หมวด ๘ ว่าด้วยลักษณทุน

ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ทุนเปนผลของการที่คนได้ผ่อนเหลือเก็บสั่งสมประหยัดไว้สำหรับใช้ให้เกิดผลเปนทรัพย์ในภายหน้า หรือกล่าวโดยย่อก็คือทุนเปนสิ่งสำหรับใช้ให้เกิดกำไร

ในลักษณทรัพย์ได้กล่าวไว้อีกว่า สมบัติที่มีค่า ๑ แรงทำการ ๑ ความเชื่อ (Credit) ๑ สามอย่างนี้เปนทรัพย์

ทรัพย์สามชนิดนี้ จะเปนทุนได้ทุกอย่าง ถ้าหากว่าได้เอาออกใช้สำหรับทำให้เกิดผลหรือเกิดกำไรต่อไป มิฉะนั้นก็เรียกว่าเปนทุนไม่ได้

ผู้ที่มีทรัพย์สั่งสมชื้นไว้ ถ้าหากว่าเก็บทรัพย์ไว้เฉย ๆ หรือเอาออกใช้ในการเรือน หรือใช้ซื้อจ่ายสิ่งของมาสำหรับชมเล่นเปนการบำรุงใจของตน เช่นว่า ซื้อสุรายาสูบบริโภค หรือซื้อเครื่องลายครามเครื่องเพ็ชร์นิลจินดาต่าง ๆ เหล่านี้มาใช้สำหรับตัวเองเปนต้น ทรัพย์ที่เก็บไว้เฉย ๆ หรือได้จำหน่ายไปในค่าของเหล่านี้หาใช่ทุนไม่ แต่ถ้าหากว่าเจ้าของทรัพย์ซื้อของเหล่านี้มาเพื่อจะขายเอากำไรต่อไป ทรัพย์ที่ได้จำหน่ายไปเพราะเหตุนี้ก็เปนทุนได้จริง

เงินที่ให้เขาไปเพื่อจะได้ดอกเบี้ย หรือเรือกสวนไร่นาบ้านเรือนและสิ่งทั้งปวงที่ให้เขาเช่า ก็นับว่าเปนทุนทั้งสิ้น

ความหมั่นความชำนาญและฝีมือทำการ ความรู้วิชาและความซื่อตรงของคนเหล่านี้ เมื่อนับว่าเปนทรัพย์แล้ว ทรัพย์ชนิดนี้ก็ต้องนับเข้าเปนทุนได้เหมือนกัน ถ้าได้ใช้ในการทำผลประโยชน์

ผู้ใดออกแรงขุดดินทำสวนดอกไม้สำหรับไว้ชมเล่น หรือขับร้องทำเพลงเพื่อให้เพื่อนฟังเล่นตามสบายใจเปล่า ๆ เช่นนั้น แรงที่ลงไปก็ไม่ใช่ทุน แต่ถ้าหากว่าผู้นั้นได้เก็บดอกไม้ไปขายเปนกำไร หรือได้ค่าจ้างขับร้องทำเพลง หรือถ้าเขาขายค่าแรงของเขาเปนเงินทองอย่างหนึ่งอย่างใด แรงนั้นนับว่าเปนทุนได้

บิดามารดาซึ่งออกเงินค่าเล่าเรียนให้บุตร ได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือ, ตำราและฝึกหัดวิชาอย่างใด เพื่อจะให้เปนกำลังช่วยแรงของเด็กในการทำผลประโยช์หากำไรในภายหน้า เช่นหมอยา, หมอกฎหมาย, เอนจิเนียร์ หรือวิชาอย่างใดก็ดี เงินที่ได้ออกไปนี้เปนทุนแท้ และความรู้ซึ่งบุตรจะได้ไว้ทำผลในภายหน้านั้นก็เปนทุนประจำตัวอยู่ด้วย

แต่นอกไปจากการที่จะขายแรงทำการเปนกำไรแล้ว คนเรายังสามารถที่จะค้ากำไรในชื่อเสียงดี ความรู้ความชำนาญยี่ห้อและคุณวุฒิในตัวได้อีกต่างหาก จะเอาไปใช้ซื้อเชื่อสินค้าหรือของอื่น ๆ แล้วเอาของนั้นไปขายเปนกำไรก็ได้ โดยทางที่สัญญาจะใช้เงินให้ผู้ขายเมื่อภายหลัง อำนาจในตัวที่ใช้ซื้อของเชื่อได้ เช่นนตามภาษาอังกฤษที่ใช้ในการค้าขาย เรียกว่าเครดิต (Credit) คือความเชื่อ

คนค้าขายเอาความเชื่อนี้ใช้ค้ากำไรได้อย่างเดียวกันกับใช้เงิน อาศรัยในความสัญญาที่จะใช้หนี้ให้ได้มั่นคงทันกำหนดเวลาเท่านั้น ยิ่งมีผู้เชื่อถือมากขึ้น คนค้าขายนั้นก็ยิ่งจะค้าใหญ่โตได้มากขึ้นตามกัน โดยที่ไม่ต้องใช้เงินสดเสมอไป

เมื่อใช้ความเชื่อ, ความสัญญาที่จะใช้เงินและความที่เปนหนี้สินกันค้าขายแทนเงินได้ดังที่กล่าวนี้ ความเชื่อต่าง ๆ เช่นนั้น ก็ต้องนับว่าเปนทรัพย์และเปนทุนได้เท่ากับเงิน

ใบสั่งจ่ายเงิน (Bill of Exchange) และใบสัญญาใช้เงิน (Promissory Note) ซึ่งใช้กันอยู่ในการค้าขายทุกวันนี้ แม้จะเปนแต่คำสั่ง หรือความสัญญาเท่านั้น ก็ใช้กันแทนเงินได้ ชั่วกำหนดเวลาในสัญญาเปนครั้งเปนคราวเสมอไป ใช่แต่เท่านี้ แบงก์ทั้งหลายและพ่อค้าบางจำพวกยังเก็บเอาใบสั่งจ่ายและใบสัญญาใช้เงินเหล่านี้ มาใช้ซื้อขายหากำไรกันอย่างสินค้าธรรมดาได้อีกชั้นหนึ่ง

เปนต้นว่า ผู้ขายของสั่ง (Wholesale dealer) ผู้หนึ่งไปซื้อสินค้าจากห้างที่สั่งของต่างประเทศเข้ามาขายเปนราคาเงิน ๑๐๐ บาทสัญญาใช้เงินในกำหนดสามเดือน ต่อมาผู้ขายของส่งจำหน่ายขายสินค้านั้นได้เปนเงิน ๑๑๐ บาทพอถึงกำหนดสัญญาผู้นั้นก็นำเงิน ๑๐๐ บาทไปใช้หนี้ให้แก่ห้างที่สั่งของต่างประเทศมาขาย เปนการชำระหนี้เสร็จกันไป การเปนเช่นนี้ผู้ขายของส่งก็ได้กำไร ๑๐ บาทโดยที่ไม่ต้องออกเงินอะไรเลย

อีกชั้นหนึ่ง ถ้าผู้ซื้อเชื่อทำสัญญาให้ผู้ขายว่า ในกำหนด ๓ เดือนจะน้ำเงิน ๑๐๐ บาทไปใช้หนี้ค่าสินค้าที่รับไป แต่ผู้ขาย คือ ห้างที่สั่งสินค้าต่างประเทศเข้ามาขายนั้น จะต้องการทุนค่าของ ๑๐๐ บาทไปใช้หมุนซื้อสินค้าใหม่เข้ามาเพิ่มเติมในทันที ไม่อยากจะรออยู่ถึงสามเดือน ถ้าเปนเช่นนี้และถ้านายห้างมีชื่อดีเปนที่เชื่อถือแก่แบงก์หนึ่งแบงก์ใดได้ นายห้างนั้นจะนำหนังสือสัญญาที่ผู้ขายส่งสัญญาใช้เงิน ๑๐๐ บาทนั้น ไปขายเอาเงินสดจากแบงก์อีกก็ได้ คือโอนกรรมสิทธิ์ในหนี้ราย ๑๐๐ บาทนั้น ไปให้แก่แบงก์ ตามภาษาค้าขายเรียกว่าเอาใบสัญญาไปให้แบงก์ดิศเคานต์ (discount) ถ้าแบงก์ยอมรับซื้อหนี้นั้นแน่แล้วแบงก์ก็ต้องเอากำไรบ้าง ตีเสียว่าแบงก์จะคิดค่าดิศเคานต์เปนดอกเบี้ยร้อยละ ๖ ต่อปี ในกำหนดสามเดือนต้นเงิน ๑๐๐ บาท เปนดอกเบี้ย ๑ บาท ๕๐ สตางค์ แบงก์คิดหักดิศเคานต์กำไรค่าน้ำเงินในเงิน ๑๐๐ บาทเสีย แล้วให้เงินนายห้างไปแต่ ๙๘ บาท ๕๐ สตางค์ นายห้างก็จะเอาเงินนี้ไปใช้ซื้อของอื่นได้ต่อไป เมื่อถึงกำหนดสัญญาสามเดือนแบงก์ก็ไปเก็บเงิน ๑๐๐ บาทเต็มจากลูกหนี้เดิม คือผู้ที่ซื้อเชื่อสินค้า ถ้าเก็บจากผู้นี้ไม่ได้ตามกำหนดสัญญา แบงก์ก็ยังจะเรียกเอาเงิน ๑๐๐ บาทจากนายห้างที่รับไปจากเขานั้นได้อีก แบงก์ได้ออกทุนไป ๙๘ บาท ๕๐ สตางค์คอยอยู่ ๓ เดือนได้ร้อยบาทเต็มมีกำไร ๑ บาท ๕๐ สตางค์ ในการค้าขายใบสัญญาใช้เงินและใบสั่งจ่ายเงินเช่นนี้ ผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในสัญญาจะขายต่อ ๆ ไปสักที่ทอดจนกว่าจะสิ้นกำหนดสัญญาก็ได้ ถ้าหากว่าผู้ขายมีชื่อดีเปนที่เชื่อใจแก่ผู้ซื้อได้

ตามความที่กล่าวมานี้ ก็ได้ความว่า ในการค้าขายที่เปนธรรมเนียมอยู่นั้นเครดิตคือความเชื่อ และหนี้คือความที่สัญญาจะใช้เงินกันนั้น ซื้อขายกันได้อย่างสินค้าจริง เพราะฉะนั้น หนังสือสัญญา และใบสั่งจ่ายทั้งปวงเช่นนี้ จึงนับว่าเปนทุนได้ชั่วครั้งชั่วคราว ประดุจทรัพย์ที่แท้จริง

คุณอันสำคัญใหญ่ของทุนนั้น มีที่ตรงว่าทุนอาจจะช่วยผ่อนแรงทำการของเราให้เบาลงได้เปนอันมาก ทางได้เปรียบเสียเปรียบในการทำผลประโยชน์ทั้งปวงต้องสุดแล้วแต่ความชำนาญ และความคิดในกิจที่ทำนั้นเปนใหญ่ก็จริง แต่ถ้าไม่มีทุนสำรองใช้พอจุกับการแล้ว ถึงความชำนาญ และความคิดจะดีวิเศษเพียงใด ก็ไม่สามารถจะทำให้การนั้นเกิดผลเปนทรัพย์ได้เต็มที่

ชาวนาที่ยากจนขัดสนด้วยทุน ต้องออกแรงทำงานแต่ลำพังตัวด้วยความเหน็ดเหนื่อยเพียงใด ย่อมจะเห็นปรากฎอยู่ทั่วไปแล้ว ในเวลาที่ทำนาอยู่เสบียงอาหารและผ้านุ่งห่มไม่พอ ก็ต้องซื้อเชื่อเขาโดยต้องเสียราคาแพง หรือถ้าต้องกู้เงินเขาไปซื้อก็ต้องเสียดอกเบี้ยอย่างแพงเหมือนกัน เมื่อเกี่ยวเข้าได้ผลแล้ว ไม่มีกำลังและพาหนะพอจะขนไปจากลานนวดเข้า หรือ ไม่มียุ้งฉางสำหรับเก็บเข้าไว้ขาย เมื่อเวลาเข้าในตลาดจะขึ้นราคา ก็ต้องจำเปนขายเข้าเสีย แต่เมื่ออยู่ในลานนั้นเองจะได้ราคาต่ำสักเท่าใด ก็ต้องจำใจขาย มิฉะนั้นจะไม่ได้เงินใช้หนี้เขาทันกำหนดสัญญา ต้องเสียเปรียบเพราะมีทุนน้อยเช่นนี้ ที่สุดเมื่อขายเข้าได้สิ้นเชิงแล้ว บางทีก็จะไม่ได้เงินใช้หนี้เขาพอคุ้มค่าสิ่งของซึ่งจำเปนต้องบริโภคในการเลี้ยงชีพแท้ ๆ เมื่อปีหน้าจะทำนาต่อไปก็ต้องเปนหนี้เขาอีก หนี้ใหม่ทับถมหนี้เก่ามากหนักขึ้นทุกปีไปแรงที่ได้ออกไปโดยความเหน็ดเหนื่อยและความซึ่งต้องทรมานกายอุส่าห์ตากแดดฝนทนลำบากมาเปนหนักหนานั้น ก็ไม่ทำให้เกิดผลเปนทรัพย์ของตัวขึ้นได้ เท่ากับออกแรงทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นฝ่ายเดียวเปนแท้ ดูเปนที่น่าสมเพชนัก

ถ้าชาวนามีทุนสำรองพอใช้ในชั้นต้น ไม่ต้องกู้เงินเสียดอกเบี้ยแพง และไม่ต้องซื้อของเชื่อเขากิน ค่าอาหารและเครื่องใช้ในการทำนาก็จะถูกกว่าราคาซึ่งคนขัดสนทุนต้องซื้อใช้ และการที่จะขนฟางเข้าเมล็ดเข้าก็ไม่ต้องแบกหามด้วยกำลังตนเองสักเท่าใด คงมีล้อเกวียนโคกระบือชักลากช่วยผ่อนความเหน็ดเหนื่อยร่างกายให้เบาลง ไหนยังจะมียุ้งฉางสำหรับเก็บเข้าไว้ขายเมื่ยราคาดี ได้ผลเปนกำไรยิ่งกว่าจะต้องรีบขายตามบุญตามกรรมนั้นด้วย เมื่อทุนช่วยให้ทำการได้เปรียบ และมีกำไรเช่นนี้ ถ้าผู้ทำนาไม่เผอเรออุส่าห์ถนอมกำไรที่เหลือกินเหลือใช้สั่งสมเพิ่มเติมทุนมากขึ้นได้เพียงใด ก็สามารถจะทำผลเปนทรัพย์มากขึ้นตามส่วนนั้นได้ ความทรมานกายเหน็ดเหนื่อยก็จะยิ่งน้อยลง

ความเจริญของกรุงสยามซึ่งต้องอาศรัยการทำนาเปนใหญ่ยิ่งกว่าอย่างอื่นดังทุกวันนี้ จะเจริญเร็วและช้าก็ต้องสุดแล้วแต่ผลประโยชน์ที่ชาวนาจะได้มากและน้อยเปนสำคัญ แต่จะทำประการใดจึงจะมีทุนให้ชาวนาพอใช้โดยที่ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเรี่ยวแรงนัก และจะทำประการใดจึงจะให้ชาวนามีกำไรยิ่งขึ้นนั้น เปนปัณหาอันยากที่จะแก้ได้ ความรู้ในศิลปวิทยาหรือทรัพยสาตรซึ่งจะเอามาใช้ได้ถูกต้องนั้น ต้องอาศรัยต่อความรู้การจริงที่เปนอยู่ในฐานะของราษฎรที่ต่าง ๆ กันตามกาละเทละนั้นเสียก่อน ต้องใช้ความใต่สวนและความศึกษาพิจารณาโดยรอบคอบเปนใหญ่ เมื่อรู้ความจริงและรู้มูลเหตุต่าง ๆ แล้ว จึงจะจัดการแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ตามความแนะนำของศิลปวิทยา

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ