- คำนำ
- ภาค ๑ การสร้างทรัพย์
- หมวด ๑ ว่าด้วยคุณประโยชน์
- หมวด ๒ ว่าด้วยลักษณทรัพย์
- หมวด ๓ ว่าด้วยสิ่งสำคัญที่จะต้องใช้ในการทำให้เกิดผลเปนทรัพย์
- หมวด ๔ ว่าด้วยลักษณแรงทำการ
- หมวด ๕ ว่าด้วยวิธีปันหน้าที่ทำการ
- หมวด ๖ ว่าด้วยการระดม
- หมวด ๗ ว่าด้วยทำนองทำการอย่างใหญ่และทำการอย่างน้อย
- หมวด ๘ ว่าด้วยลักษณทุน
- หมวด ๙ ว่าด้วยการลงทุน
- หมวด ๑๐ ว่าด้วยกฎธรรมดาทั้งหลาย ซึ่งเปนที่บังคับสำหรับให้เกิดผลเปนทรัพย์เพิ่มพูลยิ่งขึ้น
- หมวดที่ ๑๑ ว่าด้วยกฎธรรมดาซึ่งเปนที่บังคับให้ทุนเพิ่มพูลยิ่งขึ้น
- ภาคที่ ๒ การแบ่งปันทรัพย์
- หมวด ๑ ว่าด้วยกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สมบัติ
- หมวด ๒ ว่าด้วยทรัพย์ซึ่งสร้างเปนผลขึ้นแล้ว จะได้เปนส่วนแบ่งปันแก่คนจำพวกใดบ้าง
- หมวด ๓ ว่าด้วยค่าเช่าที่ดิน
- หมวด ๔ ว่าด้วยค่าแรง
- หมวด ๕ ว่าด้วยกำไร
- หมวด ๖ ว่าด้วยสมาคมคนทำงาน และการที่คนทำงานพร้อมใจกันละทิ้งการงาน
- หมวด ๗ ว่าด้วยผลที่ร้ายของการประมูลแข่งขัน
- หมวด ๘ ว่าด้วยวิธีทำการร่วมกัน โดยร่วมทุนร่วมแรงและร่วมผลประโยชน์ในระหว่างคนทำงาน
- หมวด ๙ ว่าด้วยการศึกษาและการประหยัดทรัพย์
หมวด ๑ ว่าด้วยกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สมบัติ
ก่อนจะชี้แจงลักษณของการแบ่งทรัพย์ที่เกิดเปนขึ้นได้โดยต้องอาศรัยที่ดิน, แรงทำการ, และทุนประกอบกัน ดังที่ได้ชี้แจงมาโดยละเอียดในภาคที่ ๑ แล้วนั้นจำจะต้องพูดถึงเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สมบัติเสียก่อน
กรรมสิทธิ์นี้ แต่แรกเริ่มเดิมทีจะเกิดขึ้นโดยมูลเหตุต่าง ๆ อย่างใดบ้างในที่นี้ไม่ต้องกล่าว ประเทศหนึ่งเมืองหนึ่งย่อมจะมีจดหมายเหตุ, พงษาวดาร, และกฎหมายแผ่นดินในเรื่องตั้งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สมบัตินั้นต่าง ๆ กันเปนลำดับมา ถ้าอยากจะทราบความละเอียด ก็ต้องตรวจดูจดหมายเหตุและกฎหมายแผ่นดินต่าง ๆ นั้นจะยกขึ้นพูดแต่ว่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สมบัตินั้นสุดแล้วแต่กฎหมายแผ่นดินจะกำหนดไว้ว่า เจ้าของทรัพย์จะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สมบัติชนิดใดเพียงใด เมื่อกฎหมายยอมรับว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ควรเปนกรรมสิทธิ์ของบุคคลได้มั่นคงแน่แท้แล้ว การที่จะแบ่งปันทรัพย์สมบัติซึ่งกันและกันก็จะทำไปได้โดยสดวก กรรมสิทธิ์นั้นจะตกมาอยู่แก่ผู้ถือโดยทางรับมรดกหรือโดยการที่มีผู้ยกยอขอให้หรือโดยทางที่ผู้ถือนั้นได้ลงทุนลงแรงสร้างสมทำขึ้นไว้เองโดยน้ำพักน้ำแรงของตนก็ดี เมื่อกฎหมายยอมว่าเปนกรรมสิทธิ์ของผู้ใดแล้ว ก็แปลว่าผู้นั้นมีอำนาจอันชอบธรรมที่จะหวงแหนเอาทรัพย์สมบัติของตนไว้เปนสิทธิ์ได้ มีอำนาจอันชอบธรรมที่จะเอาไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกับของอื่น ๆ หรือจะเอาไปยกให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดให้เปนสิทธิ์อยู่แก่ผู้นั้นก็ได้ ถ้าผู้อื่นแย่งชิงเอาไปโดยอำนาจหักหาญ, หรือลักขะโมยไป ก็เห็นกันว่าเปนความชั่วความอยุติธรรม เจ้าของมีอำนาจที่จะฟ้องร้องเอาคืนได้ และแผ่นดินต้องลงโทษเพื่อมิให้เปนเยี่ยงอย่างให้ผู้อื่นทำต่อไป ถ้าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงพ้นอาญาแผ่นดินไปได้ ก็ยังมีสาสนาคาดโทษอทินนาทาน ซึ่งกระทำให้ผู้นั้นรู้สำนึกตัวอยู่เสมอว่าได้ทำความชั่วไว้เพียงใด กระทำให้มีความเกรงกลัวว่ากรรมของอทินนาทานอาจติดตัวไปให้โทษในปรโลกได้เมื่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สมบัติมีอยู่ดังนี้แล้ว ก็ต้องเกิดมีผลอันจะหลีกหนีไม่ได้ต่อไปว่า กรรมสิทธิ์นั้นเอง เปนมูลเหตุที่ได้กระทำให้มนุษย์ทั้งหลายมีฐานะต่ำสูงไม่เสมอเท่าเทียมกัน เกิดมีเศรษฐีและเข็ญใจขึ้นเปนต้น ผู้ใดมีสติปัญญาดีมีความเพียรขวนขวายขยันทำการงานได้เปนผลขึ้นแล้ว อุส่าห์อดออมถนอมสร้างสมทรัพย์ไว้ก็มั่งมีบริบูรณ์ ผู้ที่มีกำลังน้อยอ่อนแอทุพลภาพหรือโง่เขลาเบาปัญญาถึงมีแรงและขยันเท่ากันแต่อดออมถนอมทรัพย์ประหยัดทรัพย์ไว้เพื่อจะบริโภคในวันหน้าไม่ได้ ก็ต้องทรกรรมลำบากทำการเหน็จเหนื่อยไม่มีเวลาผ่อนพักเว้นว่างได้ ยิ่งเปนประเทศใหญ่ พลเมืองมาก มีการทำผลประโยชน์เจริญ ทรัพย์สมบัติในบ้านเมืองบริบูรณ์พูลผลยิ่งขึ้น พลเมืองในประเทศนั้นก็ยิ่งจะมีชั้นสูงต่ำและมั่งมียากจนผิดกันห่างไกลออกไปมาก ข้างคนชั้นต่ำถึงจะอุส่าห์ทำการเหน็จเหนื่อยสักเท่าใดก็ได้ค่าแรงไม่พอจะเลี้ยงชีพให้มีความศุขเสมอไปได้แต่ฝ่ายคนชั้นสูงแม้แต่จะไม่ได้ทำการงานอย่างใดเลยหากมีทุนเปนทรัพย์สมบัติสะสมอยู่มากก็ได้รับผลประโยชน์ซึ่งเกิดขึ้นจากทุนและทรัพย์สมบัตินั้นเปนธรรมดาทรัพย์นี้จะได้สะสมขึ้นด้วยสติปัญญาและด้วยน้ำพักน้ำแรงของเขาเองแต่ก่อนมา หรือโดยที่ได้รับมรดกตกต่อสืบเนื่องสะสมมาตั้งแต่ครั้งปู่, ย่า, ตา, ทวดของเขาก็ดี ทรัพย์นี้ถ้าไม่ทำลายเสียก็มีแต่จะงอกผลเพิ่มพูลยิ่งขึ้นทุกชั้นไป ฝ่ายหนึ่งอยู่กระท่อมอยู่ทับ ฝ่ายหนึ่งอยู่วัง แม้ว่าต่างก็จะทำการหาผลประโยชน์ด้วยกันในที่แห่งเดียวกัน ข้างหนึ่งเปนเจ้าของทุนมาก คงได้ส่วนแบ่งปันผลประโยชน์มากกว่ากันเสมอ ข้างหนึ่งเปนลูกจ้างซึ่งอยู่ในจำพวกที่มีจำนวนคนมาก เพราะฉะนั้นจึงมีพวกที่จะคอยแข่งขันประชันแรงประชันงานอยู่มาก ถ้าทำการไม่ขยันเขาก็ไม่เสีย เปิดช่องให้คนที่ขยันกว่าเข้าไปทำงานแทน เมื่อไม่มีการไม่ได้ค่าแรงที่จะซื้ออาหารเลี้ยงชีพ ก็ต้องจำใจขยันขันแข็งทนความเหน็จเหนื่อยมากขึ้น จะปราถนาค่าแรงให้มาก ผู้ที่ปราถนาน้อยหรือที่ขัดสนยากจนแทบจะไม่มีกินก็ไปประมูลลดค่าแรงแย่งการทำ คนจนต้องอยู่ในฐานอันต่ำเตี้ยเปนที่น่าสังเวชถึงเพียงนี้ บุตร์หลานที่สืบตระกูลต่อไป ถ้าไม่มีใครสมเคราะห์ก็ต้องตกอยู่ในความทุกขเวทนาเช่นเดียวกันเนื่องไป ในทวีปยุโรปสมัยนี้จึงเกิดมีปัณหาเรื่อง โซเซียลิสม์ (Socialism) ที่มีพวกข้างฝ่ายคนจนคิดอ่านจะทำลายล้างกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สมบัติของบุคคลนั้นเสียไม่ยอมจะให้มีคนชั้นต่ำชั้นสูงอย่างทุกวันนี้ โดยที่ถือว่าเปนมนุษย์ด้วยกันควรต้องเท่าเทียมเสมอกัน ทรัพย์สมบัติทั้งสิ้นที่มีอยู่ในบ้านเมืองนั้นจะริบเอาเปนของกลางเพื่อจะแบ่งปันให้พลเมืองได้รับผลแห่งความศุขในสมบัตินั้นเท่าเทียมทั่วถึงกัน ผู้มีแรงมากมีปัญญาและความคิดมากถึงจะทำผลประโยชน์ได้มากกว่ากันเพียงใด ก็ต้องเอาผลประโยชน์นั้นไปกระจายละลายออกแบ่งปันให้ผู้มีกำลังน้อยปัญญาน้อยด้วย ความคิดจัดการแบ่งผลประโยชน์ซึ่งจะทำขึ้นได้ว่าคนชนิดใดจะได้ส่วนแบ่งปันเพียงไรนั้นมีต่าง ๆ นา ๆ แต่ยังไม่ถึงเวลาจะเก็บความมากล่าวในที่นี้ก็ต้องงดไว้ก่อน จะมีความเห็นได้แต่ว่าการซึ่งจะคิดละลายทรัพย์สมบัติซึ่งเปนกรรมสิทธิ์ของบุคคลลง และความคิดที่จะแบ่งผลประโยชน์ออกเจือจานให้แก่เพื่อนมนุษย์ได้พอเท่าเทียมกันนั้น ถึงโดยว่าความคิดอันนี้จะมีความที่เปนที่สรรเสริญได้ว่าประกอบไปด้วยความเมตตากรุณาแผ่เผื่อไปถึงคนยากจนก็จริง แต่ได้ตั้งโซเซียลิสม์ขึ้นแล้ว ผลที่ร้ายของวิธีนี้คงจะมีอยู่เสมอว่า ถ้าผู้ใดที่ได้ออกแรงเหน็จเหนื่อยอุส่าห์ตั้งความเพียรทำการได้ผลมาจะเอาไว้เปนของตัวทั้งสิ้นไม่ได้แล้ว ความข้อนี้จะกระทำให้คนมีความท้อถอยต่อการงานมาก การซึ่งจะประกวดประขันประชันแรงและความคิดในทางหาผลประโยชน์อย่างทุกวันนี้ ก็อาจลดน้อยถอยทรามลง ไหนยังจะมีคนเกียจคร้านซึ่งจะคอยออมแรงทำการอยู่เปนอันมากด้วย เมื่อการประมูลแข่งขันกันน้อยไป การออมแรงทำงานมีมากขึ้น ความเจริญของหมู่คณะคนจำพวกนี้ก็มีแต่จะเสื่อมถอยลงท่าเดียว ความปราถนาที่จะช่วยให้ฐานะของประชุมชนดียิ่งขึ้นอาจมีผลกลับกลายให้ยิ่งซ้ำร้ายไปได้
กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สมบัติจะแยกออกได้เปนสองแพนก ๆ หนึ่ง คือ ทรัพย์สมบัติที่เปนสิ่งเปนอันซึ่งจับต้องได้ เช่นที่ดิน, บ้าน, เรือน, ภาชนะใช้สรอย, เงิน, ทอง, และวิญญาณกทรัพย์ซึ่งอยู่ในความปกครองของผู้ถือกรรมสิทธิ์นั้นแล้วเปนต้น
แพนกสองคือทรัพย์สมบัติซึ่งไม่เปนเนื้อเปนตัวที่จะจับต้องได้ และซึ่งยังไม่ได้อยู่ในความปกครองของผู้ถือ มีกรรมสิทธิ์ที่ได้ไว้จากกำหนดตามเวลาในบริคณห์สัญญาว่า ถึงกำหนดนั้นกำหนดนี้จะได้ทรัพย์สมบัติอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นสัญญาใช้เงินใช้หนี้กันเปนต้น สัญญาเช่นนี้ถึงโดยว่าสมบัติซึ่งกำหนดไว้แน่แล้ว ผู้ถือสัญญาจะเอาของในสัญญานั้นไปแลกเปลี่ยนซื้อขายหรือยกให้แก่ผู้ใดต่อไปอีกก็ได้ เปรียบความอีกอย่างหนึ่งว่าเจ้าของสวนมะม่วงอาจขายมะม่วง ซึ่งยังไม่ได้เกิดผลขึ้นเลยในส่วนนั้นให้แก่ผู้อื่นก็ได้ ผู้ที่รับซื้อสัญญาคือผู้ถือสวนคงมีกรรมสิทธิ์ในผลมะม่วงซึ่งจะเกิดขึ้นได้ในวันหน้าเสมอ และการค้าขายในปัจจุบันนี้ มีการซื้อเชื่อขายเชื่อซึ่งกันและกันเปนอันมากส่วนกว่าที่ได้ใช้เงินสดเปนอันมาก ถ้ากรรมสิทธิ์สัญญาเช่นนี้ไม่เปนสิทธิ์แน่นอนมั่นคงแล้ว การค้าขายคงไม่สดวกดีอย่างที่เปนอยู่ในโลกเปนแน่ รัฐบาลออกธนบัตร์รับเงินเชื่อจากพลเมืองว่าจะใช้เงินให้ตามราคาธนบัตร์ ผู้ถือธนบัตร์ก็เกิดมีกรรมสิทธิ์ในเท่าจำนวนเงินในธนบัตร์นั้นทันที จะเอาธนบัตร์นี้ไปแลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายซื้อสิ่งของในตลาดได้ตามราคาทุกอย่าง เพราะฉนั้นความเชื่อถือในกรรมสิทธิ์เช่นนี้จึงเปนสิ่งสำคัญในการค้าขายมาก แม้แต่สมบัตินั้นยังไม่เปนตัวเปนเนื้ออยู่ในกำมือก็ยังเอามาใช้ทำผลประโยชน์ต่อไปได้ แต่ความเชื่อถือในกรรมสิทธิ์จะมีได้มั่นคงเพียงใดตามกฎหมาย นั้นต้องสุดแล้วแต่ความปกครองป้องกันรักษากรรมสิทธิ์อันนี้ของรัฐบาลอีกชั้นหนึ่ง ถ้ารัฐบาลไม่ช่วยป้องกันกรรมสิทธิ์ของพลเมืองไว้ให้มั่นคง ราคาของทรัพย์สมบัติอันเปนสิ่งที่กรรมสิทธิ์ไม่มั่นคงเช่นมีโจรผู้ร้าย หรือคนพาลขี้ฉ้อตอแหลไปเที่ยวเบียดเบียนตระบัดทรัพย์ผู้อื่นได้โดยง่าย ความเจริญของพลเมืองก็ย่อมจะดำเนินไปได้ช้าอยู่เอง ความอุส่าห์ในการที่จะประหยัดทรัพย์เก็บสะสมขึ้นไว้สำหรับเปนทุนทำผลประโยชน์ให้พูลผลยิ่งขึ้นในภายหน้าก็จะขัดข้องฝืดเคืองไป
เพราะฉะนั้นเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สมบัติจึงเปนข้อสำคัญอันใหญ่ในการทำมาหากินสร้างทรัพย์นั้นอยู่อย่างหนึ่ง