สงครามครั้งที่ ๑๑ คราวไทยตีเมืองทวายเมืองตะนาวศรี ปีมโรง พ.ศ. ๒๑๓๕

สมเด็จพระนเรศวรมีไชยชนะยุทธหัตถีแล้ว ทรงโทมนัศน้อยพระไทยที่ไม่สามารถจะตีข้าศึกให้แตกยับเยินไปได้เหมือนครั้งก่อน เพราะเหตุที่กองทัพท้าวพระยาข้าราชการไม่ตามเสด็จไปให้ทันรบพุ่งพร้อมกัน เมื่อเสด็จกลับมาถึงพระนครจึงดำรัสสั่งให้ลูกขุนประชุมปฤกษาโทษแม่ทัพนายกองตามพระอัยการศึก ลูกขุนปฤกษาวางบทว่า พระยาศรึไสยณรงค์มีความผิดฐานบังอาจฝ่าฝืนพระราชโองการ ไปรบพุ่งข้าศึกโดยพลการจนเสียทัพแตกมา แลเจ้าพระยาจักรี พระยาพระคลัง พระยาเทพอรชุน พระยาพิไชยสงคราม พระยารามคำแหง มีความผิดฐานละเลยมิได้ตามเสด็จให้ทันท่วงทีการพระราชสงคราม โทษถึงประหารชีวิตด้วยกันทั้งนั้น จึงดำรัสสั่งให้เอาตัวข้าราชการเหล่านั้นไปจำตรุไว้ พอพ้นวันพระแล้วให้เอาไปประหารชีวิตรเสียคามคำลูกขุนพิพากษา ครั้นถึงวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือนยี่ สมเด็จพระพนรัตนวัดป่าแก้ว (เดี๋ยวนี้เรียกวัดใหญ่) กับพระราชาคณะรวม ๒๕ รูป เข้าไปเฝ้าถามข่าวถึงการที่เสด็จพระราชสงครามตามประเพณี สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงเล่าแถลงการทั้งปวงตั้งแต่ต้นจนได้ทำยุทธหัตถีมีไชยชนะพระมหาอุปราชา ให้พระราชาคณะทั้งปวงฟังทุกประการ สมเด็จพระพนรัตนถวายพระพรถามว่า “สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้ามีไชยแก่ข้าศึก เหตุไฉนข้าราชการทั้งปวงจึงต้องราชทัณฑ์เล่า” สมเด็จพระนเรศวรตรัสตอบว่า “นายทัพนายกองเหล่านี้มันกลัวข้าศึกมากกว่ากลัวโยม ละให้แต่โยมสองคนพี่น้องฝ่าเข้าไปในท่ามกลางข้าศึก จนได้ทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ต่อมีไชยชนะกลับมาจึงได้เห็นหน้ามัน นี่หากว่าโยมยังไม่ถึงที่ตาย หาไม่แผ่นดินก็จะเปนของชาวหงษาวดีเสียแล้ว เพราะเหตุนี้โยมจึงให้ลงโทษมันตามอาญาศึก” สมเด็จพระพนรัตนจึงถวายพระพรว่า “อาตมาภาพพิเคราะห์ดูข้าราชการเหล่านี้ ที่จะไม่กลัวพระราชสมภารเจ้านั้นหามิได้ เหตุทั้งนี้เห็นจะพเอิญเปน เพื่อจะให้พระเกียรติยศพระราชสมภารเจ้าเปนมหัศจรรย์ดอก เหมือนสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้า เมื่อพระองค์เสด็จเหนืออปราชิตบัลลังก์ใต้ควงพระมหาโพธิ์ ณเพลาสายัณห์ครั้งนั้น เทพยเจ้าก็มาเฝ้าพร้อมอยู่ทั้งหมื่นจักรวาฬ พระยาวัสวดีมารยกพลเสนามาผจญ ถ้าพระพุทธองค์ได้เทพยเจ้าเปนบริวารมีไชยแก่พระยามารก็จะหาสู้เปนมหัศจรรย์นักไม่ นี่เผอิญให้หมู่อมรอินทร์พรหมทั้งปวงปลาศนาการหนีไปสิ้น ยังแต่พระองค์เดียวอาจสามารถผจญพระยามาราธิราชกับพลเสนามารให้ปราไชยพ่ายแพ้ได้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถเจ้าจึงให้พระนามว่า พระพิชิตมารโมฬีศรีสรรเพ็ชดาญาณ เปนมหามหัศจรรย์บันดาลไปทั่วอนันตโลกธาตุเบื้องบนตราบเท่าถึงภวัคพรหม เบื้องต่ำตลอดถึงอโธภาคอเวจีเปนที่สุด พิเคราะห์ดูก็เหมือนพระราชสมภารเจ้าทั้ง ๒ พระองค์ครั้งนี้ ถ้าเสด็จพร้อมด้วยเสนางคนิกรโยธาทวยหาญมาก แลมีไชยแก่พระมหาอุปราชา ก็จะหาสู้เปนมหัศจรรย์แผ่พระเกียรติยศให้ปรากฎไปในนานาประเทศธานีใหญ่น้อยทั้งปวงไม่ พระราชสมภารเจ้าอย่าทรงพระปริวิตกน้อยพระไทยเลย อันเหตุที่เปนทั้งนี้เพื่อเทพยเจ้าทั้งปวงอันรักษาพระองค์จักสำแดงพระเกียรติยศดุจอาตมาภาพถวายพระพรเปนแท้” สมเด็จพระนเรศวรเปนเจ้าได้ทรงฟังสมเด็จพระพนรัตนถวายวิสัชนากว้างขวาง ออกพระนามสมเด็จพระบรมอรรคโมฬีโลกครั้งนั้น รฦกถึงพระคุณนามอันยิ่งก็ทรงพระปิติโสมนัศตื้นเต็มพระกมลหฤไทยปราโมทย์ ยกพระกรประนมเหนือพระอุตมางคศิโรตม์นมัสการ แย้มพระโอษฐ์ว่า “สาธุ สาธุ พระผู้เปนเจ้าว่านี้ควรนักหนา” สมเด็จพระพนรัตนเห็นว่าพระมหากษัตริย์คลายพระพิโรธแล้ว จึงถวายพระพรว่า “อาตมาภาพพระราชาคณะทั้งปวงเห็นว่าข้าราชการซึ่งเปนโทษเหล่านี้ก็ผิดหนักหนาอยู่แล้ว แต่ทว่าได้ทำราชการมาแต่ครั้งสมเด็จพระบรมไอยกาธิราชแลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทั้งทำราชการในใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทของพระราชสมภารเจ้าแต่เดิมมา ดุจพุทธบริษัทสมเด็จบรมครูเหมือนกัน อาตมภาพทั้งปวงขอพระราชทานโทษคนเหล่านี้ไว้สักครั้งหนึ่งเถิด จะได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณสืบไป” จึงมีรับสั่งว่า “พระผู้เปนเจ้าขอแล้วโยมก็จะถวาย แต่ทว่าจะต้องให้ไปตีเอาเมืองตะนาวศรีเมืองทวายแก้ตัวก่อน” สมเด็จพระพนรัตน์ถวายพระพรว่า “การซึ่งจะใช้ไปตีบ้านเมืองนั้นก็สุดแต่พระราชสมภารเจ้าจะสงเคราะห์ มิใช่กิจของอาตมาภาพทั้งปวงอันเปนสมฌะ” ว่าแล้วสมเด็จพระพนรัตนพระราชาคณะทั้งปวงก็ถวายพระพรลาไป สมเด็จพระนเรศวรจึงโปรดให้นายทัพนายกองที่มีความผิดพ้นจากเวรจำ แล้วดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาจักรียกกองทัพจำนวนพล ๕๐,๐๐๐ ไปตีเมืองตะนาวศรี ๑ แลให้พระยาพระคลังยกกองทัพจำนวนพล ๕๐,๐๐๐ ไปตีเมืองทวายอิกทัพ ๑ พวกนายทัพนายกองที่มีความผิดก็ให้เข้ากองทัพไปทำการแก้ตัวด้วยกันทุกคน ยกไปในปลายปีมโรง พ.ศ. ๒๑๓๕ นั้น

เมืองตะนาวศรีเมืองทวายเปนเมืองขึ้นของไทยมาแต่ครั้งกรุงศุโขไทยเปนราชธานี พม่าชิงเอาไปเสียเมื่อพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนองตีได้กรุงศรีอยุทธยา ด้วยเหตุนี้พอมีโอกาศสมเด็จพระนเรศวรจึงให้ไปตีก่อนเมืองอื่น แต่เมืองทั้ง ๒ นี้ผิดกัน เมืองทวายซึ่งอยู่ต่อแดนมอญข้างเหนือเมืองตะนาวศรี ไพร่บ้านพลเมืองเปนทวายชาติ ๑ ต่างหาก การปกครองเคยตั้งทวายเปนเจ้าเมืองกรมการทั้งหมดจึงเปนแต่ขึ้นกรุง ฯ เหมือนอย่างประเทศราชอันหนึ่ง ไม่สนิทนัก แต่ส่วนเมืองตะนาวศรีซี่งอยู่ใต้เมืองทวายลงมาต่อกับเมืองชุมพรนั้น ไพร่บ้านพลเมืองมีทั้งพวกเม็งแลไทยปะปนกัน แลมีเหตุอิกอย่าง ๑ ตั้งแต่พวกฝรั่งแล่นเรือออกมาได้ถึงประเทศทางตวันออกเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ต่อมามีเรือกำปั่นแขกฝรั่งมาค้าขายที่เมืองมฤทอันเปนเมืองขึ้นตั้งอยู่ที่ปากน้ำเมืองตะนาวศรีปีละหลายๆ ลำทุกปี เพราะอ่าวสำหรับจอดเรือมีเกาะกำบังคลื่นลมได้สนิท แลมีทางขนสินค้ามาถึงกรุงศรีอยุทธยาได้สดวก เมืองมฤทจึงกลายเปนเมืองท่าทำเลค้าขายของเมืองไทยทางอ่าวบังกล่า ซึ่งเราเรียกว่า “ทเลตวันตก” เพราะฉนั้นจึงทรงตั้งข้าราชการในกรุงฯ ออกไปเปนเจ้าเมืองตะนาวศรีอย่างหัวเมืองทั้งปวงแต่โบราณมา เมื่อพม่าชิงเอาเมืองทวายเมืองตะนาวศรีไป ก็เอาแบบอย่างไทยไปปกครอง คือให้พวกทวายปกครองกันเอง แลให้ข้าราชการพม่าลงมาครองเมืองตะนาวศรี.

ครั้นพม่าเจ้าเมืองตะนาวศรีทราบข่าวว่ากองทัพไทยจะยกไปตีเมือง ก็รีบบอกขึ้นไปยังกรุงหงษาวดี ขอกองทัพลงมาช่วยรักษาเมือง แลครั้งนั้นพระเจ้าหงษาวดีก็ทรงพระพิโรธท้าวพระยานายทัพนายกองที่มากับพระมหาอุปราชาอยู่เหมือนกัน จึงตรัสสั่งให้พวกท้าวพระยาเหล่านั้นคุมกองทัพลงมารักษาเมืองทวายเมืองตะนาวศรี ให้มารบกับไทยแก้ตัวใหม่ แต่ในขณะเมื่อกำลังเกณฑ์ทัพอยู่นั้น เจ้าพระยาจักรียกไปถึงเมืองตะนาวศรีเสียก่อน ให้กองทัพล้อมเมืองไว้ พม่าเจ้าเมืองตะนาวศรีต่อสู้อยู่ได้ ๑๕ วันก็เสียเมืองแก่เจ้าพระยาจักรี ส่วนกองทัพพระยาพระคลังซึ่งยกไปตีเมืองทวายได้รบพุ่งกับข้าศึกที่ด่านเชิงเขาบันทัดครั้ง ๑ ข้าศึกแตกพ่ายไป พระยาพระคลังยกกองทัพตามเข้าไปล้อมเมืองทวายไว้ ๒๐ วัน พระยาทวายซึ่งพระเจ้าหงษาวดีตั้งให้ครองเมืองเห็นว่าจะสู้ไม่ได้ ก็ออกมาอ่อนน้อมยอมเปนข้าขอบขัณฑสิมาของกรุงศรีอยุทธยาอย่างเดิม.

ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีเมื่อได้เมืองตะนาวศรีแลเมืองมฤทแล้ว คิดวิตกว่าเมืองทวายอยู่ต้นทาง ถ้าพระเจ้าหงษาวดีให้กองทัพยกลงมา ก็จะเข้าตีกระหนาบเอากองทัพพระยาพระคลัง จึงให้จับเรือกำปั่นที่มาค้าขายอยู่ที่เมืองมฤท ได้เรือสลุบของฝรั่งลำ ๑ ของแขก ๒ ลำ แลเก็บเรือในพื้นเมืองได้อิก ๑๕๐ ลำ จัดเปนเรือรบให้พระยาเทพอรชุนเปนนายทัพเรือ คุมพล ๑๐,๐๐๐ ยกไปเมืองทวายทางทเล แลให้พระยาศรีไสยณรงค์คุมพล ๑๐,๐๐๐ อยู่รักษาเมืองตะนาวศรี แล้วเจ้าพระยาจักรีก็ยกพล ๓๐,๐๐๐ ตามขึ้นไปเมืองทวายโดยทางบก กองทัพเรือพระยาเทพอรชุนยกไปทางทเลถึงตำบลบ้านบ่อ ในแดนเมืองทวาย ประทะกับกองทัพเรือสมิงอุบากองสมิงพระตะบะ ซึ่งพระเจ้าหงษาวดีให้ลงมาช่วยรักษาเมืองตะนาวศรีมีเรือรบบรรทุกรวมกันราว ๒๐๐ ลำ จำนวนพลประมาณ ๑๐,๐๐๐ ก็เข้ารบพุ่งกันที่ในทเล สู้กันแต่เช้าจนเที่ยงยังไม่แพ้ชนะกัน ถึงเวลาบ่ายลมตั้งคลื่นใหญ่ก็ทอดรอกันอยู่ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายพระยาพระคลังเมื่อได้เมืองทวายแล้ว ก็คิดเปนห่วงเจ้าพระยาจักรีเหมือนกัน ด้วยไม่ได้ข่าวว่าจะตีเมืองตะนาวศรีได้แล้วฤๅยัง จึงจัดกองทัพเรือมีจำนวนเรือรบ ๑๐๐ ลำ กับพลทหาร ๕,๐๐๐ ให้พระยาพิไชยสงคราม พระยารามคำแหง คุมลงไปช่วยเจ้าพระยาจักรีที่เมืองตะนาวศรี พอกองทัพออกจากปากน้ำเมืองทวายก็ได้ยินเสียงปืนทางทิศใต้ พระยาพิไชยสงคราม พระยารามคำแหง จึงให้ขุนโจมจตุรงค์คุมเรือลาดตะเวนล่วงน่าลงไปสืบ ได้ความว่ากองทัพเรือของไทยยกขึ้นมาจากข้างใต้ สู้รบอยู่กับกองทัพเรือของพม่า พระยาพิไชยสงคราม พระยารามคำแหงก็ยกกองทัพเข้าตีกระหนาบพม่าลงไปจากข้างเหนือ ฝ่ายพระยาเทพอรชุนรู้ว่ามีกองทัพเรือไทยยกลงมาช่วยทางข้างเหนือก็ยกเข้าตีพม่าทางด้านใต้ กองทัพไทยยิงถูกสมิงอุบากองนายทัพตายในที่รบ แล้วยิงเรือสมิงพระตะบะแลเรือรบข้าศึกแตกจมอิกหลายลำ กองทัพเรือพม่าก็แตกกระจัดกระจาย พวกข้าศึกแล่นใบหนีไปบ้าง เอาเรือเกยฝั่งขึ้นบกหนีไปบ้าง กองทัพไทยจับเปนได้ประมาณ ๕๐๐ ทั้งได้เรือแลเครื่องสาตราวุธอิกเปนอันมาก.

พระยาเทพอรชุน พระยาพิไชยสงคราม พระยารามคำแหง ได้ทราบความจากคำให้การพวกเชลยว่า ยังมีกองทัพของข้าศึกยกลงมาทางบกจากเมืองเมาะตมะ จะมาช่วยเมืองทวายอิกทัพ ๑ จึงรีบรวบรวมกองทัพกลับไปแจ้งความแก่เจ้าพระยาจักรีที่เมืองทวาย เจ้าพระยาจักรีจึงปฤกษากับพระยาพระคลัง จัดกองทัพบกยกขึ้นไปทางริมแม่น้ำทวายเปน ๒ ทาง กองทัพเจ้าพระยาจักรียกขึ้นไปทางฝั่งตวันออก กองทัพพระยาพระคลังยกขึ้นไปทางฝั่งตวันตก ไปซุ่มอยู่สองฟากทางที่กองทัพพม่าจะยกลงมา ฝ่ายกองทัพพม่าที่ยกลงมาทางบกครั้งนั้น ยังไม่ทราบว่าเมืองทวายตะนาวศรีเสียแก่ไทยแล้ว เจ้าเมืองมล่วนเปนนายทัพยกลงมาทางฝั่งตวันออกกอง ๑ ตรงมาทางเมืองกลิอ่อง หมายจะเข้าเมืองทวายทางตำบลเสือข้าม ซึ่งกองทัพไทยตั้งซุ่มอยู่ เจ้าเมืองกลิดตองปุคุมกองทัพยกลงมาตามทางชายทเลข้างฝั่งตวันตกกอง ๑ มาถึงป่าเหนือบ้านหวุ่นโพะ กองทัพไทยเห็นทัพพม่ายกถลำเข้ามาในที่ซุ่มก็ออกระดมตีทั้ง ๒ ทัพ ข้าศึกไม่รู้ตัวก็แตกพ่ายยับเยิน เสียช้างม้าผู้คนแลเครื่องสาตราวุธแก่ไทยเปนอันมาก ไทยจับได้นายทัพนายกอง ๑๑ คน ไพร่พล ๔๐๐ เศษ ครั้นเสร็จการรบแล้ว เจ้าพระยาจักรีบอกเข้ามากราบบังคมทูลฯ สมเด็จพระนเรศวรก็ดีพระไทย โปรดให้พระยาศรีไสยณรงค์รักษาเมืองตะนาวศรีต่อไป ส่วนเมืองทวายนั้นให้เจ้าเมืองกรมการเข้ามาเฝ้าถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาแล้ว โปรดให้กลับไปรักษาเมืองอยู่อย่างเดิม แล้วมีตราให้หากองทัพกลับเข้ามายังพระนคร ในปีมเสง พ.ศ. ๒๑๓๖.

ถึงปลายปีมเสงนั้น สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพหลวงลงไปตีกรุงกัมพูชา มีไชยชนะจับนักพระสัฎฐาเจ้ากรุงกัมพูชาได้ให้ประหารชีวิตรเสียในพิธีปฐมกรรม แล้วกวาดต้อนครอบครัวเขมรมาเปนเชลยเปนอันมาก ครั้นเสด็จกลับมาถึงพระนครจึงดำรัสสั่งให้ตั้งหัวเมืองเหนือที่ได้ทิ้งให้ร้างเมื่อเวลาทำสงครามกู้อิศรภาพอยู่ ๘ ปีนั้น ให้กลับมีเจ้าเมืองกรมการปกครองดังแต่ก่อน ทรงตั้งข้าราชการที่มีบำเหน็จความชอบให้ไปเปนผู้ปกครอง คือ พระยาไชยบูรณ์ข้าหลวงเดิม ที่ได้ทรงใช้สอยทำศึกมาแต่แรกนั้น ให้เปนเจ้าพระยาสุรสีห์ ครองเมืองพิศณุโลก ให้พระศรีเสาวราช (ทำนองจะเปนราชนิกุล) ไปครองเมืองศุโขไทย ให้พระองค์ทอง (เปนเจ้าราชนิกุล) ไปครองเมืองพิไชย ให้หลวงจ่าไปครองเมืองสวรรคโลก แลเข้าใจว่าส่งครอบครัวเขมรที่ได้มาคราวนั้นไปอยู่ที่หัวเมืองเหนือโดยมาก

  1. ๑. ความตอนสมเด็จพระพนรัตนทูลขอโทษข้าราชการตอนนี้ คัดมาตามสำนวนในหนังสือพระราชพงษาวดาร.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ