- คำนำ
- ภาค ๑ การสร้างทรัพย์
- หมวด ๑ ว่าด้วยคุณประโยชน์
- หมวด ๒ ว่าด้วยลักษณทรัพย์
- หมวด ๓ ว่าด้วยสิ่งสำคัญที่จะต้องใช้ในการทำให้เกิดผลเปนทรัพย์
- หมวด ๔ ว่าด้วยลักษณแรงทำการ
- หมวด ๕ ว่าด้วยวิธีปันหน้าที่ทำการ
- หมวด ๖ ว่าด้วยการระดม
- หมวด ๗ ว่าด้วยทำนองทำการอย่างใหญ่และทำการอย่างน้อย
- หมวด ๘ ว่าด้วยลักษณทุน
- หมวด ๙ ว่าด้วยการลงทุน
- หมวด ๑๐ ว่าด้วยกฎธรรมดาทั้งหลาย ซึ่งเปนที่บังคับสำหรับให้เกิดผลเปนทรัพย์เพิ่มพูลยิ่งขึ้น
- หมวดที่ ๑๑ ว่าด้วยกฎธรรมดาซึ่งเปนที่บังคับให้ทุนเพิ่มพูลยิ่งขึ้น
- ภาคที่ ๒ การแบ่งปันทรัพย์
- หมวด ๑ ว่าด้วยกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สมบัติ
- หมวด ๒ ว่าด้วยทรัพย์ซึ่งสร้างเปนผลขึ้นแล้ว จะได้เปนส่วนแบ่งปันแก่คนจำพวกใดบ้าง
- หมวด ๓ ว่าด้วยค่าเช่าที่ดิน
- หมวด ๔ ว่าด้วยค่าแรง
- หมวด ๕ ว่าด้วยกำไร
- หมวด ๖ ว่าด้วยสมาคมคนทำงาน และการที่คนทำงานพร้อมใจกันละทิ้งการงาน
- หมวด ๗ ว่าด้วยผลที่ร้ายของการประมูลแข่งขัน
- หมวด ๘ ว่าด้วยวิธีทำการร่วมกัน โดยร่วมทุนร่วมแรงและร่วมผลประโยชน์ในระหว่างคนทำงาน
- หมวด ๙ ว่าด้วยการศึกษาและการประหยัดทรัพย์
หมวด ๔ ว่าด้วยลักษณแรงทำการ
ตามที่ได้กล่าวมาแต่ต้นแล้วนั้น ได้ความชัดว่าธรรมดาของโลกกระทำให้สัมภารทั้งหลายเกิดขึ้นเองในแผ่นดิน แต่สัมภารเหล่านั้นถึงจะดีวิเศษอย่างใดก็ยังหาค่ามิได้ คนต้องออกแรงและความคิดประกอบเพิ่มเติมเข้าอีกชั้นหนึ่ง สัมภารนั้นซึ่งจะเปนประโยชน์เกิดผลเปนทรัพย์ได้ คือแรงทำการกระทำให้สรรพคุณที่มีอยู่ในสัมภารทั้งหลายเปนประโยชน์ขึ้น
ของโดยมากเมื่อพิจารณาดูก็พึงเห็นได้ว่า กว่าคนเราจะเอามาใช้เปนประโยชน์ได้สมความปราถนา จะต้องออกแรงทำมากมายยากยุ่งสักเพียงใดจึงจะใช้ได้ ของแต่ละสิ่งลักษณแรงทำการกว่าจะเปนรูปขึ้นได้สมกับความต้องการของคน จะต้องทำวิธีแก้ไขดัดแปลงแต่งสรรผลัดมือต่อ ๆ กันเปนชั้นเปนลำดับไปมากมายสับสนสักปานใด วิธีทำชั้นหนึ่งลำดับหนึ่งก็ต้องใช้แรงคน และฝีมือกับความคิดต่างกันเรื่อยไป จนกว่าของนั้นจะไปถึงที่สุดที่จะใช้เปนประโยชน์ได้
ผ้าเช็ดหน้าผืนน้อยที่เราใช้อยู่ ถ้าจะพิจารณาดูว่าเปนขึ้นได้อย่างใด ก็ต้องสืบสาวย้อนต้นขึ้นไปตั้งแต่ชาวไร่ในประเทศอเมริกาเอาเมล็ดฝ้ายลงหว่าน ได้ผลแล้วขนไปส่งโรงหีบ ๆ แล้วบรรทุกรถไฟไปลงเรือกำปั่นนำไปส่งโรงทอผ้าในเมืองอังกฤษปั่นด้ายทอเปนผ้าแล้ว จัดลงบรรจุหีบห่อส่งลงรถไฟเรือไฟต่อมาถึงเมืองเรา ยังมีลูกค้ารับมาขายจนเราได้ไปซื้อมาใช้
ที่เกิดของเมล็ดฝ้ายอยู่ห่างไกลจากเมืองเราข้างละซีกโลก ระยะทางที่ส่งผ้าต่อ ๆ กันมานับได้กว่าพันโยชน์ และเมื่อคิดไปถึงแรงคนที่ได้ใช้ช่วยทำผ้านั้นแล้ว ก็เปนอันสุดวิสัยที่จะประมาณได้ถูกว่าสักกี่พันคน คิดย้อนหลังขึ้นไปตั้งแต่พวกทำเครื่องไถคราดจอบเสียม รถเกวียนขนฝ้าย เครื่องหีบเครื่องจักร์กลไกร้อยอย่างต่างชนิดที่ต้องใช้แต่เฉภาะการทำผ้า ไหนยังจะต้องคิดไปถึงพวกขุดถ่านขุดแร่ถลุงโลหะต่าง ๆ ที่ต้องใช้ทำเครื่องเหล่านั้นอีก ยังมีพวกก่อสร้างรถไฟต่อเรือเล็กใหญ่ต่าง ๆ ที่ขนผ้านั้นด้วย ที่สุดต้องใช้ฝีมือและวิชาความคิดช่างสาระพัดช่าง แต่โดยที่ผลัดมือกันทำเปนชั้น ๆ มาจนเปนรูปผ้าเช็ดหน้าผืนหนึ่งเท่านั้น ก็เหลือวิสัยที่จะบรรยายให้ทั่วถึง
แรงทำการของคนจำพวกต่าง ๆ ที่ยกมากล่าวนี้ กระทำให้สรรพคุณในสัมภาร ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยลำพังของธรรมดา เกิดผลเปนทรัพย์ขึ้นทั้งสิ้น และเมื่อคิดย้อนหลังขึ้นไปอีกก็จะเห็นได้ว่า นอกจากนี้ยังมีแรงของบิดามารดาผู้อุปการอุปัชฌาย์อาจารย์ของคนเหล่านั้น ช่วยโดยทางอ้อมอีกต่างหาก เพราะคุณของบิดามารดาผู้อุปการและอุปัชฌาย์อาจารย์ได้บำรุงเลี้ยงและฝึกสอนวิชาความรู้เตรียมคนเหล่านั้นมาแต่ต้นเดิม คนเหล่านั้นจึงสามารถทำการงานได้ดี คุณอย่างนี้ต้องจัดเอาเปนคุณอย่างประเสริฐ ที่อาจช่วยทำประโยชน์ได้โดยทางตรงและทางอ้อมเปนอันมาก สักแต่ว่ามีกำลังและร่างกายบริบูรณ์พอแล้วจะทำการได้ก็จริง แต่ผลที่จะเกิดขึ้นได้จากแรงทำการมากหรือน้อย ยังต้องสุดแล้วแต่สันดานของคนที่บิดามารดาได้อุส่าห์ดัดวิสัยมา และอาศรัยความรู้ความประพฤติดีชั่วและความเล่าเรียน ซึ่งอุปัชฌาย์อาจารย์ได้สั่งสอนมาแต่ต้นด้วย ธรรมดาคนดีคนฉลาดย่อมจะสามารถทำประโยชน์ได้ดีแน่นอนกว่าคนชั่วคนเขลาอยู่เสมอ
แต่แรงทำการของคนที่ไม่ทำให้บังเกิดผลเปนทรัพย์ได้ก็มีมาก เช่นแรงทำการของนักเลงบางจำพวก และแรงทำการของคนขอทานเปนต้น คนขอทานถึงจะออกแรงเที่ยวเดินขอทานเหน็ดเหนื่อยสักเพียงใด ก็ไม่ทำสิ่งใดให้เกิดผลเปนทรัพย์ได้มีแต่จะทำให้ทรัพย์สูญสิ้นไป อาหารและเครื่องใช้เครื่องนุ่งห่มที่คนชนิดนี้บริโภค ก็ไม่ทำให้กลับมีผลขึ้นได้เหมือนกัน
แรงทำการจึงจัดแยกออกได้เปนสองอย่าง คือ แรงที่ทำให้บังเกิดผลเปนทรัพย์ และแรงที่ไม่ทำให้บังเกิดผลเปนทรัพย์ ส่วนของที่คนบริโภคใช้สรอยก็แยกออกเปนสองอย่างได้ตามกัน คือ ของที่บริโภคแล้วทำให้บังเกิดผลเปนทรัพย์กลับคืนมาได้หนึ่ง ที่บริโภคแล้วไม่ทำให้บังเกิดผลเปนทรัพย์กลับคืนมาได้หนึ่ง
ความสี่อย่างนี้ควรเปนที่สังเกตของผู้ที่จะทำการหาผลประโยชน์อยู่เสมอ ความเปลืองน้อยเปลืองมากเปนเพราะเหตุเหล่านี้อยู่บ้าง
แรงทำการที่สามารถจะทำผลได้ดี แต่ไม่เปนประโยชน์ก็มี
คำที่กล่าวว่า “ทำเรือนผิดคิดจนเรือนทลาย” นั้น มีตัวอย่างอยู่เนือง ๆ ทำแล้วแก้ ๆ แล้วเติม ๆ แล้วรื้อเช่นนี้ แรงของคนทำการที่ออกไปก็เปนอันว่าเสียเปล่าทั้งสิ้น เพราะลงปลายแรงทำการนั้นถึงจะดีเพียงใด เมื่อทำลายเรือนเสียแล้วก็ไม่เกิดผลอะไร
และคนที่ทำการให้เกิดผลเปนทรัพย์ได้ดี แต่ใช้สรอยบริโภคบางอย่างที่ไม่ทำให้กลับคืนเปนผลมาได้อีกก็มี เช่นซื้อเครื่องเพ็ชร์มาประดับตัวและเสพสุรายาฝิ่นเปนต้น ของเช่นนี้ไม่ช่วยให้แรงทำการที่มีผลขึ้นเลย เปนของเปลืองไม่มีประโยชน์แท้
การบริโภคทรัพย์เปนผลและไม่เปนผลนี้ เมื่อกล่าวถึงลักษณทุนจะเปนเรื่องชี้แจงต่อไปอีก
ความมุ่งหมายของคนย่อมมีอยู่เสมอว่า จะทำการอย่างใดจึงจะได้ผลอย่างมากที่สุด โดยที่จะออกแรงเหนื่อยยากแต่พอสมควร และเมื่อได้คิดหาทางต่อไปก็คงเห็นได้ว่ากิจธุระที่จะทำนั้น ควรจะเลือกทำเมื่อเวลาสดวกที่สุด ๑ ทำในที่เหมาะที่สุด ๑ ทำโดยวิธีอย่างดีที่สุด ๑
จะทำการเมื่อเวลาสดวกที่สุด ก็ควรให้ต้องกับสมัยหรือเวลาที่เห็นว่าจะทำได้สำเร็จโดยง่าย และทำเมื่อเวลาซึ่งอาจจะได้ผลจากน้ำแรงอย่างมากที่สุด ตรงกันกับความว่าถ้าประกอบกิจธุระให้ต้องตามกาละเทสะแล้ว ก็จะบันลุความเจริญด้วยวิบุลยผล
ชาวนาจะลงมือไถคราดและปลูกเข้าได้สดวกก็ต้องคอยไปจนตั้งต้นฤดูฝน ๆ ตกโชกชุ่มแผ่นดินอ่อน จะไถคราดไม่หนักแรงโคกระบือนัก ก็สามารถจะเตรียมที่เพาะปลูกในที่กว้างใหญ่ในเวลาอันน้อยได้ เมื่อปลูกเข้าลงมีน้ำฝนช่วยเลี้ยงต้นเข้าให้เจริญงอกงามอยู่แล้ว ก็ต้องได้ผลเปนเมล็ดเข้าบริบูรณ์อยู่เอง ชาวสวนจะปลูกต้นไม้ก็ต้องปลูกเมื่อหน้าฝน มิฉนั้นจะต้องตักน้ำรดต้นไม้ได้ความเหนื่อยยากเปนอันมาก ชาวเรือเมื่อได้ลมดีสบเหมาะกันกับเวลาน้ำไหลขึ้นลง จึงจะออกเรือเพื่ออาศรัยกำลังลมและน้ำช่วยพัดเรือให้แล่นไปถึงที่เร็วขึ้น ถ้าประกอบการทำผลประโยชน์อยู่ในทะเล ก็ต้องทำให้ถูกกับมรสุมเที่ยวหลีกเลี่ยงหาที่อาศรัยกำบังพายุและคลื่น มิฉนั้นก็จะไม่ได้ผลมากทั้งอาจจะเปนอันตรายเพราะคลื่นลมได้ด้วย
ธรรมดาพ่อค้าย่อมคอยฟังข่าวอยู่เปนนิจว่า ในขณะเดียวกันนั้น สินค้าที่ไหนราคาต่ำที่ไหนราคาสูง เมื่อถึงเวลาสมเหมาะจะได้รีบไปซื้อสินค้าณที่ราคาต่ำ ไปขายณที่ราคาสูงให้ทันเวลาจึงจะได้กำไรมาก
กล่าวแต่เพียงนี้ก็เห็นได้ชัดแล้วว่าเวลาเปนสิ่งสำคัญ ในการช่วยทำให้เกิดผลเปนทรัพย์ได้สดวกอย่างใด เมื่อทำการในเวลาที่สดวกก็ได้กำไรมาก ทำการถูกฤดูถูกเวลาเหมาะก็ได้อาศรัยกำลังน้ำและลม ซึ่งเปนการกธรรมดาทำให้เปนขึ้นเองนั้น ช่วยให้เบาแรงทำการได้เนื้อเปนอันมาก
มีคำเปนคติอยู่ว่า ถ้าทำพรุ่งนี้จะสดวกกว่าก็ไม่ควรจะทำในวันนี้ แต่ยังมีคติที่ยิ่งไปอีกชั้นหนึ่งว่า ถ้าจะทำในวันนี้ได้สดวกกว่า ก็ไม่ควรจะผัดเวลาไปทำพรุ่งนี้
จะทำการในที่เหมาะดีที่สุด ก็ต้องเลือกหาทำเลที่สมควรกับการนั้นแน่แล้ว ย่อมจะเห็นได้ชัดด้วยกันทุกคน ใครจะไปต่อเรือบนภูเขา หรือปลูกเข้าบนกองหินให้ป่วยการเสียแรงเปล่า แต่ในการบางอย่างจำจะต้องตริตรองเลือกหาที่ทำการให้เหมาะอยู่บ้าง เปนต้นว่าจะตั้งร้านขายของย่อยถ้ามีทุนมากไปตั้งขายของอยู่หัวเมืองบ้านนอก ถึงจะขายได้ราคาแพงก็จะค้าใหญ่โตไม่ได้เต็มทุน เพราะมีคนซื้อน้อย ถ้ามาตั้งในกรุงเทพฯ ซึ่งมีคนซื้อมากถึง จะต้องขายของให้ราคาต่ำ เพราะมีร้านแข่งแย่งราคากันขายมาก ก็ยังจะมีกำไรมาก โดยที่จะนับเอาของที่จะขายได้เร็วเข้าบวกกัน จะใช้ทุนหมุนเวียนได้หลายรอบในเวลาเดียวกัน ทั้งจะขยายห้างร้านให้ใหญ่โตขึ้นตามทุนที่เกิดผลมากขึ้นเท่าใดก็ได้ มีเขตร์คั่นยืดยาวกว่าที่จะไปตั้งอยู่หัวเมืองบ้านนอก
ผู้ใดมีทุนน้อยปราถนาจะขายของย่อยให้ได้กำไรมาก ก็ควรจะเลือกหาที่ ๆ มีร้านขายของอย่างเดียวกันน้อยร้าน จึงจะไม่ต้องแข่งแย่งราคากันนัก ในที่แห่งใดที่มีคนซื้อมากแต่มีของน้อย ราคาของก็ต้องสูง เพราะผู้ซื้อแข่งราคากันขึ้นให้แก่ผู้ขายเอง มิฉนั้นก็จะซื้อของไม่ได้ ในที่ใดที่มีของขายมากแต่มีผู้ซื้อน้อย ของนั้นก็ต้องขายราคาถูก เพราะผู้ขายแข่งแย่งกันขายลดราคาให้ผู้ซื้อเอง มิฉนั้นก็จะขายของไม่ได้ ความข้อควรจำไว้เปนคติเสมอ
เหตุใดผลเงาะบางบนจึงมีรสดี ราคาแพงกว่าเงาะบางล่าง และเหตุใดส้มโอส้มเขียวหวานบางล่างจึงมีรสดี มีราคาสูงกว่าส้มโอส้มเขียวหวานบางบน เปนอันตรงกันข้ามเช่นนี้ ก็พอจะเห็นได้แล้วว่า การเลือกที่ ๆ เหมาะดีจึงจะทำการได้ผลมาก ที่บางล่างและบางบนก็ปลูกเงาะปลูกส้มโอได้ทั้งสองแห่ง ค่าแรงที่จะทำสวนนั้นก็คงเท่ากัน แต่รสดีมีราคาสูงกว่ากันเพราะที่ดินจัดหรือเค็มเท่านั้น ก็กระทำให้ผลของค่าแรงทำการเกิดมีมากขึ้นกว่ากันได้ แม้แต่ที่แผ่นดินจะกว้างยาวเท่ากัน ส่วนส้มบางล่างคงแพงกว่าสวนส้มบางบน และสวนเงาะบางบนคงแพงกว่าสวนเงาะบางล่างเปนธรรมดา เพราะได้ผลเปนทรัพย์มากกว่ากัน
เข้าเปลือกซึ่งขายในที่นาดอนห่างไกลทางน้ำทางรถไฟ ราคาต่ำถึงเกวียนละ ๖ ตำลึงก็มี แต่เข้าอย่างเดียวกันซึ่งเกิดในนาที่อยู่ใกล้ชิดทางน้ำทางรถไฟ ขายได้ราคาถึง ๑๒ ตำลึง มากกว่ากันเท่าตัว ค่าแรงที่ใช้ในการทำนาสองแห่งก็เท่ากัน แต่เปนเหตุเพราะที่ ๆ อยู่ห่างไกลทางนั้นกันดาร โดยจะต้องเปลืองค่าแรงขนแบกหาม หรือเสียค่าโคเกวียนบรรทุกมาแต่ไกลเพิ่มเติมอิก เข้านั้นก็ต้องขายราคาต่ำอยู่เอง เมื่อการเปนดังนี้จึงเห็นได้ว่าที่ ๆ อยู่ทางไกลจะทำให้ค่าแรงทำการเพาะปลูกได้ผลน้อย เพราะต้องเสียค่าขนอันแพงไปเสียเปล่า
ลักษณที่จะเลือกที่ทำการให้เหมาะมีหลายอย่างต่างกันนัก จะคิดทำการอย่างใด จำจะต้องพิจารณาให้รอบคอบไปจึงจะดีได้
ทำการโดยวิธีอย่างดีที่สุด ในการทำมาหากินทั้งปวงซึ่งจะได้ทำอยู่แห่งใดนั้น ข้อสำคัญจะต้องคอยระวังตุให้คนทำงานประกอบการตามวิธีอย่างดีที่สุด เพื่อจะมิให้คนทำงานป่วยการเสียเวลาและทำการผิดพลั้งไปต่าง ๆ การชนิดเดียวกันก็อาจจะทำโดยวิธีหลายอย่างต่างกันได้ แต่จะเลือกทำตามวิธีอย่างใดจึงจะได้ผลของแรงทำการมากดีที่สุดนั้น คนทำการจะต้องมีความฉลาดและความชำนาญประกอบด้วย มิฉะนั้นก็ต้องมีผู้รู้ผู้ชำนาญชี้แจงให้ทำ นอกจากนี้ยังจะต้องทำการโดยวิธีซึ่งจะปันหน้าที่พนักงานกันทำเปนสิ่งเปนอย่างไปคนละต่างหากอีกชั้นหนึ่งเพื่อประสงค์จะให้คนทำงานต่าง ๆ กันนั้นได้ทำแต่ล้วนอย่างที่เขาจะทำได้ถนัดดีที่สุด เมื่อเปนฉะนี้เราจึงต้องการใช้ศิลปวิทยาความรู้ ๑ ต้องการใช้วิธีปันหน้าที่กันทำการเปนสิ่งเปนอย่าง ๑
ความต้องการใช้ศิลปวิทยา เพื่อจะทำการให้ได้ผลอย่างดีที่สุดนั้น ใช่ว่าจะต้องอาศรัยแต่ฝีมือชำนาญของคนทำง่ายฝ่ายเดียว จำจะต้องอาศรัยวิชาความรู้ประกอบเข้ากับการที่ทำอยู่นั้นด้วย
ความรู้ในวิสัยของธรรมดา เปนความรู้ถึงมูลเหตุแห่งสรรพสิ่งทั้งปวง คือรู้ว่าจะเอาสิ่งอันใดมาประกอบเข้ากับสิ่งใดจึงจะผันแปรหรือกลายเปนผลอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นได้
เปนต้นว่าเครื่องจักร์ที่ใช้ไอน้ำร้อนเปนกำลังขับให้เลื่อนไปมาได้นั้น ก็เพราะคนได้ความรู้ขึ้นว่า ถ้าเอาความร้อนมาประกอบเข้ากับน้ำ คือต้มน้ำเข้าแล้ว จะต้องได้ผลเปนไอน้ำร้อนซึ่งสามารถจะแผ่ยึดตัวหรือเบ่งออกเปนกำลังได้โดยแรง เพราะฉะนั้นเตาไฟ, ถ่านหม้อน้ำและน้ำจึงเปนมูลเหตุต่าง ๆ ที่ช่วยผันแปรให้เกิดผลเปนกำลังของเครื่องจักร์ขึ้นได้
เมื่อรู้ว่าความร้อนอาจจะทำให้สิ่งที่เปนของแข็งและสิ่งที่เหลวเปนน้ำเหล่านี้ยืดตัวออกได้แล้วคนเราก็เอาความรู้นั้นมาใช้เปนประโยชน์ได้ต่าง ๆ นานา เปนต้นว่าวงเหล็กพืดที่ช่างทำรถทำเกวียนใช้รัดรอบขอบล้อไม้เพื่อจะให้แข็งแรงใช้การได้นานนั้น ต้องเผาวงเหล็กให้ร้อนจนขยายยืดตัวออกพอแล้ว จึงสวมลงกับขอบล้อไม้ เมื่อวงเหล็กเย็นลงเหล็กนั้น ก็กลับหดห่อตัวรัดกุมขอบล้อไม้เข้าไว้ได้มั่นคงแข็งแรง
สพานเหล็กอันใหญ่ยาวเช่นที่ทำสำหรับให้รถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองไปทางเมืองราชบุรีนั้น เพราะนายช่างรู้เหตุว่าความร้อนความเย็นอาจจะทำให้สพานนั้นยืดออกและหดเข้าได้แต่ลำพังตัว จึงได้ปล่อยปลายสพานทั้งสองข้างแม่น้ำให้วางอยู่เฉย ๆ บนเสาที่ก่อรับ เพื่อจะได้ยืดเข้ายืดออกได้ตามเวลาร้อนแลเย็น มิฉะนั้นสพานอาจจะเปนอันตรายได้
ช่างทำเรือนต้องรู้ประมาณความทนทานของไม้และอิฐปูน ถ้าใช้ของเหล่านี้แบบบางเกินไป เรือนนั้นอาจจะชำรุดซุดโทรมลงได้โดยเร็ว ถ้าใช้ของเครื่องก่อสร้างใหญ่โตแข็งแรงเกินส่วนที่ควรมาก ค่าเรือนนั้นก็อาจจะแพงเกินไป เปนการทำผิดได้ทั้งสองอย่าง
เมื่อความรู้สามารถ จะช่วยให้เราทำการให้เกิดผลได้มากโดยง่ายแล้ว จะทำธุระอย่างใดก็ควรจะแสวงหาความรู้ในเหตุผลต่าง ๆ ที่จะเกี่ยวข้องกับการนั้นให้ช่ำชองอย่างดีที่สุดที่จะหาได้ ถ้ามีความรู้ไม่พอเราก็อาจจะทำการพลาดพลั้งป่วยการแรงป่วยการทุนและเสียเวลาได้เปนอันมาก
ศิลปวิทยาอาจจะชี้ให้เราเห็นได้บ่อย ๆ ว่าการบางอย่างที่เราปราถนาจะทำนั้น จะเปนอันทำไม่สำเร็จเปนอันขาด บางอย่างก็ชี้ทางให้เห็นได้ว่า วิธีการที่เราทำอยู่นั้นเปนทางที่ไม่ถูกแท้ ศิลปวิทยาอาจจะสอนให้เราทำงานเปลืองแรงน้อย และอาจจะชักนำให้เราได้ความรู้อย่างใหม่ มาช่วยทำผลเปนทรัพย์ได้ด้วย ถ้าไม่เปนเพราะศิลปวิทยา เราคงไม่รู้จักใช้แรงไฟฟ้าโทรเลขโทรศัพท์และสิ่งอื่น ๆ ร้อยอย่างต่างพรรณ์ ที่ใช้เปนคุณเปนประโยชน์แก่มนุษย์อยู่ทุกวันนี้เปนอันมาก
ในที่สุดจะกล่าวได้ว่า ความเจริญของมนุษย์ซึ่งมียิ่งขึ้นเสมอไปในทางรักษาชีพและทางทำมาหากินนั้น เจริญได้ด้วยศิลปวิทยาโดยมาก
เพราะเหตุฉะนี้ รัฐบาลจึงเอาใจใส่จัดการบำรุงการเล่าเรียนในบ้านเมืองให้เจริญยิ่งขึ้นเสมอไป เพราะเห็นปรากฎแน่แล้วว่า การเล่าเรียนศึกษาวิชาสิ่งเดียวที่อาจจะช่วยให้ราษฎรทำการหาผลประโยชน์เลี้ยงชีพได้โดยสดวก ช่วยให้มีความสามารถทำธุระให้เกิดผลไพบูลย์ยิ่งกว่าเก่าโดยที่เห็นเหตุว่า ความศุขความสมบูรณ์ในทรัพย์สมบัติของราษฎร เปนเครื่องทวีความเจริญแห่งอำนาจที่จะดำรงความเอกราชของแผ่นดิน ทั้งค้ำจุนความอิศรภาพของชาติให้ถาวรวัฒนายั่งยืนอยู่ได้
การเล่าเรียนศึกษาศิลปวิทยามีมาแต่ก่อนพุทธกาลแล้วก็จริ งแต่ความผันแปรเปลี่ยนแปลงของสมัยกระทำให้มนุษย์มีความปราถนาต่าง ๆ นานาทวีคูณเรื่อยอยู่ มนุษย์ยิ่งเกิดมีมากขึ้นความแข่งแย่งเบียดเสียดซึ่งกันและกันยิ่งมากขึ้นเพียงใด ความกังวลขวนขวายในการเลี้ยงชีพก็ยิ่งจะเข้มงวดกวดขันมากขึ้นตามกัน
ความปราถนาของมนุษย์ที่เปนความจำเปนแท้ในชั้นต้น ถ้ามีแต่อาหาร, เครื่องนุ่งห่ม, และที่พักอาศรัยร่มแดดร่มฝนก็พอจะเลี้ยงชีพอยู่ได้ เช่นชาวไร่นาป่าดงหมู่ชนที่มีเปนส่วนมากอยู่ในแผ่นดินเรา ซึ่งในสมัยนี้ยังเปนประเทศเพาะปลูกแท้อยู่เปนต้นคนพวกนี้ไม่ต้องทำการออกสติปัญญาและมีวิชาความรู้เท่าใดนัก เก็บกินแต่เมล็ดผลต้นเข้าถั่วมันพริกมะเขือที่ปลูกอยู่ในบริเวณใกล้ชิดกับบ้านเรือนที่อาศรัยของตัว เท่านั้นก็พอจะเลี้ยงชีวิตอยู่ได้
แต่วิสัยของมนุษย์บุถุชนโดยมากหามีความจุใจแต่เพียงที่จะบริโภคอาหารและนุ่งห่มแต่ล้วนของที่หาง่ายทำง่ายไม่ ต้องการเปลี่ยนอาหารการกินและผลัดเครื่องนุ่งห่มต่าง ๆ นานาอยู่เสมอ ต้องการรสและสัมผัสที่ดี ต้องการความสวยความงามและความศุขสำราญในส่วนร่างกาย แล้วยังต้องการความศุขใจสำราญใจต่อไปอิก ความปราถนาค่อยขยับกำเริบเสิบสันขึ้นเรื่อยไป เลยเห็นเปนความจำเปนที่จะต้องมีความศุขความสดวก และความฟุ่มเฟือยในการใช้สรอยจนเคยตัว เครื่องใช้สอยและอาหารการกินที่ตัวทำได้เอง หรือเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงทำได้ก็จืดจางเบื่อหน่ายไป หาของแปลกอย่างต่างตำบลต่างมณฑลในประเทศเดียวกันมาใช้ได้แล้ว ยังซ้ำขวนขวายหาของต่างเมืองต่างประเทศมาใช้ต่อไป
ขอให้ลองคิดดูว่า ทุกวันนี้เราจะเดือดร้อนสักเท่าใด ถ้าเราไม่มีใบชากิน, ไม่มีไม้ขีดไฟใช้, ไม่มีน้ำมันปิโตรเลียมตามตะเกียง, ไม่มีผ้าเนื้อละเอียดนุ่งห่ม, ขาดถ้วยชามของเมืองนอก, ขาดเครื่องแก้วเครื่องเหล็กสาระพัดอย่าง ทั้งไม่มีหนังสือพิมพ์อ่านประดับสติปัญญาเปนเครื่องบำรุงใจ ถ้าของที่เราเคยใช้เหล่านี้ขาดไป เราจะรู้สึกเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจสักปานใด ความเคยตัวของมนุษย์มีขึ้นได้เช่นนี้ ความกังวลขวนขวายก็ย่อมจะเกิดมีหนักขึ้นตามกัน ต้องการเรียนวิชาความรู้มากขึ้น และต้องทำการงานเข้มงวดกวดขันแข่งกันเรื่อยไปให้ทันกับสมัย ความเจริญในหมู่ชนที่โง่เขลาปราศจากความเล่าเรียน จึงเดินช้าล้าหลังกว่าหมู่ชนที่มีความสามารถฉลาดด้วยความรู้เท่าทันกับกาลสมัยที่เปลี่ยนแปลงใหม่อยู่เสมอ ความจริงเห็นประจักษ์อยู่แก่ตาเช่นนี้ ความศึกษาศิลปวิทยาจึงเปนสิ่งสำคัญใหญ่ที่จะช่วยให้ทำการได้ผลเปนทรัพย์สดวกขึ้น