หมวด ๒ ว่าด้วยทรัพย์ซึ่งสร้างเปนผลขึ้นแล้ว จะได้เปนส่วนแบ่งปันแก่คนจำพวกใดบ้าง

ในภาคที่หนึ่งได้ยกมูลเหตุข้อสำคัญมากล่าวว่า สิ่งซึ่งต้องใช้ในการที่จะกระทำให้เกิดผลเปนทรัพย์อันจะมีประโยชน์และมีค่าแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้นั้นต้องอาศรัยใช้ที่ดิน แรงทำการ และทุนประกอบกัน ๓ ประการ ได้ไขความไว้ว่าคำที่ใช้ว่า “ที่ดินนั้น” ต้องรวมเอาสัมภาระและธรรมชาติทั้งหลายซึ่งมีขึ้นเปนขึ้นเองโดยฤทธิ์ดินฟ้าอากาศ ความร้อนความเย็นและแสงสว่าง รวมทั้งน้ำและธาตุทั้งปวงซึ่งมีอยู่ข้างบนและข้างใต้แผ่นดินอันเปนการกของธรรมดาต่าง ๆ นั้นด้วย กับคำที่ใช้ว่า “ทุน” นั้นต้องไขความตลอดไปถึงเงิน, ทอง, สรรพสิ่งทั้งปวง ที่เปนเครื่องมือเครื่องใช้พาหนะ และเสบียงอาหารอันเปนผลที่คนได้ออกแรงทำสร้างสมขึ้นไว้แต่ก่อนนั้นอีก

โดยมูลเหตุที่ต้องอาศรัยที่ดิน, แรงทำการ, และทุนประกอบกัน ๓ อย่างจึงเกิดผลเปนทรัพย์อันมีประโยชน์ขึ้นได้นั้น ผู้ซึ่งควรจะได้ส่วนแบ่งปันในผลประโยชน์นี้ ก็ควรจะมีแต่เจ้าของที่ดิน ๑, ผู้ออกแรงทำการ ๑, ผู้ลงทุนทดรอง ๑, รวม ๓ จำพวกเท่านี้ พลเมืองนอกจากนี้ เมื่อพลอยได้ส่วนแบ่งปันด้วยก็เปนเพราะคนใน ๓ จำพวกยอมยกให้โดยความศรัทธาหรือโดยความจนใจ พลเมืองนอกจากคน ๓ จำพวกนี้ เปนพวกที่ไม่ได้ทำอะไรให้เกิดผลเปนทรัพย์ขึ้นในแผ่นดินเปนพวกที่บริโภคทรัพย์สูญสิ้นไปแล้วไม่กระทำให้เกิดผลกลับคืนมาได้อีก ไม่เลือกว่าคนมีตระกูลสูงหรือมั่งมีบริบูรณ์และยากจนชั้นใด ถ้าไม่ได้ช่วยทำผลประโยชน์ให้แก่แผ่นดินแล้ว ก็เปนอันว่าพวกนี้ได้แต่บริโภคทรัพย์สมบัติของชาติให้หมดไปอย่างเดียว

ยังมีคนขอทาน, คนพิการทุพลภาพ, คนเสียจริต, คนเล่นเบี้ย, คนเกียจคร้าน, โจรขะโมย, และคนที่เลวทรามลงไปอีกนั้นเปนต้น เจ้าของทรัพย์ต้องปันให้โดยความกรุณาเสน่หารักใคร่ หรือโดยความเกรงอำนาจกฎหมายและอาญา หรือต้องแบ่งให้ตามประเพณีบ้านเมืองของชาติและสาสนาเปนต้น

ส่วนแบ่งปันทรัพย์ที่เจ้าของที่ดินจะได้นั้น ในที่นี้จะเรียกว่า “ค่าเช่า” ส่วนของผู้ลงแรงทำการเรียกว่า “ค่าแรง” และส่วนของผู้ลงทุนจะเรียกว่า “กำไร”

ค่าเช่า, ค่าแรง, และกำไรนี้ ในการบางอย่างก็รวมได้อยู่แก่คนผู้เดียว เช่นคนทำนาที่เปนเจ้าของที่นาเองเปนผู้ลงแรงทำนานั้นแต่ลำพังตัว ทั้งได้ลงทุนมีเครื่องมือเครื่องใช้, พาหนะโค, กระบือ, ไถคราด, และเสบียงอาหารที่ต้องอาศรัยใช้ในการทำนานั้นด้วย เมื่อเปนเช่นนี้ ค่าเช่า, ค่าแรง, และกำไรในการทำนานั้น จึงต้องตกอยู่แก่คนผู้เดียว หรือถ้าย้อนหลังขึ้นไป ถึงสมัยเมื่อกฎหมายแผ่นดินยังยอมให้มีทาษใช้อยู่ เจ้าของที่นา, เจ้าของทาษ, และเจ้าของทุนเปนคนเดียวกัน แม้แต่ตัวจะไม่ได้ออกแรงช่วยทำนาอย่างใดเลย ก็ต้องได้รับผลประโยชน์ส่วนค่าเช่า, ค่าแรง, และกำไรทั้ง ๓ อย่างนั้นแต่ผู้เดียว แรงทาษที่ใช้ทำนาในที่นี้ ต้องเปรียบเปนเช่นเดียวกันกับแรงสัตว์พาหนะทั้งปวงที่เจ้าเงินได้ลงทุนซื้อมา เพราะฉะนั้นประโยชน์ซึ่งได้จากแรงทาษโดยไม่ต้องเสียค่าจ้างนั้น จึงต้องนับเข้าเปนส่วนได้ของกำไรในต้นทุนของค่าตัวทาษด้วย

ถ้าแรงทาษที่ใช้นั้นเปนแรงลูกจ้าง ผู้จ้างเปนแต่เจ้าของที่นาและเจ้าของทุน ผลที่ได้ก็ต้องแบ่งปันออกเปน ๒ แพนก เปนส่วนค่าแรงแพนกหนึ่ง เปนส่วนกำไรและค่าเช่าซึ่งจะตกเปนของเจ้าของที่และเจ้าของทุนผู้เดียวนั้นแพนกหนึ่ง

ถ้าเจ้าของที่นามีแต่เนื้อนาให้เขาเช่า ผู้เช่าต้องลงทุนลงแรงเอง ผู้เช่าก็ต้องได้รับส่วนค่าแรงและกำไรทั้ง ๒ อย่างแบ่งผลประโยชน์แต่ส่วนค่าเช่าให้แก่เจ้าของที่นา

ถ้าผู้ใดต้องเช่านาเขาทำ ต้องจ้างลูกจ้างช่วยและต้องกู้ยืมทุนผู้อื่นมาใช้ทำการได้ผลแล้ว ก็ต้องแบ่งปันเสียค่าเช่า, ค่าแรง, และค่าดอกเบี้ยให้แก่เจ้าของนาและลูกจ้างและให้เจ้าของทุนเปนลำดับไปทั้ง ๓ ส่วนยังเหลือจากนั้นเท่าใดจึงจะเปนส่วนกำไรของผู้นั้นได้

การทำมาหากินทั่วไป จะต้องแบ่งบันผลประโยชน์ให้แก่กันเปนส่วน ๆ ที่ควรจะแยกออกต่างกันได้ชัดเจนเช่นนี้แล้ว เมื่อทำการหาผลประโยชน์อย่างไร ถ้าจะประมาณแยกส่วนแบ่งปันผลที่ทำขึ้นได้ตามนี้แล้ว ก็พอจะเห็นการได้การเสียชัดเจนดี เปนต้นว่าการทำนาในกรุงสยาม โดยส่วนมากทุกวันนี้ชาวนาเปนเจ้าของที่ดินเปนผู้ลงแรง และลงทุนรวมทั้ง ๓ อย่างถ้าจะไต่สวนดูว่าลักษณการทำนองนี้จะมีกำไรขาดทุนหรือได้เปรียบเสียเปรียบกว่าการอย่างอื่นเพียงใดก็ต้องเอาราคาเข้าและผลประโยชน์ทุกอย่างที่ทำขึ้นได้จากที่นานั้นมาตั้งเปนเกณฑ์กะประมาณว่าที่นานั้นถ้าให้ผู้อื่นเช่าทำจะมีค่าเช่าเท่าใดแรงที่ตัวได้ลงไปในการทำนานั้นถ้าคิดเปนค่าแรงจ้างผู้อื่นมาทแทนจะต้องเสียให้เขาสักเท่าใดและทุนที่ต้องมีสำรองไว้ในค่าเครื่องมือเครื่องใช้สรอย, ค่าโค, ค่ากระบือและอื่น ๆ สาระพัดอย่างซึ่งจำจะต้องใช้ในการทำนานั้นจะเปนราคาเงินมากน้อยเท่าใด ถ้าต้องกู้ยืมเงินผู้อื่นมาใช้จะต้องเสียดอกเบี้ยให้เขาอย่างไร เมื่อได้รวมค่าใช้, จ่าย, ส่วนค่าเช่า, ค่าแรง, ค่าดอกเบี้ยได้โดยละเอียดและได้เติมค่าน้ำค่านา, ซึ่งต้องเสียเปนอากรให้แก่รัฐบาลด้วยแล้ว รวมยอดเงินใช้จ่ายทั้งสิ้นเปนเงินเท่าใด ถ้าคิดหักกันกับผลที่ขายได้ มีเงินเหลืออยู่ข้างรายได้เท่าใดก็เปนกำไรเท่านั้น หรือถ้ารายจ่ายมากกว่ารายได้เท่าใด ก็เปนอันว่าต้องขาดทุนเท่านั้น เมื่อคิดรายได้รายจ่ายได้ถี่ถ้วนแล้ว จึงจะเห็นความชัดว่าการที่ทำนานั้น ถ้ามีกำไร กำไรจะพอสมควรกับค่าเหน็จเหนื่อยหรือไม่ ถ้าไม่พอหรือขาดทุน ก็ควรจะต้องผ่อนผันจัดการทำนานั้นให้ดียิ่งขึ้น มิฉะนั้นก็ต้องเลิกการทำนาเสีย ไปหาการอย่างอื่นที่มีประโยชน์มากกว่านั้นทำ

ในการทำมาหากินอย่างอื่น นอกจากการเพาะปลูกก็ต้องคิดแบ่งส่วนผลประโยชน์ทำนองเดียวกัน แต่ในการค้าขายการเดินเรือการแต่งสรรทำของขายต่าง ๆ ที่ตั้งกันขึ้นเปนห้างใหญ่โรงใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งต้องใช้ทุนและแรงสะสมอยู่ในการอย่างเดียวมากนั้น การแบ่งปันผลประโยชน์ที่ทำขึ้นได้มักจะมีส่วนเปนค่าแรงของคนงาน และส่วนกำไรของทุน ๒ แพนกนี้เปนใหญ่ ส่วนแบ่งปันที่เปนค่าเช่าที่ ถ้าจะมีบ้างที่ไม่เปนส่วนสำคัญ มีการทำโรงสีเข้าเปนต้น

สัมภาระต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเองในแผ่นดินโดยอำนาจธรรมดาของโลกนั้น คนจะเอามาดัดแปลงแต่งสรรทำขึ้นจนใช้เปนคุณประโยชน์มีค่าแลกเปลี่ยนซื้อขายเปนทรัพย์ขึ้นได้ ก็ต้องอาศรัยกฎของธรรมดาโลกซึ่งบังคับอยู่เสมอนั้นเปนใหญ่ ไม่ผิดธรรมดาของโลกไปได้ แต่เมื่อได้ทำสิ่งใดเปนทรัพย์มีผลประโยชน์ขึ้น แล้วการที่จะแบ่งมั่นส่วนทรัพย์นั้น ให้แก่พวกไหนเท่าใด จะต้องสุดแล้วแต่ความนิยมตามใจมนุษย์เปนใหญ่ ความนิยมก็อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาละเทศะที่ต่างกันนั้นอยู่เสมอ คนจะนิยมเอาแต่เพียงความประมูลแข่งขันราคากันเปนที่ตัดสินในการแบ่งทรัพย์ หรือจะตั้งระเบียบข้อบังคับและวางแบบธรรมเนียมลงในการแบ่งส่วนผลประโยชน์นั้นก็ได้ แต่เมื่อได้ตกลงถือระเบียบข้อบังคับหรือธรรมเนียมอย่างใดลงไปแล้ว จะมีผลดีผลร้ายเกิดขึ้นเพราะเหตุนั้นเพียงใด จะเปนการเหลือนิสัยและพ้นอำนาจที่คนจะบังคับหรือแก้ไขได้ทันท่วงที มีส่วนแบ่งปันทรัพย์ให้แก่รัฐบาลเปนส่วนภาษีอากรเปนต้น การเก็บภาษีอากรช่วยให้พลเมืองพลอยเจริญยิ่งขึ้นได้ก็มี ที่ทำให้มีผลร้ายตรงกันข้ามก็มี

โดยที่บ้านเมืองจำเปนจะต้องมีเจ้าพนักงานขึ้นไว้จำพวกหนึ่ง ให้มีหน้าที่สำหรับจัดการปกครองรักษาชีวิต และทรัพย์สมบัติของพลเมืองให้พ้นภัยอันตรายต่าง ๆ จากข้าศึกสัตรูภายนอก และภายในแผ่นดินของชาติ สำหรับบำรุงและจัตการศึกษา, การโยธา, การเพาะปลูก, การทำมาค้าขาย, เพื่อเปนสาธารณประโยชน์ทั่วไปแก่พลเมืองเปนต้น และโดยที่พวกเจ้าพนักงาน (คือรัฐบาล) ไม่ได้ทำการทำมาหากินอย่างหนึ่งอย่างใดได้ นอกจากทำหน้าที่ป้องกันรักษาและบำรุงพลเมืองเพื่อให้ดำรงอยู่ในความเจริญนั้น ๆ แล้ว พลเมืองซึ่งทำผลประโยชน์เปนทรัพย์ขึ้นได้ จะต้องเฉลี่ยเรี่ยรายกันแบ่งทรัพย์นั้นออกให้รัฐบาลใช้ในการปกครองป้องกันบำรุงชาติสาสนา ตามส่วนมากและน้อยที่จะนิยมกันว่า คนชนิดไหนทำการได้ผลประโยชน์มากน้อยเท่าใด จะต้องเสี่ยสวนแบ่งปันเปนภาษีอากรให้แก่รัฐบาลเปนต้น และเมื่อความจริงมีปรากฎอยู่เช่นนี้แล้ว ก็ต้องนับส่วนภาษีอากร เติมเข้าเปนส่วนแบ่งปันทรัพย์นอกจากค่าเช่าที่, ค่าแรง, และกำไรอีกส่วนหนึ่ง

เรื่องค่าเช่าที่ดิน, ค่าแรงทำการ, กำไรของทุน และเรื่องภาษีอากรนี้ จะได้พิจารณาให้ชัดแจ้งในบทหน้าต่อไป จะได้ยกมูลเหตุต่าง ๆ มากล่าวให้เห็นว่า ตามลักษณการตามทำเลที่และตามสมัยซึ่งย่อมจะผิดเพี้ยนเปลี่ยนแปลงกันอยู่เสมอนั้น เหตุใดค่าเช่า, ค่าแรง, กำไร, กับภาษีอากรจึงได้มากบ้างน้อยบ้างไม่เสมอกัน เปนความเจตนาที่จะนำทางให้เห็นต่อไปว่า ความเจริญของชาติและบ้านเมือง ในการทำมาหากินจะต้องอาศรัยหรือสุดแล้วอยู่แต่กฎของธรรมดาข้อใดบ้าง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ