สงครามครั้งที่ ๗ คราวรบพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกษ ปีระกา พ.ศ. ๒๑๒๘

สงครามคราวนี้ ที่แท้เปนเรื่องเบื้องต้นของสงครามครั้งที่ ๘ ที่ต่อกันไป แต่เพราะรบพุ่งกันเปนตอนหนึ่งต่างหาก แล้วหยุดกันไปเสียคราวหนึ่ง จึงได้นับว่าเปนสงครามคราวหนึ่งต่างหาก เริ่มเรื่องตั้งแต่พระยาพสิมกับพระเจ้าเชียงใหม่มาเสียทีไทยต้องล่าทัพกลับไปเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗ ดังบรรยายมาแล้ว พระเจ้าหงษาวดีทรงทราบก็ขัดเคืองพระเจ้าเชียงใหม่ ว่าเพราะพระเจ้าเชียงใหม่เฉื่อยช้าเสีย ยกลงมาไม่ทันกำหนดพระยาพสิมจึงเสียที จึงมีรับสั่งให้พระยาอภัยคามินีกับซักแซกยอถ่างแลสมิงโยคราชเปนข้าหลวงเข้ามากำกับกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งยับยั้งอยู่ณเมืองกำแพงเพ็ชร ให้ลงมาทำการแก้ตัวใหม่ ยังมิให้กลับคืนไปบ้านเมือง พระเจ้าเชียงใหม่กลัวพระเจ้าหงษาวดีก็ยกกองทัพกลับลงมาตั้งอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ในเดือน ๔ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗ นั้น.

ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีทรงพระดำริห์ว่า ที่คาดว่าไทยจะไม่สู้รบได้แขงแรงอย่างแต่ก่อนนั้นผิดไปเสียแล้ว จำจะต้องยกกองทัพใหญ่เข้ามาเหมือนเมื่อครั้งพระเจ้าหงษาวดีบุเรงนอง จึงจะตีเอากรุงศรีอยุทธยาได้ เวลานั้นความทราบถึงกรุงหงษาวดีว่าไทยทิ้งหัวเมืองเหนือเสียหมด รวบรวมเอากำลังลงมาตั้งรักษาแต่กรุงศรีอยุทธยาแห่งเดียว พระเจ้าหงษาวดีจึงดำรัสสั่งให้พระมหาอุปราชาคุมกองทัพมีจำนวนพล ๕๐,๐๐๐ เข้ามาตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพ็ชรแต่เดือน ๕ ปีระกา พ.ศ. ๒๑๒๘ ให้ไพร่พลทำนาในท้องที่หัวเมืองเหนือ ตระเตรียมเสบียงอาหารไว้สำหรับกองทัพใหญ่ ซึ่งพระเจ้าหงษาวดีจะเสด็จยกมาเองในระดูแล้งข้างปลายปีระกา ให้พระเจ้าเชียงใหม่ลงมาตั้งขัดตาทัพถึงหัวเมืองต่อแขวงจังหวัดกรุง ฯ คอยรบกวนอย่าให้ไทยเปนอันทำไร่ไถนาได้ในปีนั้น โดยประสงค์จะให้เสบียงอาหารข้างกรุงศรีอยุทธยาเบาบาง เวลามาล้อมพระนครจะได้เกิดอดอยากโดยเร็ว พระเจ้าเชียงใหม่จึงยกกองทัพบกทัพเรือรวมจำนวนพล ๑๐๐,๐๐๐ ให้พระยาเชียงแสนเปนนายทัพน่า พระเจ้าเชียงใหม่คุมกองทัพหลวงลงมาจากเมืองนครสวรรค์.

ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุทธยา เมื่อได้ข่าวว่ากองทัพเมืองเชียงใหม่สมทบกับกองทัพเมืองหงษาวดียกลงมาทางข้างเหนือ แต่แรกสมเด็จพระนเรศวรทรงสำคัญว่า ข้าศึกหมายจะลงมาตีกรุงศรีอยุทธยาในต้นปีระกานั้น ทรงพระดำริห์ว่าข้าศึกยกมาพร้อมกันเปนทัพใหญ่ รี้พลมากนัก จะออกไปต่อตีกลางทางเห็นจะไม่ถนัด จึงให้ต้อนผู้คนเข้ามาไว้ในกรุง ฯ เตรียมการรักษาพระนครเปนสามารถ พระเจ้าเชียงใหม่เห็นผู้คนตามหัวเมืองในมณฑลราชธานีเบาบาง ไม่มีผู้ใดต่อสู้ ก็ยกกองทัพล่วงเลยมาตั้งถึงบานสระเกษในแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ (อยู่ใต้บ้านไชโยหน่อยหนึ่ง) แล้วแต่งกองอาสาให้แยกย้ายลงไปเที่ยวไล่ขับจับกุมราษฎรตามแขวงจังหวัดกรุง ฯ เพื่อจะมิให้ทำไร่นาได้ เจ้าเมืองพเยาคุมทัพม้ากองอาสาล่วงเข้ามาเผาบ้านเรือนราษฎรจนถึงสพานเผาเข้าในเขตรกรุง ฯ สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทราบ ก็รีบเสด็จคุมพลทหารออกไปกับสมเด็จพระเอกาทศรถ เข้ารบพุ่งข้าศึกถึงตลุมบอน เจ้าเมืองพเยาตายในที่รบ พวกไพร่พลที่เหลืออยู่ก็พากันแตกหนีไป ทำนองสมเด็จพระนเรศวรจะได้ทรงทราบความจากคำให้การของพวกเชลยที่จับได้ในคราวนี้ ว่าความคิดของข้าศึกจะทำสงครามเปนการแรมปีดังกล่าวมา ทรงพระดำริห์เห็นว่าจะต้องตีกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ให้ถอยไปเสียจึงจะไม่เสียเปรียบข้าศึก จึงทูลความแก่สมเด็จพระราชบิดา ทรงเห็นชอบด้วยแล้ว ก็ให้จัดกองทัพบกทัพเรือมีจำนวนพล ๘๐,๐๐๐ ให้ไปตั้งประชุมพลที่ทุ่งลุมพลี.

ในเวลาเมื่อกำลังรวบรวมไพร่พลจัดกองทัพอยู่นั้น ได้ข่าวลงมาถึงสมเด็จพระนเรศวรว่า มีพวกกองอาสาเมืองเชียงใหม่ยกลงมาเที่ยวไล่ขับจับคนจบถึงบ้านป่าโมกอิกทาง ๑ พอได้ทรงทราบก็รีบเสด็จโดยกระบวนเรือเร็วไปกับสมเด็จพระเอกาทศรถแลข้าราชการที่รักษาพระองค์ในทันใดนั้น พอเสด็จไปถึงตำบลป่าโมกน้อยก็พบกองทัพสะเรนันทสูซึ่งพระเจ้าเชียงใหม่ให้คุมพล ๕,๐๐๐ ยกลงมาเที่ยวรังแกราษฎรทางเมืองวิเศษไชยชาญ จึงรับสั่งให้เทียบเรือเข้าข้างฝั่ง สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จขึ้นบกยกพลเข้าโจมตีทัพข้าศึกรบพุ่งกันเปนสามารถ ครั้งนี้สมเด็จพระนเรศวรทรงยิงพระแสงปืนถูกนายทัพเชียงใหม่ตายคน ๑ ข้าศึกต้านทานไม่ได้ก็แตกหนีกลับขึ้นไปข้างเหนือ พวกพลอาสาต่างแล่นไล่ติดตามขึ้นไป จนประทะกองทัพพระยาเชียงแสนทัพน่าของพระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งยกตามลงมาก็รบพุ่งกัน พวกกองอาสาน้อยกว่า ต้านทานไม่ไหวต้องล่าถอย พวกเชียงใหม่ก็ไล่ติดตามลงมา สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทราบว่าข้าศึกไล่ประชิดกองอาสาลงมา เกรงจะกลับลงเรือไม่ทัน จึงให้เลื่อนเรือพระที่นั่งกับเรือที่มีอยู่ในกระบวนเสด็จขึ้นไปรายลำอยู่ข้างเหนือปากคลองป่าโมกน้อย พอข้าศึกไล่กองอาสามาถึงนั่นก็ให้เอาปืนใหญ่น้อยระดมยิงข้าศึกขึ้นไปจากในเรือ ฝ่ายข้าศึกเห็นทัพเรือไทยขึ้นไปช่วยกัน ก็ละพวกอาสารบพุ่งกับทัพเรือ ข้าศึกตั้งรายบนตลิ่งยิงปืนตอบโต้กับทัพเรือ สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถต่างทรงพระแสงปืนนกสับยิงข้าศึกไปแต่เรือพระที่นั่งกับด้วยพลทหารทั้งปวง แลครั้งนั้นรบกันใกล้ ๆ ผู้คนถูกปืนเจ็บป่วยล้มตายลงด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย แต่สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถหาต้องอาวุธข้าศึกไม่ รบกันอยู่จนกองทัพบกซึ่งยกไปจากกรุงฯ ตามขึ้นไปถึงเข้าช่วยรบพุ่ง กองทัพพระยาเชียงแสนก็ถอยหนีกลบขึ้นไปข้างเหนือ สมเด็จพระนเรศวรจึงรับสั่งให้รวบรวมกองทัพทั้งปวงตั้งอยู่ที่ตำบลป่าโมกนั้น

ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ตั้งอยู่ที่บ้านสระเกษ ทราบว่าสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพขึ้นไปตีกองสะเรนันทสูแตก แลรบพุ่งกองทัพพระยาเชียงแสนต้องถอยหนีไป คาดว่าสมเด็จพระนเรศวรคงจะยกกองทัพตามขึ้นไป จึงปฤกษาแม่ทัพนายกองทั้งปวงเห็นพร้อมกันว่า ควรจะยกกำลังเปนกองทัพใหญ่ชิงลงมาตีไทยเสียก่อน อย่าให้ทันยกขึ้นไปบุกรุกจึงจะได้เปรียบในเชิงสงคราม พระเจ้าเชียงใหม่จึงให้จัดกองทัพ ให้พระยาเชียงแสนกับพระยาสะเรนันทสูทำการแก้ตัวเปนทัพน่าคุมพล ๑๕,๐๐๐ กองทัพหลวงของพระเจ้าเชียงใหม่มีจำนวนพล ๖๐,๐๐๐ กำหนดฤกษ์จะยกลงมาในเดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ ปีระกา พ.ศ. ๒๑๒๘.

ขณะเมื่อพระเจ้าเชียงใหม่เตรียมทัพจะยกลงมานั้น กองทัพสมเด็จพระนเรศวรประชุมพร้อมกันอยู่ที่ป่าโมก ทรงพระดำริห์ว่ากองทัพพระยาเชียงแสนเปนแต่ถอยหนีไปมิได้แตกยับเยิน น่าจะไปหากำลังเพิ่มเติมยกลงมาอิก แต่เหตุไฉนหายไปหลายวันไม่ยกลงมา ดีร้ายพระเจ้าเชียงใหม่จะคิดเปนอุบายการศึกสักอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงดำรัสสั่งให้พระราชมนูคุมกองทัพมีจำนวนพล ๑๐,๐๐๐ ยกขึ้นไปตรวจตระเวนดูว่าข้าศึกจะทำอย่างไร แล้วสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็เสด็จยกกองทัพหลวงเปนกระบวนทัพบกมีจำนวนพล ๓๐,๐๐๐ ตามขึ้นไป

กองทัพพระราชมนูยกขึ้นไปถึงบางแก้ว ประทะกับทัพน่าของพระเจ้าเชียงใหม่ที่ยกลงมา ก็รบพุ่งกัน ขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปถึงบ้านแห ได้ยินเสียงปืนใหญ่น้อยหนาขึ้นทุกทีก็ทรงทราบว่าพระราชมนูขึ้นไปพบกองทัพเชียงใหม่ที่หมายจะลงมาตีกองทัพไทย จึงทรงพระดำริห์เปนกลอุบายกระบวนรบ ให้หยุดกองทัพหลวงมิให้ตามขึ้นไปช่วยพระราชมนู แล้วแปรกระบวนทัพหลวงไปซุ่มอยู่ที่ป่าจิกป่ากระทุ่มข้างฝั่งตวันตก แล้วดำรัสให้ข้าหลวงขึ้นไปสั่งพระราชมนูให้ลาดถอยลงมา ฝ่ายพระราชมนูทำนองจะเห็นว่ากำลังพลไล่เลี่ยกับกองทัพน่าของพระเจ้าเชียงใหม่ที่รบพุ่งกันอยู่ พอจะต่อสู้รอกองทัพหลวงให้ขึ้นไปถึงได้ก็ไม่ถอยลงมา สมเด็จพระนเรศวรดำรัสสั่งให้จมื่นทิพรักษาเปนข้าหลวงขึ้นไปเร่งให้ถอยอิก พระราชมนูก็สั่งให้มากราบทูลว่า รบพุ่งกับข้าศึกติดพันกันอยู่แล้ว ถ้าถอยเกรงจะเลยแตกพ่ายเอาไว้ไม่อยู่ สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงฟังก็ทรงพระพิโรธ ดำรัสสั่งให้จมื่นทิพรักษาคุมทหารม้าเร็วรีบกลับขึ้นไปสั่งพระราชมนู ให้ถอย ถ้าไม่ถอยก็ให้ตัดเอาศีศะพระราชมนูมาถวาย พระราชมนูแจ้งกระแสรับสั่งก็ตกใจ ให้โบกธงบอกสัญญาสั่งให้ถอยทัพ นายทัพนายกองทั้งปวงเห็นธงสัญญาต่างพากันล่าถอย ขณะนั้นพอกองทัพหลวงพระเจ้าเชียงใหม่ยกหนุนลงมาถึง พวกเชียงใหม่สำคัญว่ากองทัพไทยแตกก็ดีใจ พากันโห่ร้องรุกไล่ลงมา เห็นไทยเอาแต่หนีก็ยิ่งชิงกันไล่ ด้วยอยากได้ช้างม้าข้าเชลยเปนอาณาประโยชน์ติดตามมามิได้เปนกระบวนศึก จนถึงที่สมเด็จพระนเรศวรซุ่มกองทัพหลวงอยู่ ทอดพระเนตรเห็นข้าศึกเสียกลสมพระประสงค์ ก็ให้ยิงปืนโบกธงสัญญายกกองทัพหลวงเข้ายอกลางทัพข้าศึก ฝ่ายพระราชมนูเห็นกองทัพหลวงเข้าตีโอบดังนั้น ก็โบกธงสัญญาให้กองทัพกลับตีกระหนาบเข้าไปอิกด้านหนึ่ง ได้รบพุ่งกันถึงตลุมบอน กองทัพเชียงใหม่เสียทีก็แตกพ่ายทั้งทัพน่าทัพหลวง สมเด็จพระนเรศวรเห็นได้ทีก็เร่งกองทัพให้ติดตามตีข้าศึกจนแตกฉานยับเยินคุมกันไม่ติด ที่ถูกฆ่าฟันตายเสียก็มาก ตัวนายตายในที่รบครั้งนั้นท้าวพระยาเชียงใหม่ ๕ คน คือ พระยาลอ ๑ พระยากาว ๑ พระยานคร ๑ พระยาเชียงราย ๑ พระยางิบ ๑ พระยามอญที่มากำกับทัพ คือ สมิงโยคราชกับสะเรนันทสูเจ้าเมืองเตรินก็ตายในที่รบด้วย แลกองทัพไทยได้ช้างใหญ่ ๒๐ ช้าง ม้า ๑๐๐ เศษ กับเครื่องสาตราวุธอิกเปนอันมาก.

สมเด็จพระนเรศวรทรงพระดำริห์ว่า ข้าศึกเสียทัพกำลังตื่นตกใจ เปนโอกาศที่จะทำซ้ำเติมอย่าให้ตั้งตัวได้ จึงจะเสร็จศึกสมพระประสงค์ จึงเสด็จยกกองทัพหลวงติดตามข้าศึกขึ้นไปในวันนั้นจนเวลาพลบค่ำถึงบ้านชะไว เห็นว่ารี้พลเหน็ดเหนื่อยจึงประทับแรมที่บ้านชะไว แลสั่งนายทัพนายกองทั้งปวงให้เตรียมไปแต่เพลาดึก ให้ถึงบ้านสระเกษเข้าตีค่ายพระเจ้าเชียงใหม่แต่เช้าตรู่ให้พร้อมกัน ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่หนีกลับขึ้นไปถึงบ้านสระเกษ ทราบว่ากองทัพไทยยกติดตามขึ้นไป ก็เลยหนีต่อไปแต่ในเพลากลางคืน ครั้นกองทัพไทยขึ้นไปถึงบ้านสระเกษเมื่อเดือน ๕ แรม ๔ ค่ำ เพลาเช้า เห็นแต่พวกข้าศึกกำลังอลหม่านไม่มีผู้ใดต่อสู้ กองทัพไทยก็ได้ค่ายพระเจ้าเชียงใหม่โดยง่าย จับได้พระยาเชียงแสนนายทัพน่าของพระเจ้าเชียงใหม่แลรี้พลนายไพร่เปนเชลยรวมหมื่นเศษ กับช้าง ๑๒๐ ช้าง ม้า ๑๐๐ เศษ เรือรบแลเรือเสบียงรวม ๔๐๐ ลำ ได้ทั้งเครื่องสาตราวุธยุทธภัณฑ์เสบียงอาหารอิกเปนอันมาก แม้จนเครื่องราชูประโภคของพระเจ้าเชียงใหม่ก็ทิ้งไว้หลายอย่าง.

เมื่อได้ค่ายที่บ้านสระเกษแล้ว สมเด็จพระนเรศวรเสด็จติดตามข้าศึกขึ้นไปจนถึงเมืองนครสวรรค์ แต่เห็นว่าพระเจ้าเชียงใหม่หนีไปสมทบกับกองทัพพระมหาอุปราชาแล้ว จะติดตามต่อไปไม่ได้ที จึงให้ยกกองทัพกลับมา แลครั้งนั้นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชทรงพระวิตกเกรงว่าพระมหาอุปราชาจะยกกองทัพหนุนพระเจ้าเชียงใหม่ลงมาอิกทัพ ๑ จึงให้จัดกองทัพหลวงเสด็จโดยกระบวนเรือจากกรุงศรีอยุทธยาเมื่อเดือน ๕ แรม ๔ ค่ำ ยกหนุนสมเด็จพระนเรศวรขึ้นไปถึงปากน้ำบางพุทรา สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จกลับลงมา จึงกราบทูลการที่ได้รบพุ่งมีไชยชนะข้าศึกให้สมเด็จพระราชบิดาทรงทราบทุกประการ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชก็มีรับสั่งให้เลิกกองทัพทั้งปวงกลับคืนมายังพระนคร.

  1. ๑. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า จำนวนพลของพระเจ้าเชียงใหม่ ๑๐๐,๐๐๐ เห็นว่าจะมากเกินไป.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ