- อธิบายเหตุการณ์ที่ไทยรบกับพม่า
- ครั้งที่ ๑ คราวพม่าตีเมืองเชียงกราน ปีจอ พ.ศ. ๒๐๘๑
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวสมเด็จพระสุริโยไทยขาดฅอช้าง ปีวอก พ.ศ. ๒๐๙๑
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวรบกันด้วยเรื่องช้างเผือก ปีกุญ พ.ศ. ๒๑๐๖
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวเสียกรุง ฯ แก่พระเจ้าหงษาวดี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๑๑
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิศระ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗
- สงครามครั้งที่ ๖ ครั้งรบพระยาพสิมที่เมืองสุพรรณ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวรบพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกษ ปีระกา พ.ศ. ๒๑๒๘
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวพระเจ้าหงษาวดีล้อมกรุง ฯ ปีจอ พ.ศ. ๒๑๒๙
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวพระมหาอุปราชายกมาครั้งแรก ปีขาล พ.ศ. ๒๑๓๓
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวสมเด็จพระนเรศวรชนช้าง ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕
- สงครามครั้งที่ ๑๑ คราวไทยตีเมืองทวายเมืองตะนาวศรี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๓๕
- สงครามครั้งที่ ๑๒ คราวสมเด็จพระนเรศวรได้หัวเมืองมอญ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๑๓๗
- สงครามครั้งที่ ๑๓ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดีครั้งแรก ปีมะแม พ.ศ. ๒๑๓๘
- สงครามครั้งที่ ๑๔ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดี ครั้งที่ ๒ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๔๒
- สงครามครั้งที่ ๑๕ สงครามครั้งที่สุดของสมเด็จพระนเรศวร ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๔๗
- สงครามครั้งที่ ๑๖ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีฉลู พ.ศ. ๒๑๕๖
- สงครามครั้งที่ ๑๗ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๑๕๗
- สงครามครั้งที่ ๑๘ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีจอ พ.ศ. ๒๑๖๕
- สงครามครั้งที่ ๑๙ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๒๐๕
- สงครามครั้งที่ ๒๐ คราวรบพม่าที่เมืองไทรโยค ปีเถาะ พ.ศ. ๒๒๐๖
- สงครามครั้งที่ ๒๑ คราวไทยตีเมืองพม่า ปีมโรง พ.ศ. ๒๒๐๗
- สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๑
- สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๒
- สงครามครั้งที่ ๒๓ คราวพม่าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๐๗
- สงครามครั้งที่ ๒๔ คราวเสียกรุง ฯ ครั้งหลัง ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
สงครามครั้งที่ ๑๔ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดี ครั้งที่ ๒ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๔๒
สมเด็จพระนเรศวรทำสงครามผิดกับพม่าเปนข้อสำคัญ ๒ ประการ คือที่ทรงถนัดในวิธีต่อสู้คนมากด้วยคนน้อยประการ ๑ แลไม่ทิ้งโอกาศประการ ๑ ฝ่ายพม่าไม่เช่นนั้น เหมือนเมื่อพยายามจะปราบปรามไทย ยกกองทัพเข้ามารบไทยไม่ชนะทัพ ๑ แล้ว รุ่งปีคงให้ทัพอื่นยกเข้ามาอิก ติดต่อกันมาทุกปี ไม่มีที่จะรอหาโอกาศก่อน แต่สมเด็จพระนเรศวรนั้น ถ้าได้โอกาศเปนไม่ละ แต่ถ้าไม่เปนโอกาศแล้วก็ไม่ทำ เหมือนอย่างที่ตีเมืองหงษาวดี เสด็จไปตีครั้งแรกไม่สำเร็จแล้วนิ่งเฉยเสียถึง ๓ ปี จนมีโอกาศอิกจึงไปตีอิกครั้ง ๑.
ในระหว่าง ๓ ปีนั้น มีเหตุการณ์อันเปนฝ่ายหายนะของพม่าเกิดขึ้นหลายอย่าง ล้วนแต่เนื่องด้วยเหตุที่พระเจ้าหงษาวดีแพ้สงครามไทยเปนปัจจัยไปทุกเรื่อง ราวกับว่าอกุศลกรรมที่พม่ามาทำร้ายไทยตามสนองให้เห็นประจักษ์ ตั้งต้นมาแต่เมื่อสมเด็จพระนเรศวรไปตีเมืองหงษาวดี ประเทศราชที่ยกกองทัพไปช่วยเมืองหงษาวดีครั้งนั้น พระเจ้าตองอูซึ่งเปนลูกของพระปิตุลา กับพระเจ้าอังวะซึ่งเปนลูกเธอของพระเจ้าหงษาวดียกไปถึงก่อน กองทัพพระเจ้าแปรที่เปนลูกเธออิกองค์ ๑ ไปยังหาถึงไม่ พระเจ้าหงษาวดียกย่องความชอบว่าเพราะกองทัพพระเจ้าตองอูกับพระเจ้าอังวะยกไป สมเด็จพระนเรศวรจึงต้องเลิกทัพกลับมา จะพระราชทานบำเหน็จบำนาญ แลเวลานั้นตำแหน่งพระมหาอุปราชายังว่างอยู่ ทำนองพระเจ้าตองอูจะทูลอุดหนุนอย่างไรอย่างหนึ่งด้วย พระเจ้าหงษาวดีจึงตั้งพระเจ้าลูกเธอองค์ที่เปนพระเจ้าอังวะขึ้นเปนพระมหาอุปราชาแทนองค์ที่ขาดฅอช้าง ด้ายพระเจ้าแปรยกกองทัพไปถึงกลางทางได้ทราบความก็น้อยพระไทย ด้วยหมายว่าพระราชบิดาจะให้เปนพระมหาอุปราชา เพราะได้เคยทำศึกสงครามมีบำเหน็จความชอบมาแต่ก่อน ครั้นไม่สมหมายก็เลยแค้นพระเจ้าตองอูว่าเปนผู้ทูลยุยงให้พระราชบิดาเกลียดชัง จึงหุนหันยกกองทัพเลยไปตีเมืองตองอู เวลานั้นพระเจ้าตองอูยังอยู่ที่เมืองหงษาวดี ให้นัดจินหน่องผู้เปนราชบุตรอยู่รักษาเมือง นัดจินหน่องเปนคนเข้มแขงการศึกต่อสู้รักษาเมืองเปนสามารถ พระเจ้าแปรจะตีเอาเมืองตองอูไม่ได้ ก็เลิกทัพกลับไปเมืองแปร แล้วเลยตั้งแขงเมือง ไม่อ่อมน้อมต่อพระเจ้าหงษาวดีผู้เปนราชบิดาดังแต่ก่อน ต่อมาไม่ช้าพระหน่อแก้วลูกพระเจ้าไชยเชษฐา ที่พระเจ้าหงษาวดีให้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุตก็ตั้งแขงเมืองขึ้นบ้าง พระเจ้าหงษาวดีเกรงว่าประเทศราชแลหัวเมืองที่อยู่ห่างไกลจะพากันเอาอย่างกระด้างกระเดื่องขึ้น จึงอุบายตักเตือนให้ส่งบุตรหลานเข้าไปฝึกหัดราชการตามโบราณราชประเพณี โดยประสงค์จะให้เปนตัวจำนำอยู่ในกรุงหงษาวดี หัวเมืองที่ยังมีความสามิภักดิ์ยำเกรงก็ส่งบุตรหลานไปถวายตามรับสั่ง แต่พระเจ้าตองอูกับมังนรธาช่อราชอนุชาซึ่งเปนพระเจ้าเชียงใหม่แลพระเจ้ายะไข่ ๓ องค์นี้เพิกเฉยเสีย หาส่งราชบุตรไปตามรับสั่งไม่ พระเจ้าหงษาวดีก็มิรู้ที่จะทำประการใด ด้วยหัวเมืองที่วางพระไทยได้ยังเหลืออยู่น้อยนัก ไม่มีกำลังพอที่จะปราบปรามก็ต้องนิ่งอยู่.
ฝ่ายพระหน่อแก้วเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต เมื่อตั้งแขงเมืองแล้ว แต่งท้าวพระยาให้ไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมชาวล้านช้าง ซึ่งตกไปอยู่ต่างประเทศให้กลับไปบ้านเมือง พวกชาวล้านช้างที่ถูกพระเจ้าหงษาวดีกวาดเอาไปมีมากด้วยกัน เพราะถูกกวาดไปหลายคราว เมื่อได้ทราบว่าพระหน่อแก้วราชบุตรของพระเจ้าไชยเชษฐา ซึ่งนับถือกันว่าเปนมหาราชในพวกลานช้าง ได้เปนอิศระก็เกิดนิยมยินดี ชวนกันอพยบกลับไปบ้านเมือง แต่ทางจะไปต้องเดินผ่านอาณาเขตรเชียงใหม่ เวลานั้นพระหน่อแก้วกับพระเจ้าเชียงใหม่เปนอริกันอยู่ ด้วยเมื่อพระหน่อแก้วตั้งตัวเปนอิศระแล้ว เห็นว่าพระเจ้าเชียงใหม่เปนน้องพระเจ้าหงษาวดี จึงอุดหนุนให้พระยาน่านแขงเมืองเอาพระเจ้าเชียงใหม่บ้าง ครั้งนี้พระหน่อแก้วเกรงพระเจ้าเชียงใหม่จะขัดขวางมิให้พวกครัวกลับไป จึงเตรียมกองทัพจะยกมารับครัวลานช้างไปจากเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าเชียงใหม่ทราบความก็ร้อนตัว ด้วยรู้สึกว่าเปนพม่าเข้ามาครอบครองราษฎรซึ่งเปนไทยต่างชาติต่างภาษากัน ปกครองเมืองมาได้ด้วยราษฎรกลัวพม่า พม่าก็ทำสงครามแพ้ไทยจนหมดอำนาจไม่เหมือนแต่ก่อน ซ้ำพระเจ้าหงษาวดีก็เปนอริ แม้ตั้งแขงเมืองเฉยอยู่ ถ้ากองทัพกรุงศรีอยุทธยา ฤๅกรุงศรีสัตนาคนหุตยกมาตีเมือง น่ากลัวราษฎรพลเมืองจะพากันไปเข้ากับข้าศึก ฤๅไม่เต็มใจรบพุ่ง ก็จะเกิดไภยอันตรายได้ทั้ง ๒ สถาน จะอยู่ไปแต่โดยลำพังเห็นจะไม่ได้ พระเจ้าเชียงใหม่จึงแต่งทูตให้เชิญราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการลงมายังกรุงศรีอยุทธยา ยอมอ่อนน้อมต่อสมเด็จพระนเรศวร ขอเปนข้าขอบขัณฑสิมาสืบไป แลขอพระราชทานกองทัพขึ้นไปช่วยป้องกัน อย่าให้พวกกรุงศรีสัตนาคนหุตมาเบียดเบียนด้วย.
ในเวลานั้นพวกท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่ที่หนีพม่ามาพึ่งสมเด็จพระนเรศวรอยู่ในกรุงศรีอยุทธยาเห็นจะมีมาก ที่เปนตัวสำคัญอันผู้คนพลเมืองนับถือมากมีอยู่คน ๑ ทรงตั้งให้เปนที่พระยารามเดโช ครั้นพระเจ้าเชียงใหม่มาอ่อนน้อมยอมขึ้นต่อกรุงศรีอยุทธยา สมเด็จพระนเรศวรทรงพระราชดำริห์เห็นว่า เมืองเชียงใหม่ที่จริงมีกำลังผู้คนมากกว่าเมืองล้านช้าง ถ้าให้ไพร่บ้านพลเมืองเปนใจต่อสู้ข้าศึกพร้อมกัน เมืองล้านช้างก็จะทำไมไม่ได้ จึงโปรดให้เจ้าพระยาสุรสีห์คุมกองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นไปห้ามมิให้ชาวลานช้างมาเบียดเบียนเมืองเชียงใหม่ แลให้พาตัวพระยารามเดโชขึ้นไปเปนผู้ช่วยพระเจ้าเชียงใหม่รักษาบ้านเมืองต่อไปด้วย เจ้าพระยาสุรสีห์ยกขึ้นไปถึงเมืองเชียงแสน ให้ไปห้ามกองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุตซึ่งกำลังตั้งติดเมืองเชียงแสนอยู่นั้น ว่าอย่าให้เบียดเบียนเขตรแดนเมืองเชียงใหม่ต่อไป ด้วยพระเจ้าเชียงใหม่ได้มาอ่อนน้อมยอมเปนข้าขอบขัณฑสิมาของกรุงศรีอยุทธยาแล้ว พวกแม่ทัพนายกองกรุงศรีสัตนาคนหุตได้ทราบว่ากองทัพไทยยกขึ้นไป ก็เกรงพระเดชานุภาพสมเด็จพระนเรศวร พากันเลิกทัพกลับไป แต่ในเวลานั้นเมืองน่านแลเมืองฝางยังกระด้างกระเดื่อง ไม่อ่อนน้อมต่อพระเจ้าเชียงใหม่ เจ้าพระยาสุรสีห์จึงให้พระยารามเดโชเปนข้าหลวงรักษาการอยู่ที่เมืองเชียงแสน หวังจะเกลี้ยกล่อมหัวเมืองที่ยังกระด้างกระเดื่อง แลให้คอยระวังมิให้เกิดเหตุกับเมืองล้านช้างต่อไป แต่นั้นประเทศลานนาเชียงใหม่ก็มาเปนเมืองขึ้นของไทยเหมือนกับหัวเมืองมอญข้างฝ่ายใต้ แลยังมีเหตุเกิดขึ้นทางเมืองยะไข่อิกทาง ๑ เมืองยะไข่แต่เดิมเปนประเทศที่มีอิศระอยู่ทางชายทเลข้างทิศตวันตก ต้องเปนประเทศราชขึ้นแก่พม่ามาแต่ครั้งพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนอง เหมือนกับประเทศอื่นที่อยู่ใกล้ชิดกับพม่าในสมัยเดียวกัน ครั้นพระเจ้าหงษาวดีนันทบุเรงเสื่อมอำนาจลง พระเจ้ายะไข่ก็ตั้งแขงเมืองบ้าง เหตุการณ์ทั้งปวงที่กล่าวมานี้เกิดติดต่อกันมาในระหว่างปีมะแม พ.ศ. ๒๑๓๘ จนปีจอ พ.ศ. ๒๑๔๑ สมเด็จพระนเรศวรทรงพระราชดำริห์เห็นว่าเมืองหงษาวดีปั่นป่วนรวนเร เปนโอกาศอยู่แล้ว จึงดำรัสสั่งให้เตรียมการตีเมืองหงษาวดีอิกครั้ง ๑.
เรื่องตีเมืองหงษาวดีครั้งที่ ๒ พิเคราะห์ตามรายการที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดาร สมเด็จพระนเรศวรตั้งพระไทยจะพยายามตีเอาเมืองหงษาวดีให้จงได้ ไม่ยกจู่ไปเปนการทดลองเหมือนครั้งก่อน เริ่มต้นจึงให้เจ้าพระยาจักรีคุมกองทัพมีจำนวนพล ๑๕,๐๐๐ ยกไปเมื่อต้นปีกุญ พ.ศ. ๒๑๔๒ ไปตั้งอยู่ที่เมืองเมาะลำเลิง เกณฑ์ผู้คนพลเมืองมาทำนาในระดูฝนปีนั้น หาเสบียงอาหารไว้สำหรับกองทัพหลวง แลเกณฑ์กองทัพเมืองทวายจำนวนพล ๕,๐๐๐ ให้ไปตั้งต่อเรือสำหรับกองทัพที่เกาะพะรอกแขวงเมืองวังราว (ที่อังกฤษเรียกว่าเมืองอัมเฮีสต์ทุกวันนี้) ด้วยอิกแห่ง ๑ เข้าใจว่าเจ้าพระยาจักรีจะได้รับกระแสรับสั่งไปในการอิกอย่าง ๑ คือให้ไปเกลี้ยกล่อมหัวเมืองที่ยังมิได้มาขึ้นแก่ไทยให้มาอ่อนน้อมด้วย จึงปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า ครั้งนั้นเมื่อหัวเมืองขึ้นหงษาวดีทราบว่าสมเด็จพระนเรศวรจะเสด็จไปตีเมืองหงษาวดี ต่างก็พากันมาอ่อนน้อมเปนหลายเมือง เมืองที่มาอ่อนน้อมคราวนั้นที่สำคัญคือเมืองยะไข่๑ กับเมืองตองอู ทั้ง ๒ เมืองนี้เปนประเทศราชที่ตั้งแขงเมืองต่อพระเจ้าหงษาวดี มีศุภอักษรให้ทูตถือมาถวายสมเด็จพระนเรศวร รับว่าถ้าเสด็จไปตีเมืองหงษาวดีเมื่อใดจะยกกองทัพมาช่วย.
ตรงนี้จะต้องอธิบายถึงฐานะซองเมืองยะไข่กับเมืองตองอูก่อน ให้เข้าใจว่าเหตุใดเมืองทั้ง ๒ นั้นจึงมาเข้ากับสมเด็จพระนเรศวร ส่วนเมืองยะไข่เปนเมืองชายทเล พวกชาวเมืองชำนาญการใช้เรือ พระเจ้ายะไข่อยากได้หัวเมืองขึ้นหงษาวดีที่ต่อแดนกันทางชายทเลตวันตกไปเปนเมืองขึ้นของยะไข่ ครั้นทราบว่าสมเด็จพระนเรศวรจะเสด็จไปตีเมืองหงษาวดี จึงมาขอเข้ากับไทยประสงค์จะให้สมเด็จพระนเรศวรยอมยกหัวเมืองเหล่านั้นให้เปนบำเหน็จ ครั้นทูตยะไข่กลับไปจากกรุงศรีอยุทธยา พระเจ้ายะไข่ทราบว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงรับเปนไมตรีตามประสงค์ ก็ให้กองทัพเรือยกมายึดเมืองสิเรียม๒ อันอยู่ปากน้ำหงษาวดีไว้รอท่ากองทัพไทย ส่วนเมืองตองอูนั้น พระเจ้าตองอูเห็นว่าเมื่อสมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดีได้แล้ว คงแสวงหาผู้ที่จะครอบครองเมืองหงษาวดีต่อไป ถ้าใครได้เปนพระเจ้าหงษาวดีมีกำลังไทยอุดหนุน ก็จะได้เปนใหญ่ในเมืองพม่า พระเจ้าตองอูจึงมาเข้ากับสมเด็จพระนเรศวร ด้วยประสงค์จะเปนพระเจ้าหงษาวดีต่อไป แต่การที่ให้ทูตมานั้นลอบให้มา หาให้ทราบถึงพระเจ้าหงษาวดีไม่.
ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า ที่เมืองตองอูในเวลานั้นมืพระภิกษุองค์ ๑ ชื่อพระมหาเถรเสียมเพรียม จะเปนชีต้นอาจารย์ของพระเจ้าตองอูฤๅอย่างไรไม่ปรากฎ แต่เปนคนฉลาดในเล่ห์อุบาย เมื่อทราบว่าพระเจ้าตองอูให้มาอ่อนน้อมต่อไทย จึงเข้าไปทัดทานพระเจ้าตองอูว่า ที่จะหมายเปนใหญ่โดยไปพึ่งไทยนั้นเห็นจะไม่สมคิด ที่ไหนไทยจะเลี้ยงให้ถึงใจ เพราะกรุงหงษาวดีกับกรุงศรีอยุทธยารบพุ่งขับเคี่ยวกันมาก็ด้วยแข่งอำนาจกัน ถ้าพระนเรศวรได้เมืองหงษาวดีแล้วไหนจะยอมให้ใครมีอำนาจขึ้นเปนคู่แข่งอิก คงจะคิดตัดรอนทอนกำลังมิให้เมืองหงษาวดีกลับเปนอิศระได้อิกต่อไป อย่างดีก็จะได้เพียงประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุทธยาเหมือนอย่างที่ขึ้นพระเจ้าหงษาวดีอยู่เดี๋ยวนี้ เห็นว่าทางที่จะคิดเปนใหญ่ได้โดยลำพัง ไม่ต้องไปเปนเมืองขึ้นของไทยยังมีอยู่ แล้วพระมหาเถรเสียมเพรียมก็บอกอุบายให้พระเจ้าตองอู ๆ เห็นชอบด้วย จึงแต่งเหล่าคนสนิทให้ลอบลงมาเที่ยวยุยงพวกมอญที่ไทยเกณฑ์มาทำนา ประสงค์จะให้มอญเปนอริขึ้นกับไทยจนเกิดเหตุการณ์กีดกันมิให้สมเด็จพระนเรศวรยกไปยังเมืองหงษาวดีได้โดยสดวก แล้วแต่งทูตไปยังกองทัพเมืองยะไข่ซึ่งตั้งอยู่ณเมืองสิเรียมไปชวนพระเจ้ายะไข่ไห้ยกกองทัพมาติดเมืองหงษาวดี พระเจ้าตองอูจะยกกองทัพไปประหนึ่งว่าจะไปช่วยพระเจ้าหงษาวดี พอเข้าในเมืองได้แล้วจะหย่าทัพกับพระเจ้ายะไข่ แล้วยอมยกหัวเมืองทางชายทเลให้ตามแต่จะต้องการ พระเจ้ายะไข่เห็นว่าเข้ากับพระเจ้าตองอูจะได้กำไรมากกว่าที่รอจนกองทัพไทยยกไปจึงรับตกลง แล้วยกกองทัพขึ้นไปติดเมืองหงษาวดี เห็นจะราวเมื่อเดือน ๑๒ ปีกุญ ฝ่ายพระเจ้าตองอูก็ยกกองทัพกลับลงมา ว่าจะมาช่วยพระเจ้าหงษาวดี แต่พระเจ้าหงษาวดีระแวงไม่ไว้พระไทยพระเจ้าตองอู ไม่ยอมให้กองทัพเข้าไปในเมือง กองทัพเมืองตองอูกับเมืองยะไข่ก็ตั้งล้อมเมืองหงษาวดีไว้.
ฝ่ายพวกคนสนิทของพระเจ้าตองอูเมื่อลงมาถึงเมืองเมาะตมะ ก็แยกย้ายกันไปปะปนอยู่ในพวกพลเมือง เที่ยวหลอกลวงพวกมอญว่าไทยเกณฑ์มาทำนาพอเสร็จแล้วจะกวาดต้อนเอามาไว้ใช้ในกรุงศรีอยุทธยาให้หมด พวกราษฎรก็เกิดหวาดหวั่น บางพวกก็คิดจะหลบหนี หาทำการงานเปนปกติดังแต่ก่อนไม่ ครั้นพวกไทยที่เปนพนักงานตรวจตราเห็นมอญหลีกเลี่ยงหลบหนีสั่งให้จังกุม มอญก็เลยเข้าใจกันไปว่าจะจับเอามาเมืองไทยยิ่งตื่นเต้นกันมากขึ้น ทีหลังบางทีถึงต่อสู้ไม่ยอมให้ไทยจับกุม แล้วเลยสมคบกันเปนพวก ๆ ถ้าไทยไปน้อยตัวก็ช่วยกันทำร้าย เกิดการฆ่าฟันกันมากขึ้นทุกที เจ้าพระยาจักรีเห็นมอญกระด้างกระเดื่องขึ้น เข้าใจว่าเพราะมุลนายไม่กำราบปราบปรามกัน ให้เอามุลนายมาจองจำทำโทษ พวกมอญที่เปนชั้นมุลนายก็พากันหลบหนีไปเข้ากับพวกราษฎร จึงเลยเปนขบถขึ้น แต่พวกขบถไม่กล้าเข้ามารบพุ่งกองทัพใหญ่ เปนแต่เที่ยวแอบแฝงคอยทำร้ายอยู่ตามบ้านนอก กองทัพไทยก็ต้องเข้ามารวบรวมกันอยู่เปนกองใหญ่ จะแยกย้ายกันไปเที่ยวตรวจตราบังคับบัญชาการดังแต่ก่อนหาได้ไม่ พอข่าวที่พวกมอญกำเริบทราบเข้ามาถึงกรุงศรีอยุทธยา สมเด็จพระนเรศวรก็รีบเสด็จยกกองทัพหลวง มีจำนวนพล ๑๐๐,๐๐๐ ไปจากพระนครพร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ เมื่อเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เสด็จไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ครั้นถึงเมืองเมาะตมะต้องยับยั้งกองทัพปราบปรามพวกมอญขบถอยู่เกือบ ๓ เดือนจึงราบคาบ.
ฝ่ายเมืองหงษาวดีซึ่งพระเจ้ายะไข่แลพระเจ้าตองอูตั้งล้อมอยู่นั้น ทำนองข้างในเมืองความเห็นจะเกิดแตกต่างกันเปน ๒ พวก พวกหนึ่งเชื่อถือพระเจ้าตองอูว่าซื่อตรงต่อพระเจ้าหงษาวดี อิกพวกหนึ่งระแวงไม่ไว้ใจ ครั้นถูกล้อมเมืองอัตคัดเข้าปลาอาหารเข้า พวกไพร่บ้านพลเมืองที่อดอยากก็พากันหลบหนีออกไปพึ่งพระเจ้าตองอู ทีหลังมาถึงมีพวกข้าราชการ แลที่สุดถึงพระมหาอุปราชาเองก็ไปเข้ากับพระเจ้าตองอู แต่พระเจ้าหงษาวดียังขัดแขงอยู่ จนได้ข่าวไปถึงเมืองหงษาวดีว่าสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปถึงเมืองเมาะตมะ พระเจ้าหงษาวดีตกพระไทยกลัวสมเด็จพระนเรศวรเปนกำลัง มิรู้ที่จะทำอย่างอื่นประการใด ด้วยพระญาติวงศ์แลข้าราชการตลอดจนไพร่บ้านพลเมืองพากันไปเข้ากับพระเจ้าตองอูเสียเปนอันมากแล้ว จึงจำพระไทยอนุญาตให้พระเจ้าตองอูยกกองทัพเข้าไปในพระนคร แล้วมอบราชการบ้านเมืองให้พระเจ้าตองอูบังคับบัญชาต่างพระองค์แต่นั้นมา พระเจ้าตองอูจึงส่งราชธิดาของพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนององค์ ๑ กับช้างเผือกตัว ๑ ไปถวายพระเจ้ายะไข่ขอหย่าทัพตามที่ได้เข้าใจกันมาแต่ก่อน แลขอให้คอยกีดกันกองทัพสมเด็จพระนเรศวรตอบแทนที่ยกหัวเมืองชายทเลให้นั้นด้วย พระเจ้ายะไข่ก็ยอมหย่าทัพรับเปนไมตรีตามประสงค์ ครั้นพระเจ้าตองอูหย่าทัพกับพวกยะไข่แล้ว จึงเข้าไปทูลพระเจ้าหงษาวดีว่ากองทัพสมเด็จพระนเรศวรที่ยกมามีกำลังมากนัก จะต่อสู้ที่เมืองหงษาวดีเห็นจะไม่ไหว ขอเชิญเสด็จไปเมืองตองอู ตั้งต่อสู้ที่นั่นจึงจะพ้นมือข้าศึกได้ พระเจ้าตองอูทูลแล้วก็สั่งให้เก็บรวบรวมทรัพย์สมบัติ แลกวาดต้อนครอบครัวในเมืองหงษาวดีผ่อนส่งไปเมืองตองอูโดยลำดับมา ในพงษาวดารพม่าว่าพระเจ้าตองอูส่งพระมหาอุปราชาไปก่อน พอไปถึงไม่ช้านัดจินหน่องราชบุตรของพระเจ้าตองอูก็ลอบปลงพระชนม์พระมหาอุปราชาเสีย แล้วปกปิดหาให้ความทราบถึงพระเจ้าหงษาวดีไม่.
ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรเมื่อเสด็จยกกองทัพหลวงไปถึงเมืองเมาะตมะ ได้ทรงทราบว่ากองทัพเมืองยะไข่กับเมืองตองอูไปล้อมเมืองหงษาวดีอยู่ก็ออกแคลงพระไทย ด้วยพระเจ้ายะไข่กับพระเจ้าตองอูได้ทูลมาในศุภอักษรว่า ถ้ากองทัพหลวงยกไปตีเมืองหงษาวดีเมื่อใด จะยกกองทัพมาช่วยทั้ง ๒ เมือง เหตุไฉนจึงด่วนไปล้อมเมืองหงษาวดีเสียก่อนกองทัพหลวงไปถึง แด่เปนเวลากำลังต้องปราบปรามพวกมอญที่เปนขบถจึงทรงนิ่งอยู่ พอปราบปรามมอญเรียบรอยแล้วก็เสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปจากเมืองเมาะตมะในเดือน ๓ ปีกุญนั้น พอพระเจ้าตองอูทราบว่าสมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปเมืองหงษาวดี ก็พาพระเจ้าหงษาวดีออกจากพระนครไปเมื่อเดือน ๔ ขึ้น ๒ ค่ำ ทิ้งเมืองหงษาวดีให้แก่พวกยะไข่ ๆ ก็เขาค้นคว้าหาทรัพย์ที่เหลืออยู่ในเมืองหงษาวดี เที่ยวเก็บริบรื้อแย่งสิ่งของเครื่องประดับประดาแล้วเลยเผาปราสาทราชวังแลวัดวาอาราม ไฟไหม้ลุกลามไปแทบทั่วทั้งเมือง พอพระเจ้าตองอูพาพระเจ้าหงษาวดีหนีไปได้ ๘ วัน ถึงเดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จไปถึงเมืองหงษาวดี พวกยะไข่ก็พากันหลบหลีกหนีไป.
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปถึงเมืองหงษาวดีนั้น ไฟเห็นจะยังกำลังไหม้เมืองไม่ทันดับหมด ทอดพระเนตรเห็นเมืองเหลือแต่ซากโซมอยู่ก็ขัดพระไทย ให้กองทัพยับยั้งตั้งค่ายหลวงประทับอยู่ที่สวนหลวงใกล้พระธาตุมุตาวในเมืองหงษาวดี แล้วแต่งข้าหลวงถือหนังสือรับสั่งไปยังพระเจ้าตองอูว่า เดิมได้มาอ่อนน้อมแล้วสัญญาว่าถ้าเสด็จยกกองทัพหลวงไปตีเมืองหงษาวดีเมื่อใด พระเจ้าตองอูจะยกกองทัพมาช่วย กองทัพหลวงยกไปยังไม่ทันถึง พระเจ้าตองอูชิงมาตีเมืองหงษาวดี กวาดต้อนครอบครัวแลพาเอาพระเจ้าหงษาวดีไปเมืองตองอูดังนี้จะคิดเปนประการใด ถ้าหากว่าพระเจ้าตองอูซื่อตรงความสัตย์อยู่ดังได้ทูลไว้ก็ให้มาเฝ้า แลพาพระเจ้าหงษาวดีมาถวายตามประเพณี ถ้าไม่ทำดังนั้นจะยกกองทัพหลวงตามไปตีเอาเมืองตองอูให้จงได้ พระเจ้าตองอูได้ทราบหนังสือรับสั่ง จึงให้มังรัดอ่องเปนทูตเชิญพระธำมรงค์เพชรสามยอด อันเปนเครื่องราชูประโภคสำหรับพระเจ้าหงษาวดีมาถวายสมเด็จพระนเรศวร ทูลว่าพระเจ้าตองอูมีความสามิภักดิ์ซื่อตรงอยู่หาได้คิดคดอย่างไรไม่ เดี๋ยวนี้พระเจ้าหงษาวดีประชวรอยู่ แลพระเจ้าตองอูกำลังให้รวบรวมช้างม้าพาหนะที่ได้ไปจากเมืองหงษาวดีอยู่ด้วย ชอเชิญเสด็จพักอยู่ที่เมืองหงษาวดีก่อน พอพระเจ้าหงษาวดีหายประชวรเมื่อใด พระเจ้าตองอูจะพามาถวายพร้อมกับช้างม้าพาหนะที่ได้ไป สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงฟังก็รู้เท่าว่าพระเจ้าตองอูไม่สุจริตจริง ให้มาว่าวอนผ่อนผัดประสงค์จะหน่วงกองทัพหลวงไว้ พอให้มีเวลาตระเตรียมรักษาเมืองให้มั่นคงเท่านั้น จึงมีรับสั่งให้หานายทัพนายกองมาประชุมกัน แล้วทรงปฤกษาการที่จะยกไปตีเมืองตองอูต่อไป ด้วยเมืองตองอูตั้งอยู่ในลุ่มน้ำสะโตงข้างเหนือเมืองหงษาวดี ทางประมาณ ๖,๐๐๐ เส้น ถ้าจะเปรียบกับแผนที่เมืองไทย ก็ราวจากกรุงเทพฯ ไปถึงเมืองนครราชสิมา ทางที่ไปต้องข้ามเทือกเขาเปนทางกันดาร สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพไปครั้งนั้น ได้ทรงตระเตรียมการโดยรอบคอบก็จริง แต่มุ่งหมายเพียงจะตีเมืองหงษาวดีให้จงได้ หาได้คิดว่าจะต้องยกกองทัพหลวงขึ้นไปรบพุ่งถึงเมืองตองอูไม่ จึงเกิดเปนปัญหาถึงต้องปฤกษาหารือกัน มาคิดดูในเวลานี้ ถ้าหากความมุ่งหมายที่ยกกองทัพไป ประสงค์จะเอาเมืองหลวงของข้าศึก แลจะทำแก่ข้าศึกให้ได้ความยากแค้นแสนสาหัส การที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปตีเมืองหงษาวดีครั้งนั้น ก็สำเร็จพระราชประสงค์ทั้ง ๒ สถาน การที่มีไชยชนะขาดอยู่อย่างเดียวแต่ที่ไม่ได้ข้าศึกไว้ในอำนาจ แต่ความข้อนี้เปนข้อสำคัญ เพราะถ้าไม่ได้ทำข้าศึกให้ยอมอยู่ในอำนาจได้ ฤๅยังไม่ทำลายล้างข้าศึกเสียได้ตราบใด ถึงได้บ้านเมืองของข้าศึกไว้ในมือก็ไม่เปนประโยชน์มั่นคง ด้วยข้าศึกคงพยายามมาทำร้ายไม่สิ้นสุดการสงครามได้ แลข้อสำคัญยังมีอิกข้อ ๑ ที่พระเจ้าตองอูกันเปนแต่ประเทศราชบังอาจมาชิงเอาเมืองหงษาวดีไปได้ก่อน ข้อนี้คงเปนเหตุให้แค้นเคืองตลอดจนถึงนายทัพนายกอง จึงปฤกษาตกลงกันว่าจำจะต้องยกกองทัพไปตีเมืองตองอูในครั้งนั้นด้วย.
ฝ่ายพระเจ้ายะไข่เมื่อหย่าทัพกับพระเจ้าตองอูแล้ว๓ ถอยทัพกลับลงไปตั้งอยู่ที่เมืองสิเรียม ให้แต่งกองโจรซุ่มซ่อนอยู่คอยทำการที่เมืองหงษาวดีตามที่ได้รับไว้กับพระเจ้าตองอู พวกกองโจรนี้เองที่เผาเมืองหงษาวดีดังกล่าวมาแล้ว ครั้นเมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปถึงเมืองหงษาวดี พระเจ้ายะไข่จึงให้ขุนนางผู้ใหญ่เปนทูตขึ้นไปเฝ้ากราบทูลชี้แจงว่า พระเจ้ายะไข่ยกกองทัพมาช่วยพระราชสงครามตามที่ได้รับไว้ เมื่อมาถึงทราบว่าพระเจ้าตองอูยกกองทัพมาตีเมืองหงษาวดี สำคัญว่าได้รับกระแสรับสั่งมา จึงยกกองทัพขึ้นไปหมายว่าจะช่วย ต่อภายหลังจึงได้ทราบว่าพระเจ้าตองอูคิดเปนกลอุบายจะชิงเอาเมืองหงษาวดีเอง แต่พวกเมืองหงษาวดีหลงเชื่อถือ ยอมให้พระเจ้าตองอูเข้าไปในเมือง พระเจ้ายะไข่มิรู้ที่จะทำประการใดจึงถอยลงไปรอกองทัพหลวงอยู่ที่เมืองสิเรียม๔ เดี๋ยวนี้ได้เตรียมพลไว้ ๕,๐๐๐ จะให้กองทัพเมืองยะไข่เข้ากระบวนเสด็จอย่างไรก็แล้วแต่จะโปรด แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงแคลงพระไทยด้วยพระเจ้ายะไข่มิได้มาเฝ้าเอง แลทำนองจะได้ทรงทราบกิติศัพท์ว่าพวกยะไข่เผาเมืองหงษาวดี จึงรับสั่งตอบไปว่า กระบวนทัพหลวงมีรี้พลพอแก่การอยู่แล้ว อย่าให้กองทัพพระเจ้ายะไข่ยกมาเลย.
ครั้นทูตพระเจ้ายะไข่กลับไปแล้ว จึงโปรดให้กองทัพพระยาจันทรบุรีอยู่รักษาเมืองหงษาวดี แล้วเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปเมืองตองอู หนทางที่ยกไปเปนทางกันดาร ด้วยเมืองตองอูมีภูเขาเปนเขตรคันมั่นคง แต่พระเจ้าตองอูมิได้มาต่อสู้ตามทาง คิดแต่จะรักษาเมืองมั่นไว้อย่างเดียว ช้างม้าพาหนะที่ได้ไปจากเมืองหงษาวดีจะเอาไว้ในเมืองไม่ได้ ก็ให้เอาไปซุ่มซ่อนเสียให้ห่างไกล สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพหลวงไปถึงเมืองตองอูก็ให้ล้อมเมืองไว้ แลครั้งนั้นพระเจ้าเชียงใหม่ให้กองทัพไปช่วยการพระราชสงคราม จึงโปรดให้พระยาแสนหลวง พระยานครคุมกองทัพเมืองเชียงใหม่ตั้งข้างด้านใต้ กับกองทัพพระยาศรีสุธรรม พระยาท้ายน้ำ แลหลวงจ่าแสนบดี ขุนราชนิกูล (นอกราชการ) กองทัพหลวงก็ตั้งอยู่ทางด้านนี้ ด้านตวันออกให้กองทัพพระยาเพ็ชรบูรณ์ พระยาสุพรรณบุรี กับหลวงมหาอำมาตย์ไปตั้ง ส่วนด้านเหนือนั้นให้กองทัพเจ้าพระยาสุรสีห์ แลพระยากำแพงเพ็ชรไปตั้ง ข้างทิศตวันตกให้กองทัพพระยานครราชสิมา พระสิงคบุรี ขุนอินทรภิบาล แสนภูมิโลกาเพ็ชร๕ไปตั้ง ให้เจ้าพระยาสุรสีห์เปนผู้ตรวจตราน่าที่ทั้งปวงทั่วไป แลเมืองตองอูนั้นคูเมืองทั้งกว้างทั้งฦกมาก เมื่อตั้งล้อมเมืองแล้วจึงมีรับสั่งให้กองทัพขุดเหมืองไขน้ำในคูเมืองให้ไหลไปลงแม่น้ำเสีย เหมืองนั้นยังปรากฎอยู่ พม่าเรียกว่า “เหมืองสยาม” จนตราบเท่าทุกวันนี้ ครั้นไขน้ำในคูเมืองออกหมดแล้วก็ให้กองทัพยกเข้าปล้นเมือง พวกชาวเมืองต่อสู้ป้องกันเมืองเปนสามารถ ไทยจะเข้าเมืองไม่ได้ก็ต้องถอยออกมา แต่เข้าปล้นเมืองเปนหลายครั้งหาได้เมืองไม่ ครั้นนานวันเข้าก็เกิดอัตคัดเสบียงอาหารในกองทัพ ด้วยแต่เดิมไม่ได้กะการว่าจะขึ้นไปตีถึงเมืองตองอู ครั้นยกขึ้นไปการลำเลียงเสบียงอาหารต้องจัดโดยปัจจุบันทันด่วน หนทางก็ไกล ซ้ำพวกกองโจรเมืองยะไข่เที่ยวซุ่มซ่อนคอยตีตัดลำเลียงด้วยอิกอย่าง ๑ เสบียงอาหารก็ไม่พอใช้ในกองทัพหลวง ให้ออกลาดหาเสบียงอาหารในท้องที่ขึ้นไปจนแดนเมืองอังวะ ไปได้ช้างพลายพังของพระเจ้าหงษาวดี ที่พระเจ้าตองอูให้เอาไปซุ่มซ่อนมาเปนอันมาก แต่หาได้เสบียงอาหารมาพอเลี้ยงกองทัพไม่ กองทัพไทยก็อ่อนกำลังลง สมเด็จพระนเรศวรทรงพยายามตีเมืองตองอูอยู่ ๒ เดือน จนถึงกลางเดือน ๖ ปีจอ พ.ศ. ๒๑๔๓ เห็นรี้พลอดอยากซูบผอมถึงล้มตายก็มี ทั้งฝนก็ตกชุกลงมา จึงมีรับสั่งให้เลิกทัพกลับมาจากเมืองตองอู เมื่อเดือน ๖ แรม ๖ ค่ำ ฝ่ายข้างพระเจ้าตองอูก็ครั่นคร้ามไม่กล้ายกกองทัพออกติดตาม เพราะที่ในเมืองตองอูก็อดอยากอิดโรยอยู่มากเหมือนกัน ครั้งนั้นจึงเหมือนกับหย่าทัพถอยมาได้โดยสดวก เสด็จกลับมาทางกลอกหม้อ ครั้นมาถึงตำบลคับแคจึงโปรดให้สมเด็จพระเอกาทศรถแบ่งกองทัพยกแยกทางมาเมืองเชียงใหม่ เพื่อจะระงับเหตุวิวาทซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างพระเจ้าเชียงใหม่กับพระยารามเดโช แล้วสมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จกลับมาเมืองเมาะตมะ ทรงตั้งพระยาทะละ๖ เจ้าเมืองมอญผู้มีบำเหน็จความชอบ เปนที่ไว้วางพระราชหฤไทย ให้เปนเจ้าเมืองเมาะตมะ ว่ากล่าวหัวเมืองมอญทั้งปวงต่างพระเนตรพระกรรณ แล้วเสด็จยกกองทัพหลวงกลับคืนมาพระนคร.
ฝ่ายสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จยกกองทัพไปถึงเมืองเถิน ตั้งพลับพลาประทับอยู่ที่นั้น แล้วให้มีรับสั่งไปยังพระเจ้าเชียงใหม่แลเจ้าเมืองใหญ่น้อยในแว่นแคว้นลานนาให้มาเฝ้าที่เมืองเถิน จะทรงจัดการระงับวิวาทบาดหมางให้เรียบร้อย.
อันเหตุวิวาทที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น เนื่องมาแต่ครั้งเจ้าพระยาสุรสีห์ให้พระยารามเดโชเปนข้าหลวงอยู่ที่เมืองเชียงแสน พระยารามเดโชเปนคนในพื้นเมือง มีผู้คนนับถือมาก พวกเจ้าเมืองที่กระด้างกระเดื่องต่อพระเจ้าเชียงใหม่ มีพระยาน่าน แลพระยาฝางเปนต้น ตลอดจนพวกท้าวแสนไพร่บ้านพลเมือง เมื่อทราบว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงตั้งพระยารามเดโชเปนข้าหลวงขึ้นไปเกลี้ยกล่อม ต่างก็พากันนิยมยินดีมาเข้ากับพระยารามเดโชเปนอันมาก แต่พระยารามเดโชถือตัวว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงชุบเลี้ยงให้เปนขุนนางผู้ใหญ่ ไม่ได้เคยเปนข้าพม่า ก็ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าเชียงใหม่มังนรธาช่อ อาณาเขตรลานนาจึงแตกเปน ๒ ฝ่าย ฝ่ายเหนือขึ้นต่อพระยารามเดโช ฝ่ายใต้ขึ้นต่อพระเจ้าเชียงใหม่ คุมเชิงกันอยู่ พระเจ้าเชียงใหม่ทูลร้องทุกข์ไปยังสมเด็จพระนเรศวร จึงโปรดให้สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จไประงับให้เรียบร้อย ทำนองการที่เมืองเชียงใหม่เวลานั้นจะคล้ายกับครั้งเมืองพิศณุโลกแตกกันกับกรุงศรีอยุทธยา เมื่อปลายแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ คิดดูในเวลานี้ถ้าหากสมเด็จพระนเรศวรหมายแต่จะได้เหมือนกับพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนอง ให้กองทัพกรุง ฯ ขึ้นไปช่วยพระยารามเดโชก็ดี ฤๅแม้แต่ทรงเพิกเฉยเสียก็ดี พระเจ้าเชียงใหม่มังนรราช่อก็คงจะอยู่เมืองเชียงใหม่ไม่ได้ จะเปนช่องที่จะทรงตั้งเจ้านายในพระราชวงศ์ไปเปนพระเจ้าเชียงใหม่ได้ในครั้งนั้น เหมือนกับที่พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองตั้งมังนรธาช่อราชบุตรมาเปนพระเจ้าเชียงใหม่ไม่ผิดกัน แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงถือราชธรรมเปนใหญ่ ด้วยพระเจ้าเชียงใหม่ได้มาอ่อนน้อมโดยอำเภอใจ แลรักษาความสัตย์ซื่อตรงตลอดมามิได้คิดคด ทรงพระราชดำริห์เห็นว่าจำจะต้องซื่อตรงตอบ จึงตั้งพระหฤไทยจะอุดหนุนพระเจ้าเชียงใหม่ให้ได้ครองเมืองต่อไป.
ฝ่ายเจ้าเมืองใหญ่น้อยในแว่นแคว้นลานนา เมื่อได้ทราบหนังสือรับสั่งสมเด็จพระเอกาทศรถ ต่างก็เกรงพระเดชานุภาพพากันลงมาเฝ้าถวายต้นไม้ทองเงิน แลเครื่องราชบรรณาการถึงเมืองเถินทุกเมือง แต่พระเจ้าเชียงใหม่นั้นเปนแต่แต่งให้บุตรคุมต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการมาถวายต่างตัว หาลงมาเองไม่ ด้วยยังไม่สิ้นทิษฐิ ถือว่าเปนลูกของพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนอง ซึ่งคนทั้งหลายเรียกว่าพระเจ้าชนะสิบทิศ เกรงจะต้องถวายบังคมสมเด็จพระเอกาทศรถต่อหน้าธารกำนัน คิดลอายจึงบิดพลิ้วเสีย ครั้นหัวเมืองทั้งปวงมาพร้อมกัน ยังขาดแต่พระเจ้าเชียงใหม่ สมเด็จพระเอกาทศรถทรงคาดเห็นเหตุ จึงเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปยังเมืองลำพูน แล้วให้ข้าหลวงเข้าไปบอกแก่พระเจ้าเชียงใหม่ว่า สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าหรงพระกรุณาจะทำนุบำรุงพระเจ้าเชียงใหม่ จึงโปรดให้เสด็จขึ้นไประงับวิวาท เจ้าเมืองใหญ่น้อยทั้งปวงก็มาเฝ้าอ่อนน้อมยอมตามพระราชประสงค์หมดแล้ว เหตุใดพระเจ้าเชียงใหม่จึงยังไม่ออกมาเฝ้า ฤๅจะให้เสด็จกลับคืนพระนคร ปล่อยเมืองเชียงใหม่ให้ยุ่งอยู่อย่างแต่ก่อนก็ให้ว่ามา พระเจ้าเชียงใหม่ได้แจ้งกระแสรับสั่งก็มีความเกรงกลัวสิ้นทิษฐิ มาเฝ้าถวายบังคมที่เมืองลำพูน แล้วถวายพระทุลองราชบุตรให้ลงมาทำราชการในกรุงศรีอยุทธยา แลในพงษาวดารพม่าว่าถวายธิดาอิกองค์ ๑ ด้วย สมเด็จพระเอกาทศรถทรงเห็นว่าพระเจ้าเชียงใหม่สิ้นทิษฐิแล้ว จึงมีรับสั่งให้ตั้งการพิธีที่พระมหาธาตุหริภุญไชย ให้พระเจ้าเชียงใหม่ถือน้ำกระทำสัตย์ต่อกรุงศรีอยุทธยา แล้วให้เจ้าเมืองใหญ่น้อยทั้งปวงถือน้ำกระทำสัตย์ต่อพระเจ้าเชียงใหม่ ยอมฟังบังคับบัญชาฉันผู้น้อยผู้ใหญ่ตามประเพณีแต่ก่อนมา ครั้นทรงระงับวิวาทแลจัดวางการทั้งปวงเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระเอกาทศรถก็เสด็จกลับคืนมายังพระนคร.