ครั้งที่ ๑ คราวพม่าตีเมืองเชียงกราน ปีจอ พ.ศ. ๒๐๘๑

เมื่อพระพุทธศักราชใกล้จะถึง ๒๐๘๐ ปี ประเทศพม่ารามัญยังเปนเอกราชอยู่ด้วยกัน แต่กำลังเสื่อมอำนาจลงกว่าแต่ก่อนด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย เจ้าเมืองตองอู ชื่อมังกินโย เปนเชื้อวงศ์กษัตริย์พม่าแต่ก่อนจึงตั้งตัวเปนอิศระ ราชาภิเศกทรงนามว่า พระเจ้ามหาศิริไชยสุระ เมืองตองอูนั้นอยู่ริมแม่น้ำสะโตง ระหว่างประเทศพม่ากับรามัญ ผู้คนพลเมืองมีทั้งมอญพม่าปะปนกัน ด้วยเมื่อครั้งพระเจ้าราชาธิราชทำสงครามขับเคี่ยวกับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง มอญแลพม่าที่หลบลี้หนีภัย พากันเข้าไปอาไศรยอยู่ในแดนเมืองตองอูเปนอันมาก เมืองตองอูจึงมีกำลังมากขึ้นแต่ครั้งนั้นมา เมื่อมังกินโยตั้งตัวเปนพระมหากษัตริย์แล้วไม่ช้าในประเทศพม่าก็เกิดเหตุวิบัติขึ้น ด้วยราชวงศ์พม่าวิวิาทกันเอง ต่างไปชวนพวกเจ้าฟ้าไทยใหญ่มาช่วยรบพุ่งกันแลกัน ก็เลยถึงความพินาศด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ในที่สุดเชื้อวงศ์เจ้าฟ้าไทยใหญ่ได้เข้ามาครอบครองเมืองอังวะ พวกขุนนางพม่าที่ไม่อยากเปนข้าไทยใหญ่จึงพากันอพยพลงมาอยู่กับพระเจ้าตองอู ๆ ได้กำลังมากขึ้นก็ตั้งหน้าจัดการทำนุบำรุงบ้านเมืองแลกำลังทะแกล้วทหาร หมายจะขยายอำนาจให้เปนใหญ่ยิ่งขึ้น แต่ยังไม่ทันจะได้แผ่อาณเขตรออกไป พระเจ้าตองอูมหาศิริไชยสุระก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน มังตราราชบุตรอายุ ๑๖ ปีได้รับราชสมบัติ ราชาภิเศกทรงนามว่า พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ แปลว่า สุวรรณเอกฉัตร หนังสือเก่าเรียกว่า พระเจ้าฝรั่งมังตราก็มี.

พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้มีอุปนิสัยกล้าหาญ พอพระไทยในการทำศึกสงคราม ได้รับราชสมบัติในเวลาบ้านเมืองกำลังบริบูรณ์ แลได้คู่คิดการสงครามคน ๑ เปนพระญาติวงศ์ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ตั้งให้มีนามว่า บุเรงนอง แปลว่า พระเชษฐาธิราช ช่วยกันคิดตระเตรียมกำลังที่จะทำสงครามแผ่อาณาจักรให้กว้างขวาง ในขณะนั้นพระเจ้าหงษาวดีซึ่งมีนามเรียกว่า พระยาราน เปนราชโอรสของพระเจ้าธรรมเจดีย์ (มหาปิฎกขรในเรื่องราชาธิราช) สิ้นพระชนม์ ราชสมบัติได้แก่ราชโอรส ชนมายุได้ ๑๕ ปี พระเจ้าหงษาวดีองค์ใหม่ประพฤติเปนพาลกดขี่ข้าราชการแลสมณะอาณาประชาราษฎรให้ได้ความเดือดร้อนต่าง ๆ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เห็นว่ารามัญประเทศเกิดระส่ำระสาย ก็ยกกองทัพเมืองตองอูมาตีเมืองหงษาวดี ครั้นตีได้แล้วจึงย้ายราชธานีมาตั้งที่เมืองหงษาวดี แล้วยกกองทัพมาตีเมืองเมาะตมะ อันเปนเมืองมีอุปราชของพระเจ้าหงษาวดีครอง เปนมณฑลใหญ่อยู่ข้างฝ่ายใต้ เมื่อได้เมืองเมาะตมะแล้ว พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้จะจัดการรักษาเขตรแดนหัวเมืองมอญในมณฑลนั้น จึงยกกองทัพมาตีเมืองเชียงกราน ซึ่งเปนหัวเมืองปลายแดนไทย เมื่อปีจอ จุลศักราช ๙๐๐ พ.ศ. ๒๐๘๑.

เมืองเชียงกรานนี้เดิมมอญเรียกว่า เมืองเดีงกรายน์ ต่อมาในครั้งสมเด็จพระนเรศวรเรียกว่า เมืองแครง เปนเมืองเดียวกันนั้นเอง ทุกวันนี้พม่าเรียกว่า เมืองแคยง อยู่ริมแม่น้ำสองยิน ในทางที่จะออกไปจากด่านแม่สอดแขวงเมืองตาก เมืองเชียงกรานพลเมืองเปนมอญ แต่เห็นจะเปนเมืองขึ้นของไทยมาแต่ครั้งกรุงศุโขไทยเปนราชธานี ทำนองพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้จะคิดเห็นว่าเปนเมืองมอญ จึงประสงค์จะเอาไปเปนอาณาเขตร.

เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้มาตีได้เมืองเชียงกราน สมเด็จพระไชยราชาธิราชครองกรุงศรีอยุทธยา จึงเสด็จยกกองทัพหลวงออกไปรบพม่า ในหนังสือพระราชพงษาวดารมีปรากฎแต่ว่า “ถึงเดือน ๑๑ เสด็จไปเมืองเชียงกราน” เท่านี้ แต่มีจดหมายเหตุของปินโตโปตุเกศว่า ครั้งนั้นมีพวกโปตุเกศเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุทธยา ๑๓๐ คน สมเด็จพระไชยราชาธิราชเกณฑ์โปตุเกศเข้ากองทัพไปด้วย ๑๒๐ คน ได้รบพุ่งกันกับพม่าที่เมืองเชียงกรานเปนสามารถ ไทยตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไป ได้เมืองเชียงกรานคืนมาเปนของไทยดังแต่ก่อน เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จกลับมาถึงพระนคร ทรงยกย่องความชอบพวกโปตุเกศที่ได้ช่วยรบพม่าคราวนั้น จึงพระราชทานที่ให้ตั้งบ้านเรือนที่แถวบ้านดิน เหนือคลองตะเคียนแลวพระราชทานอนุญาตให้พวกโปตุเกศสร้างวัดวาสอนสาสนากันตามพอใจ จึงเปนเหตุที่จะได้มีวัดคฤศตังแลพวกบาดหลวงมาตั้งในเมืองไทยแต่นั้นมา.

ในหนังสือพระราชพงษาวดารมีความปรากฎว่า เมื่อก่อนรบกับพม่าที่เมืองเชียงกรานนั้น ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ได้โปรดให้พระบรมราชาราชโอรสออกไปตีเมืองทวายครั้ง ๑ ในพงษาวดารพม่าก็มีตรงกัน แต่ครั้งนั้นเมืองทวายยังไม่ได้เปนของพม่า ทำนองจะเปนเมืองขึ้นไทยอยู่ แล้วตั้งแขงเมืองต่อไทย ฤๅจะเปนอิศระอยู่โดยลำพัง ข้าพเจ้าจึงมิได้นับเข้าในเรื่องสงครามที่ไทยรบกับพม่า การที่รบกันที่เมืองเชียงกรานเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช จึงเปนครั้งแรกที่ไทยจะได้รบกับพม่า ในสมัยเมื่อกรุงศรีอยุทธยาเปนราชธานี.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ