สงครามครั้งที่ ๒๓ คราวพม่าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๐๗

เมื่อพระเจ้าอลองพญาประชวรหนัก เลิกทัพกลับไปจากกรุงศรีอยุทธยา มังระราชบุตรที่ ๒ เปนผู้บัญชาการทัพ ให้มังฆ้องนรธาคุมทัพหลังระวังคอยต่อสู้กองทัพไทยที่จะไปติดตาม แล้วรีบถอยกองทัพหลวงกลับไป ไปถึงตำบลเมาะกะโลกในแขวงเมืองตากเมื่อเดือน ๖ แรม ๑๒ ค่ำ พระเจ้าอลองพญาก็สิ้นพระชนม์ พระชัณษาได้ ๔๕ ปี แต่ราชาภิเศกเสวยราชย์มารวมเวลาได้ ๘ ปี มังระราชบุตรเชิญพระศพพระเจ้าอลองพญาไปถึงบ้านแม่ละเมาให้หยุดทัพ ๓ วัน ประชุมกันปลงพระศพเสร็จแล้ว เชิญพระอัฐิธาตุกลับไปยังเมืองรัตนสิงค์ มังลอกราชบุตรองค์ใหญ่ซึ่งเปนพระมหาอุปราชได้รับราชสมบัติ ราชาภิเศกเมื่อเดือน ๗ ปีมโรง พ.ศ. ๒๓๐๓ ทรงพระนามว่า พระเจ้าปวรมหาธรรมราชา เสวยราชย์ณเมืองรัตนสิงค์ เปนรัชกาลที่ ๒ ในราชวงศ์อลองพญาต่อมา.

ครั้งนั้นมังฆ้องนรธา ซึ่งคุมกองทัพหลังครั้งถอยทัพกลับไปจากเมืองไทย เห็นว่าพระเจ้าอลองพญาสิ้นพระชนม์แล้ว ก็มีใจกำเริบด้วยถือตัวว่ามีฝีมือเข้มแขงในการทัพศึก คิดจะตั้งตัวเปนใหญ่ในเมืองพม่า พอคุมกองทัพกลับเข้าในแดนพม่า มังฆ้องนรธาก็ยกกองทัพของตนแยกทางตรงไปยึดเมืองอังวะไว้ แล้วตั้งแขงเมืองไม่ยอมขึ้นต่อพระเจ้ามังลอก ฝ่ายสะโดะมหาสุริยะอุจนาอาว์ของพระเจ้ามังลอก ซึ่งพระเจ้าอลองพญาตั้งให้เปนเจ้าเมืองภุกามก็ตั้งแขงเมืองขึ้นด้วยอิกแห่ง ๑ แลตละปั้นน้องพระยาหงษาวดีซึ่งหนีรอดไปได้เมื่อครั้งพระเจ้าอลองพญาตีเมืองหงษาวดี ตามสมิงทอมาอาไศรยอยู่กับพระยาเชียงใหม่ ก็คุมกำลังเข้าไปตีหัวเมืองมอญอิกทาง ๑ ทั้งพวกกระแซเมืองมณีบุระพอได้ทราบว่าพระเจ้าอลองพญาสิ้นพระชนม์ก็กลับกำเริบขึ้นด้วย เมืองพม่ารามัญจึงกลับเปนจลาจล แต่ราชบุตรของพระเจ้าอลองพญาเข้มแขงในการศึก พวกสัตรูสู้ไม่ได้ ถึงกระนั้นพระเจ้ามังลอกก็ต้องปราบปรามสัตรูอยู่ถึง ๒ ปี บ้านเมืองจึงราบคาบเปนปรกติ.

ฝ่ายกรุงศรีอยุทธยา เมื่อพม่าเลิกทัพกลับไปแล้ว มีความปรากฎในจดหมายเหตุของฝรั่ง ยุติต้องกับในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า รู้สึกความที่ได้ประมาทมาแต่ก่อน ก็ลงมือซ่อมแปลงป้อมปราการ แลสำรวจตรวจตราหาเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์มาเพิ่มเติมสำหรับรักษาพระนครมิได้ละเลย แต่ทว่าไม่ได้รักษาความสามัคคีในข้าราชการไว้ได้ยืดยาว ประหนึ่งว่าเวลาไภยจะถึงตัวก็สมัคพรักพร้อมกันไปคราวหนึ่ง ครั้นพ้นไภยก็แตกต่างร้าวฉานกันไปใหม่ คงเปนด้วยข่าวปรากฎเข้ามาถึงกรุง ฯ ว่าทางเมืองพม่า พอพระเจ้าอลองพญาสิ้นพระชนม์แล้ว ก็เกิดจลาจลแตกกันเปนก๊กเปนเหล่า รบพุ่งชิงบ้านเมืองกันเหมือนอย่างแต่ก่อน ครั้นความรู้สึกมีขึ้นทางในกรุง ฯ ว่าพม่าเห็นจะไม่มาทำไมได้อิกแล้ว พวกข้าราชการที่ไม่เข้ากับพระเจ้าอุทุมพรก็คิดอ่านจะหาอำนาจดังกล่าว พากันยุยงส่งเสริมพระเจ้าเอกทัศให้เกิดรังเกียจกินแหนงพระเจ้าอุทุมพร มีปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า วันหนึ่งเวลากลางคืนสมเด็จพระเจ้าเอกทัศให้มาเชิญสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรไปเฝ้า ครั้นเสด็จไปถึงทอดพระเนตรเห็นสมเด็จพระเจ้าเอกทัศถอดพระแสงดาบวางพาดไว้บนพระเพลา พระเจ้าอุทุมพรก็เข้าพระไทยว่าสมเด็จพระเชษฐาทรงรังเกียจเสียแล้ว ถ้าขืนอยู่ไปก็จะต้องถึงรบพุ่งฆ่าฟันกันเอง จึงเสด็จออกจากพระราชวังไปประทับณตำหนักบ้านคำหยาด แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ พอทรงจัดการตระเตรียมพร้อมแล้วก็กลับทรงผนวชที่วัดโพธิ์ทองอันอยู่ใกล้ตำหนักนั้น แล้วเสด็จมาประทับอยู่วัดประดู่โรงธรรมอย่างแต่ก่อน ครั้งนั้นข้าราชการที่เข้ากับพระเจ้าอุทุมพรก็เห็นจะตามเสด็จออกบวชเสียด้วยเปนอันมาก ราชการบ้านเมืองก็กลับหันลงหาทางเสื่อมทรามตามอย่างเดิม แต่รอดด้วยพม่ากำลังรบพุ่งปราบปรามกันเองวุ่นวายอยู่ ทางเมืองไทยจึงได้สงบศึกมาหลายปี.

ในเวลาที่เมืองพม่าเกิดรบพุ่งกันวุ่นวายอยู่นั้น มีทวายเปนขุนนางเก่าคน ๑ ชื่อหุยตองจา เห็นพม่าเกิดรบกันเองได้ท่วงทีก็คุมสมัคพรรคพวกเข้าชิงเมืองทวายจากเจ้าเมืองซึ่งพระเจ้าอลองพญาตั้งไว้ได้สมประสงค์ ครั้นต่อมารู้ว่าพระเจ้ามังลอกราชบุตรของพระเจ้าอลองพญาปราบปรามบ้านเมืองราบคาบได้ดังแต่ก่อน หุยตองจาก็ร้อนตัว จึงแต่งทูตให้คุมต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการเข้ามายังกรุงศรีอยุทธยา ว่าจะขอเปนข้าขอบขัณฑสิมาเอาพระบารมีเปนที่พึ่งต่อไป สมเด็จพระเจ้าเอกทัศมีรับสั่งให้มุขมนตรีปฤกษากันว่าจะควรรับเมืองทวายไว้เปนเมืองขึ้นฤๅไม่ ข้าราชการมีความเห็นแตกต่างกันเปน ๒ พวก พวก ๑ เห็นว่าหุยตองจาเปนขบถต่อพม่า รู้ว่าพม่าจะลงมาปราบปรามจึงมาขอพึ่งพระบารมี หวังจะให้ไทยไปรบพม่าให้แก่ตัว หาได้มีความสามิภักดิ์โดยสุจริตไม่ เห็นว่าไม่ควรจะรับเมืองทวายไว้ตามความประสงค์ของหุยตองจา ข้าราชการอิกพวก ๑ เห็นว่าเมืองทวายแต่ก่อนก็เคยเปนเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุทธยา พม่ามาชิงเอาไป เมื่อมาขอสามิภักดิ์เช่นนี้ ถ้าไม่รับไว้ก็เหมือนขลาด รู้ไปถึงไหนก็จะเสื่อมเสียพระเกียรติยศ พวกที่เห็นว่าควรรับเมืองทวายมีมากกว่าพวกที่เห็นไม่ควรรับ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศจึงให้รับเครื่องบรรณาการ แล้วพระราชทานบำเหน็จตั้งแต่งหุยตองจาให้มียศศักดิ์ตามประเพณีแต่ก่อนมา.

ฝ่ายเมืองพม่า เมื่อพระเจ้ามังลอกปราบปรามราชสัตรูภายในราบคาบแล้ว ขัดเคืองพระยาเชียงใหม่ว่าให้กำลังตละปั้นมาตีเมืองมอญ จึงให้เกณฑ์กองทัพมีจำนวนพล ๗,๕๐๐ ให้อภัยคามณีเปนแม่ทัพ มังละศิริเปนปลัดทัพ ยกมาตีเมืองเชียงใหม่เมื่อปีมเสง พ.ศ. ๒๓๐๔ พวกเจ้าเมืองในแว่นแคว้นลานนาได้ข่าวว่าพม่ายกกองทัพมาก็พากันตกใจ พระยาลำพูน ทำนองจะเปนผู้ที่ได้ไปช่วยเหลือตละปั้นเองร้อนตัวมาก พาครอบครัวอพยบหนีมายังเมืองพิไชย บอกว่าจะขอเข้ามาพึ่งพระบารมีอยู่ในกรุงศรีอยุทธยา พระเจ้าเอกทัศก็โปรดให้รับเข้ามา แล้วพระราชทานที่ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ณตำบลบางลางข้างเหนือพระนคร ฝ่ายพระยาจันทรเจ้าเมืองเชียงใหม่ซึ่งเปนบ้องพระยาเชียงใหม่องค์คำคนก่อนก็ให้ทูตถือศุภอักษรคุมเครื่องราชบรรณาการลงมาถวายสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ขอเปนข้าขอบขัณฑสิมา ขอพระราชทานกองทัพขึ้นไปรักษาเมืองเชียงใหม่ ขณะนั้นที่ในกรุง ฯ ทำนองจะยังประมาทพม่าอยู่ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศจึงรับเครื่องบรรณาการของพระยาเชียงใหม่ แล้วมีรับสั่งให้เกณฑ์ทัพหัวเมืองเหนือเปนจำนวนพล ๕,๐๐๐ ให้เจ้าพระยาพิศณุโลกเปนแม่ทัพยกขึ้นไปช่วยรักษาเมืองเชียงใหม่ กองทัพไทยยกไปถึงเมืองตาก ได้ความว่าเมืองเชียงใหม่เสียแก่พม่าแล้ว ก็เลิกทัพกลับมา หาได้ขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่ไม่ อภัยคามณีตีได้เมืองเชียงใหม่ จับได้พระยาจันทรเจ้าเมืองกับทั้งสมิงทอแล้ว จึงแบ่งทหารให้รักษาเมืองพอสมควร แล้วเลิกทัพกลับไปเมืองพม่า พระเจ้ามังลอกปูนบำเหน็จอภัยคามณีให้มียศเปนมยิหวุ่น กลับมาเปนเจ้าเมืองเชียงใหม่ แลเลื่อนยศมังละศิริปลัดทัพเปนที่มังมหานรธา มีตำแหน่งในกรมทหารม้า ตามสมควรแก่ความชอบที่มีในครั้งนั้นทั้ง ๒ คน พระเจ้ามังลอกเสวยราชย์มาได้ ๔ ปี ถึงปีมแม พ.ศ. ๒๓๐๖ ประชวรสิ้นพระชนม์เมื่อเดือนอ้ายแรม ๙ ค่ำ พระชัณษาได้ ๒๙ ปี มีราชบุตรชื่อมังหม่อง แต่ยังเยาว์อยู่ มังระราชอนุชาซึ่งเปนโอรสที่ ๒ ของพระเจ้าอลองพญาขึ้นเสวยราชย์ ราชาภิเศกทรงพระนามว่าพระเจ้าศิริสุธรรมมหาราชาธิบดี เปนรัชกาลที่ ๓ ในราชวงศ์อลองพญาต่อมา.

เมื่อพระเจ้ามังระเสวยราชย์ สัตรูภายในราบคาบหมดแล้ว แต่พระเจ้ามังระนิยมในการทำศึกสงคราม เพราะได้เคยรบพุ่งมาแต่ครั้งพระเจ้าอลองพญา จึงคิดอ่านจะแผ่อำนาจปราบปรามต่างประเทศที่ใกล้เคียงต่อไป พอราชาภิเศกแล้วไม่ช้ายกกองทัพหลวงไปตีเมืองมณีบุระก็ได้สมประสงค์ จึงย้ายราชธานีกลับมาตั้งที่เมืองอังวะอย่างเดิม แลครั้งนั้นอภัยคามณีเจ้าเมืองเชียงใหม่ไปเฝ้าพระเจ้ามังระ อยู่ข้างหลังพวกท้าวพระยาตามหัวเมืองในลานนาได้กำลังเมืองหลวงพระบางมาช่วย พากันเปนขบถต่อพม่า พระเจ้ามังระทราบความจึงให้อภัยคามณีรีบคุมกองทัพกลับมากอง ๑ แล้วให้เกณฑ์กองทัพให้มีจำนวนพล ๒๐,๐๐๐ ให้เนเมียวสีหบดีเปนแม่ทัพยกตามมาอิกทัพ ๑ เมื่อปลายปีมะแม พ.ศ. ๒๓๐๖ ให้มาปราบปรามหัวเมืองในแว่นแคว้นลานนา แล้วให้เลยไปตีเมืองหลวงพระบางด้วย ต่อมาพระเจ้ามังระปรารภถึงเมืองทวาย ซึ่งหุยตองจาเปนขบถมาแต่แผ่นดินพระเจ้ามังลอกยังหาได้ปราบปรามไม่ ถึงปีวอก พ.ศ. ๒๓๐๗ จึงให้เกณฑ์กองทัพอิกทัพ ๑ ให้มังมหานรธาผู้ที่มีความชอบครั้งเปนปลัดทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ในแผ่นดินก่อนเปนแม่ทัพลงมาตีเมืองทวายอิกทาง ๑.

เมื่อพม่าลงมาตีเมืองทวายคราวนี้ เมืองตะนาวศรีแลเมืองมฤทยังอยู่ในปกครองของไทย เพราะเมื่อพม่าตีได้ในคราวพระเจ้าอลองพญามาล้อมกรุง ฯ เปนแต่เก็บริบทรัพย์จับคนเปนเชลย แล้วก็ทิ้งเมืองไป หาได้รักษาเอาไว้เปนของพม่าไม่ ไทยจึงกลับไปครอบครองดังเก่า แลเมื่อครั้งพระเจ้าอลองพญาเข้ามาล้อมกรุง ฯ นั้น กิติศัพท์เลื่องฦๅไปถึงต่างประเทศว่ากรุงศรีอยุทธยาเสียแก่ข้าศึก กรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งถูกเนรเทศไปอยู่ลังกาทวีปทราบความ จึงโดยสานเรือกำปั่นกลับมาขึ้นที่เมืองมฤท หมายจะมาคิดอ่านกู้บ้านเมือง แลทำนองเมื่อกลับมาจะยังทรงผนวชเปนสมณะอยู่ เมื่อความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าเอกทัศจึงมีรับสั่งให้ข้าหลวงลงไปคุมกรมหมื่นเทพพิพิธไว้ที่เมืองมฤท.

กองทัพมังมหานรธา ยกไปถึงเมืองทวายเมื่อเดือนอ้ายปีวอก พ.ศ. ๒๓๐๗ หุยตองจาต่อสู้เหลือกำลังก็พาครอบครัวลงเรือหนีอาไศรยอยู่เมืองมฤท มังมหานรธาให้มาขอตัวหุยตองจา ไทยไม่ยอมส่งให้ มังมหานรธาจึงให้กองทัพเรือ ๖๐ ลำยกลงมาตีเมืองมฤท ก็ได้เมืองโดยง่าย หุยตองจากับกรมหมื่นเทพพิพิธพากันลงเรือหนีพม่ามายังเมืองกระบุรี มังมหานรธาจึงให้กองทัพน่าติดตามลงมา ส่วนมังมหานรธาขึ้นไปตีเมืองตะนาวศรีได้อิกเมือง ๑ แล้วตั้งรอทัพน่าอยู่ที่เมืองตะนาวศรีนั้น ฝ่ายกองทัพพม่าที่มาติดตามหุยตองจา มาถึงเมืองไหนก็ให้จับผู้คนเอาไปเปนเชลย แล้วก็ริบเอาทรัพย์สมบัติแบ่งปันกัน แลเผาบ้านเรือนเสียตลอดทางที่มา ด้วยครั้งนั้นเจ้าเมืองกรมการไม่มีกำลังจะต่อสู้ พม่าจึงตีได้ตั้งแต่เมืองมลิวัน เมืองกระเมืองระนอง ตลอดมาจนเมืองชุมพร เมืองไชยา แล้วย้อนกลับขึ้นมาตีเมืองปทิว เมืองกำเนิดนพคุณ แลเมืองคลองวาฬ เมืองกุย เมืองปราณ ตลอดมาจนถึงเมืองเพ็ชรบุรี แต่กองทัพพระยาพิพัฒน์โกษากับพระยาตากสินยกลงไปจากกรุงศรีอยุทธยา ไปถึงทันรักษาเมืองเพชรบุรีไว้ได้ พม่าที่ยกมาเปนแต่กองโจร ครั้นมาพบกองทัพสกัดอยู่ก็ถอยหนีกลับไปเมืองตะนาวศรีทางด่านสิงขร.

กรมหมื่นเทพพิพิธกับหุยตองจาเจ้าเมืองทวายที่หนีพม่ามาครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าเอกทัศมีรับสั่งให้เอากรมหมื่นเทพพิพิธไปคุมไว้ที่เมืองจันทบุรี ส่วนหุยตองจานั้นโปรดให้คุมไว้ที่เมืองชลบุรี จะยกความผิดหุยตองจาว่าอย่างไรหาปรากฎไม่.

  1. ๑. นัยหนึ่งว่าเชิญพระศพไปปลงที่เมืองรัตนสิงค์.

  2. ๒. ตำหนักนี้เปนตำหนักตึก ยังปรากฎอยู่ที่บ้านคำหยาด แขวงจังหวัดอ่างทองจนทุกวันนี้.

  3. ๓. อภัยคามณีนี้ ทีหลังได้รบกับไทยหลายคราวจนจับได้เมื่อในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร หนังสือเก่าเรียกอาปรกามณีบ้าง มยิหวุ่นบ้าง โปมะยุง่วนบ้าง.

  4. ๔. พระเจ้าอลองพญามีราชบุตร ๗ องค์ ในพงษาวดารพม่าว่า พระเจ้าอลองพญาได้สั่งไว้ให้ราชบุตรรับราชสมบัติต่อกันไปทั้ง ๗ องค์ เห็นจะเปนด้วยเหตุนี้จึงมักแย่งชิงราชสมบัติกัน ดังจะปรากฎในเรื่องราวต่อไปข้างน่า.

  5. ๕. ถึงสมัยนี้เมืองล้านช้างเดิมแยกกันเปน ๒ อาณาเขตร หลวงพระบางอาณาเขตร ๑ เวียงจันท์อาณาเขตร ๑

  6. ๖. ที่ได้เปนพระเจ้ากรุงธนบุรีในเวลาต่อมา

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ