สงครามครั้งที่ ๔ คราวเสียกรุง ฯ แก่พระเจ้าหงษาวดี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๑๑

พระเจ้าหงษาวดีขอช้างเผือกไปแล้ว เว้นอยู่ ๔ ปีก็เกิดศึกหงษาวดีมาตีเมืองไทยอิก อันเหตุการที่จะเกิดสงครามคราวนี้ก็เนื่องมาแต่สงครามคราวก่อน ตัวพระเจ้าหงษาวดียังไม่ได้เมืองไทยเปนเมืองขึ้นสมคิด จึงพยายามที่จะให้ไทยแตกกันเปน ๒ พวก ให้จำต้องยอมอยู่ในอำนาจของพระเจ้าหงษาวดีด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ใช้ทางอุบายยกย่องพระมหาธรรมราชาให้มีอำนาจขึ้นทางหัวเมืองเหนือ กรุงศรีอยุทธยาจะบังคับบัญชาว่ากล่าวอย่างแต่ก่อน พระเจ้าหงษาวดีก็เข้ากีดกันอุดหนุนพระมหาธรรมราชา ๆ จึงสนิทชิดชอบกับพระเจ้าหงษาวดียิ่งขึ้น แลเหินห่างจากกรุงศรีอยุทธยาไปทุกที จนที่สุดไทยเกิดรบกันขึ้นเอง จึงเลยพาศึกหงษาวดีเข้ามาตีบ้านเมือง

จะต้องเล่าเรื่องราวการสงครามครั้งนี้ เริ่มแต่พระเจ้าหงษาวดีมีไชยชนะไปจากกรุงศรีอยุทธยา กลับไปถึงเมืองหงษาวดีไม่ช้าก็ได้ข่าวว่าพระเจ้าเชียงใหม่เมกุติคบคิดกับพระยานครลำปาง พระยาชเลียง (แพร่) พระยาน่าน แลพระยาเชียงแสน จะตั้งแขงเมืองไม่ยอมขึ้นต่อเมืองหงษาวดีต่อไป พระเจ้าหงษาวดีจึงยกกองทัพหลวงเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อปลายปีชวด พ.ศ. ๒๑๐๗ นั้น เกณฑ์พระมหาธรรมราชาให้ยกกองทัพขึ้นไปช่วยด้วย ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่เห็นว่าศึกเหลือกำลังก็ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าหงษาวดี แต่เจ้าเมือง ๔ คน จับได้แต่พระยาเชียงแสนคนเดียว อิก ๓ คนหนีไปพึ่งพระเจ้าไชยเชษฐาเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตอยู่ณเมืองเวียงจันท์ พระเจ้าไชยเชษฐาไม่ยอมส่งตัวให้ พระเจ้าหงษาวดีขัดเคืองจึงคิดจะยกกองทัพไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต พอได้ข่าวว่าพวกไทยใหญ่ที่จับเปนเชลยเอาไปไว้ที่เมืองหงษาวดีพากันเปนขบถขึ้น พระเจ้าหงษาวดีจึงให้พระมหาอุปราชายกกองทัพไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต ส่วนพระเจ้าหงษาวดีเลิกทัพหลวงกลับไปเมืองหงษาวดี เอาตัวพระเจ้าเชียงใหม่เมกุติไปด้วย กองทัพพระมหาธรรมราชานั้นก็ให้เลิกกลับมาบ้านเมืองเหมือนกัน.

พระมหาอุปราชายกกองทัพไปถึงกรุงศรีสัตนาคนหุต ตีได้หัวเมืองรายทางเข้าไปโดยลำดับจนถึงเมืองเวียงจันท์ ซึ่งเปนราชธานีของพระเจ้าไชยเชษฐา ๆ ต่อสู้เห็นเหลือกำลังก็ทิ้งเวียงจันท์เสีย พากองทัพไปซุ่มหลบอยู่ในป่า พระมหาอุปราชาได้เมืองเวียงจันท์จับได้ญาติวงษ์แลมเหษีสนมกำนัลของพระเจ้าไชยเชษฐาส่งไปเมืองหงษาวดีเปนอันมาก แล้วให้กองทัพออกติดตามพระเจ้าไชยเชษฐา ๆ ชำนาญทองที่กว่าพวกหงษาวดี ถ้ากองทัพที่ไปติดตามมีกำลังมากก็หลบเลี่ยงเสีย ถ้าเปนกองน้อยก็ออกโจมตีเอาแตกพ่ายกลับมา แต่กองทัพหงษาวดีเที่ยวติดตามอยู่จนถึงระดูฝนก็จับพระเจ้าไชยเชษฐาไม่ได้ พระมหาอุปราชาเห็นไพร่พลบอบช้ำมากนัก จึงให้เรียกกองทัพกลับไปตั้งรวมกันอยู่ที่เมืองเวียงจันท์ หมายว่าพอสิ้นระดูฝนจึงจะให้ออกตามจับพระเจ้าไชยเชษฐาต่อไป พอกองทัพหงษาวดีถอยไปรวมอยู่ที่เมืองเวียงจันท์ พระเจ้าไชยเชษฐาได้ทีก็ให้เที่ยวตีตัดลำเลียงเสบียงอาหารซึ่งจะไปส่งยังเมืองเวียงจันท์ทุกๆ ทาง จนกองทัพหงษาวดีอดอยาก รี้พลพากันเจ็บไข้ล้มตายลงเปนอันมาก พอสิ้นระดูฝนพระมหาอุปราชาก็ต้องรีบเลิกทัพกลับไป กองทัพพระเจ้าไชยเชษฐาติดตามตีไปจนปลายแดน กิติศัพท์จึงเลื่องฦๅว่าพระเจ้าไชยเชษฐามีไชยชนะพระเจ้าหงษาวดีในครั้งนั้น.

แต่เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาได้ราชธานีคืน ได้แต่เมืองเปล่าเพราะพวกหงษาวดีเก็บริบทรัพย์สมบัติ ทั้งจับพระมเหษีแลสนมกำนัลไปเสียเกือบหมด พระเจ้าไชยเชษฐาจะหามเหษีใหม่ จึงให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการมาถวายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทูลขอพระเทพกษัตรีราชธิดาไปเปนอรรคมเหษี ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระมหินทรกำลังแค้นพระเจ้าหงษาวดี ก็ยินดีที่จะเปนสัมพันธมิตรกับพระเจ้าไชยเชษฐา แต่พเอิญเวลานั้นพระเทพกษัตรีราชธิดาประชวรอยู่ จะผัดเพี้ยนให้รอต่อไปทำนองจะเกรงว่าพระเจ้าไชยเชษฐาคงจะผันแปรไปเปนสัมพันธมิตรเสียกับเมืองอื่น จึงพระราชทานพระแก้วฟ้าอันเปนราชธิดาเกิดด้วยพระสนมไปแทน ครั้นพระเจ้าไชยเชษฐาทราบว่ามิใช่ราชธิดาของสมเด็จพระสุริโยไทยก็ไม่พอพระหฤไทย ให้พาพระแก้วฟ้ากลับส่ง ว่าจะขอประทานเฉภาะพระเทพกษัตรี ด้วยประสงค์จะใคร่ได้วงษ์สมเด็จพระสุริโยไทย ซึ่งมีพระเกียรติยศเปนอย่างยอดของสัตรีไปเปนพระอรรคมเหษี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็โปรดบัญชาตาม.

การที่กรุงศรีอยุทธยากับกรุงศรีสัตนาคนหุตให้ทูตไปมาว่ากันด้วยเรื่องของราชธิดาครั้งนั้น พระมหาธรรมราชาทราบความ เพราะทูตเดินทางด่านสมอสอ (ในแขวงมณฑลเพ็ชรบูร) ไม่ห่างเมืองพิศณุโลกนัก ครั้นทราบว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะประทานพระเทพกษัตรีไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต พระมหาธรรมราชาไม่เห็นชอบด้วย ด้วยพระเทพกษัตรีเปนพระน้องนางของพระวิสุทธิกษัตรีร่วมพระมารดาเดียวกัน บางทีพระวิสุทธิกษัตรีเองจะเปนผู้ที่ไม่เห็นชอบด้วย ด้วยรู้อยู่ว่าพระเจ้าหงษาวดีคงจะยกกองทัพมาตีกรุงศรีสัตนาคนหุตอิก พระมเหษีสนมกำนัลของพระเจ้าไชยเชษฐาเคยถูกกองทัพหงษาวดีจับไปได้คราวหนึ่งแล้ว ถ้ารบกันขึ้นอิกเกรงพระเทพกษัตรีจะไปเปนอันตราย ทำนองพระวิสุทธิกษัตรีจะทูลขอให้พระมหาธรรมราชาคิดอ่านคัดง้าง อย่าให้ส่งพระเทพกษัตรีไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต แต่ในเวลานั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไม่ไว้พระไทยพระมหาธรรมราชาเสียแล้ว จึงไม่ทรงหารือเรื่องที่จะประทานพระเทพกษัตรีแก่พระเจ้าไชยเชษฐา พระมหาธรรมราชาจะไปทูลห้ามปรามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไม่ได้ จึงไห้คนเร็วรีบไปทูลความแก่พระเจ้าหงษาวดี ๆ ก็ให้กองทัพมาซุ่มสกัดทางอยู่ พอข้าหลวงกรุงศรีอยุทธยาเชิญพระเทพกษัตรีไป กองทัพพม่าก็เข้าชิงนางพาไปเสียยังเมืองหงษาวดี ฝ่ายพระมหาธรรมราชาคงอุบายบอกลงมาทูลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ว่าพระเจ้าหงษาวดีให้มาชิงพระเทพกษัตรีไปโดยอำเภอพระหฤไทย พระมหาธรรมราชาหาได้รู้เห็นด้วยไม่ ข้างกรุงศรีอยุทธยาก็รู้เท่าทันพระมหาธรรมราชา แต่ไม่อาจจะว่ากล่าวอย่างไร ด้วยกีดพระเจ้าหงษาวดีอยู่ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเห็นจะรู้สึกอัปรยศอดสูในครั้งนี้มาก จึงทรงมอบราชการบ้านเมืองแก่พระมหินทรแล้วเสด็จออกผนวช แลในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า ข้าราชการก็ออกบวชตามเสด็จด้วยเปนอันมาก.

การที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จออกทรงผนวชครั้งนั้น ที่แท้เสมอเร่งให้เกิดเหตุร้ายแก่บ้านเมือง เพราะทำให้เกิดรวนเรในข้าราชการ อันเห็นได้เช่นที่พากันออกบวชตามเสด็จเสียเปนอันมากนั้นเปนต้น แต่ข้อสำคัญนั้นคือที่เปนเหตุให้พระมหาธรรมราชาสิ้นความยำเกรงกรุงศรีอยุทธยา เพราะพระมหินทรเปนแต่น้องของพระมเหษีมิใช่เปนพระราชบิดาเหมือนสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เพราะฉนั้นจึงปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พอพระมหินทรขึ้นว่าราชการเมือง พระมหาธรรมราชาก็ตั้งเกี่ยงแย่งจะต้องการอย่างไรก็อ้างพระเจ้าหงษาวดีบังคับบัญชาลงมายังกรุงศรีอยุทธยา พระมหินทรก็จำต้องผ่อนผันทำตาม ด้วยเกรงอำนาจพระเจ้าหงษาวดี พระมหินทรได้ความคับแค้นพระหฤไทยหนักเข้าจึงคิดจะกำจัดพระมหาธรรมราชาเสีย ครั้งนั้นพระมหินทรได้พระยาราม (รณรงค์ผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพ็ชร) ซึ่งเอาใจออกห่างจากพระมหาธรรมราชามาอยู่ในกรุง ฯ เปนที่ปฤกษา จึงคิดเปนกลอุบาย บอกความลับไปยังพระเจ้าไชยเชษฐาให้ยกกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตลงมาตีเมืองพิศณุโลก พระมหินทรจะยกกองทัพกรุง ฯ ขึ้นไปประหนึ่งว่าจะไปช่วยเมืองพิศณุโลก เมื่อได้ทีแล้วให้ช่วยกันจับพระมหาธรรมราชาให้จงได้ ฝ่ายพระเจ้าไชยเชษฐาก็แค้นพระมหาธรรมราชาอยู่ด้วยเรื่องพระเทพกษัตรี จะลงมาตีเมืองพิศณุโลกอยู่ครั้ง ๑แล้ว แต่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิห้ามเสียจึงมิได้ยกลงมา ครั้นพระมหินทรชวนขึ้นไปก็สมคิด จึงให้ตระเตรียมกองทัพ พอถึงระดูแล้งปลายปีขาล พ.ศ. ๒๑๐๙ พระเจ้าไชยเชษฐาก็ยกกองทัพมายังเมืองพิศณุโลก ทำกิติศัพท์ให้ปรากฎแพร่หลายว่าจะลงมาตีกรุงศรีอยุทธยา เพราะสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงสัญญาว่าจะประทานพระเทพกษัตรี แล้วแกล้งให้ได้อัปรยศอดสู ให้คนทั้งหลายเข้าใจว่าที่มาตีเมืองพิศณุโลกก่อน เพราะเปนเมืองด่านของกรุงศรีอยุทธยาข้างฝ่ายเหนือ พระเจ้าไชยเชษฐายกลงมาครั้งนั้น หมายจะรีบเร่งระดมตีให้ได้เมืองพิศณุโลกก่อนกองทัพพระเจ้าหงษาวดียกมาช่วย ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า กองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตยกมาเปน ๕ ทัพ มาทางเมืองนครไทย ครั้นมาถึงเมืองพิศณุโลก กองทัพพระเจ้าไชยเชษฐาตั้งที่ตำบลโพธิ์เรียง ตรงประตูสวรรค์ออกไปทางด้านตวันออก ห่างเมืองประมาณ ๕๐ เส้น ทัพพระยาแสนสุรินทรขว้างฟ้าตั้งที่บ้านเตาไหทางด้านเหนือ ทัพพระยามือไฟตั้งที่ตำบลวัดเขาพราหมณ์ เข้าใจว่าทางด้านตวันออกเฉียงเหนือ ทัพพระยานคร (พนม) ตั้งที่ตำบลสระแก้วทางด้านตวันออกเฉียงใต้ ทัพพระยามือเหล็กตั้งที่ตำบลบางสะแก (จะเปนด้านไหนสืบยังไม่ได้ความ)

ฝ่ายพระมหาธรรมราชาเมื่อได้ข่าวว่ากองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตยกมา ยังไม่สงไสยว่ายกมาโดยกลอุบายของพระมหินทร จึงบอกข่าวศึกลงมายังกรุงศรีอยุทธยาขอกองทัพขึ้นไปช่วย แล้วให้ขนเสบียงอาหารต้อนผู้คนเข้าในเมืองพิศณุโลก ตระเตรียมป้องกันเมืองเปนสามารถ แล้วยังไม่วางพระไทย ให้บอกไปขอกองทัพพระเจ้าหงษาวดีมาช่วยอิกทาง ๑ พระมหินทรได้รับใบบอกพระมหาธรรมราชาขอกองทัพขึ้นไปช่วยก็สมหมาย จึงมีรับสั่งให้พระยาสีหราชเดโชไชยกับพระท้ายน้ำรีบคุมกำลังขึ้นไปก่อนกอง ๑ เหมือนอย่างว่าจะให้ขึ้นไปช่วยรักษาข้างในเมืองพิศณุโลก ดำรัสสั่งเปนความลับไปแก่พระยาสีหราชเดโชไชยว่า ถ้ากองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตกับกองทัพกรุงศรีอยุทธยาขึ้นไปถึงพร้อมกันเมื่อใด ให้พระยาสีหราชเดโชไชยเปนไส้ศึกขึ้นในเมือง ครั้นพระยาสีหราชเดโชไชยล่วงน่าไปแล้ว พระมหินทรจึงทรงจัดกองทัพเรือ ให้พระยารามซึ่งเปนพระยาจักรี คุมกองน่า พระมหินทรเสด็จเปนจอมพลในกองหลวงยกตามขึ้นไปยังเมืองพิศณุโลก กองน่าไปตั้งอยู่ที่วัดจุฬามณี กองหลวงตั้งอยู่ที่ปากพิงข้างใต้เมืองลงมา.

ฝ่ายพระยาสีหราชเดโชไชยขึ้นไปถึงเมืองพิศณุโลก กลับไปเข้าเปนพวกพระมหาธรรมราชา ทูลความลับทั้งปวงให้ทรงทราบ พระมหาธรรมราชาจึงให้ห้ามกองทัพกรุง ฯ มิให้เข้าไปในเมือง แล้วให้ทำแพไฟขึ้นเปนอันมาก จุดไฟปล่อยแพให้ลอยลงมาไหม้กองทัพเรือกรุงศรีอยุทธยาแตกร่นลงมาจนถึงทัพหลวง ฝ่ายข้างกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตเมื่อรู้ว่ากองทัพกรุง ฯ ยกขึ้นไปถึง ก็เข้าระดมตีเมืองพิศณุโลก รบพุ่งกันเปนสามารถ แต่เวลานั้นกองทัพกรุง ฯ ถอยลงมาเสียแล้ว กองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตก็ตีเอาเมืองไม่ได้ พอได้ข่าวว่ากองทัพพระยาภุกามกับพระยาเสือหาญ ซึ่งพระเจ้าหงษาวดีให้เข้ามาช่วยพระมหาธรรมราชา มาจวนจะถึงเมืองพิศณุโลก พระเจ้าไชยเชษฐาก็เลิกทัพกลับไปเมืองเวียงจันท์ พระมหินทรทรงทราบว่ากองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตเลิกกลับไปแล้ว ก็เลิกทัพหลวงกลับลงมากรุงศรีอยุทธยา.

พอเสร็จการศึกพระมหาธรรมราชาก็เสด็จไปเมืองหงษาวดีไปทูลร้องทุกข์ต่อพระเจ้าหงษาวดี ในเรื่องที่พระมหินทรคบคิดกับพระเจ้าไชยเชษฐามาทำร้าย พระเจ้าหงษาวดีก็สมคเน จึงอภิเศกพระมหาธรรมราชาให้เปนพระศรีสรรเพ็ชญ์ เจ้าฟ้าพิศณุโลก เรียกในพงษาวดารพม่าว่า “เจ้าฟ้าสองแคว” เปนประเทศราชขึ้นต่อเมืองหงษาวดี มิให้ขึ้นกรุงศรีอยุทธยาต่อไป.

ฝ่ายพระมหินทรเมื่อถอยทัพกลับมาถึงกรุงศรีอยุทธยาแล้ว ครั้นทราบความว่าพระมหาธรรมราชาออกไปเมืองหงษาวดี ก็เข้าพระไทยว่าคงไปฟ้องร้องยุยงพระเจ้าหงษาวดีให้มาทำร้ายกรุงศรีอยุทธยา เกรงการจะหนักแน่นเหลือกำลัง ด้วยเห็นข้าราชการยังรวนเรไม่เปนน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จึงไปทูลวิงวอนสมเด็จพระมหาจักรพรรดิให้ลาผนวซ เชิญเสด็จขึ้นครองราชสมบัติว่าราชการบ้านเมืองดังแต่ก่อน แล้วสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระมหินทรก็รีบเสด็จขึ้นไปยังเมืองพิศณุโลกด้วยกัน ในเวลาพระมหาธรรมราชายังอยู่ที่เมืองหงษาวดี รับพระวิสุทธิกษัตรีราชธิดา ซึ่งเปนพระอรรคชายาพระมหาธรรมราชา กับทั้งพระโอรสธิดามาจากเมืองพิศณุโลก หวังจะให้พระมหาธรรมราชาเปนห่วง ไม่กล้าขอกองทัพหงษาวดีมาตีกรุง ฯ แลครั้งนั้นเมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จกลับมาถึงเมืองนครสวรรค์ ให้พระมหินทรคุมกองทัพขึ้นไปยังเมืองกำแพงเพ็ชร หวังจะทำลายเมืองเสียมิให้ข้าศึกอาไศรยเปนที่มั่นได้ต่อไป ครั้นกองทัพยกขึ้นไปถึง ขุนอินทรเสนากับขุนต่างใจซึ่งพระมหาธรรมราชาให้รักษาเมืองกำแพงเพ็ชร ทราบว่ากองทัพกรุงฯ จะขึ้นไปทำลายเมืองกำแพงเพ็ชร ด้วยเกิดเปนอริกับพระมหาธรรมราชา ก็ไม่เข้าด้วย ช่วยกันรวบรวมกำลังยกออกปล้นค่ายพระยาศรีฯ กองทัพน่า ซึ่งเข้าไปตั้งอยู่ใกล้เมือง ครั้งนั้นกองทัพกรุง ฯ ซึ่งยกขึ้นไปคงประมาท โดยคาดว่าจะไม่มีผู้ใดต่อสู้ ก็พ่ายแพ้พวกเมืองกำแพงเพ็ชร พระมหินทรเห็นว่าจะทำการไม่สำเร็จก็เลิกทัพกลับลงมา.

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จกลับมาถึงกรุงฯ ก็ให้ลงมือจัดการตระเตรียมป้องกันพระนคร ด้วยคาดว่าคงมีศึกหงษาวดีมาในไม่ช้า แลการตระเตรียมครั้งนั้นได้จัดการแก้ไขเพิ่มเติมเครื่องป้องกันพระนคร มีปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารหลายประการ คือ :-

๑. “ให้แต่งป้อมเพ็ชรแลหอรบ ระยะไกลกันแต่เส้น ๑” อธิบายความข้อนี้ว่า ป้อมเพ็ชรซึ่งตั้งตรงแม่น้ำข้างด้านใต้ ได้สร้างขึ้นแต่เมื่อเตรียมสู้ศึกคราวก่อน พร้อมกับก่อกำแพงพระนคร คราวนี้แก้ไขตกแต่งให้แขงแรงขึ้น แลหอรบนั้นของเดิมยังห่างนัก ให้สร้างเพิ่มเติมขึ้นให้มีทุกระยะเส้น ๑ รอบพระนคร.

๒. “วางปืนใหญ่ไว้ระยะแต่ ๑๐ วา ปืนบเรียมจ่ารงมณฑกระยะไกลแต่ ๕ วา” ข้อนี้อธิบายว่า ปืนบนป้อมปราการนั้นให้เอาปืนขนาดเขื่องตั้งรายระยะ ๑๐ วาต่อกระบอก ๑ รายปืนขนาดย่อมลงมาระยะ ๕ วาต่อกระบอก ๑ (ปืนเห็นจะมากมายหลายพันด้วยแนวกำแพงพระนครยาวมาก)

๓. “กำแพงพระนคร ขณะนั้นตั้งโดยขบวนเก่า แลยังมิได้รื้อลงตั้งในริมแม่น้ำ พระยารามก็ให้ตั้งค่ายรายไปตามริมน้ำเปนชั้น ๑ แล้วไว้ปืนจ่ารงมณฑกสำหรับค่ายนั้นก็มาก” ข้อนี้อธิบายว่า ความที่กล่าวตรงนี้หมายเฉภาะแต่ด้านตวันออก (คือตั้งแต่วังจันทรเกษม ลงมาจนวัดสุวรรณดาราราม) ด้านเดียว ดังจะเห็นได้เมื่อกล่าวถึงเวลารบกันต่อไปข้างน่า เพราะด้านตวันออกนี้แม่น้ำสักเวลานั้นยังลงทางบ้านม้ามาออกปากเข้าสารห่างพระนครนัก ต้องขุดคูเมืองอิกชั้น ๑ (ตรงที่เปนลำแม่น้ำน่าสถานีรถไฟเดี๋ยวนี้ แต่ยังเปนคลองแคบ) เรียกว่าคลองขื่อน่า แนวกำแพงพระนครด้านตวันออกครั้งนั้นก็ยังอยู่ฦก (พ้นวัดเสนาศน์) จึงให้ตั้งค่ายรายข้างนอกกำแพง รักษาคูเมืองอิกชั้น ๑

๔. “ให้ปลูกหอโทนในกลางน้ำใกล้ริมฝั่งออกไป ๕ วา รอบพระนคร มิให้ข้าศึกเอาเรือเข้ามาตีริมพระนครได้” ข้อนี้อธิบายว่า นอกจากด้านตวันออก [อิก ๓ ด้าน] ที่มีลำแม่น้ำเปนคูพระนครอยู่แล้วให้ปลูกหอรบลงไปในลำแม่น้ำ รายเปนระยะไปทั้ง ๓ ด้านดังนี้.

ฝ่ายพระมหาธรรมราชาอยู่ที่เมืองหงษาวดี ครั้นได้ทราบว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระมหินทรขึ้นไปรับพระวิสุทธิกษัตรีกับพระโอรสธิดาพาไปไว้เปนตัวจำนำที่กรุงศรีอยุทธยาก็ตกพระไทยรีบนำความไปทูลแก่พระเจ้าหงษาวดี ๆ จึงสั่งให้เดรียมกองทัพจะมาตีกรุงศรีอยุทธยา ให้พระมหาธรรมราชากลับมาก่อน ให้มาตระเตรียมกองทัพหัวเมืองเหนือไว้ แล้วพระเจ้าหงษาวดีก็ให้กะเกณฑ์เมืองประเทศราชแลหัวเมืองขึ้นทั้งปวงเข้ากองทัพ พอปลายระดูฝนพระเจ้าหงษาวดีก็ยกกองทัพหลวงออกจากพระนคร เมื่อณวันอาทิตย์เดือน ๑๑ แรม ๖ ค่ำ ปีมโรง จุลศักราช ๙๓๐ พ.ศ. ๒๑๑๑ กระบวนทัพพระเจ้าหงษาวดียกเข้ามาครั้งนี้ จัดเปนทัพกษัตริย์ ๗ ทัพ คือพระมหาอุปราชาทัพ ๑ พระเจ้าแปรทัพ ๑ พระเจ้าตองอูทัพ ๑ พระเจ้าอังวะทัพ ๑ กองทัพเหล่านี้มีกองไทยใหญ่สมทบทุกทัพ แลให้พระราชบุตรซึ่งครองเมืองสารวดีสมทบกับพวกเมืองเชียงใหม่เชียงตุงอิกทัพ ๑ ทัพหลวงของพระเจ้าหงษาวดีทัพ ๑ กองทัพไทยของพระมหาธรรมราชาอิกทัพ ๑ จึงรวมเปน ๗ ทัพด้วยกัน พงษาวดารพม่าว่า รวมทุกทัพเปนจำนวนพล ๕๐๐,๐๐๐ ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา แลมาประชุมทัพที่เมืองกำแพงเพ็ชรเหมือนคราวก่อน.

ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยา ในคราวนี้ไม่มีท่าทางที่จะไปรบพุ่งที่อื่นได้เหมือนคราวก่อน เพราะหัวเมืองเหนือเปนขบถไปเข้าข้างข้าศึกเสียทั้งหมด แม้ผู้คนในมณฑลราชธานีก็ตื่นแตกหลบหนีเสียมาก รวบรวมไพร่พลไม่ได้เต็มตามจำนวน เพราะเหตุเหล่านี้จึงได้แต่เอาพระนครเปนที่มั่นคอยต่อสู้ข้าศึกอยู่แห่งเดียว กองทัพพระเจ้าหงษาวดีก็ยกลงมาได้โดยสดวก มาถึงกรุงศรีอยุทธยาแต่เดือนอ้ายให้ตั้งค่ายรายล้อมพระนครไว้ ด้านเหนือพระเจ้าหงษาวดีตั้งอยู่ณทุ่งลุมพลี ข้างในกรุง ฯ เอาปืนนารายน์สังหารตั้ง “ในช่องมุมสบสวรรค์” (คือที่ป้อมมุมเมืองตรงโรงทหารทุกวันนี้) ยิงไปถึงกองทัพพระเจ้าหงษาวดี ถูกช้างม้ารี้พลล้มตาย พระเจ้าหงษาวดีจึงให้ถอยทัพหลวงไปตั้งที่บ้านมหาพราหมณ์ ให้พ้นทางปืนใหญ่ แลให้กองทัพพระเจ้าตองอู ทัพพระยาพสิม ทัพพระยาอภัยคามินี ทัพมอญเมืองเมาะตมะ ตั้งรายกันไปข้างด้านเหนือ ด้านตวันออกให้กองทัพพระมหาอุปราชากับกองทัพพระมหาธรรมราชาไปตั้ง ด้านตวันตก (ไม่เปนด้านสำคัญ ด้วยแม่น้ำกว้าง มิใช่ทางที่จะเข้าตีพระนคร) ให้กองทัพเจ้าเมืองสารวดี กับกองทัพเมืองเชียงใหม่ แลพวกเจ้าฟ้าไทยใหญ่ไปตั้ง ด้านใต้ให้กองทัพพระเจ้าอังวะลงมาตั้ง พิเคราะห์ตามแผนที่กองทัพข้าศึกซึ่งตั้งล้อมกรุงฯ คราวนี้ ไม่กล้าเข้ามาตั้งใกล้เหมือนคราวก่อน คงเปนด้วยไทยมีปืนใหญ่ที่มีกำลังแรงมากขึ้น คอยยิงกราดมิให้เข้ามาได้.

ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยา การรักษาพระนครต่อสู้ข้าศึกครั้งนี้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิให้พระยารามเปนผู้บัญชาการทั่วไป ส่วนพนักงานรักษาน่าที่นั้น ข้างด้านตวันออกเปนด้านสำคัญ เพราะคูเมืองยังแคบ เปนทางที่ข้าศึกจะเข้าได้ง่ายกว่าทางอื่น ให้พระยากลาโหม พระยาพลเทพ พระมหาเทพ เปนนายกองพล ๓ กอง แลให้ผู้ว่าราชการหัวเมืองมณฑลราชธานี ซึ่งเกณฑ์เข้ามาช่วยต่อสู้ข้าศึกเข้าสมทบ ประจำรักษาแต่ประตูหอรัตนไชยลงไปจนเกาะแก้ว (คือแต่หัวรอลงไปจนปากเข้าสาร เหนือวัดพระเจ้าพนันเชิง) ด้านใต้อันเปนบ้านจีนแลแขกฝรั่ง ให้พระยาคลังเปนนายกองพล รักษาแต่เกาะแก้วถึงประตูไชยระยะ ๑ ให้พระยาอินทรานครบาลเปนนายกองพล รักษาแต่ประตูไชยไปจนถึงประตูชีขันระยะ ๑ ด้านตวันตกให้พระท้ายน้ำเปนนายกองพล รักษาแต่ประตูชีขันไปจนมุมศาลหลวง ด้านเหนือพระยาสีหราชเดโชไชยเปนนายกองพล รักษาแต่มุมศาลหลวงมาถึงพระราชวังระยะ ๑ พระยาธรรมาเปนนายกองพล รักษาแต่พระราชวังมาจนขื่อน่า (ที่หัวรอบรรจบด้านตวันออก) ระยะ ๑ พระยารามผู้บัญชาการทั่วไปคุมพลตั้งอยู่ที่ท้องสนามหลวง แล้วจัดกองแล่นเตรียมไว้สำหรับเปนกองหนุนพนักงานรักษาน่าที่ ในเวลาต้องการกำลังช่วย ด้านละ ๕ กอง ทั้ง ๔ ด้าน แลครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิให้มีพระราชสาส์นขึ้นไป ยังกรุงศรีสัตนาคนหุต ขอให้พระเจ้าไชยเชษฐายกกองทัพลงมาช่วยด้วยอิกทาง ๑

ในพงษาวดารพม่าว่า เมื่อกองทัพหงษาวดีเข้ามาตั้งล้อมกรุงฯ แล้ว พระเจ้าหงษาวดีเรียกแม่ทัพทั้งปวงมาประชุมปรึกษาการที่จะตีกรุงศรีอยุทธยา พระมหาอุปราชาเห็นว่ากำลังกองทัพที่ยกมามีมาก ควรจะเข้าตีหักเอาพระนครให้พร้อมกันทุกด้านทีเดียว เพราะช้าวันไปจะเกิดความลำบากด้วยเรื่องเสบียงอาหาร อิกประการ ๑ ถ้าช้าไปถึงระดูฝนก็จะทำการไม่ถนัด จึงเห็นว่าควรจะรีบเข้าระดมตีเอากรุงศรีอยุทธยาเสียให้ได้โดยเร็ว พระเจ้าหงษาวดีไม่เห็นชอบด้วย ว่ากรุงศรีอยุทธยามีแม่น้ำล้อมเปนที่คับขันมั่นคงไม่เหมือนเมืองอื่น แล้วการที่ไทยจัดป้องกันบ้านเมืองก็ตระเตรียมไว้เปนสามารถ ถึงคนน้อยก็อาจจะสู้คนมากได้ ถ้ายกเข้าตีพร้อมกันทุกด้านดังว่า จะเสียรี้พลล้มตายมากนัก ถ้าฉวยตีไม่ได้ดังคาดก็จะพากันเสียทีข้าศึกทุกทัพ จำจะต้องคิดอ่านตีกรุงฯ โดยวิธี ถึงจะช้าวันไปก็อย่าให้มีท่าทางที่จะเสียทีข้าศึกจึงจะชอบ จึงกะการให้เข้าตีพระนคร แต่ข้างตวันออกด้านเดียว ด้วยคูเมืองยังแคบดังกล่าวมาแล้ว ด้านอื่นเปนแต่ให้ล้อมไว้ให้มั่นคง พระเจ้าหงษาวดีจึงย้ายค่ายหลวงมาตั้งที่ใกล้วัดมเหยงค์ข้างด้านตวันออก ให้กองทัพพระมหาธรรมราชาไปเที่ยวตัดต้นตาลส่งมาให้มาก แล้วให้พระมหาอุปราชาเปนผู้อำนวยการตีพระนคร ให้ตั้งค่ายแนวแรกห่างคูเมืองออกไปประมาณ ๓๐ เส้นก่อน อาไศรยค่ายนั้นจัดเตรียมการพร้อมแล้วก็ให้รุกเข้ามาตั้งค่ายอิกแนว ๑ ห่างค่ายเก่าเข้ามาประมาณ ๑๐ เส้น ขุดดินทำสนามเพลาะแลถมเชิงเทินแล้วเอาไม้ตาลปักรายเปนเสารเนียดกันปืนที่ยิงไปจากในกรุง ฯ พวกหงษาวดีที่เข้ามาตั้งค่ายถูกชาวพระนครเอาปืนใหญ่ยิงล้มตายเปนอันมาก จะเข้ามาทำการกลางวันไม่ได้ ต้องลอบเข้ามาตั้งค่ายต่อเวลากลางคืน เจ้าน่าที่ในพระนครก็แต่งกองอาสาออกทลวงฟัน สู้รบกันมิได้ขาด พระเจ้าหงษาวดีต้องให้ไพร่พลมาเพิ่มเติมอิกเปนอันมาก จึงตั้งค่ายแนวที่ ๒ ลงได้ ครั้นทำค่ายแนวที่ ๒ มั่นคงแล้วก็ให้รุกเข้ามาตั้งแนวที่ ๓ ถึงคูเมือง ตอนนี้ใกล้ค่ายไทยๆ ยิงได้ถนัด ถูกพวกหงษาวดีล้มตายลงมากกว่าแต่ก่อน ต้องขุดอุโมงค์เดินบังตัวเข้ามาเปนหลายสาย ครั้นใกล้ลำน้ำแล้วจึงขุดอุโมงค์แล่นหากันตามแนวค่าย ทำการแต่ในเวลากลางคืน พยายามอยู่กว่า ๒ เดือนจึงเข้ามาตั้งค่ายแนวที่ ๓ ได้ถึงคูเมือง แต่ก็มาติดอยู่เพียงนั้น ด้วยพวกชาวพระนครยังรักษาน่าที่แขงแรง พวกหงษาวดีจะข้ามคูเมืองเข้ามา ก็ถูกไทยยิงล้มตายต้องถอยกลับออกไปหลายคราว ข้ามเข้ามาไม่ได้ พระเจ้าหงษาวดีจึงให้กองทัพเรืออ้อมลงมาทางตะพานเผาเข้า (คือที่เรียกว่าคลองสีกุกทุกวันนี้) มาออกบางไทร ลงมาตั้งตรวจตรารักษาลำแม่น้ำแต่เมืองธนบุรีเมืองนนทบุรีขึ้นมา กักเรือมิให้ขึ้นมาช่วยที่กรุง ฯ ได้แล้ว ทางโน้นให้ระดมคนเข้าถมคูทำทางข้ามเข้ามาตีพระนคร ให้แบ่งน่าที่กันเปน ๓ ตอน ตอนข้างใต้ให้กองทัพพระมหาอุปราชาถมคูทำทางเข้ามาตรงเกาะแก้ว (ตรงน่าวัดสุวรรณดาราราม) ทาง ๑ ตอนกลางให้พระเจ้าแปรคุมพล ทำทางข้ามคูเข้ามาที่วัดจันทน์ตรงบางเอียน (หลังสถานีอยุทธยาทุกวันนี้) ทาง ๑ ตอนเหนือให้กองทัพพระเจ้าอังวะถมคูทำทางเข้ามาตรงตะพานเกลือ (ที่ใต้วังจันทรเกษม) อิกทาง ๑ พระเจ้าหงษาวดีคาดโทษว่า ถ้าด้านไหนทำไม่สำเร็จจะเอาโทษแม่ทัพถึงชีวิตร พระมหาอุปราชา พระเจ้าอังวะ พระเจ้าแปร ต่างเกรงพระราชอาญาก็ให้เอาไม้ตาลทำทุบทูพอบังตัวไพร่พล แล้วรีบเร่งขับต้อนเข้ามาถมคลอง ชาวพระนครเอาปืนยิงตายเสียมากกว่ามาก พวกหงษาวดีก็ยังขับกันหนุนเนื่องเข้ามา คนข้างน่าตายลง คนมาข้างหลังก็เอาดินถมทับศพเลยมา ด้วยความกลัวพระอาญาพระเจ้าหงษาวดีเปนกำลัง.

ในขณะนี้พเอิญสมเด็จพระมหาจักรพรรดิประชวรสวรรคต ชาวพระนครก็มีความว้าเหว่ พระยาราม พระยากลาโหม แลพระมหาเทพ เห็นว่าไพร่พลพากันย่อท้อจะรักษาค่ายริมคูเมืองไว้ไม่ได้ จึงให้กองทัพถอยเข้ามาตั้งค่ายอิกแนว ๑ ข้างในพระนครเอากำแพงเมืองเปนแนวน่าต่อสู้ข้าศึก พระเจ้าหงษาวดีเห็นได้ทีก็ให้ขับพลเข้าตีพระนครทางด้านตวันออกพร้อมกัน ข้าศึกเข้าเมืองได้ที่ตรงเกาะแก้ว แต่พระมหาเทพผู้เปนนายด้านตรงนั้นเข้มแขงในการศึก เอาค่ายแนวในเมืองที่ทำขึ้นใหม่เปนที่มั่นต่อสู้รับข้าศึกไว้อยู่ พวกหงษาวดีล้มตายลงเปนอันมาก จะตีหักเอาพระนครไม่ได้ก็ต้องถอยข้ามคูกลับออกไป.

พระเจ้าหงษาวดีพยายามตีกรุงศรีอยุทธยามาแต่เดือนอ้าย ปีมโรง จนถึงเดือน ๕ ปีมเสง พ.ศ. ๒๑๑๒ ยังไม่ได้พระนครก็ทรงพระวิตก เพราะใกล้จะถึงระดูฝน จึงปฤกษาพระมหาธรรมราชาว่าจะทำอย่างไรจึงจะให้เสร็จศึกเสียได้โดยเร็ว พระมหาธรรมราชาทูลว่าการต่อสู้รักษาพระนครนั้น พระยารามเปนตัวสำคัญอยู่คนเดียว ถ้าได้ตัวพระยารามมาเสียแล้ว ก็เห็นจะได้พระนครโดยง่าย พระมหาธรรมราชาจึงรับอาสา แล้วมีหนังสือลับให้ข้าหลวงเดิมถือเข้ามาถวายพระวิสุทธิกษัตรี ว่าศึกหงษาวดีเข้ามาประชิดติดพระนครถึงเพียงนี้แล้ว ไม่พอที่สมเด็จพระมหินทราธิราชจะดื้อดึงต่อสู้ให้ผู้คนล้มตายต่อไป ควรจะให้มาขอเปนไมตรีกับพระเจ้าหงษาวดีเสียโดยดี เหตุการณ์ทั้งปวงที่ได้เปนมานั้น พระเจ้าหงษาวดีก็รับสั่งอยู่ว่า เปนเพราะพระยารามคนเดียวยุยงให้พี่น้องแตกร้าวกันขึ้น ถ้าสมเด็จพระมหินทรส่งตัวพระยารามออกมาถวายเสีย พระเจ้าหงษาวดีก็คงจะยอมเปนไมตรีเหมือนอย่างครั้งก่อน พระวิสุทธิกษัตรีนำหนังสือนั้นไปถวายสมเด็จพระมหินทร ๆ จึงให้ข้าราชการทั้งปวงปฤกษากันว่าควรจะทำประการใด ในขณะนั้นข้าราชการทั้งปวงเห็นว่าการต่อสู้ป้องกันพระนครเสียเปรียบข้าศึกมากนัก ก็พากันย่อท้อ แม้ตัวพระยารามเองก็สิ้นความคิดที่จะต่อสู้อย่างไรต่อไป จึงเห็นพร้อมกันโดยมากว่าควรจะขอเปนไมตรีกับพระเจ้าหงษาวดีตามที่พระมหาธรรมราชาแนะนำเข้ามา สมเด็จพระมหินทรจึงอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชให้ออกไปเจรจาขอเปนไมตรีกับพระเจ้าหงษาวดี แลให้ข้าราชการผู้ใหญ่พาตัวพระยารามออกไปถวายพระเจ้าหงษาวดีด้วย พระเจ้าหงษาวดีใหรับตัวพระยารามไว้แล้ว จึงให้แม่ทัพทั้งปวงประชุมปฤกษากัน ว่าควรจะเปนไมตรีกับสมเด็จพระมหินทรฤๅประการใด แม่ทัพทั้งปวงทูลว่ากรุงศรีอยุทธยาเหมือนอยู่ในเงื้อมมือแล้ว ที่จะยอมเปนไมตรีหาควรไม่ พระเจ้าหงษาวดีจึงมีรับสั่งแก่ทูตว่า ถ้าสมเด็จพระมหินทรจะใคร่ให้เลิกการสงครามก็ต้องรับแพ้ยอมเปนเชลย อย่ามีข้อความขอร้องอย่างหนึ่งอย่างไรจึงจะยอม ทูตนำความกลับเข้ามาทูลสมเด็จพระมหินทรก็มีรับสั่งให้ปฤกษาข้าราชการเหมือนหนหลัง คราวนี้ข้าราชการทั้งปวงเห็นแน่แก่ใจ ว่าพระเจ้าหงษาวดีหมายจะเทครัวเอาชาวกรุงศรีอยุทธยาไปเปนเชลย ต่างก็โกรธแคนพากันมีมานะ ทูลอาสาสมเด็จพระมหินทรจะต่อสู้ศึกหงษาวดีต่อไป เพราะเห็นว่ายังไม่ช้าเท่าใดก็จะถึงระดูน้ำหลาก พระเจ้าหงษาวดีคงจะต้องเลิกทัพกลับไป ขออย่าเพ่อให้ยอมแพ้แก่พระเจ้าหงษาวดี สมเด็จพระมหินทรทรงเห็นชอบด้วยก็บัญชาตาม จึงให้ตรวจตราป้องกันพระนครให้กวดขันยิ่งขึ้น หาออกไปยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าหงษาวดีไม่.

ในขณะนั้นพระไชยเชษฐากรุงศรีสัตนาคนหุตยกกองทัพลงมาทางเมืองเพ็ชรบูรณ์ หมายจะมาช่วยกรุงศรีอยุทธยา พระเจ้าหงษาวดีทราบความจึงปฤกษากับพระมหาธรรมราชาแล้วคิดกลอุบายเกลี้ยกล่อมพระยารามให้แต่งเปนศุภอักษรกรุงศรีอยุทธยามีขึ้นไปถึงกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตว่า กองทัพหงษาวดีที่มาล้อมกรุงนั้น เข้าตีพระนครหลายครั้ง กองทัพกรุงฯ ต้านทานไว้ได้ เดี๋ยวนี้อ่อนกำลังระส่ำระสายอยู่แล้ว ขอให้กองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตรีบยกลงมาช่วยตีกระหนาบเถิด กองทัพหงษาวดีคงจะแตกพ่ายไป แล้วให้แกะปลอมตราพระราชสีห์ประทับศุภอักษร ให้พวกไทยกองทัพพระมหาธรรมราชาถือไป แล้วพระเจ้าหงษาวดีจึงให้พระมหาอุปราชายกกองทัพขึ้นไปซุ่มอยู่ในแขวงเมืองสระ บุรีคอยตีกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตที่จะยกลงมา ฝ่ายพระเจ้าไชยเชษฐาได้รับศุภอักษรปลอม มิได้สงไสยว่าเปนกลอุบาย จึงเร่งให้กองทัพรีบยกลงมาโดยประมาท กองทัพน่ามาถึงแขวงเมืองสระบุรีที่พระมหาอุปราชาซุ่มอยู่ก็ออกโจมตี กองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตไม่ทันรู้ตัวก็แตกพ่ายยับเยิน เสียช้างม้าผู้คนให้พระมหาอุปราชาจับมาได้เปนอันมาก พระเจ้าไชยเชษฐาเห็นว่าจะเอาไชยชนะข้าศึกไม่ได้ ก็ถอยทัพกลับไปกรุงศรีสัตนาคนหุต.

ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีมีไชยชนะกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตแล้ว ให้เข้าระดมตีกรุงศรีอยุทธยาอิกหลายครั้งก็เข้าเมืองไม่ได้ ด้วยในตอนนี้ขัางในกรุงฯ ข้าราชการทั้งปวงพร้อมใจกันต่อสู้เปนสามารถ พระมหาธรรมราชารับอาสาเข้ามาเจรจาความกับชาวพระนคร ประสงค์จะเกลี้ยกล่อมให้ยอมแพ้โดยดี พวกชาวพระนครก็ไม่ฟังกลับเอาปืนยิงพระมหาธรรมราชาต้องหนีกลับออกไป จนถึงเดือน ๗ ยังตีไม่ได้กรุงศรีอยุทธยา พระเจ้าหงษาวดีก็ยิ่งมีความวิตกด้วยใกล้ระดูน้ำเข้าแล้ว จึงปฤกษากับพระมหาธรรมราชาคิดกลอุบายเอาพระยาจักรี ซึ่งได้ตัวไปจากกรุงศรีอยุทธยาพร้อมกับพระราเมศวรนั้นมาเกลี้ยกล่อม พระยาจักรีรับอาสาจะเข้ามาเปนไส้ศึก พระเจ้าหงษาวดีจึงแกล้งให้จำพระยาจักรีแล้วเอาตัวไปคุมไว้ในค่ายทางด้านตวันตก สั่งเปนความลับแก่นายทัพที่ควบคุมให้แกล้งทำละเลยให้พระยาจักรีหนีได้ เวลากลางคืนวันหนึ่งพระยาจักรีหนีมาทั้งเครื่องพันธนาการ เข้ามาหาเจ้าน่าที่รักษาพระนครทางด้านวัดสบสวรรค์ ครั้นรุ่งเช้านายทัพพม่าซ้ำให้เอาผู้คุมมาตัดศีศะเสียบไว้ที่ริมน้ำให้ไทยเห็น จะมิให้สงไสยว่าแกล้งปล่อยพระยาจักรีเข้ามา ฝ่ายสมเด็จพระมหินทรไม่ทรงทราบว่าเปนกลอุบายของพระเจ้าหงษาวดี สำคัญว่าพระยาจักรีหนีเข้ามาได้ก็ทรงยินดี ด้วยพระยาจักรีเคยเปนข้าราชการผู้ใหญ่ ทั้งได้ต่อสู้พระเจ้าหงษาวดีแขงแรงเมื่อคราวก่อน จึงทรงตั้งพระยาจักรีให้เปนผู้บัญชาการรักษาพระนครแทนที่พระยาราม พระยาจักรีก็ตั้งต้นคิดอุบายทำการทรยศต่างๆ เปนต้นว่าพระศรีเสาวราชน้องยาเธอพระองค ๑ ซึ่งช่วยบัญชาการรบพุ่งข้าศึกแขงแรง พระยาจักรีก็ทูลยุยงสมเด็จพระมหินทรว่าจะเปนขบถ จนต้องถูกสำเร็จโทษ ข้าราชการคนไหนที่มีฝีมือต่อสู้ข้าศึกเข้มแขง พระยาจักรีก็แกล้งย้ายน่าที่ให้ไปรักษาการทางที่จะไม่มีข้าศึกเข้ามา เอาคนที่เห็นว่าอ่อนแอมารักษาน่าที่ที่สำคัญ พระยาจักรีพยายามทำการทรยศมาจนเห็นว่าการรักษาพระนครอ่อนแอมากอยู่แล้ว ก็ลอบให้สัญญาออกไปยังกองทัพพระเจ้าหงษาวดี ๆ จึงให้เข้าระดมตีพระนครพร้อมกันทุกด้าน ก็เสียกรุง ฯ แก่พระเจ้าหงษาวดี เมื่อณวันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๑๑ ค่ำ ปีมเสง จุลศักราช ๙๓๑ พ.ศ. ๒๑๑๒ คิดเวลาแต่ตั้งล้อมเมืองมาได้ ๙ เดือน.

ในพงษาวดารพม่าว่า พอพระเจ้าหงษาวดีได้กรุงศรีอยุทธยาแล้ว ไม่ช้าน้ำก็หลากลงมาท่วมที่ตั้งกองทัพอยู่แต่ก่อนแทบทั่วทุกแห่ง แลว่าถ้าหากพระเจ้าหงษาวดีตีไม่ได้กรุงศรีอยุทธยาอย่างช้าอิกสักเดือน ๑ ก็จะต้องเลิกทัพกลับไป เรื่องราวเปนเช่นนี้ เมื่ออ่านแล้วน่าเสียใจ ว่าเพราะไทยทรยศกันเอง หาไม่ก็เห็นจะไม่เสียกรุง ฯ ในครั้งนั้น ส่วนพระยาจักรีผู้ทรยศนั้น ในหนังสือพงษาวดารพม่าว่า พระเจ้าหงษาวดีจะปูนบำเหน็จให้เปนเจ้าเมืองพิศณุโลก แต่ชรอยจะไม่กล้าอยู่ดูหน้าไทยด้วยกันเอง พระยาจักรีจึงสมัคไปรับราชการที่เมืองหงษาวดี แลมีปรากฎในเรื่องคำให้การชาวกรุงเก่าว่า เมื่อเสร็จสงครามคราวนี้แล้วพระเจ้าหงษาวดีเอาพระยาจักรีไปเลี้ยงไว้น่อยหนึ่ง แล้วพาลเอาผิดให้ประหารชีวิตรเสีย ด้วยเกลียดชังว่าเปนคนคิดทรยศต่อบ้านเมืองของตัวเอง.

พระเจ้าหงษาวดีตีกรุงศรีอยุทธยาได้ครั้งนั้น ถือว่าได้ด้วยต้องรบพุ่งเสียรี้พลเปนอันมาก จึงให้ทำแก่กรุงศรีอยุทธยาอย่างเชลย เก็บริบทรัพย์สมบัติทั้งปวงบรรดาที่ต้องการ แลให้รวบรวมผู้คนพลเมืองทั้งชายหญิงกวาดเอาไปเปนเชลย เหลือไว้ให้ประจำเมืองแต่ ๑๐๐๐๐ คน ส่วนสมเด็จพระมหินทราธิราชกับทั้งพระญาติวงษ์แลข้าราชการโดยมาก ก็ให้คุมเอาไปเมืองหงษาวดีด้วย แต่สมเด็จพระมหินทรไปประชวรสวรรคตเสียกลางทาง หาไปถึงเมืองหงษาวดีไม่.

พระเจ้าหงษาวดีพักอยู่ที่กรุงศรีอยุทธยาจนตลอดระดูฝน ให้อภิเศกพระมหาธรรมราชาขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อณวันศุกร เดือน ๑๒ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมเสง จุลศักราช ๙๓๑ พ.ศ. ๒๑๑๒ แล้วให้กองทัพพม่าอยู่ช่วยรักษากรุง ฯ ๓๐๐๐ พระเจ้าหงษาวดีมอบบ้านเมืองแก่สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชแล้ว ก็ยกทัพหลวงขึ้นไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุตทางเมืองพิศณุโลก เมืองไทยก็เปนประเทศราชขึ้นแก่เมืองหงษาวดีแต่นั้นมาตลอดเวลา ๑๕ ปี จึงได้กลับไปเปนอิศรด้วยอานุภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ดังจะบรรยายในตอนข้างน่าต่อไป.

  1. ๑. เรื่องสมเด็จพระมหินทราธิราชครองราชสมบัติ หนังสือพระราชพงษาวดารแย้งกันอยู่ บางฉบับตั้งต้นรัชกาลแต่ตอนนี้ไปเปนครั้งที่ ๑ จนสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกลับเข้าว่าราชการ แล้วไปนับเมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิสวรรคตแล้วเปนรัชกาลสมเด็จพระมหินทรครั้งที่ ๒ อิกคราว ๑ แต่บางฉบับนับรัชกาลสมเด็จพระมหินทรต่อเมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิสวรรคต ข้าพเจ้าเห็นชอบด้วยเชื่อว่าได้ราชาภิเศกต่อเมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิสวรรคต.

  2. ๒. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า พระยารามกับพระยาจักรีคุมทัพน่าไปด้วยกัน ๒ คน ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเห็นเปนคนเดียว คือพระยารามรณรงค์ได้เปนที่พระยาจักรีขึ้น ด้วยมีความปรากฎอยู่ต่อไปข้างน่า

  3. ๓. นามว่า “ศรีสรรเพ็ชญ์” นี้ ในหนังสือพระราชพงษาวดาร ว่าเปนพระนามถวายพระมหาธรรมราชา เมื่อทำพิธีราชาภิเศก แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสังเกตเห็นในนามเจ้าฟ้าเมืองเชียงแขง ซึ่งเข้าสามิภักดิเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ว่าที่จริงเปนนามเจ้าประเทศราชตามธรรมเนียมของพม่า.

  4. ๔. คำว่า “สองแคว” เปนชื่อเก่าของเมืองพิศณุโลก.

  5. ๕. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า แต่ประตูไชยจนประตูวังไชย สอบกับท้องที่เห็นว่าห่างไปมาก ระยะก็สั้นนัก

  6. ๖. ที่ว่ามุมศาลหลวงตรงนี้ สงไสยว่า ที่จริงจะเปนมุมเมืองที่หัวแหลม.

  7. ๗. ตรงนี้เห็นได้ว่าพระยารามได้เปนที่เจ้าพระยาจักรีดังได้กล่าวมาแต่ก่อน

  8. ๘. ในหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับอื่น ว่าเปนลูกเธอ แต่ฉบับหลวงประเสริฐว่าเปนน้องยาเธอ เห็นว่าจะถูก เชื่อว่าสมเด็จพระมหินทรทรงสงไสยพระศรีเสาวราชนั้น คงเปนด้วยพระยาจักรียุยง เพราะไม่มีเหตุอื่น.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ