- คำนำ
- ภาค ๑ การสร้างทรัพย์
- หมวด ๑ ว่าด้วยคุณประโยชน์
- หมวด ๒ ว่าด้วยลักษณทรัพย์
- หมวด ๓ ว่าด้วยสิ่งสำคัญที่จะต้องใช้ในการทำให้เกิดผลเปนทรัพย์
- หมวด ๔ ว่าด้วยลักษณแรงทำการ
- หมวด ๕ ว่าด้วยวิธีปันหน้าที่ทำการ
- หมวด ๖ ว่าด้วยการระดม
- หมวด ๗ ว่าด้วยทำนองทำการอย่างใหญ่และทำการอย่างน้อย
- หมวด ๘ ว่าด้วยลักษณทุน
- หมวด ๙ ว่าด้วยการลงทุน
- หมวด ๑๐ ว่าด้วยกฎธรรมดาทั้งหลาย ซึ่งเปนที่บังคับสำหรับให้เกิดผลเปนทรัพย์เพิ่มพูลยิ่งขึ้น
- หมวดที่ ๑๑ ว่าด้วยกฎธรรมดาซึ่งเปนที่บังคับให้ทุนเพิ่มพูลยิ่งขึ้น
- ภาคที่ ๒ การแบ่งปันทรัพย์
- หมวด ๑ ว่าด้วยกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สมบัติ
- หมวด ๒ ว่าด้วยทรัพย์ซึ่งสร้างเปนผลขึ้นแล้ว จะได้เปนส่วนแบ่งปันแก่คนจำพวกใดบ้าง
- หมวด ๓ ว่าด้วยค่าเช่าที่ดิน
- หมวด ๔ ว่าด้วยค่าแรง
- หมวด ๕ ว่าด้วยกำไร
- หมวด ๖ ว่าด้วยสมาคมคนทำงาน และการที่คนทำงานพร้อมใจกันละทิ้งการงาน
- หมวด ๗ ว่าด้วยผลที่ร้ายของการประมูลแข่งขัน
- หมวด ๘ ว่าด้วยวิธีทำการร่วมกัน โดยร่วมทุนร่วมแรงและร่วมผลประโยชน์ในระหว่างคนทำงาน
- หมวด ๙ ว่าด้วยการศึกษาและการประหยัดทรัพย์
หมวด ๕ ว่าด้วยกำไร
กำไรซึ่งได้กล่าวมาแต่หมวดที่ ๒ ว่า เปนส่วนแบ่งบันซึ่งเจ้าของทุนจะต้องได้เปนบำเหน็จในทรัพย์ที่ได้ทำขึ้นส่วนหนึ่งนอกจากส่วนแบ่งปันที่จะต้องให้แก่เจ้าของที่ดินเปนค่าเช่า และที่ต้องให้แก่ผู้ลงแรงทำการเปนส่วนค่าแรงนั้น เมื่อเจ้าของทุนจะคิดกำไรในผลที่ทำขึ้นได้นั้นว่าจะได้เปนส่วนแบ่งปันของทุนเท่าใดแล้ว ก็ต้องคิดหักต้นทุนที่ได้ลงไปนั้นออกเสีย ยังคงมีเหลือเศษจากผลที่ได้อยู่อีกเท่าใด เศษที่เหลืออยู่นั้นเปนกำไรคือบำเหน็จในความอุส่าห์ของเจ้าของทุนซึ่งได้สู้อดออมประหยัดทรัพย์ขึ้นไว้เปนทุนนั้นได้
การลงทุนทำมาหากินทุกอย่าง ตามธรรมดาผู้ลงทุนต้องหวังหากำไรให้คุ้มกันกับดอกเบี้ยตามธรรมเนียมประการหนึ่ง ให้คุ้มกันกับความเสี่ยหายเพราะความบังเหตุอาเพทที่จะเกิดขึ้นได้เปนครั้งเปนคราวนั้นประการหนึ่ง และให้คุ้มกันกับค่าแรงดูแลการที่ทำอยู่นั้นประการหนึ่ง รวม ๓ ประการที่จะประกอบกันเปนกำไร
ในประการที่ ๑ ซึ่งว่าด้วยดอกเบี้ยตามธรรมเนียมนั้น ดอกเบี้ยตามธรรมเนียมในที่นี้หมายความว่า พิกัดดอกเบี้ยที่นิยมกันในบ้านเมืองในเวลานั้นว่าเปนดอกเบี้ยที่จะต้องได้กำไรของต้นทุนอย่างแน่นอนมั่นคงที่สุด เช่นกับดอกเบี้ยที่ได้จากต้นเงินที่ออกไปให้รัฐบาลกู้เปนต้น ทุนที่ให้รัฐบาลกู้ไปนั้นเปนอันเชื่อได้ว่าไม่สูญเสียเปล่า เพราะรัฐบาลย่อมจะรักษาสัตย์สุจริจต่อสัญญาเปนอย่างแน่นอน การบังเหตุอาเพทซึ่งจะกระทำให้ทุนนั้นเสียหายไปจะมีได้ก็โดยที่รัฐบาลจะล้มละลายเมื่อเสียความอิศรภาพของแผ่นดิน แต่แผ่นดินคงจะไม่เสียความอิศรภาพและล้มละลายได้ง่าย ๆ เพราะมีพยานให้เห็นปรากฎอยู่แล้วว่าความอิศรภาพได้มีมาช้านานเพียงใด เปนต้นว่ารัฐบาลสยามในเวลานี้ได้กู้เงินพลเมืองชาวยุโรปมาใช้ทำทางรถไฟสัญญาใช้ดอกเบี้ยปีหนึ่งร้อยละสี่ครึ่ง ถ้าผู้มีทุนจุใจอยากได้ดอกเบี้ยแต่เพียงเท่านี้ จะไปรับซื้อโอนหนังสือสัญญากู้เงินนั้นมาไว้ ก็คงจะได้ดอกเบี้ยร้อยละสี่ครึ่งต่อปีเปนการแน่นอนมั่นคงมากกว่าอย่างอื่นทุกอย่างหรือถ้าไม่พอใจอยากจะได้ดอกเบี้ยให้มากขึ้นสักหน่อย จะลงทุนซื้อหุ้นส่วนบริษัทรถไฟหรือรถรางไฟฟ้าเช่นนั้นมาไว้ก็ได้ คงได้กำไรเปนดอกเบี้ยในทุนสูงขึ้นราวสักร้อยละสองเปนต้น แต่เหตุที่กำไรสูงขึ้นนี้ก็เพราะเหตุที่ความแน่นอนในหลักฐานของบริษัทไม่มั่นคงเท่ากับความแน่นอนของรัฐบาล บริษัทอาจทำการขาดทุนและมีทางที่จะเสียหายเปนอันตรายแก่ทุนได้หลายประการ
ในประการที่ ๒ ซึ่งว่าด้วยความเสียหายที่อาจบังเกิดขึ้นได้เปนครั้งเปนคราว เพราะความบังเหตุอาเพทต่าง ๆ นั้น ความเสียหายในข้อนี้เปนความตามบุญตามกรรมซึ่งจะกำหนดลงให้แน่เท่าใดเพียงใดไม่ได้ก็จริง แต่ความที่ไม่แน่นอนมากและน้อยกว่ากันนั้นเอง เปนมูลเหตุที่ได้กระทำให้กำไรในการที่ไม่แน่นอนนั้นมากกว่าการอย่างอื่น การพานิชกรรม การกสิกรรม และการหัดถกรรมทำของขายต่าง ๆ นานา ย่อมจะมีช่องทางเสียหายเปนการขาดทุนมากและน้อยหรือเร็วและช้ากว่ากันอยู่เสมอ แต่โดยที่คนสามัญย่อมจะมีความหวังใจในเคราะห์ดีอยู่มากกว่าความเกรงเคราะห์ร้ายเปนธรรมดาทั่วไปนั้น แม้การบางอย่างที่มีทางฉิบหายล้มละลายได้อย่างรวดเร็วสักเท่าใดก็ดี แต่ถ้ากำไรในการนั้นบังเอินเคราะห์ดีก็อาจได้กำไรมากมายพอคุ้มกันแล้ว คงจะมีคนกล้าไปลงทุนทำอยู่เสมอ มีการพนันที่เปนการอย่างเลวที่สุดเปนต้น แม้ว่าทางเสียจะมีมากกว่าทางได้แน่แล้วก็จริง แต่โดยที่ความหวังใจในเคราะห์ดีของผู้เล่นมีส่วนแก่กล้ากว่าความเกรงความฉิบหายอยู่เช่นนี้เสมอไป บ่อนเบี้ยการพนันจึงตั้งอยู่ได้ การเสียหายเปนเคราะห์ดีเคราะห์ร้ายเช่นนี้ ย่อมมีอยู่ในการทำมาหากินทุกอย่าง ไม่มากก็น้อย ที่มีการน่าจะเสียหายมากก็คงมีคนทำน้อย ถ้ามีคนทำน้อย การประมูลแข่งขันกันน้อยลง กำไรก็ต้องมากขึ้นเปนธรรมดา การใดมทางที่อาจเสียหายน้อยและมีกำไรมาก ไม่ช้าก็คงจะมีทุนเพิ่มเติมเข้าไปทำการในการอย่างนั้นมากขึ้น เกิดมีการประมูลแข่งขันกันมากขึ้น กำไรก็ต้องลดน้อยถอยลงเอง ผู้ลงทุนจำจะต้องคอยดูอยู่ว่ากำไรที่ได้นั้นจะพอคุ้มกันกับทางเสียหายหรือไม่ ถ้าไม่คุ้มความเสียหายก็ต้องเลิกถอนทุนไปทำการอื่น กำไรในการชนิดเดียวกันหรือมีการเสียหายคล้ายคลึงกัน ย่อมจะมีพิกัดปานกลางพอดีกันอยู่เปนนิจ ถึงโดยว่าจะมีเหตุหนึ่งเหตุใดเกิดขึ้น กระทำให้พิกัดแห่งกำไรนั้นมากไปน้อยไปบ้างก็จะเปนแต่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ไม่ช้าก็คงจะกลับเท่าเทียมเสมอกันดังเก่า การที่อาจมีทางเสียหายมากย่อมจะต้องได้กำไรมาก ที่มีทางเสียหายน้อยย่อมจะมีกำไรน้อยตามส่วนกันเช่นนี้ เพราะฉะนั้นพิกัดกำไรที่ได้ในการต่างชนิดกันจึงไม่เท่าเทียมเสมอกัน กำไรที่ได้มากน้อยผิดกันนั้นเองพอจะเอามาเปนประมาณได้ว่า ทางเสียหายจะมีมากน้อยกว่ากันเพียงใด
บริษัทรับประกันไฟไหม้, รับประกันชีวิต, และรับประกันการเสียหายต่าง ๆ นานานั้น ที่กล้ารับประกันได้ก็โดยที่ต้องคิดคำนวณดูส่วนทางเสียทางได้ในการของบริษัทอีกชั้นหนึ่ง ถ้าเห็นว่ามีกำไรคุ้มกันแล้วจึงตั้งพิกัดอัตรารับประกันได้ เปนต้นว่าเจ้าของโรงสีเข้าเกรงไฟจะไหมละลายทุนที่ได้ลงทำโรงสีนั้นเสียหมดไม่อยากจะรับความเสียหายเช่นนี้ ก็ต้องเฉลี่ยแบ่งปันกำไรที่หมายจะได้ในการสีเข้านั้นออกไปให้บริษัทประกันไฟเสียบ้าง บริษัทนี้เมื่อก่อนจะรับประกัน ก็ต้องคิดคำนวณให้รู้เปนประมาณเสียว่า ปีหนึ่งไฟจะไหม้โรงสีสักกี่โรง โรงสีในเมืองมีกี่โรง ไหม้เสียที่โรง คิดเปนส่วนเสียหายในการไฟไหม้นั้นร้อยละเท่าใด เมื่อรู้ส่วนปานกลางนี้แล้วก็จะเรียกเงินค่าประกันจากเจ้าของโรงสีมาช่วยเฉลี่ยใช้ให้คุ้มกับค่าเสียหายนั้นได้ เรียกพิกัดเกินส่วนเสียหายไว้พอคุ้มกับค่าใช้สรอยและพอคุ้มกำไรเปนค่าดูแลการรับประกันนั้นด้วย ถ้าบังเอินเคราะห์ร้าย ปีใดไฟไหม้โรงสีเกินส่วนที่ได้กะประมาณไว้ บริษัทก็ ต้องขาดทุน ถ้าเคราะห์ดีไฟไหม้น้อยไปหรือไม่ไหม้เลย บริษัทก็มีกำไรมาก ความไม่เที่ยงตรงต้องมีอยู่เสมอ
ในข้อ ๓ ที่ว่าด้วยบำเหน็จค่าแรงดูแลการงานของเจ้าของทุนนั้น ถ้าคิดหักบำเหน็จในข้อหนึ่งคือค่าดอกเบี้ยตามธรรมเนียมของทุนและหักค่าเสียหายซึ่งอจจเกิดขึ้นได้เพราะเหตุอันตรายต่าง ๆ นั้น ออกเสียจากจำนวนเงินซึ่งเกินทุนเปนกำไรอยู่เท่าใดแล้ว ยังมีเศษเหลืออีกเท่าใด เศษนั้นเปนค่าบำเหน็จค่าแรงของการดูแล
ค่าแรงหรือค่าบำเหน็จของการดูแลนี้ ก็ต้องมีมากน้อยต่างกันไปตามลักษณการทำยากทำง่าย การละเอียด การหยาบและการที่ผู้ทำจะรังเกียจมากและน้อยเปนต้น การง่ายการสดวกย่อมจะมีค่าแรงดูแลน้อย การละเอียดการยากและการซึ่งน่ารังเกียจมากย่อมจะมีค่าดูแลมากเปนธรรมดา นอกจากนี้ยังมีลักษณการที่เกี่ยวข้องกับยศถาบรรดาศักดิ์มีหน้ามีตา หรือเปนการที่อัปรยศตรงกันข้ามนั้นอีก เปนต้นว่าคนถือพระพุทธศาสนาเคร่ง ถึงจะเห็นว่าการของชาวประโมงจะมีลาภผลมากมายสักเท่าใดก็คงจะไม่อยากทำการนั้นไป สู้ทำการที่เรียกว่า “หากินโดยทางที่ชอบธรรมอันบริสุทธิ์” นั้นเสียดีกว่า ถึงจะได้ผลประโยชน์น้อยกสู้ทนเอา บางคนนิยมไปทางยศถาบรรดาศักดิ์ ถึงโดยว่ามีทุนรอนพอจะทำการค้าขายได้ผลมากก็สู้ไม่ทำ ไปหมายทางยศถาบรรดาศักดิ์ซึ่งมีหน้ามีตากว่ากันนั้นมากกว่า ผู้ที่อยู่ในตระกูลอันสูงจะยากจนสักเท่าใด ถ้าไม่เจียนจะอดอาหารตายแล้วคงจะไม่ไปรับจ้างแจวเรือเปนแน่ การดีการเลวย่อมจะเปนที่นิยมต่างกันตามธรรมเนียมของชาติและตามสมัยเปนธรรมดาทั่วไป กำไรซึ่งจะได้มากน้อยกว่ากันในการต่าง ๆ ก็พึงจะต้องสุดแล้วแต่ลักษณการที่ต่างกันดังที่กล่าวมาแล้ว และต้องสุดแล้วแต่ความประมูลแข่งแย่งกันด้วยความกวดขันเพียงใดเปนต้น
ผู้ที่มีแต่ทุนเช่นกับให้รัฐบาลกไปตามที่ได้กล่าวไว้ในข้อหนึ่งนั้น ไม่ต้องคิดกำไรเมื่อไปถึงการเสียหายอย่างใด ทั้งไม่ต้องป่วยการแรงดูแลระวังต้นทุนที่ให้กู้ไปนั้นด้วย เหตุที่ไม่ต้องมีค่าเสียหาย และจะคิดเอาค่าแรงดูแลการก็ไม่ได้ เพราะไม่ต้องดูแลการอะไรเลย ได้แต่ดอกเบี้ยอย่างน้อยเปนกำไรกำไรในทุนเท่านั้นก็เปนอันจุใจได้ ถ้าไม่จุใจแต่จะได้เพียงดอกเบี้ยตามธรรมเนียม ก็ต้องไปลงทุนในการอย่างอื่นเช่นคนขายของย่อยมีเครื่องชำเปนต้น ชาวร้านเช่นนี้เมื่อได้ลงทุนไปซื้อของมาตั้งขายแล้ว ก็ต้องหมายหากำไรให้คุ้มดอกเบี้ย คุ้มค่าเสียหาย ค่าดูแลรักษาการขายของนั้นพร้อมทั้ง ๓ ประการ คนผู้นี้ต้องเรียนความรู้ความชำนาญในลักษณสินค้าแทบทุกชนิดที่มีอยู่ในร้านร้อยอย่างต่างสิ่งว่า สิ่งนั้นทำที่ไหน มีขายแห่งใด ราคาเท่าใด และในท้องตลาดในขณะนั้นอย่างหนึ่งจะมีอยู่ในห้างขายส่งและตามร้านย่อยทั่วไปประมาณมากน้อยเพียงใด อย่างไรจะมีผู้ต้องการซื้อมาก อย่างใดจะมีผู้ต้องการซื้อน้อย อย่างไรจะขายได้เร็ว อย่างไรจะขายได้ช้า เจ้าหนี้ลูกหนี้ของตัวจะเปนคนที่ควรเชื่อถือไว้วางใจได้เพียงใด และในขณะนั้นราคาสิ่งของทุกอย่างอาจขึ้นลงหรือคงอยู่ได้เพียงใด ต้องรู้การทำบาญชีและรู้จักวิธีและอุบายในการค้าขายเช่นนั้นด้วย วุฒิที่กล่าวมานี้อยู่ในค่าแรงดูแลการทั้งสิ้น ในที่สุดชาวร้านขายของชำอาจมีความรู้เสมอกันกับพ่อค้าใหญ่ทุกอย่าง ผิดกันแต่ที่มีทุนน้อยกว่าพ่อค้าใหญ่เท่านั้น ส่วนบำเหน็จค่าแรงดูแลของชาวร้านชำควรจะมีเปนส่วนใหญ่อยู่ในกำไรด้วย แต่โดยที่มีคนขายร้านชำมากแห่งด้วยกัน การประมูลแข่งขันลดหย่อนกำไรในสิ่งของที่ขายต่าง ๆ มีมากกำไรน้อยลงเพียงใด บำเหน็จค่าแรงดูแลก็จำจะต้องน้อยลงตามกัน กำไรซึ่งจะได้มากน้อยกว่ากันก็ย่อมพอเท่าเทียมกันทั่วไปในทำเลที่นั้น เว้นเสียแต่ว่าจะมีผู้ใดที่ประกอบไปด้วยคุณวุฒิต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้นเฉียบแหลมเกิดเปนความไหวพริบมาก ขายของได้มากและกลับหมุนทุนได้เร็วกว่ากัน หรือทำการเท่ากันแต่ใช้จ่ายค่าใช้สรอยน้อยกว่ากัน กำไรที่ได้จากสิ่งละน้อยรวมกันมากขึ้นได้กว่ากันเพียงใด กำไรส่วนนี้จะได้จัดว่าเปนบำเหน็จพิเศษของค่าแรงดูแลในการชนิตนั้นอีกชั้นหนึ่ง
ร้านขายเครื่องยาซึ่งมีกำไรในเครื่องยาที่เจียดขายไปมากกว่าต้นทุนที่ได้ลงไว้ในเครื่องยาเปนหลายเท่านั้น และเมื่อรู้กันอยู่ว่าลงทุนน้อยแต่มีกำไรมากถึงเพียงนี้แล้ว เหตุใดจึงไม่มีผู้อื่นไปแข่งขันประมูลทำอย่างการค้าขายอื่น ๆ ให้มากขึ้นไปตามส่วนกำไรที่ได้ในสินค้าเครื่องยานั้นบ้าง แท้ที่จริงกำไรนั้นเปนส่วนค่าแรงดูแลของผู้ขายยาเสียมากกว่าอื่น คนผสมยาต้องรู้สรรพคุณยาแทบทุกอย่าง ต้องมีความชำนาญจำชื่อและจำลักษณเครื่องยาต่าง ๆ นั้นให้แม่นยำด้วย เครื่องยามีตั้งร้อยอย่างพันอย่าง ก็เปนอันยากที่คนสามัญจะเรียนรู้ได้ทั่วไป เมื่อการผสมเครื่องยาขายเปนการละเอียดและเปนการที่ต้องเรียนความรู้ประกอบด้วยเช่นนี้ บำเหน็จค่าแรงของคนขายยาย่อมจะต้องมากอยู่เอง ในที่สุดกำไรที่ได้ในการเพาะปลูก การหัดถกรรม การทำของขาย การพานิชกรรม และการทำมาหากินทุกอย่างนั้น คงจะมีมากน้อยกว่ากันอยู่เสมอไป แม้แต่การชนิดเดียวกันใช้ทุนเท่ากัน แต่อยู่ต่างทำเลที่กัน หรือถ้าหากว่าผู้ดูแลการมคุณวุฒิและความไหวพริบดีกว่ากัน กำไรที่ได้นั้น ถ้าจะเปรียบเทียบกันในส่วนบุคคลซึ่งเปนเจ้าของทุนและเจ้าของการเปนคน ๆ ไปแล้ว คนหนึ่งคงจะมีกำไรผิดกันกับคนหนึ่งไม่มากก็น้อยเสมอไป
ในเรื่องกำไรของทุนซึ่งอาจต่างกันไปเพราะดอกเบี้ย เพราะความเสียหายและเพราะค่าแรงดูแลการนั้น พอจะยกเรื่องมาเปรียบให้เห็นต่อไปได้อีก เปนต้นว่าคนหนึ่งมีทุนเงินหมื่นสองพันบาท จะเอาไปให้เขากู้ก็ไม่วางใจ จึงตกลงไปซื้อที่ปลูกเรือนให้เขาเช่า ได้ค่าเช่าแล้ว หักค่าซ่อมแซม ค่าภาษี ค่าประกันไฟแลค่าใช้สรอยเสร็จแล้ว ประมาณเสียว่าเหลือค่าเช่าเปนกำไรในต้นทุนปีละ ๙๐๐ บาท คิดเปนกำไรร้อยละ ๗ ครึ่งหรือดอกเปนเบี้ยชั่งละ ๒ สลึงต่อเดือน คนผู้นี้ไม่ต้องทำธุระอะไรนอกจากจะคอยเก็บค่าเช่า การเสียหายจะมีขึ้นได้ก็เพราะไฟไหม้ แต่ได้เสียค่าประกันไฟแล้วก็เปนอันไม่มีทางเสียได้อีก
อีกคนหนึ่งมีทุน ๑๒,๐๐๐ บาทเท่ากัน ถนัดในการเดินเรือ ก็เอาทุนนั้นไปต่อเรือกลไฟหรือเรือยนต์ใช้เครื่องน้ำมัน แล้วเอาลงใช้เปนเรือรับคนโดยสาร เรือขนาดทุนเท่านี้พอจะรับคนโดยสารได้สัก ๕๐ คน ได้คนมากบ้างน้อยบ้าง แต่ได้เงินค่าโดยสารแล้ว หักค่าใช้สรอยรายวันสาระพัตอย่างออกเสียประมาณว่าได้กำไรเพียงวันละ ๑๕ บาท ปีหนึ่งเดินเรือ ๓๐๐ วัน รวมได้กำไรปีละ ๔๕๐๐ บาท คิดเปนกำไรร้อยละ ๓๗ ครึ่งในต้นทุน ๑๒,๐๐๐ บาท มากกว่ากำไรในค่าเช่าบ้านเกิน ๕ เท่า ถ้าไม่มีเหตุอันตรายอย่างใดเกิดขึ้นและถ้าประหยัดกำไรไว้ตลอด ๓ ปีกำไรนั้นจะรวมเปนเงินถึง ๑๓,๕๐๐ บาทพอกับที่จะต่อเรือลำที่ ๒ ขึ้นได้อีกลำหนึ่ง ถ้าได้เดินเรือ ๒ ลำนี้ต่อไปอีกสักปีครึ่งก็จะต่อเรือลำที่ ๓ ขึ้นด้วยกำไรที่ได้จากเรือ ๒ ลำก่อนนั้นได้ ถ้าคิดแต่ทางได้กำไรเปนปรกติเช่นนี้ตลอดไปแล้ว เจ้าของเรืออาจมีกำไรในเรือ ๓ ลำนี้เท่ากับต้นทุนเดิมกว่าปีละ ๑๒,๐๐๐ บาททุกปี เรือลำใดสิ้นอายุลงก็จะเอาเงินกำไรนั้นต่อใหม่ขึ้นแทนได้ทันที และถ้าหากว่าจะมีการประมูลแข่งขันแย่งกันขึ้น จะลดค่าโดยสารลงสัก ๓ ส่วน เหลือไว้แต่ส่วนเดียว ก็ยังจะมีกำไรมากกว่าค่าเช่าบ้าน แต่เดิมเก็บคนละบาท ทีนี้จะจะเก็บแต่คนละสลึงก็ได้ เปนการยากที่คนใหม่จะผู้ประมูลได้ แต่ถ้าจะคิดถึงทางเสียหายที่อาจมีขึ้นได้ในการเดินเรือนั้นโดยถี่ถ้วนแล้ว ความท้อถอยอาจเกิดขึ้นได้เปนอันมาก เปนต้นว่าเรือลำแรกที่ต่อขึ้นนั้น บังเอินเคราะห์ร้ายถูกคลื่นลมหรือโดนตอโดนหินหรือไปโดนกับเรือลำอื่นล่มจมเสียแต่แรกก็จะเปนได้ และถ้าดูแลการงานไม่ดี เครื่องจักร์จะชำรุดซุดโซมไปเร็วจะต้องเสียค่าซ่อมแซมมาก หรือโดยที่สุดคนเก็บเงินค่าโดยสารจะทำหละหลวม มีการฉ้อโกงเบียดเบียนให้ผลประโยชน์ตกต่ำไปเปนต้น ลักษณการเช่นนี้เจ้าของการต้องคอยดูแลระวังผลประโยชน์อย่างขยันขันแข็งถี่ถ้วนอยู่เสมอ ค่าแรงดูแลกับค่าเสียหายซึ่งประสมกันเข้าสองอย่างแล้ว หักออกจากกำไรมากที่ได้นั้น ก็คงจะเหลือพอเท่าเทียมกันกับกำไรในค่าเช่าบ้าน เหตุที่กำไรในค่าเช่าบ้านมีน้อยกว่ากันหลายเท่านั้น ก็เพราะเจ้าของบ้านไม่ต้องออกแรงดูแลการอะไร ทั้งไม่มีการเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้โดยง่ายโดยเร็วอย่างเรือนั้นด้วย
กำไรที่ได้โดยทั่วไปในพื้นเมืองและในกาลเดียวกันนั้น ถ้าคิดเอาส่วนมากเปนประมาณ โดยที่จะเฉลี่ยค่าเสียหายลงถัวกันตามส่วนชนิดการและนับเอาแต่ ส่วนบำเหน็จค่าแรงค่าดูแลที่เปนปานกลางซึ่งเปนส่วนมากนั้นมาเปนที่ตั้งแล้ว ตามธรรมดากำไรในขณะเดียวกันคงจะมีพิกัดปานกลางซึ่งจะพอเท่าเทียมกันอยู่เสมอ มิฉะนั้นถ้าการอย่างไรมีกำไรมากและมีทางเสียหายหรือมีค่าแรงดูแลเท่ากัน เปนการที่ได้เปรียบกว่าการอย่างอื่นทั้งสิ้นแล้ว ทุนในบ้านเมืองที่มีอยู่คงจะใหลไปทับถมอยู่ในการอย่างเดียวกัน และการอย่างอื่นนอกจากนั้นก็คงไม่มีใครทำ
ลักษณการเช่นนี้เปนไปไม่ได้ยั่งยืน เพราะเหตุว่าทุนที่เทไปรวมทับถมอยู่มากเกินส่วนที่ควรนั้น จะกลับกระทำให้กำไรลดต่ำลงจนเท่าเทียมกันกับกำไรอย่างอื่นหรือยิ่งต่ำลงไปกว่ากำไรอย่างอื่น โดยเหตุที่เจ้าของทุนต่างคนก็ต่างจะประมูลแข่งแย่งกัน ลดกำไรลงไปเอง มีตัวอย่างโรงสีเข้าในกรุงเทพฯ ในปัตยุบันนี้พอจะยกมากล่าวในที่นี้ได้ ในศก ๑๑๒-๑๑๓–๑๑๔ ราคาเข้าต่างประเทศสูงขึ้น เพราะเหตุที่ทำนาได้ผลน้อยในเมืองจีนเปนต้น พวกโรงสีซึ่งมีอยู่ในเวลานั้นสีเข้าในเมืองไทยส่งออกไปขายมีกำไรมากมูลพูลผลกันอย่างยิ่ง มีกำไรเรื่อยไปจนศก ๑๑๔ ความที่เกิดมูลพูลผลมากขึ้นนี้กระทำให้เจ้าของโรงสีขยายการสีเข้าใหญ่โตขึ้นกว่าเก่าโดยรวดเร็ว บางคนที่ไม่เคยมีโรงสีเลย เห็นการสีเข้ามีกำไรก็กู้ยืมทุนหรือผ่อนผันถอนทุนที่อื่นไปก่อสร้างทำโรงสีขึ้นใหม่บ้าง จำนวนโรงสีเข้าก็ทวีมากขึ้นจนเกินส่วนเข้าในบ้านเมืองที่จะมีไปส่งพอให้สี เจ้าของโรงสีอยากจะได้เข้าให้พอสี ต่างคนก็ต่างประมูลแข่งแย่งกัน ขึ้นราคาเข้าให้แก่ชาวนาประมูลลดกำไรน้อยลงเสมอไป เมื่อบังเอินมีคราวเคราะห์ร้ายฝนมากเกินไปหรือน้อยไป ชาวนาปลูกเข้าได้ผลน้อย โรงสีที่มีทุนสั้น ต้องกู้ยืมทุนมีดอกเบี้ยสูงหรือจัดการไม่ถี่ถ้วนเท่าเทียมเพื่อนหรือที่เปนโรงสีเก่าเครื่องจักร์กลไกที่ใช้อยู่สู้เครื่องโรงสีใหม่ไม่ได้ ต้องเปลืองค่าใช้สรอยมาก หรือสีเข้าได้น้อยกว่าเขาโดยที่ลงทุนค่าใช้สรอยเท่ากัน พวกเหล่านี้สู้ประมูลแข่งขันต่อไปไม่ไหว ก็ต้องหยุดการเข้าไปตามกัน ที่ต้องขาดทุนถึงกับล้มละลายก็มี กำไรในการสีเข้าจะกลับมีดีเปนปรกติได้อย่างเดิม ก็เมื่อโรงสีเข้ามากส่วนกว่าเข้าที่มีอยู่นั้น จะลดน้อยสูญสิ้นไป หรือมิฉะนั้นก็ต้องคอยไปจนกว่าชาวนาในบ้านเมืองจะปลูกเข้าได้ผลมากยิ่งขึ้น พอกับที่จะมาขายให้โรงสีเข้าได้ตลอดปี
ในการที่มีกำไรมากเกินส่วนธรรมดาขึ้น เช่นการสีเข้าที่กล่าวมานั้นเจ้าของโรงสีคงจะคิดเห็นได้ว่า ถ้าได้ขยายการสีเข้ามากออกไปอีกกว่าเก่าก็จะยิ่งมีกำไรมากขึ้นตามส่วนทุนที่จะต้องลงขยายการนั้นออกไป เมื่อเห็นจะมีกำไรมากเช่นนั้นแล้ว ก็พึงจะเข้าหาผู้ที่มีทุนให้กู้ หรือเข้าหาเจ้าของแบงก์ขอกู้ยืมเงินโดยที่คิดว่าจะมีกำไรซึ่งจะสามารถส่งดอกเบี้ยอย่างสูงได้ เมื่อผู้มีทุนเห็นจะได้ดอกเบี้ยมาก ก็พึงจะยอมให้กู้เงินง่ายขึ้น เพราะเหตุฉะนี้การใดซึ่งมีกำไรเจริญมากแล้ว ทุนคงจะมีอุตหนุนเข้ามาเพิ่มเติมได้โดยรวดเร็วแทบไม่มีที่สุดสิ้น ถ้าทุนในบ้านเมืองไม่มีพอ ทุนต่างประเทศก็คงจะไหลเข้ามา เพราะเหตุที่ทุนนั้นจะมีกำไรคือได้ดอกเบี้ยสูงยิ่งกว่าที่อื่น
การที่ทุนไหลทุ่มเทเข้ามามากในปัจจุบันทันทีเช่นนั้น อาจเปนเหตุซึ่งจะกระทำให้กำไรตกต่ำลงได้ ๒ ประการ ประการหนึ่งความต้องการสินค้าอันเปนสัมภาระที่ยังไม่ได้แต่งสรร เช่นเข้าเปลือกนั้นมากขึ้น เมื่อมีผู้ต้องการสัมภาระมากขึ้น ราคาของนั้นก็จำเปนต้องแพงขึ้นตามกัน จะแพงขึ้นเพราะสินค้านั้นจะมีไม่เท่ากันกันกับความต้องการ ผู้ต้องการคือผู้ซื้อย่อมจะแข่งขันซึ่งกันและกันประมูลราคาขึ้นให้แก่ผู้ขายเปนธรรมดา เช่นกับเจ้าของโรงสีจะแข่งขันกันขึ้นราคาซื้อเข้าให้แก่ชาวนาเปนต้น อีกประการหนึ่งถ้าหากว่าสินค้านั้นที่มีผู้ทำมากขึ้น เพราะได้ราคาดีเกินธรรมดา แต่ผลที่จะทำขึ้นนั้นเลยมากเกินส่วนไปกว่าความต้องการ ทีนี้ผู้ขายสินค้าจำจะต้องประมูลแข่งขันกันในระหว่างผู้ขายลดราคาสินค้านั้นลงให้แก่ผู้ซื้อเช่นกับเข้าเปลือกมีจำนวนมากเกินไปกว่าโรงสีจะต้องการซื้อในขณะหนึ่งขณะใด ผู้ขายเข้าเปลือกจะต้องประมูลกันลดราคาเข้าลงให้แก่โรงสี หรือมิฉนั้นถ้าโรงสีสีเข้าเปนเข้าสารส่งทับถมกันออกไปขายต่างประเทศมากเกินส่วนต้องการของชาวต่างประเทศไป เจ้าของโรงสีจำจะต้องลดราคาเข้าสารต่ำลง จึงจะขายเข้าสารพ้นมือไปได้ กำไรจะต้องตกต่ำลง นอกจากราคาสินค้าซึ่งจะสูงขึ้นหรือต่ำลง เพราะเหตุที่ความต้องการมีมากกว่าจำนวนสินค้า หรือเพราะเหตุที่จำนวนสินค้าจะมากกว่าความต้องการก็ดี ยังมีค่าแรงของคนทำงานที่ได้ลงแรงทำธุระเกี่ยวข้องกับสินค้า ซึ่งขายมีกำไรมากกว่าธรรมดานั้นจะพลอยสูงขึ้นทำให้กำไรตกต่ำลงอีกด้วย เปนต้นว่าถ้าการทำนามีกำไรมากผู้ทำนาจะขยายการทำนาให้มากออกจะต้องเพิ่มเติมแรงทำงานให้มากขึ้น แต่คนทำงานไม่มีมากพอกับความต้องการของชาวนา ๆ จำจะต้องขึ้นค่าจ้างให้แก่คนทำงานให้มากขึ้น หรือในการสีเข้าก็ดีเมื่อจะต้องการสีเข้าให้มากขึ้น ขยายการสีให้ใหญ่โตออก ก็จำจะต้องหาจ้างคนทำงานสำหรับโรงสีมากขึ้น ทุนซึ่งจะไหลเข้ามาโดยรวดเร็ว เพราะการเข้าเจริญมากขึ้นได้นั้นก็จริง แต่การที่จะขยายการสีเข้าให้ใหญ่โตออกอีกนั้น จำเปนจะต้องคอยเวลาเปนใหญ่กว่าจะปลูกสร้างโรงงานและทำเครื่องจักร์ขึ้นใหม่ได้จะต้องเปลืองเวลาอยู่ คนงานที่ต้องใช้และที่มีฝีมือดีช่ำชอง แต่ก่อนมีน้อย ทีนี้จะต้องการมากขึ้น ผู้ใดอยากจะได้เร็วก็จำจะต้องขึ้นค่าแรงให้คนเหล่านั้นเปนธรรมดา เมื่อต้องเสียส่วนแบ่งปันในกำไรให้เปนส่วนค่าแรงมากขึ้น ส่วนแบ่งปันของเจ้าของทุนเจ้าของโรงสีซึ่งจะได้ในกำไรนั้นก็ต้องลดน้อยลงไป
เพราะเหตุต่าง ๆ ที่ได้กล่าวชักทำเนียบมาให้เห็นนั้น ลงปลายมือคงจะเปนผลที่จะชักกำไรที่จะได้เกินส่วนกำไรธรรมดาในการทำผลประโยชน์ทุกอย่างนั้น ให้หันเหกลับน้อยไปมากไปจนกว่าจะมาลงระเบียบตามพิกัดกำไร ซึ่งเปนธรรมดาปานกลางเปนปรกติอยู่ในทำเลที่เดียวนั้นเสมอไป สมัยใดมีกำไรสูงหรือต่ำ กำไรในการทั่วไปก็ย่อมจะพลอยสูงขึ้นหรือต่ำลงตามกัน
กำไรในการทำมาหากินต่าง ๆ ย่อมจะมีมากและน้อยกว่ากันตามมูลเหตุสามประการคือ ดอกเบี้ย ค่าประกันความเสียหาย และบำเหน็จค่าแรงของการดูแลซึ่งจะต้องมีผิดเพี้ยนต่างกันอยู่เสมอนั้น-และเมื่อได้คิดส่วนสามประการนั้นถัวกันลงแล้ว จะเห็นได้ว่ากำไรในการชนิดเดียวกันและการต่างกัน และกำไรในการหากินทุกอย่างในทำเลที่แห่งเดียวเวลาเดียวกันพึงจะชักจูงกันให้เท่าเทียมเสมอกันอยู่เปนธรรมดาตามที่ได้ชี้แจงมาแล้ว
ต่อนี้จะได้พิจารณาสืบไปว่ากำไรที่มีกำหนดเขตร์คั่นว่าต้องมีมากน้อยเท่าใดนั้น มีเหตุอย่างใดบังคับอยู่บ้าง คนโดยมากย่อมจะเข้าใจแต่เผิน ๆ ว่า กำไรต้องสุดแล้วแต่ราคาเปนใหญ่ ผู้ทำของขายหรือพ่อค้าจะได้กำไรก็เพราะค่าทำของหรือค่าของที่ซื้อมาน้อยกว่าราคาที่ขายได้ กำไรเกิดขึ้นเพราะการซื้อขาย ผู้ที่ทำสิ่งของขายจะมีกำไรก็เพราะมีผู้อื่นต้องการซื้อไปเปนต้น นับเอาเงินเปนต้นเหตุที่ทำให้เกิดกำไร แท้ที่จริงเงินเปนแต่คะแนนและวิธีใช้กำไรให้แก่ผู้ขายเท่านั้น
ในหมวดที่ ๗ ภาคที่ ๑ ได้ชี้แจงลักษณทุนไว้แล้วว่า ทุนนั้นมีแต่สำหรับจะใช้บำรุงเลี้ยงคนทำงาน คือใช้เปนค่าแรงทั้งสิ้น เมื่อความจริงเปนเช่นนี้ กำไรของทุนจะเกิดขึ้นได้ก็จะเกิดจากค่าแรงอย่างเดียว เปนต้นว่าค่ากินอยู่นุ่งห่มใช้สรอยสารพัดอย่างที่คนทำนาต้องลงทุนออกเงินซื้อมาใช้ในการเลี้ยงชีพชั่วเวลาทำนา รวมทั้งเครื่องมือที่ต้องใช้ในการทำนานั้น เปนเงินทุนที่ต้องใช้ในส่วนค่าแรงของคนทำงานในการเพาะปลูกสะเบียงอาหาร ค่าแรงทำผ้านุ่งห่มและค่าแรงทำเครื่องใช้สรอยทุกอย่างตลอดไปจนถึงค่าแรงช่างเหล็กช่างไม้ที่ทำเครื่องมือสำรองไว้ก่อนนั้นเปนต้น จำนวนทุนที่ได้ใช้ไปนั้นเมื่อรวมกันเข้าแล้วก็จะเรียกได้ว่า “เปนต้นทุนของค่าแรงทนานั้น” ทำนาได้เข้าเปนผลเท่าใด เมื่อหักใช้ต้นทุนในค่าแรงนี้แล้ว ยังมีเศษเหลืออยู่เท่าใด เศษนั้นเปนกำไรของต้นทุนที่ได้ลงไปในค่าแรง
การทำมาหาผลประโยชน์เปนเช่นนี้ทั้งสิ้น ไม่เลือกว่าการกสิกรรม, พานิชกรรมหรือการทำนองขายน้อยใหญ่อย่างใด กำไรจะมีขึ้นได้ก็โดยที่ผลซึ่งทำขึ้นได้ด้วยแรงทำการนั้นจะมีค่าเกินต้นทุนที่ได้ลงไปในค่าแรง หรือจะว่าได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ กำไรนั้นเกิดขึ้นเพราะแรงทำการกระทำผลได้มากเกินส่วนทุนที่ต้องใช้บำรุงเลี้ยงคนที่ได้ออกแรงทำการทั่วไปโดยทางตรงและทางอ้อม
เมื่อกำไรต้องสุดแล้วอยู่แต่ต้นทุนที่ได้ลงไปในค่าแรงอย่างเดียวแล้ว ก็เปนอันเห็นได้อยู่เองว่าถ้าค่าแรงแพงหรือเปลืองค่าแรงมากกำไรของทุนก็ต้องน้อย ถ้าค่าแรงถูกหรือเปลืองค่าแรงน้อยกำไรในต้นทุนก็ต้องมาก เปนต้นว่าในการทำนานั้น ถ้าได้ผลเท่ากับค่าแรงสามเท่า ผู้ลงทุนก็ต้องได้กำไรสองเท่า ถ้าได้ผลเท่ากับค่าแรงสองเท่า ผู้ลงทุนก็ได้กำไรเท่าเดียว แต่ถ้าได้ผลพอเท่ากันกับค่าแรงหรือน้อยไป ผู้ลงทุนก็ไม่ได้กำไรเลยหรือต้องขาดทุน
การค้าขาย มีการซื้อของราคาถูกโดยหมายหากำไรในทางที่จะขายให้ราคาแพงขึ้นนั้น แท้ที่จริงการที่พ่อค้าทำนั้น ก็มีแต่ว่าจะขนสินค้าจากผู้ทำหรือผู้ขายไปส่งให้แก่ผู้ที่จะต้องการใช้สินค้านั้นทางเดียว พ่อค้าในชั้นต้นต้องลงทุนซื้อสินค้าจากผู้ทำหรือผู้ขายเสียชั้นหนึ่งก่อน ราคาสินค้าที่ลงทุนใช้ไปนั้นก็คือใช้ค่าแรงให้แก่ผู้ทำสินค้า หรือใช้ค่าแรงให้แก่ผู้ขายรวมทั้งค่าแรงของพวกทำสินค้าซึ่งผู้ขายได้ใช้ทดรองไปก่อนแล้วด้วย เมื่อพ่อค้าซื้อสินค้ามาแล้วยังจะต้องลงทุนเสียค่าแรงซึ่งเปนค่าใช้สรอยสาระพัดอย่างในการที่จะขนสินค้านั้นไปส่งถึงผู้จะต้องการสินค้านั้นต่อไปอีกชั้นหนึ่ง พ่อค้าต้องรวมค่าใช้สรอยค่าแรงในชั้นนี้เติมเข้ากับต้นทุนที่ได้ลงไปในสินค้านั้นด้วย เมื่อขายสินค้าได้เปนจำนวนเงินมากน้อยเท่าใด หักต้นทุนที่ได้ลงไปทั้งสิ้นออกเสียแล้วยังเหลือเท่าใด เศษที่เหลือนี้ก็เปนกำไรในต้นทุนของพ่อค้าที่ได้ออกไป
ในการซื้อและขายสินค้านั้น ถ้าผู้ที่รับซื้อสินค้าต่อไปนั้นจะเข้าไปใช้เองหรือเอาไปขายสืบไป ก็ต้องใช้ค่าแรงต่าง ๆ ที่พ่อค้าได้ใช้ไปก่อนรวมทั้งกำไรซึ่งเปนค่าแรงของพ่อค้านั้นด้วย ราคาของสาระพัดอย่างที่จะมีขึ้นได้มากน้อยเพียงใด ก็ต้องสุดแล้วแต่ค่าแรงที่ได้ลงไปในของนั้นทั้งสิ้น ผลซึ่งงอกมากขึ้นเพราะการซื้อขายนั้น ถ้าต้องใช้เปนส่วนค่าแรงไปเสียมาก กำไรของทุนก็ต้องน้อย ถ้ากำไรในทุนมีมากส่วนค่าแรงก็ต้องได้น้อย ผลประโยชน์ของเจ้าของทุนผู้จะได้กำไรพึงจะแก่งแย่งตรงกันข้ามกับผลประโยชน์ของคนทำงานเปนธรรมดาอยู่เช่นนี้เสมอไป
ในลักษณค่าแรงหมวด ๔ ได้กล่าวไว้ว่า ค่าแรงคนทำงานจะสูงขึ้นหรือต่ำลง ต้องสุดแล้วแต่ส่วนทุนสำหรับเลี้ยงคนทำงานนั้นจะมากหรือน้อยกว่าส่วนจำนวนคนทำงาน ถ้ามีทุนมากจะเลี้ยงคนทำงานได้มาก มีทุนน้อยจะเลี้ยงได้น้อย ถ้าส่วนทุนมีมากกว่าจำนวนคนทำงาน ค่าแรงจะสูงขึ้น ถ้าส่วนคนทำงานมีมากกว่าส่วนทุน ค่าแรงจะตกต่ำลง
ในลักษณกำไรนี้ยังจะกล่าวได้ต่อไปว่า ถ้าจำนวนทุนในบ้านเมืองเกิดมากมูลในขณะใด แต่ในขณะนั้นจำนวนคนทำงานไม่มากขึ้นทันกัน มีทุนที่จะแจกจ่ายให้คนทำงานได้มาก ค่าแรงก็พึงจะสูงขึ้น เมื่อค่าแรงสูงขึ้นกำไรของทุนก็ต้องตกต่ำลง ถ้าสำมโนครัวพลเมืองมากขึ้น แต่ทุนคงที่อยู่ไม่เกิดมากขึ้นทันกัน ค่าจ้างคนทำงานจะตกต่ำลง เมื่อค่าแรงเปลืองน้อยลง กำไรของทุนก็ต้องมากขึ้น ข้อความนี้บ่งความจริงออกให้เห็นได้ต่อไปว่า พิกัดของกำไรนั้นยังจะต้องอาศรัยส่วนมากน้อยของทุนในบ้านเมือง กับส่วนจำนวนคนทำงานในบ้านเมืองนั้นเปรียบเทียบกันเปนข้อสำคัญอีก
คนทำงานพึงจะมีกำลังมีความอุส่าห์และมีคุณวุฒิต่ำสูงต่าง ๆ กันตามบุคคลเช่นกุลีแบกขนเข้าสาร บางคนมีกำลังมากแบกหามได้เที่ยวละ ๒ กระสอบ บางคนมีกำลังน้อยแบกหามได้เที่ยวละกระสอบ บางคนมีกำลังน้อยลงไปอีกเข้ากระสอบเดียวต้องช่วยกันถึง ๒ คนในระยะทางและเวลาเท่ากันเปนต้น ถ้าเปนตามส่วนกำลังเช่นนี้ และถ้าค่าจ้างรายวันเท่ากัน คนที่มีกำลังมากอาจทำการได้เปรียบกว่าคนที่มีกำลังน้อยถึงสองสามเท่า ถึงเจ้าของทุนจะให้ค่าจ้างคนที่มีกำลังมากวันละ ๑ บาท ค่าจ้างคนที่มีกำลังน้อยวันละ ๕๐ สตางค์ ค่าแรงคนมีกำลังน้อยวันละ ๕๐ สตางค์ยังจะเปลืองหรือแพงมากกว่าค่าแรงคนที่มีกำลังมากวันละบาทนั้นอยู่เสมอ ถ้าต้องใช้คนกำลังน้อย และเสียค่าจ้างเปลืองไปในค่าแรงอย่างนั้นกำไรก็ต้องน้อยอยู่เอง กำไรน้อยโดยเหตุที่คนแรงน้อยนั้นทำการได้เนื้อน้อยแต่ได้ค่าแรงมากเกินส่วนกำลังซึ่งทำการได้ โดยที่จะเปรียบกันกับคนที่มีกำลังมาก ต่อไปนี้จะยกข้อสำคัญที่เปนเหตุจะกระทำให้ค่าแรงหรือกำไรผันแปรต่างกันไปได้ตามลักษณการที่จะเปนอยู่ต่าง ๆ กันในเวลาใดเวลาหนึ่งอีก ๓ ประการ
(๑) สุดแล้วแต่ความสามารถของแรงทำการที่จะคุ้มการหรือค่าแรงได้มากและน้อย
(๒) สุดแล้วแต่ค่าจ้างอันเปนบำเหน็จอันแท้ของคนทำการ
(๓) สุดแล้วแต่สิ่งของทั้งหลายซึ่งรวมกันเข้าเปนบำเหน็จแท้ของคนทำงานนั้น จะทำขึ้นหรือจะซื้อได้ถูกแพงเพียงใด
ถ้าแรงทำการนั้นมีความสามารถทำการได้เนื้อมากขึ้น แต่ค่าจ้างคงเท่าเก่าอยู่ ทั้งราคาอาหารก็ไม่เปลี่ยนแปลง การเปนเช่นนี้ค่าแรงก็ต้องเปลืองน้อยลง ถ้าค่าจ้างคนทำงานต้องลดน้อยลง แต่ความสามารถของแรงทำการกับราคาอาหารคงที่อยู่เท่าเก่าไม่เปลี่ยนแปลงอย่างใด ค่าแรงก็ต้องเปลืองน้อยลงเหมือนกัน
ถ้าราคาอาหารตกต่ำลง และราคาสิ่งของทั้งหลายซึ่งจะซื้อให้คนทำงานแทนค่าจ้างได้นั้นคงที่อยู่ ค่าแรงก็ต้องเปลืองน้อยลงด้วย
มูลเหตุที่กระทำให้กำไรหรือค่าแรงต่างกันไปตามกาละเทศะได้นั้น ถ้าพิจารณาดูก็จะจับความจริงได้ว่า คงจะเปนด้วยลักษณการ ๓ อย่างที่จะเปนอยู่ในเวลานั้นอย่างหนึ่งอย่างใดดังที่กล่าวมาเปนแน่
เพื่อจะอธิบายลักษณ ๓ ประการที่ต่างกันให้ชัดแจ้งขึ้นอีก และเพื่อจะนำทางให้พิจารณาลักษณการในบ้านเมืองเพียงที่เกี่ยวข้องกับกำไรและค่าแรงตามการที่จะเปนอยู่ในเวลาหนึ่งเวลาใดนั้น จำจะยกเรื่องบางอย่างที่เปนอยู่ในสมัยนี้ มากล่าวเปนตัวอย่างบ้าง
เปนต้นว่าที่ทำนาในกรุงสยามมีที่ดินที่และเลวต่างกันอยู่ทั่วไป ในที่ดินซึ่งเปนนาดีนั้น เปรียบเสียว่าที่กว้างยาว ๒๐ ไร่ คน ๆ หนึ่งสามารถจะปลูกเข้าได้ผล ๑๐ เกวียน และเปรียบเสียว่าในที่ที่เลวนั้นเนื้อที่กว้างยาว ๒๐ ไร่เท่ากัน แต่คน ๆ หนึ่งจะปลูกเข้าได้ผลเพียง ๕ เกวียน เพราะเหตุว่าดินในที่นานั้นเปนดินทรายหรือดจางเลวกว่ากัน ราคาอาหารการเลี้ยงชีพและค่าจ้างคนทำงานก็เท่ากันทั้งสองแห่ง ถ้าลักษณการเปนเช่นนี้และถึงโดยว่ากำลังและวุฒิของลูกจ้างนั้นจะเสมอกันก็ดี แต่เหตุที่ดินที่นาดีกว่ากันนั้น แรงของคนทำงานในที่ดีสามารถจะทำการออกเนื้อเปนผลมากกว่าเจ้าของที่นาดีก็ต้องมีกำไรมากกว่าเจ้าของนาเลวถึง ๒ เท่า ถ้าราคาเข้าที่ขายได้นั้นเท่ากันทั้ง ๒ แห่ง เจ้าของที่นาดีก็ต้องมีกำไรมากกว่าเจ้าของนาเลวเปนจำนวนเข้า ๕ เกวียน เหตุที่ที่ดินดีกระทำให้มีผลมากขึ้นกว่ากันนั้น ก็ประดุจเดียวกันกับเปนเหตุที่ทำให้ค่าแรงของคนทำนาในที่ดีต่ำลงกว่ากัน แท้ที่จริงค่าจ้างก็เท่ากัน ค่าอาหารไม่แพงกว่ากัน ความศุขของคนทำงานทั้งสองแห่งซึ่งจะได้จากค่าจ้างนั้นก็เท่ากันอยู่เสมอ กำไรเข้า ๕ เกวียนที่เกิดมากกว่ากันนั้นควรจัดเอาเปนค่าเช่าที่นาดีนั้นได้โดยเต็ม
ที่ดินเพาะปลูกในประเทศสยาม ถ้าเปรียบกันกับที่ดินในประเทศยุโรปมีแผ่นดินอังกฤษเปนต้น ซึ่งเปนประเทศเก่าแก่มากกว่ากันนั้น ที่ดินในกรุงสยามซึ่งประกอบกันกับความร้อนและอากาศที่เปนการกธรรมดา ช่วยให้การเพาะปลูกบริบูรณ์พูลผลได้มากกว่ากันนั้น กระทำให้ราคาอาหารการเลี้ยงชีพของคนทำงานถูกลงด้วย เมื่อที่ดินดีแรงของคนทำงานพลอยมีความสามารถทำการให้เกิดผลขึ้นได้มาก ทั้งค่าอาหารเลี้ยงชีพก็ไม่แพง เพราะฉะนั้นค่าแรงที่จำเปนจึงต้องต่ำ กำไรในบ้านเมืองจึงมีพิกัดปานกลางสูงกว่าเมืองอังกฤษมาก ดอกเบี้ยธรรมดาของทุนในบ้านเมืองจึงสูงกว่ากัน
ในเหตุข้อ ๒ ซึ่งเกี่ยวด้วยค่าจ้างซึ่งเปนบำเหน็จอันแท้ของคนทำงาน ซึ่งจะต้องเปนไปตามส่วนมากน้อยของจำนวนสำมโนครัวของคนทำงาน กับส่วนมากน้อยของทุนในบ้านเมืองซึ่งจะมีอยู่ต่อกันเพียงใดนั้น ถ้าการทำมาหากินในบ้านเมืองรุ่งเรืองมาก ทุนในบ้านเมืองก็ย่อมจะมีมากขึ้น เมื่อทุนมีมากขึ้นแล้ว ทุนนี้ก็จะกระทำให้ค่าแรงของคนทำการสูงขึ้นได้ เมื่อค่าแรงสูงขึ้นแล้ว กำไรก็ต้องกลับตกต่ำไป แต่ถ้าจำนวนของคนทำการเกิดมีมากขึ้น ราคาอาหารคงที่อยู่ ค่าแรงของคนทำงานต้องตกต่ำลง เพราะความแข่งแย่งกัน กำไรก็ต้องมากขึ้น เพราะค่าแรงตกต่ำลง ถ้าอาหารก็แพงและคนทำงานก็ไม่ได้รับค่าแรงสูงขึ้น คนทำงานพึงจะได้ความลำบากยากจน ส่วนเจ้าของทุนมีกำไรคงอยู่ตามเดิมหรือยิ่งมีมากขึ้นจนกว่าจำนวนคนงานจะลดน้อยถอยไป เพราะทนทานอยู่ในทำเลที่นั้นไม่ได้ หรือมิฉะนั้นกำไรที่ได้จะสั่งสมเพิ่มเติมทุนจนมากขึ้น ทำให้ค่าแรงกลับขึ้นได้อย่างเก่า แต่ก็อดกำไรให้น้อยถอยลงอย่างเก่าเหมือนกัน
เหตุในข้อ ๓ ซึ่งกระทำให้กระทบถึงกำไรโดยที่จะต้องสุดแล้วแต่ค่าแรงเปนใหญ่นั้น เมื่อจะชี้แจงให้ชัดขึ้นจะต้องตั้งเรื่องมาชักทำเนียบให้เห็นสักเรื่องหนึ่ง เปนต้นว่าเจ้าของทุนเคยใช้ค่าแรงให้แก่ลูกจ้างในการทำนาแห่งหนึ่งเปนจำนวนเงินปีละ ๑๐๐ บาท และคนทำงานนั้นเมื่อได้ค่าจ้างไปแล้วก็เอาไปใช้จ่ายซื้อเสบียงอาหารเสียส่วนหนึ่ง ประมาณเสียว่ารวมเปนจำนวนเงินค่าเสบียงอาหารเลี้ยงตัวและครอบครัวปีละสี่สิบบาท ครั้นอยู่ต่อมาบังเอินมีเหตุอย่างใดเกิดขึ้นกระทำให้ราคาอาหารของคนทำงานนั้นถูกลงกว่าเก่าบาทละสลึง ถ้าเปนเช่นนี้เงิน ๓๐ บาทก็จะพอเปนค่าเสบียงอาหารเลี้ยงตัวและครอบครัวของเขาได้ เจ้าของทุนผู้จ้างเห็นว่าเงิน ๓๐ บาทพอแล้ว จะตัดค่าแรงของคนทำงานให้ต่ำลงปีละ ๑๐ บาทซึ่งเปนส่วนที่อาหารถูกลงนั้นก็ได้ ถึงคนทำงานในชั้นนี้จะได้รับค่าจ้างปีละ ๙๐ บาทก็คงได้กินอาหารบริบูรณ์ที่เท่าเก่าอยู่เสมอ ไม่รู้สึกเดือดร้อนอย่างไร เพราะเหตุที่ค่าอาหารถูกลงนั้นเอง ค่าแรงที่ต่ำลง ๑๐ บาทนี้ก็ไปเพิ่มกำไรของทุนให้มากขึ้น
ตามที่ได้อธิบายมาแต่ต้นว่า กำไรเปนส่วนที่เกิดขึ้นจากผลที่คนทำงานได้ทำขึ้นเกินต้นทุนที่ใช้ในการบำรุงเลี้ยงคนทำงาน เมื่อเวลากระทำผลอยู่นั้น ในที่สุดนี้ยังจะต้องพูดถึงเรื่องทุนที่จะไหลเข้าและออกไปต่างประทศอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อคิดถึงการทำมาหากินทุกอย่างในกรุงสยามว่าได้อาศรัยทุนต่างประเทศเข้ามาใช้ทดรองอยู่เปนอันมากแล้ว การทำนาซึ่งเปนการใหญ่อยู่ในบ้านเมืองนั้น ถ้ามีทุนต่างประเทศเข้าแซกเจือจานอยู่ ในการเลี้ยงชาวนาในที่แห่งใดตอนไหนบ้าง กำไรซึ่งเกิดจากทุนที่แรงทำการทำมาให้นั้นคงตกอยู่ในมือชาวต่างประเทศด้วย สุดแล้วแต่จำนวนทุนของชาวต่างประเทศจะมีเข้ามาในบ้านเมืองสำหรับเลี้ยงคนทำงานทั่วไปนั้นมากน้อยเพียงใด ถ้าค่าแรงของคนทำงานในบ้านเมืองต่ำ กำไรในส่วนทุนก็ต้องสูง ถ้าค่าแรงสูงกำไรก็ต้องต่ำดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นหลายครั้งแล้ว
ในขณะที่การหากินในบ้านเมืองมีกำไรมาก ทุนต่างประเทศย่อมจะไหลเข้ามามากตามกัน แต่ถ้าเปนเวลาที่การทำมาหากินมีกำไรน้อย ทุนต่างประเทศนั้นก็อาจไหลกลับคืนออกไปหาการที่มีกำไรมากกว่านั้นต่อไป เปนต้นว่าเข้าในบ้านเมืองออกน้อยเพราะทำนาไม่ได้ผลดี ราษฎรมีเงินซื้อสินค้าต่างประเทศน้อยไป ราคาสินค้าในเมืองตกต่ำลง เพราะมีผู้ซื้อน้อย ชาวต่างประเทศก็มีแต่จะเก็บทุนที่ลงไว้ขึ้นเสีย ไม่เอาออกจำหน่ายจนกว่ากำไรจะมีดียิ่งขึ้นอย่างเก่า เมื่อชาวต่างประเทศต้องถอนทุนขึ้นจากการงาน หรือส่งทุนกลับคืนออกนอกประเทศแล้ว ถ้าส่วนทุนชาวต่างประเทศมีเปนส่วนใหญ่อยู่ในบ้านเมือง การที่ชาวต่างประเทศถอนออกไป อาจกระทำให้ค่าแรงตกต่ำลงได้ทั่วไป เห็นพยานปรากฎได้ชัดแจ้งว่า ในระหว่างศก ๑๒๔ ถึง ๑๓๑ นี้การค้าขายร่วงโรยทั่วไปในโลกอย่างหนึ่ง และการค้าขายในกรุงสยามกพลอยร่วงโรยหนักไป เพราะการทำนาไม่ได้ผลดีอย่างหนึ่ง เหตุใหญ่ ๒ ประการนี้ กระทำให้ค่าแรงค่าจ้างของคนทำงานในบ้านเมืองตกต่ำไปกว่าเก่า ดังที่เห็นปรากฎอยู่ทุกวันนี้ ค่าแรงจะตกต่ำไปจนกว่าการค้าขายจะมีกำไรเพิ่มเติมทุนให้กลับมีมากขึ้นอีก ถ้าค่าแรงตกต่ำและราคาอาหารก็แพงขึ้นดังที่เปนอยู่ในศก ๑๓๐ - ๑๓๑ นั้นและถ้าช้านานไปอีกแล้วราษฎรจะได้ความคับแค้นยิ่งขึ้นเปนอันมาก จะมีทางแก้ได้เร็วอย่างเดียวก็แต่ที่จะให้มีทุนเพิ่มเติมเข้ามาแทนทุนที่ชาวต่างประเทศได้ชักถอนคืนกลับไป แต่การที่จะจำหน่ายทุนนี้ออกได้ก็จะมีที่ตรงว่ารัฐบาลจะทำการโยธาเช่นการทำทางรถไฟ, ขุดคลอง, ทำถนนหนทางอันจะเปนสาธารณประโยชน์ช่วยให้การทำมาหากินให้เจริญยิ่งขึ้นนั้นได้ ผู้ที่ยากจนขัดสนไม่มีการทำจะได้เข้ามารับจ้างได้เปนค่าแรงออกไปเรือจานกันทั่วไป จะชักให้การค้าขายในบ้านเมืองพลอยกลับดีขึ้นอีกได้
ได้นำทางให้พิจารณาลักษณ์กำไรที่เกิดจากต้นทุนและเกิดจากแรงทำการว่าต้องเกี่ยวข้องพาดพิงอาศรัยกันอยู่ทั้งสองฝ่าย โดยพิสดารพอกับที่นักเรียนชั้นต้นจะใช้เปนเครื่องประกอบสติปัญญาที่จะตรึกตรองค้นหาความจริงต่อไปได้อีกแล้ว ในที่สุดนี้จะขอเพิ่มเติมเรื่องคุณวุฒิของผู้จัดการ, เจ้าของการ, หรือผู้รับเหมาค้ากำไรในการทำมาหากินต่าง ๆ นั้นให้เปนหนทางพิจารณาอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งแม้แต่จะเปนเรื่องสำคัญใหญ่อยู่มาก ในเรื่องที่จะเกี่ยวข้องกับบำเหน็จค่าแรงของการดูแลงานและความสามารถของแรงทำการทั้งสองอย่างที่กล่าวมาแล้วก็จริง แต่ที่ได้ละเลยข้ามมาเสียไม่ได้กล่าวในที่นั้นด้วย ก็เพื่อจะให้ความข้อนี้ยิ่งปรากฎชัดขึ้นแต่ลำพัง
เมื่อการทำมาหากินของบ้านเมืองยังตกอยู่ในชั้นปฐมบรมโบราณ มีการแบ่งปันหน้าที่กันทำงานในหมู่พลเมืองน้อยอย่าง เพราะความปราถนาเสบียงอาหารการเลี้ยงชีพและการบริโภคใช้สรอยประกอบความศุขสำหรับคนหมู่นี้ยังมีน้อยไม่มักใหญใฝ่สูงนัก การประมูลแข่งขันกันในการหากินไม่กล้าแข็ง เพราะเหตุว่าเสบียงอาหารการเลี้ยงชีพยังอุดมสมบูรณ์อยู่มาก วิชาหากินที่จะมีอยู่ต่างกันบ้างก็ยังล้วนแต่เปนวิชาที่ฝึกสอนกันทำได้โดยง่าย เมื่อความปราถนาของคนเหล่านี้มีน้อย ใครจะต้องการสิ่งใดกทำขึ้นใช้เองได้ในหมู่ครอบครัวของตนเองเสียโดยมาก การแลกเปลี่ยนซื้อขายผลของแรงทำการในระหว่างกันก็แทบจะไม่มี ใครจะปลูกกระท่อมก็ไปตัดไม้มาปลูกเองได้ ไม่ต้องอาศรัยช่างวิเศษ จะต้องการผ้านุ่ง, ห่ม, บุตร์ภรรยาก็ทอให้ ไม่ต้องอาศรัยพวกอื่นมาช่วย คุณวุฒิของเจ้าของบ้านหรือหมู่คณะไม่ต้องมีดีวิเศษอะไรนัก ก็ปกครองครอบครัวและหมู่บ้านกันไปได้ตามลำพัง การพึ่งพาอาศรัยซึ่งกันและกันอย่างการระดมสมทบแรงคนจำนวนมาก จะมีบ้างก็แต่การศึกสงครามที่จำเปนแท้เปนคราวเปนสมัย เมื่อถึงเวลาเช่นนี้ก็เกิดเปนความต้องการผู้บัญชาการจัดการอันฉลาดรอบคอบคือ แม่ทัพ, นายกอง ในทางที่จะนำพลเมืองเข้าต่อสู้ข้าศึกหรือป้องกันสัตรูนั้นขึ้นทันที แม่ทัพหรือนายกองจะป้องกันสัตรูให้พลเมืองพ้นอันตรายหรือได้ไชยชนะแก่ข้าศึกได้เพียงใดจะต้องสุดแล้วแต่ความรู้ความชำนาญในกลศึกและอุบายของการพิชัยสงครามนั้นเปนใหญ่ คุณวุฒิของแม่ทัพยิ่งมีดีมาก ก็จะสามารถต่อสู้ศัตรูได้ไชยชนะมาก แม้แต่จำนวนทหารน้อยก็สามารถจะต่อสู้ศัตรูหมู่มากให้พ่ายแพ้ไปได้ พลเมืองและทหารจะมีความเชื่อถือไว้วางใจได้มั่นคงในแม่ทัพเพียงใดก็สุดแล้วอยู่แต่ความบังคับบัญชาของแม่ทัพนั้น จะนำทหารไปให้มีไชยชนะแก่ข้าศึกเพียงใด หรือจะป้องกันชีวิตทหารและพลเมืองให้พ้นภัยอันตรายได้เพียงใด
ในการทำมาหากินสาระพัดอย่างในปัตยุบันนี้ มีการแบ่งในหน้าที่กันทำงานมากอย่างต่างชนิดเหลือที่จะพรรณาได้ การประมูลแข่งแย่งผลประโยชน์ซึ่งกันและกันก็มีเข้มงวดกวดวันอยู่โดยรอบ ถ้าในการใดที่เจ้าของการ, ผู้จัดการ, หรือผู้รับเหมาค้ากำไรในการหากินชนิดใดไม่มีความไหวพริบรู้เท่าถึงการพอกำไรในสิ่งนั้นแทบจะมีไม่ได้เลย ที่มีคุณวุฒิแต่ปานกลางก็ได้กำไรเปนค่าแรงเลี้ยงชีพไปเท่านั้น กว่าจะได้ประโยชน์มาแต่เล็กน้อยก็ต้องมีความอุส่าห์เปนความกังวลสนใจในการนั้นเปนอันมาก ส่วนผู้จัดการดีมีคุณวุฒิวิเศษแท้นั้นมีน้อยคนนัก แต่คนชนิดนี้มีอยู่ที่ไหนทำการชนิดใดคงจะมีกำไรได้ผลเปนกอบเปนโกยโดยรวดเร็วเสมอ
การทำมาหากินใหญ่ ๆ อย่างที่เปนอยู่ทุกวันนี้ ผู้ที่เปนเจ้าของทุนแท้มักจะไม่ได้เปนเจ้าของการหรือผู้จัดการเอง เปนแต่ผู้ออกทุนให้เขากู้เพื่อจะได้ดอกเบี้ยเสียโดยมาก ส่วนผู้จัดการหรือผู้รับเหมาค้ากำไรในการนั้นมีแต่คุณวุฒิของความชำนาญไหวพริบเฉลียวฉลาดเปนใหญ่ จะต้องการทุนเท่าไรมีผู้เชื่อถือก็ได้ทุนนั้นมาจ้างลูกจ้างเสียค่าแรงให้คนทำงานหรือลงทุนก่อสร้างที่ทำงานและซื้อเครื่องมือเครื่องใช้ด้วยทุนที่ยืมเขามาทุกอย่าง ทำการได้ผลแล้วก็เสียดอกเบี้ยให้เจ้าของทุนเสียค่าแรงตามราคาตลาดให้คนทำงาน และหักค่าใช้สรอยเบ็ดเตล็ดแล้ว ยังมีเศษเหลืออีกเท่าใด ตกเปนกำไรของผู้จัดการทั้งสิ้น ถ้าขาดทุนจนตั้งตัวไม่ติด ความฉิบหายนั้นก็ต้องไปตกอยู่แก่เจ้าของทุนผู้ที่ให้กู้ยืมมา
เมื่อพิจารณาดูการทำมาหากินตามทำนองนี้ ก็จะเห็นได้ว่าเจ้าของทุนแท้ได้ส่วนกำไรแต่เพียงดอกเบี้ยตามธรรมเนียม คนทำงานก็ได้แต่ค่าแรงตามธรรมเนียมเหมือนกัน แต่ส่วนกำไรแท้ที่จะได้มากน้อยเท่าใดนั้น ตกเปนของผู้รับเหมาค้ากำไร หรือผู้จัดการที่เปนคนกลางนั้นทั้งสิ้น คนผู้นี้ไม่ได้เปนเจ้าของที่ดินที่ควรจะได้ค่าเช่า ไม่ได้เปนคนทำงานที่ควรจะได้ค่าแรง และไม่ได้เปนเจ้าของทุนที่ควรจะได้ดอกเบี้ย หากเปนแต่คนกลางที่รวบรวมเอากำลังของคน ๓ จำพวกที่กล่าวมานี้มาผสมกันเข้า จนเกิดผลเปนกำไรขึ้นเปนส่วนหนึ่งต่างหากแท้
ในตำราเรื่องลักษณค่าเช่านั้นได้ชี้แจงไว้ว่า ค่าเช่าจะมีขึ้นมากน้อยเพียงใดนั้น จะเท่ากันกับผลเพาะปลูกที่เกิดขึ้นจากที่ดีที่สุดนั้นมากกว่าที่เลวที่สุดเพียงใด ราคาของอื่น ๆ ซึ่งเปนผลของแรงทำการทำขึ้นได้นั้น ก็ต้องสุดแล้วแต่ว่า แรงทำการที่เลวที่สุดนั้น จะทำขึ้นได้โดยที่ต้องใช้ค่าแรงเปลืองมากเพียงใด ส่วนแรงทำการอย่างดีที่สุดโดยที่เสียค่าแรงเท่ากัน แต่ได้ผลมากกว่ากัน เพราะวิธีจัดการทำการดีกว่ากันมากน้อยเท่าใดนั้น ผลที่ได้มากกว่ากันนี้เปนกำไรวิเศษซึ่งพอจะเปรียบเทียบกันว่า มีลักษณคล้ายคลึงกันกับค่าเช่าที่ดินมาก กำไรวิเศษตามที่ชักทำเนียบมาให้เห็นในที่นี้ ไม่เปนกำไรที่ต้องเบียกแว้งเบียดเบียนเอาจากค่าแรงตามราคาตลาดของคนทำงาน และไม่เบียกแว้งเบียดเบียนเอาจากส่วนแบ่งปันของเจ้าของทุนซึ่งได้รับดอกเบี้ยไปแล้ว และกำไรวิเศษนี้ถึงจะได้มากมายเพียงใด ก็มิได้ทำให้ราคาสิ่งของที่ทำเปนผลนั้นแพงขึ้นด้วย กำไรวิเศษนี้จะจัดเอาเปนบำเหน็จค่าแรงดูแลของเจ้าของการ หรือจะเอาเปนบำเหน็จในความสามารถของแรงทำการของผู้จัดการนี้ เปนบำเหน็จที่ได้กระทำให้เกิดผลเปนกำไรมากขึ้นกว่าการอย่างเดียวกันที่คนสามัญทำนั้นก็ได้ หรือจะแยกส่วนแบ่งปันสำหรับผู้จัดการและเจ้าของการนี้ออกเปนภาควิเศษอีกภาคหนึ่ง นอกจากภาคที่เปนค่าเช่า, ค่าแรง, และบำเหน็จของทุนก็ได้
คนจัดการในการทำมาหากินสาระพัดอย่างนั้น โดยมากได้ค่าแรงแต่พอคุมความเหน็จเหนื่อย ตามธรรมดาเปนกำไรปานกลางอย่างที่ชี้แจงมาแต่ก่อนนั้นเปนพื้น แต่โดยที่ผู้จัดการอันประกอบไปด้วยคุณวุฒิวิเศษเฉียบแหลมยวดยิ่งอยู่กว่าเพื่อนมีอยู่เช่นนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อการของผู้ใดมีกำไรรุ่งเรืองใหญ่โตขึ้นรวดเร็วจนฦๅชาปรากฎกันทั่วไปบางครั้งบางคราว และเปนเมื่อเวลาการอย่างเดียวกันกำลังซุดโทรมอยู่ หรือดำรงคงอยู่เปนปานกลางนั้นแล้ว เหตุสำคัญที่คนหนึ่งเปนอย่างไร จึงได้กำไรรุ่งเรืองกว่าเพื่อนนั้น ก็จะเปนเพราะด้วยคุณวุฒิวิเศษในวิธีจัดการของคนผู้นั้นอย่างเดียว ผู้จัดการนี้ก็เปรียบประดุจเดียวกันกับแม่ทัพที่กล่าวมาก่อน ข้างฝ่ายหนึ่งจัดการบังคับบัญชาพลทหารในการสงคราม ข้างฝ่ายจัดการบังคับบัญชาหมู่คนทำงานในการทำมาหากินได้สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกัน เมื่อแบ่งผู้จัดการอย่างเลวที่สุดที่ทำการไม่ได้กำไรเกินค่าแรงดูแลการตามธรรมดาสามัญนั้น ออกเปนแพนกหนึ่ง และแบ่งผู้จัดการดีมีกำไรมากออกเปนแพนกหนึ่งอีกต่างหากแล้ว ผลที่ได้มากกว่าจำพวกก่อนนี้เท่าใด ผลที่ได้มากกว่านี้เปนกำไรวิเศษทั้งสิ้น