- อธิบายเหตุการณ์ที่ไทยรบกับพม่า
- ครั้งที่ ๑ คราวพม่าตีเมืองเชียงกราน ปีจอ พ.ศ. ๒๐๘๑
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวสมเด็จพระสุริโยไทยขาดฅอช้าง ปีวอก พ.ศ. ๒๐๙๑
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวรบกันด้วยเรื่องช้างเผือก ปีกุญ พ.ศ. ๒๑๐๖
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวเสียกรุง ฯ แก่พระเจ้าหงษาวดี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๑๑
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิศระ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗
- สงครามครั้งที่ ๖ ครั้งรบพระยาพสิมที่เมืองสุพรรณ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวรบพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกษ ปีระกา พ.ศ. ๒๑๒๘
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวพระเจ้าหงษาวดีล้อมกรุง ฯ ปีจอ พ.ศ. ๒๑๒๙
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวพระมหาอุปราชายกมาครั้งแรก ปีขาล พ.ศ. ๒๑๓๓
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวสมเด็จพระนเรศวรชนช้าง ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕
- สงครามครั้งที่ ๑๑ คราวไทยตีเมืองทวายเมืองตะนาวศรี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๓๕
- สงครามครั้งที่ ๑๒ คราวสมเด็จพระนเรศวรได้หัวเมืองมอญ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๑๓๗
- สงครามครั้งที่ ๑๓ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดีครั้งแรก ปีมะแม พ.ศ. ๒๑๓๘
- สงครามครั้งที่ ๑๔ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดี ครั้งที่ ๒ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๔๒
- สงครามครั้งที่ ๑๕ สงครามครั้งที่สุดของสมเด็จพระนเรศวร ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๔๗
- สงครามครั้งที่ ๑๖ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีฉลู พ.ศ. ๒๑๕๖
- สงครามครั้งที่ ๑๗ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๑๕๗
- สงครามครั้งที่ ๑๘ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีจอ พ.ศ. ๒๑๖๕
- สงครามครั้งที่ ๑๙ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๒๐๕
- สงครามครั้งที่ ๒๐ คราวรบพม่าที่เมืองไทรโยค ปีเถาะ พ.ศ. ๒๒๐๖
- สงครามครั้งที่ ๒๑ คราวไทยตีเมืองพม่า ปีมโรง พ.ศ. ๒๒๐๗
- สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๑
- สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๒
- สงครามครั้งที่ ๒๓ คราวพม่าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๐๗
- สงครามครั้งที่ ๒๔ คราวเสียกรุง ฯ ครั้งหลัง ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
สงครามครั้งที่ ๑๘ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีจอ พ.ศ. ๒๑๖๕
ไทยกับพม่าเลิกสงครามกันมาได้ ๒ ปี สมเด็จพระเอกาทศรถก็สวรรคต เมื่อปีวอก จุลศักราช ๙๘๒ พ.ศ. ๒๑๖๓ เสวยราชย์มาได้ ๑๕ ปี สมเด็จพระเอกาทศรถมีเจ้าฟ้าราชโอรส ๒ พระองค์ พระองค์ใหญ่ทรงพระนามเจ้าฟ้าสุทัศน์ พระองค์น้อยทรงพระนามเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ ทรงตั้งเจ้าฟ้าสุทัศน์เปนพระมหาอุปราช แต่ทิวงคตเสียก่อนสมเด็จพระราชบิดา เมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จสวรรคตยังหาได้ทรงตั้งพระมหาอุปราชไม่ เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์เปนสมเด็จพระราชโอรสรองลงมาก็ได้รับรัชทายาทขึ้นครองราชสมบัติ.
ตรงนี้จะต้องวินิจฉัยเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงศรีอยุทธยาตอนต่อแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถเสียก่อน เพราะหนังสือพงษาวดารกล่าวความตรงนี้ผิดกลับจดหมายเหตุเปนข้อสำคัญ ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถนั้น พระศรีศิลป์บวชอยู่ที่วัดระฆัง
ในจดหมายเหตุของพวกฝรั่งว่า เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์นั้นพระอัธยาไศรยอ่อนแอปราศจากความสามารถ (ทำนองจะเปนเพราะเหตุนี้ สมเด็จพระเอกาทศรถจึงยังไม่ทรงตั้งให้เปนพระมหาอุปราช ตำแหน่งจึงว่างอยู่จนเสด็จสวรรคต) ครั้นเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ขึ้นครองราชสมบัติ ข้าราชการก็ไม่ยำเกรง มีแต่คนชังโดยมาก ขณะนั้นเรือยี่ปุ่นเข้ามาค้าขายอยู่ในกรุง ฯ พวกยี่ปุ่นชาวเรือนั้นคล้ายๆ กับสลัด ครั้นเห็นว่ารัฐบาลไทยอ่อนแอได้ท่วงที ก็เที่ยวปล้นสดมราษฎรดังเคยทำมาแต่ก่อน แล้วพากันลอบเข้าไปในพระนคร
สมเด็จพระเอกาทศรถมีพระเจ้าลูกยาเธอเกิดด้วยพระสนมอิก ๓ พระองค์ พระองค์ใหญ่ทรงตั้งเปนที่พระอินทราชา ทรงผนวชอยู่ (ประมาณได้สัก ๘ พรรษา) พระองค์กลางทรงตั้งเปนที่พระศรีศิลป์ พระองค์น้อยได้เปนที่พระองค์ทอง ข้าราชการพร้อมกันทูลอัญเชิญพระอินทราชาให้ลาผนวชขึ้นผ่านพิภพ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๑๖๓ ปรากฎพระนามว่า “พระเจ้าทรงธรรม
ส่วนเรื่องการสงครามที่มีกับพม่านั้น ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสวยราชย์ได้ปี ๑ พม่าก็ยกกองทัพลงมาตีเมืองตะนาวศรี แลว่าครั้งนั้นกองทัพกรุงฯ ยกกองไปช่วยไม่ทัน จึงเสียเมืองตะนาวศรีแก่พม่า แต่เรื่องที่ว่าตีเมืองตะนาวศรีครั้งนี้ ไม่ปรากฎทั้งในพงษาวดารพม่าแลในจดหมายเหตุของฝรั่ง สอบสวนไปกลับได้หลักฐานเปนอย่างอื่น เปนต้นว่าได้พบหนังสือออกไชยาธิบดี เจ้าเมืองตะนาวศรีอนุญาตให้ชาวเดนมากค์มาค้าขายในสยามประเทศเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ใช่แต่เท่านั้น ยังมีในจดหมายเหตุของฝรั่งว่า เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนั้น เรือกำปั่นโปตุเกศเข้ามากรุงศรีอยุทธยา มาพบเรือฮอลันดาที่ในแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าจับเรือฮอลันดา ด้วยชาติทั้ง ๒ นั้นเปนข้าศึกกัน พระเจ้าทรงธรรมมีรับสั่งให้ทหารลงไปบังคับพวกโปตุเกศให้ต้องคืนเรือแก่ฮอลันดา เปนเหตุให้โปตุเกศโกรธเคืองไทย เลิกถอนห้างที่มาตั้งค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุทธยาไปเสีย แล้วให้กองทัพเรือมาปิดอ่าวเมืองมฤทอันเปนเมืองท่าของเมืองตะนาวศรี ก็หาสำเร็จความประสงค์ไม่ โปตุเกศต้องเลิกทัพกลับไป ได้ความดังนี้จึงเห็นว่า เมื่อในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม พม่าหาได้มาตีเมืองตะนาวศรีไม่ แต่พบความปรากฎในพงษาวดารพม่าว่าเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ไทยได้ยกกองทัพไปตีเมืองทวาย ก็เมืองทวายสิไทยได้กลับมาแล้ว เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ ดังกล่าวมาในเรื่องสงครามครั้งที่ ๑๗ เหตุใดไทยจึงกลับตีอิก ด้วยเหตุนี้จึงเข้าใจว่าพม่าคงตีเอาเมืองทวายกลับไปเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แต่ผู้แต่งหนังสือพระราชพงษาวดารกล่าวเปนเมืองตะนาวศรีไป เพราะที่กองทัพไทยเห็นจะยกไปทางเมืองตะนาวศรี เหมือนอย่างครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ หวังจะรักษาทั้งเมืองตะนาวศรีแลเมืองทวายด้วยกันจงขึ้นชื่อว่ายกไปเมืองตะนาวศรี คงจะยกไปไม่ทันรักษาเมืองทวาย แล้วให้หากองทัพกลับ ด้วยเห็นไม่เปนประโยชน์ที่จะไปตีเมืองทวายคืนในครั้งนั้น.
การสงครามไทยรบกับพม่า ตั้งแต่นี้ก็ว่างมาช้านาน ประมาณ ๔๐ ปี จนถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ ไทยกับพม่าจึงได้เกิดรบกันขึ้นอิก ในระหว่าง ๔๐ ปีนี้ทั้งเมืองไทยแลเมืองพม่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายอย่าง พระเจ้าแผ่นดินก็เปลี่ยนพระองค์เปนหลายรัชกาลด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย แต่เปนเรื่องระหว่างว่างสงครามกับพม่าหาเกี่ยวกับหนังสือเรื่องนี้ไม่ ครั้นมาคิดดูว่าจะข้ามไปจับกล่าวขึ้นถึงเรื่องสงครามที่เกิดใหม่ทีเดียว เห็นว่าผู้อ่านไม่ทราบเหตุการณที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้น ก็จะไม่เข้าใจเรื่องสงครามได้ชัดเจนดี จึงได้ลองเก็บเนื้อความในเรื่องพงษาวดารทั้ง ๒ ประเทศ ในระหว่างเวลา ๔๐ ปีที่ว่างการสงครามมาเรียบเรียงพอให้ทราบเรื่องต่อไปข้างท้ายตอนนี้.
จะกล่าวถึงเรื่องพงษาวดารไทยก่อน สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมผ่านพิภพ เมื่อปีวอก จุลศักราช ๙๘๒ พ.ศ. ๒๑๖๓ เมื่อเสวยราชย์พระชัณษาได้ ๒๙ ปี ในจดหมายเหตุของฝรั่งยุติต้องกับความที่กล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนั้นเปนนักเรียน ทรงรอบรู้วิชาหลายอย่าง ทั้งทรงเคารพในพระพุทธสาสนาแลประพฤติราชธรรมมั่นคง เปนที่รักใคร่นับถือทั่วไปทั้งชาวพระนครแลชาวต่างประเทศ แต่ว่าไม่โปรดที่จะทำศึกสงคราม พอพระราชหฤไทยแต่จะเปนมิตรกับนานาประเทศ จึงได้เปนไมตรีกับประเทศฮอแลนแลอังกฤษต่อมา แลมีจดหมายเหตุยี่ปุ่นปรากฎว่ายังรักษาทางไมตรีกับประเทศยี่ปุ่นต่อมาเหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระเอกาทศรถด้วย ความที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่าเมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต พระเจ้าอังวะแต่งราชทูตให้เข้ามาเยี่ยมพระบรมศพ ข้อนี้ก็เปนหลักฐานว่า ถึงประเทศพม่าก็กลับเปนไมตรีกันเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม น่าจะเปนเพราะสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงนิยมแต่จะให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมีสันติศุขนี้เอง เปนเหตุให้กำลังทแกล้วทหารอ่อนแอลง กรุงกัมพูชาซึ่งเคยขึ้นต่อกรุงศรีอยุทธยามาแต่ก่อนเปนขบถแขงเมืองขึ้น ก็ปราบปรามลงไม่ได้จนตลอดรัชกาล แลเลยเปนเหตุให้ประเทศลานนามีเมืองเชียงใหม่เปนต้น ซึ่งขึ้นแก่ไทยมาแต่ก่อนกลับเปนอิศระขึ้นอิกทาง ๑ ด้วย.
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสวยราชย์อยู่ ๘ ปี สวรรคตเมื่อปีมโรง พ.ศ. ๒๑๗๑ การรับรัชทายาทเกิดเหตุถึงฆ่าฟันกัน เรื่องราวตอนนี้ฮอลันดาคน ๑ ชื่อวันวลิต เปนนายห้างอยู่ในกรุง ฯ เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ได้เรียบเรียงเปนจดหมายเหตุไว้ข้อความชัดเจนดี ว่าเมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสวยราชย์มาได้ ๗ ปี ถึงปีเถาะ พ.ศ. ๒๑๗๐ ประชวรพระอาการหนักลง เมื่อเดือน ๑๒ ทรงปรารภถึงการที่จะสืบพระราชวงศ์ ด้วยครั้งนั้นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ (อันทรงพระนามว่าพระเชษฐา) ยังทรงพระเยาว์ พระชมายุเพียง ๑๔ ปี ส่วนพระเจ้าน้องยาเธอพระศรีศิลป์นั้นเปนผู้ใหญ่ แต่ทูลลาออกทรงผนวชอยู่
ตรงนี้จะกล่าวถึงเรื่องชาติประวัติของพระยาศรีวรวงศ์แทรกลงก่อน ด้วยพระยาศรีวรวงศ์นี้ คือพระเจ้าปราสาททองในรัชกาลหลัง ผู้อ่านจะได้ทราบเรื่องของพระเจ้าปราสาททองมาแต่ต้น วันวลิตฮอลันดาว่า พระยาศรีวรวงศ์นั้นนามเดิมคนทั้งหลายเรียกกันว่า “พระองค์ไล” เกิดในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร เมื่อราวปีชวด จุลศักราช ๙๖๒ พ.ศ. ๒๑๔๓ เปนบุตรพระยาศรีธรรมาธิราช ๆ นั้นเปนพี่ของพระชนนีสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ครั้นถึงแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงชุบเลี้ยงพระองค์ไลให้เปนมหาดเล็ก รับราชการอยู่ใกล้ชิดพระองค์แต่ยังเด็กพออายุได้ ๑๔ ปีก็ทรงตั้งเปนหุ้มแพร อายุ ๑๗ ปีก็ได้เลื่อนเปนจมื่นศรีสรรักษ์ หัวหมื่นมหาดเล็ก
จะกลับกล่าวถึงเรื่องพงษาวดารไทยตามที่วันวลิตเล่าต่อไป เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจะใคร่ทรงทราบว่าความนิยมของข้าราชการในเรื่องผู้รับรัชทายาทจะเปนอย่างไร จึงโปรดให้พระยาศรีวรวงศ์เชิญกระแสรับสั่งออกมาปฤกษาในที่ประชุมข้าราชการว่า เดี๋ยวนี้พระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรพระอาการก็มากอยู่ ทรงพระปริวิตกถึงการซึ่งจะปกครองแผ่นดินต่อไปภายน่า จะใคร่ทรงทราบว่าข้าราชการทั้งปวงจะเห็นควรทรงปฏิบัติอย่างไรบ้านเมืองจึงจะเรียบร้อยเปนปรกติได้ ข้าราชการแสดงความเห็นต่างกันเปน ๒ ฝ่าย ฝ่าย ๑ เห็นว่าควรจะโปรดให้พระราชโอรสพระองค์ใหญ่รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไป อิกฝ่าย ๑ มีเจ้าพระยามหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม พระยาท้ายน้ำ พระยาธรรมไตรโลก กับขุนนางแขก คือพระศรีเนาวรัตน์แลพระจุฬา เหล่านี้เปนต้น มีความเห็นว่าพระราชโอรสยังทรงพระเยาว์นัก จะว่าราชการบ้านเมืองยังไม่ได้ ควรโปรดไห้พระศรีศิลป์ราชอนุชาครองราชสมบัติก่อน แต่ข้าราชการทั้ง ๒ ฝ่ายพร้อมกันให้นำความกราบทูลว่า แล้วแต่จะทรงพระราชดำริห์เห็นว่าพระราชวงศ์พระองค์ใดจะสมควรปกครองแผ่นดินได้ ถ้าทรงมอบเวนราชสมบัติแก่พระองค์ใด ข้าราชการทั้งปวงก็เต็มใจที่จะรับราชการสนองพระเดชพระคุณตามพระราชประสงค์มิได้มีความรังเกียจ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงทราบว่าข้าราชการทั้งปวงไม่นิยมในพระราชโอรสพร้อมกัน จึงดำรัสสั่งเปนความลับ ให้พระยาศรีวรวงศ์เปนผู้อุปการะพระราชโอรส แลให้คิดอ่านหากำลังวังชาไว้ให้พอป้องกัน อย่าให้เกิดไภยอันตรายได้ พระยาศรีวรวงศ์จึงเกลี้ยกล่อมได้สมัคพรรคพวกผู้ซึ่งเต็มใจจะเข้ากับพระราชโอรสเปนอันมาก แม้พระยาเสนาภิมุขยี่ปุ่นชื่อยะมะดา ก็พาพวกทหารอาสายี่ปุ่นมีจำนวน ๖๐๐ มาเข้ากับพระยาศรีวรวงศ์ทั้งกรม.
ครั้นถึงเดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ ปีมโรง จุลศักราช ๙๙๐ พ.ศ. ๒๑๗๑ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต พระชัณษาได้ ๓๘ ปี ครองราชสมบัติได้ ๘ ปี พระยาศรีวรวงศ์จึงให้ประชุมข้าราชการทั้งปวงที่ในท้องพระโรงแล้ว แจ้งความให้ทราบว่าสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้ทรงมอบราชสมบัติพระราชทานแก่พระเชษฐาผู้เปนพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ จึงเชิญพระเชษฐาเสด็จออกให้ข้าราชการทั้งปวงถวายบังคมแลถือน้ำกระทำสัตย์ถวาย ในเวลาที่ทำพิธีถือน้ำนั้นพระยาศรีวรวงศ์สั่งให้จับเจ้าพระยามหาเสนาแลข้าราชการที่ไม่เห็นชอบด้วยแต่ก่อน เอาตัวไปประหารชิวิตเสียที่ท่าช้าง แล้วให้ริบเอาทรัพย์สมบัติมาแจกจ่ายแก่ผู้มีความชอบในพวกที่มาเข้าด้วย ครั้นปราบปรามพวกขุนนางแล้ว สมเด็จพระเชษฐาธิราชจึงทรงตั้งพระยาศรีวรวงศ์เปนเจ้าพระยามหาเสนา เสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม แทนเจ้าพระยามหาเสนาบดีที่ถูกประหารชีวิตรนั้น.
ต่อมาเจ้าพระยากลาโหมให้พระยาเสนาภิมุขไปลวงพระศรีศิลป์ผู้เปนพระบิตุลาให้คุมกำลังเข้ามาปล้นพระราชวัง รับว่าพวกยี่ปุ่นจะเข้าด้วย พระศรีศิลป์ไม่รู้เท่าจึงลาผนวชยกพลเข้ามาตามนัด เจ้าพระยากลาโหมจับได้ จะให้ประหารชีวิตรเสีย สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงขอชีวิตรไว้ ให้คุมเอาไปใส่กรุไว้ที่เมืองเพ็ชรบุรี มีหลวงมงคลคน ๑ เปนญาติกับพระศรีศิลป์ ลอบมาพาพระศรีศิลป์หนีไปได้ จึงไปซ่องสุมผู้คนจะคิดเปนขบถอิก
ตามเรื่องราวที่วันวลิตเล่ามีแปลกตอนนี้เรื่อง ๑ ว่า เมื่อเจ้าพระยากลาโหมได้เปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้วไม่ไว้ใจพวกยี่ปุ่น จึงอุบายยกย่องความชอบพระยาเสนาภิมุข ตั้งให้เปนเจ้าพระยานครศรีธรรมราช แล้วอ้างเอาเหตุที่พวกฮอลันดาจะเอิบเอื้อมเอาเมืองนครศรีธรรมราช ให้พระยาเสนาภิมุขคุมพวกอาสายี่ปุ่นลงไปรักษาเมืองนครศรีธรรมราชหมดทั้งกรม แต่นั้นทหารยี่ปุ่นก็มิได้มีในกรุงศรีอยุทธยา ต่อมาพวกทหารยี่ปุ่นที่ลงไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราชล้มตายร่อยหรอไปทุกที ครั้นเจ้าพระยานคร ฯ ยะมะดาถึงอสัญกรรม ยี่ปุ่นที่เหลืออยู่พากันไปจากเมืองนครศรีธรรมราช กลับไปบ้านเมืองบ้าง ไปอยู่กรุงกัมพูชาบ้าง ข้อที่ว่าไม่มีเรือยี่ปุ่นเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุทธยาอิกนั้น ที่จริงเปนเพราะเหตุอื่น คือรัฐบาลยี่ปุ่นเกิดไม่พอใจจะให้พวกพลเมืองไปต่างประเทศ เพราะไปเข้ารีดพาสาสนาคฤศตังเข้าไปถือ ทำวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง จึงให้ประกาศห้ามมิให้ต่อเรือใบขนาดใหญ่อันจะแล่นมาถึงเมืองไกลได้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีเรือยี่ปุ่นมาค้าขาย แต่พวกยี่ปุนที่เข้ามาอยู่อย่างพลเรือน เช่นพวกที่ถูกขับไล่มาเพราะเข้ารีดถือสาสนาคฤศตังเปนต้นนั้น ยังมีอยู่ในกรุง ฯ ต่อมาจนในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ก็ยังไม่หมดยี่ปุ่น.
จะว่าด้วยเรื่องพงษาวดารอิกต่อไป เมื่อเจ้าพระยากลาโหมยกพระอาทิตยวงศ์ขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดินนั้น พระชัณษาเพียง ๑๐ ขวบ ทำนองจะไมได้จัดวางระเบียบการศึกษาสำหรับพระเจ้าแผ่นดินที่ยังทรงพระเยาว์ให้สมควรแก่เหตุการณ์ สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ก็เอาแต่เที่ยวเล่นหัวตามอำเภอพระหฤไทยที่เปนทารก ไม่นำพารักษาพระเกียรติยศ ครั้นสมเด็จพระอาทิตยวงศ์เสวยราชย์มาได้เดือนเศษ ข้าราชการจึงพากันเข้าไปร้องต่อเจ้าพระยากลาโหมว่า ทุกวันนี้เจ้าพระยากลาโหมก็ปกครองแผ่นดินเหมือนเปนพระเจ้าแผ่นดินแล้ว แต่ยังมีพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชย์อยู่อิกพระองค์ ๑ บ้านเมืองมีเปน ๒ เจ้า ๒ นาย นานไปเกรงจะเกิดเหตุให้เปนอันตรายแก่บ้านเมือง ขอให้เจ้าพระยากลาโหมขึ้นครองราชสมบัติเปนพระเจ้าแผ่นดินแต่พระองค์เดียวให้ต้องตามราชประเพณี เจ้าพระยากลาโหมก็รับอัญเชิญ จึงให้ปลงสมเด็จพระอาทิตยวงศ์เสียจากราชสมบัติ แล้วทำพระราชพิธีราชาภิเศกขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อปีมเมีย จุลศักราช ๙๙๒ พ.ศ. ๒๑๗๓ ปรากฎพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อได้เสวยราชย์นั้นพระชัณษาได้ ๓๐ เศษ.
ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเมืองตานีเปนขบถ คบคิดกับพวกอุยองตะนัก คือแขกที่ปลายแหลมมลายู มาตีได้เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ต้องรบพุ่งปราบปรามอยู่หลายปีจึงได้คืนมา แล้วปราบปรามเมืองเขมรต่อมาจนได้กรุงกัมพูชามาขึ้นกับไทยดังแต่ก่อน (ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงให้ถ่ายแบบนครธมในกรุงกัมพูชามาสร้างพระนครหลวงขึ้น ที่ในบริเวณวังที่ประทับในทางเสด็จพระพุทธบาท เปนการเฉลิมพระเกียรติยศที่ได้กรุงกัมพูชาคืนมาครั้งนั้น) สมเด็จพระเจ้าปราสาททองครองราชสมบัติอยู่ ๒๕ ปี เมื่อประชวรหนักทรงมอบราชสมบัติประทานเจ้าฟ้าไชยสมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ แล้วเสด็จสวรรคตเมื่อปีมะแม จุลศักราช ๑๐๓๗ พ.ศ. ๒๑๙๘.
สมเด็จเจ้าฟ้าไชยครองราชสมบัติอยู่ได้ปี ๑ พระศรีสุธรรมราชาพระเจ้าอาว์กับพระนารายน์ราชกุมารพระอนุชาช่วยกันจับปลงพระชนม์เสีย พระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชสมบัติอยู่ได้ ๓ เดือน เกิดวิวาทกับพระนารายน์ซึ่งเปนพระมหาอุปราชรบกับขึ้นกลางเมือง พระนารายน์ชนะจับสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาได้ให้ปลงพระชนม์เสีย แล้วเสด็จขึ้นผ่านพิภพเมื่อปีวอก จุลศักราช ๑๐๑๘ พ.ศ. ๒๑๙๙ ทรงพระนามสมเด็จพระนารายน์ เสวยราชย์ต่อมา ๓๒ ปี จึงสิ้นรัชกาล.
ทีนี้จะกล่าวถึงเรื่องพงษาวดารพม่าในระยะเวลา ๔๐ ปี อันตรงกับพงษาวดารไทยที่กล่าวมานั้น.
พระเจ้าอังวะมหาธรรมราชา ซึ่งได้ทำทางไมตรีกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ตามที่กล่าวมาในเรื่องสงครามครั้งที่ ๑๗ นั้น เสวยราชย์อยู่ที่เมืองหงษาวดีต่อมาจนถึงปีขาล พ.ศ. ๒๑๖๙ โหรทูลพยากรณ์ว่าพระเคราะห์ร้ายนัก ขอให้เสด็จแปรสถานไปประทับอยู่ที่อื่นเสียให้สิ้นพระเคราะห์ พระเจ้าอังวะจึงให้ข้ามฟากแม่น้ำไปตั้งพลับพลาข้างนอกเมืองหงษาวดี แล้วเสด็จออกไปอยู่ที่พลับพลานั้นได้ ๒ ปี ครั้นถึงปีมโรง พ.ศ. ๒๑๗๑ (ในปีที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสวรรคตนั้น) มีคนร้ายลอบปลงพระชนม์พระเจ้าอังวะมหาธรรมราชาเสีย มังเรทิปราชบุตรขึ้นครองราชสมบัติ ในหนังสือพงษาวดารพม่าว่า มังเรทิปนั้นเองเปนผู้คิดร้ายกระทำปิตุฆาฏ เพราะเปนชู้กับนักสนม ครั้นพระเจ้าอังวะทรงทราบมังเรทิปเกรงจะต้องรับพระราชาอาญา จึงให้ลอบปลงพระชนม์พระเจ้าอังวะเสีย พระเจ้าอังวะมหาธรรมราชามีน้องยาเธอ ๒ องค์ ตั้งเปนพระเจ้าสุทโธธรรมราชาครองเมืองแปรองค์ ๑ เปนมังรากยอชวาครองเมืองอังวะองค์ ๑ ขณะเมื่อพระเจ้าอังวะสิ้นพระชนม์ น้องยาเธอทั้ง ๒ องค์นั้นคุมกองทัพไปทำสงครามอยู่ทางเมืองไทยใหญ่ ครั้นได้ข่าวว่าพระเจ้าอังวะสิ้นพระชนม์ มังรากยอชวาไม่ทราบว่าถูกคนร้ายปลงพระชนม์ก็รีบกลับมาโดยปรกติ มังเรทิปให้ไปคอยดักจับได้ แต่พระเจ้าสุทโธธรรมราชานั้นพรรคพวกที่ในเมืองหงษาวดีลอบบอกความไปให้ทราบเหตุการณ์ถ้วนถี่ จึงยกกองทัพตรงลงมาเมืองหงษาวดี จับมังเรทิปได้ให้ประหารชีวิตรเสีย พระเจ้าสุทโธธรรมราชาขึ้นครองราชสมบัติเมื่อปีมเสง พ.ศ. ๒๑๗๑ (ตรงกับในแผ่นดินสมเด็จพระเชษฐาธิราช) แต่ยังไม่ทำพิธีราชาภิเศก ให้ตระเตรียมกองทัพว่าจะยกมาตีเมืองเชียงใหม่ให้เปนเกียรติยศก่อน ด้วยเมื่อพระเจ้าสุทโธธรรมราชามาปราบปรามหัวเมืองไทยใหญ่ครั้งแผ่นดินพระเจ้าอังวะมหาธรรมราชานั้น ตีได้บ้านเมืองลงมาโดยลำดับจนถึงเมืองเชียงแสนแล้ว ต้องเลิกทัพกลับไปเสียเมื่อพระเจ้าอังวะมหาธรรมราชาสิ้นพระชนม์ พระเจ้าสุทโธธรรมราชาทราบอยู่ว่ากรุงศรีอยุทธยาไม่ได้เกี่ยวข้องป้องกันเมืองเชียงใหม่อย่างไรแล้ว เห็นได้ทีจึงยกกองทัพมาเมื่อปีมเมีย พ.ศ. ๒๑๗๒ (ในปีที่พระเจ้าปราสาททองเสวยราชย์) พระยาเชียงใหม่ต่อสู้ไม่ไหว ก็เสียเมืองเชียงใหม่แก่พม่า แต่เมืองอื่นในเขตรลานนา มีเมืองฝางเปนต้นยังไม่ยอมอ่อนน้อม พระเจ้าสุทโธธรรมราชาต้องเที่ยวปราบปรามอยู่ ๓ ปี จนปีวอก พ.ศ. ๒๑๗๕ จึงได้หัวเมืองทั่วทั้งเขตรลานนา แล้วกลับไปทำพิธีราชาภิเศกที่เมืองหงษาวดี แต่เห็นว่าเมืองหงษาวดีซุดโซมมากนัก จะทำนุบำรุงให้รุ่งเรืองดังแต่ก่อนไม่ได้ จึงย้ายราชธานีกลับขึ้นไปตั้งที่เมืองอังวะ ไปทำพิธีราชาภิเศกอิกครั้ง ๑ แล้วให้ตั้งมังรากยอชวาราชอนุชาเปนพระมหาอุปราชา แต่นั้นพระเจ้าสุทโธธรรมราชาก็เลิกทำสงคราม บำเพ็ญแต่การกุศลมีสร้างพระเจดีย์เปนต้น เสวยราชย์อยู่ได้ ๑๙ ปี สิ้นพระชนม์เมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๐๑๐ พ.ศ. ๒๑๙๑ (ตรงในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) มังรากยอชวาน้องยาเธอที่เปนพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ก่อนพระเจ้าอังวะ ราชสมบัติจึงได้แก่มังเรนันทมิตรราชบุตร ราชาภิเศกทรงพระนามว่า พระเจ้าศิรินันท สุธรรมราชาปวราธิบดี เสวยราชย์ต่อมาจนแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ ดังจะปรากฎต่อไปในตอนน่า.
-
๑. สันนิฐานว่า ที่เรียกว่าวัดเชิงท่าทุกวันนี้. ↩
-
๒. มีในจดหมายเหตุปูมโหรว่า “ปีวอก จุลศักราช ๘๙๒ (พ.ศ. ๒๑๖๓) เศษ ๘ ยี่ปุ่นเข้าเมือง” ความตรงกัน. ↩
-
๓. ที่ในภาษาไทยเรียกว่า “พระเจ้าทรงธรรม” บางทีจะมาแต่พระสงฆ์ถวายพระนามเปนภาษาบาฬีว่า “วิมลธรรม” เหมือนพระนามพระเจ้าแผ่นดินในลังกาทวีปแต่โบราณมีหลายองค์ จึงเกิดความเข้าใจกันชั้นหลังว่าเปนพระพิมลธรรมราชาคณะ เจ้าคณะรองคณะเหนือ. ↩
-
๔. พระเจ้าน้องยาเธออิกพระองค์ ๑ ซึ่งเปนพระองค์ทอง เห็นจะสิ้นพระชนม์เสียแล้ว ตอนนี้ไม่ได้กล่าวถึงทีเดียว. ↩
-
๕. จะเห็นได้ตรงนี้ว่าจมื่นศรีสรรักษ์ที่ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่าถวายตัวเปนบุตรเลี้ยงพระพิมลธรรมนั้น มิใช่คนอื่น ↩
-
๖. เรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ มีพิมพ์อยู่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษารัชกาลที่ ๕ เล่ม ปีชวด จุลศักราช ๑๒๓๖. ↩
-
๗. จะเห็นได้ตรงนี้ว่า ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมยังเลี้ยงยี่ปุ่นมาตลอดรัชกาล หาได้ขับไล่เสียอย่างในหนังสือพระราชพงษาวดารไม่ จดหมายเหตุได้มาจากเมืองยี่ปุ่นความก็ตรงกัน. ↩
-
๘. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พระศรีศิลป์เปนพระอนุชาของสมเด็จพระเชษฐาธิราช แค้นพระไทยว่าไม่ได้ราชสมบัติ จึงหนีไปตั้งซ่องสุมผู้คนที่เมืองเพ็ชรบุรีเปนขบถขึ้น. ↩