- คำนำ
- ภาค ๑ การสร้างทรัพย์
- หมวด ๑ ว่าด้วยคุณประโยชน์
- หมวด ๒ ว่าด้วยลักษณทรัพย์
- หมวด ๓ ว่าด้วยสิ่งสำคัญที่จะต้องใช้ในการทำให้เกิดผลเปนทรัพย์
- หมวด ๔ ว่าด้วยลักษณแรงทำการ
- หมวด ๕ ว่าด้วยวิธีปันหน้าที่ทำการ
- หมวด ๖ ว่าด้วยการระดม
- หมวด ๗ ว่าด้วยทำนองทำการอย่างใหญ่และทำการอย่างน้อย
- หมวด ๘ ว่าด้วยลักษณทุน
- หมวด ๙ ว่าด้วยการลงทุน
- หมวด ๑๐ ว่าด้วยกฎธรรมดาทั้งหลาย ซึ่งเปนที่บังคับสำหรับให้เกิดผลเปนทรัพย์เพิ่มพูลยิ่งขึ้น
- หมวดที่ ๑๑ ว่าด้วยกฎธรรมดาซึ่งเปนที่บังคับให้ทุนเพิ่มพูลยิ่งขึ้น
- ภาคที่ ๒ การแบ่งปันทรัพย์
- หมวด ๑ ว่าด้วยกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สมบัติ
- หมวด ๒ ว่าด้วยทรัพย์ซึ่งสร้างเปนผลขึ้นแล้ว จะได้เปนส่วนแบ่งปันแก่คนจำพวกใดบ้าง
- หมวด ๓ ว่าด้วยค่าเช่าที่ดิน
- หมวด ๔ ว่าด้วยค่าแรง
- หมวด ๕ ว่าด้วยกำไร
- หมวด ๖ ว่าด้วยสมาคมคนทำงาน และการที่คนทำงานพร้อมใจกันละทิ้งการงาน
- หมวด ๗ ว่าด้วยผลที่ร้ายของการประมูลแข่งขัน
- หมวด ๘ ว่าด้วยวิธีทำการร่วมกัน โดยร่วมทุนร่วมแรงและร่วมผลประโยชน์ในระหว่างคนทำงาน
- หมวด ๙ ว่าด้วยการศึกษาและการประหยัดทรัพย์
หมวด ๘ ว่าด้วยวิธีทำการร่วมกัน โดยร่วมทุนร่วมแรงและร่วมผลประโยชน์ในระหว่างคนทำงาน
การที่เจ้าของทุนจ้างลูกจ้างไปทำผลประโยชน์ตามธรรมเนียมนั้น เปนอันว่าลูกจ้างขายแรงให้แก่เจ้าของทุนตามราคาอย่างดีที่สุดที่จะขายได้ ข้างฝ่ายเจ้าของทุนก็หมายหาลูกจ้างที่ทำการได้ดี โดยราคาค่าแรงอย่างต่ำที่สุดที่จะหาจ้างได้ ตกลงสัญญากันแล้ว เมื่อลูกจ้างทำการมีผลเกินค่าแรงหรือไม่คุ้มค่าแรง เจ้าของทุนเปนผู้รับผลกำไรหรือรับการขาดทุนฝ่ายเดียว ข้างฝ่ายลูกจ้างได้แต่ค่าจ้างไปแล้ว จะหมายเอาส่วนแบ่งเปนกำไรต่อไปอีกไม่ได้ จะทำการหละหลวมหรือออมแรงบ้าง ถ้าเจ้าของทุนไม่ตรวจตราคอยคุมอยู่เสมอ เจ้าของทุนก็อาจได้ผลน้อยไปจนขาดทุน ลูกจ้างไม่พลอยได้กำไรหรือพลอยขาดทุนด้วยก็ไม่ต้องออกแรงเท่ากันกับที่จะทำการของตัวเอง เจ้าของทุนต้องคอยคุมชั้นเชิงลูกจ้างเร่งรีดเอาแรงกวดขันเพียงใด ลูกจ้างก็ไม่ชอบเพียงนั้น เปนทางที่จะชวนให้แตกความสามัคคีกันอยู่เสมอไป เมื่อทุนกับแรงเปนอริกันอยู่เช่นนี้ ผลที่จะงอกขึ้นเพราะการอาศรัยกำลังซึ่งกันและกัน ก็ย่อมจะไม่งอกได้เต็มตามที่ควรอยู่เอง เพราะฉะนี้จึงมีความคิดที่เกิดขึ้นว่า ถ้าจัดการอย่างไรให้ทุนกับแรงได้มีผลประโยชน์ร่วมกันเปนอันหนึ่งอันเดียวกันเข้าแล้ว กำไรที่จะได้เปนผลคงจะงอกงามขึ้นมาก ความอริวิวาทในระหว่างทุนกับแรงจะไม่มี แล้วยังจะให้ความยุติธรรมในการปันกำไรให้แก่คนทำงานที่เปนเจ้าของทุนด้วยนั้น เต็มตามความเหน็ดเหนื่อยหรือคุณวุฒิมากน้อยด้วย ตัดคนกลางที่มีแต่จะตั้งหน้ามาทำนาบนหลังคนพวกนี้ให้สูญสิ้นไปได้แล้ว ส่วนกำไรที่คนกลางเคยชุบมือเปิบ หรือการได้เปรียบต่าง ๆ นา ๆ ดังที่คนทำงานสามัญมักจะคิดเห็นไปนั้น จะต้องมาตกอยู่แก่คนทำงานฝ่ายเดียว การที่ตัดคนกลางออกได้จะกระทำให้คนทำงานขวนขวายขยันขันแข็งทำการได้เนื้อออกยิ่งขึ้นกว่าปรกติอีกเปนอันมาก เมื่อคนทำงานได้ผลมากขึ้นตามส่วนแรงและส่วนทุนที่ช่วยกันออกนั้น เหลือเกินจากการใช้สรอยเลี้ยงชีพเท่าใด ก็จะมีน้ำใจที่จะยิ่งอุส่าห์ประหยัดทรัพย์รวบรวมไว้สำหรับเพิ่มเติมทุนนั้นลงเรื่อยไป และถึงที่สุดเมื่อแก่ชราทุพลภาพลงทาการไม่ไหวต่อไป ก็พอจะได้ทุนนั้นเลี้ยงชีพและครอบครัวตลอดไปได้ ความที่คนทำงานจะตกทุกข์ได้ยากเมื่อปลายมือจะน้อยลง
วิธีทำการร่วมแรงร่วมทุนแล้วปันกำไรกันแต่ตามบรรดาผู้ที่ลงแรงนั้นภาษาอังกฤษใช้คำ “โคออเปอเรชั่น” แปลตรงว่า “ทำการร่วมกัน” แต่เมื่อใช้ค่าในการชนิดนี้แล้ว ก็เปนอันเข้าใจว่าพวกที่ทำการอยู่นั้น ได้ออกทุนมีหุ้นส่วนปันกำไรในการที่ทำนั้นด้วยกันทุกคน
ในที่นี้ต่อไปก็จะใช้คำว่า “ทำการร่วมกัน” อย่างภาษาอังกฤษในวิธีทำการร่วมแรงร่วมทุนร่วมกำไรกันเช่นนี้เหมือนกัน
โดยที่วิธีทำการอย่างนี้มีคุณมาก ทั้งเปนลักษณะที่คนจนก็สามารถจะทำไปได้ตามกำลังคนพวกเดียวชั้นเดียวกัน โดยอาศรัยเข้าทุนกันคนละเล็กละน้อยรวมกันเข้าเปนกองใหญ่น้อย ตามจำนวนคนทำงานมากน้อยที่จะชักชวนมาเข้าเปนสมาคมเดียวกันได้นั้น ในบทนี้จะชี้แจงคุณประโยชน์ทางได้และทางเสียให้พอกับที่จะเปนหนทางแนะนำให้ตริตรองต่อไป
ธรรมที่จะยึดถือเปนหลักเปนประธานในการร่วมกันเช่นนี้ คือ ความสามัคคี ๑ ความมัธยัสต์ ๑ ความยุติธรรม ๑ ความพึ่งตนเอง ๑ ซึ่งเปนข้อสำคัญที่สมาคมควรจะถือเปนอารมณ์อยู่เสมอ
ทำการร่วมกันด้วยความสามัคคี เปนความศุขสงบเรียบร้อยในการทำมาหากิน เปนการตรงกันข้ามกับการประมูลแข่งแย่ง ซึ่งมีลักษณะประดุจเดียวกันกับการศึกสงครามในการทำมาหากิน โดยที่คนทำงานร่วมกันต้องคิดอยู่เสมอว่า ผลประโยชน์ที่ได้เสียเปนอันหนึ่งอันเดียวกัน สมาชิกเปนเจ้าของการเสมอหน้ากันทุกคน และความเจตนาที่ทำการร่วมกัน ก็เพื่อจะตั้งตัวให้เจริญขึ้นด้วยกันแล้ว ความซึ่งจะเบียดเบียนซึ่งกันและกันจะเปนการทำลายล้างความสามัคคี ซึ่งเปนรากอันปึกแผ่นแน่นหนาอย่างเดียวที่จะก่อสร้างกำลังและอำนาจของผู้น้อยในทางรักษาตัวและผลประโยชน์ได้ ความวิวาทบาดหมางในพวกเดียวกัน แม้จะมีขึ้นบ้างเปนครั้งเปนคราวก็จะสงบลงได้โดยเร็ว เพราะความคิดต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น จะหน่วงเหนี่ยวไปข้างทางที่จะให้สมาชิกซื่อตรงเปนยุติธรรมต่อกันเสมอ
ความมัธยัสต์จะมีขึ้นได้ในตัวเอง เพราะเหตุที่การจะมีผลประโยชน์ร่วมกัน ต่างคนต่างก็ต้องช่วยระวังการเสียหายทั่วไปอย่างกวดขันยิ่งกว่าทำการให้ผู้อื่น และเมื่อสมาชิกใดประหยัดทรัพย์ไว้ได้แม้แต่เล็กน้อยก็จะเพิ่มเติมลงไปเปนทุนในการที่ทำอยู่เองนั้นให้งอกกำไรต่อไปอีกได้ เมื่อมีความเต็มใจขยันขันแข็งออกแรงทำการเต็มกำลังเต็มฝีมือและเต็มสติปัญญาพร้อมเพรียงทั่วหน้ากัน เพราะหมายได้ผลประโยชน์ส่วนแบ่งปันกำไรด้วยกัน แรงทำการออกเนื้อมาก การออมแรงลดน้อยไปกว่าปรกติเท่าใด ผลกำไรก็ต้องมีมากขึ้นตามส่วนกัน โอกาศอันดีหลายอย่างที่ช่วยให้มีความเจริญได้ดังที่กล่าวมานี้รวมใจความได้ว่า “เพราะความอุส่าห์รักษาความสามัคคีสมาคมนี้เองที่กระทำให้ตัวของตัวเปนที่พึ่งแก่ตัวเองได้”
วิธีทำการร่วมแรงร่วมทุนที่ทำกันอยู่ในทุกวันนี้มีต่าง ๆ นา ๆ แต่จะแบ่งออกได้เปนสองจำพวก จำพวกหนึ่งทำการแต่งสรรสัมภาระขึ้นขายเปนสินค้า พวกหนึ่งทำการค้าขาย คือซื้อสินค้ามาจำหน่ายขายเอากำไร
ต้นคิดของการหากินทางนี้ เกิดปรากฎขึ้นก่อนในเมืองรอชเดล (Rochdale) ในแผ่นดินอังกฤษ ตั้งแต่คริสตศักราช ๑๘๔๔ ในปีนั้นบังเอินการทำผ้าสักลาดอ่อนในเมืองนั้นขาดทุนซุดโทรมลง พวกลูกจ้างช่างทอผ้าได้ค่าแรงลดน้อยลง ได้ความขัดสน เพราะค่าแรงที่ได้ไม่ค่อยจะพอซื้อของบริโภคใช้สรอย ต้องซื้อของซึ่งขายอยู่ตามร้านย่อยโดยราคาแพงเกินไปแล้ว ยังต้องซื้อของกินปนของอื่นเปนของไม่บริสุทธิ์ด้วย พวกช่างทอผ้า ๒๘ คนเข้าทุนกันเรี่ยราย ได้เงินคนละเล็กคนละน้อยรวมกันเปนทุนกองหนึ่ง ไปซื้อใบชากับน้ำตาลทรายจากห้างขายส่งมาแล้วต่อนั้นไปคนทำงาน ๒๘ คนที่เข้าสมาคมกันนี้ สัญญากันว่าผู้ใดจะต้องการซื้อน้ำตาลทรายกับใบชาใช้ ก็ให้นำเงินสดไปซื้อจากของกลางที่มีขึ้นไว้นั้น ตามราคาที่ขายกันตามร้านย่อยอื่น ในชั้นต้นคนพวกนี้ไม่ได้หวังได้กำไรในการซื้อของนั้นสักเท่าใด มีความมุ่งหมายแต่ว่าจะไม่ต้องซื้อของราคาแพงและของปลอมเท่านั้น ครั้นต่อมาไม่ช้านานสักเท่าใด กำไรในกองกลางนั้นก็ค่อยเกิดสั่งสมมากขึ้นทุกที คนทำงานพวกอื่นเห็นว่าคนพวกนั้นได้กินใบชาและน้ำตาลที่ดีบริสุดธิ์ โดยไม่ต้องซื้อราคาแพงไปกว่าของเลวของปนที่มีขายอยู่ตามท้องตลาด ต่างคนก็ต่างเขม็ดแขม่เก็บได้ทุนมาขอเข้าหุ้นส่วนด้วย สมาคมนั้นเจริญรุ่งเรืองขึ้นทุกที เมื่อคริสตศักราช ๑๘๕๐ ทุนของบริษัทนี้มีมากขึ้นถึง ๑๒,๙๐๐ ปอนด์ การขายของขยายมากอย่างออกทุกทีมีขนมปัง, เนื้อ อาหารและเครื่องนุ่งห่มใช้สรอยชนิดที่คนทำงานพวกนั้นจะต้องการใช้สาระพัดอย่าง จนที่สุดถึงกับมีโรงจักรโรงงานทำของต่าง ๆ ทั้งมีทุนพอที่จะก่อสร้างที่ทำการของตัวเอง เมื่อปีคริสตศักราช ๑๘๖๗ เปนราคาถึง ๑๔๐๐๐ ปอนด์, เงินทุนที่เปนหุ้นส่วนของคนพวกนี้งอกขึ้นโดยรวดเร็ว จนเกินไปกว่าที่จะหาการทำได้พอเมื่อชำระบาญชีกันเมื่อคริสตศักราช ๑๘๘๒ จำนวนสมาชิกในสมาคมนี้มีถึง ๑๐,๘๙๔ คน ราคาของที่ขายในปีนั้นรวมเปนจำนวนเงิน ๒๗๔,๖๒๗ ปอนด์ มีกำไรเปนจำนวนเงิน ๓๒,๕๗๗ ปอนด์ วิธีปันกำไรนั้นในชั้นต้นคิดดอกเบี้ยให้แก่ต้นทุน ๑๐๐ ละ ๕ เสียก่อน กำไรยังเหลืออยู่อีกเท่าใด เอาออกแบ่งปันให้พวกสมาชิกตามส่วนราคาของที่คนหนึ่ง ๆ ได้ซื้อไปจากสมาคมนั้น ตามส่วนมากและน้อย คือว่าผู้ใดซื้อของมากผู้นั้นก็ได้ส่วนแบ่งปันกำไรมาก กำไรที่ขายของได้นั้น ได้มาจากของที่ขายให้แก่พลเมืองที่มิได้เปนสมาชิกด้วย ผู้ที่ได้ส่วนแบ่งปันกำไรนั้น บางคนก็ทิ้งไว้เปนทุนสั่งสมขึ้นในสมาคมต่อไป บางคนก็ถอนเอาไปหมด แต่เช่นนั้นเมื่อปลายคริสตศักราช ๑๘๘๒ กองทุนมีอยู่ถึง ๓๑๕๒๔๓ ปอนด์ เปนจำนวนเหลือเฟือจนต้องเอาไปจำหน่ายเข้าทุนหากำไรในการอย่างอื่น มีเข้าหุ้นส่วนกับบริษัทรถไฟอย่างดี และใช้รับจำนำบ้านเรือนของพวกสมาชิกเปนต้น
ความเจริญมีปรากฎเช่นนี้แน่แล้ว คนพวกอื่นก็เอาเยี่ยงอย่างทำกันทั่วไป ข้อสำคัญที่กระทำให้การเจริญเกิดขึ้นในการเช่นนี้ ก็มีอยู่ที่ตรงว่าผู้ใดจะไปซื้อของต้องไปซื้อด้วยเงินสดทั้งสิ้น เปนไม่ยอมให้ซื้อเชื่อกันเปนอันขาด ราคาของที่ขายนั้นขายตามราคาตลาดก็จริง แต่เปนอันเชื่อได้ว่าผู้ซื้อคงได้ของแต่ถ้วนที่ดีบริสุทธิ์ ไม่ใช่ของปนของปลอม ยิ่งมีสมาชิกมากมีผู้อื่นพลอยมาซื้อมากขึ้น กำไรก็ยิ่งได้มากขึ้นตามกัน
วิธีปันกำไรในระหว่างพวกสมาชิก ก็เปนอย่างง่ายที่สุด ผู้ใดไปซื้อของครั้งใดต้องได้คะแนนบอกจำนวนราคาของเปนคู่มือกลับไปทุกครั้ง คะแนนนี้ทำด้วยแผ่นเหล็กวิลาศเล็ก ๆ เมื่อถึงงวด ๓ เดือนชำระบาญชีกันครั้งหนึ่ง หักค่าใช้สรอยเสร็จแล้ว เหลือเปนกำไรเท่าใด พวกสมาชิกที่มีคะแนนรวบรวมไว้นั้นก็นำไปเอาชิ้นกำไรส่วนแบ่งปันตามจำนวนราคามากน้อยในคะแนนนั้น
สมาคมบางแห่งเช่นบริษัทใหญ่ ๆ ในเมืองลอนดอน ไม่มีส่วนแบ่งปังกำไรให้แก่ผู้ซื้อ แต่ผู้ซื้อได้ซื้อของราคาต่ำกว่าที่ขายกันอยู่ตามร้านย่อยสามัญ แต่วิธีนี้สู้อย่างที่ทำกันมาดังที่กล่าวมาก่อนไม่ได้ เพราะเมื่อถึงกำหนด ๓ เดือนชำระบาญชีกัน สมาชิกได้ส่วนแบ่งปั้นกำไรเท่าใด โดยมากมักจะทิ้งกำไรนั้นไว้เปนทุนให้งอกผลต่อไป แต่อย่างที่สมาคมในเมืองลอนดอนทำนั้น เปนการได้ส่วนกำไรย่อยในราคาของที่ซื้อถูกนั้นทีละเล็กละน้อย ไม่เปนกอบเปนโกย ความที่จะชักชวนให้เพิ่มเติมทุนลงในบริษัทกเปนอันไม่มีกัน
สมาคมที่กล่าวมานี้มีการปันกำไรกันแต่ในระหว่างเจ้าของทุนและผู้ซื้อ ส่วนผู้ขายและลูกจ้างที่ใช้ในห้างร้านนั้น ได้แต่เงินเดือนค่าแรงอย่างลูกจ้างธรรมดา ไม่พลอยมีกำไรด้วย ความขยันขันแข็งก็ย่อมน้อยอยู่เอง
อีกพวกหนึ่งคนทำงานทุกคนในบริษัทเปนเจ้าของทุน เอาทุนนั้นไปซื้อของมาแล้ว ช่วยกันขายให้แก่ประชาชนทั่วไป เมื่อถึงเวลาแบ่งปันกำไรพวกที่เปนสมาชิกและที่ทำงานอยู่โดยคุณวุฒิต่าง ๆ กั นมีราคาค่าจ้างค่าแรงต่าง ๆ กันนั้นได้ส่วนแบ่งปันมากและน้อยตามส่วนราคาค่าจ้างของสมาชิกเหล่านั้น ข้อสำคัญในที่นี้เปนความตรงกันกับลักษณทำการร่วมแรงร่วมทุน และมีผลได้ดีอย่างที่ได้กล่าวมาแต่ต้นแท้
ในการแต่งสรรทำสิ่งของที่ผู้ลงแรงเปนผู้ลงทุนด้วยแล้วได้ส่วนแบ่งปันกำไรแต่ในพวกเดียวอย่างเดียวกันนั้นก็มีมาก
แต่ในการใหญ่ที่มีเจ้าของทุนต่างหาก คนทำงานเปนแต่ลงแรงอย่างลูกจ้างธรรมดา ไม่ได้ลงทุนด้วยหรือลงทุนด้วยก็แต่เล็กน้อย ไม่เปนส่วนใหญ่ในจำนวนทุนของกลาง เจ้าของทุนถ้ามีกำไรดี ก็แบ่งกำไรเติมค่าจ้างเงินเดือนให้แก่คนทำงานบ้าง แต่คนพวกนี้ไม่มีเสียงในเรื่องจัดการบังคับบัญชาอย่างหนึ่งอย่างใด เจ้าของทุนมีอำนาจฝ่ายเดียว
ในที่สุดในการทำมาค้าขายทุกอย่างไม่เลือกว่าเปนการของบริษัทที่มีหุ้นส่วนมากคนด้วยกัน หรือเปนการส่วนตัวของเจ้าของทุนผู้เดียวก็ดี การที่จะได้กำไรมากน้อยจะต้องสุดแล้วอยู่แต่คุณวุฒิ และความสามารถของผู้จัดการรักษาการที่เปนหัวหน้านั้นเปนใหญ่กว่าอื่น และถ้าผู้น้อยที่เปนผู้ช่วยออกแรงทำการนั้นมีน้ำใจดี ช่วยทำการโดยความสวามิภักดีขยันขันแข็งยิ่งขึ้นได้เท่าใด ผลของการนั้นก็ยิ่งจะมีมากขึ้นเอง เพราะฉะนั้นวิธีจัดการที่ให้คนทำงานพลอยมีส่วนแบ่งปันกำไรด้วยบ้าง การนั้นคงได้เปรียบกว่าซื้อค่าแรงมาใช้ อย่างที่จ้างลูกจ้างทำการตามธรรมดา