- คำนำ
- ภาค ๑ การสร้างทรัพย์
- หมวด ๑ ว่าด้วยคุณประโยชน์
- หมวด ๒ ว่าด้วยลักษณทรัพย์
- หมวด ๓ ว่าด้วยสิ่งสำคัญที่จะต้องใช้ในการทำให้เกิดผลเปนทรัพย์
- หมวด ๔ ว่าด้วยลักษณแรงทำการ
- หมวด ๕ ว่าด้วยวิธีปันหน้าที่ทำการ
- หมวด ๖ ว่าด้วยการระดม
- หมวด ๗ ว่าด้วยทำนองทำการอย่างใหญ่และทำการอย่างน้อย
- หมวด ๘ ว่าด้วยลักษณทุน
- หมวด ๙ ว่าด้วยการลงทุน
- หมวด ๑๐ ว่าด้วยกฎธรรมดาทั้งหลาย ซึ่งเปนที่บังคับสำหรับให้เกิดผลเปนทรัพย์เพิ่มพูลยิ่งขึ้น
- หมวดที่ ๑๑ ว่าด้วยกฎธรรมดาซึ่งเปนที่บังคับให้ทุนเพิ่มพูลยิ่งขึ้น
- ภาคที่ ๒ การแบ่งปันทรัพย์
- หมวด ๑ ว่าด้วยกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สมบัติ
- หมวด ๒ ว่าด้วยทรัพย์ซึ่งสร้างเปนผลขึ้นแล้ว จะได้เปนส่วนแบ่งปันแก่คนจำพวกใดบ้าง
- หมวด ๓ ว่าด้วยค่าเช่าที่ดิน
- หมวด ๔ ว่าด้วยค่าแรง
- หมวด ๕ ว่าด้วยกำไร
- หมวด ๖ ว่าด้วยสมาคมคนทำงาน และการที่คนทำงานพร้อมใจกันละทิ้งการงาน
- หมวด ๗ ว่าด้วยผลที่ร้ายของการประมูลแข่งขัน
- หมวด ๘ ว่าด้วยวิธีทำการร่วมกัน โดยร่วมทุนร่วมแรงและร่วมผลประโยชน์ในระหว่างคนทำงาน
- หมวด ๙ ว่าด้วยการศึกษาและการประหยัดทรัพย์
คำนำ
วิชาทรัพยสาตร์ซึ่งชี้แจงความเลอียดในหลักฐานของการสร้างทรัพย์ การจำหน่ายทรัพย์ การแลกเปลี่ยนแลการใช้ทรัพย์ ซึ่งรวมทั้งสิ้นจะจัดได้ว่าเปนความรู้ในการทำมาหากินของบุคคลทั่วไป โดยทางที่จะใช้ทรัพย์ให้เปลืองน้อย และให้ได้ประโยชน์มากที่สุดที่จะทำได้แก่บุคคลและบ้านเมืองนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าจนทุกวันนี้ยังไม่มีผู้ใดได้ริอ่านแต่งเรื่องหรือแปลออกจากตำราของชาวประเทศยุโรป พิมพ์ขึ้นเปนภาษาไทยบ้างเลย และได้ทราบว่ากรมศึกษาของรัฐบาลก็จะจัดการสอนวิชานี้ขึ้นตามโรงเรียนในเร็ว ๆ นี้ด้วย ข้าพเจ้าเห็นว่าจะเปนประโยชน์แก่ผู้ที่จะตั้งต้นศึกษาวิชาทางนี้อยู่บ้าง จึงได้เรียบเรียงแต่งทรัพย์สาตร์เล่มนี้ขึ้นตามตำราที่ข้าพเจ้าได้ศึกษามา ถึงจะได้ความรู้ในหนังสือนี้แต่เล็กน้อยก็เชื่อว่าจะเปนการแนะนำแก่ผู้ที่จะตั้งต้นศึกษา ซึ่งไม่มีโอกาศที่จะหมั่นไปนั่งฟังเล็กเชอร์ในโรงเรียนแต่วันละน้อยได้ หรือเมื่อได้ฟังเล็กเชอร์มาแล้วจะอ่านทรัพยสาตร์นี้เปนเครื่องประกอบความตรึกตรองต่อไปก็ได้
ที่ข้าพเจ้าต้องจำเปนกล่าวความซ้ำบ่อย ๆ จนรู้ศึกว่าผู้อ่านอาจเบื่อหน่ายไปได้บ้างนั้น เปนเหตุเพราะจะให้คนทั้งหลายที่ไม่ได้เปนนักเรียนอ่านเข้าใจความมุ่งหมายของข้าพเจ้าให้ง่ายขึ้น /*ข*/ไม่ให้เปนการได้หน้าลืมหลัง ต้องพลิกดูหนังสือย้อนหลังขึ้นไปบ่อย ๆ นั้น เปนต้น คิดเห็นว่าพูดให้ชัดเจนเสียทีเดียวดีกว่าที่จะพูดแต่ห้วน ๆ ให้เข้าใจยากไป
ในบรรดาผู้ที่ยังไม่ได้เคยศึกษาวิชาทางนี้บ้างเลยนั้น ข้าพเจ้าขอแนะนำผู้ที่จะเรียนทำราชการ แต่ผู้ที่จะเรียนทำการค้าขายหรือทำมาหากินเปนผลประโยชน์นั้น ให้ได้อ่านทรัพยสาตร์นี้โดยจำเภาะ โดยที่เชื่อว่าเมื่อได้อ่านแลได้ใช้สติปัญญาตรึกตรองดูตามข้อความต่าง ๆ ที่ได้กำหนดลงไว้ตามแบบแผนของนักปราชญ์แต่ก่อนแลในปัตยุบันนี้แล้ว คงจะได้ความรู้ในตำรานี้ไปใช้เปนประโยชน์ได้เปนแน่ แลถึงอย่างไรก็คงจะดีกว่าที่ไม่ได้ศึกษาวิชาทางนี้บ้างเลย
พวกไทยเราแทบทุกคนที่ได้เดินทางไกลไปนอกพระราชอาณาเขตร์สยามนั้น พอล่วงเข้าในเขตร์แดนของประเทศอื่นเห็นประชุมชนพลเมืองต่างชาติต่างภาษา ที่นุ่งห่มแต่งตัวผิดกันกับเรามีกิริยา อัธยาศรัยถือธรรมเนียมแลศาสนาผิดกับเราโดยทั่วไปแล้วคงจะนึกเห็นเปนพวกเราพวกเขาชัดแจ้งขึ้นกว่าแต่ก่อนในทันใดนั้นเอง แลเหตุที่พลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนของเราออกไปอยู่ในหมู่คนต่างประเทศ จนรู้สึกเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจคิด/*ค*/ถึงบ้านแลญาติพี่น้องเพื่อนรักหนักขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นและ จะเปนเวลาที่จะรู้สำนึกได้ว่า อ๋อความรักชาติศาสนาแลพระมหากระษัตรของเราที่เปนกันเองกับเราแท้นั้น มีแก่กล้าอยู่ในน้ำใจที่จริงของเราเพียงใด ในที่สุดเมื่อได้ไปพบปะคนไทยชาติเดียวกันเมื่อใด ถึงจะไม่ได้รู้จักคุ้นเคยกันมาแต่ก่อน พอแต่เห็นกันเข้าก็ให้นึกรักกันเสียแล้ว เกิดมีความเมตตาปราณี มีน้ำใจเอื้อเฟื้อแก่กันขึ้นในทันใดนั้นเอง ความรู้สึกอย่างนี้มีน้ำหนักผิดกันกว่า เมื่อยังอยู่ในเมืองไทยด้วยกันเห็นหน้ากันชินตาอยู่เสมอ บรรดานักเรียนที่ออกไปศึกษาวิชาอยู่ในประเทศยุโรปแลที่อื่น ๆ ก็คงรู้สึกเช่นนี้เหมือนกัน แต่เมื่อได้อยู่ในนา ๆ ประเทศช้านานไป สังเกตเห็นความจำเริญของเขาบางอย่าง ที่ดีกว่าของเรามากเท่าใด ก็อยากจะให้เราทำได้อย่างเขาบ้าง ความรักชาติมีแก่กล้าขึ้นแล้ว ความทยานใจที่อยากจะช่วยบ้านเมือง ช่วยชาติของตัวให้จำเริญยิ่งขึ้นจนเท่าเทียมกับชาติอื่นได้บ้างนั้น ก็คงจะแก่กล้าขึ้นตามกันเปนธรรมดาอยู่เอง ในที่สุดแม้แต่ผู้ที่ไม่ได้ย่างออกไปนอกประเทศเลย ได้เห็นแต่ชาวต่างประเทศในเมืองที่เขามีวิชาความรู้ แลมีความขยันการงาน หรือสักแต่ว่าได้อ่านหนังสือรู้ข่าวคราว/*ง*/แลเรื่องการทำมาหากิน ฤๅวิชาจัดการปกครองบ้านเมืองของเขาว่าดีกว่าของเราข้อใด ก็คงจะอยากให้ชาติของเราทำได้ดีเสมอเขาบ้าง จะช่วยชาติของเราทางไหนได้บ้าง จะช่วยด้วยกำลังร่างกายหรือด้วยความคิดก็ดี แม้แต่จะเปนประโยชน์แก่ชาติแต่สักเล็กน้อยเพียงใด ถ้ามีโอกาศช่วยได้บ้างแล้ว ก็ไม่ควรจะรั้งรออยู่
เหตุที่ได้ยกมากล่าวนี้เอง เปนเหตุที่ได้ชักชวนให้ข้าพเจ้าริอ่านเรียบเรียงแต่งหนังสือเรื่องนี้ขึ้นโดยความหวังใจว่า ทรัพยสาตร์ของข้าพเจ้านี้ จะตั้งต้นชักชวนให้ผู้อื่นที่มีความรู้ดีกว่า ริอ่านแต่งหนังสือแลหาเรื่องมาแนะนำสั่งสอนแลเพิ่มเติมข้อความบางข้อที่ข้าพเจ้าละเลยเสียนั้น ให้ดียิ่งขึ้นไปในภายหน้า เพื่อจะได้เปนประโยชน์แก่ชาติสยามยิ่งขึ้นเสมอไป ข้าพเจ้าต้องยอมรับเสียแต่เดี๋ยวนี้ว่าสำนวนที่ใช้นั้น เปนสำนวนที่ออกจากความตรึกตรองในภาษาอื่นเปนต้นมา เพราะฉนั้นจึงฟังไม่เรียบร้อยอย่างที่จะได้เขียนลงตามความตรึกตรองในภาษาไทยแท้ แต่เชื่อว่าเมื่อผู้อ่านเข้าใจได้ดีแล้ว ถึงสำนวนจะไม่ดี ก็คงจะให้อภัยแก่ข้าพเจ้าบ้าง
(เซน) พระยาสุริยานุวัตร