิให้เปนอันตรายด้วยคมอาวุธข้าศึกบ้าง ความที่ฝรั่งกล่าวข้อนี้หมายความว่าตั้งพิธีทางวิทยาคม เพื่อจะให้ล่องหนหายตัวได้ แลจะให้อยู่คงกระพันชาตรีนั้นเอง เห็นจะทำกันจริง เพราะในสมัยนั้นทั้งไทยเราแลชาวประเทศอื่นทางนี้ยังเชื่อถือกันมั่นคงมาก คงเปนด้วยเห็นไพร่พลพากันหวาดหวั่นครั่นคร้ามข้าศึก เพราะไปพ่ายแพ้ติด ๆ กันมาหลายคราวดังกล่าวมาแล้ว จึงคิดจะปลุกใจไพร่พลให้กล้าหาญ จะติเตียนว่าไม่ดีทีเดียวว่าไม่ได้ แต่ที่จะได้ผลดีฤๅร้ายประการใดในสงครามก็ต้องสุดแต่ความสามารถของผู้ที่เปนหัวน่าในการทัพเปนประมาณ จะเห็นได้ในเรื่องราวต่อไปนี้ คือ
ครั้นถึงราวเดือน ๖ ปีจอ พ.ศ. ๒๓๐๙ เมื่อได้ข่าวเข้ามาถึงในกรุง ฯ ว่าพวกชาวบ้านบางระจันรบชนะพม่าหลายครั้ง พวกที่ในกรุง ฯ ก็พากันมีใจ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศจึงรับสั่งให้จัดกองทัพมีจำนวนพล ๑๐,๐๐๐ ให้พระยาพระคลังถืออาญาสิทธิเปนแม่ทัพยกไปตีค่ายพม่าที่ตั้งอยู่ปากน้ำพระประสบข้างฝ่ายเหนือ กองทัพที่ยกไปคราวนี้ปรากฎว่ามีกองอาทมาต คือผู้ที่ชำนาญวิชาอาคมนำน่าไป ไทยรบพุ่งกล้าหาญเกือบตีได้ค่ายพม่า แต่แม่ทัพไม่ได้ตระเตรียมเครื่องบังตัวคนที่จะเข้าไปตั้งประชิดค่ายข้าศึก จึงต้องถอยกลับมาเสียคราว ๑ ต่อมาอิกสองสามวันพอเตรียมเครื่องบังตัวพร้อมก็ยกไปตีค่ายพม่าที่ปากน้ำพระประสบอิก คราวนี้ถึงมีพวกราษฎรชาวเมืองตามกองทัพออกไปด้วยเปนอันมาก๑๑ ฝ่ายพม่าเห็นไทยรบพุ่งเข้มแขงกว่าแต่ก่อนก็ออกครั่นคร้าม จึงคิดกลอุบาย พอกองทัพไทยยกไปถึงคราวหลังพม่าทำเปนหนีออกทางหลังค่ายให้ไทยเห็น พวกกองอาทมาตไม่รู้เท่า สำคัญว่าพม่าหนีจริงก็นำพลเข้าค่ายไล่จับพม่า พวกกองทัพพม่าที่ซุ่มอยู่ก็ออกตีโอบกองทัพไทย แล้วให้กองทหารม้าวกมาตีกระหนาบข้างหลังอิกทาง ๑ กองทัพไทยก็เสียที พม่าฆ่าฟันทั้งพวกกองทัพแลพวกราษฎรที่ตามไปด้วยล้มตายเปนอันมาก กองทัพพระยาพระคลังก็แตกหนีกลับมา วันนั้นหากว่ากองทัพพระยาตากสินไม่แตกช่วยรบข้าศึกป้องกันมาข้างหลัง กองทัพไทยจึงมิได้แตกยับเยิน เนเมียวสีหบดีนายทัพพม่ามีไชยชนะกองทัพไทยเห็นได้ที ก็ให้กองทัพน่ายกลงมาตั้งค่ายที่บ้านโพธิ์สามต้น ให้ใกล้พระนครเข้ากว่าแต่ก่อน ฝ่ายมังมหานรธานายทัพพม่าข้างใต้ได้กองทัพมอญเพิ่มเติมมา ให้กองมอญตั้งรักษาเมืองราชบุรีแทนกองทัพพม่าแล้ว ก็ให้กองทัพน่ายกขึ้นไปตั้งที่ขนอนหลวงริมวัดโปรดสัตว์ ให้ใกล้พระนครทางข้างด้านใต้อิกแห่ง ๑ ในพงษาวดารพม่ากล่าวว่า พระเจ้าเอกทัศให้พระยาตากสินคุมกองทัพยกออกไปตีค่ายพม่าครั้ง ๑ คงเปนค่ายที่วัดโปรดสัตว์นี้เอง ว่าพระยาตากสินตีได้ค่ายพม่า แต่ครั้นกองทัพมังมหานรธายกหนุนขึ้นไป พระยาตากสินมีกำลังไม่พอที่จะรักษาค่ายไว้ได้ ก็ต้องทิ้งค่ายถอยกลับเข้าไปในพระนคร แต่พม่าก็ยังไม่รีบรัดเข้าตีกรุงศรีอยุทธยา ทำนองความคิดพม่ายังหมายแต่จะปิดทางลำเลียงเสบียงอาหารมิให้ส่งเข้าไปได้ถึงในกรุงฯ ประสงค์จะให้ไทยอดอยากอัตคัดจนสิ้นกำลังเสียก่อน จึงจะเข้าตีกรุง ฯ ต่อภายหลัง ฤๅจะเปนด้วยความไม่พร้อมเพรียงกันในหมู่พม่าด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งก็เปนได้ เพราะกองทัพพม่าที่ยกมาคราวนี้แม่ทัพทางเหนือกับแม่ทัพทางใต้ต่างเปนอิศรแก่กัน ด้วยเดิมยกเข้ามาหมายแต่จะมาปล้นดังกล่าวมาแล้ว ครั้นเมื่อเข้ามาถึงกรุง ฯ แม่ทัพพม่าทั้ง ๒ ฝ่ายต่างไม่ยอมอยู่ในบังคับบัญชากันกองทัพทั้ง ๒ ทางจึงมิใคร่จะพร้อมเพรียงกันได้ ที่ยังไม่เข้าตั้งประชิดถึงกรุง ฯ น่าจะเปนด้วยเหตุข้อหลังนี้ยิ่งกว่าด้วยเหตุอย่างอื่น.
ครั้งนั้นเมื่อกิติศัพท์ทราบออกไปถึงหัวเมืองที่ห่างไกล ว่าพม่ายกกองทัพเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุทธยาไว้ ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธพี่ยาเธอ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าเอกทัศให้ส่งไปคุมไว้ที่เมืองจันทบุรี ก็หนีมาลาผนวชออกชักชวนพวกชาวเมืองชายทเลตวันออกให้เข้ามาช่วยแก้กรุงศรีอยุทธยา มีพวกกรมการแลราษฎรพากันเข้าอาสาเปนอันมาก กรมหมื่นเทพพิพิธจึงยกขึ้นมาทางเมืองระยอง เมืองบางละมุง เมืองชลบุรี มาถึงเมืองไหนก็มีผู้คนเมืองนั้นเข้าอาสา เพราะหัวเมืองทางนั้นพม่ามิได้ลงไปถึง ผู้คนยังบริบูรณ์ กรมหมื่นเทพพิพิธจึงได้รี้พลเพิ่มเติมมากขึ้น จนมีจำนวนพลกว่า ๑๐,๐๐๐ ก็จัดเปนกองทัพยกมาตั้งอยู่ที่เมืองปราจิณบุรี เห็นจะมาถึงเมื่อเดือน ๘ ปีจอ ราวๆ เวลาที่พม่าตีได้ค่ายบางระจัน กรมหมื่นเทพพิพิธจึงให้หมื่นเก้า หมื่นศรีนาวา กรมการเมืองปราจิณกับนายทองอยู่น้อย๑๒ ชาวเมืองชลบุรี ซึ่งเปนนายซ่องคุมพล ๒,๐๐๐ เปนกองน่า ยกมาตั้งค่ายอยู่ที่ปากน้ำโยทะกา แล้วให้คนสนิทเข้ามารับหม่อมห้ามแลหม่อมเจ้าในกรมออกไปจากกรุง ฯ ครั้นที่ในกรุง ฯ รู้กันว่ากรมหมื่นเทพพิพิธยกกองทัพมาตั้งอยู่ที่เมืองปราจิณ ก็มีคนหนีออกไปเข้ากันกรมหมื่นเทพพิพิธเปนอันมาก ด้วยในเวลานั้นพม่าเปนแต่เที่ยวปล้นสดมยังมิได้ล้อมกรุงฯ กวดขัน คนในพระนครยังเล็ดลอดหนีไปได้ไม่ยาก แม้ถึงข้าราชการที่ไม่เปนใจจะรบพุ่งในทางกรุง ฯ ก็หนีไปอยู่กับกรมหมื่นเทพพิพิธหลายคน มีพระยารัตนาธิเบศร์ซึ่งว่าที่จตุสดมภ์กรมวังเปนต้น ครั้นมังมหานรธาแม่ทัพพม่าทางข้างใต้ทราบว่ามีกองทัพไทยยกมาทางตวันออก จะมาช่วยกรุงศรีอยุทธยา จึงให้เมขะระโบกับแนกวนจอโบคุมกองทัพพม่าจำนวนพล ๓,๐๐๐ ยกออกไป ไปถึงปากน้ำโยทะกาก็เข้าตีค่ายกองทัพน่าของกรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งตั้งอยู่ที่นั้น ได้รบพุ่งกันเปนสามารถ จนหมื่นเก้า หมื่นศรีนาวา นายทัพตายในที่รบ พวกไทยเหลือกำลังก็แตกหนีกระจัดกระจายไป เมื่อพม่าตีได้ค่ายที่ปากน้ำโยทะกาแล้ว ทำนองเมขะระโปจะได้ความว่ากองทัพไทยที่ตั้งอยู่เมืองปราจิณบุรีเปนทัพใหญ่มีกำลังมาก จึงเลิกทัพกลับมาแจ้งความแก่มังมหานรธา ๆ ก็จัดกองทัพพม่าเปนทัพบกทัพ ๑ ทัพเรือทัพ ๑ ให้ยกไปเมืองปราจิณบุรี ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธกับพระยารัตนาธิเบศร์ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองปราจิณ ครั้นทราบว่าพม่ายกไปทั้งกองทัพบกทัพเรือก็ไม่คิดจะต่อสู้ พาแต่ครอบครัวอพยพหนีไปเมืองนครราชสิมาทางช่องเรือแตก ครั้นพวกชาวหัวเมืองซึ่งอาสามาด้วยเห็นผู้ที่เปนหัวน่าหนีเอาตัวรอดไปเสียแล้ว ต่างก็พากันแยกย้ายกลับไปยังบ้านเมืองของตน เรื่องราวการสงครามที่กล่าวมาตอนนี้ตั้งแต่ในเดือน ๓ ปีระกา มาจนเดือน ๙ ปีจอ รวมเวลาเปน ๖ เดือนด้วยกันนับเปนระยะที่ ๒.
ทีนี้จะกล่าวถึงเรื่องราวการสงครามซึ่งนับว่าเปนชั้นที่ ๓ ต่อไป ในพงษาวดารพม่าว่า เมื่อถึงระดูฝน เห็นจะราวในเดือน ๙ ปีจอ พวกนายทัพนายกองพม่าพากันไปร้องทุกข์ต่อมังมหานรธา ว่าฝนตกชุกแล้ว ไม่ช้าน้ำเหนือก็จะหลากลงมา จะรบพุ่งต่อไปเห็นจะเปนการลำบากนัก ขอให้เลิกทัพกลับไปเสียสักคราว ๑ เมื่อถึงระดูแล้งจึงกลับมาตีกรุงศรีอยุทธยาใหม่ มังมหานรธาไม่เห็นชอบด้วย ว่ากรุงศรีอยุทธยาขัดสนเสบียงอาหารแลกระสุนดินดำจนอ่อนกำลังจวนจะตีได้อยู่แล้ว ฝ่ายข้างกองทัพพม่าก็ได้ตระเตรียมทำไร่นา หาอัตคัดสิ่งใดไม่ ถ้าเลิกทัพกลับไปเสีย ไทยก็จะได้ช่องหากำลังมาเพิ่มเติม จะเตรียมรักษาบ้านเมืองกวดขันยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ถึงยกมาอิกที่ไหนจะตีได้ง่ายเหมือนครั้งนี้ มังมหานรธาจึงไม่ยอมให้ถอยทัพกลับ ให้เที่ยวตรวจหาที่ดอน เช่นโคกวัดอันมีอยู่รอบพระนคร แล้วกะปันน่าที่ให้กองทัพไปตั้งค่ายสำหรับที่จะอยู่เวลาระดูน้ำ แลให้ผ่อนช้างม้าพาหนะพาไปเลี้ยงตามดอนในหัวเมืองที่ใกล้เคียง แล้วให้เที่ยวรวบรวมเรือใหญ่น้อยมาไว้ใช้ในกองทัพเปนอันมาก.
พอกองทัพพม่าเตรียมการที่จะตั้งทำศึกค้างระดูฝนเสร็จแล้ว มังมหานรธาก็ป่วยลงแล้วถึงแก่ความตายที่ค่ายบ้านสีกุก แต่เหตุที่มังมหานรธาตายนั้นกลับเปนโทษแก่ฝ่ายไทย ด้วยแต่ก่อนมากองทัพพม่าข้างเหนือกับข้างใต้มักเกี่ยงแย่งด้วยเปนอิศรแก่กัน ครั้นมังมหานรธาตาย เนเมียวสีหบดีได้เปนแม่ทัพใหญ่ บังคับบัญชากองทัพพม่าทั้งหมดแต่ผู้เดียว ก็สั่งให้กองทัพทั้งฝ่ายเหนือฝ่ายใต้สมทบกันเข้าตั้งล้อมกรุงศรีอยุทธยา ตัวเนเมียวสีหบดีย้ายจากค่ายปากน้ำพระประสบมาอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ให้กองน่าเข้ามาตั้งค่ายที่วัดภูเขาทอง แล้วให้รุกเข้ามาตั้งค่ายวัดท่าการ้องอิกแห่ง ๑ ฝ่ายข้างในกรุงฯ เห็นพม่าเข้ามาตั้งค่ายถึงวัดท่าการ้อง ทางปืนใหญ่จะยิงได้ถึงพระนคร ก็ให้กองทัพเรือยกออกไปตีค่ายพม่า มีรายการในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า กองทัพเรือที่ยกไปครั้งนี้เปนพวกกรมทหารอาสาหกเหล่า แต่ใครจะเปนตัวนายทัพหาปรากฎไม่ กล่าวแต่ว่ามีนายฤกษ์คน ๑ ถือดาบสองมือรำไปข้างน่าเรือ พอพม่ายิงปืนมาถูกนายฤกษ์ตกน้ำลง กองทัพเรือก็ถอยกลับคืนเข้ากรุงฯ ทั้งหมด ความที่กล่าวมานี้พิเคราะห์ดูเห็นว่า คงเปนด้วยเรื่องเชื่อถือวิทยาคมนั้นเอง นายฤกษ์คนนั้นเห็นจะเปนตัวอาจารย์ รำดาบเศกเป่าไปน่าทัพ โดยเชื่อว่าอาจจะคุ้มครองป้องกันอันตรายกองทัพได้ทั้งหมด ครั้นตัวอาจารย์ถูกปืนตายเอง พวกกองทัพก็พากันใจฝ่อ ผู้ที่คุมทัพเห็นว่า ถ้าขืนเข้าไปรบก็เห็นจะเปนเครื่องแต่สำหรับจะไปแตกไปตายไม่เปนการ จึงให้ถอยทัพกลับมา ดูเปนการนิทัศนอุทาหรณ์ให้เห็นว่าสิ่งใดแม้จะเปนของดี ถ้าไม่รู้จักใช้อาจจะกลายเปนของชั่วไปได้เหมือนกับการที่เชื่อถือวิทยาคมงมงายเกินไป คน ๆ เดียวอาจจะพาให้คนนับร้อยถอยหนีข้าศึกมาได้ฉนี้ แต่เมื่อกองทัพกลับเข้ามาในพระนครแล้ว จะตัดสินลงโทษผู้นำทัพตามพระไอยการศึกฤๅอย่างไรหาได้ความต่อไปไม่ แต่นี้การรบพุ่งก็เปนแต่เอาปืนใหญ่ตั้งยิงกันทั้ง ๒ ฝ่าย พม่าตั้งค่ายที่วัดภูเขาทอง วัดท่าการ้อง แล้วตั้งค่ายรายต่อลงมาที่วัดกระชาย วัดพลับพลาไชย วัดเต่า วัดสุเรนทร วัดแดง ข้างด้านตวันตก ตั้งปืนใหญ่ยิงเข้าไปในพระนคร ฝ่ายข้างไทยก็ให้ข้ามออกไปตั้งค่ายกันพระนครไว้ทุกด้าน ด้านเหนือตั้งที่วัดน่าพระเมรุแห่ง ๑ ที่พเนียดแห่ง ๑ ด้านตวันออกตั้งที่วัดมณฑปแห่ง ๑ ที่วัดพิไชยแห่ง ๑ ที่วัดเกาะแก้วแห่ง ๑ ด้านใต้ให้หลวงอภัยพิพัฒน์ขุนนางจีนคุมพวกจีนบ้านนายก่าย ๒,๐๐๐ ลงไปตั้งค่ายที่บ้านสวนพลูแห่ง ๑ ให้พวกคฤศตังตั้งค่ายที่ริมวัดพุทไธสวรรย์แห่ง ๑ ด้านตวันตกให้กรมอาสาหกเหล่าตั้งค่ายที่วัคไชยวัฒนารามแห่ง ๑ รวมเปน ๙ แห่งด้วยกัน๑๓ การตั้งค่ายตอนนี้เปนเวลาจวนน้ำหลาก ต้องเที่ยวหาที่ดอนตั้งด้วยกันทั้งฝ่ายไทยแลฝ่ายพม่า แต่ปืนใหญ่ที่ยิงโต้ตอบกันนั้นไทยมีปืนประจำเมืองได้เปรียบพม่า จึงคิดอ่านเอาปืนขนาดใหญ่ๆ ขึ้นตั้งยิงบนป้อม มีเรื่องเล่ากันมา๑๔ เปนอุทาหรณ์ของความเสื่อมทรามในครั้งนั้นว่า เมื่อเอาปืนชื่อปราบหงษา ซึ่งเปนอย่างใหญ่ที่มีอยู่ขึ้นตั้งบนป้อมมหาไชยจะยิงพม่า แต่แรกเจ้าน่าที่ไม่กล้ายัดดินดำให้เต็มขนาด กลัวแก้วหูจะแตกด้วยเสียงปืน ลดดินดำลงแล้วยังมีคนขอให้ลดลงอิกเล่า จนที่สุดเมื่อยิงไปกระสุนปืนไปตกไม่ถึงคูเมือง เปนได้ถึงอย่างนี้ ข้างฝ่ายที่กล้าก็ตรงกันข้าม ดังปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พระศรีสุริยพาหะ ซึ่งเปนเจ้าน่าที่รักษาป้อมซัดกบ มุมพระนครข้างตวันตกเฉียงเหนือ เอาปืนชื่อมหากาลมฤตยูราชขึ้นบนป้อม แล้วเอาลูกดินยัดทวีขึ้น ๒ เท่า ประสงค์จะยิงให้ถึงค่ายพม่าที่ภูเขาทอง ยิงได้นัดเดียวปืนก็เลยร้าวรานใช้ไม่ได้ต่อไป แลยังมีเรื่องเล่ากันเปนเรื่องเกร็ดอิกหลายอย่าง แต่ยิงโต้ตอบกันไปมาจนกระสุนดินดำข้างในพระนครบกพร่องลง ถึงต้องเอาดินปั้นเผาไฟทำเปนกระสุนปืนใหญ่๑๕ แลต่อมาชั้นหลังถึงตั้งกฎประกาศแก่เจ้าน่าที่ว่า ถ้าใครจะยิงปืนใหญ่ต้องให้มาบอกขออนุญาตที่ศาลาลูกขุนเสียก่อน เลยเปนมูลเหตุเกิดการสำคัญในเรื่องพงษาวดาร คือ พระยาตากสินเปนเจ้าน่าที่รักษาการด้านตวันออกอยู่ที่วัดเกาะแก้ว (ตรงหน้าวัดสุวรรณข้ามฟาก) เห็นพม่ายกเข้ามาเอาปืนใหญ่ยิงข้าศึกไม่มาบอกศาลาลูกขุน มีโจทย์ฟ้องเกือบจะต้องถูกลงโทษ หากว่าได้มีบำเหน็จความชอบมาจึงได้รับกรุณาเพียงภาคทัณฑ์โทษไว้๑๖ แต่นั้นพระยาตากสินก็ท้อใจจึงคิดหนีจากพระนคร
ถึงเดือน ๑๒ เวลาน้ำท่วมทุ่งได้ข่าวเข้ามาในกรุง ฯ ว่าพม่ายกทัพเรือลัดทุ่งหนีทางปืนขึ้นมาจากค่ายที่บางไทรแลที่ขนอนหลวงวัดโปรดสัตว์ ทำนองจะมาตรวจเตรียมล้อมกรุง ฯ ข้างด้านตวันออก สมเด็จพระเจ้าเอกทัศจึงตรัสสั่งให้พระยาเพ็ชรบุรีคุมกองทัพเรือกอง ๑ พระยาตากสินคุมกอง ๑ ยกออกไปตั้งที่วัดใหญ่คอยสกัดตีกองทัพพม่าที่ยกมาทางท้องทุ่ง ครั้นพม่ายกมาอิกคราว ๑ พระยาเพ็ชรบุรีจะยกทัพเรือออกไปตีกองทัพพม่า พระยาตากสินเห็นว่าเหลือกำลัง พระยาเพ็ชรบุรีไม่ฟัง ขืนยกออกรบพม่าที่ริมวัดสังฆาวาศ กองทัพพม่ามากกว่าก็เข้าล้อมพระยาเพ็ชรบุรีไว้ แล้วเอาหม้อดินดำทิ้งไปในเรือพระยาเพ็ชรบุรี ดินระเบิดเรือแตก พระยาเพ็ชรบุรีตายในที่รบ พวกกองทัพที่เหลือตายก็แตกหนี ส่วนกองทัพพระยาตากสินก็หาเข้ารบกับพม่าไม่ ถอยกลับมาตั้งอยู่ที่วัดพิไชย๑๗ แต่นั้นพระยาตากสินก็ไม่เข้าไปในพระนครอิก ครั้นถึงเดือนยี่ พอแผ่นดินแห้งก็พาสมัคพรรคพวกตีฝ่าพม่าหนีไปทางทิศตวันออก อันเรื่องราวของพระยาตากสินจะมีในตอนข้างหน้าโดยพิศดาร ในที่นี้จะกล่าวเฉภาะเรื่องที่พม่าตีกรุงศรีอยุทธยาต่อไป.
คราวนี้เรื่องราวการสงครามถึงชั้นระยะที่ ๔ แลเปนที่สุด พอน้ำลดถึงระดูแล้ง ฝ่ายพม่าได้กองทัพเพิ่มเติมมาอิก ก็รวบรวมกำลังกลับมารบพุ่งกวดขันขึ้น แต่ฝ่ายกองทัพไทยที่รักษาพระนครนั้นตั้งต้นจับระส่ำระสาย ด้วยรู้กันว่าหมดช่องทางที่จะเอาไชยชนะพม่าได้ พวกจีนในกองทัพที่ไปตั้งค่ายอยู่สวนพลูคิดจะเอาตัวรอดก่อน คบคิดกันประมาณ ๓๐๐ คนพากันขึ้นไปยังพระพุทธบาท ไปลอกทองคำที่หุ้มพระมณฑปน้อยแลแผ่นเงินที่ดาดพื้นพระมณฑปใหญ่มาแบ่งปันกันเปนอาณาประโยชน์ แล้วเอาไฟเผามณฑปพระพุทธบาทเสียหวังจะให้ความสูญ ต่อมาไม่ช้าพม่ายกเข้ามาตีค่ายที่พเนียดได้ ตัวเนเมียวสีหบดีแม่ทัพพม่าก็เข้ามาตั้งอยู่ที่พเนียด ให้กองทัพพม่าเข้าตีค่ายไทยที่ออกไปตั้งป้องกันพระนครข้างด้านเหนือแตกกลับเข้ามาในกรุง ฯ หมดทุกค่าย แล้วพม่าก็เข้ามาตั้งค่ายประชิดพระนครข้างด้านเหนือ ที่วัดกุฎีแดง วัดสามพิหาร วัดกระโจม วัดศรีโพธิ์ วัดนางชี วัดแม่นางปลื้ม วัดมณฑป ให้ปลูกหอรบเอาปืนขึ้นจังกายิงเข้าไปในพระนครทุกวันมิได้ขาด ส่วนพม่าทัพข้างใต้ก็ยกขึ้นมาตีได้ค่ายไทยที่วัดพุทไธสวรรย์ แล้วไปตีค่ายที่วัดไชยวัฒนาราม รบกันอยู่ได้แปดเก้าวันก็เสียค่ายแก่พม่า ค่ายจีนที่บ้านสวนพลูก็เสียแก่พม่าเหมือนกัน แต่ค่ายที่วัดพิไชยนั้นพระยาตากสินหนีทิ้งไปเสียแต่ก่อนพม่ายกมาตีแล้ว
ฝ่ายข้างในพระนครถูกพม่าล้อมมาช้านาน เสบียงอาหารอัตคัดเข้าก็เกิดเปนโจรผู้ร้ายแย่งชิงกันชุกชุมขึ้นทุกที ครั้นณวันเสาร์เดือนยี่ ขึ้น ๔ ค่ำปีจอ เวลากลางคืนเกิดไฟไหม้ในพระนคร ไหม้ตั้งแต่ท่าทรายริมกำแพงข้างด้านเหนือ ลุกลามมาทางประตูเข้าเปลือกแล้วไฟข้ามมาติดบ้านเรือนแขวงป่ามะพร้าวตลอดไปถึงแขวงป่าโทน ป่าถ่าน ป่าตอง ป่ายา ไหม้วัดมหาธาตุ วัดราชบุรณ ไปจนวัดฉัททันต์ ไฟไหม้กุฎีวิหารแลบ้านเรือนในพระนครรวมกว่า ๑๐,๐๐๐ หลัง ผู้คนพลเมืองก็ยิ่งคับแค้นหนักขึ้น สมเด็จพระเจ้าเอกทัศให้ทูตออกไปว่ากล่าวกับพม่าขอเลิกรบ จะยอมเปนเมืองขึ้นต่อพระเจ้าอังวะ แม่ทัพพม่าก็ไม่ยอมเลิก ด้วยประสงคจะตีกวาดเอาทรัพย์สมบัติผู้คนไปให้สิ้นเชิง ในพงษาวดารพม่าว่า เนเมียวสีหบดีให้เข้าตีปล้นพระนครหลายครั้งแต่ตีไม่ได้ ด้วยไทยจวนตัวเข้าก็เกิดมานะต่อสู้แขงแรง รบพุ่งพม่าแตกกลับออกไปทุกครั้ง จนพม่าต้องตั้งล้อมนิ่งอยู่อิกคราว ๑ แต่ข้างในพระนครผู้คนอดอยากหนักเข้าก็พากันปีนข้ามกำแพงหนีไปเปนอันมาก ที่หนีรอดไปได้ก็มี ที่หนีไม่พ้นตรงไปยอมให้พม่าจับพอได้อาหารกินก็มี เนเมียวสีหบดีเห็นว่าชาวพระนครอ่อนกำลังระส่ำระสายมากแล้ว จึงให้กองทัพพม่าที่ค่ายวัดกุฎีแดง วัดสามพิหาร แลที่วัดมณฑปสมทบกันยกเข้ามาในเวลากลางคืน มาทำสพานเรือกข้ามน้ำตรงหัวรอข้างมุมเมืองด้านตวันออกเฉียงเหนือ อันเปนที่ลำน้ำแคบกว่าแห่งอื่น เอาไม้ตาลมาตั้งเปนค่ายวิลันทั้ง ๒ ข้าง กับปืนชาวพระนครมิให้ยิงถูกพวกพล แล้วก็ทำสพาน ฝ่ายข้างในกรุง ฯ เห็นพม่าทำการล่อแหลมเข้ามาดังนั้น สมเด็จพระเจ้าเอกทัศจึงมีรับสั่งให้จมื่นศรีสรรักษ์๑๘ คุม กองทัพยกออกไปตีทัพพม่าที่เข้ามาทำสะพาน ในพงษาวดารพม่าว่า คราวนี้ไทยรบพุ่งแขงแรงมาก ตีพวกพม่าแตก แลฆ่าฟันล้มตายเสียมาก แล้วตามไปตีได้ค่ายพม่าอิกค่าย ๑ แต่ไม่มีกำลังหนุนไปพอแก่การ พม่าก็ช่วยกันตีแตกกลับเข้ามา แต่นั้นไทยก็มิได้ยกออกไปรบอิกต่อไป ครั้นพม่าทำสพานเรือกเสร็จแล้วจึงเข้ามาตั้งค่ายที่ศาลาดินนอกเมือง แล้วขุดอุโมงค์เดินเข้ามาจนถึงเชิงกำแพง ขนเอาฟืนมากองใส่ใต้รากกำแพงเมือง แล้วเตรียมบันใดที่จะพาดกำแพงปีนปล้นเมืองไว้เปนอันมาก
ครั้นถึงวันอังคาร เดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐ เปนวันเนาสงกรานต์ เพลาบ่าย ๓ โมง พม่าก็จุดไฟสุมรากกำแพงเมืองตรงหัวรอที่ริมป้อมมหาไชย แลยิงปืนใหญ่ระดมเข้าไปในพระนครจากบรรดาค่ายที่รายล้อมทุก ๆ ค่าย พอเพลาพลบค่ำกำแพงเมืองตรงที่เอาไฟสุมทรุดลง เพลา ๒ ทุ่ม (๘ ล. ท.) แม่ทัพพม่าก็ยิงปืนสัญญาให้พม่าเข้าปีนปล้นพระนครพร้อมกันทุกด้าน พม่าเอาบันไดพาดปีนเข้าได้ตรงที่กำแพงทรุดนั้นก่อน พวกไทยที่รักษาน่าที่เหลือกำลังจะต่อสู้ พม่าก็เข้าพระนครได้ในเวลาค่ำวันนั้นทุกทาง นับเวลาแต่พม่ายกมาตั้งล้อมพระนครได้ปี ๑ กับ ๒ เดือน จึงเสียกรุงศรีอยุทธยาแก่พม่าข้าศึก
เมื่อพม่าเข้าพระนครได้นั้นเปนเพลากลางคืน พม่าไปถึงไหนก็เอาไฟจุดเผาเย่าเรือนของชาวเมืองเข้าไปจนกระทั่งประสาทราชมณเฑียร ไฟไหม้ลุกลามแสงสว่างดังกลางวัน ครั้นพม่าเห็นว่าไม่มีผู้ใดต่อสู้แล้วก็เที่ยวเก็บรวบรวมทรัพย์จับผู้คนอลหม่านทั่วไปทั้งพระนคร แต่เพราะเปนเวลากลางคืนพวกชาวเมืองจึงหนีรอดไปได้มาก พม่าจับได้สัก ๓๐,๐๐๐ ส่วนสมเด็จพระเจ้าเอกทัศนั้น ว่ามหาดเล็กพาลงเรือน้อยหนีไปซุ่มซ่อนอยู่ในสุมทุมพุ่มไม้ที่บ้านจิกริมวัดสังฆาวาศ ต่อมามหาดเล็กเห็นพม่าออกเที่ยวค้นหาก็ตกใจหนีเอาตัวรอด ทิ้งสมเด็จพระเจ้าเอกทัศไว้ที่บ้านจิกพระองค์เดียว แต่พม่ายังหารู้ไม่ จับได้แต่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรซึ่งทรงผนวช แลเจ้านายในพระราชวงศ์โดยมาก กับทั้งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยแลพระภิกษุสามเณรที่หนีไปไม่พ้น พม่าก็จับเอารวมไปคุมไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ส่วนผู้คนพลเมืองที่จับได้ก็แจกจ่ายกันไปควบคุมไว้ตามค่าย นายทัพนายกองทั้งปวง แล้วพม่าเที่ยวตรวจเก็บบรรดาทรัพย์สมบัติ ทั้งสิ่งของหลวงของราษฎร ตลอดจนเงินทองของเครื่องพุทธบูชาตามพระอารามใหญ่น้อย ไม่เลือกว่าของที่จะหยิบยกได้ฤๅที่ไม่พึงจะหยืบยกได้ ดังเช่นทองเงินที่แผ่หุ้มพระพุทธรูป มีทองคำที่หุ้มพระศรีสรรเพ็ชดาญาณเปนต้น พม่าก็เอาไฟสุมพระพุทธรูปให้ทองละลายเก็บเอามาจนสิ้น เท่านั้นยังไม่พอ พม่ายังจะเอาทรัพย์ซึ่งราษฎรฝังซ่อนไว้ตามวัดวาบ้านเรือนต่อไปอิก เอาราษฎรที่จับไว้ได้ไปชำระซักถามแล้วล่อลวงให้ส่อกันเอง ใครเปนโจทย์บอกทรัพย์ของผู้อื่นให้ได้ก็ยอมปล่อยตัวไป ส่วนผู้ที่เปนเจ้าของทรัพย์ถ้าไม่บอกให้โดยดี พม่าก็เฆี่ยนตีแลทำทัณฑกรรมต่าง ๆ เร่งเอาทรัพย์ จนถึงล้มตายก็มี.๑๙
กองทัพพม่าได้กรุงศรีอยุทธยาแล้ว พักอยู่ประมาณเก้าวันสิบวันพอรวบรวมเชลยแลทรัพย์สิ่งของเสร็จแล้ว เมื่อพม่าจะเลิกทัพกลับไป เนเมียวสีหบดีจึงตั้งให้สุกี้มอญที่มีความชอบครั้งตีค่ายบ้านบางระจันเปนนายทัพ ให้มองญาพม่าเปนปลัดทัพคุมพม่ามอญรวม ๓,๐๐๐ ตั้งอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น คอยสืบจับผู้คนแลเก็บทรัพย์สิ่งของส่งตามต่อไป แล้วตั้งนายทองอินคน ๑ ซึ่งเปนไทยไปเข้าด้วยพม่าให้เปนเจ้าเมืองธนบุรี แล้วจึงแบ่งกองทัพเปน ๓ กอง กองทัพข้างเหนือ เนเมียวสีหบดีคุมเจ้านายแลข้าราชการที่เปนเชลยกับทรัพย์สิ่งของที่ดีมีราคามากยกกลับไปทางด่านแม่ละเมา กองทัพทางใต้ให้เจ้าเมืองภูกามเปนนายใหญ่ คุมพวกเรือบรรทุกทรัพย์สิ่งของอันเปนของใหญ่ของหนักไปทางเมืองธนบุรี แลท่าจีนแม่กลองอิกกอง ๑ ยกให้เปนกองทัพบกไปทางเมืองสุพรรณบุรี ไปรวมกับกองเรือที่เมืองกาญจนบุรี ยกกลับไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ครั้งนั้นพม่าได้เชลยไป ๓๐,๐๐๐ เศษ ปืนใหญ่ ๑,๒๐๐ กระบอก ปืนเล็กหลายหมื่น แต่ปืนพระพิรุณ (แสนห่า) ใหญ่กว่ากระบอกอื่นพม่าเอาไปไม่ไหวก็เอาขึ้นระเบิดเสียที่วัดเขมา ขนเอาแต่ทองไป.๒๐
เมื่อกองทัพพม่ายกกลับไปนั้น มีเจ้านายในพระราชวงศ์ที่พม่าจับได้ ประชวรอยู่ยังพาไปเมืองพม่าไม่ได้ ค้างอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้นหลายพระองค์ พอกองทัพกลับไปแล้วไม่กี่วัน พวกพม่าก็ไปพบสมเด็จพระเจ้าเอกทัศที่บ้านจิก เวลานั้นอดพระอาหารมากว่า ๑๐ วัน พอรับเสด็จไปถึงค่ายโพธิ์สามต้นก็สวรรคต ทำนองสุกี้จะคิดถึงพระคุณของพระเจ้าแผ่นดินไทยที่ตนได้พึ่งพาอาไศรยมาแต่ก่อน จึงให้เชิญพระบรมศพมาฝังไว้ที่โคกพระเมรุ ตรงน่าวิหารพระมงคลบพิตร อันเปนที่ทำพระเมรุท้องสนามหลวงครั้งกรุงเก่า ว่าพอว่างราชการจะถวายพระเพลิง ส่วนเจ้านายแลข้าราชการที่พม่าจับเอาไปเมืองอังวะนั้น ปรากฎว่าพระเจ้ามังระให้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรลาผนวช แล้วให้ตั้งตำหนักอยู่ที่เมืองจักกาย ตรงน่าเมืองอังวะข้าม เจ้านายแลข้าราชการก็เห็นจะรวบรวมอยู่ด้วยกันที่นั้นโดยมาก ด้วยพม่าให้ถามคำให้การถึงเรื่องพงษาวดารแลแบบแผนราชประเพณีกรุงศรีอยุทธยาจดลงจดหมายเหตุ คือที่ได้ฉบับมาแปลพิมพ์ เรียกว่าคำให้การขุนหลวงหาวัด ฤๅคำให้การชาวกรุงเก่านั้น แต่ส่วนพวกราษฎรพลเมืองที่กวาดเอาไปเปนเชลย พม่าแจกจ่ายไปเที่ยวอยู่ตามที่ต่าง ๆ ภายหลังหนีคืนมาบ้านเมืองได้ก็มีบ้าง แต่ที่เลยสูญไปในเมืองพม่านั้นโดยมาก ฉนี้แลกรุงศรีอยุทธยาอันบรมกระษัตราธิราช ได้ทรงครอบครองสืบกันมา ๓๔ พระองค์ ดำรงศักดิ์เปนราชธานีของสยามประเทศตลอดเวลา ๔๑๗ ปี มาถึงความพินาศด้วยไภยพิบัติดังแสดงมา.
คิดมาก็เปนน่าอนิจจัง | ด้วยกรุงเปนที่ตั้งพระสาสนา |
ทั้งอารามเจดีย์ที่บูชา | ปฏิมาฉลององค์พระทรงญาณ |
ก็ทลายยับยุ่ยเปนผุยผง | เหมือนพระองค์เสด็จดับสังขาร |
ยังไม่สิ้นสาสนามาอันตรธาน | ทั้งเจดีย์วิหารก็สูญไป |
เสียพระนิเวศน์บุรีวัง | พระที่นั่งทั้งสามงามไสว |
ตั้งเรียบรเบียบชั้นเปนหลั่นไป | อำไพวิจิตรรจนา |
มุขโถงมุขเด็จมุขกระสัน | เปนเชิงชั้นลวดลายล้วนเลขา |
เพานในไว้ดวงดารา | ผนังฝาดาษแก้วดังวิมาน |
ที่ตั้งบัลลังก์แก้วทุกองค์ | ทวารลงอัฒจันท์น่าฉาน |
ปราบพื้นรื่นราบรอบพระลาน | มีโรงคชาธารตระการตา |
ทิมดาบคดลดพื้นกำแพงแก้ว | เปนถ่องแถวยืดยาวหนักหนา |
เปนที่แขกเมืองเฝ้าเข้าวันทา | ดังเทวานฤมิตรประดิษฐไว้ |
สืบทรงวงษ์กระษัตริย์มาช้านาน | แต่บุราณแล้วไม่นับพระองค์ได้ |
พระที่นั่งซึ่งตั้งอยู่ข้างใน | มีสระชลาไลยชลธี |
ชื่อที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ | ที่ประพาศมัจฉาในสระศรี |
ทางเสด็จเสร็จสารพันมี | เปนที่เกษมกระษัตริย์สืบมา |
ก็สูญสิ้นมลายหายหมด | จะปรากฎสักสิ่งไม่มีว่า |
อันถนนหนทางมรคา | คิดมาก็เสียดายทุกสิ่งอัน |
ร้านเรียบรเบียบด้วยรุกขา | ขายของนานาทุกสิ่งสรรพ์ |
ทั้งพิธีปีเดือนคืนวัน | สารพันเคยมีอยู่อัตรา |
ฤดูใดก็ได้เล่นเกษมศุข | แสนสนุกทั่วเมืองหรรษา |
ตั้งแต่นี้แลนะอกอา | อยุทธาจะสาบสูญไป |
จะหาไหนได้เหมือนกรุงแล้ว | ดังดวงแก้วอันสิ้นแสงใส |
นับวันแต่จะยับนับไป | ที่ไหนจะคืนคงมา |
ไป่ปรากฎเหตุเสียเหมือนดังนี้ | มีแต่บรมศุขา |
ครั้งนี้มีแต่พื้นพสุธา | อนิจาน่าเวทนาใจ |
ทั้งนี้เปนต้นด้วยผลเหตุ | จะอาเภทกระษัตริย์ผู้เปนใหญ่ |
มิได้พิจารณาข้าไท | เคยใช้ก็เลี้ยงด้วยเมตตา |
ไม่รู้รอบประกอบในราชกิจ | ประพฤติการแต่ที่ผิดด้วยอิจฉา |
สุภาสิตท่านกล่าวเปนราวมา | จะตั้งแต่งเสนาธิบดี |
ไม่ควรอย่าให้อรรคฐาน | จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี |
เพราะไม่ฟังตำนานโบราณมี | จึงเสียทีเสียวงษ์กระษัตรา |
เสียยศเสียศักดินัคเรศ | เสียทั้งพระนิเวศน์วงษา |
เสียทั้งตระกูลนานา | เสียทั้งไพร่ฟ้าประชากร |
สาระพัดจะเสียสิ้นสุด | ทั้งการยุทธก็ไม่เตรียมฝึกสอน |
จึงไม่รู้กู้แก้พระนคร | เหมือนกับหนอนบ่อนเบียนก็ปานกัน |
ประกอบการหว่านปรายไว้หลายชั้น | ป้องกันปัจจาอย่าให้มี |
นี่ทำหาเปนเช่นนั้นไม่ | เหมือนไพร่ชาติชั่วช้ากระลาสี |
เหตุไภยใกล้กรายร้ายดี | ไม่มีที่จะรู้สักประการ |
ศึกมาแล้วก็ล่าไปทันที | มิได้มีเหตุเสียถึงแตกฉาน |
ตีกวาดผู้คนไม่ทนทาน | เผาบ้านเองยับแล้วกลับไป |
ถึงเพียงนี้ก็ไม่มีจะกริ่งเลย | ไม่เคยรู้ล่วงลัดจะคิดได้ |
ศึกมาชิงล่าเลิกกลับไป | มิได้เห็นจะฝืนคืนมา |
จะคิดโบราณอย่างนี้ก็หาไม่ | ชาติไพร่หลงฟุ้งแต่ยศถา |
ครั้นทัพเขากลับยกมา | จะองอาจอาสาก็ไม่มี |
แต่เลี้ยวลดปดเจ้าทุกเช้าค่ำ | จนเมืองคร่ำเปนผุยยุ่ยยับยี่ |
ฉิบหายตายล้มไม่สมประดี | เมืองยับอัปรีจนทุกวัน ฯะ |
กลอนเพลงยาวนี้ เปนพระราชนิพนธ์ของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทในรัชกาลที่ ๑ มีอยู่ในหนังสือพระราชวิจารณ์ คัดมาแต่เฉภาะตรงที่ทรงปรารภถึงเหตุซึ่งเสียกรุงเก่า เพื่อจะให้เห็นว่าท่านผู้เปนบรรพบุรุษแต่ก่อนได้วินิจฉัยไว้อย่างไร ครั้งนั้นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้ทรงปฏิบัติราชการเปนที่นายสุจินดาหุ้มแพรมหาดเล็กอยู่แล้ว พระราชนิพนธ์นี้ย่อมทรงแต่งตามที่ได้ทราบเหตุการณ์ทั้งปวงด้วยพระองค์เอง ข้อที่ทรงวินิจฉัยมา คือว่าที่เสียกรุงศรีอยุทธยาแก่พม่าข้าศึกครั้งนั้น เปนด้วยผู้อำนวยการศึกข้างฝ่ายไทยปราศจากความสามารถเท่านั้นเอง จะได้เปนเพราะกรุงศรีอยุทธยาหมดสิ้นคนดีนั้นหามิได้ ความข้อนี้เมื่อคิดดูก็เห็นจริง ด้วยท่านผู้ที่มาก่อกู้เมืองไทยให้กลับเปนอิศรภาพได้อิกในเวลาไม่ช้านาน คือพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ดี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ก็ดี แลกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทก็ดี ก็ทรงปฏิบัติราชการอยู่แล้วทั้งนั้น เปนแต่ไม่มีโอกาศที่จะได้ทำคุณแก่บ้านเมืองตามสมควร จนเสียบ้านเมืองแล้วโอกาศจึงมาถึง ก็ทรงสามารถจะรบพุ่งต่อสู้เอาไชยชนะพม่าข้าศึกอันมีกำลังใหญ่หลวงยิ่งกว่าเมื่อมาตีกรุงเก่าได้ทุกครั้งทุกคราว จนเมืองไทยได้กลับเปนอิศรภาพแลมีความเจริญศุขสืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้.
เรื่องราวการสงครามไทยรบกับพม่าครั้งกรุงศรีอยุทธยาหมดเพียงเท่านี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าเปนหนังสือยาวอยู่แล้ว จึงได้เรียบเรียงเรื่องไทยรบกับพม่าครั้งกรุงธนบุรีแลกรุงพระมหานครอมรรัตนโกสินทรแยกออกเปนอิกเรื่อง ๑ ต่างหาก ถ้าท่านผู้ใดอยากจะทราบเรื่องราวต่อไปก็จงหาหนังสือเล่มนั้นอ่าน เทอญ ๚
-
๑. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เจ้าพระยาพิศณุโลกทูลลากลับไปปลงศพมารดาเห็นว่าจะไม่เปนได้ เพราะเปนเวลามีศึกสงคราม. ↩
-
๒. มีในหนังสือเรื่องคำให้การชาวกรุงเก่า แค่รายการที่กล่าวตอนนี้อยู่ข้างจะฟั่นเฝือเอาเปนยุติไม่ได้หมด. ↩
-
๓. เมืองนนทบุรีครั้งนั้นอยู่ฝั่งตวันตก ตรงหัวแง่ปากน้ำอ้อมข้างใต้ เข้าใจว่าเปนแต่ปักระเนียดค่ายไม่ได้ก่อกำแพง ครั้งนี้ว่าตั้งค่ายทางฝั่งตวันออกอิกค่าย ๑. ↩
-
๔. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า จำนวนพล ๔๐,๐๐๐ เห็นว่ามากเกินไป ด้วยปรากฎว่ากองทัพที่เนเมียวสีหบดีคุมมาเองพล ๑๐,๐๐๐ เท่านั้น เห็นจะเพิ่มเติมมาในตอนเมื่อล้อมกรุงฯ จนถึง ๔๐,๐๐๐. ↩
-
๕. เจ้าฟ้าจีดเปนลูกพระองค์เจ้าแก้วราชบุตรสมเด็จพระเพทราชา เจ้าฟ้าเทพราชธิดาสมเด็จพระเจ้าท้ายสระเปนพระมารดา. ↩
-
๖. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พระยารัตนาธิเบศร์หนีแต่เมื่อพม่าเข้ามาคราวก่อน คราวนี้หากล่าวว่ามีใครรักษาเมืองธนบุรีไม่ พิเคราะห์ดูตามเหตุการณ์เข้าใจว่าที่จริงพระยารัตนาธิเบศร์หนีต่อคราวนี้ เพราะคราวก่อนพม่าไม่ได้ตีเมืองธน. ↩
-
๗. เรือสลุบเปนเรือกำปั่นขนาดเล็ก สำหรับใช้ลำเลียงสินค้า. ↩
-
๘. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พระยายมราชทิ้งเมืองนนท์แต่เมื่อเรือกำปั่นอังกฤษถอยมาจากเมืองธน แต่ในรายการที่ปรากฎว่าพม่าขึ้นไปตั้งค่ายที่วัดเขมา เปนหลักฐานให้เห็นว่ากองทัพไทยยังรักษาเมืองนนท์อยู่ เพราะฉนั้นจึงสันนิฐานว่าพระยายมราชทิ้งเมืองนนท์ต่อเมื่อลำปั่นอังกฤษหนีออกทเลไป. ↩
-
๙. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า นายโช เข้าใจว่าเพราะเขียนตกตัวสกด เดิมเห็นจะเปน โชติ. ↩
-
๑๐. คำว่า สุกี้ นี้เรียกตามหนังสือพระราชพงษาวดาร มาแต่คำว่า ซุก คยี แปลว่านายกองใหญ่ เพราะฉนั้นต่อมาไทยจึงเรียกตามความที่แปลว่าพระนายกอง. ↩
-
๑๑. ที่ราษฎรตามกองทัพออกไปคราวนี้ ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เพราะไม่เคยเห็นรบพุ่ง อยากจะดูว่าเขารบกันอย่างไรจึงพากันตามไป ข้าพเจ้าเห็นว่าที่จริงนั้นเห็นจะเปนเพราะเห็นวิทยาคมของกองทัพไทยศักดิสิทธิ เชื่อว่ายกไปคราวหลังคงจะตีได้ค่ายพม่าเปนแน่ พวกราษฎรจึงตามไป ประสงค์จะไปช่วยเก็บทรัพย์จับข้าศึกด้วย มิใช่เพียงแต่จะไปดูเขารบกันเท่านั้น. ↩
-
๑๒. นายทองอยู่น้อยคนนี้ บางทีจะเปนคนเดียวกับที่เรียกว่านายทองอยู่นกเล็ก ที่ได้ไปเข้ากับเจ้าตากต่อไปข้างน่า. ↩
-
๑๓. ที่ตั้งค่ายกันพระนครดังกล่าวมานี้ ตรวจจากหนังสือหลายฉบับ บางทีจะผิดบ้าง. ↩
-
๑๔. เรื่องนี้มีทั้งในหนังสือพระราชพงษาวดาร และมีกระแสรับสั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่ในหนังสือจดหมายหลวงอุดมสมบัติ หอพระสมุด ฯ พิมพ์แล้ว. ↩
-
๑๕. ลูกปืนดินเผานี้ พระยาโบราณ ฯ ขุดพบ เอามาไว้ในอยุทธยาพิพิธภัณฑ์ก็มี. ↩
-
๑๖. เรื่องนี้มีในหนังสือพระราชวิจารณ์. ↩
-
๑๗. วัดพิไชยอยู่ใต้สถานีรถไฟเดี๋ยวนี้ เข้าใจว่าเดิมจะเปนค่ายที่พระยาเพชรบุรีรักษา พระยาตากสินไปรักษาค่ายนั้นแทนพระยาเพชรบุรี. ↩
-
๑๘. จมื่นศรีสรรักษ์คนนี้ ชื่อฉิม เปนน้องพระยาราชมนตรี ปิ่น ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจับจำเสียเมื่อคราวพระเจ้าอลองพญามาล้อมกรุง ฯ พระยาราชมนตรีตายในเรือนจำ จมื่นศรีนี้พ้นโทษได้. ↩
-
๑๙. มีเรื่องปรากฎขึ้นเมื่อครั้งกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งพระอาจารย์ดีครั้งกรุงเก่าเปนสมเด็จพระสังฆราชองค์แรก ภายหลังได้ความว่าพระอาจารย์ดีเคยบอกทรัพย์ของผู้อื่นให้พม่าเมื่อเวลาถูกขังอยู่ พระอาจารย์ดีเลยถูกถอดจากที่พระสังฆราช. ↩
-
๒๐. ปืนพระพิรุณนี้เข้าใจกันอิกนัย ๑ ว่าไทยเอาลงมาจมไว้ในสระแก้วที่ในพระราชวังกรุงเก่า ถึงได้มีผู้ไปขุดค้นกันเมื่อในรัชกาลที่ ๔ แต่ในหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัดถเลขา ว่าพม่าระเบิดเสียที่วัดเขมา. ↩