คำนำ

วิลเลี่ยม เชกส๎๎เปียร์ เปนจินตะกวีผู้มีชื่อเสียงปรากฏ, ไม่จำเพาะแต่ในหมู่ชนชาติอังกฤษ. อันเปนชาติของเขาเอง, ทั้งชนชาติอื่น ๆ ทั่วไปในยุโรป ก็นับถือว่าเปนกวีสำคัญ, และเรื่องลครซึ่งเชกส๎๎เปียร์แต่ง ได้มีผู้แปลเปนภาษาต่าง ๆ จากภาษาอังกฤษเปนอันมาก. ส่วนเรื่องลครของเชกส๎๎เปียร์, ถึงแม้ได้มีอายุล่วงมาตั้งสามร้อยปีแล้ว, ก็ยังมีผู้เล่นอยู่จนทุกวันนี้, ทั้งในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ เช่นในประเทศอังกฤษเอง และอเมริกา, ทั้งในประเทศอื่น ๆ ทั่วไปในทวีปยุโรป และได้มีผู้เล่นบ้างแล้วในประเทศญี่ปุ่น.

เรื่องลครของเชกส๎เปียร์, นอกจากเปนเรื่องสำหรับเล่นออกโรงให้คนดู, เขาย่อมยกย่องกันว่าเปนหนังสือที่ควรอ่าน, เพราะเปนแบบอย่างอันดีแห่งจินตะกวีนิพนธ์ เต็มไปด้วยโวหารอันกล้า และถ้อยคำรจนาอย่างสละสลวย; โดยมากเปนกาพย์อังกฤษชนิดที่เรียกว่า “กลอนเปล่า” (“Blank Verse”), คือไม่มีสำผัส เปนแต่จำกัดบรรทัดละ ๑๐ พยางค์, แต่บางแห่งก็มีกลอนสำผัสปนอยู่, และบางแห่งก็มีร้อยแก้วปนอยู่.

เมื่อคำนึงดูว่า ในภาษายุโรปโดยมากมีคำแปลบทลครของเชกส๎๎เปียร์แล้ว, และในภาษาญี่ปุ่นก็มีแล้ว, ข้าพเจ้าก็ออกจะนึกละอายแก่ใจ ที่ในภาษาไทยเราไม่มีบ้างอย่างเขา. จริงอยู่ข้าพเจ้าได้ทราบอยู่ว่า มีผู้ได้นิพนธ์เรื่องของเชกส๎๎เปียร์ขึ้นแล้ว ๓ ราย, คือพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่อง “โรเมโอและยูเลียต” เรื่อง ๑, กับได้ทรงพระนิพนธ์เรื่อง “คอเมดี ออฟ เอร์เรอรส๎” (Comedy of Errors) ซึ่งทรงเรียกนามว่า .“หลงไหลได้ปลื้ม” อีกเรื่อง ๑, กับหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) ได้แต่งเรื่อง “เวนิสวานิช” คำฉันท์อีกเรื่อง ๑. แต่ที่แต่งไว้แล้วทั้ง ๓ รายนี้ ไม่ตรงตามแบบเดิมของเชกส๎๎เปียร์สักรายเดียว; เพราะเรื่อง “โรเมโอ และ ยูเลียต” กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงไว้เปนอย่างนิทานร้อยแก้ว; เรื่อง “หลงไหลได้ปลื้ม” เปนคำพูดที่ไม่ได้แปลตรง, เปนแต่แต่ง “ตามเค้า”, และแปลงนามตัวลครเปนไทย; และเรื่อง “เวนิสวานิช” ของหลวงธรรมาภิมณฑ์เปนคำฉันท์, ไม่ใช่เปนบทลคร.

ดังนี้ข้าพเจ้าจึงได้เลือกเรื่อง “เวนิสวานิช” มาแต่งเปนภาษาไทย, คงรูปให้เปนลครเจรจาโต้ตอบกันตามแบบของเชกส๎เปียร์เดิม, และถ้อยคำผูกเปนกลอนไทย เพื่อให้รูปคล้ายของเดิมที่สุดที่จะขยับขยายให้เปนไปได้.

ส่วนในการแปลก็ได้พยายามที่จะแปลให้ใกล้ของเดิมมากที่สุดที่จะทำได้; แต่ข้าพเจ้าเองก็รู้สึกอยู่ดีว่ามีที่บกพร่องอยู่มาก. ข้อแก้ตัวของข้าพเจ้าคงมีอยู่เปนข้อสำคัญอัน ๑ ก็คือ, ภาษาของเชกส๎เปียร์นั้น ถึงแม้คนชาติอังกฤษเองก็ถือกันว่าเปนของยาก, และเขาจัดไว้เปนส่วน ๑ แห่งหลักสูตร์สำหรับสอบไล่วิชาภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัย. นอกจากนี้ถ้าหากจะมีความบกพร่องและไม่สละสลวยอีกบ้าง ก็เปนเพราะสำนวนของข้าพเจ้าเอง และการประพนธ์อ่อนอยู่, เพราะต้องแต่งอยู่ในที่บังคับนั้นแล; ฉนั้นขอจินตะกวีและนักเลงหนังสือจงให้อภัยแก่ข้าพเจ้าบ้างเถิด.

<ราม.วชิราวุธ ปร>

วันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๙.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ