- คำนำ
- ภาค ๑ การสร้างทรัพย์
- หมวด ๑ ว่าด้วยคุณประโยชน์
- หมวด ๒ ว่าด้วยลักษณทรัพย์
- หมวด ๓ ว่าด้วยสิ่งสำคัญที่จะต้องใช้ในการทำให้เกิดผลเปนทรัพย์
- หมวด ๔ ว่าด้วยลักษณแรงทำการ
- หมวด ๕ ว่าด้วยวิธีปันหน้าที่ทำการ
- หมวด ๖ ว่าด้วยการระดม
- หมวด ๗ ว่าด้วยทำนองทำการอย่างใหญ่และทำการอย่างน้อย
- หมวด ๘ ว่าด้วยลักษณทุน
- หมวด ๙ ว่าด้วยการลงทุน
- หมวด ๑๐ ว่าด้วยกฎธรรมดาทั้งหลาย ซึ่งเปนที่บังคับสำหรับให้เกิดผลเปนทรัพย์เพิ่มพูลยิ่งขึ้น
- หมวดที่ ๑๑ ว่าด้วยกฎธรรมดาซึ่งเปนที่บังคับให้ทุนเพิ่มพูลยิ่งขึ้น
- ภาคที่ ๒ การแบ่งปันทรัพย์
- หมวด ๑ ว่าด้วยกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สมบัติ
- หมวด ๒ ว่าด้วยทรัพย์ซึ่งสร้างเปนผลขึ้นแล้ว จะได้เปนส่วนแบ่งปันแก่คนจำพวกใดบ้าง
- หมวด ๓ ว่าด้วยค่าเช่าที่ดิน
- หมวด ๔ ว่าด้วยค่าแรง
- หมวด ๕ ว่าด้วยกำไร
- หมวด ๖ ว่าด้วยสมาคมคนทำงาน และการที่คนทำงานพร้อมใจกันละทิ้งการงาน
- หมวด ๗ ว่าด้วยผลที่ร้ายของการประมูลแข่งขัน
- หมวด ๘ ว่าด้วยวิธีทำการร่วมกัน โดยร่วมทุนร่วมแรงและร่วมผลประโยชน์ในระหว่างคนทำงาน
- หมวด ๙ ว่าด้วยการศึกษาและการประหยัดทรัพย์
หมวด ๒ ว่าด้วยลักษณทรัพย์
นักปราชญ์ทั้งหลายรวบรวมใจความมาอธิบายไว้โดยย่อว่าทรัพย์นั้น คือสรรพสิ่งที่มีคุณประโยชน์และมีค่าซื้อขายหยิบยกแลกเปลี่ยนกันได้ ทั้งต้องมีที่สิ้นสุดด้วย
ตามความอธิบายนี้ เมื่อจะสันนิษฐานว่า สิ่งใดควรจะเรียกว่าทรัพย์ ก็ต้องพิจารณาดูว่าสิ่งนั้นจะมีประโยชน์และมีค่าหรือไม่ จะซื้อขายหยิบยกแลกเปลี่ยนกันกับสิ่งอื่นได้หรือไม่
อากาศที่เราใช้สำหรับหายใจเปนต้นนั้น เปนประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้าอากาศไม่มีเราก็คงชีวิตรอยู่ไม่ได้ แต่หากว่าอากาศมีอยู่ทั่วไปโดยไม่มีที่สุดสิ้น ใครจะต้องการใช้หายใจมากน้อยสักเท่าใดก็ได้ ค่าแลกเปลี่ยนของอากาศนั้นก็ไม่มีอยู่เอง เพราะเมื่อเราหายใจเราไม่ต้องการออกแรงทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ใครจะเอาอากาศมาขายแลกเปลี่ยนเอาเงินของเราหาได้ไม่ เพราะเรามีใช้พอความต้องการอยู่แล้ว
คนอาศรัยอยู่ในเรือซึ่งลอยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา จะต้องการน้ำกินสักเท่าใดก็ได้ น้ำนั้นก็ไม่มีค่าแลกเปลี่ยนอย่างใดที่จะเรียกว่าเปนทรัพย์ได้ แต่ถ้าคนนั้นไปอยู่ในที่ดอนจะต้องเดินลงมาตักน้ำหาบหามขึ้นไปไว้ใช้ โดยที่จะต้องออกแรงเหน็ดเหนื่อยบ้าง ถ้าไม่ไปตักเองก็ต้องจ้างคนอื่นไปตักมาให้ คือเอาเงินหรือสิ่งของออกแลก เมื่อเปนเช่นนี้แล้ว น้ำนั้นก็มีค่ากลายเปนทรัพย์ขึ้นทันที เพราะน้ำที่ตักมานี้ ๑ มีประโยชน์ ๒ มีค่าซื้อขายแลกเปลี่ยนกันกับของสิ่งอื่นได้
เมื่อแยกลักษณทรัพย์ออกเปนสามประเภทเช่นนี้แล้ว ก็พึงจะยกตัวอย่างต่อไปว่า ของสิ่งใดจะมีลักษณเข้าอยู่ในประเภทนั้น ๆ บ้าง คือ
๑. สัมภารทั้งปวงที่เปนสิ่งเปนอันซึ่งมีค่าและนิยมกันอยู่แล้วว่าเปนทรัพย์สมบัติเช่นที่ดิน, สวน, ไร่นา, บ้านเรือน, ช้างม้า, โคกระบือ, ต้นผลไม้, เข้าปลาอาหารต่าง ๆ นา ๆ และเงินทองอันมีค่าแลกเปลี่ยนเปนราคาเงินตราได้นั้นเปนต้น
๒. แรงทำการงานฝีมือวิชาความรู้ความชำนาญและความคิด ซึ่งจะแลกเปลี่ยนซื้อขายเปนราคากันได้ เช่นแรงกุลีแบกหาม แรงคนไถนาเกี่ยวเข้า ช่างไม้, ช่างเหล็ก, ช่างปั้น, ช่างเขียน, หมอยา, หมอกฎหมาย, ครูอาจารย์ เหล่านี้เปนต้น จะแลกเปลี่ยนกันแต่ลำพังแรงต่อแรง เช่นช่างไม้ทำการให้ช่างเหล็ก ๆ ทำการให้ช่างไม้ หรือจะซื้อขายแลกเปลี่ยนแรงทำการนั้นเปนราคาเงินทองก็ได้
๓. ความเชื่อคือความที่ไว้วางใจแก่กันได้ว่าจะทำจริงตามสัญญา หรือจะสุจริตซื่อตรงไม่ฉ้อโกงนั้นก็มีค่าแลกเปลี่ยนซื้อขายกันเปนราคาได้ ประดุจสินค้าและค่าแรงทำการ มีตัวอย่างเช่นธนบัตร์ของรัฐบาลเปนต้น ธนบัตร์เปนแต่กระดาษชิ้นเดียว แต่รัฐบาลได้สัญญาว่าจะใช้เงินให้แก่ผู้ถือเท่าจำนวนที่ได้พิมพ์ลงไว้ ผู้ถือธนบัตร์เชื่อว่ามีกรรมสิทธิ์ที่จะเรียกเงินจากรัฐบาลตามจำนวนเมื่อใดก็ได้ ธนบัตร์นั้นก็มีลักษณคล้ายกับเงินตรา จะตกไปอยู่ในมือผู้ใด ผู้นั้นอาจจะมีกรรมสิทธิ์ในสรรพสิ่งของทั้งปวงที่ขายกันอยู่ในตลาด อันมีค่าแลกเปลี่ยนเท่ากันกับจำนวนเงินในธนบัตร์นั้นได้ หรือจะใช้ธนบัตร์นั้นซื้อแรงคนมาทำการให้แก่ตนก็ได้ การที่รัฐบาลออกธนบัตร์ก็เท่ากันกับขายความเชื่อ ซึ่งคนทั้งหลายมีอยู่ต่อรัฐบาล ส่วนจำนวนเงินที่จะได้นั้น จะอยู่ที่ไหนก็ตาม ผู้ถือเชื่อว่ามีกรรมสิทธิ์ในเงินนั้นแล้ว ก็เปนอันใช้ได้อยู่เอง
กระดาษต่าง ๆ ของแบงก์ หรือผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งได้เขียนสัญญาลงไว้ว่า จะใช้เงินให้แก่ผู้ถือเช่นนั้นก็มีอีกหลายอย่าง สักแต่ว่าผู้ถือเชื่อแล้วก็เปนอันใช้ได้เท่าเงินเหมือนกัน
เพราะเหตุฉะนี้ ความเชื่อจึงนับได้ว่าเปนทรัพย์อย่างหนึ่ง และเปนทรัพย์สำคัญที่มีค่าซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในการค้าขายมากยิ่งกว่าเงินตราในปัตยุบันนี้เปนอันมาก ดังจะได้เห็นต่อไปอีก
ตัวอย่างที่ยกมากล่าวนี้ รวมใจความว่าลักษณของทรัพย์ แยกออกต่างกันได้สามอย่าง คือ สมบัติที่มีค่าเปนเงิน ๑ แรงทำการ ๑ ความเชื่อ ๑ การค้าขายและการทำมาหากินทั้งสิ้น ตกอยู่ในการแลกเปลี่ยนทรัพย์สามอย่างเท่านี้