- อธิบายเหตุการณ์ที่ไทยรบกับพม่า
- ครั้งที่ ๑ คราวพม่าตีเมืองเชียงกราน ปีจอ พ.ศ. ๒๐๘๑
- สงครามครั้งที่ ๒ คราวสมเด็จพระสุริโยไทยขาดฅอช้าง ปีวอก พ.ศ. ๒๐๙๑
- สงครามครั้งที่ ๓ คราวรบกันด้วยเรื่องช้างเผือก ปีกุญ พ.ศ. ๒๑๐๖
- สงครามครั้งที่ ๔ คราวเสียกรุง ฯ แก่พระเจ้าหงษาวดี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๑๑
- สงครามครั้งที่ ๕ คราวสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิศระ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗
- สงครามครั้งที่ ๖ ครั้งรบพระยาพสิมที่เมืองสุพรรณ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗
- สงครามครั้งที่ ๗ คราวรบพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกษ ปีระกา พ.ศ. ๒๑๒๘
- สงครามครั้งที่ ๘ คราวพระเจ้าหงษาวดีล้อมกรุง ฯ ปีจอ พ.ศ. ๒๑๒๙
- สงครามครั้งที่ ๙ คราวพระมหาอุปราชายกมาครั้งแรก ปีขาล พ.ศ. ๒๑๓๓
- สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวสมเด็จพระนเรศวรชนช้าง ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕
- สงครามครั้งที่ ๑๑ คราวไทยตีเมืองทวายเมืองตะนาวศรี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๓๕
- สงครามครั้งที่ ๑๒ คราวสมเด็จพระนเรศวรได้หัวเมืองมอญ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๑๓๗
- สงครามครั้งที่ ๑๓ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดีครั้งแรก ปีมะแม พ.ศ. ๒๑๓๘
- สงครามครั้งที่ ๑๔ สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงษาวดี ครั้งที่ ๒ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๔๒
- สงครามครั้งที่ ๑๕ สงครามครั้งที่สุดของสมเด็จพระนเรศวร ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๔๗
- สงครามครั้งที่ ๑๖ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีฉลู พ.ศ. ๒๑๕๖
- สงครามครั้งที่ ๑๗ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๑๕๗
- สงครามครั้งที่ ๑๘ คราวพม่าตีเมืองทวาย ปีจอ พ.ศ. ๒๑๖๕
- สงครามครั้งที่ ๑๙ คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ ปีขาล พ.ศ. ๒๒๐๕
- สงครามครั้งที่ ๒๐ คราวรบพม่าที่เมืองไทรโยค ปีเถาะ พ.ศ. ๒๒๐๖
- สงครามครั้งที่ ๒๑ คราวไทยตีเมืองพม่า ปีมโรง พ.ศ. ๒๒๐๗
- สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๑
- สงครามครั้งที่ ๒๒ คราวพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยา ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๐๒ ตอนที่ ๒
- สงครามครั้งที่ ๒๓ คราวพม่าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๐๗
- สงครามครั้งที่ ๒๔ คราวเสียกรุง ฯ ครั้งหลัง ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๑๐
สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวสมเด็จพระนเรศวรชนช้าง ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕
เรื่องราวการสงครามครั้งนี้ หนังสือพงษาวดารไทยกับพงษาวดารพม่าผิดกันแต่พลความ ส่วนเนื้อเรื่องได้ความประกอบกันตั้งแต่ต้นจนปลาย มีเนื้อความว่าพระเจ้าหงษาวดีนันทบุเรงให้มาตีเมืองไทยไม่สมประสงค์หลายครั้งก็ทรงพระวิตก เกรงเหล่าประเทศราชแลไพร่บ้านพลเมืองจะพากันประมาทหมิ่นพระเดชานุภาพ ครั้นพระมหาอุปราชาแตกทัพกลับไปก็ยิ่งทรงโทมนัศ ด้วยพระมหาอุปราชาเปนผู้จะรับรัชทายาทสืบพระองค์ต่อไป มาซ้ำเสียเกียรติยศลงอิกองค์ ๑ จึงเห็นว่าอย่างไรๆ จำจะต้องปราบปรามเมืองไทยลงให้จงได้ ทำนองในชั้นนี้จะได้มีรับสั่งปลอบโยนพระมหาอุปราชาให้รับอาสามาตีเมืองไทยแก้ตัวใหม่ แต่พระมหาอุปราชามีความครั่นครามทูลว่าเคราะห์ยังร้าย ดังกล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดาร เปนเหตุให้พระเจ้าหงษาวดีขัดเคืองปรากฎในหนังสือพงษาวดารพม่าว่า วันหนึ่งมีรับสั่งให้หาเจ้านายแลข้าราชการผู้ใหญ่มาประชุมพร้อมกันที่ในท้องพระโรง แล้วพระเจ้าหงษาวดีตรัสตัดภ้อว่า ทุกวันนี้ทั้งเจ้าทั้งขุนนางช่างไม่มีใครช่วยเอาใจเจ็บร้อนในเรื่องเมืองไทยบ้างเลย พระนเรศวรครองกรุงศรีอยุทธยามีรี้พลเพียงสักหยิบมือเดียว ก็ไม่มีใครจะกล้าไปรบพุ่ง นี่เมืองหงษาวดีจะหมดสิ้นคนดีเสียแล้วฤๅอย่างไร ขณะนั้นขุนนางคนหนึ่ง ชื่อว่าพระยาลอ ทูลพระเจ้าหงษาวดีว่า กรุงศรีอยุทธยานั้น สำคัญที่พระนเรศวรองค์เดียว เพราะกำลังหนุ่มรบพุ่งเข้มแขง ทั้งบังคับบัญชาผู้คนก็สิทธิ์ขาด รี้พลทั้งนายไพร่กลัวพระนเรศวรเสียยิ่งกว่ากลัวความตาย เจ้าให้รบพุ่งอย่างไรก็ไม่คิดแก่ชีวิตรด้วยกันทั้งนั้น คนน้อยจึงเหมือนกับคนมาก เจ้านายในกรุงหงษาวดีรุ่นเดียวกับพระนเรศวร ที่ทำสงครามเข้มแขงเคยชนะทัพศึกเหมือนอย่างพระนเรศวรก็มีหลายพระองค์ ถ้าโปรดให้จัดกองทัพให้เปนหลายทัพ แล้วทรงเลือกเหล่าเจ้านายที่เข้มแขงการศึกให้เปนนายทัพ ยกไปช่วยกันรบพระนเรศวรก็เห็นจะเอาไชยชนะได้ ถ้าชนะพระนเรศวรแล้วกรุงศรีอยุทธยาก็เหมือนอยู่ในเงื้อมมือ คงตีได้โดยง่าย พระเจ้าหงษาวดีได้ทรงฟังพระยาลอทูลแนะนำให้แต่งเจ้านายไปทำศึกประชันกันก็เห็นชอบด้วย แต่เกรงว่าถ้าไม่ให้พระมหาอุปราชาไปด้วย คนทั้งหลายก็จะพากันดูหมิ่นรัชทายาทยิ่งขึ้น พระเจ้าหงษาวดีคงตรัสตอบตามทำนองความที่กล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า ที่พระยาลอว่านั้นก็ดีอยู่ แต่ตัวของข้าเปนคนอาภัพไม่เหมือนพระมหาธรรมราชาธิราช นั่นเขามีลูกพ่อไม่ต้องพักใช้ให้รบพุ่ง มีแต่กลับจะต้องห้ามเสียอิก แต่ตัวข้าไม่รู้ว่าจะใช้ใคร พระมหาอุปราชาได้ยินรับสั่งบริภาษเช่นนั้นก็อัปรยศอดสู จึงกราบทูลขอรับอาสามาตีเมืองไทยแก้ตัวใหม่ พระเจ้าหงษาวดีจึงเกณฑ์กองทัพ ๓ เมือง คือกองทัพเมืองหงษาวดี ให้เจ้าเมืองจาปะโร๑ เปนกองน่า พระมหาอุปราชาเปนกองหลวงทัพ ๑ กองทัพเมืองแปร ให้พระเจ้าแปรลูกเธอที่ไปตีเมืองคังได้เมื่อคราวหลังเปนนายทัพทัพ ๑ ทัพเมืองตองอู ให้ลูกของพระเจ้าตองอู ชื่อนัดจินหน่อง ผู้ที่ต้านทานกองทัพไทยไว้ได้เมื่อคราวพระเจ้าหงษาวดีล่าทัพกลับไปเปนนายทัพทัพ ๑ รวมทั้ง ๓ ทัพ จำนวนพล ๒๔๐,๐๐๐ ยกมาตีกรุงศรีอยุทธยา แลสั่งให้พระเจ้าเชียงใหม่ยกกองทัพเมืองเชียงใหม่ลงมาสมทบด้วยอิกทัพ ๑ กองทัพพระมหาอุปราชายกออกจากเมืองหงษาวดีเมื่อณวันพุฒ เดือนอ้าย ฃี้น ๗ ค่ำ ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๓๕.
เรื่องการสงครามคราวนี้ ในพงษาวดารพม่าว่าเข้ามารบกันถึงชานกรุงศรีอยุทธยา ที่ทุ่งลุมพลี แต่ในพระราชพงษาวดารว่าไปรบกันในแขวงเมืองสุพรรณบุรี ข้อนี้พงษาวดารพม่าผิด ความจริงเปนอย่างว่าในพระราชพงษาวดารเปนแน่ไม่มีที่สงไสย เพราะพระเจดีย์ที่สร้างตรงที่ชนข้างยังปรากฎอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้ แต่เหตุใดในพระราชพงษาวดารจึงกล่าวถึงกองทัพพระมหาอุปราชาทัพเดียว ไม่ปรากฎว่าพระเจ้าแปรแลนัดจินหน่องยกมาอิก ๒ ทัพ ข้อนี้ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า กองทัพข้าศึกที่ยกมาครั้งนี้ เห็นจะให้ยกมาทั้ง ๒ ทาง คือให้พระมหาอุปราชายกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ให้พระเจ้าแปรกับนัดจินหน่องยกมาทางด่านแม่ละเมา ให้พระเจ้าเชียงใหม่คุมเรือลงมาเปนกองลำเลียงเหมือนคราวก่อน กำหนดให้กองทัพที่ยกมาทั้ง ๒ ทางมารวมกันที่กรุงศรีอยุทธยา กระบวนทัพของข้าศึกที่ยกมาเห็นจะเปนดังว่านี้ แต่เพราะไทยได้รบกับกองทัพมหาอุปราชาทัพเดียวแล้วก็เลยสิ้นสงคราม กองทัพเมืองแปรเมืองตองอูมาทีหลัง ไม่ทันเข้ามารบพุ่ง จึงมิได้ปรากฎในพระราชพงษาวดาร ว่ามีกองทัพยกมาทางอื่นอิก การที่คลาดเคลื่อนเห็นว่าจะเปนด้วยเหตุดังกล่าวมานี้.
ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวร ตั้งแต่กองทัพพระมหาอุปราชาแตกไปจากเมืองสุพรรณบุรีเมื่อคราวก่อน คาดในพระไทยว่าเห็นจะว่างศึกหงษาวดีไปสักปีสองปี ด้วยข้าศึกเสียช้างม้ารี้พลมาก คงยังจะต้องหาเพิ่มเติมอยู่นานวัน ในปีมโรงนั้น หมายจะเสด็จไปตีกรุงกัมพูชาด้วยทรงขัดเคืองว่า เมื่อคราวไทยเสียกรุง ฯ แก่พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนอง เขมรพลอยเข้ามาซ้ำเติมยังมิทันที่จะได้ไปแก้แค้น พอเขมรเห็นว่าไทยมีกำลังขึ้น ชิงเข้ามาขอเปนไมตรี ก็ได้ยอมดีด้วยครั้ง ๑ ครั้นต่อมาพอเขมรเห็นพระเจ้าหงษาวดียกกองทัพใหญ่มาล้อมกรุง ฯ คาดว่าไทยจะสู้พม่าไม่ได้ก็ละสัตย์เสียกลบมาพลอยซ้ำเติมอิก จึงแค้นพระไทยคอยหาโอกาศที่จะยกลงไปตีกรุงกัมพูชาอยู่เสมอ ถึงเดือนอ้าย ปีมโรง ดำรัสสั่งให้มีท้องตราเกณฑ์ทัพที่จะไปตีเมืองเขมร กำหนดให้พร้อมกันทันยกไปในกลางเดือนยี่ พอมีท้องตราไปได้ ๖ วัน ถึงเดือนอ้าย ขึ้น ๑๒ ค่ำ ก็ได้รับใบบอกเมืองกาญจนบุรีว่า พระเจ้าหงษาวดีให้พระมหาอุปราชายกกองทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ แลต่อมาคงได้ข่าวมาจากหัวเมืองเหนือว่ายังจะมีกองทัพข้าศึกยกลงมาอิกทาง ๑ สมเด็จพระนเรศวรทรงพระราชดำริห์ว่าข้าศึกยกลงมา ๒ ทาง ถ้าปล่อยให้มาสมทบกันได้กำลงก็จะมากนัก กองทัพพระมหาอุปราชายกเข้ามาก่อน จำจะต้องชิงตีให้แตกเสียก่อนกองทัพทางเหนือยกลงมาถึงจะได้เบามือ จึงมีรับสั่งให้ย้ายที่ประชุมพลซึ่งกะไวว่าจะตั้งที่ทุ่งบางขวด สำหรับกองทัพที่จะยกไปตีกรุงกัมพูชานั้น ให้ไปตั้งที่ทุ่งป่าโมกแขวงเมืองวิเศษไชยชาญอันร่วมทางที่จะยกไปเมืองสุพรรณบุรีแลเมืองเหนือได้ทั้ง ๒ ทาง แล้วให้เร่งเรียกรี้พลพาหนะเสบียงอาหารให้พร้อมโดยเร็ว แลในระหว่างนั้นมีรับสั่งให้พระอมรินทรฦๅไชย ผู้ว่าราชการเมืองราชบุรีคุมพล ๕๐๐ เปนกองโจรไปซุ่มซ่อนคอยตีตัดลำเลียงแลรื้อสพานทางเดินทัพของข้าศึกอยู่ข้างหลัง แล้วให้พระยาศรีไสยณรงค์เปนนายทัพ พระยาราชฤทธานนท์เปนยกรบัตร คุมกองทัพหัวเมืองไปตั้งขัดตาทัพรับน่าข้าศึกอยู่ที่ลำน้ำท่าคอยแขวงเมืองสุพรรณบุรีแห่ง ๑ ครั้นเตรียมกองทัพหลวงพร้อมเสร็จ ถึงเดือนยี่ ขึ้น ๙ ค่ำ สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถก็เสด็จโดยกระบวนเรือพระที่นั่งจากพระนครไปทำพิธีฟันไม้ข่มนามที่ทุ่งลุมพลี แล้วเสด็จไปยังที่ตั้งทัพไชยณตำบลมะม่วงหวาน ประทับแรมจัดกระบวนทัพอยู่ ๓ ราตรี ถึงวันขึ้น ๑๒ ค่ำเสด็จยกกองทัพหลวงมีจำนวนพล ๑๐๐,๐๐๐ ออกจากทุ่งป่าโมกไปเมืองสุพรรณบุรีทางบ้านสามโก้ แล้วข้ามลำน้ำสุพรรณที่ท่าท้าวอู่ทองไปถึงค่ายหลวงที่หนองสาหร่ายริมลำน้ำท่าคอยเมื่อวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนยี่นั้น.
ฝ่ายพระมหาอุปราชาเมื่อยกกองทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ครั้งนี้ ไม่รีบเร่งยกเข้ามาเหมือนครั้งก่อน คงเปนด้วยระมัดระวังไม่ประมาท ครั้นเห็นไทยไม่ต่อสู้ก็เดินกระบวนทัพมาตั้งอยู่ที่ตำบลตระพังกรุแขวงเมืองสุพรรณบุรี แล้วแต่งให้สมิงจอคราน สมิงเป่อ สมิงซาม่วน คุมกองทัพม้ามาเที่ยวลาดตระเวนสืบข่าวกองทัพที่จะยกลงมาทางฝ่ายเหนือ แลตรวจตราว่าไทยจะยกกองทัพออกไปคอยต่อสู้อยู่ที่ไหนบ้าง.
มีความกล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดารถึงเรื่องอัศจรรย์ในตอนนี้ว่า เมื่อวันพระมหาอุปราชายกกองทัพมาถึงตำบลพนมทวน ซึ่งเรียกในบัดนี้ว่าบ้านทวน เวลาบ่าย ๓ โมงเกิดลมเวรัมพาพัดถูกเสวตรฉัตรหลังช้างหักสบั้นลง เปนเหตุให้พระมหาอุปราชาเห็นว่าเปนลางร้ายหวาดหวั่นพรั่นพระไทยที่จะมาทำสงคราม อิกเรื่อง ๑ ว่าเมื่อณวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือนยี่ สมเด็จพระนเรศวรประทับอยู่ที่ค่ายหลวงตำบลมะม่วงหวาน ก่อนวันจะเสด็จยกกองทัพไปเมืองสุพรรณบุรี ในกลางคืนทรงพระสุบินว่า น้ำท่วมป่ามาแต่ทิศตวันตก เสด็จลุยน้ำไปพบจรเข้ใหญ่เข้าตัว ๑ ได้ต่อสู้กัน ทรงประหารจรเข้นั้นสิ้นชีวิตรด้วยฝีพระหัตถ์ มีรับสั่งให้โหรทำนายพระสุบิน พระยาโหราธิบดีทูลพยากรณ์ว่า เสด็จไปคราวนี้จะได้รบพุ่งกับข้าศึกเปนมหายุทธสงคราม ถึงได้ทำยุทธหัตถี (คือชนช้างกัน อันนับว่าเปนยอดของยุทธการ) แลจะมีไชยชนะข้าศึก ความที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารเรื่องพระสุบินนี้ ถ้าเปนความจริงก็อาจจะเปนเหตุให้สมเด็จพระนเรศวรทรงมุ่งหมายตระเตรียมไปแต่แรกว่าจะชนช้างในครั้งนั้น แต่ถึงจะไม่เปนความจริง เมื่อพิเคราะห์ดูเหตุการณ์ทั้ง ๒ ฝ่ายก็น่าเชื่อว่า ฝ่ายข้างพระมหาอุปราชายกมาครั้งนี้ มาด้วยความครั่นคร้ามไม่มั่นพระไทยว่าจะมีไชยชนะ แต่ฝ่ายข้างสมเด็จพระนเรศวรยกไปด้วยมั่นพระไทยว่าจะสู้ได้ ได้เปรียบข้าศึกอยู่อย่างนี้ประการหนึ่งเปนแน่.
ฝ่ายกองทหารม้าข้าศึก ซึ่งเล็ดลอดเข้ามาสอดแนมจนถึงบางกระทิงในแขวงจังหวัดกรุง ฯ เมื่อรู้ว่าสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพไป ก็รีบเอาความไปทูลพระมหาอุปราชา เวลานั้นพระมหาอุปราชาตั้งอยู่ที่ตำบลตระพังกรุ ห่างหนองสาหร่ายที่กองทัพพระยาศรีไสยณรงค์ตั้งอยู่ระยะทาง ๓ วัน ครั้นพระมหาอุปราชาได้ทราบว่ากองทัพที่สมเด็จพระนเรศวรยกไปจำนวนพลน้อยกว่า จึงปฤกษานายทัพนายกองทั้งปวงเห็นพร้อมกันว่า ควรจะเอากำลังคนมากเข้าทุ่มเทตีเสียให้แตกทีเดียว อย่าให้ทันตั้งมั่นได้ ถ้าได้ทีก็จะได้ติดตามตีเข้าไปให้ถึงกรุงศรีอยุทธยา เห็นพร้อมกันดังนี้ พระมหาอุปราชาจึงให้ยกกองทัพมาจากบ้านตระพังกรุ เห็นจะยกในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนยี่ วันที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปถึงค่ายหลวงที่หนองสาหร่ายนั้น.
ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรเมื่อเสด็จไปถึงที่หนองสาหร่าย ทำนองจะให้กองทัพพระยาศรีไสยณรงค์กับพระยาราชฤทธานนท์ ซึ่งออกไปตั้งขัดตาทัพอยู่แต่ก่อน เลื่อนออกไปตั้งค่ายขัดตาทัพที่ดอนระฆัง (รอยค่ายยังมีอยู่) เพื่อจะให้ลาดตระเวนสืบสวนข้าศึกที่จะยกมา ส่วนกองทัพหลวงนั้น พอเสด็จไปถึงก็ให้ตั้งค่ายคูเตรียมกระบวนทัพที่จะรบข้าศึก ด้วยคาดว่าคงจะได้รบกันในวันสองวันเปนแน่ เพราะกองทัพทั้ง ๒ ฝ่ายใกล้กันอยู่นักแล้ว ทรงจัดทัพเปนกระบวนเบญจเสนา ๕ ทัพ คือทัพที่ ๑ ซึ่งเปนกองน่า ให้พระยาสีหราชเดโชไชยเปนนายทัพ พระยาพิไชยรณฤทธิ์เปนปีกขวา พระยาวิชิตณรงค์เปนปีกซ้าย ทัพที่ ๒ กองเกียกกาย ให้พระยาเทพอรชุนเปนนายทัพ พระยาพิไชยสงครามเปนปีกขวา พระยารามคำแหงเปนปีกซ้าย ทัพที่ ๓ กองหลวง สมเด็จพระนเรศวรทรงเปนจอมพล พร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถราชอนุชา เจ้าพระยามหาเสนาเปนปีกขวา เจ้าพระยาจักรีเปนปีกซ้าย ทัพที่ ๔ กองยกรบัตร ให้พระยาพระคลังเปนนายทัพ พระราชสงครามเปนปีกขวา พระรามรณภพเปนปีกซ้าย ทัพที่ ๕ กองหลัง ให้พระยาท้ายน้ำเปนนายทัพ หลวงหฤทัยเปนปีกขวา หลวงอภัยสุรินทร์เปนปีกซ้าย พิเคราะห์ความตามที่ปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดาร ดูเหมือนการรบในครั้งนี้สมเด็จพระนเรศวรตั้งพระไทยจะตั้งรับ ให้ข้าศึกตีก่อน เพราะทรงทราบว่าข้าศึกมีกำลังมากกว่ากองทัพที่ยกไป ครั้นถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือนยี่ พระยาศรีไสยณรงค์บอกมากราบทูลว่า ให้ไปสอดแนมเห็นข้าศึกยกทัพใหญ่พ้นบ้านจรเข้สามพันมาแล้ว จึงมีรับสั่งให้กองทัพทั้งปวงเตรียมตัวรบข้าศึกในวันรุ่งขึ้น แล้วสั่งไปยังพระยาศรีไสยณรงค์ว่า ให้ลาดตระเวนดูให้รู้เค้าเงื่อนว่ากระบวนข้าศึกยกมาอย่างไร แล้วให้ถอยมา.๒
รุ่งขึ้นณวันจันทร์ เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ กองทัพทั้งปวงเตรียมพร้อมแต่เวลาเช้า สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถต่างแต่งพระองค์ทรงเครื่องพิไชยยุทธ ให้ผูกช้างพระที่นั่งชื่อพลายภูเขาทอง อันขึ้นระวางเปนเจ้าพระยาไชยานุภาพเปนพระคชาธารสมเด็จพระนเรศวร เจ้ารามราคพเปนกลางช้าง นายมหานุภาพเปนควาญ อิกช้าง ๑ ชื่อพลายบุญเรือง ขึ้นระวางเปนเจ้าพระยาปราบไตรจักร ผูกเปนพระคชาธารสมเด็จพระเอกาทศรถ หมื่นภักดีศวรเปนกลางช้าง ขุนศรีคชคงเปนควาญ๓ พร้อมด้วยแวงจตุลังคบาทพวกทหารคู่พระไทยสำหรับรักษาพระองค์ แลกระบวนช้างดั้งกันทั้งปวงเตรียมรับเสด็จ พอสมเด็จพระนเรศวรทรงเครื่องแล้วก็ได้ยินเสียงปืนดังสนั่นทางน่าทัพ จึงดำรัสสั่งให้จมื่นทิพเสนาปลัดกรมตำรวจเอาม้าเร็วรีบไปดูว่าเปนอย่างไรกัน จมื่นทิพเสนาได้ตัวขุนหมื่นในกองทัพพระยาศรีไสยณรงค์มากราบทูลรายงานว่า พระยาศรีไสยณรงค์ยกไปประทะทัพข้าศึกที่ตำบลดอนเผาเข้า เมื่อเวลาเช้าโมงเศษ (๗ ก.ท.) เข้ารบกัน ข้าศึกมากนัก ต้านทานไม่ไหวจึงแตกมา สมเด็จพระนเรศวรดำรัสปฤกษานายทัพนายกองว่า กองทัพพระยาศรีไสยณรงค์แตกพ่ายมาอย่างนี้จะทำอย่างไร นายทัพนายกองกราบทูลว่า ขอให้มีกองทัพหนุนออกไปช่วยต่อสู้รับข้าศึกไว้ให้อยู่เสียก่อน แล้วจึงยกกองทัพหลวงออกตีต่อภายหลัง สมเด็จพระนเรศวรไม่ทรงเห็นชอบด้วย ดำรัสว่ากองทัพแตกฉานมาอย่างนี้แล้ว จะให้กองทัพไปหนุนไหนจะรับไว้อยู่ มาประทะกันเข้าก็จะพากันแตกลงมาด้วยกัน จึงมีรับสั่งให้จมื่นทิพเสนา จมื่นราชามาตย์ ขึ้นม้าเร็วรีบไปประกาศแก่พวกกองทัพพระยาศรีไสยณรงค์ว่า อย่าให้รั้งรอรับข้าศึกเลย ให้เปิดหนีไปเถิด พวกกองทัพพระยาศรีไสยณรงค์ได้ทราบกระแสรับสั่งต่างก็รีบหนีเอาตัวรอด พากันแตกกระจายไปไม่เปนหมวดเปนกอง ข้าศึกเห็นกองทัพไทยแตกฉานได้ทีก็รีบยกตามมาไม่หยุดยั้ง สมเด็จพระนเรศวรสงบทัพหลวงรออยู่จนเวลา ๕ โมงเช้า (๑๑ ก.ท.) เห็นข้าศึกไล่ตามลงมาไม่เปนกระบวนสมคเน ก็ดำรัสสั่งให้บอกสัญญากองทัพทั้งปวงให้ยกออกตีข้าศึก แลในขณะนั้นเสด็จขึ้นทรงพระคชาธารกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ยกกองทัพหลวงเข้าตีโอบกองทัพน่าข้าศึกในทันที แต่ส่วนกองทัพท้าวพระยาได้ทราบกระแสรับสั่งช้าบ้างเร็วบ้าง ยกไปไม่ทันเสด็จโดยมาก มีแต่กองทัพพระยาสีหราชเดโชไชยกับกองทัพเจ้าพระยามหาเสนาซึ่งเปนปีกขวา๔ ตามกองทัพหลวงจู่โจมตีข้าศึกเข้าไป กองทัพน่าข้าศึกกำลังละเลิงไล่มาโดยประมาท ไม่ได้ระแวงว่าจะมีกองทัพไทยไปยอทัพ ก็เสียทีป่วนปั่น แล้วเลยแตกหนีเปนอลหม่าน ขณะนั้นช้างพระที่นั่งซึ่งสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถทรงไป เปนช้างชนะงากำลังตกมันทั้ง ๒ ช้าง ครั้นเห็นเหล่าช้างข้าศึกกลับหน้าพากันหนี ก็ออกแล่นไล่ไปโดยเมาน้ำมัน พาสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถเข้าไปในกลางหมู่ข้าศึก มีแต่จตุลังคบาทกับพวกทหารรักษาพระองค์ตามติดไป เพราะในเวลานั้นกำลังรบพุ่งกันโกลาหล ฝุ่นฟุ้งตระหลบจนมืดมัวทั่วทิศ พวกนายทัพนายกองที่อยู่ห่างไม่เห็นว่าเสด็จล่วงเลยเข้าไป ถึงเหล่าข้าศึกก็มิได้เห็นพระองค์ถนัด ช้างพระที่นั่งพาสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถถลุยไล่ข้าศึกไปสัก ๑๐๐ เส้น พอฝุ่นจางทอดพระเนตรไป เห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชาธารยืนช้างอยู่ในร่มไม้กับเหล่าท้าวพระยา จึงทรงทราบว่าช้างพระที่นั่งพาไล่เข้าไปจนถึงในกองทัพหลวงของข้าศึก แต่สมเด็จพระนเรศวรพระสติมั่นไม่หวั่นหวาด คิดเห็นในทันทีว่าทางสงครามที่เอาไชยชนะได้มีอยู่อย่างเดียว จึงขับช้างพระที่นั่งตรงไปยังน่าช้างพระมหาอุปราชา แล้วร้องตรัสไปโดยฐานที่คุ้นเคยกันมาแต่ก่อนว่า “เจ้าพี่ จะยืนช้างอยู่ในร่มไม้ทำไม เชิญเสด็จมาทำยุทธหัตถีกันให้เปนเกียรติยศเถิด กษัตริย์ภายน่าที่จะชนช้างได้อย่างเราจะไม่มีแล้ว” ขณะเมื่อสมเด็จพระนเรศวรท้าชนช้างนั้น ที่จริงเสด็จอยู่กลางหมู่ข้าศึก มีแต่ช้างพระที่นั่ง ๒ ช้าง กับพวกทหารรักษาพระองค์ไม่กี่คนนัก ถ้าพระมหาอุปราชาสั่งให้พวกกองทัพรุมรบพุ่งก็เกือบจะไม่พ้นอันตราย แต่พระมหาอุปราชาพระหฤทัยก็เปนวิไสยกษัตริย์เหมือนกัน เมื่อได้ทรงฟังสมเด็จพระนเรศวรชวนชนช้าง จะไม่รับก็ลอายพระไทย จึงขับช้างพลายพัทธกอซึ่งเปนพระคชาธารตรงออกมาชนกับเจ้าพระยาไชยานุภาพพระคชาธารของสมเด็จพระนเรศวร ฝ่ายเจ้าพระยาไชยานุภาพกำลังคลั่งน้ำมัน เห็นช้างข้าศึกตรงออกมาก็เข้าโถมแทงทันทีไม่ยับยั้ง เสียทีพลายพัทธกอได้ล่างแบกรุนเอาเจ้าพระยาไชยานุภาพเบนจะขวางตัว พระมหาอุปราชาได้ทีฟันด้วยพระแสงของ้าว สมเด็จพระนเรศวรเบี่ยงพระองค์หลบทัน ถูกแต่พระมาลาหนังซึ่งทรงในวันนั้นขาดลิไป พอเจ้าพระยาไชยานุภาพสบัดหลุด แล้วกลับชนได้ล่างแบกถนัดรุนพลายพัทธกอหันเบนไป สมเด็จพระนเรศวรก็จ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว ถูกพระมหาอุปราชาที่ไหล่ขวาขาด ซบสิ้นพระชนม์อยู่กับฅอช้าง ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถก็ได้ชนช้างกับเจ้าเมืองจาปะโร ฟันเจ้าเมืองจาปะโรตายเหมือนกัน พวกท้าวพระยาเมืองหงษาวดีเห็นพระมหาอุปราชาเสียทีถูกฟัน ต่างก็กรูกันเข้ามาช่วยแก้ไข เอาปืนระดมยิงถูกสมเด็จพระนเรศวรที่พระหัดถ์ถึงบาดเจ็บ แลถูกนายมหานุภาพควาญช้างพระที่นั่ง กับหมื่นภักดีศวรกลางช้างสมเด็จพระเอกาทศรถตายทั้ง ๒ คน ขณะนั้นพอรี้พลกองทัพหลวงแลกองทัพเจ้าพระยามหาเสนา พระยาสีหราชเดโชไชยตามไปถึงทันเข้า ก็เข้ารบพุ่งแก้กันเอาสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถออกมาพ้นจากกองทัพข้าศึกได้ พวกท้าวพระยาเมืองหงษาวดีกำลังตกใจ ด้วยพระมหาอุปราชาผู้เปนจอมพลสิ้นพระชนม์ มิได้คิดจะรบพุ่งต่อไป หมายแต่จะรวบรวมกองทัพกลับไปค่ายเดิม ก็พากันยับยั้งอยู่ ด้วยกองทัพหงษาวดีครั้งนั้นแตกยับเยินแต่ทัพน่าทัพเดียวทัพอื่นยังหาแตกไม่ ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรออกมาพ้นข้าศึกได้แล้ว เห็นข้าศึกย่นย่ออยากจะตีให้ยับเยิน แต่กำลังกองทัพที่ตามเสด็จไปเวลานั้นมีน้อยนักก็จนพระไทย จึงจำต้องเสด็จกลับมาค่ายหลวง ฝ่ายพวกกองทัพหงษาวดีรวบรวมกันได้แล้วก็เชิญศพพระมหาอุปราชาเลิกทัพกลับไปเมืองหงษาวดี สมเด็จพระนเรศวรทรงระแวงว่าข้าศึกจะยังยกมาทางข้างเหนืออิก จึงมิได้ให้กองทัพไปติดตาม แต่เมื่อพระเจ้าหงษาวดีได้ทรงทราบว่าพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ ก็เสียพระไทยสิ้นหวังที่จะตีเมืองไทย จึงสั่งให้หากองทัพกลับคืนไปบ้านเมืองหมดทุกทัพ.
สมเด็จพระนเรศวรมีไชยชนะยุทธหัตถีครั้งนั้น พระเกียรติยศเลื่องฦๅแพร่หลายไปทั่วทุกประเทศในชมพูทวีป ด้วยถือกันเปนคติมาแต่ดึกดำบรรพ์ ว่าการชนช้างเปนยอดยุทธวีธีซองนักรบ เพราะเปนการต่อสู้กันตัวต่อตัว แพ้ชนะกันแต่ด้วยความคล่องแคล่วแกล้วกล้า กับชำนิชำนาญการขับขี่ช้างชน มิได้อาไศรยรี้พลฤๅกลอุบายอย่างหนึ่งอย่างใด อิกประการ ๑ ในการทำยุทธสงคราม ที่จอมพลทั้ง ๒ ฝ่ายจะได้เข้าใกล้ชิดจนถึงชนช้างกันได้นั้นก็มีน้อย จึงถือว่าเปนการสำคัญเพราะหาโอกาศยากด้วยอิกอย่าง ๑ เพราะฉนั้นถ้ากษัตริย์พระองค์ใดทำยุทธหัตถีมีไชยชนะ ก็ได้รับความยกย่องว่ามีพระเกียรติยศอย่างสูงสุด เหมือนเช่นพระเจ้าอภัยทุษฐคามินีชนช้างกับพระยาเอฬาระทมิฬที่เมืองลังกาเปนตัวอย่าง ถึงผู้แพ้นั้นก็ยกย่องสรรเสริญกันว่าเปนนักรบแท้ มิได้ติเตียนเลย คติที่กล่าวมานี้ก็เปนความนิยมของไทยเหมือนกับชาติอื่น ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระนเรศวรจึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นองค์ ๑ ตรงที่ซึ่งได้ชนช้างกับพระมหาอุปราชา ตามเยี่ยงอย่างพระเจ้าอภัยทุษฐคามินี ได้ทรงสร้างพระเจดีย์ขึ้นในลังกาทวีป ตรงที่ทำยุทธหัตถีกับพระยาเอฬาระทมิฬ อันมีเรื่องปรากฎอยู่ในหนังสือมหาวงศ์นั้น พระเจดีย์ยังปรากฎอยู่ วัดฐานได้ด้านละ ๑๐ วา สูงตลอดยอด เดิมเห็นจะราว ๒๐ วา ราษฎรเรียกที่ตำบลนั้นว่าดอนพระเจดีย์ อยู่ห่างหนองสาหร่ายไปประมาณราว ๑๔๐ เส้น ยังปรากฎจนทุกวันนี้ ช้างพระที่นั่งที่ชนชนะศึก ก็พระราชทานชื่อว่า “เจ้าพระยาปราบหงษาวดี” พระแสงของ้าวที่ทรงประหารพระมหาอุปราชาก็ได้นามปรากฎว่า “เจ้าพระยาแสนพลพ่าย” นับถือเปนพระแสงศักดิ์สิทธิ์ สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงพระคชาธารในรัชกาลหลังๆ สืบมา แลพระมาลาซึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงในวันนั้นก็ปรากฎนามว่า “พระมาลาเบี่ยง” มาจนตราบเท่าทุกวันนี้.
ถึงว่าโดยทางพงษาวดาร การที่สมเด็จพระนเรศวรทรงชนะยุทธหัตถีครั้งนั้น ก็ควรเห็นว่าเปนการชนะอย่างอัศจรรย์ แลควรนับว่าเปนไชยมงคลของบ้านเมืองโดยแท้ ส่วนความอัศจรรย์อย่างไร ในหนังสือพระราชพงษาวดารได้แต่งไว้เปนถ้อยคำของสมเด็จพระพนรัตนถวายพระพรไพเราะอยู่ ข้าพเจ้าจะได้คัดลงไว้ในตอนน่าต่อไป ที่ว่าเปนไชยมงคลแก่บ้านเมืองนั้น เพราะตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรมีไชยชนะครั้งนี้แล้ว ก็มิได้มีข้าศึกมาเบียดเบียนเมืองไทยแต่ณทิศใดใดอิกต่อไปจนตลอดกาลนาน ส่วนการสงครามก็เริ่มต้นที่ไทยจะกลับเปนฝ่ายปราบปรามข้าศึกสัตรูถึงต่างประเทศแต่นี้ไป จนมีอำนาจแผ่อาณาเขตรของสยามประเทศให้กว้างขวางถึงที่สุด ซึ่งเคยปรากฎในเรื่องพงษาวดารตลอดสมัยกาลอันหนึ่ง
-
๑. ในหนังสือพระราชพงษาวดารเรียกมังจาชะโร ว่าเปนพี่เลี้ยงของพระมหาอุปราชา แต่พงษาวดารพม่าว่าเปนเจ้าเมืองจาปะโร. ↩
-
๒. ความตรงนี้ ในหนังสือพระราชพงษาวดารมีแต่ว่า ให้พระยาศรีไสยณรงค์ยกไป หาได้กล่าวว่าให้ไปรบฤๅไปลาดตระเวนไม่ ข้าพเจ้าพิเคราะห์ความตามเรื่องเห็นว่าจะมิใช่ให้ไปรบ จึงไม่มีทัพหนุน แลพระยาศรีไสยณรงค์ขึ้นไปรบถูกตัดสินว่ามีความผิด. ↩
-
๓. มีความเห็นในพวกศึกษาโบราณคดีอย่าง ๑ ว่า ช้างจะชนกันสองตัว ถ้าตัว ๑ คนขี่หลังเปล่า แลอิกตัว ๑ เอาสัปคับปักฉัตรผูกประทุกไปบนหลังด้วย เห็นจะสู้ตัวหลังเปล่าไม่ได้ ด้วยเบาตัวคงคล่องแคล่วกว่ากัน เพราะฉนั้นพระคชาธารที่ทรงชนน่าจะเปนช้างหลังเปล่า คนกลางช้างนั่งไปกับหลังช้างนั้นเอง ถึงรูปภาพช้างชนแต่ก่อนเขาก็เขียนหลังเปล่า พึ่งมาเขียนมีสัปคับปักฉัตรต่อในชั้นหลัง. ↩
-
๔. ทราบได้ว่าเจ้าพระยามหาเสนากับพระยาสีหราชเดโชไชยไปทัน เพราะไม่ถูกตัดสินลงโทษเมื่อเสด็จกลับ. ↩