ตอนที่ ๑
ถนนแห่ง ๑, เมืองเวนิส.
อันโตนิโย, สะละรีโน, และสะลานิโย เดินออกมา.
อันโต. | จริงหนอเปนอย่างไรใจเหี่ยวแห้ง: |
เหมือนอ่อนแรง; อีกเธอก็เหนื่อยอ่อน; | |
เหตุไฉนใจเหงาและเร่าร้อน, | |
และอกอ่อนเพื่ออะไรก็ไม่รู้, | |
สาเหตุเพื่อสิ่งใดไม่รู้ได้ | |
แต่แน่แท้เศร้าใจฉนี้อยู่, | |
ทำให้ฉันงงไปไม่พึงดู | |
แทบมิรู้จักตัวว่าเปนใคร. | |
สะละ. | จิตของเกลอเผลอไผลไปลดเลี้ยว |
ท่องเที่ยวอยู่ที่กลางทเลใหญ่; | |
ในน่านน้ำเภตราสง่าใบ | |
ของเกลอไซร้แล่นคว้างกลางสาคร. | |
เหมือนผู้ดีหรือเศรษฐีมีสง่า | |
โอ่อ่าฝ่าสินธุ์สโมสร | |
เปนกระบวนนาวีศรีสุนทร | |
อันงามงอนในมหาชลาลัย; | |
เมื่อยามผ่านเรืออื่นตั้งหมื่นแสน | |
ก็งามแม้นหงส์ทองฟ่องน้ำใส | |
เรืออื่น ๆ ลำน้อย ๆ ที่คล้อยไป | |
พลางใช้ใบพลางเคารพอภิวันท์: | |
สะลา. | จริงหนอแม้ฉันมีนาวีค้า |
เที่ยวแล่นท้องธาราอย่างเกลอขวัญ | |
อันดวงใจคงเปนห่วงปวงทรัพย์นั้น | |
คงไฝ่ฝันถึงเรือเหลืออาลัย. | |
คงหมั่นเด็ดใบหญ้ามาโปรยดู | |
เพื่อให้รู้ลมพัดจัดทางไหน; | |
คงนั่งมองแผนที่อยู่ร่ำไป | |
จนเจนใจท่าเรือและลู่ทาง. | |
ยามแลเห็นสิ่งใดที่สามารถ | |
อาจบันดาลเปนภัยให้กีดขวาง | |
คงทำให้ใจสั่นและพรั่นพลาง, | |
คงนั่งครางอยู่ละเกลอ. | |
สะละ. | เออเห็นใจ ! |
ส่วนตัวฉันแม้จะเป่ากับเข้าร้อน | |
ลมปากเองน่าจะย้อนเอาจนไข้ | |
เพราะเกรงลมจะไปเพิ่มพายุไซร้ | |
ให้พัดกล้าเกินไปในสาคร. | |
เมื่อเห็นนาฬิกาทรายอันปรายโปรย | |
จะโอดโอยอกร้าวฤทัยถอน | |
เพราะนึกถึงหาดกลางหว่างสาคร | |
กีดสุนทรนาวีที่สุดรัก, | |
จนเรือยับอับปางกลางสมุท | |
เสาหักซุดตำทรายเคราะห์ร้ายหนัก. | |
อีกยามไปไหว้พระจะเศร้านัก | |
จะเผือดพักตร์ยลกำแพงแรงศิลา, | |
คงชวนให้คำนึงถึงนาวี | |
วิตกกลัวจะรี่ไปโดนผา | |
จนทลุปรุกว้างข้างนาวา | |
และสินค้าสารพัตกระจัดกระจาย, | |
นึกถึงปวงเครื่องเทศวิเศษสรรพ์ | |
นึกถึงผ้าแพรพรรณอันหลากหลาย | |
จะเปียกน้ำซ้ำลอยละล่องละลาย | |
น่าเสียดายของดี ๆ มีราคา; | |
นึกถึงภัยต่าง ๆ กลางสมุท | |
ของดี ๆ ที่สุดแสนสง่า | |
อาจจะยับย่อยไปในพริบตา | |
ดังนี้นามิใช่เล่นฉันเห็นใจ. | |
ถ้านึกห่วงปวงทรัพย์นับค่าหมื่น | |
จะแขงขืนไม่วิตกได้ไฉน ? | |
เพราะฉนั้นอันโตนิโยไซร้ | |
เขาเศร้าใจเพราะเปนห่วงปวงสำเภา. | |
อันโต. | หามิได้: ฉันไซร้ไม่ประมาท, |
ฉันมิอาจไว้ใจไปอย่างเขลา, | |
มิได้รวมวัตถุบรรจุตะเภา | |
เพียงลำเดียว,เพื่อนเราอย่าแคลงใจ; | |
มิได้ค้าทางเดียวในเที่ยวนี้ | |
หรือลงทุนเต็มที่ก็หาไม่: | |
เหตุฉนี้มิได้มีความห่วงใย | |
สินค้าไซร้มิได้ทำช้ำใจเลย. | |
สะละ. | รักผู้หญิงกระมังนะ. |
อันโต. | อ๊ะ ! ไม่จริง ! |
สะละ. | ไม่รักหญิง ? ถ้าเช่นนั้นละเพื่อนเอ๋ย |
ก็ต้องว่าสาเหตุไม่มีเลย, | |
เศร้าเฉย ๆ เพราะไม่อยากจะเฮฮา: | |
ถ้าเช่นนั้นใคร ๆ ที่ใจเศร้า | |
แสร้งเริงเร้าป่องป๋อหัวร่อร่า | |
และโลดเล่นเต้นรำซ้ำหุยฮา | |
ก็จะว่าจิตไม่เศร้าได้เท่ากัน. | |
จริงๆ หนอคนเรานี้มีต่าง ๆ | |
ทั้งรูปร่างกิริยาแสนน่าขัน: | |
บางคนมีแต่สนุกทุกคืนวัน | |
หัวเราะงันเหมือนนกแก้วแจ้ว ๆ ไป; | |
บางคนหุบปากไว้ไม่แย้มหัว | |
จำอวดเล่นรอบตัวหาขันไม่, | |
ไม่รู้จักสนทนาฮากับใคร | |
เหมือนเปนไข้ไม่รู้ส่างไม่วางวาย. | |
[บัสสานิโย, ลอเรนโซ, และกราติยาโนเดินออกมา] | |
สะลา. | อ้อนี่แน่ท่านบัสสานิโย, |
อีกทั้งกราติยาโนผู้สหาย | |
และลอเร็นโซสนิทมิตรสามชาย, | |
ออกมาแล้ว. ฉันหมายจะขอลา: | |
เพราะตัวท่านคงอยากพบญาติมิตร | |
ผู้รักใคร่อย่างสนิทนั้นมากกว่า. | |
สะละ. | แม้สามมิตรนี้ไซร้ยังไม่มา |
ฉันก็ใคร่สนทนาชวนรื่นรมย์. | |
อันโต. | ส่วนตัวฉันรักเธอเสมอภาค |
แต่เธอหากมีกิจเปนปฐม | |
ที่จะต้องไปกระทำ, คำคารม | |
พูดผสมเพื่อให้เพราะเหมาะอำลา. | |
สะละ. | ข้าลาก่อนละนะนายสหายแก้ว. |
บัสสา. | เออก็แล้วเมื่อไรจะไปหา ? |
จะได้พูดกันเล่นเย็นวิญญา. | |
สะละ. | ไว้ว่าง ๆ จะไปหาอย่าขัดใจ. |
[สะละรีโน กับสะลานิโย เข้าโรง] | |
ลอ. | นี่แน่ท่านบัสสานิโย เมื่อท่านได้มาพบอันโตนิโยแล้วดังปราถนา ข้าพเจ้าทั้งสองก็จะขอลาท่านต่อไป: แต่ขอให้ท่านกำหนดไว้ด้วยเถิดนา ว่าเมื่อถึงเวลาที่จะกินภักษาหาร เชิญท่านไปรับประทานกับข้าพเจ้าแห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งสุดแท้แต่ท่านจะเหมาะใจ |
บัส. | เอาเถิดอย่าสงสัย เราจะไปตามปราถนา. |
กรา. | ไฉนนั่นอันโตนิโยเพื่อน |
ใยหน้าเจื่อนบูบึ้งตึงนักหนา; | |
หรือท่านระวังท่วงทีกิริยา | |
เกรงชนจะนินทาหรือว่าไร ? | |
คนที่ทำหน้าบึ้งขึงแขงซื่อ | |
คนทั้งหลายจะนับถือก็หาไม่; | |
เชื่อข้าเถิดหน้าเธอแปลกแผกเหลือใจ | |
จนเพื่อนแทบจำไม่ได้สักน้อยนิด | |
อันโต. | สหายกราติยาโนอย่ากังขา |
ข้าเห็นโลกก็เปนโลกไม่แผกผิด; | |
โลกนี้เหมือนลครโรงนิด ๆ | |
คิดว่าเราเปนลครอยู่ทั่วกัน. | |
ต่างคนมีบทรำและทำท่า | |
ต่าง ๆ นา ๆ เหมือนแสร้งสรร, | |
ส่วนข้าเปนตัวเศร้าจึงเหงางัน | |
จบเท่านั้น. | |
กรา. | ข้าขอเปนตัวฮา: |
ขอเปนตัวตลกหัวเราะเร้า | |
หน้าเหี่ยวย่นทนเอาสำรวลร่า; | |
ขอยอมให้ตับระบมอมสุรา | |
ดีกว่าถอนใจใหญ่ใจเหี่ยวตาย. | |
ไฉนเล่าคนเราที่เลือดฝาด | |
มีฉูดฉาดแล่นไปในเส้นสาย | |
จะมานั่งแน่วนิ่งไม่ติงกาย | |
เหมือนก้อนหินกรวดทรายไม่เข้าการ. | |
เมื่อยามตื่นฉันใดจะให้หลับ, | |
ราวกับรอมรณาน่าสงสาร, | |
ไม่หัวเราะบ้างไซร้ไม่ได้การ | |
จริงนะท่านเกลอขวัญอันโตนิโย. | |
ฉันรักเธอเผยอพูดเพราะความรัก, | |
ฉันรู้จักบางคนน่ากวนโมโห | |
ทำหน้าตาบ้านักละ, อ๊ะพุทโธ่ ! | |
เหลอและโง่ราวกับวังน้ำขังนอน, | |
จนจอกแหนแลสวะระกะเห็น | |
น้ำเน่าเหม็นเต็มไปด้วยบุ้งหนอน; | |
แสร้งทำขรืมทรึมเทราเหมือนหาวนอน | |
หวังให้ชนนิกรเขากล่าวชม | |
ว่าตัวเปนนักปราชญ์ฉลาดหนัก | |
รู้แหลมหลักสารพัตเปนปฐม, | |
เหมือนเจ้าผีมีอิทธิ์ฤทธิ์อุดม | |
ร้องคารมว่า “กูศักดิ์สิทธิ์แฮ้ ! | |
เมื่อยามกูอ้าปากอยากพูดจา | |
ถึงแม้หมาก็อย่าเห่าอย่าหอนแฮ่ !” | |
จริงนะ, อันโตนิโย, จริงแท้ ๆ | |
ฉันรู้แน่คนเช่นนั้นมันมารยา, | |
อยากได้ชื่อว่าเปนปราชญ์ฉลาดรู้ | |
เพราะหุบปากนิ่งอยู่เท่านั้นหนา; | |
เมื่อใดเผยปากขึ้นสนทนา | |
ถ้อยคำไม่เปนภาษาอันพึงใจ. | |
ใครยินแล้วก็ไม่แคล้วการติฉินท์ | |
ปวงกะวินนินทาว่าบ้าใหญ่. | |
ฉันจะกล่าวต่อไปอีกก็ได้ | |
แต่เอาไว้คราวอื่นจึงสนทนา. | |
เชื่อฉันเถิดเพื่อนรัก ๆ จงเชื่อ, | |
เอาความขรึมเปนเหยื่อเพื่อตกหา | |
ซึ่งถ้อยคำสรรเสริญของโลกา | |
เหมือนมุ่งตกปลาบ้าไม่เข้าที. | |
ลอเร็นโซเพื่อนยามาเถิดเพื่อน | |
อย่ารอเตือน-ลาก่อนทั้งสองศรี: | |
ไว้เมื่อกินอิ่มหนำสำราญดี | |
แล้วจึงมีเทศน์ธรรม์กันต่อไป. | |
ลอ. | ถ้าเช่นนั้นฉันลากว่าจะเย็น: |
ฉันนี้เห็นจะต้องทำเปนขรึมใหญ่ | |
เหมือนปราชญ์เก๊ที่ว่ามานั่นไซร้, | |
เพราะจำใจจำต้องซึมขรึมอยู่เอง. | |
เพราะว่ากราติยาโนในเชิงปาก | |
สู้เขายาก, พูดไม่ทันฉันต้องเน่ง. | |
กรา. | เกลอคงแทบไม่ได้ยินเสียงตนเอง |
ถ้าอยู่กับเพื่อนผู้เก่งสักสองปี. | |
อันโต. | เอาเถิดเกลอขอผัดอีกไม่ช้า |
ฉันจะหมั่นพูดจาให้ควรที่. | |
กรา. | ดีแล้วเพื่อน, ลิ้นคนนิ่งไม่ดี |
ที่ควรนิ่งนั้นก็มีแต่ลิ้นโค, | |
กับลิ้นหญิงโง่งั่งทั้งรูปชั่ว | |
จนไร้ผัวควรสงบเพื่อปิดโง่, | |
ผู้ฉลาดปราชญ์เปรื่องมีเรื่องโว | |
หาเรื่องพูดได้อะโขไม่ร้อนใจ | |
[กราติยาโน กับลอเร็นโซ เข้าโรง] | |
อันโต. | อย่างไรเพื่อน, จะว่าอย่างไร. |
บัส. | กราติยาโนมักพูดมากปากไม่อยู่สุข พูดพลอดพล่อยสนุก ๆ ไม่มีสาระอะไร พูดเหลว ๆ ได้ยิ่งกว่าใคร ๆ ในเมืองเวนิส. ในคำพูดจะมีสุภาษิตอยู่ก็แต่นิดเดียว ยากจริงเจียวจะค้นในคำสนทนา ประหนึ่งว่าเข้าเปลือกเพียงสองเมล็ดน้อย เข้าไปแฝงกระจ้อยร่อยอยู่ในกระบุงแกลบ: ค้นทั้งวันก็แทบจะหาไม่พบได้; และถึงเมื่อพบแล้วไซร้ก็ไม่มีราคา เป็นอันป่วยการหา, ไม่เป็นประโยชน์อะไร. |
อันโต. | เออ ๆ นี่แน่เกลอข้าขอถาม |
แม่รูปงามอยู่หนตำบลไหน | |
ที่เกลอว่าชอบจิตและติดใจ | |
จะบอกให้มิใช่หรือในวันนี้ ? | |
บัส. | อันโตนิโยพี่ชายสหายแก้ว |
เพื่อนรู้แล้วว่าทรัพย์ของฉันนี่ | |
ได้ชักไปใช้จ่ายฟูมฟายทวี, | |
เพราะเหตุที่หน้าใหญ่เกินกำลัง. | |
แต่มิใช่จะบ่นเพราะตนโฉด, | |
ใช่จะโทษผู้ใด; ใจฉันตั้ง | |
อยู่เพียงที่ตรงจะประทะประทัง | |
ใช้ณี่สินรุงรังที่คั่งค้าง. | |
อันโตนิโยเธอนี้สิมีคุณ | |
ทั้งให้ทุนให้รักไม่เว้นว่าง; | |
เพราะความรักเพื่อนไซร้ไม่จืดจาง | |
จึงเปนทางที่หวังหยั่งเมตตา. | |
ขอเล่าความตามจริงทุกสิ่งสรรพ์ | |
ขอพึ่งเพื่อนเตือนฉันช่วยปฤกษา, | |
ทำไฉนจึงจะได้สมวิญญา | |
พ้นบรรดาณี่สินสิ้นห่วงใย. | |
อันโต. | บัสสานิโยจงรีบเร่งพาที, |
ถ้าแม้ณี่อันค้างทั้งหมดไสร้ | |
เปนสิ่งซึ่งสุจริตไม่ติดใจ | |
เหมือนตัวเพื่อนเองไซร้ผู้ซื่อตรง. | |
เอาเถิดทั้งเงินทองของตูข้า, | |
แม้กายา, แลทรัพย์, ซึ่งประสงค์ | |
จะยอมยกให้ได้ดังใจจง, | |
ยอมปลดปลงทุกสิ่งไม่เสียดาย. | |
บัส. | เมื่อเด็กๆ ยามเสียลูกศรหนึ่ง |
เคยรำพึงเพื่อหาลูกศรหาย, | |
และยิงซ้ำไปอีกลูก, ถูกอุบาย, | |
ยิงมุ่งหมายไปทางข้างเดียวกัน; | |
แต่คราวนี้คอยจ้องมองแม่นยำ | |
เพื่อจดจำที่ตกโดยแม่นมั่น, | |
และโดยยอมเสียลูกศรเปนสองฉนั้น | |
มักได้อันหายแรกกลับคืนมา. | |
ที่เล่าเรื่องเมื่อยังเด็กเล็กอยู่นั้น | |
ก็เพราะฉันมีความปราถนา | |
จะขอให้สหายช่วยเมตตา; | |
อันตัวข้าเปนณี่เพื่อนอยู่มากแล้ว, | |
และเหมือนเด็กไม่รู้จักระวังระไว | |
ทรัพย์ที่ยืมหมดไปนะเพื่อนแก้ว; | |
แต่ถ้าเพื่อนยิงศรไปตามแนว | |
ทิศเดิมแล้วข้านี้จะดีใจ. | |
จะคอยดูทางเล็งเพ่งไว้มั่น | |
แล้วตัวฉันจะหาคืนให้จงได้, | |
อย่างน้อยณี่รายที่สองเปนต้องใช้; | |
ถึงอย่างไรขอเพื่อนจงเมตตา. | |
อันโต. | เพื่อนก็รู้อยู่แล้วเพื่อนแก้วเอ๋ย, |
ฉันไม่เคยขัดเพื่อนเสนหา | |
ไฉนพูดไม่เปนเรื่องเปลืองเวลา; | |
ที่เพื่อนยาสงสัยใจข้านี้, | |
ข้าโกรธยิ่งกว่าที่เพื่อนจะผลาญทรัพย์ | |
ของข้าจนย่อยยับสรรพป่นปี้: | |
จงบอกเถิดต้องประสงค์สิ่งไรมี | |
จะช่วยให้สมที่อารมณ์จินต์. | |
บัส. | ที่เบ็ลมอนต์มีนางสำอางค์องค์ |
อนงค์รับมฤดกมากมวลสิน; | |
นางแสนงามอร่ามพรั่งทั้งกายิน | |
อีกงามสิ้นท่วงทีกิริยา; | |
อนึ่งนางมีสกุลคุณสมบัติ | |
สารพัดงามยิ่งกว่างามหน้า: | |
บางคราวชายตารับจับนัยตา | |
เหมือนหนึ่งให้ทีท่าน่ายินดี. | |
นางนั้นชื่อปอร์เชียผู้โฉมเฉิด, | |
งามประเสริฐสล้างสอางค์ศรี | |
ไม่น้อยกว่าโฉมตรูผู้บุตรี | |
แห่งคาโตเสนีโรมโบราณ, | |
กล่าวคือนางปอร์เชียเมียบรูตัส | |
ผู้ชงัดแรงฤทธิ์จิตทหาร, | |
จนออกชื่อลือลงพงศาวดาร | |
เพราะนงคราญงามพร้อมทั้งกายใจ. | |
แต่ปอร์เชียของฉันนั้นไม่แพ้, | |
เกียรติหล่อนแพร่ทั่วธรณีใหญ่, | |
เพราะชายหนุ่มจากแคว้นแดนไกล ๆ | |
จากสี่ทิศต่างไปเพื่อชมนาง. | |
ผมหล่อนเหลืองเรืองอุไรเหมือนไหมทอง | |
และฟูฟ่องที่หน้าผากทั้งสองข้าง, | |
เปรียบเหมือนแก้วแพรวพร้อยลอยอยู่กลาง | |
คัคณางค์เพื่อให้คนไฝ่ชม. | |
อันโตนิโยแม้ฉันนั้นมีสิน | |
จะได้ชมโฉมยุพินประสงค์สม, | |
ฉันเชื่อใจว่าจะได้ดังอารมณ์ | |
ลาภอุดมคงจะได้สมใจปอง ! | |
อันโต. | เพื่อนก็รู้อยู่ว่าบรรดาทรัพย์ |
ของฉันสรรพอยู่ทเลสิ้นทั้งผอง; | |
ไม่มีเหลืออยู่เลยทั้งเงินทอง, | |
หรือสิ่งของที่จะค้าหากำไร: | |
ฉนั้นจงเที่ยวถามตามตลาด | |
บางทีจะสามารถหยิบยืมได้, | |
ลองดูชื่อเสียงฉันนั้นเปนไร | |
เวนิสเชื่อเพียงใดได้รู้กัน: | |
ฉันจะช่วยเพื่อนยาอย่าฉงน | |
จนได้เงินพอใช้สมไฝ่ฝัน, | |
ช่วยเพื่อนถึงเบ็ลมอนต์ด้วยเร็วพลัน | |
ถึงแจ่มจันทร์ปอร์เชียอย่าเสียใจ. | |
เพื่อนจงไปเที่ยวถามตามชาวเมือง, | |
ฉันจะช่วยสืบเรื่องกู้เงินให้, | |
แม้ประสบพบผู้ให้กู้ไซร้ | |
อย่าสงสัยฉันจะเปนธุระเอง. [ต่างคนต่างเข้าโรง] |
----------------------------