- คำนำ
- คำอธิบาย
- ตอนที่ ๑ ท้าวอินณุมาศเจ้าเมืองโกญจาได้โอรสบุญธรรม
- ตอนที่ ๒ คงคาประลัยขบถ
- ตอนที่ ๓ พราหมณ์จินดาลักพระกุมารไป ท้าวพินทุมารจับสองกุมารแล้วพาไปเลี้ยงไว้ในถ้ำ
- ตอนที่ ๔ เสนาท้าวอินณุมาศกู้เมืองได้ จึงเชิญเสด็จกลับไปครองแผ่นดิน
- ตอนที่ ๕ สิงหไกรภพลองยา แล้วหนีท้าวพินทุมารกลับบ้านเมือง
- ตอนที่ ๖ สิงหไกรภพเข้าเมืองมารัน แล้วได้พระธิดาสร้อยสุดาเป็นพระชายา
- ตอนที่ ๗ พราหมณ์จินดาตามหาสิงหไกรภพ
- ตอนที่ ๘ สิงหไกรภพหนีออกจากเมืองมารัน
- ตอนที่ ๙ สิงหไกรภพกลับเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๐ ท้าวจัตุพักตร์ตีเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๑ รามวงศ์หลงเชื่อวิรุณพัฒพี่เลี้ยง หลอกให้เดินทางไปถึงเมืองกาลวาศ
- ตอนที่ ๑๒ รามวงศ์พานางแก้วกินรีหนีออกจากเมืองกาลวาศ
- ตอนที่ ๑๓ ท้าวเทพาสูรตีเมืองมารันคืน
- ตอนที่ ๑๔ สิงหไกรภพ ตามหารามวงศ์
- ตอนที่ ๑๕ สิงหไกรภพกลับเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๖ สิงหไกรภพให้จัดงานถวายพระเพลิงพระศพท้าวอินทณุมาศและนางจันทร
- ตอนที่ ๑๗ สิงหไกรภพต้องเสน่ห์นางเทพกินรา
- ตอนที่ ๑๘ รามวงศ์พบเจ็ดนาง พระเทวราชโอรสเจ้าเมืองวิเรน และพระอนุชา
- ตอนที่ ๑๙ รามวงศ์เข้าเมืองกาลเนตร
คำนำ
นิทานคำกลอนเรื่องสิงหไกรภพนี้ นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร อธิบายไว้ในเชิงอรรถหนังสือประวัติสุนทรภู่ พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าตอนต้นแต่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประมาณ ๙ เล่มสมุดไทย และคงจะแต่งถวาย พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ เมื่อสุนทรภู่เป็นครูถวายพระอักษร เพราะมีคำกล่าวไว้ในเรื่องรำพันพิลาปของสุนทรภู่เอง เมื่อพูดถึงเจ้าฟ้าอาภรณ์ สุนทรภู่เรียกเป็นพระนามแฝงว่าพระสิงหไกรภพ และเมื่อพิจารณาสำนวนกลอนในเรื่องสิงหไกรภพตอนต้นกับเรื่องพระอภัยมณี จะเห็นได้ว่าสำนวนโวหารการประพันธ์ของเรื่องสิงหไกรภพตอนต้น ๆ เป็นการเริ่มลองมือไว้ ซึ่งทำให้โวหารการประพันธ์ในเรื่องพระอภัยมณีเพราะพริ้งขึ้นมาก แต่ตอนหลัง ๆ บางทีจะแต่งถวาย กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องสิงหไกรภพนี้สุนทรภู่แต่งค้างไว้เพียง ๑๕ เล่มสมุดไทย
กรมศิลปากรมอบให้นายหรีด เรืองฤทธิ์ อดีตข้าราชการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ตรวจสอบชำระเรื่องสิงหไกรภพจากต้นฉบับสมุดไทยทั้ง ๑๕ เล่ม ซึ่งเก็บรักษาอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๑ ต่อมากรมศิลปากรมอบให้นางสายไหม จบกลศึก นักอักษรศาสตร์ ตรวจทานฉบับที่ชำระแล้วอีกครั้งหนึ่ง และอนุญาตให้พิมพ์เผยแพร่ในงานพระราชทานเพลิงศพ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๐ อีกทั้งพิมพ์รวมเล่มในหนังสือ “รวมนิทาน สุภาษิต และบทเห่กล่อมของสุนทรภู่” เนื่องในโอกาสฉลอง ๒๐๐ ปี กวีเอก สุนทรภู่” เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๙ ปัจจุบันเป็นหนังสือที่หาอ่านได้ยาก กรมศิลปากรจึงเห็นสมควรพิมพ์อีกเป็นครั้งที่ ๔ จัดอยู่ในชุดนิทานคำกลอนสุนทรภู่ ซึ่งกรมศิลปากรพิมพ์เรื่องโคบุตรและจันทโครบเผยแพร่ก่อนหน้านี้แล้ว
การจัดพิมพ์ครั้งนี้มอบให้นางพันธุ์อร จงประสิทธิ์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มภาษาและวรรณกรรม สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ตรวจสอบกับต้นฉบับสมุดไทย พร้อมทั้งจัดทำเชิงอรรถอธิบายศัพท์เพิ่มเติม และปรับอักขรวิธีบางแห่งเป็นปัจจุบัน เพื่อให้ความรู้และสะดวกแก่ผู้อ่าน
กรมศิลปากรหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นิทานคำกลอนสุนทรภู่เรื่อง สิงหไกรภพ นี้ จะอำนวยประโยชน์ต่อผู้สนใจอ่านวรรณคดีกวีนิพนธ์ไทย และให้ข้อมูลความรู้อันมีคุณค่าต่อการศึกษาค้นคว้าของครู อาจารย์ และเยาวชนของชาติโดยทั่วกัน
อธิบดีกรมศิลปากร
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๗