- คำนำ
- ภาค ๑ การสร้างทรัพย์
- หมวด ๑ ว่าด้วยคุณประโยชน์
- หมวด ๒ ว่าด้วยลักษณทรัพย์
- หมวด ๓ ว่าด้วยสิ่งสำคัญที่จะต้องใช้ในการทำให้เกิดผลเปนทรัพย์
- หมวด ๔ ว่าด้วยลักษณแรงทำการ
- หมวด ๕ ว่าด้วยวิธีปันหน้าที่ทำการ
- หมวด ๖ ว่าด้วยการระดม
- หมวด ๗ ว่าด้วยทำนองทำการอย่างใหญ่และทำการอย่างน้อย
- หมวด ๘ ว่าด้วยลักษณทุน
- หมวด ๙ ว่าด้วยการลงทุน
- หมวด ๑๐ ว่าด้วยกฎธรรมดาทั้งหลาย ซึ่งเปนที่บังคับสำหรับให้เกิดผลเปนทรัพย์เพิ่มพูลยิ่งขึ้น
- หมวดที่ ๑๑ ว่าด้วยกฎธรรมดาซึ่งเปนที่บังคับให้ทุนเพิ่มพูลยิ่งขึ้น
- ภาคที่ ๒ การแบ่งปันทรัพย์
- หมวด ๑ ว่าด้วยกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สมบัติ
- หมวด ๒ ว่าด้วยทรัพย์ซึ่งสร้างเปนผลขึ้นแล้ว จะได้เปนส่วนแบ่งปันแก่คนจำพวกใดบ้าง
- หมวด ๓ ว่าด้วยค่าเช่าที่ดิน
- หมวด ๔ ว่าด้วยค่าแรง
- หมวด ๕ ว่าด้วยกำไร
- หมวด ๖ ว่าด้วยสมาคมคนทำงาน และการที่คนทำงานพร้อมใจกันละทิ้งการงาน
- หมวด ๗ ว่าด้วยผลที่ร้ายของการประมูลแข่งขัน
- หมวด ๘ ว่าด้วยวิธีทำการร่วมกัน โดยร่วมทุนร่วมแรงและร่วมผลประโยชน์ในระหว่างคนทำงาน
- หมวด ๙ ว่าด้วยการศึกษาและการประหยัดทรัพย์
หมวด ๗ ว่าด้วยผลที่ร้ายของการประมูลแข่งขัน
ได้กล่าวไว้ในลักษณการแบ่งปันทรัพย์ ว่าสัมภาระที่เกิดในแผ่นดินนั้นคนจะเอาไปทำสิ่งใดให้เกิดเปนทรัพย์มีผลประโยชน์ขึ้นได้ ก็ต้องทำตามกฎธรรมดาซึ่งบังคับอยู่ จะทำให้ผิดธรรมดาของโลกไปไม่ได้ แต่เมื่อได้ผลเปนทรัพย์ขึ้นแล้ว จะแบ่งปันทรัพย์นั้นให้แก่กันอย่างใดก็ได้ตามใจ สุดแล้วแต่จะเอาความประมูลแข่งขันกันเปนความตัดสินหรือจะปันกันตามธรรมเนียมอย่างใดก็ได้ แต่เมื่อได้กระทำไปตามความนิยมอย่างไรแล้ว จะมีผลดีร้ายเกิดขึ้นภายหลังเพราะเหตุนั้นเพียงไร จะเปนการเหลือวิศัยที่มนุษย์จะแก้ไขได้ทันท่วงที
การที่คนถือเอาความประมูลแข่งขันกันเปนที่ตั้งนั้น เปนกำลังที่จะส่งเสริมให้คนมีความขยันขันแข่งกันไปสู่ทางความเจริญยิ่งขึ้นเสมอไปได้ก็จริง แต่ในการที่แข่งกันอยู่เปนนิจนิรันดรนั้นผู้ที่มีกำลังน้อยก็ย่อมจะพ่ายแพ้ย่อยยับลงข้างหนึ่งด้วย ความประมูลแข่งขันกันเปนอุปนิสัยธรรมดาของสัตว์ที่ถือเอากำลังพลังใหญ่เปนธรรมดาอยู่เสมอ ผู้ใดแข่งขันชนะมีฤทธาศักดานุภาพใหญ่ยิ่งอยู่ในหมู่ชนคณะใด ผู้นั้นก็เปนใหญ่มีอำนาจบังคับบัญชาเอาแรงผู้น้อยในหมู่นั้นไปใช้ได้ตามชอบใจ จะตั้งบทกฎหมายข้อใดลงเพื่อสาธารณะประโยชน์ทั่วไป หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตัวบ้าง จะเปนความดีหรือร้ายอยู่เพียงใด ผู้พิพากษาตุลาการต้องตัดสินว่าความในกฎหมายมีอย่างไร ความนั้นต้องเปนความชอบธรรมถูกต้องทั้งสิ้น กฎหมายแผ่นดินที่สักสิทธิ์อยู่มั่นคงได้ ก็โดยที่จะมีอำนาจทำโทษผู้ขัดขืนเปนอาวุธเงื้อง่าอยู่เสมอ การแย่งชิงทรัพย์สมบัติอันเปนผลของแรงทำการมีมาแต่บรมโบราณอย่างไร ในปัตยุบันนี้ก็ยังมีอยู่เสมอ ในระหว่างประเทศต่อประเทศ ชาติต่อชาติที่ต่างกัน ทำการสงครามแข่งแย่งผลประโยชน์กันอยู่ไม่ค่อยจะมีเวลาเว้นว่างแล้ว ในระหว่างคนหมู่เดียวชาติเดียวกันยังแข่งแย่งกันอยู่ในการทำมาหากินอย่างกวดขันไม่มีเวลาเว้นว่างเสียเลย เจ้าของทุนกับเจ้าของทุนผู้มีอำนาจมากแข่งแย่งกัน คนทำงานกับคนทำงานผู้มีอำนาจน้อยก็แข่งแย่งกันด้วย ไหนยังเจ้าของทุนกับคนทำงาน ซึ่งทำการหากินร่วมกันอยู่นั้น ยังจะแข่งแย่งกำไรกันอยู่อีก จะแข่งแย่งกันโดยวิธีใช้อาวุธรบพุ่งทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันไม่ได้ ก็ใช้สติปัญญาอันละเอียดเปนอาวุธแทน ในการทำมาหากิน ผู้มีทุนมีปัญญาพึงจะหมายกินแวงหมู่คนทำงานที่โง่เขลา หรือที่มีอำนาจน้อยกว่าเปนกำไรเสมอไป ที่สุดการที่เจ้าของทุนเจ้าของงานผู้ลงทุนจ้างคนทำงานมาใช้ในการทำผลประโยชน์นั้น ก็เปนการทำนาบนหลังคนทั้งสิ้น หว่านทุนลงเปนค่าแรงเลี้ยงคนทำงานเปนผลงอกขึ้นได้เท่าใด ผลนั้นต้องเปนของเจ้าของทุนทั้งหมด เมืองใดมีสำมโนครัวมากมีที่ดินเพาะปลูกและอาหารน้อย การประมูลแข่งแย่งในการทผลประโยชน์กวดขันมากขึ้น ผู้ที่มีทุนมากพึงจะมีอำนาจได้เปรียบมากขึ้นทุกทีไป เพราะคนทำงานโดยมากที่ไม่มีที่พอจะทำการเลี้ยงชีพได้โดยลำพัง จะต้องอาศรัยทุนผู้อื่นเปนที่พึ่ง เจ้าของทุนก็มีแต่จะกลับใช้ทุนนั้นเปนอาวุธกวัดแกว่งอยู่ว่า ถ้าเจ้าไม่ยอมอดอาหารตายเจ้าก็ต้องปลงใจยอมให้ข้าทำนาบนหลังเจ้า การทำผ้าสักลาดในชั้นต้นต้องเลี้ยงแกะไว้สำหรับตัดขน ไปปั่นด้ายทอผ้าเปนการทำนาบนหลังสัตว์แท้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังดีกว่าทำนาบนหลังคน โดยที่เจ้าของแกะจะต้องเอาใจใส่บำรุงเลี้ยงแกะให้ได้กินอาหารอิ่มบริบูรณ์ดีอยู่เสมอจึงจะเกิดผลมาก แม้แต่จะเอาไปขายให้เขาฆ่ากินก็ต้องให้อ้วนพีมีน้ำหนักมากจึงจะได้ราคาดี แต่ข้างฝ่ายคนทำงาน เจ้าของทุนไม่ต้องเอื้อเฟื้อไปถึงความอิ่มหนำสำราญของคนทำงาน คนทำงานจะป่วยไข้ก็ไม่ต้องพยาบาลรักษา หรือถ้าตายพ้นทุกข์ไปก็ไม่ขาดทุนเท่ากับที่แกะจะตาย
การแก่งแย่งแข่งขันมีโทษมหันต์ดังที่กล่าวมานี้ จึงมีพวกที่เห็นความลำบากของมนุษย์ต่าง ๆ นั้นออกสติปัญญาความคิดที่จะต่อสู้อำนาจเจ้าของทุน หรือมีความคิดที่จะกำจัดการแก่งแย่งแข่งขันให้น้อยลง เพื่อให้ประชาชนมีความศุขยิ่งขึ้น โดยความคิดที่จะตั้งโซเซียลิสม์ดังที่ได้กล่าวไว้ในบทที่ ๑ ว่าด้วยกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สมบัติ และโดยความคิดตั้งสมาคมคนทำงาน รวบรวมบรรดาคนทำงานเข้าเปนกำลัง เพื่อจะให้มีอำนาจต่อสู้เจ้าของทุน หรือมีความคิดจัดการแบ่งส่วนกำไรในการทำผลประโยชน์กันอย่างใด ที่จะให้คนทำงานมีส่วนแบ่งปันในกำไรของการที่ทำนั้นแต่ลำพัง โดยที่จะกันคนกลางซึ่งเปนเจ้าของทุนเจ้าของงาน เช่นกับที่จะมาทำนาบนหลังคนทำงานนั้นให้พ้นไปเสีย พวกทำงานออกทั้งทุนทั้งแรงพร้อมทำการร่วมกันดังที่จะกล่าวต่อไป