ผู้เล็งผลเลิศ กับ ผู้เพ่งผลสำเร็จ

หรือ
ช่างคิด กับ ช่างทำ
The Idealist กับ The Practical Man

ผู้เล็งผลเลิศ

(โคลงจัตวาทัณฑี-เหมือนโคลงสุภาพ แต่บาท ๒ คำที่ ๔ รับสัมผัสกับคำที่ ๗ บาทต้น แทนคำที่ ๕)

ผู้เล็งผลเลิศล้วน อาศัย ศูนย์สุด[๑]
เพียงแต่ขอไปที ท่านท้วง
ผลสำเร็จเจือใน ทางโทษ
ดีล่อนๆ ครั้นล้วง ลึกเข้าเลยเหลว
ดีเลวสำเร็จได้ ดุจกัน
ดีปัจจุปบันภาย ภาคหน้า
กลับให้โทษ, ฤๅพลัน ชักเนิ่น นานนอ
เพราะแกว่งกวัดชัดช้า กว่าใช้ปืนเล็ง[๒]

ผู้เพ่งผลสำเร็จ

ผู้เพ่งผลสำเร็จรู้ แรงงาน
ปรับเหมาะฉะเพาะกาลณ บัดนี้
อุปสรรคน้อยใหญ่พาน เพียรล่วง
สู้ไม่ได้ดุ่มลี้ หลีกแล้วเลยไป[๓]
ชาญชัยไหวพริบล้วน แหลมหลัก
เลิศหมากรุกนักเลง นักรู้
ผลสำเร็จจำจัก บรรลุ เจียวแล
สมส่วนสามารถกู้ กิจรู้ระวังการ

เมื่อนี้ระอา เมื่อหน้าสำนึกคุณ

ขานเขตต์คู่คตินี้ มีนัย
หากว่าอาศัยกัน เก่งแท้
แต่ต่างวิสัยไฉน ยากสนิท
เลิศต่อเลิศฤๅแพ้ เที่ยงแท้เถียงกัน
วันนี้ผู้เพ่งข้าง ทางจำ[๔] สำเร็จ
ตำหนิผู้นำไกล ว่าล้วน
รู้มากยากนานทำ บ่ถูก
ความคิดติดถี่ถ้วน แต่ล้วนสุดวิสัย[๕]
ต่อไปในเมื่อหน้า นานวัน
ดีชั่วพัวพันเห็น ประจักษ์แจ้ง
งาไหม้ถั่วไม่ทัน จะสุก
ครั้นสำนึกคุณสิแล้ง ล่วงแล้วเวลา

๑๗ มกร. ๗๒


[๑] ศูนย์สุด ข้อมุ่งหรือวัตถุที่ประสงค์ในที่สุด ไม่ใช่สักแต่ที่หมาย หรือที่พักพิงชั่วคราว

[๒] เล็ง การหมายศูนย์สุด เปรียบเหมือนเล็งปืน ย่อมได้ทางตรงเป็นทางสั้นที่สุด แต่การกวัดแกว่งแก้ไปแก้มา เปรียบเหมือนเส้นคดโค้ง ย่อมยืดยาวกว่าเส้นตรงซึ่งอยู่ในระหว่างจุดคู่เดียวกัน อันเป็นต้นทางกับปลายทาง

[๓] ......ไป เมื่อประสพอุปสรรคที่ขบไม่แตก ก็ปล่อยไว้และหลีกเลี่ยงเลยไป การหลีกเลี่ยงนั้นเอง เป็นการออกนอกทาง ทำให้อ้อมค้อมไปจากทางตรง อนึ่ง อุปสรรคที่ปล่อยไว้นั้นเอง อาจส่งผลให้เป็นโทษก็ได้

[๔] จำ จำเป็น จำต้อง

[๕] สุดวิสัย เหลือที่จะทำได้ Not practical

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ