- อธิบายเหตุการณ์ที่ไทยรบกับพม่า
- ครั้งที่ ๑ คราวพม่าตีเมืองเชียงกราน ปีจอ พ.ศ. ๒๐๘๑
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวสมเด็จพระสุริโยไทยขาดฅอช้าง ปีวอก พ.ศ. ๒๐๙๑
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวรบกันด้วยเรื่องช้างเผือก ปีกุญ พ.ศ. ๒๑๐๖
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวเสียกรุง ฯ แก่พระเจ้าหงษาวดี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๑๑
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิศระ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗
- สงครามครั้งที่ ๖ ครั้งรบพระยาพสิมที่เมืองสุพรรณ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวรบพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกษ ปีระกา พ.ศ. ๒๑๒๘
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวพระเจ้าหงษาวดีล้อมกรุง ฯ ปีจอ พ.ศ. ๒๑๒๙
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวพระมหาอุปราชายกมาครั้งแรก ปีขาล พ.ศ. ๒๑๓๓
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวสมเด็จพระนเรศวรชนช้าง ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕
- สงครามครั้งที่ ๑๑ คราวไทยตีเมืองทวายเมืองตะนาวศรี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๓๕
- สงครามครั้งที่ ๑๒ คราวสมเด็จพระนเรศวรได้หัวเมืองมอญ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๑๓๗
- สงครามครั้งที่ ๑๓ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดีครั้งแรก ปีมะแม พ.ศ. ๒๑๓๘
- สงครามครั้งที่ ๑๔ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดี ครั้งที่ ๒ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๔๒
- สงครามครั้งที่ ๑๕ สงครามครั้งที่สุดของสมเด็จพระนเรศวร ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๔๗
- สงครามครั้งที่ ๑๖ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีฉลู พ.ศ. ๒๑๕๖
- สงครามครั้งที่ ๑๗ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๑๕๗
- สงครามครั้งที่ ๑๘ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีจอ พ.ศ. ๒๑๖๕
- สงครามครั้งที่ ๑๙ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๒๐๕
- สงครามครั้งที่ ๒๐ คราวรบพม่าที่เมืองไทรโยค ปีเถาะ พ.ศ. ๒๒๐๖
- สงครามครั้งที่ ๒๑ คราวไทยตีเมืองพม่า ปีมโรง พ.ศ. ๒๒๐๗
- สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๑
- สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๒
- สงครามครั้งที่ ๒๓ คราวพม่าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๐๗
- สงครามครั้งที่ ๒๔ คราวเสียกรุง ฯ ครั้งหลัง ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๒
ตอนที่ ๒ ว่าด้วยเรื่องรบกับพม่า
กรุงศรีอยุทธยามีเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับพม่าอิกเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ เรื่องพงษาวดารแผ่นดินนี้มีเนื้อความปรากฎว่า เดิมเมื่อสมเด็จพระเจ้าเสือประชวรจะสวรรคต ทรงพระพิโรธเจ้าฟ้าเพ็ชรพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ซึ่งเปนพระมหาอุปราช จึงมอบเวนราชสมบัติพระราชทานเจ้าฟ้าพรพระราชโอรสพระองค์น้อย ซึ่งเปนพระบัณฑูรน้อย แต่พระบัณฑูรน้อยยอมถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเชษฐา พระมหาอุปราชจึงเสด็จขึ้นผ่านพิภพ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระภูมินทรราชา คนทั้งหลายเรียกกันเปนสามัญว่า “ขุนหลวงท้ายสระ” เพราะเสด็จอยู่พระที่นั่งข้างท้ายสระ จึงทรงตั้งพระบัณฑูรน้อยราชอนุชาเปนพระมหาอุปราช สมเด็จพระเจ้าท้ายสระครองราชสมบัติอยู่ ๒๔ ปี มีเจ้าฟ้าราชโอรส ๓ พระองค์ พระองค์ใหญ่ทรงพระนามว่าเจ้าฟ้านเรนทร ทรงตั้งเปนกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ พระองค์กลางทรงพระนามว่าเจ้าฟ้าอภัย พระองค์น้อยทรงพระนามว่าเจ้าฟ้าปรเมศวร์ ทำนองจะมีเหตุอะไรเกิดขึ้นเมื่อในแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ ซึ่งทำให้ทรงระแวงว่าถ้าพระมหาอุปราชได้เปนใหญ่เมื่อใด จะทำการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งพระองค์ทรงรังเกียจ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระจึงทรงพระราชดำริห์จะให้เจ้าฟ้านเรนทรราชโอรสเปนรัชทายาท แต่เจ้าฟ้านเรนทรไม่เต็มพระไทย ด้วยเห็นว่าพระมหาอุปราชควรจะเปนรัชทายาท เพราะเหตุนี้พอพระชัณษาเจ้าฟ้านเรนทรครบอุปสมบทออกทรงผนวชแล้วก็เลยทรงเพศภิกษุภาวะอยู่ หาลาผนวชไม่ ครั้นถึงปีชวด พ.ศ. ๒๒๗๕ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระประชวรหนักจะสวรรคต จึงทรงมอบเวนราชสมบัติพระราชทานเจ้าฟ้าอภัยราชโอรสพระองค์กลาง เจ้าฟ้าอภัยรู้ว่าพระมหาอุปราชคงไม่ยอม ก็คิดอ่านกับเจ้าฟ้าปรเมศวร์ให้เกณฑ์คนตั้งค่ายในพระนครรายตลอดคลองประตูเข้าเปลือก อันเปนที่ต่อแดนวังหลวงกับวังน่า พระมหาอุปราชก็ให้ตั้งค่ายขึ้นทางข้างวังน่าบ้าง ตระเตรียมกันมาแต่เวลาพระเจ้าท้ายสระยังประชวรอยู่ พอสวรรคตลงยังไม่ทันจะได้สรงพระบรมศพ ก็เกิดรบกันขึ้นกลางเมือง รบกันอยู่หลายวันพระมหาอุปราชจึงมีไชยได้ครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช๑” แต่คนทั้งหลายภายหลังเรียกกันเปนสามัญว่า “ขุนหลวงบรมโกษฐ” บ้าง “พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษฐ” บ้าง
ศึกกลางเมืองครั้งพระเจ้าบรมโกษฐรบกับเจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศร์ครั้งนี้ ใหญ่หลวงยิ่งกว่าศึกกลางเมืองซึ่งเคยปรากฎในกรุงศรีอยุทธยามาแต่ก่อน เหมือนเช่นครั้งสมเด็จพระเจ้าปราสาททองรบกับสมเด็จพระเชษฐาธิราชก็ดี ครั้งสมเด็จพระนารายน์รบกับสมเด็จพระศรีสุธรรมาธิราชก็ดี ก็เปนแต่ยกจู่เข้าไปปล้นพระราชวังหลวง รบกันเพลาเดียวก็เสร็จศึก ครั้งสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ข้าราชการเปนพรรคพวกเกือบหมด ครั้งสมเด็จพระนารายน์ข้าราชการที่ไม่ทันรู้เห็นเกี่ยวข้องในการรบก็มีมาก แต่ครั้งหลังนี้ตระเตรียมการที่จะรบพุ่งกันมาหลายวัน ถึงตั้งค่ายคูขึ้นกลางเมืองโดยเปิดเผย พวกข้าราชการวังหลวงเข้ากับเจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศวร์แทบทั้งนั้น ครั้นพระเจ้าบรมโกษฐมีไชยชนะ พวกข้าราชการวังหลวงจึงถูกกำจัดเสียในครั้งนี้มากกว่าครั้งไหน ๆ ที่เคยปรากฎมาแต่ก่อน พวกสมพลบ่าวไพร่ของผู้ที่ถูกกำจัดกลัวจะต้องตกเปนไพร่หลวงทำการหนัก เช่นเปนตะพุ่นเกี่ยวหญ้าช้างเปนต้น ตามประเพณีการลงโทษพรรคพวกผู้เปนสัตรูราชสมบัติ ก็พากันหลบหนีกระจัดกระจายไปจากพระนครเปนอันมาก จึงเปนเหตุให้พระนครอ่อนกำลังลง จนเห็นได้ในจดหมายเหตุต่างๆ ครั้งนั้นซึ่งยังมีปรากฎอยู่ เช่นเมื่องานพระศพเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาสมเด็จพระนารายน์๒ เมื่อปีที่ ๔ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ ปรากฎว่าคนขาดกระบวนแห่อยู่ ๖๐ คน ถึงต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลถามว่าจะโปรดให้ทำอย่างไร ต้องโปรดให้ถอนเอาคนล้อมพระราชวังไปเข้ากระบวนแห่ ความปรากฎอิกแห่ง ๑ ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า ต่อมาไม่ช้าเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท อยู่ข้างหลังพวกจีนชาวบ้านสวนพลู๓ คุมกันประมาณ ๓๐๐ บังอาจเข้าปล้นพระราชวัง ถึงต้องรบพุ่งกันหนักหนาพวกจีนจึงแตกพ่ายไป เหตุเหล่านี้เปนอุทาหรณ์ให้แลเห็นชัดว่า เกิดเพราะกำลังไพร่พลในพระนครมีน้อย ข้าราชการซึ่งเปนเจ้าน่าที่บังคับบัญชาราชการ ตั้งแต่เสนาบดีลงมา ก็ล้วนเปนแต่ตัวตั้งขึ้นแทนผู้ที่ถูกกำจัดไป ยังไม่คุ้นเคยราชการงานเมือง ถ้าหากว่ามีศึกสงครามต่างประเทศมาในเวลานั้นก็จะลำบากมากทีเดียว แต่พเอิญในสมัยนั้นต่างประเทศที่ใกล้เคียงก็กำลังเสื่อมทรามซุดโซมอยู่ตามกัน ดังเช่นกรุงกัมพูชาก็ต้องยอมขึ้นไทย โดยไม่ต้องรบพุ่งปราบปรามประการใด เมืองลังกาก็หมดสิ้นสมณวงศ์ ต้องมาขอพระสงฆ์ไทยไปให้อุปสมบท แม้พม่าก็ต้องหันมาง้อขอให้ไทยช่วยสงเคราะห์เพราะเกิดจลาจลขึ้นในบ้านเมือง ด้วยเหตุดังนี้เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐจึงปรากฎเกียรติยศกรุงศรีอยุทธยา ว่ารุ่งเรืองกว่าประเทศอื่นที่ใกล้เคียงโดยรอบ แต่ที่จริงนั้นเปนเวลากำลังเมืองไทยซุดโซม หาเหมือนแต่ก่อนไม่.
เหตุที่พม่าจะมาขอเปนไมตรีกับไทยนั้น ได้ความว่าเดิมพระเจ้าอังวะมหาธรรมราชาธิบดีตั้งขุนนางพม่าคน ๑ ชื่อมังสาอ่องลงมาเปนเจ้าเมืองหงษาวดี เปนตำแหน่งเทศาภิบาลบังคับบัญชาหัวเมืองมอญข้างตอนเหนือ ครั้นพระเจ้าอังวะมหาธรรมราชาธิบดีเสวยราชย์มาได้ ๕ ปี ถึงปีมเสง พ.ศ. ๒๒๘๐ พวกกระแซเมืองมณีบุระกำเริบ ลงมาปล้นหัวเมืองพม่าข้างฝ่ายเหนือ พระเจ้าอังวะให้ไปปราบปราม กองทัพพม่าไปแพ้พวกกระแซหลายครั้ง ไม่สามารถจะปราบปรามได้ กิติศัพท์เลื่องฦๅลงมาถึงเมืองหงษาวดี มังสาอ่องพม่าเจ้าเมืองหงษาวดีเห็นว่าพระเจ้าอังวะเสื่อมสิ้นเดชานุภาพ ก็คิดขบถแขงเมืองหมายจะตั้งตัวเปนใหญ่ขึ้นในรามัญประเทศ มีพวกมอญเข้าด้วยบ้าง แต่ที่รังเกียจว่ามังสาอ่องเปนพม่าไม่เข้าด้วยนั้นโดยมาก พม่าเจ้าเมืองสิเรียมซึ่งอยู่ในมณฑลหงษาวดียังซื่อตรงต่อพระเจ้าอังวะไม่ยอมเข้าด้วย มังสาอ่องจึงให้เกณฑ์กองทัพจะยกไปตีเมืองสิเรียม พวกมอญที่ไม่เข้าด้วยก็พากันหลบหนีเสีย มังสาอ่องขัดใจให้เกาะกุมเอาบุตรภรรยามาเปนตัวจำนำ พวกมอญจึงพากันกำเริบขึ้น จับมังสาอ่องฆ่าเสีย ฝ่ายพระเจ้าอังวะเมื่อทราบว่ามังสาอ่องเปนขบถ ให้มังเรกะยอค่องเปนแม่ทัพถือพล ๕,๐๐๐ ยกลงมาปราบปราม กองทัพพม่าลงมาถึงเมืองหงษาวดีเมื่อพวกมอญฆ่ามังสาอ่องเสียแล้ว พวกมอญมีความชอบก็ยอมอ่อนน้อมต่อพม่าดังแต่ก่อน ส่งบุตรภรรยามังสาอ่องที่ได้จับไว้ให้แก่แม่ทัพพม่า ๆ จึงให้เจ้าเมืองสิเรียมผู้ซึ่งไม่เข้าด้วยมังสาอ่องมารั้งราชการมณฑลอยู่ที่เมืองหงษาวดี แล้วเลิกกองทัพกลับไปเมืองอังวะ เจ้าเมืองสิเรียมมาอยู่เมืองหงษาวดีจะหาความชอบ ให้เที่ยวสืบสวนจับกุมมอญซึ่งได้เข้ากับมังสาอ่องต่อไป พวกมอญถูกเจ้าเมืองใหม่จับกุมอิก ก็โกรธแค้นพม่าพากันกำเริบขึ้น จับเจ้าเมืองสิเรียมที่มาว่าการเมืองหงษาวดีฆ่าเสียอิกคน ๑ แล้วรู้ตัวว่าพม่าคงจะยกกองทัพมาปราบปราม ถ้าไม่ระวังรักษาตัวให้ดีก็คงป่นปี้ พวกมอญเมืองหงษาวดีจึงคิดอ่านจะรวบรวมกันเตรียมต่อสู้พม่า.
ขณะนี้มีพระภิกษุรูป ๑ ชื่อว่าสะล่า เปนไทยใหญ่ บวชอยู่ที่วัดบ้านอะเวงในแขวงเมืองหงษาวดี รู้วิชาอาคมมาก พวกสานุศิษย์นิยมว่าเปนผู้มีบุญ คุณวิเศษของพระสะล่าเลื่องฦๅแพร่หลายว่ามีอิทธิฤทธิแลอยู่คงกระพันชาตรีเปนต้น พวกกรมการมอญเมืองหงษาวดีกำลังแสวงหาผู้ซึ่งจะเปนหัวน่ามาช่วยคิดต่อสู้พม่า ครั้นรู้ข่าวคุณวิเศษของพระสะล่า ให้สืบสวนต่อไป ได้ความว่าเปนบุตรของเจ้าภุกาม อาว์พระเจ้าอังวะองค์ก่อนซึ่งเปนขบถแล้วหลบหนีสูญไป พวกมอญก็มีความยินดี พากันไปวิงวอนพระสะล่าให้ลาสิกขาบท แล้วเชิญมาว่าราชการเมืองหงษาวดี ขนานนามว่า สมิงทอ๔ ต่อมาไม่ช้าพระเจ้าอังวะให้กองทัพพม่าลงมาปราบปราม สมิงทอเปนหัวน่ารบพุ่งพม่าพ่ายแพ้ไป พวกมอญเห็นประจักษ์บุญญาภินิหารของสมิงทอ ก็เชิญให้ราชาภิเศกเปนพระเจ้าหงษาวดี กิติศัพท์ทราบถึงหัวเมืองมอญใหญ่น้อยทั้งปวง ก็พากันมาอ่อนน้อมยอมเข้าด้วยสมิงทอเปนอันมาก สมิงทอจึงตั้งขุนนางกรมช้างคน ๑ ซึ่งเปนหัวน่าในพวกได้ไปเชื้อเชิญมาครองเมือง แล้วยกลูกสาวให้เปนภรรยาด้วยนั้น ให้เปนที่พระยาทะละตำแหน่งอรรคมหาเสนาบดี แล้วมีราชสาส์นเข้ามายังกรุงศรีอยุทธยาแลเมืองเชียงใหม่ว่า เดี๋ยวนี้ราชวงศ์ของพระเจ้าหงษาวดีแต่ปางก่อนได้ครอบครองเมืองหงษาวดี ตั้งรามัญประเทศเปนอิศรอย่างเดิมแล้ว พระเจ้าหงษาวดีจะใคร่มีทางพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุทธยาแลเมืองเชียงใหม่ให้เปนทองแผ่นเดียวกัน เพราะฉนั้นพอราชธิดาไปอภิเศกเปนมเหษี จะได้เปนสัมพันธมิตรกันสืบไปภายน่า สมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐทรงขัดเคือง หาตอบราชสาส์นสมิงทอไม่ แต่พระยาเชียงใหม่องค์คำพึ่งตั้งตัวเปนอิศรมาไม่ช้านัก นิยมยศพระเจ้าหงษาวดีก็ยอมยกธิดาอันมีนามว่านางสอิ้งทิพให้ไปอภิเศกเปนมเหษีสมิงทอ โดยประสงค์จะเปนไมตรีกับเมืองหงษาวดีสืบไป.
ขณะเมื่อพวกมอญพากันแขงเมืองขึ้นครั้งนั้น นักวารุตองขุนนางพม่า ซึ่งเปนเทศาภิบาลบังคับบัญชาหัวเมืองมอญตอนใต้อยู่ณเมืองเมาะตมะ กับมังราจอสู่พม่าซึ่งเปนปลัดมณฑล เห็นเหลือกำลังที่จะปราบปรามพวกมอญ จะหนีกลับขึ้นไปเมืองอังวะก็ไปไม่ได้ ด้วยจะต้องผ่านหัวเมืองมอญที่เปนขบถไปหลายเมือง จะอยู่ที่เมืองเมาะตมะก็กลัวพวกมอญจะฆ่าเสีย จึงชวนกันอพยบครอบครัวแลสมัคพรรคพวก รวมคนประมาณ ๓๐๐ ลงเรือหนีมายังเมืองตะนาวศรี บอกแก่เจ้าเมืองกรมการว่าจะขอเข้ามาพึ่งพระบารมีอยู่ในกรุงศรีอยุทธยา หัวเมืองมีใบบอกเข้ามากราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐก็โปรดให้รับพวกพม่าเข้ามายังกรุงฯ พระราชทานที่ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้วัดมณเฑียร แล้วทรงทำนุบำรุงให้มีความศุขทั่วกัน ความนั้นทราบไปถึงพระเจ้าอังวะ จึงแต่งทูตานุทูตให้เชิญพระราชสาส์น กับเครื่องราชบรรณาการเข้ามายังกรุงศรีอยุทธยา เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๒๘๗ ให้มาขอบพระคุณพระเจ้าบรมโกษฐ ที่ได้ทรงทำนุบำรุงข้าราชการพม่าซึ่งหนีไภยมาพึ่งพระบารมี แต่ที่พระเจ้าอังวะให้ทูตมาเมืองไทยครั้งนั้น หาใช่มาขอบพระคุณแต่อย่างเดียวไม่ มีหลักฐานที่จะพึงเห็นได้ทั้งในพงษาวดารพม่าแลในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พม่าประสงค์จะชวนให้ไทยช่วยปราบปรามพวกมอญ ถ้าไม่ได้ถึงอย่างนั้นก็เพียงให้ไทยอยู่เปนกลาง อย่าให้ไปช่วยอุดหนุนมอญดังแต่ก่อน ที่แท้ความข้างหลังนี้เปนต้นเหตุที่พระเจ้าอังวะแต่งทูตมา เอาความข้อที่ว่าจะมาขอบพระคุณขึ้นกล่าวพอกลบเกลื่อนมิให้ปรากฎความประสงค์แพร่หลายเท่านั้น ด้วยมอญเปนขบถต่อพม่าครั้งนี้ใหญ่หลวงยิ่งกว่าที่ได้เคยปรากฎมาแต่ก่อน เพราะเปนเวลาพม่ามีกำลังน้อย แลต้องสู้รบพวกกระแซอยู่อิกทาง ๑ ด้วย เพียงแต่โดยลำพังมอญพม่าก็เต็มสู้อยู่แล้ว ถ้าไทยไปช่วยมอญเข้าด้วย ก็เห็นว่าคงจะต้องเสียเมืองพม่าเปนเที่ยงแท้ไม่มีที่สงไสย พม่าจึงพยายามหน่วงเหนี่ยวไทยมิให้ไปเข้ากับมอญ เหตุอันเปนที่หวังของพม่าที่จะให้ไทยช่วยตนฤๅที่จะมิให้ไทยไปเข้าข้างสัตรูนั้น พิจารณาดูในเวลานี้ เห็นมีที่อ้างแต่ว่ามอญเข้ามาอยู่ในเมืองไทยมาก ถ้าพวกมอญทางโน้นเปนใหญ่ได้สำเร็จดังประสงค์ มอญในเมืองไทยก็คงจะกำเริบขึ้นตามกัน ถ้ามิไปชักโยงเอามอญทางโน้นเข้ามาช่วยคิดร้ายต่อไทย ก็คงพากันอพยบกลับไปบ้านเมือง ไม่ยอมอยู่เปนข้าของไทย คงอยู่ในไม่เปนประโยชน์แก่ไทยทั้ง ๒ สถาน บางทีพระเจ้าอังวะจะยอมสัญญาว่าจะแบ่งปันหัวเมืองมอญให้แก่ไทย ทดแทนการที่ช่วยเหลืออย่างไรอิกบ้างก็จะเปนได้ มาคิดดูถ้าหากว่าครั้งนั้นสมิงทอไม่ได้ตั้งตัวเปนพระเจ้าหงษาวดีตีเสมอสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ ไทยก็เห็นจะเข้ากับมอญ ฤๅมิฉนั้นก็คงไม่เข้ากับพม่า ถ้ายิ่งเปนแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร ฤๅแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ด้วยแล้ว ก็เห็นจะไปช่วยมอญรบพม่าเปนแน่ แลคงได้เมืองพม่าในคราวนี้เอง แต่การที่สมิงทอตั้งตัวเปนพระเจ้าหงษาวดี เปนข้อขัดขวางอย่างสำคัญ เหมือนกับตัดหนทางเสียมิให้ไทยช่วย เพราะเหตุที่สมิงทอตั้งตัวตีเสมอไม่อ่อนน้อม แต่ฝ่ายข้างพม่าวิงวอนอ่อนโยนไม่ทนงศักดิเหมือนแต่ก่อน สมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐจึงทรงรับทางไมตรีพม่า แล้วทรงแต่งให้พระยายมราชเปนราชทูต พระธนบุรีเปนอุปทูต พระสุธรรมไมตรีเปนตรีทูต เชิญพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการไปเจริญทางพระราชไมตรีตอบแทนพระเจ้าอังวะ ไทยกับทูตพม่าไปด้วยกันกิติศัพท์ก็เลื่องฦๅแพร่หลายว่า ไทยจะให้กองทัพไปช่วยพม่า ครั้นทูตไทยไปถึงเมืองอังวะ เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๒๘๙ พระเจ้าอังวะก็ทรงปีติโสมนัศ ให้รับรองเลี้ยงดูเปนเกียรติยศ ทูตานุทูตเฝ้าแล้วทูลลากลับมา แต่พระยายมราชราชทูตกับพระธนบุรีอุปทูตป่วยถึงอนิจกรรมเสียกลางทาง ๒ คน กลับมาถึงกรุง ฯ แต่พระสุธรรมไมตรีตรีทูตคนเดียว เรื่องราวที่ไทยเปนไมตรีกับพม่าเปนยุติแต่เพียงนี้ตอน ๑
ฝ่ายพวกมอญที่ตั้งเปนอิศร เมื่อรวบรวมกำลังรี้พลได้มากแล้ว สมิงทอกับพระยาทะละก็ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองพม่า ขึ้นไปได้จนถึงชานเมืองอังวะ ประจวบเวลาเมื่อทูตไทยไปถึง สมิงทอได้ข่าวว่ากองทัพไทยไปช่วยพม่า ก็ถอยทัพกลับลงมา ต่อมามีเหตุเกิดขึ้นในครอบครัวของสมิงทอ ด้วยนางมเหษีเดิมซึ่งเปนธิดาของพระยาทะละหึงหวงกับนางสอิ้งทิพธิดาพระยาเชียงใหม่ สมิงทอเข้ากับนางมเหษีใหม่ พระยาทะละเคืองสมิงทอว่าไม่คิดถึงบุญคุณจึงเอาใจออกหาก แกล้งทำกิติศัพท์ให้เลื่องฦๅว่ามีช้างเผือกปรากฎขึ้นในแขวงเมืองสโตง แล้วยุยงสมิงทอให้เกิดมานะไปเที่ยวตามช้างเผือกอยู่ในป่าช้านาน จนพวกขุนนางในเมืองหงษาวดีเห็นว่าสมิงทอไม่เอาใจใส่ในราชการบ้านเมือง ก็เลื่อมคลายความนิยมลง ส่วนพวกไพร่พลที่ถูกกะเกณฑ์ไปได้ความเดือดร้อนก็พากันเอาใจออกหากจากสมิงทอ พระยาทะละก็เกลี้ยกล่อมหาพรรคพวกได้เปนอันมาก พอได้ทีก็ชิงได้ราชสมบัติเมืองหงษาวดี สมิงทอเหลือพรรคพวกน้อย สู้พระยาทะละไม่ได้ก็พานางสอิ้งทิพหนีมายังเมืองเชียงใหม่ มาขอกำลังไปตีเอาเมืองหงษาวดีคืน พระยาเชียงใหม่ก็เกณฑ์กำลังให้ตามประสงค สมิงทอจึงให้นางสอิ้งทิพอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ แล้วคุมกองทัพกลับไปตีเมืองหงษาวดี ไปเสียทีพ่ายแพ้พระยาทะละอิก สมิงทอจะกลับไปเมืองเชียงใหม่คิดลอายพ่อตา จึงตรงมายังกรุงศรีอยุทธยา หมายจะมาทูลขอกองทัพไทยไปช่วยตีเมืองหงษาวดี สมิงทอคงมาทำท่าทางเย่อหยิ่งอย่างใดอย่างหนึ่ง ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐทรงขัดเคืองสมิงทอที่บังอาจเอิบเอื้อมตีเสมอมาแต่ก่อนแล้ว จึงมีรับสั่งให้เอาตัวไปจำเสีย.
ฝ่ายพระยาทะละเมื่อชิงได้เมืองหงษาวดีแล้ว ก็ตั้งตัวเปนพระยาหงษาวดี ตั้งน้องชายคนใหญ่เปนอุปราชา ตั้งน้องคนเล็กเปนที่ตละปั้น ครั้นทราบว่าสมิงทอหนีมาอยู่ในกรุงศรีอยุทธยา เกรงจะมาทูลขอกองทัพไทยออกไปช่วย จึงมีศุภอักษรเข้ามาทูลสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ กล่าวโทษสมิงทอว่าเปนคนอกตัญญแลเชื้อชาติเลวทราม เปนแต่เที่ยวหลอกลวงผู้อื่น ไม่สมควรจะทรงชุบเลี้ยงทำนุบำรุง ขอให้ประหารชีวิตรเสีย สมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐได้ทรงทราบศุภอักษร เห็นจะคลายทรงขัดเคืองมอญ ด้วยพระยาหงษาวดีวางกิริยาอ่อนน้อม ไม่ตีเสมอเหมือนกับสมิงทอ แต่ทรงพระราชดำริห์ว่าสมิงทอไม่ได้เปนข้าศึกสัตรูกับกรุงศรีอยุทธยา จะประหารชีวิตรเสียหาควรไม่ ครั้นจะเอาไว้ในกรุงฯ ก็จะเปนเครื่องรำคาญอยู่ไม่รู้แล้ว จึงโปรดให้เอาตัวสมิงทอส่งลงเรือสำเภาไปปล่อยเสียต่างประเทศ สำเภาพาไปปล่อยที่เมืองจีน สมิงทอพยายามกลับมาเมืองเชียงใหม่ได้อิก ก็เลยอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ต่อมาอิกช้านาน.
เมื่อพระยาหงษาวดีมีศุภอักษรเข้ามาถวายสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐด้วยเรื่องสมิงทอดังกล่าวมา จะได้โปรดให้มีศุภอักษรเสนาบดีกรุงศรีอยุทธยาตอบไปว่ากะไรหาปรากฎไม่ แต่เมื่อพระยาหงษาวดีทราบว่าสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐมีรับสั่งให้เนรเทศสมิงทอไปเสียต่างประเทศแล้ว เห็นว่าไทยมิได้เปนสัตรูก็สิ้นห่วง จึงให้เกณฑ์กองทัพไปตีเมืองพม่า ให้ตละปั้นคุมทัพบกจำนวนพล ๒๐,๐๐๐ อุปราชาคุมกองทัพเรือจำนวนพลอิก ๒๐,๐๐๐ ยกขึ้นไปพร้อมกันเมื่อปลายปีมเมีย พ.ศ. ๒๒๙๓ พม่าต่อสู้ต้านทานกำลังมอญไม่ไหวก็ถอยหนีขึ้นไปโดยลำดับ จนกองทัพมอญเข้าไปตั้งล้อมเมืองอังวะไว้ พม่าสู้รบอยู่จนสิ้นเสบียงอาหารก็เสียเมืองอังวะแก่มอญ เมื่อเดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมะแม พ.ศ. ๒๒๙๔ อุปราชาจึงให้ตละปั้นคุมกองทัพมีจำนวนพล ๑๕,๐๐๐ ตั้งอยู่ที่เมืองอังวะ เพื่อจะได้ปราบปรามหัวเมืองพม่าแลไทยใหญ่ที่ยังมิได้มาอ่อนน้อมต่อไป ส่วนอุปราชายังไม่ไว้ไจไทย เกรงว่าจะยกกองทัพออกไปช่วยพม่า จึงถอยทัพกลับลงมาเมืองหงษาวดี พาเอาพระเจ้าอังวะกับเจ้านายในราชวงศ์พม่าซึ่งจับได้ที่เมืองอังวะลงมาเมืองหงษาวดีด้วยจนสิ้นเชิง เมืองอังวะแลหัวเมืองพม่าที่อยู่ใกล้เคียงก็ตกอยู่ในอำนาจมอญแต่นั้นมา.
ขณะเมื่อเสียเมืองอังวะแก่มอญครั้งนั้น มีพม่าคน ๑ เปนพราน ชื่อว่ามังอองไจยะ ได้เปนกำนันบ้านมุตโชโบ๕ ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อมอญ ครั้นพวกมอญที่รักษาเมืองอังวะออกไปตั้งกองเก็บส่วย สั่งมังอองไจยะให้ต้อนราษฎรบ้านมุตโชโบมาเสียส่วยตามประเพณี มังอองไจยะก็รวบรวมสมัคพรรคพวกได้ประมาณ ๔๐ คน ยกมาปล้นกองมอญที่ไปเก็บส่วย ฆ่าพวกมอญตายหมดทั้งกอง แต่แรกมอญสำคัญว่าเปนกองโจรมาปล้นเงินส่วย ตัวนายกองจึงเรียกผู้คนพากันออกไปหมายว่าจะจับ มังอองไจยะก็ต่อสู้ฆ่าฟันพวกมอญล้มตายแตกหนีมาอิก ความทราบถึงตละปั้นซึ่งรักษาเมืองอังวะเห็นเปนการใหญ่จึงให้กองทัพยกออกไป แต่ทางโน้นพวกพม่าเห็นมังอองไจยะองอาจกล้าหาญ ก็พากันเข้ามาเปนพรรคพวกมากขึ้น ช่วยกันต่อสู้ตีกองทัพมอญแตกพ่ายมาอิก พวกพม่าก็เกิดเชื่อถือว่ามังอองไจยะเปนผู้มีบุญจะกู้บ้านเมืองได้ กิติศัพท์รู้ไปถึงไหนพวกพม่าก็ยิ่งพากันมาเข้าด้วยมากขึ้นเปนหลายหมื่น มังอองไจยะจึงให้สร้างเมืองขึ้นที่บ้านมุตโชโบ ขนานนามว่าเมืองรัตนสิงค์ แล้วตั้งตัวเปนใหญ่ใช้นามว่า พระเจ้าอลองมินตยาคยี แต่คนทั้งหลายเรียกว่า พระเจ้าอลองพญา แปลว่า พระโพธิสัตว์ ตั้งซ่องสุมรี้พลอยู่เมืองรัตนสิงค์นั้น ครั้นเห็นว่ามีกำลังพอจะทำสงครามบุกรุกมอญได้ พระเจ้าอลองพญาก็ให้มังระราชบุตรที่ ๒ คุมกองทัพมาตีเมืองอังวะ เวลานั้นกำลังที่รักษาเมืองอ่อนแอลง ด้วยพระยาหงษาวดีแบ่งกองทัพถอนลงมาเสียมาก ตละปั้นสู้พม่าไม่ได้ก็เสียเมืองอังวะแก่พม่าเมื่อปีระกา พ.ศ ๒๒๙๖ พม่าได้ทีก็เลยตามลงมาตีได้เมืองแปรอิกเมือง ๑ พระยาหงษาวดีได้ให้อุปราชายกกองทัพมอญขึ้นไปตีเมืองแปรเมืองอังวะก็หาได้คืนมาอิกไม่ ในขณะเมื่อพม่ากลับมารบตอนนี้ พระยาหงษาวดีเข้าใจว่าพม่าประสงค์จะตีเอาบ้านเมืองคืนถวายเจ้านายเดิม จึงให้ปลงพระชนม์พระเจ้าอังวะกับเจ้านายเชื้อพระวงศ์กษัตริย์พม่าซึ่งจับได้มาจากเมืองอังวะเสียทั้งสิ้น การนั้นกลับไปเปนประโยชน์แก่พระเจ้าอลองพญา ด้วยเมื่อพวกพม่าทราบว่าสูญสิ้นราชวงศ์เดิมแล้ว ก็ยิ่งนับถือพระเจ้าอลองพญาหนักขึ้น พากันนิยมว่าพระเจ้าอลองพญาเปนเจ้าเปนนายของพวกพม่าทั่วไปทุกแห่ง.
ครั้นถึงปีกุญ พ.ศ. ๒๒๙๘ พระเจ้าอลองพญายกกองทัพบกทัพเรือลงมาตีได้ทั้งเมืองร่างกุ้ง๖ แลเมืองพสิมอันอยู่ปากน้ำเอราวดี แล้วไปตีเมืองสิเรียมอันเปนเมืองท่าค้าขายอยู่ปากน้ำหงษาวดีได้เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๒๙๙ ครั้นได้เมืองสิเรียมแล้วก็ยกกองทัพขึ้นไปล้อมเมืองหงษาวดีไว้ ขณะนั้นที่เมืองหงษาวดีเข้าแพงกำลังอัตคัดเสบียงอาหาร พระยาหงษาวดีเห็นว่าจะรักษาเมืองไว้ไม่ได้ จะยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าอลองพญาโดยดี แต่อุปราชากับพระยามอญโดยมากไม่เห็นชอบด้วย ก็จำเปนต้องต่อสู้รักษาเมืองไว้ ครั้นเห็นผู้คนอดอยากหนักเข้า พระยาหงษาวดีจึงลอบให้พระสังฆราชาออกไปเจรจาความเมืองกับพม่า ว่าจะขอเปนไมตรีแลจะยอมถวายธิดาแก่พระเจ้าอลองพญาด้วย พระสังฆราชากลับมาแจ้งความว่า พระเจ้าอลองพญาจะยอมเปนไมตรี พระยาหงษาวดีจึงส่งธิดาออกไปถวายพระเจ้าอลองพญาก็รับไว้ ครั้นความนั้นทราบถึงอุปราชาแลพระยามอญทั้งปวงต่างก็ขัดใจ พากันมาต่อว่าพระยาหงษาวดีว่า ไหนได้ตกลงกันไว้ว่าจะต่อสู้ข้าศึก เหตุใดจึงลอบไปอ่อนน้อมเสียโดยลำพังไม่ปฤกษาหารือก่อน พระยาหงษาวดีจนใจมิรู้ที่จะตอบโต้ประการใดก็ต้องกลับยอมต่อสู้พม่าอิก อุปราชาคาดว่าพวกพม่าเห็นพระยาหงษาวดีส่งลูกสาวไปถวายพระเจ้าอลองพญาคงจะพากันประมาท จึงยกกองพัพจู่ออกไปปล้นค่ายพม่าในเวลากลางคืน ฆ่าฟันพม่าล้มตายเปนอันมาก ด้วยพระเจ้าอลองพญาเข้าพระไทยว่าพระยาหงษาวดีจะยอมอ่อนน้อม สั่งกองทัพพม่าให้หยุดการรบสงบมาได้ ๓ วัน ครั้นมอญยกจู่ออกไปจึงเสียที แต่ทว่าพม่าที่ล้อมเมืองหงษาวดีมากมายหลายทัพด้วยกัน พ่ายแพ้มอญแต่พวกที่อยู่ค่ายข้างน่า ไม่ช้าเท่าใดพวกกองอื่นก็พากันมาช่วยรุมรบพุ่งพวกมอญแตกกลับเข้าเมือง พระเจ้าอลองพญาจึงให้กลับเข้าล้อมเมืองโดยกวดขัน แล้วรีบเร่งให้ตีเมืองหงษาวดีได้เมื่อเดือน ๗ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๐๐ นับเวลาที่มอญตั้งเปนอิศรอยู่ได้รวม ๗ ปี พระเจ้าอลองพญาขัดเคืองว่ามอญไม่มีความสัทย์ จึงให้จับบรรดามอญไม่ว่าไพร่ผู้ดีเอาไปเปนชเลยทั้งสิ้น แม้จนพระสงฆ์ก็ไม่ปล่อยไว้ ว่าเพราะพระสังฆราชาเปนผู้ออกไปเจรจาให้พม่าหลงเชื่อฟัง แล้วให้เผาเมืองหงษาวดีเสียด้วย เมื่อพม่าได้เมืองหงษาวดีแล้ว ประเทศพม่ารามัญก็รวมอยู่ในอำนาจพระเจ้าอลองพญาเหมือนอย่างพระเจ้าหงษาวดีแต่ก่อนมา แต่พระเจ้าอลองพญากลับไปตั้งเมืองรัตนสิงค์เปนราชธานี หามาอยู่เมืองหงษาวดีฤๅเมืองอังวะไม่.
ฝ่ายกรุงศรีอยุทธยา เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ บ้านเมืองเปนสันติศุขไม่มีศึกสงคราม การต่าง ๆ ที่ทรงประพฤติจึงเปนไปในทางบำเพ็ญพระราชกุศลเปนพื้น เปนต้นว่าบูรณะปฏิสังขรณ์มหาเจดียสถานแลพระอารามใหญ่น้อยที่ปรักหักพังอยู่ทั้งที่ในกรุง ฯ แลหัวเมืองทั้งปวง เปนการสำคัญที่ได้ปรากฎว่าทรงบำเพ็ญมาตลอดรัชกาล เมื่อพระเจ้าอลองพญารบพุ่งกับมอญในตอนหลัง พวกมอญที่พ่ายแพ้พม่าพากันแตกหนีเข้ามาพึ่งพระบารมีหลายคราว ก็โปรดให้รับไว้ตามเคย พระราชทานที่ให้ทั้งบ้านเรือนอยู่ในชานพระนคร เช่นที่บ้านโพธิ์สามต้นเปนต้น คงได้ทรงทราบกิติศัพท์ความเปนไปในเมืองมอญเมืองพม่าจากพวกมอญที่หนีเข้ามาในตอนหลังนี้อยู่เนืองๆ แต่คงจะคิดเห็นกันในกรุงศรีอยุทธยาว่ามอญกับพม่ารบกันฟั่นเฝือมาช้านาน ประเดี๋ยวฝ่ายโน้นชนะ ประเดี๋ยวฝ่ายนี้ชนะ เปนอาจินโดยมิควรที่จะคำนึง หาได้นึกว่ามีบุรษพิเศษเกิดขึ้นในพวกพม่าอิกไม่ จึงมิได้คิดเห็นว่าศึกพม่าจะมีมาถึงเมืองไทยอิก.
สมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐมีพระราชโอรสเปนเจ้าฟ้า ๓ พระองค์ พระองค์ใหญ่ทรงพระนามว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ทรงสถาปนาเปนกรมขุนเสนาพิทักษ์ แล้วตั้งเปนพระมหาอุปราช พระองค์กลางทรงพระนามว่าเจ้าฟ้าเอกทัศ ทรงสถาปนาเปนกรมขุนอนุรักษมนตรี พระองค์น้อยทรงพระนามว่าเจ้าฟ้าอุทุมพร ทรงสถาปนาเปนกรมขุนพรพินิต แลยังมีพระองค์เจ้าชายลูกเธออิก ๔ พระองค์ ทรงพระนามว่าพระองค์เจ้าแขก เปนกรมหมื่นเทพพิพิธพระองค์ ๑ พระองค์เจ้ามังคุด เปนกรมหมื่นจิตรสุนทรพระองค์ ๑ พระองค์เจ้ารถ เปนกรมหมื่นสุนทรเทพพระองค์ ๑ พระองค์เจ้าปาน เปนกรมหมื่นเสพภักดีพระองค์ ๑ พระองค์เจ้าต่างกรม ๔ พระองค์นี้ กรมหมื่นเทพพิพิธชอบกับพระมหาอุปราช แต่อิก ๓ กรมนั้นเปนอริ ครั้งหนึ่งพระมหาอุปราชเอาเจ้ากรมปลัดกรมเจ้า ๓ กรมมาลงพระราชอาญา ว่าเจ้าตั้งข้าไทให้มียศเกินบันดาศักดิกรมไม่ทูลห้ามปราม เจ้า ๓ กรมอาฆาฏ จึงกราบทูลกล่าวโทษพระมหาอุปราชว่าเปนชู้กับเจ้าฟ้าสังวาล อันเปนพระชายาองค์ ๑ ของสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ พิจารณาเปนสัตย์ พระมหาอุปราชต้องรับพระราชอาญา เลยสิ้นพระชนม์ในระหว่างโทษ แต่นั้นเจ้าฟ้าทั้ง ๒ พระองค์ก็เลยเปนอริกับเจ้า ๓ กรมต่อมา อยู่มากรมหมื่นเทพพิพิธกับเสนาบดีกราบทูลขอให้ทรงตั้งให้เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต พระราชโอรสพระองค์น้อยเปนพระมหาอุปราช แลเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตนั้น ในจดหมายเหตุของฝรั่งว่าพระอัธยาไศรยฉลาดเฉลียว แต่เสด็จไปศึกษาอักขรสมัยอยู่ในสำนักสงฆ์แต่ยังทรงพระเยาว์ พระหฤไทยนิยมทางข้างพระสาสนาเสียเปนพื้น ข้อนี้น่าจะเปนความจริง จึงเปนเหตุให้ทรงมักน้อย เห็นว่าท่วงทีพระราชวงศ์ไม่ปรองดองกัน เกรงจะเกิดความลำบากในวันน่า จึงทำเรื่องราวขึ้นกราบทูลขอพระองค์ อ้างว่าสมเด็จพระเชษฐาเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรียังมีอยู่ ขอให้ทรงตั้งเปนพระมหาอุปราช สมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐทรงขัดเคือง ดำรัสว่าเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้นโฉดเขลา หาสติปัญญาแลความเพียรมิได้ ถ้าครอบครองแผ่นดินบ้านเมืองก็จะเกิดไภยพิบัติฉิบหายเสีย แล้วเลยรับสั่งให้เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีไปทรงผนวชเสียอย่าอยู่ให้กีดขวาง เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีก็ต้องไปทรงผนวชด้วยเกรงพระราชอาญา ส่วนเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตก็ไม่กล้าที่จะขัดขวางต่อไป จึงโปรดให้อุปราชาภิเศกเจ้าฟ้าอุทุมพรกรมขุนพรพินิตเปนพระมหาอุปราช เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๐๐.
อุปราชาภิเศกแล้วไม่ถึงปี พอเดือน ๖ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๐๑ สมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐก็ประชวรหนัก ทรงทราบอยู่ว่าลูกเธอ ๓ กรมไม่เปนสามัคคีกับพระมหาอุปราช จึงมีรับสั่งให้หาเข้าไปเฝ้าถึงข้างที่พระบรรทมพร้อมกัน ทรงมอบเวนราชสมบัติแก่พระมหาอุปราช แล้วให้ลูกเธอต่างกรมทั้ง ๔ พระองค์กระทำสัตย์ถวายพระมหาอุปราชน่าพระที่นั่ง เพื่อจะป้องกันมิให้เกิดเหตุร้าวฉานในเวลาเปลี่ยนรัชกาลใหม่ แต่ลูกเธอต่างพระองค์ต่างมีทิษฐิมานะทั้งนั้น พ้นวิไสยที่พระราชบิดาจะทรงสมัคสมานได้ ฝ่ายเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีซึ่งต้องออกไปทรงผนวชอยู่ พอทราบว่าสมเด็จพระราชบิดาประชวรจะไม่คืนดีได้ ก็ลอบลาผนวชกลับเข้ามาอยู่ในพระราชวัง ฝ่ายเจ้า ๓ กรมก็ตระเตรียมผู้คน แล้วก็เก็บรวบรวมสิ่งของเครื่องราชูประโภคเอาตามพลการ ถ้าหากว่าเจ้าฟ้าอุทุมพรซึ่งเปนรัชทายาทมิได้เปนพระมหาอุปราชอยู่ก่อนแล้ว ก็น่าจะถึงเกิดรบพุ่งกัน แต่เพราะคนทั้งหลายได้อ่อนน้อมยอมตัวอยู่ในพระมหาอุปราชโดยมากแล้ว จึงไม่มีใครจะไปเปนกำลังข้างฝ่ายอื่น.
สมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐเสด็จสวรรคต เมื่อเดือน ๘ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๐๑ เสวยราชย์ได้ ๒๖ ปี พระชัณษา ๗๘ พรรษา เจ้าฟ้าอุทุมพรพระมหาอุปราชเสด็จขึ้นผ่านพิภพ พอจัดการประดิษฐานพระบรมศพเสร็จแล้ว ก็ให้จับกรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี สำเร็จโทษเสียทั้ง ๓ พระองค์ แล้วจึงทำพระราชพิธีปราบดาภิเศก แต่ก็หาได้เสวยราชสมบัติเปนปรกติไม่ สิ้นเจ้าสามกรมความลำบากก็เกิดขึ้นทางเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีผู้เปนสมเด็จพระเชษฐาที่ลาผนวชออกมา ด้วยเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีตั้งพระองค์เปนอิศร ขึ้นอยู่บนพระที่นั่งสุริยาธิอมรินทรเอาโดยพลการ แล้วทำท่วงทีอย่างเปนพระเจ้าแผ่นดินอยู่ในพระราชวังด้วยอิกพระองค์ ๑ ประสงค์จะให้สมเด็จพระอนุชาธิราชถวายราชสมบัติเหมือนอย่างเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐถวายราชสมบัติแก่พระเจ้าท้ายสระแต่ก่อนมา สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจะทรงทำประการใด ก็เกรงสมเด็จพระชนนีพันปีหลวง ในปีนั้นพเอิญสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรพระชัณษาครบอุปสมทบ ครั้นได้เดือนเศษ พอถึงแรมเดือน ๙ ก็ทูลถวายสมบัติแก่เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี แล้วเสด็จออกไปทรงผนวชที่วัดศรีอโยชฌิยา แล้วมาประทับอยู่ที่วัดประดู่โรงธรรม เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีก็ทำพิธีราชาภิเศกขึ้นเสวยราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราช แต่คนทั้งหลายเรียกกันเปนสามัญหลายอย่าง เรียกว่า “ขุนหลวงเอกทัศ” ตามพระนามเดิมบ้าง เรียกว่า “ขุนหลวงสุริยาธิ์อมรินทร” ตามนามพระที่นั่งที่เสด็จประทับบ้าง ที่เอาอย่างนามเจ้ากรุงกัมพูชาแต่โบราณมาเรียกว่า “ขุนหลวงขี้เรื้อน” เพราะเหตุที่เปนโรคกลากเกลื้อนฤๅอย่างไรประจำพระองค์นั้นก็มีบ้าง ส่วนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรนั้นคนทั้งหลายเรียกว่า “ขุนหลวงหาวัด” เพราะออกไปทรงผนวชอยู่ ในครั้งนั้นจึงเหมือนมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์ด้วยกัน.
การเปลี่ยนรัชกาลคราวหลังนี้ เปนเหตุร้ายแลเปนต้นเหตุที่จะเสียกรุงศรีอยุทธยาแก่พม่า เพราะพระเจ้าแผ่นดินซึ่งขึ้นปกครองบ้านเมือง เสมอได้ถูกสาปสันว่าไม่สมควรจะปกครองแผ่นดินแล้วยังมิหนำ ซ้ำความประพฤติพระองค์เวลาก่อนจะได้ราชสมบัติก็ดี แลเมื่อได้ราชสมบัติแล้วก็ดี ก็ไม่ทำความเลื่อมใสให้บังเกิดขึ้นลบล้างความวิตกของคนทั้งปวง เพราะเช่นนี้ ในไม่ช้าก็เกิดเหตุขึ้นด้วยกรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งออกทรงผนวชอยู่วัดกระโจม กับเจ้าพระยาอภัยราชา พระยายมราช แลพระยาเพ็ชรบุรีคบคิดกันเปนขบถ โดยประสงค์จะเชิญพระเจ้าอุทุมพรคืนมาครองราชสมบัติดังเก่า แต่พเอิญนำความไปทูลหารือสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ๆ กลับทูลให้สมเด็จพระเชษฐารู้พระองค์ แต่ขออย่าให้ฆ่าฟันพวกที่คิดร้าย จึงให้เนรเทศกรมหมื่นเทพพิพิธไปเสียลังกาทวีป แล้วเอาข้าราชการทั้งนั้นจำไว้ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศเสวยราชย์ยังไม่ทันได้ถึงปี เวลาข้าราชการกำลังป่วนปั่นกันดังกล่าวมาก็มีศึกพม่ามาติดพระนคร.
เหตุที่พม่าจะมาตีเมืองไทยคราวนี้ เดิมเมื่อพระเจ้าอลองพญาตีได้เมืองหงษาวดีแล้ว กลับขึ้นไปเมืองรัตนสิงค์ ประสงค์จะไปปราบปรามพวกกระแซซึ่งมาบุกรุกเขตรแดนพม่าข้างฝ่ายเหนือ ขณะนั้นทางเมืองมอญมีขุนนางมอญคน ๑ ซึ่งเคยเปนแม่ทัพของพระยาหงษาวดีอยู่แต่ก่อน ยังหลบหลีกอยู่ได้ ครั้นเห็นได้ท่วงทีจึงคุมสมัคพรรคพวกเข้าปล้นเมืองสิเรียมอันอยู่ปากน้ำเมืองหงษาวดี ด้วยเมืองสิเรียมเปนเมืองท่าค้าขายกับต่างประเทศ มีทรัพย์สมบัติบริบูรณ์ ข่าวทราบถึงแม่ทัพพม่าที่อยู่ใกล้เคียงก็ยกกองทัพมาจะตีเอาเมืองสิเรียมคืน พระยามอญเห็นว่าจะสู้ไม่ได้ จึงเก็บรวบรวมทรัพย์สมบัติโดยสานเรือกำปั่นฝรั่งเศสหนีไปจากเมือง หมายว่าจะไปอาไศรยอยู่ที่เมืองปอนดิเจรี อันเปนเมืองขึ้นของฝรั่งเศสในอินเดีย แต่เรือกำปั่นนั้นถูกพายุใหญ่ซัดมาทางตวันออก จึงแวะมาอาไศรยซ่อมแซมที่เมืองมฤท พม่ามีหนังสือมาถึงพระยาตะนาวศรีว่า พระยามอญนั้นเปนขบถฝรั่งพาหนีมา ขอให้ไทยจับส่งไปให้ทั้งตัวคนแลเรือกำปั่นที่รับมานั้นด้วย ข้างไทยตอบไปว่าเรือกำปั่นฝรั่งเศสถูกพายุซัดมาขออาไศรยซ่อมแซมที่เมืองมฤท ไม่มีเหตุอันใดที่จะจับกุมไว้ ครั้นซ่อมแซมเสร็จแล้วก็ปล่อยให้ไป ซึ่งว่ามีพวกขบถคดโท่ห์มาในเรือด้วยนั้นหาทราบไม่ พระเจ้าอลองพญาได้ทราบความก็ขัดเคืองไทย๗ แต่ยังนิ่งอยู่.
ครั้นถึงระดูแล้ง ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ พระเจ้าอลองพญาลงมาฉลองพระเกษธาตุที่เมืองร่างกุ้ง ซึ่งได้สั่งให้ลงมือปฏิสังขรณ์แต่เมื่อตีเมืองได้ เมื่อการฉลองพระธาตุเสร็จแล้ว พระเจ้าอลองพญาให้มังระราชบุตรที่ ๒ กับมังฆ้องนรธายกกองทัพมีจำนวนพล ๘,๐๐๐ ลงมาตีเมืองทวายซึ่งยังตั้งแขงเมืองอยู่ ครั้นตีได้เมืองทวายแล้ว มังระทราบความว่า เรือกำปั่นพวกพ่อค้าพากันหนีมาอาไศรยอยู่ในแดนไทยที่เมืองตะนาวศรีแลเมืองมฤทหลายลำ รวบรวมเอาทรัพย์สมบัติขนมาด้วยเปนอันมาก แลสืบได้ความว่าที่เมืองตะนาวศรีแลเมืองมฤทนั้น กำลังรี้พลไทยที่จะป้องกันรักษาหามีเท่าใดไม่ จึงบอกความไปทูลพระเจ้าอลองพญาที่เมืองร่างกุ้ง พระเจ้าอลองพญาเห็นได้ท่วงทีก็ยกข้อที่ไทยไม่ยอมส่งตัวพระยามอญกับเรือกำปั่นฝรั่งเศสให้นั้น ขึ้นอ้างว่าไทยทำให้เสียทางไมตรี สั่งให้มังระยกกองทัพเลยลงมาตีเมืองตะนาวศรีแลเมืองมฤททั้ง ๒ เมือง กองทัพพม่ายกล่วงแดนไทยเข้ามาครั้งนั้น จะเปนด้วยเหตุใดไทยจึงมิได้ตระเตรียมต่อสู้หาปรากฎไม่ ได้ความแต่ว่าพม่าตีเมืองได้โดยง่ายทั้งเมืองตะนาวศรีแลเมืองมฤท จนพม่าปลาดใจว่าไทยทำไมจึงอ่อนแอถึงเพียงนั้น จึงเลยเปนเหตุให้พม่ากำเริบ คิดอยากจะลองตีหัวเมืองไทยต่อเข้ามา ในชั้นนี้พม่ายังหาได้ตั้งใจว่าจะเข้ามาตีกรุงศรีอยุทธยาไม่.
ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยา เมื่อได้รับใบบอกพระยาตะนาวศรี ว่าพม่าจะยกกองทัพมาตีเมืองตะนาวศรีเมืองมฤท สมเด็จพระเจ้าเอกทัศมีรับสั่งให้เกณฑ์กองทัพ๘ ให้พระราชรองเมืองซึ่งได้ว่าที่พระยายมราชเปนแม่ทัพถือพล ๓,๐๐๐ พระยาเพ็ชรบุรีเปนกองน่า พระยาราชบุรีเปนยุกรบัตร พระสมุทสงครามเปนเกียกกาย พระธนบุรีกับพระนนทบุรีเปนกองหลัง ยกไปรักษาเมืองมฤท แล้วให้พระยารัตนาธิเบศร์ซึ่งว่าที่จตุสดมภ์กรมวัง คุมกองทัพจำนวนพล ๒,๐๐๐ ยกหนุนไปอิกทัพ ๑ แลครั้งนั้นขุนรองปลัดชูกรมการเมืองวิเศษไชยชาญ เปนผู้รู้วิทยาคม เข้ามาอาสาราชการสงคราม จึงโปรดให้คุมสมัคพรรคพวกรวม ๔๐๐ คนเปนกองอาทมาตไปในกองทัพพระยารัตนาธิเบศร์ด้วย.
กองทัพพระยายมราชยกไปไม่ทันจะรักษาเมืองตะนาวศรีเมืองมฤท พอข้ามแนวเขาบันทัดออกไปถึงด่านสิงขร ก็ได้ความว่าเมืองตะนาวศรีเมืองมฤทเสียแก่พม่าแล้ว จึงตั้งอยู่ที่แก่งตุ่มปลายน้ำตะนาวศรี หวังจะรอกองทัพหนุนฤๅจะบอกขอคำสั่งอย่างไรหาปรากฎไม่ ฝ่ายพม่าเตรียมจะยกกองทัพเข้ามาในหัวเมืองไทยอยู่แล้ว ครั้นรู้ว่ากองทัพไทยไปตั้งอยู่ที่ปลายน้ำ มังระจึงให้มังฆ้องนรธายกมาตีกองทัพพระยายมราชๆ ไม่มีที่มั่นก็แตกพ่าย พม่าได้ใจก็ติดตามเข้ามา ขณะนั้นพระยารัตนาธิเบศร์ตั้งอยู่ที่เมืองกุย ให้ขุนรองปลัดชูคุมกองอาทมาตลงไปตั้งสกัดทางอยู่ที่อ่าวหว้าขาว๙ พม่ายกมาถึงนั่นเวลาเช้าตรู่ ขุนรองปลัดชูคุมกองอาทมาตออกโจมตีข้าศึก รบกันด้วยอาวุธสั้นถึงตลุมบอน พวกอาทมาตฆ่าฟันพม่าล้มตายลงเปนอันมาก ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมื่อพระยารัตนาธิเบศร์ทราบว่ากองทัพพระยายมราชแตก ให้เกณฑ์กำลัง ๕๐๐ คนลงไปหนุนกองขุนรองปลัดชู กองหนุนเห็นจะลงไปไม่ทัน ขุนรองปลัดชูรบกับพม่าตั้งแต่เช้ามาจนเที่ยงก็สิ้นกำลังลง พม่าหนุนกันมามากเข้า ล้อมจับขุนรองปลัดชูได้ พวกกองอาทมาตก็แตกพ่ายยับเยิน พม่าไล่ลงทเลจมน้ำตายก็มาก ฝ่ายพระยารัตนาธิเบศร์พอทราบว่ากองอาทมาตแตกก็ไม่รออยู่ต่อสู้ข้าศึก รีบถอยทัพหนีมาจากเมืองเพ็ชรบุรี พม่าก็ขึ้นมาได้ถึงเมืองเพ็ชรบุรี โดยหามีผู้ใดที่จะต่อสู้กีดขวางไม่.
ในเวลานั้นพระเจ้าอลองพญาลงมาทอดพระเนตรเมืองทวาย เมืองมฤทแลเมืองตะนาวศรีที่ตีได้ใหม่ มาทราบว่ากองทัพไทยรบพุ่งอ่อนแอแตกหนีง่าย ๆ จึงเกิดความคิดขึ้นในตอนนี้ว่า น่าจะเข้ามาตีกรุงศรีอยุทธยา ด้วยความประมาทไทย จึงได้ตระเตรียมกองทัพที่เมืองตะนาวศรีนั้น ให้มังระราชบุตรเปนทัพน่า พระเจ้าอลองพญาเสด็จเปนทัพหลวงยกตามเข้ามาทางด่านสิงขร แล้วสั่งให้ไปตระเตรียมเกณฑ์ทัพทางเมืองมอญอิก ๒ ทัพ สำหรับจะให้เข้ามาในภายหลัง.
ฝ่ายเมืองกาญจนบุรีได้ยินกิติศัพท์ว่าพม่าเกณฑ์ทัพจะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์อิกทาง ๑ ก็มีใบบอกเข้ามายังกรุงศรีอยุทธยา สมเด็จพระเจ้าเอกทัศจึงให้เกณฑ์กองทัพ จำนวนพลประมาณ ๑๐,๐๐๐ ให้พระยาอภัยมนตรีเปนแม่ทัพ ยกไปตั้งขัดตาทัพอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี แล้วให้พระยาพระคลังคุมกองทัพอิกทัพ ๑ มีจำนวนพลประมาณ ๑๐,๐๐๐ ไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี ประสงค์จะให้ไปเปนกองหนุนกองทัพพระยาอภัยมนตรี แลคอยต่อสู้กองทัพพม่าที่จะยกมาจากเมืองตะนาวศรีด้วย ต่อมาเมืองกำแพงเพ็ชรบอกลงมาว่า ได้ข่าวว่าพม่าจะยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมาอิกทัพ ๑ พระเจ้าเอกทัศก็ให้เกณฑ์กองทัพอิกทัพ ๑ ให้เจ้าพระยาอภัยราชา๑๐เปนแม่ทัพ ยกขึ้นไปคอยต่อสู้พม่าที่จะยกมาทางด่านแม่ละเมา.
ตามคำผู้หลักผู้ใหญ่กล่าวกันมาว่า ว่าในครั้งนั้นไม่ได้คิดอ่านที่จะรวบรวมกำลังต่อสู้ข้าศึกประการใด สักแต่ได้ข่าวมาว่าพม่าจะยกมาทางไหนก็เกณฑ์กองทัพไปดักทางนั้น เพียงแต่จะสืบสวนให้ได้หลักฐานมั่นคงเสียก่อนก็ไม่มี จึงเอากำลังรี้พลไปป่วยการเสียเปล่าๆ มากกว่าที่ได้ต่อสู้ข้าศึก ด้วยพม่ามิได้ยกมาทั้งทางด่านพระเจดีย์สามองค์แลด่านแม่ละเมา ยกมาแต่ทางด่านสิงขรเมืองตะนาวศรีทางเดียว ดูเหมือนหนึ่งว่าครั้งนั้นถึงเมื่อรู้ว่าพม่าตีได้เมืองตะนาวศรีแล้ว ที่ในกรุง ฯ ก็จะไม่ได้คาดว่าพม่าจะตีต่อเข้ามาอิก จะพึ่งมาเอะอะตระเตรียมรักษาบ้านเมืองต่อเมื่อพม่าเข้ามาถึงเมืองกุยเมืองปราณ แลบางทีจะยังเข้าใจว่าพม่าที่ยกมาทางเมืองกุยเมืองปราณเปนแต่กองโจรฤๅกองทัพน้อย ส่วนกองทัพใหญ่ว่าจะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ฤๅด่านแม่ละเมาเหมือนอย่างพม่าที่เคยยกมาเมื่อคราวก่อน ๆ จึงไปมัวระวังแต่ ๒ ทางนั้น ที่จริงความคิดเช่นนี้ก็มีหลักฐานอยู่บ้าง เพราะทางด่านสิงขรที่ยกมาแต่เมืองตะนาวศรี๑๑ ไม่ใช่แต่เปนทางอ้อมค้อมห่างไกลอย่างเดียว ทางที่ข้าศึกจะต้องเดินทัพขึ้นมา ตั้งแต่ข้ามเขาบันทัดเข้ามาแล้วเปนทางกันดาร เพราะเทือกภูเขาอยู่ข้างซ้าย ทเลอยู่ข้างขวา เหมือนต้องเดินตรงมาในตรอกถึง ๕ วัน ๖ วัน จึงจะถึงเมืองเพ็ชรบุรี ถ้าหากไทยเอากองทัพที่มีกำลังไปตั้งสกัดอยู่ที่เมืองเพ็ชรบุรีสักทัพ ๑ แล้วให้กองทัพเรือยกลงไปวกหลังทางทเล จะเลือกล้อมข้าศึกที่ตรงไหนก็ได้สดวกตลอดระยะทางกันดารนั้น เพราะเช่นนี้ เมื่อครั้งพระเจ้าหงษาวดีมาตีเมืองไทยแต่ก่อน ถึงมิได้ให้กองทัพยกมาทางด่านสิงขรเลย ที่พระเจ้าอลองพญายกมาครั้งนี้ ก็ด้วยไม่รู้ภูมิแผนที่เหมือนหลงเข้ามาในเงื้อมมือไทย ถ้าเวลานั้นผู้บัญชาการศึกข้างฝ่ายไทยมีความสามารถอยู่บ้าง กองทัพพม่าก็คงป่นปี้ แม้อย่างต่ำ ๆ ก็จะไม่สามารถล่วงเลยเมืองเพ็ชรบุรีขึ้นมาได้ คิดดูจึงน่าเสียดายนัก เพราะพม่าหลงแล้วฝ่ายเรายังหลงยิ่งไปกว่าพม่า กลายเปนพม่ายกกองทัพมาในทางที่ไทยมิได้ตระเตรียมจะต่อสู้ จึงล่วงเลยมาถึงเมืองราชบุรีได้โดยสดวกด้วยประการฉนี้.
ได้ความในพงษาวดารพม่าว่า มีกองทัพไทยประมาณพลสัก ๒๐,๐๐๐ ตั้งรับพม่าอยู่ที่เมืองราชบุรี คงเปนกองทัพพระยาอภัยมนตรีถอยมาจากเมืองกาญจนบุรี มาสมทบกับกองทัพพระยาพระคลังแลกองทัพที่หนีขึ้นไปจากข้างใต้ ตั้งรวมกันอยู่ณเมืองราชบุรี กองทัพมังฆ้องนรธามาถึงก่อน ได้รบพุ่งกันเปนสามารถ ไทยฆ่าฟันพม่าล้มตายลงมาก กองทัพมังฆ้องนรธาจวนจะแตกอยู่แล้ว พอกองทัพมังระราชบุตรยกตามมาทัน เข้าช่วยรบพุ่งระดมตีกองทัพไทยจึงแตกหนีมา พระเจ้าอลองพญามาตั้งรวบรวมพลอยู่ที่เมืองราชบุรี ๔ วัน๑๒ แล้วยกต่อมาเมืองสุพรรณบุรี.
ตั้งแต่กองทัพไทยแตกมาจากเมืองราชบุรี ที่ในกรุงศรีอยุทธยาก็เกิดโกลาหล ด้วยคนทั้งหลายเห็นกันเปนแน่ชัดว่า เพราะผู้บัญชาการศึกโง่เขลารู้เท่าไม่ถึงการ จะพาบ้านเมืองพินาศฉิบหาย ก็วุ่นวายกันไปต่างๆ ถึงคิดกันจะไปทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรให้ลาผนวชออกมาว่าราชการ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศเกรงจะเกิดจลาจลขึ้น จึงมีรับสั่งให้ไปเชิญสมเด็จพระอนุชาลาผนวช แล้วมอบราชการทั้งปวงให้ทรงบังคับบัญชาต่างพระองค์.
การที่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศให้ไปเชิญสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรลาผนวชครั้งนั้น จะได้มีรับสั่งสัญญาอย่างไร ความข้อนี้ไม่ปรากฎในจดหมายเหตุ แต่เห็นได้ในการทั้งปวงที่ปรากฎต่อมา ว่าเมื่อพระเจ้าอุทุมพรลาผนวชครั้งนั้น เข้าพระไทยว่าสมเด็จพระเชษฐาจะคืนราชสมบัติให้ครองดังเก่า เพราะฉนั้นจึงทรงบังคับบัญชาการเต็มอำนาจเหมือนอย่างพระองค์ทรงครองแผ่นดิน ยกสมเด็จพระเชษฐาขึ้นไว้ในตำแหน่งสมเด็จพระเจ้าหลวง ความที่กล่าวนี้ เห็นได้ดังเช่นมีรับสั่งให้จับพระยาราชมนตรี ปิ่น กับจมื่นศรีสรรักษ์ฉิมพี่พระสนมเอกของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ซึ่งเปนต้นเหตุทำให้เกิดร้าวฉานในหมู่ข้าราชการ เอาตัวจำเสียทั้ง ๒ คน แล้วให้ปล่อยเจ้าพระยาอภัยราชากับพระยายมราช พระยาเพ็ชรบุรี ซึ่งต้องเวรจำมาด้วยเรื่องคิดขบถ ให้พ้นโทษออกมารับราชการดังเก่า ด้วยประสงค์จะให้ข้าราชการสมัคสมานกันเหมือนแต่เดิม แล้วจึงดำรัสสั่งให้กวาดต้อนราษฎร แลขนเสบียงอาหารเข้าไว้ในพระนคร ตระเตรียมป้อมปราการจะเอาพระนครเปนที่มั่นต่อสู้ข้าศึกดังแต่ก่อน ครั้งนี้เห็นว่ากำแพงเมืองข้างด้านเหนือตอนตรงพระราชวังชิดกระชั้นนัก ให้สร้างกำแพงขึ้นอิกแนว ๑ ให้ห่างออกไป ทำให้ต่ำกว่ากำแพงเดิม ให้ยิงปืนได้ทั้ง ๒ ชั้น ในเวลานั้นทำนองกองทัพเจ้าพระยาอภัยราชาที่ยกขึ้นไปทางเหนือจะกลับลงมาถึง จึงมีรับสั่งให้จัดกองทัพขึ้นใหม่อิกทัพ ๑ มีจำนวนพล ๒๐,๐๐๐ ให้เจ้าพระยามหาเสนาเปนแม่ทัพถืออาญาสิทธิ แลให้พระยายมราช พระยารัตนาธิเบศร์ พระยาราชบังสรร เปนนายกองยกออกไปตั้งรับข้าศึกที่ต่อแดนเมืองสุพรรณ.
ฝ่ายกองทัพพม่า พระเจ้าอลองพญายกมาถึงเมืองสุพรรณตั้งพักรวบรวมพลอยู่หลายวัน ทำนองจะรอกำลังที่เพิ่มเติมเข้ามาทีหลัง ด้วยเห็นว่าจำนวนพลยังไม่พอที่จะตีกรุงศรีอยุทธยาอันเปนราชธานี ฝ่ายข้างกรุง ฯ ได้ช่องตอนนี้จึงมีเวลาที่ได้จัดการได้ดังกล่าวมา พอพระเจ้าอลองพญาได้รี้พลพร้อมมูลก็ให้ยกกองทัพต่อเข้ามา มาพบกองทัพเจ้าพระยามหาเสนาตั้งค่ายรายสกัดอยู่ริมลำน้ำจักราช๑๓ในทุ่งตาลานเปนหลายค่าย มังฆ้องนรธากับมังระราชบุตรขับพลพม่าเข้าตีค่ายไทยรบพุ่งกันเปนสามารถ ไทยได้ลำน้ำเปนคู พม่าต้องข้ามน้ำมาตีค่าย ถูกไทยยิงล้มตายเปนอันมาก จนต้องถอยกลับไป ครั้นกองทัพหลวงของพระเจ้าอลองพญาตามมาถึง พม่ามีรี้พลมากกว่าไทย ก็แปรกระบวนเข้าตีโอบ ตีกองทัพไทยแตกพ่าย เจ้าพระยามหาเสนาถูกอาวุธข้าศึกตาย พระยายมราชก็ต้องอาวุธบาดเจ็บกลับมาตายในกรุง ฯ นายกองรอดมาได้แต่พระยารัตนาธิเบศร์กับพระยาราชบังสรร ส่วนไพร่พลถูกพม่าฆ่าฟันเสียเปนอันมาก.
พระเจ้าอลองพญาตีค่ายไทยที่ทุ่งตาลานแตกแล้วก็ยกกองทัพตามเข้ามาถึงกรุงศรีอยุทธยา เมื่อเดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีมโรง พ.ศ. ๒๓๐๓ ตั้งค่ายหลวงณบ้านกุ่มข้างเหนือกรุง ฯ ให้มังระราชบุตรกับมังฆ้องนรธาซึ่งเปนกองทัพน่าลงมาตั้งที่ทุ่งโพธิ์สามต้น ครั้งนั้นหลวงอภัยพิพัฒน์ขุนนางจีน พาพวกจีนบ้านในก่ายประมาณ ๒,๐๐๐ มาขออาสาตีค่ายข้าศึกที่โพธิ์สามต้น จึงโปรดให้จมื่นทิพเสนาปลัดกรมตำรวจคุมกำลัง ๑,๐๐๐ หนุนออกไปด้วย กองทัพจีนยกไปถึงยังมิทันจะได้ตั้งค่าย พม่าก็ข้ามลำน้ำโพธิ์สามต้นมาระดมตีกองทัพจีนแตกพ่าย จมื่นทิพเสนาซึ่งเปนกองหนุนยังตั้งอยู่ที่วัดทเลหญ้า๑๔ทุ่งเพนียดหนุนไปไม่ทัน ครั้นเห็นพม่าไล่ฆ่าฟันจีนมากองทัพจมื่นทิพเสนาก็พลอยแตกด้วย ครั้งนั้นเสียผู้คนไทยจีนถูกพม่าฆ่าฟันเสียเปนอันมาก มังระเห็นได้ทีก็ยกกองทัพรุกเข้ามาตั้งค่ายที่เพนียด ให้มังฆ้องนรธาเปนกองน่าเข้ามาตั้งถึงวัดสามวิหาร แต่นั้นก็มิได้ปรากฎว่าไทยยกกองทัพออกไปรบพุ่งพม่าอิก เปนแต่ให้รักษาพระนครมั่นไว้ ภายนอกพระนครปล่อยให้พม่าทำตามชอบใจ มีจดหมายเหตุการณ์ตอนนี้ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า.
เมื่อเดือน ๕ แรม ๘ ค่ำ พม่าประมาณ ๒,๐๐๐ ยกลงไปยังท้ายคูทั้ง ๒ ฟาก๑๕ ขณะนั้นพวกชาวเรือค้าขายถอยหนีลงไปจากข้างเหนือ ไปจอดรวบรวมกันอยู่ที่ท้ายคูเปนอันมาก ทั้งเรือพระที่นั่งศรีพระที่นั่งกราบแลเรือกระบวน ซึ่งเอาไว้ในโรงเรือข้างเหนือพระราชวังก็ถอยเอาลงไปรวมไว้ที่นั่นด้วย พม่าฆ่าฟันผู้คนทั้งชายหญิงเด็กผู้ใหญ่ล้มตายเปนอันมาก แล้วเผาเรือที่ท้ายคูนั้นเสียหมดสิ้น.
ถึงเดือน ๕ แรม ๑๔ ค่ำ พม่าเอาปืนใหญ่มาตั้งณวัดราชพรี วัดกระษัตรา ข้างด้านตวันตก ยิงเข้าไปในพระนคร สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทรงช้างพระที่นั่งเสด็จไปบัญชาการให้เจ้าน่าที่ยิงปืนป้อมตอบโต้พม่า ยิงกันอยู่จนเวลาเย็นพม่าก็เลิกทัพกลับไปค่าย.
ถึงเดือน ๖ ขึ้นค่ำ ๑ พม่าเอาปืนใหญ่มาตั้งจังกาที่วัดน่าพระเมรุ แลวัดช้าง (หัศดาวาศ) ระดมยิงเข้าไปในพระราชวังทั้งกลางวันแลกลางคืน ลูกปืนถูกยอดพระที่นั่งสุริยาธิอมรินทร์หักทำลายลง.
ในวันพม่ามายิงพระราชวังที่กล่าวมานี้ พระเจ้าอลองพญามาทรงบัญชาการแลจุดปืนใหญ่เอง พเอิญปืนแตกถูกพระองค์บาดเจ็บสาหัส ก็ประชวรหนักในวันนั้น พอวันรุ่งขึ้นถึงเดือน ๖ ขึ้น ๒ ค่ำ๑๖ พม่าก็พากันเลิกทัพขึ้นไปทางเมืองเหนือ หวังจะกลับออกทางด่านแม่ละเมา แต่ไปยังไม่พ้นแดนเมืองตาก พระเจ้าอลองพญาก็สิ้นพระชนม์ในกลางทาง.
พม่าเลิกทัพกลับครั้งนั้นเปนการรีบจะไปในทันที มิได้มีเวลาตระเตรียม ถึงขนปืนใหญ่ไปไม่ทันต้องเอาลงฝังทิ้งไว้ในค่ายหลวง ต่อมาไทยไปขุดพบหลายสิบกระบอก แตในชั้นแรกเมื่อพม่ากลับไป ไทยยังไม่รู้ว่าพระเจ้าอลองพญาประชวร สำคัญว่าพม่าจะทำถอยทัพเปนกลอุบายก็มิได้ยกไปตามตี ครั้นรู้ว่าเลิกทัพกลับไปแน่ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจึงมีรับสั่งให้พระยายมราชกับพระยาสีหราชเดโชไชยยกกองทัพไปติดตามพม่า ตามไปจนเมืองตากก็ไม่ทันข้าศึก แต่ถึงจะทันก็เห็นจะไม่เปนประโยชน์อันใด ด้วยเวลานั้นครั่นคร้ามพม่าเสียมากแล้ว พม่าจึงกลับไปได้โดยสดวก.
-
๑. ในหนังสือพระราชพงษาวดารขนานพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราช แต่พบหนังสือซึ่งแต่งในครั้งนั้นหลายฉบับ คือคำให้การขุนหลวงหาวัดแลศุภอักษรที่มีไปเมืองลังกาเปนต้น ใช้พระนามว่า มหาธรรมราชาธิราช ชาวลังกาจึงเรียกพระนามว่า พระเจ้าธรรมราชา. ↩
-
๒. จดหมายเหตุนี้ หอพระสมุด ฯ พิมพ์เมื่อปีมโรง พ.ศ. ๒๔๕๙. ↩
-
๓. บ้านสวนพลูอยู่หลังวัดพระเจ้าพนังเชิง. ↩
-
๔. เรื่องสมิงทอ ความในหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัดถเลขากับฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ ไม่ต้องกัน ฉบับกรมสมเด็จพระปรนานุชิต ฯ ยุติต้องกับพงษาวดารพม่า ข้าพเจ้าจึงอนุมัติตาม. ↩
-
๕. คำว่า ออง ภาษาพม่าแปลว่า ชนะ คำว่า ไจยะ นั้น ก็คือคำว่า ไชยะ ภาษาบาฬีนั้นเอง บ้านมุตโชโบ แปลว่า บ้านนายพราน อยู่ข้างฟากตวันตกแม่น้ำเอราวดี ห่างเมืองอังวะสัก ๒,๐๐๐ เส้น เดี๋ยวนี้เรียกว่าบ้าน ซเวโบ. ↩
-
๖. เมืองนี้เดิมชื่อเมืองตะโก้ง พระเจ้าอลองพญาตีได้แล้วให้สร้างเมืองขึ้นใหม่ใกล้เมืองเดิมอิกเมือง ๑ จึงให้ชื่อว่าเมืองร่างกุ้ง พวกลื้อเขินยังเรียกว่าเมืองตะโก้งจนทุกวันนี้. ↩
-
๗. เหตุที่พม่าจะเกิดรบกับไทยคราวนี้ กล่าวกันเปนหลายอย่าง ว่าเพราะไทยไปตีเมืองทวายบ้าง เพราะไทยจับเรือของพม่าบ้าง ข้าพเจ้าอนุมัติตามความในจดหมายเหตุฝรั่ง เพราะเห็นสมเหตุสมผล. ↩
-
๘. ชื่อแม่ทัพนายกองที่ปรากฎในพงษาวดารต่างฉบับต่างกัน ข้าพเจ้าอนุมัติตามพระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัดถเลขา เพราะเห็นใกล้จะยุติกับในคำให้การชาวกรุงเก่า. ↩
-
๙. อ่าวหว้าขาวอยู่ข้างเหนือที่ตั้งจังหวัดประจวบคิรีขันธ์ทุกวันนี้ เปนที่แคบคับขัน ด้วยมีที่ราบเปนทางเดินอยู่แต่ตอนริมทเล ข้างในภูเขาเปนเทือกติดต่อกันไปจนเขาบันทัด ไปรถไฟเดี๋ยวนี้ก็สังเกตได้. ↩
-
๑๐. เจ้าพระยาอภัยราชาคนนี้ตั้งขึ้นใหม่ เจ้าพระยาอภัยราชาคนก่อนเปนขบถต้องจำอยู่ ↩
-
๑๑. ทางนี้ข้ามเขาบันทัดเข้ามาตรงหลังจังหวัดประจวบคิรีขันธ์ทุกวันนี้ แล้วเดินเลาะฝั่งทเลมาจนเมืองเพ็ชรบุรี. ↩
-
๑๒. ในพงษาวดารพม่าว่า พักที่เมืองเพ็ชรบุรี แต่ที่จริงต้องเปนเมืองราชบุรี เพราะกล่าวว่าออกจากนั่นก็มาถึงเมืองสุพรรณ. ↩
-
๑๓. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่าตั้งที่ลำน้ำเอกราช เห็นว่าจะผิด เพราะลำน้ำเอกราชอยู่ที่ริมป่าโมกไม่ห่างลำแม่น้ำใหญ่ พงษาวดารพม่าก็ว่ารบกันอยู่ที่ทุ่งตาลาน จะต้องเปนลำน้ำจักราชจึงจะถูก. ↩
-
๑๔. คือ วัดบรมวงศ์ทุกวันนี้. ↩
-
๑๕. ที่เรียกว่าท้ายคู คือแม่น้ำข้างใต้กรุง ฯ ราวที่ปากคลองตะเคียน. ↩
-
๑๖. นัยหนึ่งว่าพระเจ้าอลองพญาประชวรเปนฝีหัวใหญ่ แต่ความจริงเห็นจะถูกปืนแตกอย่างกล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดาร เพราะมีหลักฐานที่พม่าเลิกกลับไปโดยด่วน มิได้ปรากฎว่ามีเวลาตระเตรียม. ↩