- อธิบายเหตุการณ์ที่ไทยรบกับพม่า
- ครั้งที่ ๑ คราวพม่าตีเมืองเชียงกราน ปีจอ พ.ศ. ๒๐๘๑
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวสมเด็จพระสุริโยไทยขาดฅอช้าง ปีวอก พ.ศ. ๒๐๙๑
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวรบกันด้วยเรื่องช้างเผือก ปีกุญ พ.ศ. ๒๑๐๖
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวเสียกรุง ฯ แก่พระเจ้าหงษาวดี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๑๑
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิศระ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗
- สงครามครั้งที่ ๖ ครั้งรบพระยาพสิมที่เมืองสุพรรณ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวรบพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกษ ปีระกา พ.ศ. ๒๑๒๘
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวพระเจ้าหงษาวดีล้อมกรุง ฯ ปีจอ พ.ศ. ๒๑๒๙
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวพระมหาอุปราชายกมาครั้งแรก ปีขาล พ.ศ. ๒๑๓๓
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวสมเด็จพระนเรศวรชนช้าง ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕
- สงครามครั้งที่ ๑๑ คราวไทยตีเมืองทวายเมืองตะนาวศรี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๓๕
- สงครามครั้งที่ ๑๒ คราวสมเด็จพระนเรศวรได้หัวเมืองมอญ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๑๓๗
- สงครามครั้งที่ ๑๓ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดีครั้งแรก ปีมะแม พ.ศ. ๒๑๓๘
- สงครามครั้งที่ ๑๔ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดี ครั้งที่ ๒ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๔๒
- สงครามครั้งที่ ๑๕ สงครามครั้งที่สุดของสมเด็จพระนเรศวร ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๔๗
- สงครามครั้งที่ ๑๖ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีฉลู พ.ศ. ๒๑๕๖
- สงครามครั้งที่ ๑๗ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๑๕๗
- สงครามครั้งที่ ๑๘ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีจอ พ.ศ. ๒๑๖๕
- สงครามครั้งที่ ๑๙ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๒๐๕
- สงครามครั้งที่ ๒๐ คราวรบพม่าที่เมืองไทรโยค ปีเถาะ พ.ศ. ๒๒๐๖
- สงครามครั้งที่ ๒๑ คราวไทยตีเมืองพม่า ปีมโรง พ.ศ. ๒๒๐๗
- สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๑
- สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๒
- สงครามครั้งที่ ๒๓ คราวพม่าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๐๗
- สงครามครั้งที่ ๒๔ คราวเสียกรุง ฯ ครั้งหลัง ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
สงครามครั้งที่ ๑๓ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดีครั้งแรก ปีมะแม พ.ศ. ๒๑๓๘
ที่สมเด็จพระนเรศวรได้หัวเมืองมอญฝ่ายใต้มาเปนเมืองขึ้นของไทย เปนหัวต่อข้อสำคัญในเรื่องพงษาวดารการสงครามที่ไทยรบกับพม่าในครั้งนั้น เพราะการสงครามที่รบกับพม่ามาตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิศรภาพที่เมืองแครง ฝ่ายพม่าจะปราบปรามไทย พยายามยกกองทัพมาย่ำยี ฝ่ายไทยต่อสู้รักษาความเปนอิศระของชาติ รบกันอยู่ ๑๐ ปี ไทยกู้อิศระสำเร็จได้ในคราวเมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงชนช้างชนะพระมหาอุปราชา แล้วเลยได้เมืองทวายเมืองตะนาวศรีกลับคืนมาเปนของไทยอย่างเดิม เรื่องการสงครามที่ไทยเปนฝ่ายต่อสู้ยุติเพียงเท่านี้ ครั้นได้หัวเมืองมอญข้างใต้มาเปนของไทย ก็เหมือนมีปัญหาเกิดขึ้นว่า ไทยจะตอบแทนพม่าบ้างฤๅไม่ ถ้ามีประสงค์จะย่ำยีบ้างก็มีโอกาศแล้ว เพราะได้เมืองเมาะตมะอันเปนที่เหมาะสำหรับการตั้งทัพไว้ในมือไทย อาจจะไปตีเมืองหงษาวดีได้สดวกเหมือนกับที่พระเจ้าหงษาวดีมาตีกรุงศรีอยุทธยาแต่ก่อน ขณะนั้นไทยเห็นจะรู้สึกอยู่ทั่วกันว่า พม่าได้มาย่ำยีบ้านเมืองมากมายนักแล้ว เมื่อได้มีโอกาศก็ควรจะตอบแทนพม่าบ้าง จริงอยู่ที่ไทยได้โอกาศครั้งนั้น ไม่ได้เปรียบพม่าเท่าพม่าเคยได้เปรียบไทยมาแต่ก่อน เพราะไทยมาได้เปรียบเมื่อถูกพม่าทำยับเยินเสียคราว ๑ แล้ว ต้องก่อร่างสร้างตัวใหม่ แลต้องรบพุ่งมาเปนช้านานจึงมีไชยชนะ กำลังรี้พลย่อมไม่บริบูรณ์เหมือนพม่าเมื่อมาตีเมืองไทย อิกประการ ๑ หัวเมืองมอญที่ได้มาเปนของไทยในชั้นนี้ก็ยังไม่หมด แม้เมืองที่ได้มาผู้คนก็แตกกระจัดกระจายไปเสียก่อนแล้วเปนอันมาก ไทยไม่ได้มอญเปนกำลังเหมือนอย่างพม่าเคยได้มาแต่ก่อน ข้อที่ไม่ได้เปรียบพม่าเหมือนอย่างพม่าเคยได้เปรียบไทยดังกล่าวมานี้ก็คงทราบกันอยู่ แต่วิไสยสมเด็จพระนเรศวรเปนนักรบ ไม่เคยทิ้งโอกาศที่จะทำแก่ข้าศึกได้ให้ล่วงไปเสียเปล่า พอได้โอกาศจึงเสด็จยกกองทัพหลวงไปตีเมืองหงษาวดีเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๑๓๘
เรื่องสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปตีเมืองหงษาวดีครั้งนี้ ในหนังสือพระราชพงษาวดารฉบับอื่นหามีไม่ มีแต่ในฉบับหลวงประเสริฐฉบับเดียว ยุติต้องกับพงษาวดารพม่า แต่กล่าวย่อๆ เกือบจะไม่มีรายการด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย จึงจำต้องสันนิษฐานรายการประกอบบ้าง ความปรากฎว่า สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพหลวงออกจากพระนครเมื่อวันอาทิตย์ เดือนอ้าย ขึ้น ๓ ค่ำ ปีมะแม พ.ศ. ๒๑๓๘ จำนวนพลที่ยกไป ๑๒๐,๐๐๐ ไปถึงเมืองเมาะตมะรวบรวมกองทัพมอญเข้าสมทบแล้ว เสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปหงษาวดีเข้าล้อมเมืองไว้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปครั้งนี้เปนการยกจู่ไป ไม่ให้ข้าศึกมีเวลาพอจะตระเตรียมต่อสู้ได้พรักพร้อม แลพระราชประสงค์ที่ยกไปนั้นเห็นจะเปน ๓ ประการคือ ประการที่ ๑ ถ้าสามารถจะตีเอาเมืองหงษาวดีได้ก็จะตีเอาทีเดียว ประการที่ ๒ ถ้าตีเมืองหงษาวดียังไม่ได้ในคราวนี้ ก็จะตรวจภูมิลำเนาแลกำลังของข้าศึกให้รู้ไว้สำหรับคิดการคราวน่าต่อไป ประการที่ ๓ อย่างไร ๆ คงจะคิดกวาดเอาครอบครัวพลเมืองของข้าศึกมาเปนเชลยให้จงมาก โดยประสงค์จะตัดทอนกำลังของข้าศึก แลเอาผู้คนมาเพิ่มเติมเปนกำลังสำหรับพระราชอาณาจักรต่อไป ความปรากฎว่าสมเด็จพระนเรศวรล้อมเมืองหงษาวดีอยู่ถึง ๓ เดือน ได้ให้เข้าปล้นเมืองเมื่อณวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๓ ค่ำ ครั้ง ๑ เข้าเมืองหาได้ไม่ ครั้นได้ทรงทราบว่าพระเจ้าแปร พระเจ้าอังวะ พระเจ้าตองอู ยกกองทัพมาช่วยพระเจ้าหงษาวดีทั้ง ๓ เมืองเห็นกำลังข้าศึกมากนัก จึงมีรับสั่งให้เลิกทัพกลับมาเมื่อวันสงกรานต์ เดือน ๕ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๓๙ แลได้กวาดต้อนครอบครัวในหัวเมืองมณฑลหงษาวดีมาเปนเชลยในครั้งนี้เปนอันมาก