บัส. |
ถึงผิวนอกค่าน้อยสักปานใด |
|
มักลวงโลกเพราะใสสุดสง่า. |
|
ส่วนคำแก้รอดตัวแม้ชั่วช้า, |
|
ถ้าแม้ว่าทนายภิปรายดี, |
|
อาจกลบลบลืมความที่ทรามได้, |
|
ลวงพะวงหลงไหลได้เต็มที่ ! |
|
ส่วนในกิจศาสนาแม้พาที |
|
ให้ดี ๆ พลิกแพลงแสร้งภิปราย, |
|
อาจพลิกผิดเปนชอบรอบกายา, |
|
อีกคาถาบาฬีมีขยาย |
|
จนเกลื่อนกลบลบลับดับสิ่งร้าย |
|
แต่งจนกลายเปนกุศลวิมลธรรม์ ! |
|
แม้คนชั่วอัประลักษณ์รู้จักแต่ง |
|
กายาแปลงเปนสัตบุรุษผัน: |
|
ส่วนคนขลาดมากมีที่ใจพรั่น |
|
เทิ้ม ๆ สั่นราวบรรใดก่อในทราย; |
|
แต่ไว้หนวดอวดเคราเพราพิลาศ, |
|
ทำองอาจเหลือเกินเดินฉุยฉาย, |
|
ราวกับเหอร์คูลีสขลังกำลังกาย |
|
หรือเทพบุตรรุทร้ายเจ้าสงคราม; |
|
คนเช่นนี้ตับขาวราวนมโค, |
|
แต่มักโอ้อวดกล้าว่าไม่ขาม, |
|
มีแต่กากความกล้าพยายาม |
|
ให้คนขามขึ้นชื่อและฦๅชา ! |
|
อันความงามดูตามน้ำหนักชั่ง, |
|
ดังนี้อัศจรรย์เห็นแน่นักหนา, |
|
คือสิ่งใดวาววับจับสายตา |
|
ทั้งน้ำหนักและราคามักย่อมเยาว์. |
|
เช่นเกศาสีผ่องราวทองจรัส |
|
ซึ่งลมพัดปลิววับ ๆ จับตาเขลา, |
|
มักเปนช้องของเทียม, ที่เดิมเอา |
|
มาจากเขาซึ่งสิ้นชีวาลัย. |
|
ดังนี้ปวงอาภรณเปรียบเหมือนฝั่ง |
|
ลวงกำบังสาครอันคลื่นใหญ่; |
|
หรืออีกหนึ่งพึงเปรียบผ้าสใบ |
|
บังหญิงแขกเพื่อมิให้เห็นผิวดำ; |
|
รวมความว่าบรรดารูปงามนอก, |
|
มักจะหลอกคนหลงงงระส่ำ. |
|
เหตุฉนี้หีบผ่องผิวทองคำ, |
|
อาหารคนโลภงำ, ไม่ต้องการ; |
|
รัชดาเหมือนข้ามนุษใช้ |
|
เสือกใสไปมาอยู่รอบบ้าน, |
|
จะอยากได้มาใยไม่ต้องการ: |
|
แต่ตะกั่วรู้ประมาณเห็นพอดี, |
|
ทั้งสาราเขียนไว้ให้สติ |
|
มิได้กล่าวลวงล่อ, พอควรที่, |
|
ถูกใจฉันมากกว่าช่างพาที; |
|
เลือกใบนี้: ข้อให้สมอารมณ์จินต์ ! |
ปอร์. |
[พูดป้อง] ความรู้สึกทั้งปวง, เช่นห่วงใย, |
|
และเสียใจ, สงสัย, เจ็บใจสิ้น, |
|
อีกทั้งความหึงส์หวง, ทั้งปวงบิน |
|
สูญไปสิ้น, อยู่ยงคงแต่รัก ! |
|
รักเอย, ผ่อนไว้นา; อย่าเร่งร้อน |
|
ค่อย ๆ ผ่อนฟุ้งสร้าน, อย่าหาญหนัก ! |
|
ฉันปลื้มมากจนงง, จงผ่อนพัก, |
|
อย่าเผยรักเพลิดเพลินเกินงามไป ! |
บัส. |
ในนี้มีอะไรหนอ, ขอเปิดดู. [เปิดหีบตะกั่ว.] |
|
รูปโฉมตรูปอร์เชียผู้ศรีใส ! |
|
ศิลปีชาวสวรรค์จากชั้นใด |
|
วาดรูปได้เหมือนแท้ ๆ แม่ทรามเชย ! |
|
ดูตาหล่อนราวจะรับจับตาพี่ ? |
|
หรือเงาส่องมองดูทีคล้ายเฉลย |
|
รับพี่ยา ? โอฐยิ้มพริ้มชวนเชย, |
|
ทนต์เจ้าเอยราวมุกดาน่าชื่นใจ. |
|
ส่วนผมนางนายช่างราวแมงมุม |
|
ประชุมเส้นสายทองแสนผ่องใส, |
|
ฉลาดนักรู้จักเชิงชักใย |
|
ดักดวงใจแห่งผู้ชายคล้ายแมงวัน: |
|
แต่ดวงเนตรแสนวิเศษ, ช่างไฉน |
|
จึ่งเขียนได้ครบคู่ดูคมสัน ? |
|
เพราะเมื่อเขียนดวงหนึ่งเสร็จแล้วนั้น, |
|
น่าจะพลันเพลินพิศติดวิญญา |
|
จนลืมพริบตาของตนกมลหวาม, |
|
เลยหมดความพากเพียรเขียนเลขา ! |
|
แต่บรรดาถ้อยคำจำนรรจา |
|
สุดจะหาพอชมรื่นรมย์ใจ. |
|
ปวงวจีเหมือนตีราคาต่ำ |
|
หมดถ้อยคำชมหนอให้พอได้, |
|
แต่ฉายางามหนักสักปานใด |
|
ยังเลวกว่าอรไทยยอดนงคราญ. |
|
เหลือจะชมให้สมที่งามสรรพ, |
|
สุดจะนับสิ่งประเสริฐเลิศสงสาร. |
|
นี่อักษรสำแดงแถลงการ, |
|
จำจะอ่านตรวจนัยเพื่อได้รู้. |
|
[อ่าน] ๏ ท่านผู้บ่ได้เลือก |
โดยหลง |
เลือกเหมาะจำนงสม |
จิตมาตร์ |
เสี่ยงเคราะห์เหมาะแล้วจง |
พอจิต |
อย่าคิดหาสิรินาฏ |
อื่นครอง |
๏ สมปองแน่แล้วจุ่ง |
ยินดี |
ถือโชคเปนศรีตน |
ตลอดชีพ |
ผันพักตร์สู่นารี |
ร่วมรัก |
อย่าเนิ่นเชิญเร่งรีบ |
รับขวัญ ฯ |
|
|
สารเสนาะนักหนา ! อ้างามสรรพ, |
|
ฉันมารับบำเหน็จเกษมสันต์. |
|
รู้สึกราวนักกิฬากล้าประชัน |
|
ซึ่งแข่งขันด้วยดีมีคนชม, |
|
ได้ยินเสียงกึกก้องร้องอวยชัย, |
|
ยังพะวงสงสัยไม่รู้สม |
|
ฤดีว่าประชาชนนิยม |
|
ตนเองเปนปฐม, หรือชมใคร; |
|
แม่งามเฉิดเลิศวิไลยในไกวัลย์, |
|
อันตัวฉันก็พะวงยังสงสัย, |
|
ฉันเสี่ยงเคราะห์เหมาะแท้แน่หรือไร, |
|
ขอทรามไวยจงแลลงแจ้งกิจจา. |
ปอร์. |
บัสสานิโย, เชิญดูตูข้านี้, |
|
ไม่ชั่วดีกว่าใคร ๆ: ส่วนใจข้า |
|
ไม่อยากให้ตนดีมีราคา |
|
ยิ่งขึ้นกว่าที่เปนเช่นบัดนี้; |
|
แต่จำเภาะเพื่อให้เหมาะเปนคู่ครอง |
|
สมสองกับท่าน, สมศักดิ์ศรี, |
|
อยากใคร่ได้ส่งเสริมเติมสิ่งดี |
|
อีกสักญี่สิบส่วนประมวลมา; |
|
อยากใคร่เพิ่มศุภลักษณ์สักพันส่วน, |
|
ใคร่ประมวลสินทรัพย์นับพันกว่า; |
|
เพื่อประเสริฐเอกอุดมสมหน้าตา, |
|
ตูข้าโลภมากเปนพ้นไป, |
|
ทั้งคุณะ, ธนะ, สุขะ, พลัง, |
|
ทั้งมากมิตร์, จิตอยากจะใคร่ได้ |
|
จนเหลือที่จะประมวลถ้วนถี่ไซร้; |
|
แต่รวมในตัวดิฉันอันที่จริง |
|
ก็เปนเพียงหญิงสาวปล่าววิชา, |
|
ไร้ศึกษา, ไร้ชำนาญสิ้นทุกสิ่ง: |
|
แต่เคราะห์ดีมีอายุยังเยาว์จริง |
|
พอเรียนสิ่งใด ๆ ได้โดยดาย; |
|
อีกทั้งปรกติไซร้ไม่โง่เขลา, |
|
เห็นพอเข้าใจเรียนเพียรสมหมาย; |
|
ทั้งเต็มใจไม่ดื้อหรือถือกาย, |
|
ยอมโดยดายก้มราบและกราบกราน, |
|
เคารพเธออย่างนาย, หมายเปนเจ้า, |
|
เหมือนราชาเหนือเกล้าเกษมสานต์. |
|
อันตูข้าอีกทั้งบริพาร, |
|
ทั้งสมบัติพัสฐานบรรดามี, |
|
ขอมอบให้เต็มใจไม่เกียจกัน: |
|
แต่ก่อนนั้นข้าเปนใหญ่อยู่เต็มที่, |
|
ครองบ้านช่อง, บ่าวข้าบรรดามี, |
|
อีกทั้งเปนอิศะรีไม่มีนาย; |
|
แต่บัดนี้เคหาและทรัพย์สิน |
|
หมดทั้งสิ้น, อีกข้าไททั้งหลาย, |
|
อีกทั้งตัวดิฉันนั้นก็กลาย |
|
เปนข้าเธอผู้เปนนายเหนือดวงใจ. |
|
ดิฉันขอมอบแหวนแทนสมบัติ |
|
สารพัตที่ประนอมยอมยกให้; |
|
ถ้าเธอพรากจากแหวนนี้เมื่อใด, |
|
คือสิ้นรักหักอาลัยไม่ใยดี. |
|
ฉนั้นจงรักแหวนที่แทนรัก, |
|
หายเมื่อใดจะประจักษ์หม่นหมองศรี, |
|
และบัดนั้นดิฉันจะได้ที |
|
กล่าวต่อว่าสามีให้แสนอาย. |
บัส. |
สาวน้อย, หมดถ้อยจะตอบมิตร์, |
|
คงเหลือแต่โลหิตในเส้นสาย |
|
จะตอบแทน, แสนระรัวทั่วทั้งกาย |
|
ดูชืดชา, เลือดกระจายสร้านกายา, |
|
เหมือนได้ฟังสุรเสียงสำเนียงเร้า |
|
แห่งเจ้านายที่รักของปวงข้า, |
|
ย่อมยินเสียงยินดีและปรีดา |
|
ในคณาพศกอยู่พร้อมกัน; |
|
ต่างตนต่างปลื้มแท้แต่สำแดง |
|
ถ้อยแถลงไม่ถูกเปนแม่นมั่น, |
|
รู้สึกเพียงทราบสร้านบานใจครัน, |
|
คำตรัสนั้นปานทิพยวารี. |
|
ส่วนแหวนนี้พี่จะใส่ไว้มิขาด, |
|
วันใดคลาดจากนิ้วที่สรวมนี่, |
|
ต้องเปนวันพี่ตายวายชีวี: |
|
รู้เถิดพี่บัสสานิโยสิ้นชีวัน ! |
เนริส. |
บัดนี้ถึงเวลาพวกข้าเจ้า |
|
ผู้เฝ้าดูเสี่ยงเคราะห์เห็นเหมาะมั่น, |
|
ควรสำแดงยินดีปรีดานันท์: |
|
พร้อมกันอวยชัยให้คุณนาย ! |
กรา. |
บัสสานิโยและคุณหญิงผู้มิ่งมิตร์, |
|
ข้าปลื้มจิตอวยชัยให้สมหมาย, |
|
ประสงค์ใดจงได้สดวกดาย; |
|
ปวงสิ่งร้ายอย่าขวางจงห่างไกล: |
|
อนึ่งเมื่อแต่งงานการวิวาห์ |
|
ถูกต้องตามสัญญากำหนดไสร้, |
|
จงเมตตาข้าขอความพอใจ, |
|
คือขอให้ข้าแต่งเสียพร้อมกัน. |
บัส. |
ฉันเต็มใจเจียวนา, ถ้าหาเมีย |
|
ได้เหมาะแล้วแต่งเสียพร้อมกับฉัน. |
กรา. |
ผมขอบใจที่คุณการุญครัน, |
|
ผมเห็นแล้วเหมือนกันที่พอใจ. |
|
ตาผมมองไม่ช้ากว่าตานาย: |
|
คุณเห็นนางโฉมฉายผู้นายได้, |
|
ผมเห็นโฉมสอางค์นางสาวใช้; |
|
คุณรักได้, ผมก็รักนักเหมือนกัน. |
|
เคราะห์ของคุณกับของผมนั้นกลมเกลียว. |
|
อยู่ที่หีบใบเดียวกันแม่นมั่น; |
|
เพราะผมพูดเกี้ยวชวนแม่นวลจันทร์, |
|
สู้รำพรรณคอแห้งพอแรงการ, |
|
ในที่สุดนิ่มนุชจึ่งประนอม |
|
ว่าจะยอมร่วมรักสมัคสมาน |
|
เมื่อคุณได้ตัวนายยอดนงคราญ. |
ปอร์. |
เนริสสา, นี้เปนการจริงหรือไร ? |
เนริส. |
จริงเจ้าข้า, ถ้าโปรดนุมัติตาม. |
บัส. |
กราติยาโน, ความที่กล่าวไสร้ |
|
ไม่ถอนคืนยืนอยู่หรือว่าไร ? |
กรา. |
จริงขอรับ, กลับไม่ได้ในโลกนี้ ! |
บัส. |
จะมีงานร่วมกันกับฉันไซร้, |
|
ฉันพอใจเห็นประมูลเพิ่มพูลศรี. |
กรา. |
พนันกันพันเหรียญเถิดครานี้, |
|
ใครจะมีลูกชายได้ก่อนกัน ! |
เนริส. |
เงินวางประจำก่อนหรือไฉน ? |
กรา. |
อ๊ะ ! ไม่ได้ ! เสียเปรียบเปนแม่นมั่น. |
|
ใครมาหนอ ? ลอเร็นโซโผล่มาพลัน |
|
พร้อมนางยิวคมสันผู้ภรรยา. |
|
อ้อสะเลริโยผู้เพื่อนยาก |
|
มาจากเวนิสด้วยทำไมหนา ? |
|
[ลอเร็นโซ, เช็สสิกา, กับสะเลริโย ถือจดหมายจากเวนิส, ออกพร้อมกัน] |
บัส. |
ลอเร็นโซแลสะเลริโย, มา |
|
ถึงบ้านข้าต้อนรับด้วยยินดี; |
|
ที่จริงฉันก็พึ่งจะมีทาง |
|
ท่าควรวางเปนเจ้าของครองเรือนนี่. |
|
ปอร์เชีย, ขออนุญาตณครานี้ |
|
ต้อนรับเพื่อนผู้ที่ร่วมเมืองกัน. |
ปอร์. |
ดิฉันพลอยยินดีปรีดาด้วย, |
|
ช่วยต้อนรับอย่างสนิทเหมือนมิตร์ฉันท์. |
ลอ. |
ผมขอบใจแท้ ๆ. แต่เดิมนั้น, |
|
บ่มิได้หมายมั่นมาแห่งนี้; |
|
แต่พะเอินพบสะเลริโยก่อน, |
|
เขาวิงวอนให้มาด้วยถึงนี่, |
|
เหลือจะขัดคำวอนสุนทรดี, |
|
จึ่งมานี่. |
สะเล. |
จริงขอรับ, ผมชวนมา; |
|
เพราะมีเหตุสมควรจึ่งชวนฉนั้น. |
|
สินยอร์อันโตนิโยได้สั่งข้า |
|
ให้นำเขาทั้งสองนี้มาหา. |
|
และผมมีสาราฝากมาไซร้. [ส่งจดหมายให้บัสสานิโย] |
บัส. |
ก่อนจะอ่านขอท่านจงบอกมา, |
|
สหายข้าเปนสุขหรือไฉน ? |
สะเล. |
ไม่มีโรค, เว้นแต่ที่ในใจ, |
|
ไม่เปนสุข, เว้นแต่ในอุรา: |
|
อันจดหมายคงขยายข้อความสรรพ. |
กรา. |
เนริสสา, ต้อนรับแขกเถิดหนา; |
|
ช่วยต้อนรับนิรมลและสนทนา. |
|
สะเลริโยตูข้าขอจับมือ: |
|
มีข่าวอะไรบ้างทางเวนิส ? |
|
อันโตนิโยสถิตสบายฤๅ ? |
|
เขานั้นเปนพานิชกิตติฦๅ, |
|
ฉันนับถือ, เชื่อว่าคงพอใจ |
|
ที่ตัวเราทั้งสองสมปองแล้ว, |
|
เหมือนได้แก้วชวลิตพิสมัย. |
สะเล. |
ฉันเสียดายที่สหายของเกลอไซร้ |
|
บ่มิได้สุขบ้างเหมือนอย่างนาย. |
ปอร์. |
มีข่าวร้ายอย่างไรในสารา, |
|
หน้าบัสสานิโยเผือดเลือดซีดหาย: |
|
มิตร์ที่รักคู่กมลชนม์มลาย |
|
กระมังหนอ, ข้อร้ายจึ่งบันดาล |
|
ให้เธอเศร้าเสียใจได้ดังนี้. |
|
ดูมากขึ้นทุกที, น่าสงสาร ! |
|
บัสสานิโย, น้องน้อยพลอยรำคาญ, |
|
ขอรู้ทุกข์ภัยพาลสถานใด. |
|
น้องประหนึ่งกึ่งตัวของพี่ยา, |
|
ขอรู้ลักษณ์สาราให้จงได้, |
|
ในสารามีมาว่ากระไร |
|
บอกสักกึ่งหนึ่งก็ได้. |
บัส. |
โอ้ยอดรัก, |
|
ในที่นี้มีคำที่ทำให้ |
|
พี่ช้ำใจฟูมฟกอกแทบหัก ! |
|
ปอร์เชีย, เมื่อพี่แถลงสำแดงรัก, |
|
พี่ได้บอกนงลักษณ์ทุกสิ่งอัน. |
|
ว่าบรรดาสมบัติของตัวพี่ |
|
มีอยู่แต่ในสายโลหิตนั่น, |
|
คือมีแต่ชาติสกุลสูงเท่านั้น, |
|
ทุกสิ่งสรรพ์อภิปรายเปนสัจจา: |
|
แต่แม้บอกสายใจว่าไร้ทรัพย์, |
|
ก็นับว่าอวดดีจนเกินหน้า. |
|
เพราะแม้บอกว่าจนพ้นพรรณนา, |
|
ที่จริงจนยิ่งกว่าที่พาที; |
|
เพราะเปนณี่แห่งมิตร์แล้วมิหนำ |
|
ซ้ำพลอยทำให้มิตรนั้นเปนณี่ |
|
แห่งศัตรูจัญไรไร้ปราณี, |
|
ทั้งนี้เพื่อตัวพี่ได้ฟูมฟาย. |
|
นี่สาราเพื่อนยาเขียนบอกข่าว, |
|
กระดาษราวเนื้อหนังของสหาย, |
|
คำทุกคำแน่แท้ราวแผลร้าย |
|
ในร่างกายเพื่อน, โอ้โลหิตนอง. |
|
สะเลริโย, จริงหรือข่าวฦๅมา ? |
|
อันการค้าผิดถวิลสิ้นทั้งผอง, |
|
หรือได้บ้าง ? ฉันใดเปนก่ายกอง, |
|
ของไปค้าตริโปลิส, อังกฤษไกล, |
|
อีกลิสบ็อน, บาร์บะรีก็พลอยเสีย, |
|
และอินเดียสิ้นหมดหรือไฉน ? |
|
ไม่มีเรือเหลือรอดสักลำไซร้ |
|
จากโสโครกหรือไฉน ? |
สะเล. |
ไม่เหลือเลย. |
|
แต่ถึงแม้มีเงินจะพอใช้, |
|
ยิวจัญไรไม่เมตตา, นิจจาเอ๋ย ! |
|
แต่ไร ๆ ข้าไซร้ยังไม่เคย |
|
ได้เห็นเลยเดรฉานดุปานนี้; |
|
รูปเปนคนแต่กมลยิ่งสัตว์ป่า, |
|
มันตั้งหน้าจงจิตคิดแต่ที่ |
|
จะกระทำหนำใจในครานี้: |
|
ทุกทิวาราตรีเฝ้าเร่งรัด, |
|
ร้องกวนขอพ่อเมืองจนระอา; |
|
อีกร้องว่าขอยุติธรรมถนัด, |
|
ถ้ามิได้สมใจเปนแน่ชัด |
|
จะว่าขัดนิติประเพณี: |
|
พานิชญี่สิบนายไม่วายว่าง, |
|
ทั้งพ่อเมืองและคุณนางมีศักดิ์ศรี, |
|
ช่วยกันกล่าววิงวอนสุนทรดี, |
|
ยิวอัปรีย์ก็บ่ยอมประนอมใจ; |
|
มันยืนยันมั่นมุ่งปราถนา |
|
จะเอาตามสัญญาให้จงได้. |
เช็ส. |
เมื่อดิฉันยังอยู่ที่บ้านไซร้, |
|
เคยได้ยินคำพูดของบิดา |
|
บอกตูบาลและชุสผู้ร่วมชาติ, |
|
ว่าด้วยแรงพยาบาทปราถนา |
|
เนื้อของอันโตนิโยนั้นยิ่งกว่า |
|
เงินตราญี่สิบเท่าที่ยืมกัน: |
|
ดังนี้แม้กำหนดและกฎหมาย |
|
อีกอำนาจทั้งหลายไม่กางกั้น, |
|
อันโตนิโยคงยากลำบากครัน. |
ปอร์. |
เขาเปนมิตร์คู่ชีวันฤๅฉันใด ? |
บัส. |
เขาเปนคู่ชีวิตของพี่ยา, |
|
คนใจดียิ่งกว่าหาไม่ได้, |
|
ทั้งในการบำเรอบำรุงใจ |
|
บ่มิได้หน่ายจิตระอิดระอา |
|
อีกเขานั้นดีจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
|
เหมือนโรมันโบราณ, การจะหา |
|
ผู้ใดเทียบเปรียบได้ในอาณา |
|
อิตาลีสุดหาแล้วทรามเชย. |
ปอร์. |
เขาเปนณี่ตายิวอยู่เท่าใด ? |
บัส. |
สามพันเหรียญ. |
ปอร์. |
อะไร, เล่าพี่เอ๋ย ! |
|
ใช้เขาเสียหกพัน, แล้วพลันเลย |
|
ลบสัญญาให้สเบยสบายใจ; |
|
ให้สองเท่าหกพัน, แล้วพลันเรา |
|
ให้เขาอีกสามเท่าก็ควรให้, |
|
ดีกว่ายอมให้มิตร์สนิทใจ |
|
ต้องไร้แม้เกศาหรือจาบัลย์. |
|
ขอเชิญไปสู่โบถโปรดให้การ |
|
พิธีสมานวิวาห์แล้วเหมาะมั่น; |
|
แล้วจงรีบไปเวนิสด้วยฉับพลัน, |
|
ช่วยมิตร์คู่ชีวันให้พ้นภัย. |
|
การจะนอนพะนอและคลอเคลีย |
|
ชมปอร์เชียยามอารมณ์ระทมไหม้ |
|
ไม่สมควร. ส่วนเงินใช้ณี่ไซร้ |
|
น้องให้ญี่สิบเท่าด้วยยินดี: |
|
ใช้ณี่สำเร็จเสร็จแล้วไซร้, |
|
จงชวนเพื่อนร่วมใจกลับมานี่. |
|
ส่วนสาวน้อยเนริสสากับข้านี้, |
|
จะเปนพรหมจารีหม้ายภรรดา. |
|
เชิญทางนี้ ! ตัวพี่ควรต้องไป |
|
ในวันที่แต่งงานทีเดียวหนา; |
|
จงต้อนรับมิตร์พลางทางเริงร่า, |
|
วันวิวาห์ไม่ควรจะเศร้าใจ: |
|
เธอราคาแพงนัก, จะรักพี่ |
|
ให้สมที่มีราคานั้นจงได้. |
|
เออสาราเพื่อนยาว่ากระไร |
|
จงอ่านให้ทราบลักษณ์บ้างสักที. |
บัส. |
[อ่านจดหมาย] บัสสานิโยเพื่อนแก้ว, เรือของฉันเสียหมดแล้ว, เจ้าณี่ก็ใจดำถนัด, ทรัพย์สมบัติฉันหมดราคา, ครบกำหนดสัญญาของตายิวแล้วณบัดนี้; และในการที่จะทำตามสัญญานั้น, พ้นวิสัยที่ตัวฉันจะรอดชีวิตได้แล้ว, บรรดาณี่ระหว่างเพื่อนแก้วกับตัวฉัน เปนอันลบล้างกันแต่บัดนี้ไป, อยากแต่ให้เพื่อนได้มาเห็นใจในเวลาตายนั้นแล. แต่ถ้าแม้ไม่สดวกก็อย่าขืนใจ: ถ้าความรักของเพื่อนไซร้ไม่เตือนให้เพื่อนมา, ก็ขออย่าให้จดหมายนี้บังคับเลย. |
ปอร์. |
พี่เอยอย่าช้าเร่งคลาไคล ! |
บัส. |
เมื่อหล่อนยอมแล้วไซร้ก็ตัวพี่ |
|
จะรีบไป, และในระหว่างนี้ |
|
พี่ไม่กินนอนสุขด้วยผู้ใด. [พากันเข้าโรง] |