- คำนำ
- คำอธิบาย
- ตอนที่ ๑ ท้าวอินณุมาศเจ้าเมืองโกญจาได้โอรสบุญธรรม
- ตอนที่ ๒ คงคาประลัยขบถ
- ตอนที่ ๓ พราหมณ์จินดาลักพระกุมารไป ท้าวพินทุมารจับสองกุมารแล้วพาไปเลี้ยงไว้ในถ้ำ
- ตอนที่ ๔ เสนาท้าวอินณุมาศกู้เมืองได้ จึงเชิญเสด็จกลับไปครองแผ่นดิน
- ตอนที่ ๕ สิงหไกรภพลองยา แล้วหนีท้าวพินทุมารกลับบ้านเมือง
- ตอนที่ ๖ สิงหไกรภพเข้าเมืองมารัน แล้วได้พระธิดาสร้อยสุดาเป็นพระชายา
- ตอนที่ ๗ พราหมณ์จินดาตามหาสิงหไกรภพ
- ตอนที่ ๘ สิงหไกรภพหนีออกจากเมืองมารัน
- ตอนที่ ๙ สิงหไกรภพกลับเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๐ ท้าวจัตุพักตร์ตีเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๑ รามวงศ์หลงเชื่อวิรุณพัฒพี่เลี้ยง หลอกให้เดินทางไปถึงเมืองกาลวาศ
- ตอนที่ ๑๒ รามวงศ์พานางแก้วกินรีหนีออกจากเมืองกาลวาศ
- ตอนที่ ๑๓ ท้าวเทพาสูรตีเมืองมารันคืน
- ตอนที่ ๑๔ สิงหไกรภพ ตามหารามวงศ์
- ตอนที่ ๑๕ สิงหไกรภพกลับเมืองโกญจา
- ตอนที่ ๑๖ สิงหไกรภพให้จัดงานถวายพระเพลิงพระศพท้าวอินทณุมาศและนางจันทร
- ตอนที่ ๑๗ สิงหไกรภพต้องเสน่ห์นางเทพกินรา
- ตอนที่ ๑๘ รามวงศ์พบเจ็ดนาง พระเทวราชโอรสเจ้าเมืองวิเรน และพระอนุชา
- ตอนที่ ๑๙ รามวงศ์เข้าเมืองกาลเนตร
ตอนที่ ๔ เสนาท้าวอินณุมาศกู้เมืองได้ จึงเชิญเสด็จกลับไปครองแผ่นดิน
๏ ขอร้างบทงดอยู่ในคูหา | กล่าวกรุงแก้วโกญจาไปตามเรื่อง |
ตั้งแต่คงคาประลัยมันได้เมือง | ก็ขัดเคืองทุกอาณาประชาชน |
ด้วยเสนาข้าเฝ้านั้นเหล่าโลภ | เหลือละโมบมีแต่ล่อข้างฉ้อฉล |
ปรึกษาความกดกินแต่สินบน | จนฝูงคนทุกข์ตรอมระกำใจ |
ทั้งเขตขัณฑ์บรรดาประชาราษฎร์ | คิดถึงท้าวอินณุมาศแล้วร้องไห้ |
เมื่อพระองค์ทรงเศวตฉัตรไชย | ย่อมเย็นใจไพร่ฟ้าทั้งธานี |
พอสิ้นบุญขุ่นเคืองทุกหย่อมหญ้า | อุปมาเหมือนหนึ่งไฟไหม้กรุงศรี |
คิดถึงตัวทั่วไปไพร่ผู้ดี | อพยพหลบหนีไปมากมาย ฯ |
๏ ฝ่ายเสนาข้าทูลละอองบาท | ขององค์ท้าวอินณุมาศที่สูญหาย |
เที่ยวตั้งกองซ่องซุ่มอยู่มากมาย | บรรดานายที่มาพบสมทบกัน |
ทั้งพวกไพร่ได้ประมาณสักสองแสน | อยู่ปลายแดนกรุงไกรในไพรสัณฑ์ |
ต่างคิดถึงเจ้านายไม่วายวัน | ปรึกษากันว่าจะรบเอาเมืองคืน |
ก็ยินยอมพร้อมใจทั้งนายไพร่ | ใครมิได้แก่งแย่งจะแข็งขืน |
จึงรวบรวมสาตราบรรดาปืน | ได้สักหมื่นหนึ่งถ้วนล้วนคาบชุด |
กับดาบหอกกั้นหยั่นก็ครันครบ | เข้าสมทบเกณฑ์ทัพจะสับประยุทธ์ |
ครั้นพรั่งพร้อมโยธาถืออาวุธ | ก็รีบรุดตรงมายังธานี |
พวกกองหน้ามาถึงร้องประกาศ | ว่าทัพท้าวอินณุมาศเจ้ากรุงศรี |
ประชาราษฎร์รู้สิ้นก็ยินดี | ชาวบูรีวิ่งเข้ากับกองทัพ |
ข้างฝ่ายพวกโจราคงคาประลัย | ครั้นแจ้งใจว่าเขามาโจมจับ |
เห็นคนมากยากที่จะรบรับ | ก็หลีกกลับหลบตัวด้วยกลัวตาย |
พอทัพมาถึงหน้าราชฐาน | นายทวารเปิดให้เหมือนใจหมาย |
ไม่มีความยากแค้นแสนสบาย | เหมือนลอยชายฉุยเข้าในเวียงไชย |
ขึ้นจับคงคาประลัยในปราสาท | กับอำมาตย์ที่มันตั้งขึ้นใหม่ใหม่ |
เอาฟาดฟันบั่นศีรษะฉะเสียบไว้ | หวังมิให้ดูเยี่ยงเอาอย่างกัน |
อันชีพราหมณ์โหราพฤฒามาตย์ | ก็เกลื่อนกลาดมาชุมนุมทุกเขตขัณฑ์ |
ทั้งพวกเหล่าสาวสุรางค์นางกำนัล | มาพร้อมกันตามตำแหน่งทุกนางใน |
ฝ่ายมหาเสนาจึงว่าท่าน | ปราบพวกพาลทรลักษณ์ก็ตักษัย |
พระปิ่นเกล้าเจ้านายเราหายไป | ทำไฉนจึงจะรู้ว่าร้ายดี |
ขอพระครูโหราปรีชาชาติ | จงคูณคาดกระษัตราในราศี |
อันจอมเจ้าสากลกับชนนี | หรือชีวีวายสวรรคครรไล |
พระโหรรับขับไล่ในโฉลก | อุษาโยคฤกษ์ยามตามวิสัย |
แล้วเรียงเรียบเทียบเคราะห์พระเวียงไชย | ประจักษ์ใจแล้วจึงเล่าตามเค้ามูล |
อันพระองค์ทรงแผ่นพิภพพื้น | ชะตาคืนอัปราชัยไหศูรย์[๑] |
เดี๋ยวนี้ท้าวเธอสถิตอยู่ทิศบูรพ์ | แต่เสียวงศ์พงศ์ประยูรไปจากกัน |
แม้นตามไปคงจะได้เสด็จกลับ | อันตำรับนี้แน่ไม่แปรผัน |
จงรีบไปในวันหนึ่งสองวัน | จะได้องค์ทรงธรรม์มากรุงไกร ฯ |
๏ ฝ่ายมหาเสนาปรีชาฉลาด | ฟังโหรคาดยินดีจะมีไหน |
จึงจัดแจงโยธาจะคลาไคล | เทียมพิไชยรถแก้วแกมสุวรรณ |
อภิรุมชุมสายรายสะพรั่ง | บนบัลลังก์ใส่เศวตฉัตรกั้น |
ครั้นจัดการครบเสร็จสำเร็จพลัน | แล้วแบ่งปันอยู่รักษาซึ่งธานี |
ครั้นได้ฤกษ์เลิกพลออกตามติด | ไปตามทิศบูรพาในราศี |
พารถรัตน์จัตุรงค์เข้าพงพี | ครั้นราตรีหยุดพักสำนักนอน |
ครั้นรุ่งไปในพนมพนาเวศ | ตามขอบเขตโขดเขินเนินสิงขร |
ได้หลายวันดั้นเดินในดงดอน | ตั้งอาวรณ์รํ่าไห้ฟายนํ้าตา |
พวกเสนาว่าทูลกระหม่อมแก้ว | หรือมาแคล้วทางที่จะเที่ยวหา |
ขอเทวัญชั้นรุกขฉายา | ช่วยชักพาให้แน่อย่าแชเชือน |
มาตยาว่าโอ้พระทูลกระหม่อม | เคยชุบย้อมรักใคร่ใครจะเหมือน |
พระโปรดเกล้าเข้าเดือนออกสามเดือน[๒] | ทั้งค่านํ้าเชิงเรือนไม่เรียกเลย |
พวกเสนาว่าเมื่อไรจะไปถึง | พระร่มโพธิที่พึ่งของข้าเอ๋ย |
มาลำบากยากไร้พระไม่เคย | จะเสวยความเทวษไม่วายวัน |
ต่างครวญครํ่ารํ่าไห้พิไรร้อง | ทั้งเสียงกลองก้องไปในไพรสัณฑ์ |
เทพเจ้านำทางกลางอารัญ | ถึงเขตคันพวกบ้านนายพรานไพร |
ซึ่งเป็นส่วยเชือกหนังกับมังสา | ที่สองกระษัตริย์ขัตติยาอยู่อาศัย |
ให้หาพรานบ้านนั้นมาทันได | แล้วถามไถ่ถ้วนทั่วทุกตัวคน |
เมื่อครั้งแรกบ้านแตกสาแหรกขาด | ประชาราษฎร์พลัดแพลงทุกแห่งหน |
เอ็งอยู่ย่านบ้านนี้ก็ชอบกล | เห็นผู้คนมาอยู่บ้างหรืออย่างไร |
พวกพรานเนื้อว่าเมื่อแต่ก่อนนั้น | อีนางจันกับอออินมาอาศัย |
อ้ายเพิกพวกข้าพเจ้ามันเอาไว้ | ให้เฝ้าไร่ถั่วงาอยู่นาโน้น |
พ่อเจ้าขามาไยพ่อทูนหัว | ล้วนแต่งตัวหรือเขาหาไปเล่นโขน |
มีทั้งเกวียนปิดทองแลกลองโยน | หรือเที่ยวโพน[๓]ช้างป่าพนาวัน |
พวกเสนาพากันล้อหัวร่อเล่น | มันไม่เคยพบเห็นทุกสิ่งสรรพ์ |
แต่รถเขียนก็ว่าเกวียนช่างเคอะครัน | จะชวนมันพูดด้วยก็ป่วยการ |
จึงว่าคนอาศัยอยู่ไหนเล่า | เอ็งพาเราไปถึงซึ่งถิ่นฐาน |
แล้วเสนาพาตัวอ้ายเพิกพราน | ออกจากบ้านนำทางมากลางไพร |
สนั่นเสียงผู้คนพลทัพ | ออกคั่งคับทิมวันต์ก็หวั่นไหว |
ทั้งเสียงกงรถลั่นสนั่นไป | มาถึงไร่ริมกระท่อมเข้าพร้อมกัน |
สงสารท้าวอินณุมาศมเหสี | เห็นโยธีเกลื่อนไปในไพรสัณฑ์ |
จะหลบลี้หนีไปก็ไม่ทัน | พระองค์สั่นสิ้นสมประดีไป |
ปิดทวารเข้าไว้เอาไม้ขัด | แล้วท้าวตรัสบอกพระมเหสี |
มัจจุราชมาทันแล้ววันนี้ | เจ้ากับพี่สองคนไม่พ้นตาย |
ชะรอยคงคาประลัยให้ค้นหา | จะเข่นฆ่าเราให้เหมือนใจหมาย |
พระตรัสพลางยกหนังขึ้นบังกาย | แล้วฟูมฟายชลนาโศกาลัย |
อ้ายเพิกพรานพาอำมาตย์มาขึ้นทับ | ก็เห็นหับประตูมิดคิดสงสัย |
จึงแหกฝาให้เป็นช่องมองเข้าไป | เห็นห้าวไทเธอเอาหนังมาบังกาย |
มันเดือดด่าว่าดูดู๋อ้ายทองอิน | ร้องเรียกทำไม่ได้ยินอ้ายฉิบหาย |
เข้ามุดนอนซ่อนอยู่ในหนังควาย | เจ้าคุณนายท่านจะมาดูหน้ามึง |
ยิ่งเรียกก็ยิ่งนิ่งมันด่าฟุ้ง | เข้ากระทุ้งถีบฝาดังผางผึง |
จบไม้หักผลักบานประตูตึง | เข้าไปถึงกระษัตราคร่าเอาตัว |
เขามาเรียกดีดีทำหนีหาย | ไปไหว้นายท่านเสียอ้ายตัดหัว |
สองกระษัตริย์องค์สั่นอยู่รันรัว | แต่ความกลัวพรานป่าต้องคลาไคล |
ส่วนเสนีรี้พลคนทั้งหลาย | เห็นเจ้านายยินดีจะมีไหน |
วิ่งเข้ากอดบาทาด้วยอาลัย | ต่างรํ่าไรรักสองกระษัตรา |
อนิจจาเจ้าประคุณทูลกระหม่อม | ดูพระรูปซูบผอมลงนักหนา |
มาอาศัยอยู่กระท่อมเท่ารังกา | แสนระกำตํ่าช้าด้วยชาวพน |
ต่างครวญครํ่ารํ่าไรไห้สะอื้น | เสียงครึกครื้นก้องไปในไพรสณฑ์ |
ทั้งแสนสุระโยธาพวกสามนต์ | ทุกตัวคนซวนซบสลบไป |
สองกระษัตริย์ทัศนาหมู่อำมาตย์ | ท้าวมิอาจจะกลั้นกันแสงได้ |
ลดพระองค์ลงทรงโศกาลัย | ทั้งสองไห้แน่นิ่งไม่ติงกาย |
อ้ายเพิกพรานนึกพรั่นประหวั่นจิต | นิ่งพินิจนึกไปแล้วใจหาย |
หรืออออินกับทองจันมันเป็นนาย | คนทั้งหลายไหว้กราบออกราบไป |
มันพูดกันยังไม่ทันแจ้งกระจ่าง | ทั้งสองข้างซวนซบสลบไสล |
จะแก้ไขขึ้นสักครู่ดูเป็นไร | มันจะได้สนทนาพูดจากัน |
แล้วลุกมาตักน้ำในลำคลอง | ชโลมสองกระษัตริย์รื่นชื่นทั้งขัน |
แล้วรดให้ไพร่พลคบทั้งนั้น | ก็พากันฟื้นสมประดีมา ฯ |
๏ ฝ่ายอำมาตย์มาตยาพวกข้าเฝ้า | ต่างก้มเกล้าทูลพลันด้วยหรรษา |
ตั้งแต่คงคาประลัยได้พารา | อันพวกข้ามิได้อยู่ในบูรี |
เที่ยวซ่องสุมคุมคนเป็นกองทัพ | แล้วยกกลับคืนไปในกรุงศรี |
สังหารพวกโจรร้ายวายชีวี | แล้วจึงกรีธาทัพเที่ยวติดตาม |
แต่ออกจากนัคราสิบห้าวัน | พากันดั้นเดินป่าพนาหนาม |
มาถึงบ้านพรานไพรได้เนื้อความ | ออกพระนามจึงได้พามาพบพาน |
เชิญเสด็จบาทบงสุ์พระทรงเดช | คืนไปครองนัคเรศราชฐาน |
ทั้งไพร่ฟ้าประชากรจะสำราญ | พึ่งพระโพธิสมภารภูวไนย ฯ |
๏ ปางพระเจ้าธรณินอินณุมาศ | ฟังอำมาตย์ยินดีจะมีไหน |
เหมือนม้วยมุดสุดสิ้นชีวาลัย | ไปเกิดในสวรรค์ช่อชั้นฟ้า |
จึงตรัสตอบขอบคุณท่านทั้งหลาย | ทั้งไพร่นายจงรักเรานักหนา |
ตั้งแต่เสียสมบัติพลัดเมืองมา | พวกพรานป่าเลี้ยงไว้ได้สบาย |
แม่จันทรหล่อนคลอดพระลูกรัก | ได้ยลพักตร์เจ็ดวันก็พลันหาย |
ยังมิได้รู้เห็นว่าเป็นตาย | ตรัสแล้วฟายชลนา[๔]โศกาลัย |
พวกเสนาข้าเฝ้าเหล่าทหาร | พลอยสงสารครวญครํ่ารํ่าร้องไห้ |
ครั้นเสื่อมสร่างโศกเศร้าบรรเทาใจ | ภูวไนยสั่งมหาเสนาพลัน |
ให้จัดแจงเงินทองของทั้งหลาย | ให้มากมายอย่างยิ่งทุกสิ่งสรรพ์ |
ประทานให้อ้ายเพิกพลางเป็นรางวัล | แล้วบ้านนั้นส่วยอะไรไม่ให้เอา |
จึงดำรัสตรัสสั่งพวกพรานป่า | ค่อยอยู่เถิดเราจะลาไปแล้วเจ้า |
แม้นมีทุกข์ข้างหน้าไปหาเรา | พระตรัสเท่านั้นแล้วก็แต่งองค์ |
สะพรั่งพร้อมเสนาพลากร | พระภูธรทรงรถทองระหง |
เสียงทหารโห่ลั่นสนั่นดง | พระนางทรงรถแก้วแกมสุวรรณ |
ทั้งแหนแห่แตรสังข์ดังพิลึก | ประโคมครึกครื้นไปทั้งไพรสัณฑ์ |
ให้เคลื่อนพลหน้าหลังประดังกัน | พลขันธ์เบิกบานสำราญเริง |
ฝูงเสือสิงห์วิ่งเกลื่อนที่กลางป่า | กระทิงถึกมฤคาไล่เถลิง |
บ้างออกจากสุมทุมทุกซุ้มเซิง | วิ่งกระเจิงแตกกระจายออกพรายพลัด |
พระชมป่ามาในสถลมารต[๕] | สำราญราชหฤทัยสองกระษัตริย์ |
ดูครึ้มครึกพฤกษาในป่าชัฏ | พระทอดทัศนาเพลินตามเนินแนว |
รุกขชาติดาษดาประดู่ดอก | พระชี้บอกกัลยาว่าดอกแก้ว |
ระยับแสงสุริย์ฉายขึ้นพรายแพรว | อังกาบแก้วกาหลงยงพะยอม |
ดอกคัดเค้าสาวหยุดระย้ายื่น | กลิ่นรื่นรื่นลมโชยระโหยหอม |
พวกเสนาพากันเข้าเหนี่ยวน้อม | เด็ดแล้วอ้อมมาถวายข้างท้ายรถ |
พระเลือกสรรปันให้มเหสี | แล้วภูมีหวนคิดจิตสลด |
แม้นยังไม่เสียเมืองเรืองพระยศ | จะพร้อมหมดด้วยสุรางค์นางกำนัล |
เคยแย้มสรวลชวนกันเก็บบุปผา | คราวนี้มามิได้เห็นนางสาวสรรค์ |
ยิ่งวังเวงหฤทัยในไพรวัน | เร่งพหลพลขันธ์ให้ไคลคลา |
ครั้นยามเย็นสุริยงจะลงลับ | ก็หยุดทัพลงในไพรพฤกษา |
สิบห้าวันดั้นเดินเนินวนา | ถึงกรุงแก้วโกญจาเข้าวังใน |
ประโรหิตโหราพฤฒามาตย์ | มาคอยรับอภิวาทแล้วร้องไห้ |
พระวงศาสาวสนมกรมใน | ก็ดีใจพร้อมเพรียงทั้งเวียงวัง |
อันพระองค์ทรงภพสองกระษัตริย์ | ผ่านสมบัติแสนสุขเหมือนหนหลัง |
จึงจัดแจงเงินทองในท้องคลัง[๖] | ประทานทั้งเสนาพลากร |
แล้วลดราภาษีสิ้นทุกสิ่ง | ทั้งชายหญิงสุโขสโมสร |
อยู่ประมาณนานมาไม่อาวรณ์ | นางจันทรมีราชบุตรี |
โฉมสำอางอย่างยิ่งอัปสรสวรรค์ | ถวายนามนางสุวรรณรัศมี |
ดังดวงจิตบิตุเรศพระชนนี | ถนอมเลี้ยงพระบุตรีทุกวันมา |
ให้เลือกหานารีพระพี่เลี้ยง | ที่พร้อมเพรียงทรวดทรงทั้งวงศา |
ล้วนแต่ลูกเวียงวังแลคลังนา | ชื่อประภาสารภีเป็นพี่เลี้ยง |
แล้วเลือกคัดจัดเหล่านางสาวสรรค์ | ที่ผิวพรรณผ่องเหลือล้วนเนื้อเกลี้ยง |
ทั้งเฒ่าแก่เตี้ยค่อมก็พร้อมเพรียง | ประคองเคียงองค์ราชธิดา ฯ |
[๑] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า “ชะตาคืนราไชมไหศูรย์”
[๒] เข้าเดือนออกสามเดือน คือ ช่วงเวลาเข้าประจำการของทหารสมัยก่อน
[๓] โพน คือ วิธีคล้องช้างป่า
[๔] ฟายชลนา แปลว่า ร้องไห้จนนํ้าตาอาบหน้า
[๕] สถลมารต = สถลมารค
[๖] สมุดไทยเลขที่ ๔๔ ว่า จึงจัดจ่ายเงินทองท้องพระคลัง