๑๕. วิถีของผู้นำกับผู้ตาม

เนื่องด้วย
Demand กับ Supply[๑]
Quantity กับ Quality[๒]

(ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒)

ประเทศเด่นดำเนิรหน้า เจริญกว่าประเทศหลาย
เสมือนมัคคุทเทศก์ผาย เผยอแบบฉะบับผอง[๓]
ดำเนิรอารยธรรมนำ, สมัยคลำสมัยลอง,
มิมีแบบฉะบับสนอง เพราะเป็นแบบฉะบับเอง[๔]
จะช้าเร็วมิเป็นไร บ่กลัวใครจะข่มเหง
ดำเนิรนำมิยำเยง ผิยอกย้อนก็ก่อนสมัย[๕]
มิเหมือนเหล่าประเทศล้า จะเดิรช้าก็ไม่ได้
จำต้องลัดตะพัดไป เพราะเวลามิรอคอย
สะดวกดีก็ที่รู้ วิธีอยู่ บ อ้อยสร้อย
มิต้อง ‘ตรัสรู้’[๖] พลอย ประจักษ์ถูกและผิดถม
สำรวจทั่วมิมัวลอง เสมือนต้องริเริ่มงม
สำคัญปรับตำรับสม สมุตถานประเทศหนอ ![๗]

วิธีการแห่งประเทศริเริ่ม

อุทาหรณ์บริเตน[๘]เห็น ประจักษ์เป็นพะยานพอ
ริเริ่มรอบประกอบก่อ ก็มากร้อยฉนำ[๙]หงำ
ประชาราษฎร์เจริญแล้ว มิคลาดแคล้วคระไลนำ
อำนวยรัฐบาลทำ บริติชรัฐบาลตาม[๑๐]
อะไรมี ‘ดิมานด์’ มาก ก็รัฐหากพยายาม
อำนวยผลพะนอความ สำเร็จล้วนจะ ‘สับปลาย’

วิธีการแห่งประเทศตามหลัง

ประเทศเพิ่งจะจัดเล่า ประดุจเราและรัฐ[๑๑]หลาย
จะรอช้าก็อย่าหมาย วิเศษมากเสมือนเขา
อะไรร้อยฉนำทำ สำเร็จ, แม้สำหรับเรา
จะต้องจ้ำและทำเอา สำเร็จด้วยฉนำเดียว
กระบวนรัฐประศาสน์[๑๒]ขาด ประชาราษฎร์ชำเลืองเหลียว
ลำพังรัฐบาลเทียว กระทำถูกฤผิดที
อะไรใหม่ ‘ดิมานด์’ ยัง มิมีดั่งจะควรมี
ประกอบก่อ ‘สับปลาย’ที่ จะเผยแผ่ ‘ดิมานด์’ กัน
ประสงค์ ‘ควอนติตี้’ ด่วน ผิส่วน ‘ควอลิตี้’ นั้น
จะยังก่อนก็ช่างมัน จะมาได้ ณ​ ภายหลัง
เพราะทำรู้มิทำลอง[๑๓] และทำเร็วมิช้าดัง
ประเทศเริ่มริเก้กัง กำเลา[๑๔]เจ้าจะค่อยลอง

ตัวอย่างการทำ ‘สับปลาย’ เพื่อปลูก ‘ดิมานด์’

อุทาหรณ์กระหายปลูก ดิมานด์, ถูกทำนองครอง
ก็โรงเรียนดรุณผอง สนองบุรพศึกษา
เสมือนจ้างจะให้เรียน เพราะเครื่องเขียนและอ่านหา
จำแนกให้บ่คิดค่า[๑๕] สะดวกสารพัตรหนอ !
สมัยนี้สิเสียทรัพย์ สถานกลับมิเพียงพอ[๑๖]
ดิมานด์เฉิดกำเนิดปร๋อ ประสิทธิ์ข้อริสับปลาย[๑๗]
อนึ่งรัฐหัดแพท- ยแผนปัจจุบันหมาย
สะกิดเกิดดิมานด์วาย วิเวกว้าและล้าหลัง
ประชาชนมิชอบใช้ ก็ช่วยให้ละชิงชัง
ประโยชน์เพิ่งจะแผ่ดัง ดิมานด์ค่อยขยับมี[๑๘]

ตัวอย่างรวบ ‘ควอนติตี้’ ก่อน
ค่อยแก้ ‘ควอลิตี้’ ทีหลัง

ประเด็น ‘ควอนติตี้’ ก่อน อุทาหรณ์แสดงดี
ก็กฎหมายกำกับพี- รแพทย์ผู้เผชิญชนม์[๑๙]
ผิรอ ‘ควอลิตี้’ แล้ว จะคลาดแคล้วประโยชน์ผล
ฤกฎหมายจะรอจน จะมีหมอเสมือนเขา[๒๐]?
จำนง ‘ควอนติตี้’ ไว้ และแก้ ‘ควอลิตี้’ เอา
มิดีกว่าจะรอเปล่า เพราะห่วง ‘ควอลิตี้’ หรือ?
อนึ่งสรรพศึกษา ประสงค์สิทธิ์ประเทศคือ
จะสั่งสอนและฝึกปรือ ประชาราษฎร์ลำพังเอง[๒๑]
ฉะนั้นจึ่งจะเกณฑ์อ่าน มิปล่อยพล่านฤตามเพลง
จะรอหัดครุครบ[๒๒]เกรง จะงาไหม้และไทยศูนย์[๒๓]
ผิครูอ่อนก็สอนด้วย ตำราช่วยบำเพ็ญพูน[๒๔]
ริอบรม[๒๕]ลุสมบูรณ์ มิช้าหน่อยจะค่อยดี
กระทำ ‘ควอนติตี้’ พอ ก็กวด ‘ควอลิตี้’ ซี
กระหน่ำฝึกครุมากมี ลุเก่าไปและใหม่มา[๒๖]
แถลงเรื่องวิถีเทา[๒๗] ประเทศเก่าและใหม่สา-
รพัตรเพื่อมิกังขา ก็จบลง ณ เพียงนี้

๑๔ กันย์. ๗๒


[๑] Demand กับ Supply ความต้องการกับการจำหน่ายให้ตามต้องการ

[๒] Quantity กับ Quality ปริมาณหรือจำนวน กับรศคือชะนิดดีเลวเพียงไร

[๓] ......ผอง เหมือนผู้นำทางที่ทำแบบอย่างไว้ให้คนทั้งหลายเอาอย่าง

[๔] ......เอง ผู้นำในทางปลูกความเจริญต้องคลำทาง ทำผิดบ้างถูกบ้าง ผิดไปแก้ไป เพราะไม่มีเยี่ยงอย่างจะดู ตนเป็นผู้ก่อเยี่ยงอย่างเอง

[๕] ......สมัย เป็นผู้ออกหน้า ถึงจะยอกย้อนในการคลำหาทางก็ไม่ต้องกลัวใคร เพราะตัวเป็นผู้นำ ยังไม่มีใครตามทัน

[๖] ตรัสรู้ การค้นหาความรู้ได้เองโดยมิต้องเอาอย่างใครนี้ สำหรับใช้เมื่อความรู้นั้นยังไม่มีใครรู้ เป็นความรู้ใหม่ต่อยอดขึ้นไป ท่านยกย่องว่าเป็นความฉลาดเลิศ แต่ถ้าความรู้ใดมีผู้รู้กันอยู่ แล้วไปหลงพยายามจะตรัสรู้ กลับเป็นความโง่

[๗] หนอ ! การเอาอย่างสำคัญที่เอามาปรับปรุงให้พอเหมาะแก่ความต้องการของประเทศ

[๘] บริเตน อังกฤษ

[๙] ฉนำ ปี่

[๑๐] ......ตาม นิติธรรมของประเทศอังกฤษนั้น ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งผู้แทน. คณะการเมืองที่ได้จำนวนผู้แทนมาก ก็ได้ตั้งรัฐบาล ๆ จึงฟังเสียงประชาชนทั่วๆ ไป ที่เรียกว่า ‘ปับลิก โอปิเนียน’

[๑๑] รัฐ แคว้น, ประเทศ

[๑๒] รัฐประศาสน์ การปกครองบ้านเมือง

[๑๓] ......ลอง ผู้ทำทีหลังย่อมทำด้วยความรู้ เพราะเหตุเยี่ยงอย่างที่เขาทำแล้วมีอยู่ ผู้ริเริ่มสิต้องทดลองถูกแล้วผิดเล่า แก้กันไปแก้กันมา ต้องกินเวลามาก

[๑๔] กำเลา โง่, อ่อน

[๑๕] ......ค่า ในสมัยที่ผู้แต่งหนังสือนี้แรกเข้าโรงเรียน (พ.ศ. ๒๔๒๘) อย่าว่าแต่ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน แม้เครื่องเรียนเช่น สมุด, ดินสอ, กะดานชะนวน รัฐบาลก็แจกให้

[๑๖] ......พอ พ.ศ. ๒๔๗๒ ค่าเล่าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลอัตราสูงเขยิบขึ้นเป็นปีละ ๘๐ บาท นักเรียนกรุงเทพฯ สอบมัธยม ๖​ ได้แล้ว ยังหาที่เรียนมัธยม ๗-๘ ไม่ได้ ต้องเลิกเรียนเสียเป็นอันมาก

[๑๗] ......สับปลาย ความนิยมเรียนมัธยมสูงเป็นของดี ควรอุดหนุนให้มีที่เรียนพออยู่เสมอ เพราะอุตดมศึกษาทุกแผนกควรรับแต่นักเรียนจบมัธยมแล้ว จะได้เข้าฐานมหาวิทยาลัย อนึ่งความรู้ชั้นมัธยม ๖ ยังทึมทึก จะไปต่ำก็หัวสูง จะไปสูงก็ไปไม่รอด จนกว่าจะได้มีวิสามัญศึกษาเหมาะสำหรับชั้นนั้นคอยรับให้เกลื่อนกลาด

[๑๘] ......มี โรงเรียนแพทย์หัดแพทย์ประกาศนียบัตรขึ้นแล้ว แพทย์เหล่านั้นก็ต้องเป็นแพทย์หลวงก่อน จะหากินตามภูมิลำเนายังไม่มีใครนิยมใช้. ความรังเกียจยาแผนใหม่ ความกลัวโรงพยาบาล ค่อยเปลี่ยนไปทีละน้อยๆ กลายเป็นความนิยมขึ้นบ้างแล้ว เดี๋ยวนี้โรงพยาบาลไม่มีที่พอรับคนไข้ และแพทย์ประกาศนียบัตรตั้งร้านจำหน่ายยาและตรวจโรคทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง

[๑๙] เผชิญชนม์ งานของแพทย์เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์

[๒๐] ......เขา คือมีแต่แพทย์ปริญญา หรือประกาศนียบัตร ที่ได้ศึกษาสำเร็จจากโรงเรียนแพทย์เท่านั้น จนพอแก่จำนวนราษฎร

[๒๑] เอง สมัยนี้ถือกันว่า การศึกษาของพลเมืองเป็นสิทธิของประเทศเราก็ถือเช่นนั้น จึงมีพระราชบัญญัติประถมศึกษาคุ้มครองโรงเรียนประถมทั่วไป และพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร คุ้มครองโรงเรียนของบุทคลหรือคณะทั่วไปด้วย

[๒๒] ......ครบ คือรอจนมีครูประกาศนียบัตรพอแก่จำนวนเด็ก ดังที่ปรึกษากระทรวงพระคลังแย้มไว้ในรายงานกระทรวงพระคลัง พ.ศ. ๒๔๗๑ นี้

[๒๓] ......ศูนย์ มีภาสิตโบราณว่า ‘กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้’

[๒๔] ......พูน ตั้งแต่เริ่มจัดการศึกษาแผนใหม่ ครูก็อ่อนกว่างานตลอดมา วิชาใหม่ๆ มีภาษาต่างประเทศและวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ครูก็ต้องเรียนพลางสอนพลางไม่ใช่จัดอย่างอินเดีย หรือฟิลิปปินส์จะได้ขนครูจากอังกฤษหรืออเมริกานับร้อยๆ การจัดเกณฑ์ศึกษาสมัยนี้ก็ต้องอาศัยวิธีเดียวกัน อันเป็นวิธี ‘ตำข้าวสารกรอกหม้อ’ ของเรานั้นเอง

[๒๕] อบรม อบรมด้วยการตรวจโดยแก้ไขและสอนให้ดู ๑ เรียกครูมารวมกันเรียนเป็นแห่งๆ เวลาโรงเรียนหยุด ๑ วางหลักสูตรให้ครูเรียนเองเพื่อสอบไล่เอาประกาศนียบัตรครู ๑ ให้โรงเรียนประจำจังหวัดหรืออำเภอทำหน้าที่เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูประชาบาล ๑

[๒๖] ......มา ครูตามชนบทก็คือนักเรียนโตๆ นั้นเอง พวกนี้ยังไม่มีครอบครัวพอได้ครูประกาศนียบัตรมาแทน ก็เรียกพวก ‘นักเรียนสอน’ เหล่านี้กลับไปเข้าโรงเรียนครูมูลตามหัวเมืองที่ใกล้และสะดวกเป็นการถ่ายเทกันอยู่ในตัว สำคัญที่ต้องไม่เลือกผู้ใหญ่เข้าเป็นครูประชาบาลหรือนักเรียนสอน

[๒๗] เทา เต้า ดำเนิรไป

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ